มงกุฎพระราชินีแมรีแห่งโมดีนา
มงกุฎพระราชินีแมรีแห่งโมดีนา Crown of Mary of Modena | |
---|---|
มงกุฎพระราชินีแมรีแห่งโมดีนา | |
รายละเอียด | |
สำหรับ | อังกฤษ (จนถึง ค.ศ. 1707) สหราชอาณาจักร (ตั้งแต่ ค.ศ. 1707) |
ผลิตเมื่อ | ค.ศ. 1685 |
ผู้ครอบครอง | พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร |
จำนวนโค้ง | 2 โค้ง |
วัตถุดิบหลัก | ทองคำ |
วัสดุซับใน | กำมะหยี่สีม่วงกรุขอบด้วยขนเออร์มิน |
อัญมณีสำคัญ | เพชร ไข่มุก คริสตัล |
องค์ถัดไป | มงกุฎพระราชินีอเดลเลด |
มงกุฎพระราชินีแมรีแห่งโมดีนา (อังกฤษ: Crown of Mary of Modena) เป็นมงกุฎพระอัครมเหสี (Consort Crown) ที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ สั่งทำขึ้นเพื่อสำหรับสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ
ตามประเพณีแห่งราชสำนักอังกฤษ เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พระอัครมเหสีจะต้องเสด็จเข้าในพระราชพิธีฯด้วย โดยหลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปีค.ศ. 1661 โดยปราศจากพระอัครมเหสี จนกระทั่งผลัดแผ่นดินมาในรัชสมัยของพระอนุชาของพระองค์ ซึ่งเป็นดยุกแห่งยอร์ก ได้เสด็จเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (หรืออีกพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 7 แห่งสกอตแลนด์") ซึ่งมีพระอัครมเหสีคือ สมเด็จพระราชินีแมรี จึงมีพระดำริให้จัดสร้างมงกุฎพระอัครมเหสีขึ้นสำหรับพระองค์ ซึ่งในครั้งนั��นได้มีการจัดสร้างทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ "มงกุฎราชาภิเษก" (Coronation Crown) "มงกุฎแห่งพระราชวงศ์" (State Crown) และ "มงกุฎองค์เล็ก" (เดียเด็ม - คาดพระเกษา) ซึ่งในปัจจุบันหลงเหลือแต่เพียงสองอย่างสุดท้ายเท่านั้น
รูปแบบ
[แก้]สำหรับตัวเรือนมงกุฎทำจากทองคำ ประดับด้วยคริสตัล (แทนที่เพชรที่ถูกย้ายไปประดับที่มงกุฎองค์อื่น) เงิน และไข่มุก ภายในกรุด้วยผ้ากำมะหยี่สีม่วงเข้ม ขอบทำด้วยขนเออร์มิน บริเวณฐานประดับเพชรทรงรีจำนวน 18 เม็ด ขนาบบนล่างด้วยไข่มุก ด้านบนเป็นสัญลักษณ์ดอกลิลลี (เฟลอร์ เดอ ลีส) จำนวนสี่ดอก สลับกับกางเขนแพตตี ซึ่งองค์ประกอบทั้งแปดนี้ประดับด้วยเพชรใหญ่น้อยขนาดต่างๆ ด้านบนมงกุฎเป็นส่วนโค้งจำนวน 2 โค้ง (4 ก้าน) ประดับด้วยไข่มุกยาวตลอดก้าน และขนาบด้วยเพชรทั้งสองด้าน โดยก้านทั้งสี่นั้นแล่นขึ้นไปบรรจบที่ลูกโลกประดับเพชร ซึ่งด้านบนสุดนั้นเป็นกางเขนแพตตีฝังเพชรเม็ดใหญ่ ปลายแขนกางเขนทั้งสามประดับด้วยไข่มุกด้านละ 1 เม็ด
คริสตัลแก้วเจียระไนได้ถูกนำมาใส่แทนที่เพชรที่ถูกเช่ามาสำหรับใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระราชสวามีในปีค.ศ. 1685 และพระราชพิธีอื่นๆ ซึ่งมงกุฎองค์นี้ถือเป็น "มงกุฎพระอัครมเหสี" (Consort Crown) องค์แรกของอังกฤษภายหลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์ในปีค.ศ. 1660 (ช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ มงกุฎแห่งราชวงศ์อังกฤษได้ถูกทำลายลงสิ้นภายใต้การปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์) มงกุฎทั้งสามองค์นี้สร้างโดยช่างอัญมณีแห่งราชสำนักในสมัยนั้น คือ ริชาร์ด โบวัวร์ ซึ่งภายหลังได้รับการบันทึกโดย ฟรานซิส แซนด์ฟอร์ด ว่า "ได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่งที่ทำให้ทั้งสองพระองค์พึงพอพระราชหฤทัยยิ่ง"
การใช้งาน
[แก้]ถึงแม้ว่าสมเด็จพระราชินีแมรี จะไม่ได้ทรงมงกุฎองค์นี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์เอง แต่ก็มีความสำคัญในเวลาต่อมา เพื่อใช้เป็นมงกุฎราชาภิเษกสำหรับพระราชินี ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสำหรับพระอัครมเหสีพระองค์ถัดไปจนถึงปีค.ศ. 1831[1] โดยพระองค์ได้ทรง"มงกุฎราชาภิเษก"ของพระองค์ในระหว่างพระราชพิธีฯ ซึ่งต่อมาได้หายไป และได้ใช้"มงกุฎแห่งพระราชวงศ์" สำหรับเป็นมงกุฎพระอัครมเหสีในรัชกาลถัดมา
มงกุฎองค์นี้จะถูกประดับด้วยอัญมณีและเพชรในแต่ครั้งที่มีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยได้ผ่านการใช้งานในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 (ค.ศ. 1689), สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ (ค.ศ. 1702)[2] และสมเด็จพระราชินีแคโรไลน์ (ค.ศ. 1727) จึงเป็นธรรมเนียมไปโดยปริยายที่ ว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษนั้นจะต้องทรงมงกุฎองค์นี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจนกระทั่งถูกแทนโดย "มงกุฎพระราชินีชาร์ลอตต์" ตามมาโดย มงกุฎพระราชินีอเดลเลด ในปีค.ศ. 1831 และในที่สุดธรรมเนียมได้เปลี่ยนไปโดยให้มีการสร้างมงกุฎองค์ใหม่สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสำหรับสมเด็จพระราชินี ซึ่งองค์ล่าสุดที่มีการสร้างนั้น คือ มงกุฎพระราชินีเอลิซาเบธ สำหรับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Anna Keay,'The Crown Jewels (Official handbook) Historic Royal Palaces, 2002, p27.
- ↑ http://www.royalcollection.org.uk/collection/31707/mary-of-modenas-crown-of-state