ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา
ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา คือ ภาพวาดสองภาพที่แสดงขบวนอัญเชิญพระบรมศพของสมเด็จพระเพทราชาสู่พระเมรุ คาดว่าวาดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2247–2248 ในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 โดยจิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐเดรสเดิน (Dresden State Art Collections) ประเทศเยอรมนี
สิ่งน่าสนใจเกี่ยวกับภาพวาดสองชิ้นนี้คือ เป็นโบราณวัตถุที่เพิ่งได้รับการระบุว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 หลังจากม้วนเก็บอยู่ในกระบอกบรรจุภาพ (canister) พร้อมกับบันทึกภาษาดัตช์จำนวนสามหน้า นานกว่า 300 ปี ในสภาพที่ดีเยี่ยม[1] นับว่าเป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไปเกี่ยวกับงานพระบรมศพในสมัยอยุธยาที่เหลือเพียงหลักฐานลายลักษณ์อักษรไม่กี่ฉบับ[2]
ประวัติ
[แก้]จุดกำเนิด
[แก้]ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้วาดภาพดังกล่าว แต่พบหลักฐานว่าใน ค.ศ. 1702 (พ.ศ. 2246) ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระเพทราชาสวรรคต อาร์เนาต์ เกลอร์ (Aernout Cleur) พ่อค้าชาวดัตช์ซึ่งประจำอยู่ที่สถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (เฟโอเซ) ในกรุงศรีอยุธยาหลายปี ได้เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานการค้า (opperhoofd/director) ของเฟโอเซแทนคีเดโอน ตันต์ (Gideon Tant)[3] และมีความเป็นไปได้สูงมากที่เกลอร์เป็นผู้ขอให้จิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยาวาดภาพดังกล่าวขึ้น แม้จะไม่ทราบเหตุผลที่ชี้ชัดว่าด้วยจุดประสงค์ประการใด อย่างไรก็ดี เมื่อสืบค้นข้อมูลจากเอกสารร่วมสมัยอื่นที่พบที่หอจดหมายเหตุดัตช์ในเดอะเฮก[4] พบว่าในช่วงต้น ค.ศ. 1704 (พ.ศ. 2247) เกลอร์ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับปัญหาการสืบราชสมบัติที่เพิ่งเกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาอย่างละเอียด โดยส่งรายงานถึงปัตตาเวียในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1704 และสำเนาชิ้นหนึ่งได้ถูกส่งไปยังสำนักงานใหญ่เฟโอเซที่เนเธอร์แลนด์[5]
เกลอร์ถึงแก่กรรมที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1712 ทรัพย์สินส่วนตัวของเขาถูกส่งไปยังอัมสเตอร์ดัมที่ซึ่งเอคีดียึส ฟัน เดิน แบ็มป์เดิน (Egidius van den Bempden) หนึ่งในกรรมการของเฟโอเซได้รับม้วนภาพวาดและบันทึกสามหน้า ต่อมาใน ค.ศ. 1716 ฟัน เดิน แบ็มป์เดิน ได้ขายเอกสารทั้งสามให้แก่ผู้แทนของพระเจ้าออกัสตัส เฟรเดอริก (หรือ "พระเจ้าออกัสตัสผู้แข็งแกร่ง") เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกแห่งซัคเซินและกษัตริย์แห่งโปแลนด์ ผู้ทรงเป็นนักสะสมสิ่งประดิษฐ์และศิลปะวัตถุจากทั่วทุกมุมโลก โดยบรรจุในกระบอกบรรจุภาพ ระบุเป็น "ภาพวาดจีน" จัดเก็บอย่างปลอดภัยจากแสงแดด ความชื้น และแมลงเป็นเวลาสามศตวรรษ ก่อนที่จะค้นพบอีกครั้งในศตวรรษที่ 21[6]
ใน ค.ศ. 1918 ของสะสมของพระเจ้าออกัสตัสผู้แข็งแกร่งและกษัตริย์องค์อื่น ๆ แห่งซัคเซินได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของของสะสมประจำหอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐ ณ นครเดรสเดิน[6]
การค้นพบ
[แก้]ภาพวาดพร้อมด้วยบันทึกสามหน้าปรากฏสู่สาธารณชนในรอบสามศตวรรษ เมื่อหอสะสมงานศิลปะฯ ได้ดำเนินโครงการจัดทำรายการสิ่งประดิษฐ์จากตะวันออก โดยตรวจสอบ "ภาพวาดจีน" ที่บรรจุในกระบอก พบว่ามีเนื้อหาที่ค่อนข้างแตกต่างจากวัตถุชิ้นอื่น ๆ จึงได้มีการเชิญบาเรินด์ ยัน แตร์วีล (Barend J. Terwiel) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาชาวดัตช์ ไปตรวจสอบเนื้อหาของเอกสาร[6] กระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เอกสารสามฉบับในกระบอกนั้นได้รับการระบุว่ามีต้นกำเนิดมาจากสยาม
การตีพิมพ์ภาพวาดสู่สาธารณชนชาวไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกดำเนินการเช่นกันโดยศาสตราจารย์บาเรินด์ ยัน แตร์วีล ในวารสาร สยามสมาคม เมื่อ พ.ศ. 2559 (Journal of the Siam Society Volume 104: 2016)[1][2] นับเป็นการค้นพบที่เรียกความตื่นตาตื่นใจให้กับแวดวงประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก[7]
ภาพวาด
[แก้]รายละเอียด
[แก้]ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชาประกอบด้วยภาพวาดจำนวน 2 ชิ้น คือ[8]
- ภาพลายเส้น วาดด้วยหมึกดำ บนกระดาษชนิดบางยาวต่อกัน 10 แผ่น ผนึกบนผ้าลินิน มีความยาวประมาณ 3.7 เมตร กว้าง 0.50–0.52 เมตร มีเพียงสองส่วนเล็ก ๆ ของสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งที่ลากพระราชยานเท่านั้นที่ทาสีทอง ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นขาวดำ มีการเขียนคำอธิบายจำนวนหนึ่งเป็นภาษาดัตช์ รวมทั้งคำภาษาไทยบางคำที่ถอดเป็นอักษรโรมัน
- ภาพสี วาดบนกระดาษแข็งต่อกัน 4 แผ่น ผนึกบนผ้า มีความยาว 2.15 เมตร กว้าง 0.42 เมตร เขียนร่างด้วยดินสอ จากนั้นจึงลงด้วยหมึก และทาสีเขียว แดง เหลือง ส้ม และน้ำเงินหลายเฉดสีด้วยสีน้ำ เฉพาะพระโกศที่ทาสีทอง มีการเขียนตัวอักษร ตัวเลขและสัญลักษณ์ทั่วภาพ
ทั้งสองภาพมีลักษณะที่สอดคล้องกัน คือ เป็นจิตรกรรมแนวเหนือจริงแบบไทยประเพณีแสดงพระเมรุและริ้วกระบวน และเป็นฉากเดียวกัน กล่าวคือ มีภาพพระเมรุเก้ายอดอยู่ทางซ้ายสุดของภาพ มีภาพบุรุษแต่งกายสวมลอมพอกที่รับบทเป็นพระยมและพระเจตคุปต์ยืนรอรับพระบรมศพอยู่นอกรั้วราชวัติพระเมรุ กระบวนรูปสัตว์ ราชรถน้อย 3 คันเทียมด้วยราชสีห์ และพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพเทียมด้วยราชสีห์[7][2]
อนึ่ง วัตถุอีกชิ้นที่พบพร้อมกับภาพสองภาพคือ บันทึกภาษาดัตช์จำนวนสามหน้า 85 บรรทัด เพื่ออธิบายตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ดังกล่าว[8] โดยมีข้อความเริ่มต้นว่า "หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์แห่งสยาม, พระปรมาภิไธยว่า พระทรงธรรม์ อันหมายถึง เทพเจ้าแห่งปัญญา, และสวรรคตเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และถวายพระเพลิงในวันที่ 26 ธันวาคม 1704"[9][1][10]
แรงจูงใจของภาพวาด
[แก้]ศาสตราจารย์บาเรินด์ ���ัน แตร์วีล ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับแรงจูงใจที่สำคัญประการหนึ่งที่อาร์เนาต์ เกลอร์ ได้ให้จิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยาวาดภาพขึ้น คือ อาจจะอันเนื่องมาจากการที่เกลอร์ได้เห็นความสำเร็จของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) พ่อค้าของเฟโอเซที่ได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยา ที่ภายหลังได้เดินทางกลับเนเธอร์แลนด์และอาศัยอยู่อย่างเศรษฐีผู้มีเกียรติกระทั่งสิ้นอายุขัย สำหรับผู้สืบทอดเฟโอเซอย่างเกลอร์ ดูเหมือนฟาน ฟลีต จะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสิ่งที่พ่อค้าเฟโอเซสามารถบรรลุได้ จากการที่ชีวิตของฟาน ฟลีต ส่วนหนึ่งสร้างขึ้นจากงานเขียนของเขาเองเกี่ยวกับอยุธยา อาจส่งผลให้เกลอร์มีแรงบันดาลใจที่จะเลียนแบบฟาน ฟลีต ด้วยการเขียนรายงานเกี่ยวกับการผลัดแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา จัดส่งไปยังเมืองปัตตาเวียในช่วงต้น ค.ศ. 1704 ที่แม้ว่าเขาจะค่อนข้างเขียนอย่างละเอียด แต่น่าเสียดายที่ไม่มากเท่าที่ฟาน ฟลีต เขียน[11]
ครั้งถึงการพระบรมศพของสมเด็จพระเพทราชาในอีกแปดเดือนต่อมา อาจจะด้วยความปรารถนาที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้บังคับบัญชาของตน หรือความต้องการที่จะจัดทำหนังสือเล่มเล็กหรืออย่างน้อยก็แผ่นพับให้ประชาชนทั่วไปในเนเธอร์แลนด์ได้เห็น (หากนำเรื่องราวกรณีการผลัดแผ่นดินมารวมเป็นเล่ม) น่าจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับพ่อค้าชาวดัตช์ที่จะบรรยายพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่และแปลกตาเป็นร้อยแก้วหรือวาดเป็นรูปภาพด้วยตนเอง และนี่คงเป็นจังหวะที่เกลอร์ตัดสินใจขอให้ (หรือว่าจ้างให้) จิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยาวาดภาพขบวนเชิญพระบรมศพให้กับเขา[11]
ผลที่ได้ในขั้นนี้ คือ ภาพลายเส้น ซึ่งสันนิษฐานว่าเมื่อถึงมือเกลอร์แล้ว จิตรกรอาจได้อธิบายองค์ประกอบบนภาพ และเกลอร์ได้เขียนข้อความนั้นลงบนภาพทับด้วยลายมือของตนเป็นภาษาดัตช์[12] รวม 15 ข้อความ อย่างไรก็ตาม ต่อมาเกลอร์อาจจะได้ข้อสรุปว่า ภาพลายเส้น นี้ไม่เหมาะกับการเป็นจุดนำเสนอเพื่อกระตุ้นผู้อ่านชาวยุโรป เพราะมันมีขนาดที่ใหญ่เกินไป เนื้อหาซับซ้อน ยากแก่การเข้าใจ และใช้วัสดุที่ไม่ทนทาน[11]
ด้วยเหตุนี้ เกลอร์จึงอาจขอให้จิตรกรวาด ภาพสี ในขนาดที่เล็กลง บนกระดาษที่แข็งกว่า อย่างเรียบง่ายกว่าและมีสีสันมากขึ้นกว่า ภาพลายเส้น เกลอร์อาจได้ติดต่อผู้รู้เพื่อให้อธิบายรายละเอียดทั้งหมดของภาพสีนี้ พร้อมกับเขียนคำอธิบายลงบนภาพและบันทึกสามหน้าของเขา[11]
คุณค่า
[แก้]ศาสตราจารย์บาเรินด์ ยัน แตร์วีล ในฐานะผู้ค้นพบภาพ[2] ระบุว่าภาพวาดทั้งสองทำขึ้นโดยศิลปินชาวสยามผู้เชี่ยวชาญอย่างแน่นอน และเป็นงานร่วมสมัยกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างไม่มีข้อกังขา เพราะหอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐเดรสเดินเองชี้ว่าได้รับเอกสารเหล่านี้มาเมื่อ ค.ศ. 1716 (พ.ศ. 2259) ในขณะที่ไม่มีต้นฉบับภาพวาดในยุคนี้ที่มีที่มาและวันที่ที่ชัดเจนเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน จึงเป็นโบราณวัตถุอันมีเอกลักษณ์ (unique)[1]
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชญา สุ่มจินดา จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพวาดทั้งสองแสดงลักษณะทางสถาปัตยกรรมและรูปแบบริ้วกระบวน ที่ดูคล้ายงานพระเมรุใหญ่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ปรากฏในสมุดภาพและภาพถ่ายโบราณ แม้จะไม่ได้รายงานข้อเท็จจริงมากนัก แต่ช่วยเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไปของงานพระบรมศพในสมัยอยุธยาที่เหลือเพียงหลักฐานลายลักษณ์อักษรไม่กี่ฉบับ[2]
มีผู้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รูปแบบศิลปะในภาพวาดสามารถกำหนดอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยน่าจะเก่ากว่าตัวอย่างที่มีในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เช่น จิตรกรรมที่วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี) และมีความสอดคล้องกับข้อมูลที่เกี่ยวกับการพระเมรุและกระบวนแห่พระศพสมัยอยุธยาใน จดหมายเหตุการพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพ และ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม[13]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Two Scrolls Depicting Phra Phetracha's Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation". so06.tci-thaijo.org. Barend J. Terwiel. สืบค้นเมื่อ 1 November 2021., หน้า 79
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 น้อมส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่ฟ้าเสวยสวรรค์
- ↑ บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (เฟโอเซ) ทำการค้าขายในกรุงศรีอยุธยาระหว่าง ค.ศ. 1608 ถึง 1765; ใน ค.ศ. 1699 เกลอร์ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ค้ารายย่อย (onderkoopman) และต่อมาใน ค.ศ. 1703 จากการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ (opperhoofd) เขาก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพ่อค้า (koopman); ฟร็องซัว ฟาเลินไตน์ (François Valentijn) ขอบคุณเกลอร์สำหรับการคัดลอกเรื่องราวเกี่ยวกับการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์และการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเพทราชา แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าการสื่อสารนี้เกิดขึ้นเมื่อใด
- ↑ "บันทึกเหตุการณ์ระหว่างการประชวรและการสวรรคตของกษัตริย์แห่งสยามผู้ทรงพระนามว่าพระทรงธรรม์" (Relaas van’t voorgevallene bij de Zieke en overlijden van den Siamse koninck Phra Trong Than gernaamt)
- ↑ "Two Scrolls Depicting Phra Phetracha's Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation". so06.tci-thaijo.org. Barend J. Terwiel. สืบค้นเมื่อ 1 November 2021., หน้า 81-83
- ↑ 6.0 6.1 6.2 "Two Scrolls Depicting Phra Phetracha's Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation". so06.tci-thaijo.org. Barend J. Terwiel. สืบค้นเมื่อ 1 November 2021., หน้า 94
- ↑ 7.0 7.1 “สิงห์เทียมราชรถในงานพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา ‘แฟนซี’ หรือ ‘มีจริง’
- ↑ 8.0 8.1 Treasure of Old Siam in Dresden
- ↑ “Annotation concerning the place where the King of Siam was cremated, who had assumed the name of pra throng than, that means God of Wisdom, and had died on 5 February and been cremated on 26 December 1704.”
- ↑ สวรรคตเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ หมายถึง 5 กุมภาพันธ์ 1703 (พ.ศ. 2246) หรือนับได้ราว 22 เดือนก่อนถวายพระเพลิงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1704 (พ.ศ. 2247)
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 "Two Scrolls Depicting Phra Phetracha's Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation". so06.tci-thaijo.org. Barend J. Terwiel. สืบค้นเมื่อ 1 November 2021., หน้า 92-93
- ↑ การวิเคราะห์ภาพกระบวนแห่พระศพและพระเมรุฉบับ Dresden State Art Collections หน้า 1
- ↑ การวิเคราะห์ภาพกระบวนแห่พระศพและพระเมรุฉบับ Dresden State Art Collections หน้า 134
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Barend J. Terwiel. Two Scrolls Depicting Phra Phetracha’s Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation. 2016. Journal of the Siam Society Volume 104.
- ปรัชญา เลิศกิจจานุวัฒน์. การวิเคราะห์ภาพกระบวนแห่พระศพและพระเมรุฉบับ Dresden State Art Collections. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.