ข้ามไปเนื้อหา

พระวจนะทรงรับเป็นมนุษย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"การรับเป็นมนุษย์" เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจั��รชีวิตของพระเยซู โดยมีพระตรีเอกภาพอยู่ตรงกลางภาพ ฟรีโดลิน ไลเบอร์ วาดไว้ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19

พระวจนะทรงรับเป็นมนุษย์[1] (ศัพท์ราชบัณฑิตยสถาน) หรือ พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์[2] (ศัพท์โรมันคาทอลิก) หรือ พระวาทะทรงเกิดเป็นมนุษย์ (ศัพท์โปรเตสแตนต์) (อังกฤษ: Incarnation of the Word) ในศาสนาคริสต์หมายถึงการที่พระเยซูซึ่งเชื่อว่าเป็นพระเจ้าพระบุตรหรือพระวจนะ ได้เสด็จลงมาบนโลกเพื่อรับสภาพมนุษย์ผ่านทางครรภ์ของนางมารีย์ (บางคริสตจักร เช่น โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ จึงยกย่องพระนางมารีย์พรหมจารีเป็นพระมารดาพระเจ้าด้วย)

เรื่องพระเจ้ามารับสภาพมนุษย์ถือเป็นหลักคำสอนทางเทววิทยาที่หลักข้อเชื่อไนซีนให้การรับรอง โดยถือว่าพระเยซูเป็นพระบุคคลที่สองในพระเป็นเจ้าซึ่งเป็นตรีเอกภาพ ได้มารับสภาพมนุษย์โดยที่ธรรมชาติพระเป็นเจ้าเดิมยังดำรงอยู่ในตัว หลักข้อเชื่อนี้จึงถือว่าพระเยซูทรงเป็นทั้งมนุษย์และพระเป็นเจ้าโดยสมบูรณ์ ดังที่พระวรสารนักบุญยอห์นระบุว่า "พระวจนะเป็นพระเจ้า ... พระวจนะทรงรับธรรมชาติมนุษย์และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา"[3][4]

คริสต์ศาสนิกชนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าในตัวพระเยซูมีธรรมชาติพระเจ้านั้นรวมอยู่กับธรรมชาติมนุษย์ โดยที่ธรรมชาติทั้งสองไม่ได้ปะปนกัน[5] เหตุการณ์นี้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อแม่พระรับสารจากทูตสวรรค์กาเบรียลว่านางจะได้ตั้งครรภ์พระบุตรพระเป็นเจ้า

คริสตจักรโรมันคาทอลิก แองกลิคัน และลูเทอแรน จึงจัดวันสมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ ตรงกับวันที่ 25 มีนาคม ของทุกปี โดยถือจากความเชื่อว่าพระคริสต์ทรงรับสภาพมนุษย์ในครรภ์ของพระแม่มารีย์ทันทีเมื่อแม่พระรับสาร แล้วประทับอยู่ในครรภ์ 9 เดือนจึงประสูติในวันคริสต์มาส เมื่อสมมติวันคริสต์มาสเป็นวันที่ 25 ธันวาคม วันที่พระแม่มารีย์รับสารและพระวจนะได้รับสภาพมนุษย์จึงสมมติเป็นวันที่ 25 มีนาคม อย่างไรก็ตาม คริสตจักรอื่น ๆ ในฝ่ายโปรเตสแตนต์ไม่มีการเฉลิมฉลองดังกล่าว

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 260
  2. 1ยน 1:1-7 พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ เพื่อให้เรามีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาและพระบุตร[ลิงก์เสีย], คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์
  3. พระวรสารนักบุญยอห์น 1:1-14[ลิงก์เสีย]
  4. McKim, Donald K. 1996. Westminster dictionary of theological terms. Louisville, KY: Westminster John Knox Press. p140.
  5. "University of Notre Dame". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-22. สืบค้นเมื่อ 2012-07-31.
บรรณานุกรม
  • ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2552. 734 หน้า. ISBN 978-616-7073-03-3
  • พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิมและใหม่ ฉบับมาตรฐาน 2011. กรุงเทพฯ : สมาคมพระคริสตธรรมไทย, 2555. ISBN 978-6-6167218-71-7 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: length