พระราชวังจันทน์
ทางเข้าศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ | |
ที่ตั้ง | ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก |
---|---|
ประเภท | พระราชวัง |
ความเป็นมา | |
ผู้สร้าง | พระมหาธรรมราชาที่ 1 |
สร้าง | ไม่ปรากฏ |
ละทิ้ง | ไม่ปรากฏ |
สมัย | สุโขทัย – อยุธยา |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ค้นพบ | ก่อน พ.ศ. 2444 |
ขุดค้น | พ.ศ. 2537 |
ผู้ขุดค้น | กรมศิลปากร |
สภาพ | เหลือเพียงฐานอิฐ |
ผู้บริหารจัดการ | กรมศิลปากร |
การเปิดให้เข้าชม | ทุกวัน 09.00-16.00 น. |
พระราชวังจันทน์ | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
ที่ตั้ง | อำเภอเมืองพิษณุโลก |
เมือง | จังหวัดพิษณุโลก |
ประเทศ | ไทย |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
เป็นที่รู้จักจาก | สถานที่ประสูติและที่ประทับของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช[1][2] |
พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ติดกับ ค่ายสมเด็���พระนเรศวรมหาราช กองทัพภาคที่ 3 ถนนวังจันทน์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในอดีตยังเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ปัจจุบัน กรมศิลปากร ได้เข้ามาทำการบูรณะค้นหาแนวเขตพระราชวังจันทน์ ระยะที่ 1 เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประวัติ
[แก้]พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) เป็นพระราชโอรสใน พระยาเลอไท พระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วง ของอาณาจักรสุโขทัย ทรงครองกรุงสุโขทัยระหว่าง พ.ศ. 1890 - พ.ศ. 1904 ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 6 ของราชวงศ์พระร่วง พระมหาธรรมราชาที่ 1 เสด็จครองราชสมบัติ กรุงสุโขทัย ณ เมืองพิษณุโลก และทรงครองเมืองพิษณุโลกระหว่าง พ.ศ. 1905 - พ.ศ. 1912 เป็นเวลา 7 ปี พระองค์ทรงสร้างพระราชวังจันทน์บนเนินดินบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน และสันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงอยุธยา
เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลกใน พ.ศ. 2006 ทรงใช้พระราชวังจันทน์เป็นที่ประทับตลอด เชื่อว่ามีการก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยพระองค์ด้วย จากนั้นพระราชวังจันทน์ก็มักจะเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชของกรุงศรีอยุธยาในสมัยต่อ ๆ มาจนถึงสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั่น จากนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดไปอยู่ที่พระราชวังจันทน์อีก
นีกอลา แฌร์แวซ ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2224–29 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนบันทึกกล่า��ถึงพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลกตอนหนึ่งใน ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam) ว่า :-
เมืองนี้แต่ก่อนนี้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระเจ้าแผ่นดิน ทุกวันนี้ยังมีพระที่นั่งองค์เก่า ๆ เหลือให้เห็นอยู่ มีอาณาเขตโดยรอบประมาณหนึ่งลี้ กำแพงอิฐที่ล้อมรอบนั้นนับเป็นชิ้นเอกที่สุดของพระราชฐาน[3]: 42
การค้นพบ
[แก้]ภายหลังพระราชวังจันทน์ได้ร้างลงและไม่มีใครสนใจอีก จนกระทั่งปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการเมืองพิษณุโลก ใน พ.ศ. 2444 โปรดให้ขุนศรเทพบาล สำรวจจังหวัดจัดทำผังพระราชวังจันทน์
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสังเวยเทพารักษ์ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2444 มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า มีซากพระราชวังก่อด้วยอิฐ สูงพ้นดิน 2-3 ศอกเศษ มีพระที่นั่งคล้ายพระที่นั่งจันทรพิศาล ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี มีกำแพงวัง 2 ชั้น มีสระสองพี่น้องอยู่นอกกำแพงวัง ภายหลังปรักหักพังเป็นป่ารกในสงครามอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลก
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทูลตอบสาส์นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เ���ี่ยวกับการค้นพบพระราชวังจันทน์ใน สาส์นสมเด็จ ด้วยลายพระหัตถ์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ว่า :-
ครั้งหนึ่งหม่อมฉันขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ไปถามหาของโบราณในเมืองนั้น เขาบอกว่ามีวังจันทเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณอยู่ทางฝั่งตะวันตก หม่อมฉันไปตรวจดูก็เห็นจริงดังเขาบอก จึงสั่งให้ถางถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตร วังจันทนั้นคงสร้างเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก แลเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และสมเด็จพระนเรศวรเมื่อทรงครองเมืองพิษณุโลกในชั้นหลังต่อมา[4]
การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
[แก้]ใน พ.ศ. 2475 โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ได้ย้ายมาจากบริเวณ วัดนางพญา มาตั้งในพื้นที่พระราชวังจันทน์ จึงมีการปรับพื้นที่ก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ มาเป็นลำดับ
ใน พ.ศ. 2535[5] โรงเรียนจะก่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้นที่บริเวณสนามบาสเกตบอลใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ ขณะที่คนงานก่อสร้างขุดหลุมเสาฐานรากได้พบซากอิฐเก่า กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 มีพื้นที่ 128 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ตามหนังสือ ที่ ศธ 07/4954 เพื่อให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะพระราชวังจันทน์เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ โรงเรียนจึงต้องจัดหาสถานที่แห่งใหม่ เพื่อเตรียมการย้ายโรงเรียนเป็นครั้งที่ 3 ออกไปยังสถานที่แห่งใหม่ต่อไป
การย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม
[แก้]พ.ศ. 2548 โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ทั้งหมดได้ย้ายออกจากเขตพระราชวังจันทน์ไปบริเวณบึงแก่งใหญ่จนแล้วเสร็จ เริ่มรื้อถอนอาคารเรียนในเขตพระราชวังจันทน์ออกทั้งหมด และปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อดำเนินการบูรณะพระราชวังจันทน์ต่อไป
การจัดตั้งศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์
[แก้]บริเวณพื้นที่พระราชวังจันทน์ ถูกจัดตั้งเป็น "ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์" เป็นที่ตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และมีศูนย์การเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนและนักเรียนนักศึกษา
นอกจากนี้ยังมี “อาคารพระสวัสดิราช” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่พระราชวังจันทน์ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยทรงปั้นหยา สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2456 สำหรับเป็นบ้านพักและที่ทำการของเจ้าพนักงานป่าไม้ภาคพิษณุโลก มีพื้นที่ใช้สอย 532 ตารางเมตร โครงสร้างทำจากไม้เนื้อแข็งและไม้สัก โครงหลังคามีรูปทรงปั้นหยา มีมุขหน้าทรงจั่ว หลังจากที่มีการก่อสร้าง อาคารสำนักงานป่าไม้ภาคพิษณุโลกขึ้น ในปี พ.ศ. 2467 ได้ใช้อาคารหลังนี้ เป็นบ้านพักของผู้อำนวยการป่าไม้เขตพิษณุโลก และผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 ตามลำดับ[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ รู้จัก “พระราชวังจันทน์” ที่ประทับของพระนเรศวรมหาราช ขณะทรงพระเยาว์
- ↑ พระราชวังจันทน์ จาก ททท.
- ↑ แชรแวส, นีโกลาส์ และสันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). (2506). Histoire naturelle et Politique du Royaume de Siam [ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)]. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พระนคร: ก้าวหน้า. 324 หน้า. ISBN 978-616-4-37035-7
- ↑ นริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. "สาส์นสมเด็จ: ทูลสนองค��ามในลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม", ศิลปากร, 15(1); (พฤษภาคม 2514): 21.
- ↑ วังจันทน์ : ทางเลือกของความสำคัญทางประวัติศาสตร์
- ↑ ทรงคุณค่า “พระราชวังจันทน์” ที่ประทับของพระนเรศวรมหาราช แหล่งเรียนรู้คู่เมืองพิษณุโลก
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูล
[แก้]- โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเทศกาลต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก. ตามรอยบรรพกษัตริย์ไทยใต้เบื้องพระยุคลบาทในเมืองพิษณุโลก. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], พ.ศ. 2549. ISBN 9747859629