ข้ามไปเนื้อหา

พระนรากรบริรักษ์ (เจิม ปิณฑะรุจิ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระนรากรบริรักษ์
เกิด18 สิงหาคม พ.ศ. 2430
ถึงแก่กรรม13 มิถุนายน พ.ศ. 2503 (72 ปี)
ตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาล
ภรรยาเอกแอบ นรากรบริรักษ์
บุตร10 คน

พันตำรวจเอก พระนรากรบริรักษ์ (เจิม ปิณฑะรุจิ) (18 สิงหาคม 2430 – 13 มิถุนายน 2503)[1] เป็นนายตำรวจชาวไทย เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาลคนแรก ข้าหลวงประจำจังหวัดตรัง, ข้าหลวงประจำจังหวัดสงขลา และข้าหลวงชั้นพิเศษประจำจังหวัดเชียงราย และเป็นต้นตระกูลปิณฑะรุจิ ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 4219 ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2460 ขณะมียศและบรรดาศักดิ์เป็น นายร้อยตำรวจโท ขุนนราบริรักษ์ ตำแหน่ง สารวัตรแขวง กรมพระตำรวจนครบาล[2]

ประวัติ

[แก้]

นายพันตำรวจเอก พระนรากรบริรักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน จุลศักราช 1249 ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม 2430 ที่บ้านข้างวังพระองค์เจ้าสาย อำเภอสำเพ็ง จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร) บิดาชื่อ นายแจ่ม ปิณฑะรุจิ มารดาชื่อ นางจั่น ปิณฑะรุจิ มีพี่สาวร่วมพ่อแม่เดียวกัน 1 คนคือ นางทองอยู่ โพธิอุทัย

ด้านชีวิตส่วนตัวสมรสกับ นางนรากรบริรักษ์ (แอบ ปิณฑะรุจิ; สกุลเดิม อัศวรักษ์) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2454 มีบุตรธิดารวม 10 คน

รับราชการ

[แก้]

ท่านเริ่มรับราชการที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2448 ขณะอายุได้ 18 ปีในตำแหน่งล่าม ก่อนโอนย้ายมารับราชการที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2457 ในตำแหน่งผู้ช่วยแผนกต่างประเทศ กระทั่งวันที่ 3 ตุลาคม ศกเดียวกัน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศให้ท่านเป็น รองอำมาตย์ตรี นายเจิม[3]

จากนั้นในวันที่ 1 เมษายน 2458 ได้โอนย้ายมารับราชการในกรมตำรวจภูธรในตำแหน่งนายเวรอธิบดีกรมตำรวจภูธร ในวันเดียวกัน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนยศของตำรวจหลังจากก่อนหน้านั้นใช้ยศของทหารมาโดยตลอด สำหรับขุนนางข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่โอนย้ายมาสังกัดให้เทียบยศตำรวจเท่ากับยศเดิม ทำให้ยศของท่านเปลี่ยนเป็น นายร้อยตำรวจตรี[4] ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายร้อยตำรวจตรี ขุนนราบริรักษ์ ถือศักดินา 400[5]

ในวันที่ 23 มิถุนายน 2459 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศเป็น นายร้อยตำรวจโท ขุนนราบริรักษ์[6] และได้ย้ายไปรับตำแหน่ง สารวัตรแขวงสามแยก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2459 ได้เลื่อนยศเป็น นายร้อยตำรวจเอก ขุนนราบริรักษ์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2460[7]

จากนั้นได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น นายร้อยตำรวจ เอก หลวงนราบริรักษ์ ถือศักดินา 600 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2461[8] โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้ส่งสัญญาบัตรยศไปพระราชทานเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2463[9] ต่อมาได้เลื่อนเป็นสารวัตรใหญ่สามแยกและรับพระราชทานยศ นายพันตำรวจตรี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2463[10] ในวันที่ 18 ธันวาคม 2467 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท่านโอนย้ายกลับไปเป็นข้าราชการพลเรือนในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการอำเภอแม่สอด (ตำแหน่งนายอำเภอ เทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัด)[11] โดยได้รับพระราชทานยศเป็น อำมาตย์โท หลวงนราบริรักษ์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2467[12]

ต่อมาในวันที่ 3 ธันวาคม 2469 ท่านได้โอนกลับมารับราชการตำรวจในตำแหน่ง รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครสวรรค์[13] แทนที่ นายพันตำรวจเอก พระเริงระงับไภย ที่ออกจากราชการ[14] ในวันที่ 21 มกราคม 2470 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้รักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช แทน นายพันตำรวจเอก พระยาอาชญาพิทักษ์ (เกษ สุนทรรัตน์) ที่สลับไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครสวรรค์[15] ก่อนจะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2471[16]

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2471 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา ได้พระราชทานยศให้ท่านเลื่อนขึ้นเป็น นายพันตำรวจโท หลวงนราบริรักษ์[17] ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีถัดมา ได้โปรดพระราชทานยศเลื่อนขึ้นเป็น นายพันตำรวจเอก หลวงนราบริรักษ์[18] ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม 2472 ได้โปรดเกล้าฯ ให��ท่านเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนพลตำรวจแทน นายพันตำรวจเอก หลวงอรรถวิมลบัณฑิต (โต๊ะ หิรัณยัษฐิติ) ที่ลงไปเป็นผู้บังคับบัญชาการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช[19]

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2473 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ท่านเป็น นายพันตำรวจเอก พระนรากรบริรักษ์ ถือศักดินา 800[20] ต่อมาในปี 2475 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลพายัพคนสุดท้าย เพราะจากนั้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปีเดียวกันได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยงานเป็นกองบังคับการตำรวจภูธรภาคเหนือโดยมี นายพันตำรวจเอก พระยาขจรธรณี เป็นผู้บังคับการคนแรก ส่วนท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลคนแรก[21]

ต่อมาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2476 ท่านได้โอนย้ายกลับมารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน ในตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดตรัง (ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน)[22] ประมาณปี 2478 ได้ย้ายไปรับตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดสงขลา จากนั้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2480 ท่านถูกย้ายเข้ามาประจำกระทรวง[23] กระทั่งวันที่ 18 เมษายน 2482 ท่านได้ย้ายไปรับตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย[24] ในวันที่ 16 มิถุนายน ปีเดียวกัน ท่านได้เลื่อนชั้นขึ้นเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดชั้นพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงราย[25] จากนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2484 ท่านได้กลับเข้ามาประจำกระทรวงอีกครั้ง[26] ก่อนจะลาออกจากราชการรับเบี้ยบำนาญเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2484

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. นรากรบริรักษ์ อนุสรณ์
  2. นามสกุลพระราชทาน อักษร ป
  3. พระราชทานยศและเลื่อนยศ
  4. ประกาศ ใช้ยศนายตำรวจภูธร พระพุทธศักราช 2458
  5. พระราชทานบรรดาศักดิ์
  6. พระราชทานยศนายตำรวจภูธรและนายตำรวจพระนครบาล (หน้า 811)
  7. พระราชทานยศนายตำรวจภูธรและนายตำรวจพระนครบาล (หน้า 1539)
  8. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า 2654)
  9. ส่งสัญญาบัตรยศตำรวจภูธรและตำรวจพระนครบาลไปพระราชทาน
  10. พระราชทานยศ
  11. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งผู้ว่าราชการอำเภอแม่สอด
  12. พระราชทานยศ (หน้า 3368)
  13. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ถอน ย้าย และตั้งตำแหน่งหน้าที่ราชการ
  14. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  15. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายผู้บังคับการตำรวจ
  16. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งผู้บังคับการตำรวจภูธร
  17. พระราชทานยศพลเรือน (หน้า 2450)
  18. พระราชทานยศพลเรือน (หน้า 2781)
  19. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  20. พระราชทานยศ
  21. ประกาศประธานคณะกรรมการราษฎร ประกาศ ปลดตั้งและย้ายนายตำรวจ
  22. แจ้งความ ปลด ตั้ง และย้ายข้าหลวงประจำจังหวัด (หน้า 3327)
  23. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายและโอนข้าราชการ
  24. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายข้าราชการ
  25. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง และข้าหลวงประจำจังหวัดชั้นพิเศษ ในกระทรวงมหาดไทย
  26. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการ
  27. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๑๐, ๕ ตุลาคม ๒๔๘๒
  28. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๖๘๔, ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๐
  29. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๓๑ ง หน้า ๒๑๓๙, ๑๕ มิถุนายน ๒๔๘๖
  30. ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนามผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๔, ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๗๘
  31. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๐๗, ๗ ตุลาคม ๒๔๘๔
  32. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๘๖, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๔