พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี)
พันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) (5 สิงหาคม 2407 – 23 สิงหาคม 2473)[1] เป็นขุนนางชาวไทย เป็นผู้ขอรับพระราชทานนามสกุล ภมรมนตรี ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 2659[2] อดีตผู้ช่วยสถานทูตสยาม ประจำกรุงเบอร์ลิน เป็นบิดาของพลโทประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในแกนนำก่อตั้งคณะราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรัฐมนตรี และยังเป็นปู่ของ แซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี นักร้อง นักแสดง พิธีกร และนักการเมืองชื่อดัง และยังมีศักดิ์เป็นปู่ทวด ของ แมมโบ้-ยุรการ ภมรมนตรี และ มายด์-ยุรริษา ภมร มนตรี
ประวัติ
[แก้]พันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2407 ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรชายของ พระยามณเฑียรบาล (บัว ภมรมนตรี) (แต่ในราชกิจจานุเบกษาระบุว่าเป็นบุตรของจมื่นมหาสนิท (อ่ำ ภมรมนตรี) พี่ชายของพระยามณเฑียรบาล) เป็นหลานปู่ของพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) ข้าหลวงเดิมและเสนาบดีคลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลานป้าของคุณพุ่ม กวีหญิงคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3–5 ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับ แพทย์หญิงแอนเนรี ไฟร์ ภมรมนตรี[3]
พันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคไตพิการ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2473 สิริอายุได้ 66 ปี
รับราชการ
[แก้]พระชำนาญคุรุวิทย์เริ่มต้นรับราชการในปี 2427 ในยศจ่านายสิบ กรมทหารปืนใหญ่รักษาพระบรมมหาราชวัง ในปี 2428 ได้เป็นว่าที่นายร้อยตรี และได้เป็นว่าที่นายร้อยโทในปีเดียวกัน ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรทหารเลื่อนยศเป็น นายร้อยเอก เมื่อปี 2430 จากนั้นในวันที่ 10 กันยายน 2434 ได้เป็นทหารรักษาพระองค์ตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งเสด็จขึ้นไปเป็นข้าหลวงประจำเมืองหนองคาย[4] และได้เป็นผู้บังคับการกองทหารมณฑลอุดร
ในปีถัดมาคือในวันที่ 10 ธันวาคม 2435 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ส่งสัญญาบัตรยศทหารชั้น นายพันตรี ขึ้นไปพระราชทาน[5] จากนั้นจึงโอนไปรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ในตำแหน่งผู้ช่วยสถานทูตสยาม ประจำกรุงเบอร์ลิน ในปี 2439 ต่อมาไปในปี 2445 ได้เดินทางกลับสยามและโอนกลับมารับราชการทหารเป็นครูวิชาเลขในโรงเรียนนายร้อยทหารบก
ในวันที่ 5 ตุลาคม 2448 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ให้ท่านเป็น นายพันตรี หลวงอุปเทศทวยหาญ ถือศักดินา 800[6] ปีถัดมาคือในปี 2449 ได้โอนย้ายอีกครั้งไปรับราชการที่กระทรวงเกษตราธิการ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบัน) ในตำแหน่งครูโรงเรียนกรมเพาะปลูกและกรมคลอง จากนั้นในวันที่ 11 เมษายน 2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะมีพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และสำเร็จราชการรักษาพระนคร ได้พระราชทานพระอนุญาตให้ท่านเป็น ว่าที่มรรคนายกวัดคฤหบดี[7] ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูล
ในปี 2451 ท่านได้ปลดประจำการเป็นกองหนุนรับพระราชทานเบี้ยหวัด ต่อมาในปี 2453 ได้เป็นนายทหารรับพระราชทานบำนาญ จากนั้นในวันที่ 26 เมษายน 2458 ได้เปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็น พันตรี หลวงพรรฦกสรศักดิ์ คงถือศักดินา 800[8]
ต่อมาในปี 2460 ได้ย้ายไปสังกัดกรมจเรทัพบกและการปืนเล็กปืนกล ในวันที่ 7 สิงหาคม 2462 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระชำนาญคุรุวิทย์ ถือศักดินา 800[9] โดยเข้าเฝ้ารับพระราชทานสัญญาบัตรพร้อมกับรับพระราชทานยศชั้น จ่า ในกรมมหาดเล็กเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2462[10][11]
ยศและบรรดาศักดิ์
[แก้]- 10 ธันวาคม 2435 – นายพันตรี
- 5 ตุลาคม 2448 – หลวงอุปเทศทวยหาญ
- 26 เมษายน 2458 – หลวงพรรฦกสรศักดิ์
- – รองหุ้มแพร
- 17 พฤศจิกายน 2462 – จ่า พระชำนาญคุรุวิทย์
เกียรติยศ
[แก้]พันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญดังต่อไปนี้
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
- พ.ศ. 2462 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 4 (ว.ป.ร.4)[12]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2461 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)[13]
- พ.ศ. 2460 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 5 (ว.ป.ร.5)[14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ข่าวตาย
- ↑ ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 39
- ↑ แซม เป���ดภาพอายุ 120 ปี-ประวัติคุณย่า ‘พญ.แอนเนรี่’ แฟนๆ ชมเปาะหล่อได้ย่า
- ↑ ประกาศกรมยุทธนาธิการ
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรทหาร
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ แจ้งความกระทรวงธรรมการ
- ↑ พระราชทานบรรดาศักดิ์
- ↑ พระราชทานบรรดาศักดิ์
- ↑ ประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก
- ↑ รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
- ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 3321. 25 มกราคม 1919.
- ↑ พระราชทานเหรียญราชรุจิ
- ↑ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์