พระคยากัสสปะ
พระคยากัสสปเถระ | |
---|---|
ภาพวาดพระคยากัสสปะ ขณะยังเป็นชฎิล 3 พี่น้อง | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ชื่อเดิม | คยากัสสปะ |
ชื่ออื่น | นทีกัสสปะ, นทีชฎิล |
สถานที่บวช | อุรุเวลาเสนานิคม |
วิธีบวช | เอหิภิกขุอุปสัมปทา |
สถานที่บรรลุธรรม | คยาสีสะ |
ฐานะเดิม | |
วรรณะเดิม | พราหมณ์ (กัสสปะโคตร) |
การศึกษา | จบไตรเพท |
สถานที่รำลึก | |
สถานที่ | คยาสีสะ สถานที่ชฎิล 3 พี่น้องบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระคยากัสสปะ เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยต้นพุทธกาล
พระคยากัสสปะ เป็นน้องชายของพระอุรุเวลกัสสปะ และพระนทีกัสสปะ ก่อนบวชเป็นชฎิลมีบริวาร 200 ตั้งอาศรมอยู่ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ภายหลังยอมตนเข้ามานับถือพระพุทธศาสนาและบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านและศิษย์ของท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้พระเจ้าพิมพิสารยอมตนนับถือพระพุทธเจ้า
ชาติภูมิ
[แก้]พระคยากัสสปะเถระ เกิดในตระกูลพราหมณ์กัสสปโคตร 3 พี่น้องคือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้ศึกษาจบไตรเพท คือ พระเวท 3 อย่าง ซึ่งเป็นคัมภีร์ ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของพราหมณ์ ได้แก่
- ฤคเวท (อรุพเพท) ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า
- ยชุรเวท (ยชุพเพท) บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ
- สามเวท ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ
กัสสปะพี่ชายคนโตนั้นมีบริวาร 500 คน กัสสปะ คนกลาง มีบริเวณ 300 คน และกัสสปะ คนเล็กสุดท้าย มีบริวาร 200 คน ต่อมาทั้งสามพี่น้องมีความเห็นตรงกันว่า “ลัทธิที่พวกตนนับถืออยู่นั้นไม่มีแก่นสาร” จึงพากันออกบวชเป็นฤๅษีชฎิล เกล้าผมเซิง บำเพ็ญพรตบูชาไฟตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา ตามลำดับกัน พี่ชายคนโต ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำตอนเหนือ ณ ตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า “อุรุเวลกัสสปะ” น้องชายคนกลาง ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำถัดไป ณ ตำบลนที จึงได้ชื่อว่า “นทีกัสสปะ” ส่วนน้องชายคนเล็ก ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำ ณ ตำบลคยา จึงได้ชื่อว่า “คยากัสสปะ”
เมื่อพระพุทธองค์ ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในพรรษานั้นมีพระสงฆ์สาวกผู้สำเร็จพระอรหันต์ จำนวน 60 รูป เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระบรมศาสดาได้ส่งพระสาวกทั้ง 60 รูปนั้น ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังถิ่นต่าง ๆ ส่วนพระองค์เองเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ในระหว่างทาง เสด็จเข้าไปประทับพักผ่อนภายใต้ร่มไม้ริมทางในไร่ฝ้าย ขณะนั้นมีพระราชกุมาร 30 พระองค์ ผู้ได้นามว่า “ภัททวัคคีย์” ได้พาภรรยาไปเที่ยวหาความสุขสำราญในราชอุทยาน ราชกุมารองค์หนึ่งไม่มีภรรยา จึงพาหญิงโสเภณีไปเป็นคู่เที่ยว เมื่อพวกราชกุมารกำลังเพลิดเพลินสนุกสนานกันอยู่นั้น หญิงโสเภณีได้ขโมยของมีค่าหนีไป พวกราชกุมารออกติดตามมา ได้พบพระผู้มีพระภาคที่ไร่ฝ้าย จึงเข้าไปเฝ้าแล้วกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เห็นหญิงคนหนึ่งผ่านมาทานี้บ้างหรือไม่ พระเจ้าข้า ?"“พวกท่านเห็นว่า การแสวงหาหญิงกับการแสวงหาสิ่งประเสริฐในตนสิ่งไหนจะดีกว่ากัน ?" “แสวงหาสิ่งประเสริฐในตนดีกว่า พระเจ้าข้า” “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงนั่งลง ตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง” พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟัง จนทั้งหมดได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบัน ถึงชั้นพระสกทาคามี และพระอนาคามีทุกพระองค์ จากนั้น พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้แล้ว ส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา
พระบรมศาสดา เสด็จต่อไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เสด็จเข้าไปยังสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ตรัสขอพักอาศัยสักหนึ่งราตรี แต่อุรุเวลกัสสปะ เห็นว่าเป็นนักบวชต่างลัทธิ จึงบ่ายเบี่ยงว่าไม่มีสถานที่ให้พัก พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ธรรมดาว่าโคย่อมเข้าไปสู่ฝูงโค นักบวชก็ย่อมเข้าไปสู่สำนักของนักบวช ถ้าท่านไม่มีความหนักใจ ตถาคตจะขอพักอาศัยอยู่ในโรงไฟ ซึ่งเป็นที่บูชายัญของท่านนั้น” “ดูก่อนมหาสมณะ เรามิได้หนักใจ ถ้าท่านจะพักในที่นั้น แต่ว่ามีพญานาคดุร้ายและมีพิษมาก อยู่ในโรงไฟนั้น เกรงว่าท่านจะได้รับอันตรายถึงชีวิตก็ได้” เมื่ออุรุเวลกัสสปะไม่ขัดข้อง พระพุทธองค์จึงเสด็จเข้าไปในโรงไฟ ทรงพิจารณาตรวจดู สถานที่อันสมควรแล้ว ประทับนั่งสมาธิเจริญกรรมฐาน ฝ่ายพญานาค เห็นผู้แปลกหน้าผิดกลิ่นเข้ามาในโรงไฟของตนก็โกรธ จึงพ่นพิษออกมาเป็นควันไฟอบอวลทั่วทั้งโรงไฟ หวังจะทำอันตรายให้สิ้นชีวิต แต่พระพุทธองค์ทรงแสดงพุทธานุภาพให้ปรากฏ ด้วยการบันดาลให้ควันไฟกลับไปสัมผัสเนื้อ หนัง เอ็น และกระดูกของพญานาค ทำให้ฤทธิ์เดชของพญานาคเหือดหายไป บังเกิดความเจ็ดปวดขึ้นมาแทน
ในราตรีนั้น พระพุทธองค์ทรงทรมานพญานาค ด้วยวิธีต่าง ๆ ทรงเข้าเตโชกสิณสมาบัติบันดาลให้เปลวไฟรุ่งโรจน์โชตนาการทั่วโรงไฟ เหล่าชฎิลทั้งหลายต่างมองดูด้วยความดีใจว่า “พระสมณะ คงจะวอดวาย ในกองเพลิงด้วยพิษของพญานาค อย่างแน่นอน” ในที่สุด พระพุทธองค์ ก็ทรงปราบพญานาค จนสิ้นฤทธิ์โดยสิ้นเชิงแล้วจับเอาลงไปขดไว้ในบาตรรุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปะ พาศิษย์ชฎิลมาตรวจดู เมื่อเป็นเหตุการณ์เช่นนั้นจึงคิดว่า “พระสมณะนี้ มีอานุภาพมาก สามารถปราบพญานาคให้พ่ายแพ้ได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา” คิดดังนี้แล้ว จงยังมิยอมรับนับถือ แต่ก็รู้สึกเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ และนิมนต์ให้พักอยู่ต่อไปได้ โดยพวกตนจะเป็นผู้นำอาหารมาถวายทุกวัน
วันต่อมา พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปประทับที่ชายป่าใกล้ ๆ อาศรมของอุรุเวลกัสสปะนั้น ในยามราตรีของแต่ละคืน ได้มีทวยเทพเทวาตั้งแต่ชั้น จาตุมหาราชทั้ง 4 ท้าว โกสีย์เทวราช และท้าวสหัมบดีพรหม ต่างก็มาเข้าเฝ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา ได้เปล่งรัศมีแสงสว่างทั่วทั้งไพรสณ��์ ยังความฉงนสนเท่ห์ให้เกิดแก่อุรุเวลกัสสปะ และบริวารเป็นอย่างยิ่ง ครั้นรุ่งเช้า ได้กราบทูลถามเหตุที่มาของแสงสว่างนั้น ครั้นได้ทราบความตลอดแล้วรู้สึกศรัทธาเลื่อมใสและดำริอยู่ในใจว่า “อานุภาพของพระสมณโคดมนี้ยิ่งใหญ่หาผู้เปรียบมิได้ แม้แต่เทพยาดาทุกชั้นฟ้า ยังมาเข้าเฝ้าเพื่อขอฟังธรรม แต่ถึงจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม ก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเช่นเรา”พระบรมศาสดา ทรงพักอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ เป็นเวลา 2 เดือน ทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ทรมานอุรุเวลกัสสปชฎิล หลายประการ แต่อุรุเวลกัสสปะ ผู้มีสันดานกระด้าง มีทิฏฐิแรงกล้ายังถือตนเองว่าเป็นพระอรหันต์อยู่เช่นเดิม
พระพุทธองค์ทรงดำริว่า “ตถาคต จะยังโมฆบุรุษชฏิลนี้ ให้เกิดความสลดสังเวช” ดังนี้แล้วจึงตรัสว่า “ดูก่อนกัสสปะ ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทางปฏิบัติของท่านยังห่างไกลต่อการสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มิใช่ทางมรรคผลอันใดเลย ไฉนท่านจึงถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ ท่านลวงตนเองแล้วยังลวงคนอื่น ถ้าท่านรู้สึกสำนึกตัว และปฏิบัติตามคำสอนของเรา ท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ที่แท้จริงในไม่ช้า”อุรุเวลกัสสปะ ได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็รู้สึกสลดใจ ก้มศีรษะลงแทบพระบาทกราบทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดา จึงตรัสแก่เธอว่า “กัสสปะ ท่านเป็นอาจารย์เจ้าสำนักที่ยิ่งใหญ่ มีบริวารมากกว่า 500 คน ท่านจงบอกให้บริวารของท่านทราบทั่วกันก่อน ตถาคตจึงจะอุปสมบท ให้ท่าน”
อุรุเวลกัสสปะ จึงประกาศชักชวนชฎิลบริวารของตนทั้งหมด พากันลอยบริขารดาบส มีเครื่องแต่งผมเป็นชฎา และเครื่องบูชาเพลิง เป็นต้น ลงในแม่น้ำแล้วทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดา ประทานการอุปสมบทด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา พร้อมกันทั้งหมดฝ่าย นทีสัสสปะ และ คยากัสสปะ น้องชายทั้งสองคน ซึ่งตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำตอนใต้ลงไปตามลำดับ เห็นบริขารของพี่ชายลอยมาตามน้ำ ทำให้คิดว่า “อันตรายคงจะเกิดมีแก่พี่ชายของตน” จึงพร้อมด้วยบริวารรีบมาที่สำนักของพี่ชาย เห็นพี่ชายอยู่ในเพศพระภิกษุ จึงสอบถามได้ความว่า “พรหมจรรย์นี้ประเสริฐยิ่งนัก” จึงพากันลอยบริขารลงในแม่น้ำแล้วขออุปสมบทด้วยกัน ทั้งหมด
พระพุทธองค์ ประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พอสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้ว จึงเสด็จพร้อมด้วยหมู่ภิกษุชฎิลเหล่านั้น จำนวน 1,003 รูป ไปยัง ตำบลคยาสีสะ และประทับอยู่ ณ ที่นั้น ทรงพิจารณาเห็นอินทรีย์ของภิกษุใหม่ แก่กล้าแล้ว จึงตรัสเรียกท่านเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันแล้วตรัสพระธรรมเทศนา “อาทิตตปริยายสูตร” ทรงเปรียบเทียบสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อนดุจเดียวกับไฟ เพื่อให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของพวกเธอ ที่เคยบูชาไฟมาก่อน
ทรงแสดงถึงอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นของร้อน และความรู้สึกว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะตาเห็นรูป หรือหูได้ยิน เป็นต้น ก็เป็นของร้อนใจความโดยสรุปก็คือ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัส และใจกระทบอารมณ์ แล้วทำให้เกิดความเร่าร้อน ร้อนเพราะราคา โทสะ และโมหะ เป็นต้น ผู้ได้สดับและรู้เท่าทันกิเลสเหล่านี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้ว จิตก็ไม่ยึดมั่นไม่ถือมั่นสิ่งเหล่านั้น
ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่นั้น ภิกษุชฎิล ทั้ง 1,003 รูป ส่งกระแสจิตไปตามวาระแห่งพระธรรมเทศนา จิตของพวกเธอ ก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งปวง สำเร็จป็นพระอรหันต์ขีณาสพด้วยกันทั้งหมด
พระอุรุเวลกัสสปะ เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยกิจการพระพุทธศาสนา และช่วยแบ่งเบาภาระของพระบรมศาสดา ได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ใหม่ ๆ ได้ติดตามเสด็จพระบรมศาสดาไปสู่เมืองราชคฤห์ พระพุทธองค์ประทับณ ลัฏฐิวันสวนตาลหนุ่ม พระเจ้า พิมพิสารทรงทราบ จึงพร้อมด้วยพราหมณ์ และคฤหบดีชาวเมืองมคธ จำนวน 12 นหุต เสด็จเข้ามาเฝ้า กราบถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วปะทับนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่พระองค์ ส่วนบริวารที่ติดตามมาเหล่านั้น ต่างก็แสดงกิริยาอาการต่าง ๆ กัน คือ บางพวกก็ถวายบังคม บางพวกก็กราบทูลสนทนา บางพวกก็ประกาศชื่อและตระกูลของตน บางพวกก็นั่งเฉย ๆ เป็นต้น
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะคนเหล่านั้นยังไม่แน่ใจว่าระหว่างพระบรมศาสดากับอุรุเวลกัสสปะ นั้นใครเป็นศิษย์ใครเป็นอาจารย์กันแน่ เพราะว่า อุรุเวลกัสสปะ ก็เป็นเจ้าสำนักใหญ่ มีคนเคารพนับถือมากมาย และได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งพระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตความคิดของคนเหล่านั้นเป็นอย่างดี เพื่อปลดเปลื้องความสงสัยของคนเหล่านั้น จึงตรัสถามพระอุรุเวลกัสสปะ ว่า “กัสสปะ เธออยู่ในอุรุเวลาเสนานิคมมานาน เป็นอาจารย์สั่งสอนชฎิลให้บำเพ็ญพรต จนซูบผอม เธอเห็นโทษอะไรหรือ จึงเลิกละการบูชานั้นเสีย?” พระอุรุเวลกัสสปะ เมื่อได้ฟังพุทธดำรัสแล้ว ก็ทราบถึงพุทธประสงค์ดี จึงน้อมนมัสการกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค การบูชายัญทั้งหลาย ล้วนแต่มีความมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งกามคุณ มีรูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นของร้อน บัดนี้ ข้าพระองค์ ได้รู้ชัดแล้วว่า ความรักใคร่ พอใจในกามคุณเหล่านั้น เป็นมลทิน ทำใจให้เศร้าหมอง ก่อให้เกิดกิเลส และความทุกข์ จึงละทิ้งการบูชาไฟนั้นเสีย บัดนี้ ข้าพระองค์ ได้เห็นธรรมอันสงบระงับแล้ว” พระเจ้าข้า ครั้นแล้ว พระเถระได้ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระพุทธองค์ แล้วประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ๆ เป็นสาวกของพระองค์” จากกิริยาอาการและถ้อยคำของพระเถระนั้น ทำให้บริวารของพระเจ้าพิมพิสารทั้งหมดเหล่านั้นหายสงสัย น้อมจิตลงที่ฟังพระธรรมเทศนา ดังนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” และ “อริยสัจ 4” ให้ฟังเมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร 11 นหุตะ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนอีก 1 นหุตะ ดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์ ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ
บั้นปลายชีวิต
[แก้]ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านดับขันธปรินิพพานที่ใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงปรินิพพาน
อ้างอิง
[แก้]- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ 84000
- เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน