ดักมาร์แห่งโบฮีเมีย
ดักมาร์แห่งโบฮีเมีย | |
---|---|
ดักมาร์แห่งโบฮีเมีย สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก บนภาพศิลปะเฟรสโก ที่โบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด, เดนมาร์ก | |
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก | |
ดำรงพระยศ | ค.ศ. 1205–1212 |
ประสูติ | ป. ค.ศ. 1186 ไมเซิน |
สวรรคต | 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1212 รีเบ |
ฝังพระศพ | โบสถ์นักบุญเบ็นท์ |
คู่อภิเ���ก | พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก |
พระราชบุตร | วัลเดมาร์ยุวกษัตริย์ |
ราชวงศ์ | ปแชมิเซิล |
พระราชบิดา | พระเจ้าปแชมิเซิล โอตาการ์ที่ 1 แห่งโบฮีเมีย |
พระราชมารดา | อาเดิลไฮท์แห่งไมเซิน |
ดักมาร์ (เช็ก: Dagmar) หรือ มาร์แกตา (Markéta; ราว ค.ศ. 1186 – 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1212 เมืองรีเบ) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก จากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก โดยทรงเป็นพระมเหสีพระองค์แรก พระนางเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าปแชมิเซิล โอตาการ์ที่ 1 แห่งโบฮีเมีย ที่ประสูติแต่พระมเหสีองค์แรกคืออาเดิลไฮท์แห่งไมเซิน[1]
ช่วงต้นพระชนมชีพ
[แก้]พระราชบิดาของเจ้าหญิงมาร์แกตา คือ ปแชมิเซิล โอตาการ์ที่ 1 ทรงเป็นดยุกแห่งโบฮีเมียใน ค.ศ. 1192 แต่ใน ค.ศ. 1193 ทรงถูกปลดจากตำแหน่งจากภัยทางการเมืองของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระองค์และราชวงศ์ได้ออกจากโบฮีเมีย พระชายาของพระองค์คือ อาเดิลไฮท์แห่งไมเซิน และพระโอรสธิดาได้ไปประทับที่ราชสำนักของพระเชษฐาในพระนางอาเดิลไฮท์ คือ อัลเบร็ชท์ที่ 1 มาร์เกรฟแห่งไมเซิน ปแชมิเซิล โอตาการ์ทรงกลายเป็นทหารรับจ้างของจักรพรรดิเยอรมัน ใน ค.ศ. 1197 ปแชมิเซิล โอตาการ์ได้รับตำแหน่งดยุกแห่งโบฮีเมียเป็นครั้งที่สอง และได้ขึ้นเป็นกษัตริย์โบฮีเมียใน ค.ศ. 1198 กษัตริย์ปแชมิเซิล โอตาการ์ที่ 1 ทรงละทิ้งพระราชินีอาเดิลไฮท์ด้วยการหย่าร้างใน ค.ศ. 1199 จากการร่วมสายโลหิตกัน และหลังจากนั้นหนึ่งปีทรงอภิเษกสมรสใหม่กับเจ้าหญิงโกนช์ต็อนซิยอแห่งฮังการี[2] กระบวนการนี้มีส่วนช่วยให้พระองค์ยกระดับตำแหน่งจากดยุกมาเป็นพระมหากษัตริย์ตามพระราชกฤษฎีกาทองแห่งซิชิลี
อดีตพระราชินีอาเดิลไฮท์ไม่ทรงสละสิทธิ์ของพระนาง ใน ค.ศ. 1205 พระนางเสด็จกลับไปยังปรากชั่วคราว ในช่วงนั้นกษัตริย์ปแชมิเซิล โอตาการ์ ทรงให้เจ้าหญิงมาร์แกตา พระราชธิดาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก พระมเหสีองค์ใหม่ของพระองค์คือ พระราชินีโกนช์ต็อนซิยอมีประสูติกาลพระโอรสซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าวาตส์ลัฟที่ 1 แห่งโบฮีเมียในปีเดียวกัน อดีตพระราชินีอาเดิลไฮท์เสด็จออกจากโบฮีเมีย และสิ้นพระชนม์ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น
สมเด็จพระราชินี
[แก้]ก่อนการอภิเษกสมรสครั้งแรก กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ทรงอภิเษกสมรสกับรีเชซาแห่งบาวาเรีย ธิดาในดยุกแห่งแซกโซนี เมื่อการแต่งงานไม่เกิดขึ้น พระองค์ได้อภิเษกสมรสครั้งแรกกับเจ้าหญิงมาร์แกตาแห่งโบฮีเมีย ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "ดักมาร์" ใน ค.ศ. 1205 ที่เมืองลือเบ็ค ตามบันทึกอันนาเลสเย็นเซส (รีดาบอเก็น; Rydårbogen) บันทึกว่าใน ค.ศ. 1206 สมเด็จพระราชินีดักมาร์มีอิทธิพลเหนือกษัตริย์วัลเดมาร์ให้ปล่อยตัวศัตรูคู่อาฆาตของพระองค์คือ บิชอปวัลเดมาร์แห่งชเลสวิช ซึ่งถูกคุมขังมาตั้งแต่ ค.ศ. 1193[3][4]
ใน ค.ศ. 1209 สมเด็จพระราชินีดักมาร์มีพระประสูติกาล เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก (ราว ค.ศ. 1209–1231) สมเด็จพระราชินีดักมาร์สิ้นพระชนม์ขณะมีพระประสูติกาลพระโอรสองค์ที่สอง ซึ่งไม่รอดพระชนม์เช่นกัน กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ทรงแต่งตั้งให้พระโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์ร่วมเป็นที่รู้จักในนาม ยุวกษัตริย์วัลเดมาร์ ณ เมืองชเลสวิกใน ค.ศ. 1218 แต่ยุวกษัตริย์วัลเดมาร์กลับทรงประสบอุบัติเหตุต้องลูกธนูขณะเสด็จออกล่าสัตว์ที่เรฟสนีส์ในภาคเหนือของจัตแลนด์ ค.ศ. 1231[5]
ไม่ค่อยมีใครทราบถึงเรื่องราวของสมเด็จพระราชินีดักมาร์ในฐานะบุคคลจริง เนื่องจากภาพลักษณ์ของพระนางมักปรากฏตามคติชนพื้นบ้าน นิทานโบราณและตำนาน ที่แสดงภาพลักษณ์พระนางในฐานะพระราชินีชาวคริสต์ในอุดมคติ ผู้อ่อนโยน มีขันติธรรมและเป็นที่เคารพรักไปทั่ว ตรงกันข้ามกับพระราชินีองค์ต่อมาอย่าง พระราชินีบึเร็งการียา เพลงบัลลาดเก่าแก่มีเนื้อความว่า พระนางดักมาร์ขอร้องให้กษัตริย์อภิเษกสมรสกับเคิร์ชเทน บุตรีของคาร์ล ฟอน รีซ และไม่ให้เสกสมรสกับ "ดอกไม้งาม" อย่างบึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส (เบ็นเกิร์ด) เพราะพระนางทรงทำนายว่าเหล่าโอรสที่เกิดกับบาเรนกาเรียแห่งโปรตุเกสจะต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์กัน
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระราชินีดักมาร์ มีความพยายามผูกสัมพันธ์กับฟลานเดอส์ (ดินแดนที่มีความสำคัญทางการค้าและมีพรมแดนติดกับศัตรูเดนมาร์กทางตะวันตก) กษัตริย์วัลเดมาร์จึงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงบึเร็งการียาใน ค.ศ. 1214 พระศพของสมเด็จพระราชินีดักมาร์ถูกฝังที่โบสถ์นักบุญเบ็นท์ในริงสเต็ด เคียงข้างกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 และมีพระศพของพระราชินีบึเร็งการียาอยู่อีกข้างหนึ่งของพระบรมศพกษัตริย์
พระโอรส
[แก้]ทรงมีพระโอรสดังนี้
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา | |
วัลเดมาร์ยุวกษัตริย์ | ค.ศ. 1209 | 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1231 | อภิเษกสมรส 24 มิถุนายน ค.ศ. 1229 กับ ลียูโนร์แห่งโปรตุเกส ไม่มีพระโอรสธิดา | |
- | พระโอรสตายคลอด | ค.ศ. 1212 | ค.ศ. 1212 | สิ้นพระชนม์เมื่อประสูติ |
กางเขนดักมาร์
[แก้]กางเขนประดับหน้าอก เป็นที่รู้จำในนามว่า "กางเขนดักมาร์" (ดักมาร์คอร์เซ็ท;Dagmarkorset) ซึ่งวางอยู่บนพระทรวงของพระศพพระราชินีดักมาร์ซึ่งมีการเปิดโลงพระศพใน ค.ศ. 1683 ใน ค.ศ. 1695 กางเขนได้ถูกบริจาคแก่หอศิลป์แห่งชาติเดนมาร์ก อัญมณีมีการเจียระไนตามศิลปะไบแซนไทน์และวัสดุทำจากทองคำ มีการเคลือบโดยเอนาเมล ด้านหนึ่งเป็นไม้กางเขนส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นภาพพระเยซูอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยนักบุญบาซิลแห่งซีซาเรีย นักบุญจอห์น คริสซอสตอม พระแม่มารีย์ และนักบุญย��ห์นอัครทูต ใน ค.ศ. 1863 พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 7 แห่งเดนมาร์กได้บริจาครูปจำลองของกางเขนให้แก่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก พระธิดาในเจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-เซินเนอร์บอร์-กลึคส์บวร์ค ซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ในคราวที่เจ้าหญิงได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร[6] [7] [8] [9]
ในยุคสมัยใหม่ กางเขนดักมาร์จะถูกสวมใส่โดย "เด็กหญิงชาวเดนมาร์กเพื่อยืนยันการนับถือคริสตจักรนิกายลูเธอรันและจะถูกมอบให้แก่เด็กๆ ในฐานะของขวัญบัพติศมาด้วย"[10] ในนิกายลูเธอรันของศาสนจักรสวีเดน "กางเขนจะถูกส่งต่อสืบทอดไปยังบิชอปคนใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่ง อาร์กบิชอปแห่งอุปซาลาพร้อมกับตุ้มปี่และโครเซียร์"[11]
ภาพ
[แก้]-
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระราชินีดักมาร์ โดยนักปฏิมากร แอนน์ มารี คาร์ล-นีลส์เซน ที่รีเบอฮัส
-
อนุสรณ์สถานสมเด็จพระราชินีดักมาร์ที่มันโด จัตแลนด์
-
สถานที่ฝังพระศพโบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด, เดนมาร์ก
-
แผ่นโลหะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีดักมาร์ที่ริงสเต็ด
-
ภาพนูนแกะสลักของแอนน์ มารี คาร์ล-นีลส์เซน ที่บรรยายการสิ้นพระชนม์ของพระราชินีดักมาร์ตามการตีความในเพลงพื้นบ้านเดนมาร์ก ที่รีเบอฮัส
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Dronning Dagmar". historie-online.dk. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ Earenfight 2013, p. 175.
- ↑ Anders Leegaard Knudsen (13 July 2012). "Annales Ryenses". University of Bergen. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 June 2021. สืบค้นเมื่อ September 1, 2018.
- ↑ Waldemar (Bischof von Schleswig). Allgemeine Deutsche Biographie. Allgemeine Deutsche Biographie. 1896. p. 687. สืบค้นเมื่อ September 1, 2018.
- ↑ "Valdemar den Unge, dansk Konge, Søn af Valdemar Sejr og Dagmar". Salmonsens konversationsleksikon. สืบค้นเมื่อ September 1, 2018.
- ↑ Sommerville, Maxwell (1894). The Encyclopædia Britannica, Volume 6. p. 542.
- ↑ "Dagmarkorset". Danmarks Historien. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Dagmarkorset". Nationalmuseet. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Queen Alexandra of Great Britain- Queen Victoria's Daughter-in-Law, Bertie's Patient Wife, and Her Own Person". windowstoworldhistory. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ Hämmerli, Maria; Mayer, Jean-François (23 May 2016). Orthodox Identities in Western Europe: Migration, Settlement and Innovation (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 223. ISBN 9781317084914.
Today the Dagmar cross is worn by Danish girls for their confirmation into the Lutheran Church, and is also given to children as a baptismal gift.
- ↑ Chisholm, Hugh (1922). Encyclopedia Britannica: A Dictionary of Arts, Sciences, Literature and General Information (ภาษาอังกฤษ). University Press. p. 509.
ข้อมูล
[แก้]- Earenfight, Theresa (2013). Queenship in Medieval Europe. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1137303929.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | ดักมาร์แห่งโบฮีเมีย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เกอร์ทรูดแห่งบาวาเรีย | สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก (ราชวงศ์แอสตริดเซน) (ค.ศ. 1205–1212) |
บึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส |