ข้ามไปเนื้อหา

จักรพรรดิตึ ดึ๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรพรรดิตึ ดึ๊ก
จักรพรรดิแห่งเวียดนาม
ครองราชย์ค.ศ. 1847 – ค.ศ. 1883
ก่อนหน้าจักรพรรดิเถี่ยว จิ
ถัดไปจักรพรรดิสุก ดึ๊ก
สวรรคต17 กรกฎาคม ค.ศ. 1883(1883-07-17) (53 ปี)
ฝังพระศพเคียมลัง
คู่อภิเษกจักรพรรดินีเหละ เถียน
พระราชบุตรอึง อ๊าย (พระราชโอรสบุญธรรม)
จั๊ญ มง (พระราชโอรสบุญธรรม)
อึง ดัง (พระราชโอรสบุญธรรม)
พระนามเต็ม
เหงียน ฟุก ห่ง เหญิ่ม
เหงียน ฟุก ถี่ (阮福時)
ราชวงศ์ราชวงศ์เหงียน
พระราชบิดาจักรพรรดิเถี่ยว จิ
พระราชมารดาจักรพรรดินีงี เถียน

ตึ ดึ๊ก (เวียดนาม: Tự Đức, 嗣德; 22 กันยายน ค.ศ. 1829 – 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1883) พงศาวดารไทยเรียก ตือดึก[1] พระนามาภิไธยเดิม เหงียน ฟุก ห่ง เหญิ่ม (Nguyễn Phúc Hồng Nhậm, 阮福洪任) พงศาวดารไทยเรียกเจ้ายอมราชบุตร[2] เป็นจักรพรรดิเวียดนามแห่งราชวงศ์เหงียนพระองค์ที่ 4 เสวยราชย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1847–1883 เป็นจักรพรรดิราชวงศ์เหงียนที่อยู่ในราชสมบัติยาวนานที่สุดเป็นเวลา 36 ปี และเป็นจักรพรรดิเวียดนามพระองค์สุดท้ายที่ได้ปกครองเวียดนามในฐานะรัฐเอกราช ในรัชสมัยของพระองค์ประเทศเวียดนามต้องเผชิญกับการคุกคามทางทหารของฝรั่งเศส และการสูญเสียดินแดนเวียดนามภาคใต้หรือโคชินจีน (Cochinchina) ให้แก่ฝรั่งเศส

พระชีวประวัติ

[แก้]
ภาพวาดจักรพรรดิตึ ดึ๊ก โดยชาวตะวันตก

จักรพรรดิตึดึ๊กพระนามเดิมว่าเจ้าชายเหงียน ฟุก ห่ง เหญิ่ม (Nguyễn Phúc Hồng Nhậm, 阮福洪任) ทรงพระราชสมภพในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1829 ในรัชกาลของจักรพรรดิมิญ หมั่ง เป็นพระราชโอรสองค์รองของเจ้าชายเหงียนฟุกเมียนตง (Nguyễn Phúc Miên Tông, 阮福綿宗) และพระสนมฝั่มถิฮั่ง (Phạm Thị Hằng, 范氏姮) เจ้าชายเหงียนฟุกห่งเหญิ่มมีพระเชษฐาต่างมารดาคือเจ้าชายเหงียนฟุกห่งบ๋าว (Nguyễn Phúc Hồng Bảo, 阮福洪保) เมื่อพระจักรพรรดิมิญหมั่งเสด็จสวรรคตในค.ศ. 1841 เจ้าชายเหงียนฟุกเมียนตงพระบิดาของเจ้าชายเหงียนฟุกห่งเหญิ่มได้ขึ้นครองราชสมบัติราชวงศ์เหงียนต่อมาเป็นพระจักรพรรดิเถี่ยว จิ พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายเหงียนฟุกห่งเหญิ่มเป็น เจ้าชายฟุกตวีกง (Phúc Tuy công, 福隆公) แม้ว่าเจ้าชายฟุกตวีกงจะประชวรเป็นโรคไข้ทรพิษทำให้ทรงไม่สามารถมีโอรสหรือธิดาได้ แต่ก็ทรงตั้งใจใฝ่เรียนรู้หลักปรัชญาของลัทธิขงจื๊อ ทำให้พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงโปรดเจ้าชายฟุกตวีกงมากกว่าพระเชษฐาคือเจ้าชายเหงียนฟุกห่งบ๋าว

ขึ้นครองราชย์

[แก้]

ความขัดแย้งกับเจ้าชายห่ง บ๋าว

[แก้]

พระจักรพรรดิเถี่ยวจิพระบิดาของเจ้าชายฟุกตวีกงเสด็จสวรรคตในค.ศ. 1847 ตามหลักของลัทธิขงจื๊อซึ่งเน้นความสำคัญของสิทธิของบุตรชายหัวปี เจ้าชายเหงียนฟุกห่งบ๋าวซึ่งเป็นพระโอรสองค์โตของพระจักรพรรดิเถี่ยวจิควรที่จะได้สืบทอดราชสมบัติต่อมา แต่ทว่าพระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงโปรดเจ้าชายฟุกตวีกงพระโอรสองค์รองมากกว่าพระโอรสองค์โตเนื่องจากเจ้าชายฟุกตวีกงทรงมีความเคร่งครัดและยึดมั่นในหลักการของลัทธิขงจื๊อ ในขณะที่เจ้าชายห่งบ๋าวไม่ทรงสนพระทัยศึกษาเล่าเรียน อีกทั้งเจ้าชายฟุกตวีกงยังได้รับการสนับสนุนจากขุนนางที่มีอำนาจอยู่ในช่วงปลายรัชสมัยเถี่ยวจิเช่น เจืองดังเกว๊ (Trương Đăng Quế, 張登桂) เหงียนจิเฟือง (Nguyễn Tri Phương, 阮知方) ฯลฯ เมื่อเจืองดังเกว๊เปิดราชโองการออกปรากฏว่าพระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงยกราชสมบัติให้แก่เจ้าชายฟุกตวีกงพระโอรสองค์รอง เจ้าชายฟุกตวีกงขึ้นครองราชสมบัติเป็นฮว่างเด๊แห่งราชวงศ์เหงียนของเวียดนามด้วยพระชนมายุ 18 ชันษา เปลี่ยนพระนามเป็นเหงียน ฟุก ถี่ (Nguyễn Phúc Thì, 阮福時) ประกาศใช้รัชศก "ตึดึ๊ก" (Tự Đức, 嗣德) แปลว่า การสืบทอดอันเป็นมงคล เนื่องจากพระจักรพรรดิตึดึ๊กทรงครองราชย์ตั้งแต่ยังพระเยาว์ จึงมีการจัดตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนประกอบด้วยเจืองดังเกว๊ เหงียนจิเฟือง ฯลฯ พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงสถาปนาพระนางฝั่มถิฮั่งพระราชมารดาขึ้นเป็นฮว่างไท้เห่า (Hoàng thái hậu, 皇太后) หรือพระพันปีหลวง

แม้ว่าเจ้าชายเหงียนฟุกห่งบ๋าวจะทรงยอมรับราชโองการในตอนแรกและทรงยอมปล่อยให้บัลลังก์ตกแก่พระอนุชา แต่เจ้าชายห่งบ๋าวก็ยังทรงคิดว่าพระองค์เองสมควรที่จะได้ราชสมบัติอยู่เสมอ มีการกล่าวหาว่าเจืองดังเกว๊ส่งเสริมยกจักรพรรดิเถี่ยวจิที่ยังทรงพระเยาว์ให้เป็นฮว่างเด๊นั้นเพื่อที่จะเป็นหุ่นเชิดให้แก่ตน เจ้าห่งบ๋าวทรงขอความช่วยเหลือจากมิชชันนารีชาวตะวันตกให้เข้าร่วมกับพระองค์ในการทวงคืนราชบัลลังก์ โดยมีข้อตอบแทน���่าหากพระองค์ได้ราชสมบัติจะให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ชาวคริสเตียน แต่ทว่าในค.ศ. 1851 เจืองดังเกว๊ล่วงรู้แผนการที่เจ้าชายห่งบ๋าวขอความช่วยเหลือมิชชันนารีในการเสด็จหลบหนีไปยังสิงคโปร์ ทำให้เจ้าชายห่งบ๋าวถูกจับกุมขังไว้ในพระราชวังแต่พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงอภัยโทษให้แก่พระเชษฐา ในค.ศ. 1854 เจ้าชายห่งบ๋าวทรงก่อการกบฎอีกครั้ง พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงลงพระอาญาให้สำเร็จโทษเจ้าชายห่งบ๋าวแต่พระนางฝั่มถิฮั่งพระพันปีหลวงได้ขออภัยโทษให้แก่เจ้าชายห่งบ๋าว อย่างไรก็ตาม เจ้าชายห่งบ๋าวทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการแขวนพระศออยู่ภายในที่กุมขังสิ้นพระชนม์ไป เจ้าชายห่งบ๋าวรวมทั้งพระโอรสอีกสี่องค์ถูกถอดจากยศปลดลงเป็นสามัญชน จักรพรรดิเถี่ยวจิทรงให้พระโอรสทั้งสี่ของห่งบ๋าวเปลี่ยนชื่อแซ่ไปใช้แซ่ดิญ (Đinh, 丁) ทั้งหมด

การรุกรานของฝรั่งเศสและการสูญเสียดินแดนโคชินจีน

[แก้]
นายพลเรือโท ชาร์ล รีโกล เดอ เยอนูยยี (Charles Rigault de Genuoilly) แม่ทัพเรือฝ่ายฝรั่งเศส (ภายหลังได้ดำรงชั้นยศสุดท้ายเป็นจอมพลเรือ)

การเข้ามามีบทบาทของมิชชันนารีศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในสังคมเวียดนามเป็นปัญหาทางการเมืองของเวียดนามมาเป็นเวลานานเกือบยี่สิบปี ศาสนาคริสต์และลัทธิขงจื๊อมีประเด็นที่ขัดแย้งกันโดยเฉพาะในเรื่องการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ราชสำนักราชวงศ์เหงียนมีความพยายามที่จะปราบปรามและกำจัดศาสนาคริสต์ไปจากเวียดนามแต่ไม่ประสบผล มีการจับมิชชันนารีชาวตะวันตกและชาวเวียดนามที่เข้ารีตนับถือคริสต์มาตัดสินลงโทษประหารชีวิต ในรัชกาลของพระเจ้าเถี่ยวจิพระบิดาของพระจักรพรรดิตึดึ๊กการลงโทษชาวคริสเตียนลดน้อยลงไป เมื่อเข้าสู้สมัยของจักรพรรดิตึดึ๊กหลังจากที่ราชสำนักเชื่อว่าชาวคริสเตียนให้การสนับสนุนการกบฎของเจ้าชายห่งบ๋าว การลงโทษชาวคริสเตียนจึงเริ่มต้นอีกครั้ง ในค.ศ. 1857 พระจักรพรรดิตึดึ๊กทรงลงพระราชอาญาประหารชีวิตมิชชันนารีชาวสเปนจำนวนสองคน

ในขณะเดียวกันนั้นจักรวรรดิฝรั่งเศสกำลังทำสงครามฝิ่นครั้งที่สอง และมีกองกำลังทางเรืออยู่ในน่านน้ำทะเลของจีนเป็นจำนวนมาก ในปีค.ศ. 1857 เช่นกัน นายชาลส์ เดอ มงติญยี (Charles de Montigny) ทูตฝรั่งเศสประจำกรุงรัตนโกสินทร์เดินทางมายังนครเว้เพื่อขอสร้างสัมพันธไมตรีทำสนธิสัญญาทางการค้ากับราชสำนักเวียดนามแต่ไม่ประสบผล เมื่อทางการฝรั่งเศสทราบข่าวการประทุษร้ายมิชชันนารีที่เวียดนาม พระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มีพระราชโองการให้นายพลเรือโท ชาร์ล รีโกล เดอ เยอนูยยี (Charles Rigault de Genuoilly) แห่งกองทัพเรือจักรวรรดิฝรั่งเศส ยกทัพเรือมายังเวียดนามเพื่อเป็นการตอบโต้ โดยมีเป้าหมายคือเมืองดานัง (Da Nang) หรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่าเมืองตูราน (Tourane) นายพลเรือเดอเยอนูยยียกทัพเรือเข้ายึดเมืองท่าดานังได้สำเร็จในเดือนกันยายน ค.ศ. 1858 ฝ่ายพระจักรพรรดิตึดึ๊กทรงส่งแม่ทัพเหงียนจิเฟืองซึ่งเป็นแม่ทัพซึ่งมีบทบาทในอานามสยามยุทธยกทัพเวียดนามเข้าล้องเมืองดานังไว้ ทำให้ทัพฝรั่งเศสถูกขังอยู่ในเมืองท่าดานังไม่สามารถเดินทัพต่อขึ้นบกได้ หลังจากที่ทัพฝรั่งเศสถูกฝ่ายเวียดนามล้อมอยู่ภายในเมืองไซ่ง่อนเป็นเวลาประมาณห้าเดือนไม่สามารถเดินทัพไปต่อได้ แม่ทัพเดอเยอนูยยีตัดสินใจค้นหาเมืองท่าแห่งใหม่เพื่อนำทัพฝรั่งเศสขึ้นฝั่งให้สำเร็จ และแบ่งทัพไปยึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จอีกเมืองหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1859 ปีต่อมา ค.ศ. 1860 ฝ่ายฝรั่งเศสตัดสินใจถอนทัพออกจากเมืองดานังทั้งหมด ไปสมทบรวมกันกับทัพที่ไซ่ง่อน ฝ่ายแม่ทัพเวียดนามเหงียนจิเฟืองหลังจากยึดเมืองดานังคืนได้แล้วจึงยกทัพตามไปล้อมเมืองไซ่ง่อนคืนจากฝรั่งเศส แต่กองทหารฝรั่งเศสภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลเรือโท เลโอนาร์ ชาร์แนร์ (Léonard Charner) นำทัพฝรั่งเศสฝ่าวงล้อมของเหงียนจิเฟืองออกมาจากเมืองไซ่ง่อนได้ และสามารถเอาชนะเหงียนจิเฟืองได้ในยุทธการที่กี่ฮว่า (Battle of Kỳ Hòa)

กองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนในค.ศ. 1859

เมื่อตั้งมั่นบนผืนแผ่นดินเวียดนามได้แล้ว ทัพฝรั่งเศสจึงเข้ายึดจังหวัดเบียนฮว่า (Biên Hòa) และจังหวัดหวิ๋ญลอง (Vĩnh Long) พระจักรพรรดิตึดึ๊กและขุนนางในราชสำนักเมื่อเห็นว่าทัพฝรั่งเศสสามารถยึดดินแดนไปได้จำนวนหนึ่ง และกองทัพเวียดนามไม่มีประสิทธิภาพและวิทยาการมากพอที่จะเอาชนะทัพฝรั่งเศสได้ จึงเริ่มต้นการเจรจา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1852 จักรพรรดิตึดึ๊กทรงให้ฟานทัญซ๋าน (Phan Thanh Giản, 潘淸簡) เป็นผู้แทนฝ่ายเวียดนามในทำข้อตกลงสนธิสัญญาไซ่ง่อน (Treaty of Saigon) ราชวงศ์เหงียนยกเมืองไซ่ง่อน รวมทั้งจังหวัดซาดิ่ญ จังหวัดเบียนฮว่า และจังหวัดดิ่ญเตื่อง (Định Tường) และเกาะโกนเซิน (Côn Sơn) หรือเกาะปูโลคอนดอร์ (Poulo Condore) ให้แก่ฝรั่งเศส เป็นการสูญเสียดินแดนให้แก่ชาติตะวันตกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เวียดนาม รวมทั้งราชสำนักยังต้องเปิดเมืองท่าดานังให้เป็นเมืองท่าเสรีชาวฝรั่งเศสสามารถเข้ามาทำการพาณิชย์ได้ ให้สิทธิแก่ชาวฝรั่งเศสสามารถเดินเรือในแม่น้ำโขงได้อย่างอิสระ และราชสำนักเวียดนามต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสอีกด้วย

ความเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูป

[แก้]
เหรียญที่ใช้ในรัชสมัยของพระองค์

ในค.ศ. 1863 พระจักรพรรดิตึดึ๊กทรงแต่งคณะทูตนำโดยฟานทัญซ๋านเดินทางไปยังนครปารีสประเทศฝรั่งเศสเพื่อเจรจาทวงขอดินแดนที่เสียให้แก่ฝรั่งเศสคืนมาแต่ไม่ประสบผล ในค.ศ. 1864 ฝรั่งเศสจัดตั้งอาณานิคมขึ้นในเวียดนามอย่างเป็นทางการ มีชื่อว่า อาณานิคมโคชินจีน (Cochinchina) เป็นอาณานิคมแห่งแรกในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส หรือที่ชาวเวียดนามเรียกว่า นัมกี่ (Nam Kỳ, 南圻) ในค.ศ. 1867 ฝ่ายทางการอาณานิคมฝรั่งเศสยกกำลังเข้ายึดจังหวัดเจิวด๊ก (Châu Đốc) จังหวัดห่าเทียน (Hà Tiên บันทายมาศ) และจังหวัดหวิ๋ญลอง (Vĩnh Long) ครอบครองดินแดนเพิ่มเติมไปจากสนธิสัญญาไซ่ง่อนเมื่อค.ศ. 1862 แม้ว่าราชสำนักราชวงศ์เหงียนจะไม่ทรงยินยอมที่จะยกดินแดนเหล่านั้นให้แก่ฝรั่งเศส แต่พระจักรพรรดิตึดึ๊กก็มิอาจจะทรงกระทำสิ่งใดได้ เมื่อถูกฝรั่งเศสยึดดินแดนไปเพิ่มเติมอย่างไม่เป็นธรรม ฟานทัญซ๋านจึงลาออกจากราชการแล้วดื่มยาพิษเสียชีวิต เมื่อคณะทูตของฟานทัญซ๋านเดินทางไปฝรั่งเศสได้พบเห็นวิทยากรนำสมัยของชาติตะวันตก จึงนำความมากราบทูลพระจักรพรรดิตึดึ๊ก แต่ทว่าพระจักรพรรดิตึดึ๊กยังคงทรงเมินเฉยต่อความเปลี่ยนแปลง เหล่านักปราชญ์บัณฑิตเวียดนามเริ่มเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมตะวันตก ในค.ศ. 1863 เหงียนเจื่องโตะ (Nguyễn Trường Tộ, 阮長祚) บัณฑิตชาวเวียดนามซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ ถวายฏีกาแด่พระจักรพรรดิตึดึ๊กใจความว่าศาสนาคริสต์มิใช่ภัยคุกคามต่อเวียดนาม และควรจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่พระจักรพรรดิและขุนนางระดับสูงยังคงไม่เห็นความสำคัญของการปฏิรูป

สงครามกับฝรั่งเศสในตังเกี๋ย

[แก้]
ชุดข้าราชการของเหงียนจิเฟือง ซึ่งนายเรือเอก ฟร็องซิส การ์นีเย นายทหารฝรั่งเศสได้ยึดไว้ในคราวที่บุกยึดเมืองฮานอย เมื่อ ค.ศ. 1873

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาติมหาอำนาจตะวันตกต่างต้องการที่จะแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในจักรวรรดิจีน ฝรั่งเศสได้สำรวจดินแดนเวียดนามภาคเหนือแถบลุ่มแม่น้ำแดง (Red River) หรือที่เรียกว่าตังเกี๋ย พบว่าเป็นดินแดนที่สามารถเดินทางไปสู่จีนได้เป็นช่องทางในการขยายอิทธิพลเข้าไปในจีน ในค.ศ. 1873 เกิดความขัดแย้งระหว่างทางการเวียดนามกับพ่อค้าชาวฝรั่งเศสในลุ่มแม่น้ำแดง ทางการอาณานิคมได้ส่งนายเรือเอก ฟร็องซิส การ์นีเย (Francis Garnier) ไปเพื่อทำการไกล่เกลี่ย แต่การ์นีเยกลับนำทัพเข้าบุกยึดนครฮานอย จับตัวแม่ทัพเหงียนจิเฟืองเป็นเชลยศึก เหงียนจิเฟืองปฏิเสธอาหารและเสียชีวิตในระหว่างการคุมขัง ราชสำนักเวียดนามจึงขอความช่วยเหลือจากกองทัพธงดำจ้วง[3] (黑旗軍) หรือฮ่อธงดำในมณฑลกว่างสีของจีนราชวงศ์ชิงซึ่งนำโดยแม่ทัพชาวจีน ลิ้ว หย่งฟู้ (劉永福, Liú Yǒngfú) ลิ้ว หย่งฟู้ นำกองทัพธงดำจ้วงเข้ายึดเมืองฮานอยคืนจากฝรั่งเศสให้แก่เวียดนาม และสังหารนายเรือเอกการ์นีเยเสียชีวิต

หลังจากที่ฝรั่งเศสไม่สามารถยึดตังเกี๋ยมาครอบครองได้ อีกเก้าปีต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1883 นาวาเอก อ็องรี รีวีแยร์ (Henri Rivière) แห่งกองทัพเรือฝรั่งเศส ได้นำกองทหารเข้าบุกยึดเมืองฮานอยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการอาณานิคมฝรั่งเศส ราชสำนักเวียดนามร้องขอความช่วยเหลือไปยังกองทัพธงดำอีกครั้ง ราชสำนักจีนจึงส่ง ลิ้ว หย่งฟู้ นำกองทัพเข้ามาประจำการในเวียดนามภาคเหนือเพื่อเตรียมการต่อสู้กับฝรั่งเศส ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ลิ้วหย่งฟู้นำกองทัพธงดำลอบโจมตีทัพของนาวาเอกรีวีแยร์ในยุทธการที่สะพานกระดาษ (Battle of Paper Bridge) นาวาเอกรีวีแยร์เสียชีวิตในที่รบ

เสด็จสวรรคต

[แก้]
สุสานจักรพรรดิตึ ดึ๊ก

แม้ว่าพระจักรพรรดิตึดึ๊กจะทรงมีพระสนมจำนวนมากแต่ด้วยการประชวรเมื่อยังพระเยาว์ทำให้ไม่สามารถทรงมีโอรสธิดาได้ แม้กระนั้นพระจักรพรรดิตึดึ๊กทรงรับเจ้าชายที่เป็นพระภาติยะมาเป็นพระโอรสบุญธรรมจำนวนสามองค์ด้วยกันได้แก่

  1. เจ้าชายถวิโกว๊กกง (Thụy Quốc Công, 瑞國公) เหงียนฟุกอึงเจิน (Nguyễn Phúc Ưng Chân, 阮福膺禛) ต่อมาคือพระจักรพรรดิสุก ดึ๊ก เป็นพระโอรสของเจ้าชายเหงียนฟุกห่งอี (Nguyễn Phúc Hồng Y, 阮福洪依) พระอนุชาในพระจักรพรรดิตึดึ๊ก
  2. เจ้าชายเกียนซางกวั่นกง (Kiên Giang Quận Công, 堅江郡公) เหงียนฟุกอึงถิ (Nguyễn Phúc Ưng Thị, 阮福膺豉) ต่อมาคือพระจักรพรรดิด่ง คั้ญ เป็นพระโอรสของเจ้าชายเหงียนฟุกห่งไก (Nguyễn Phúc Hồng Cai, 阮福洪侅) พระอนุชาในพระจักรพรรดิตึดึ๊ก
  3. เจ้าชายเหงียนฟุกอึงดัง (Nguyễn Phúc Ưng Đăng, 阮福膺登) ต่อมาคือพระจักรพรรดิเกี๊ยน ฟุก เป็นพระโอรสของเจ้าชายเหงียนฟุกห่งไกเช่นกัน

พระจักรพรรดิตึดึ๊กเสด็จสวรรคตเมื่อเดือนมิถุนายนกรกฎาคม ค.ศ. 1883 พระชนมายุ 54 พรรษา โดยที่สงครามกับฝรั่งเศสในภูมิภาคตังเกี๋ยยังไม่จบสิ้น ทรงได้รับพระนามที่ศาลบรรพกษัตริย์ว่า พระจักรพรรดิดึกตง (Dực Tông, 翼宗) พระสุสานพระนามว่า เคียมลัง (Khiêm Lăng, 謙陵) พระโอรสบุญธรรมเจ้าชายถวิโกว๊กกงเหงียนฟุกอึงเจินขึ้นครองราชสมบัติต่อมาเป็นพระจักรพรรดิสุกดี๊ก ในช่วงปลายรัชสมัยตึดึ๊กมีกลุ่มขุนนางที่มีอำนาจในราชสำนักประกอบด้วยเหงียนวันเตื่อง (Nguyễn Văn Tường, 阮文祥) และโตนเทิ้ตเทวี้ยต (Tôn Thất Thuyết, 尊室説) พระจักรพรรดิสุกดึ๊กอยู่ในราชสมบัติได้เพียงสามวัน[4] จึงถูกกลุ่มขุนนางนั้นปลดออกจากราชสมบัติ หลังจากที่จักรพรรดิตึดึ๊กสวรรคตได้เพียงสองเดือน กองทัพเรือฝรั่งเศสเข้าบุกรุกเวียดนามอีกครั้ง จนนำไปสู่การสูญเสียเอกราชของเวียดนามในที่สุด

อ้างอิง

[แก้]
  1. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 306
  2. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 3 เรื่องเจ้าเวียดนามเทียวตรีสิ้นพระชนม์ เจ้ายอมราชบุตรเป็นเจ้าเวียดนามตือดึก". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "South China in the Imperial Era: South China from 1800 to the fall of the Qing in 1911". CPA Media. 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-30. สืบค้นเมื่อ 9 July 2010. [...] the Black Flags and their leader, Liu Yung-fu, were to acquire a certain dubious legitimacy and fame in the service both of the Vietnamese king, Tu Duc, and of the latter's Qing suzerains in their struggle against French imperialism in Tonkin.
  4. Bruce M. Lockhart, William J. Duiker Historical Dictionary of Vietnam 2010 -Page 154 "A younger brother and adopted son of Emperor Tự Đức, he succeeded his nephew Dục Đức after the latter was deposed by court officials in 1883. Hiép Hoa attempted to wrest power back from these officials, but he was not strong enough"
ก่อนหน้า จักรพรรดิตึ ดึ๊ก ถัดไป
สมเด็จพระจักรพรรดิเถี่ยว จิ
สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเวียดนาม
(เหงียน)

(ค.ศ. 1847 – ค.ศ. 1883)
สมเด็จพระจักรพรรดิสุก ดึ๊ก