คิม แด-จุง
คิม แด-จุง | |
---|---|
김대중 | |
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ คนที่ 8 | |
ดำรงตำแหน่ง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 | |
ก่อนหน้า | คิม ย็อง-ซัม |
ถัดไป | โน มู-ฮย็อน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 6 มกราคม พ.ศ. 2467 เกาะฮาอึย อำเภอซินอัน จังหวัดช็อลลาใต้ เกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552 (85 ปี) โซล เกาหลีใต้ |
เชื้อชาติ | เกาหลีใต้ |
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พรรคการเมือง | พรรคประชาธิปไตย (2499 ~ 2504) พรรคประชาธิปไตย (2506 ~ 2508) พรรคประชาธิปไตยใหม่ (2510 ~ 2523) พรรคประชาธิปไตยเพื่อการรวมชาติ (2530) พรรคสันติภาพประชาธิปไตย (2530 ~ 2534) พรรคประชาธิปไตย (2534 ~ 2535) พรรคสมัชชาเพื่อการเมืองใหม่ (2538 ~ 2543) พรรคประชาธิปไตย |
คู่สมรส | ชา ยง-แอ (2488-2502(ถึงแก่กรรม)) อี ฮี-โฮ (2505-2552) |
ลายมือชื่อ | |
ชื่อเกาหลี | |
ฮันกึล | |
---|---|
ฮันจา | |
อาร์อาร์ | Gim Daejung |
เอ็มอาร์ | Kim Taejung |
นามปากกา | |
ฮันกึล | |
ฮันจา | |
อาร์อาร์ | Hugwang[1] |
เอ็มอาร์ | Hugwang |
คิม แด-จุง (เกาหลี: 김대중, อักษรโรมัน: Kim Dae-jung) (6 มกราคม พ.ศ. 2467 — 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ถึงปี พ.ศ. 2546 และในปี พ.ศ. 2543 เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในบางครั้งคิมได้รับการยกย่องว่าเป็นเนลสัน แมนเดลา แห่งเอเชีย[2]
ชีวิตช่วงต้นและการศึกษา
[แก้]คิมเกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2467[3] แต่ต่อมาเขาได้บันทึกในทะเบียนว่าเกิดวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2468 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ทหารในช่วงระหว่างที่เกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น คิมเป็นบุตรคนที่สองในบรรดาเจ็ดคนในครอบครัวชาวนาชั้นกลาง คิมเกิดที่เมืองซินอัน ซึ่งขณะนั้นอยู่จังหวัดช็อลลา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดช็อลลาใต้ ต่อมาครอบครัวของคิมย้ายมาอยู่ใกล้เมืองท่าม็อกโป ซึ่งจะทำให้เขาสามารถสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย คิมสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนพาณิชย์ม็อกโป ในปี พ.ศ. 2486 ด้วยคะแนนสูงสุดของชั้น ภายหลังจากทำงานเป็นเสมียนในบริษัทขนส่งทางเรือของญี่ปุ่นในช่วงเกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ต่อมาเขาได้กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจ และร่ำรวยขึ้นเป็นอย่างมาก คิมจึงต้องหลบหนีการจับกุมของคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเกาหลี[4]
คิมเริ่มเข้าสู่วงการการเมืองในปี พ.ศ. 2497 ระหว่างภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีคนแรก อี ซึง-มัน ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาในปี พ.ศ. 2504 แต่การรัฐประหารที่นำโดยนายพลพัก ช็อง-ฮี ผู้ซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการในเวลาต่อมาได้ทำให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ[4] ต่อมาคิมสามารถเอาชนะเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ในปี พ.ศ. 2506 และปี พ.ศ. 2510 และได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน จึงทำให้เขาได้เป็นผู้แทนฝ่ายค้านในการลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี พ.ศ. 2514 ไปโดยปริยาย โดยเขาเกือบเอาชนะพัก ช็อง-ฮี ถึงแม้ว่าเขาจะเสียเปรียบเนื่องคู่แข่งของเขา พัก ช็อง-ฮี เป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น[5]
คิมเป็นผู้มีความสามารถด้านวาทศิลป์ คิมสามาถสื่อสามารถกับผู้สนับสนุนที่ภักดีกับเขาได้อย่างมั่นคง โดยผู้สนับสนุนที่จงรักภักดีของเขาอยู่ในภูมิภาคช็อลลา โดยเขาได้รับคะแนนิยมถึง 95% ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดที่ไม่มีผู้ใดทำลายได้ในวงการการเมืองเกาหลีใต้
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2516 คิมเกือบถูกลอบสังหารเมื่อเขาถูกลักพาตัวจากโรงแรมในโตเกียวโดยสายลับของสำนักข่าวกรองกลางเกาหลี (เคซีไอเอ) เพื่อตอบโต้การที่เขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญยูซิน ของประธานาธิบดีพัก ซึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีพักเข้าใกล้สู่ความเป็นเผด็จการ โดยหลายปีผ่านไป คิมได้กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในปี พ.ศ. 2543 ในการปาฐกถาในการรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
ผมต้องมีชีวิต และต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ผมเชื่อว่าพระเจ้าจะอยู่ข้างผมเสมอ ผมรู้ในสิ่งนี้จากประสบการณ์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2516 ขณะที่ผมลี้ภัยอยู่ญี่ปุ่น ผมถูกลักพาตัวโดยสายลับหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลทหารเกาหลีใต้จากห้องพักโรงแรมในโตเกียว ข่าวจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความตกใจไปทั่วโลก พวกสายลับพาผมไปไว้ที่บริเวณสมอเรือที่เลียบอยู่กับชายหาด มัดตัว มัดมือ และเอาสิ่งของอุดปากผม หลังจากนั้นไม่นานพวกเขาโยนผมจากเรือลงน้ำ พระเยซูปรากฏพระองค์ต่อหน้าผมด้วยความสดใส ผมกอดพระองค์และอ้อนวอนให้พระองค์ช่วยชีวิตผม ทันใดนั้นไม่นาน เครื่องบินบินลงมาจากท้องฟ้าเพื่อมาช่วยผมในวินาทีแห่งความตาย
— คิม แด-จุง[6]
ฟิลลิป ฮาบิบ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเกาหลีใต้ ได้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้เขากับรัฐบาลเกาหลีใต้[7]
ถึงแม้ว่าคิมจะกลับมาเกาหลีใต้ เขาก็ถูกห้ามมิให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และถูกจำคุกในปี พ.ศ. 2519 สำหรับการเข้าร่วมโดยเป็นผู้ประกาศแถลงการณ์ต่อต้านรัฐบาล โดยถูกตัดสินจำคุกห้าปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ได้รับการลดโทษเป็นการคุมขังในบ้านพัก[5] โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดให้เขาเป็นนักโทษทางความคิด[8]
คิมได้รับการฟื้นฟูสิทธิทางารเมืองอีกครั้งในปี พ.ศ. 2522 ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีพักถูกลอบสังหาร อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2523 คิมถูกจับกุมและถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตในข้อหาปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง และสมรู้ร่วมคิดในการปลุกเร้าผู้คนที่ควังจู ซึ่งเป็นฐานสนับสนุนทางการมืองของเขาในเหตุการณ์ขบวนการการทำให้เป็นประชาธิปไตยควังจู โดยช็อน ดู-ฮวัน ผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร[9]
ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2523 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้มีจดหมายไปถึงช็อน ดู-ฮวัน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น เพื่อขออภัยโทษแก่คิม ซึ่งนับถือโรมันคาทอลิก โดยได้รับโทษประหารชีวิตหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น โดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติเกาหลีได้เปิดเผยเนื้อหาของจดหมายจากการร้องขอของ ควังจูอิลโบ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเมืองควังจู[10]
ภายใต้การแทรกแซงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา[11] โทษของเขาลดลงเพียงเหลือจำคุก 20 ปี และต่อมาเขาได้ลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา คิม อาศัยอยู่ที่บอสตันชั่วคราว โดยเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ ในศูนย์กิจการระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด[12]
ระหว่างช่วงเวลาที่เค้าใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ เขาได้เขียนความคิดเห็นของเขาลงในหนังสือพิมพ์ตะวันตกชั้นนำ ซึ่งวิจารณ์รัฐบาลเกาหลีใต้อย่างรุนแรง ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2526 คิมได้แสดงสุนทรพจน์ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยเอมโมรี, แอตแลนตา และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขากฎหมายจากสถาบันดังกล่าว สองปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2528 เขาได้กลับสู่เกาหลีใต้
เส้นทางสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี
[แก้]คิมถูกคุมขังที่บ้านพักอีกครั้งหนึ่งหลังจากกลับมาโซล แต่การกลับมาครั้งนี้ของเขาก็กลับมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านอีกครั้ง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2530 ช็อน ดู-ฮวัน พ่ายแพ้ต่อความต้องการของสาธารณชน และอนุญาตให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบทางตรงได้ คิม แดง-จุง และผู้นำฝ่ายค้านคนอื่นๆ เช่น คิม ย็อง-ซัม นั้นในขั้นต้นได้มีการตกลงกันว่าจะร่วมกันส่งผู้สมัครลงเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างผู้นำฝ่ายค้านสองคน ทำให้คิม แด-จุง แยกตัวออกจากพรรคประชาธิปไตยเพื่อการรวมชาติ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก และก่อตั้งพรรคสันติภาพและประชาธิปไตยขึ้น เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ผลจากการนี้ทำให้พรรคฝ่��ยค้านเกิดการตัดคะแนนกันเองในสองพรรค เป็นผลให้อดีตนายพล โน แท-อู ผู้สืบทอดอำนาจของ ช็อน ดู-ฮวัน ชนะคะแนนเสียงด้วยคะแนนเพียง 36.5% โดย คิม ย็อง-ซัม ได้ไป 28% และคิม แด-จุง ได้ไป 27%
ในปี พ.ศ. 2535 คิมพลาดตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยครั้งนี้คู่แข่งของเขาคือ คิม ย็อง-ซัม เพียงผู้เดียว ซึ่งคิม ย็อง-ซัม ได้รวมพรรคประชาธิปไตยเพื่อการรวมชาติกับพรรคยุติธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้นเข้าด้วยกัน เป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย (ซึ่งในท้ายที่สุดก็กลายมาเป็นพรรคแซนูรี หรือพรรคขอบแดนใหม่)[4] ต่อมา คิม แด-จุง ได้หยุดพักบทบาททางการเมืองและเดินทางไปยังสหราชอาณาจักร เพื่อดำรงตำแหน่งศาสตาจารย์อาคันตุกะ ที่คณะแคลร์ฮอลล์, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์[12] อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2538 คิมได้เดินทางกลับมายังเกาหลีและประกาศว่าจะกลับมาทำงานการเมืองต่อและลงสมัครรับเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งทีสี่ในชีวิตของเขา
สถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นใจให้คิม เมื่อประชาชนต่อต้านและไม่พอใจรัฐบาลในขณะนั้นจากเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศล่มสลาย ซึ่งเกิดขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี จากการเป็นพันธมิตรกับคิม จ็อง-พิล ทำให้เขาเอาชนะ อี เฮว-ชัง ผู้สืบทอดที่คิม ย็อง-ซัง วางตัวไว้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จัดขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เมื่อเขาสาบานตัวเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่แปดแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในวงารการเมืองของเกาหลีใต้ ที่พรรครัฐบาลถ่ายโอนอำนาจตามวิถีทางประชาธิปไตยมาสู่ผู้ชนะการเลือกตั้งซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย[4][13] การเลือกตั้งในครั้งนี้มีข้อโต้แย้ง โดยผู้สมัครสองคนจากฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้แข่งกัน ทำให้คะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิกลุ่มนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ 38.7% and 19.2% ตามลำดับ จึงทำให้คิม แด-จุง ชนะการเลือกตั้งไปด้วยคะแนนเพียง 40.3%[14] คู่แข่งหลักของเขา อี เฮว-ชัง เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลสูง สำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนระดับสูงจาก โรงเรียนกฎหมาย, มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล อีถูกมองโดยทั่วไปว่าเป็นกลุ่มชนชั้นสูง และสิ่งที่ทำให้ความนิยมของเขาตกลงเนื่องจากข้อกล่าวหาว่าลูกชายของเขาหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ส่วนในด้านของคิมนั้นตรงกันข้าม คิมจบการศึกษาระดับอาชีวศึกษา และชาวเกาหลีใต้จำนวนมากรู้สึกเห็นใจจากการที่เขาถูกพิจารณาในศาลหลายรอบและความยากลำบากในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีคนก่อนของเกาหลีใต้เช่น พัก ช็อง-ฮี, ช็อน ดู-ฮวัน, โน แท-อู และคิม ย็อง-ซัม มีพื้นเพมาจากภูมิภาคจังหวัดคย็องซัง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มั่งคั่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลพัก, ช็อนและโน คิม แด-จุง เป็นประธานาธิบดีที่อยู่เต็มวาระคนแรกที่มาจากภูมิภาคจังหวัดช็อลลา ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยภูมิภาคจังหวัดช็อลลาเป็นส่วนที่ถูกเพิกเฉยและละเลยจากการพัฒนาของภาครัฐในเกาหลีใต้ สาเหตุหลักเนื่องมาจากการเลือกปฏิบัติทางนโยบายของประธานาธิบดีคนก่อน ดังนั้นการบริหารงานของคิมจึงเน้นมาที่ภูมิภาคจังหวัดช็อลลา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางนโยบาย แต่อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีและผู้บริหารในรัฐบาลของคิมก็ไม่ได้มีบุคคลที่มาจากภูมิภาคจังหวัดช็อลลาเท่าใดนัก
การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
[แก้]ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ
[แก้]คิม แด-จุง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีท่ามกลางวิกฤตทางเศรษฐกิจที่โจมตีเกาหลีใต้ในปีสุดท้ายของสมัยประธานาธิบดี คิม ย็อง-ซัม การผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างแน่วแน่และการปรับโครงสร้างตามคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้[4] หลังจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วงลง 5.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2541 และโตขึ้น 10.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2542[2] นโยบายของเขาส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด โดยมีการจัดการกับอำนาจของกลุ่มแชร์โบล (กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้) เช่น ทำให้เกิดความโปร่งใสกับกลุ่มแชร์โบลในการดำเนินการทางบัญชี การตัดลดการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มแชร์โบล
นโยบายเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ
[แก้]นโยบายของคิมเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ มีชื่อว่านโยบายอาทิตย์ฉายแสง[2] เขาเริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งนโยบายดังกล่าวนำไปสูงการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ในการประชุมของผู้นำทั้งสองในปี พ.ศ. 2543 ที่เปียงยาง ระหว่างคิม แด-จุง กับคิม จ็อง-อิล ถือเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลี และเป็นการติดต่อกันโดยตรงของสองเกาหลีครั้งแรกนับแต่เกาหลีแยกออกจากกัน ผลจากการพยายามในครั้งนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่การประชุมครั้งนี้ก็มีรอยด่างพร้อย เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีการใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ในการจ่ายให้กับทางเปียงยาง ในปี พ.ศ. 2546 พัก จี-ว็อน หัวหน้าคณะทำงาน ถูกตัดสินจำคุกสิบสองปี สำหรับข้อกล่าวหานี้ และในข้อกล่าวหาอื่นๆ โดยเขาใช้บทบาทของเขาในฮุนได จ่ายให้กับทางเกาหลีเหนือในการประชุมสุดยอดผู้นำของทั้งสองเกาหลี[15] เพื่อชักจูงใจให้เกาหลีเหนือเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นักโทษที่จงรักภักดีกับเกาหลีเหนือที่ถูกจำคุกอยู่ที่เกาหลีใต้ได้ถูกปล่อยไปเกาหลีเหนือ[16] ผลกระทบจากนโยบายอาทิตย์ฉายแสงทำให้ถูกตั้งคำถามโดยหนังสือพิมพ์ของสหรัฐอเมริกา วิลลาจวอยส์ ว่าเงินที่โอนไปนั้นไปใช้ปกปิดความชั่วร้ายของรัฐบาลเกาหลีเหนือ[17]
ความสัมพันธ์กับอดีตประธานาธิบดีคนอื่น ๆ
[แก้]ภายหลังจากคิมชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีและย้ายเข้าพำนักในทำเนียบสีน้ำเงิน ไม่มีใครทราบว่าเขาจะจัดการอย่างไรกับตำแหน่งใหม่ของเขา เขาเคยถูกตัดสินประหารชีวิตโดยช็อน ดู-ฮวัน ช็อนและผู้สืบทอดของเขา โน แท-วู ได้ถูกตัดสินจำคุกในสมัยประธานาธิบดีคิม ย็อง-ซัม ก่อนที่จะได้รับอภัยโทษในสมัยคิม แด-จุง
ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คิมได้ดำเนินการให้เกาหลีใต้เป็นรัฐสวัสดิการร่วมสมัย[18][19] ความสำเร็จดงกล่าวผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ในเวลาระดับโลกให้ดียิ่งขึ้น เช่น การเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น ในฟุตบอลโลก 2002 คิมครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี พ.ศ. 2546 และโน มู-ฮย็อน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเขา ห้องสมุดประธานาธิบดีที่มหาวิทยาลัยย็อนเซ สร้างขึ้นก็รักษามรดกของคิมให้คงอยู่ต่อไป และศูนย์ประชุมคิม แด-จุง ก็สร้างตามชื่อของเขา ณ เมืองควังจู
ชีวิตหลังจากพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี
[แก้]คิมร้องขอให้ควบคุมการต่อต้านเกาหลีเหนือ สำหรับกรณีอาวุธนิวเคลียร์ และปกป้องการดำเนินนโยบายอาทิตย์ฉายแสงต่อทางเปียงยางเพื่อลดความรุนแรงต่อวิกฤติการณ์ เขาสัญญากับชาวเกาหลีว่าเขาจะแสดงความรับผิดชอบถ้าเกาหลีเหนือพยายามที่จะทำอันตรายพวกเขาด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่สิ่งที่ยังโต้เถียงต่อไปว่านโยบายอาทิตน์ฉายแสงได้สร้างความสะดวกแก่โครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือหรือไม่ ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551 เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์ ซึ่งเขาได้แสดงสุนทรพจน์ในหัวข้อ "ความท้าทาย, การขานรับและพระเจ้า"[20]
ข้อมูลจากวิกิลีกส์ เปิดเผยว่าสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำโซลได้อธิบายถึงคิมว่า "เป็นประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายคนแรกของเกาหลีใต้" โดยส่งถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในวันที่เขาถึงแก่อสัญกรรม[21]
ถึงแก่อสัญกรรม
[แก้]คิมถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 13.43 น. ตามเวลาในประเทศเกาหลีใต้ ณ โรงพยาบาลเซเวอร์แรนซ์, มหาวิทยาลัยย็อนเซ, โซล[22] จากภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ[23] รัฐพิธีศพจัดขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ตรงหน้าอาคารรัฐสภา โดยมีขบวนแห่เพื่อเดินทางไปยังสุสานแห่งชาติโซล เพื่อฝังศพตามธรรมเนียมคาทอลิค โดยคิมเป็นบุคคลที่สองที่มีการจัดรัฐพิธีศพต่อจากประธานาธิบดีพัก ช็อง-ฮี[24] ทางเกาหลีเหนือได้ส่งตัวแทนมาในงานพิธีศพด้วย[25] คิมถึงแก่อสัญกรรมได้สามเดือนภายหลังจากประธานาธิบดีโน มู-ฮย็อน กระทำอัตวินิบาตกรรม ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Former South Korean President Kim Dae-jung Dies at 85". Jakarta Globe. 18 August 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-14. สืบค้นเมื่อ 24 October 2009.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "Kim Dae-jung: Dedicated to reconciliation". CNN. 14 June 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 22, 2006. สืบค้นเมื่อ 22 September 2006.
- ↑ "DJ 생일은 1924년 1월 6일". The Dong-a Ilbo. 19 August 2009.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "Kim Dae Jung". Encyclopædia Britannica. 2009. สืบค้นเมื่อ 18 August 2009.
- ↑ 5.0 5.1 "Kim Dae-jung – Biography". The Nobel Foundation. 2000. สืบค้นเมื่อ 18 August 2009.
- ↑ "Kim Dae-jung – Nobel Lecture". The Nobel Foundation. 2000. สืบค้นเมื่อ 21 June 2012.
- ↑ Oberdorfer, Don; Carlin, Robert (2014). The Two Koreas: A Contemporary History. Basic Books. p. 35. ISBN 9780465031238.
- ↑ "Kim Dae-jung, human rights champion and former South Korean president, dies". Amnesty International. 19 August 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-11. สืบค้นเมื่อ 11 May 2012.
- ↑ Choe, Sang-hun (18 August 2009). "Kim Dae-jung, 83, Ex-President of South Korea, Dies". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 18 August 2009.
- ↑ "John Paul II's appeal saved future Korean president from death sentence". Catholic News Agency. 21 May 2009. สืบค้นเมื่อ 25 June 2012.
- ↑ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 คิมอธิบายว่า "การแทรกแซง" ณ การประชุมสามัญระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและทางสหรัฐอเมริกาเขาเปลือยอยู่บริเวณขอบห้อง กับผู้ต่อต้านคนอื่นๆ ขณะรอเฮลิคอปเตอร์ที่จะบินไปเหนือ ทะเลญี่ปุ่นที่ซึ่งพวกเขาจะ"หายสาบสูญ" เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐอเมริการเดินเข้ามาพร้อมชี้ไปที่เขาและพูดว่า "เขา ยังไม่ไปอยู่เหรอ"
- ↑ 12.0 12.1 "Board of Advisors – Kim Dae-jung". The Oxford Council on Good Governance. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-15. สืบค้นเมื่อ 18 August 2009.
- ↑ "Opposition boycott shadows South Korea's new president". CNN. 25 February 1998. สืบค้นเมื่อ 18 August 2009.
- ↑ "1997 South Korean Presidential Election". University of California, Los Angeles – Center for East Asian Studies. 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-08. สืบค้นเมื่อ 2016-11-02.
- ↑ Ginsburg, Tom (2004). Legal Reform in Korea. Psychology Press. ISBN 9780203479384. สืบค้นเมื่อ 25 June 2012.
- ↑ Ahn, Mi-young (2000-09-05). "Spies' repatriation causes unease in Seoul". Asia Times Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-05. สืบค้นเมื่อ 2010-06-25
{{cite news}}
: CS1 maint: postscript (ลิงก์) - ↑ Cathy Hong (18 November 2003). "Fine Young Communists". The Village Voice. สืบค้นเมื่อ 25 June 2012.
- ↑ Takegawa, Shogo (December 2005). "Japan's Welfare State Regime: Welfare Politics, Provider and Regulator" (PDF). Development and Society. 34 (2): 169–190. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-17. สืบค้นเมื่อ 25 June 2012.
- ↑ Muthu, Rajendran (2006). "Social Development in Japan: A Focus on Social Welfare Issues" (PDF). Journal of Societal & Social Policy. 5 (1): 1–20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-10-25. สืบค้นเมื่อ 25 June 2012.
- ↑ [1]
- ↑ Lee (이), Seong-gi (성기) (2011-09-06). ""DJ, 좌파 첫 대통령" 위키리크스 외교전문". Hankook Ilbo (ภาษาเกาหลี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-07. สืบค้นเมื่อ 2011-09-20.
- ↑ "Kim Dae-jung". The Economist. 27 August 2009.
- ↑ "Former S. Korean President Kim Dae-Jung Dies". The Seoul Times. 18 August 2009. สืบค้นเมื่อ 18 August 2009.
- ↑ Barbara Demick (19 August 2009). "Kim Dae-jung dies at 85; former South Korean president and Nobel laureate". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 25 June 2012.
- ↑ Oberdorfer, Don; Carlin, Robert (2014). The Two Koreas: A Contemporary History. Basic Books. pp. 437–438. ISBN 9780465031238.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Official Nobel page for Kim
- Obituary: Kim Dae-jung
- Kim Dae-jung Presidential Library
- Kim Dae-jung - Daily Telegraph obituary
- BBC article on his legacy
- S Korea’s Ex-President Kim Dae-jung Dies เก็บถาวร 2009-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Obituary[ลิงก์เสีย] by the Associated Press