คณะคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้า
ชื่อย่อ | O.C.D. |
---|---|
ก่อตั้ง | ค.ศ. 1593 |
ประเภท | คณะนักบวชคาทอลิก |
สํานักงานใหญ่ | Casa Generalizia dei Carmelitani Scalzi กรุงโรม ประเทศอิตาลี |
บาทหลวงเซวารีโอแห่งพระหฤทัยของพระเยซู | |
เว็บไซต์ | http://www.discalcedcarmel.com |
คณะภราดาไม่สวมรองเท้าแห่งพระนางมารีย์พรหมจารีแห่งภูเขาคาร์แมล (ละติน: Ordo Fratrum Discalceatorum Beatissimae Mariae Virginis de Monte Carmelo: อังกฤษ: Order of Discalced Brothers of the Blessed Virgin Mary of Mount Carmel) เรียกโดยย่อว่าคณะคาร์เมไลท์ไม่��วมรองเท้า[1] (Order of Discalced Carmelites) เป็นคณะนักบวชภิกขาจารในคริสตจักรโรมันคาทอลิก ซึ่งแยกตัวออกมาจากคณะคาร์เมไลท์เดิม โดยมีนักบุญเตเรซาแห่งอาบีลาและนักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขนร่วมกันดำเนินการปฏิรูป นักบุญที่มีชื่อเสียงอีกองค์ในคณะนี้คือนักบุญเตแรซแห่งลีซีเยอ
ประวัติ
[แก้]เมื่อคณะคาร์เมไลท์แพร่หลายทั่วทวีปยุโรปเป็นเวลาหลายศตวรรษ นักบวชคาร์เมไลท์ทั้งชายและหญิงเริ่มไม่เคร่งครัดในวินัย จนถึงศตวรรษที่ 16 ได้เกิดกระแสเรียกร้องการปฏิรูปคณะนักบวชต่าง ๆ ให้เคร่งครัดในวินัยมากขึ้น ภายในคณะภคินีคาร์เมไลท์��็มีภคินีเตเรซาแห่งอาบีลาดำเนินการปฏิรูปก่อนแล้ว โดยท่านได้ร่างแผนการปฏิรูปตั้งแต่ ค.ศ. 1563 ให้นักบวชคาร์เมไลท์หันกลับไปรักษาวินัยดั้งเดิมของคณะอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการผ่อนปรน
ในปี ค.ศ. 1567 ท่านได้รับอนุญาตจากอัคราธิการคณะคาร์เมไลท์ให้ตั้งอารามใหม่สำหรับการปฏิรูป ภายในช่วงเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1567 จนถึง 1571 จึงตั้งอารามที่เมืองเมดีนา เดล กัมโป, วายาโดลิด, โตเลโด, ปัสตรานา, ซาลามังกา, และอัลบา เด ตอร์เมส
นอกจากนี้ ท่านยังได้ชักชวนภราดายอห์นแห่งนักบุญมัทธีอัส (ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามนักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขน) ซึ่งขณะนั้นอายุได้เพียง 25 ปีให้ทำการปฏิรูปคณะ ภราดายอห์นตอบตกลง ในฤดูร้อนปีต่อมา ภคินีเตเรซาได้ส่งภราดายอห์นไปสร้างอารามคณะคาร์เมไลท์ปฏิรูปที่ดูรูเอโย (Duruello) ซึ่งถือว่าเป็นอารามแห่งแรกของคณะภราดาคาร์เมไลท์ปฏิรูป[2]
วัตรปฏิบัติของคณะคาร์เมไลท์กลุ่มนี้เคร่งครัดมาก เน้นการอธิษฐาน ใช้ชีวิตแบบยากจน สันโดษ เดินด้วยเท้าเปล่า ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า คณะคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้า (Order of Discalced Carmelites)[2]
เมื่อตั้งอารามแล้ว ปรากฏว่ามีภราดาสนใจเข้าร่วมการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องทำให้คณะปฏิรูปเริ่มขยายตัว และเกิดการต่อต้านอย่างหนักจากภราดาที่ต้องการผ่อนปรนวินัย อย่างไรก็ตาม คณะคาร์เมไลท์ปฏิรูปก็ได้รับอนุมัติจากสันตะสำนักให้มีสิทธิ์ในการปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์ไม่ต้องขึ้นกับคณะคาร์เมไลท์เดิม ในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1593[2]
คณะคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้าในประเทศไทย
[แก้]คณะคาร์เมไลท์ในประเทศไทยปัจจุบันยังมีเพียงที่เป็นคณะนักบวชอารามิกหญิง ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ภคินีไม่สวมรองเท้าคณะพระนางพรหมจารีมารีแห่งภูเขาคาร์แมล (The discalced nuns of the order of the Blessed Virgin Mary of Mount Carmel)[3] ส่วนคณะภราดายังไม่ได้จัดตั้งเนื่องจากนักบวชชายยังมีไม่เพียงพอ[4]
คณะคาร์เมไลท์ได้เข้ามายังประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2468 (ค.ศ.1925) โดยภคินีได้เข้ามาก่อตั้งอารามคาร์แมลที่กรุงเทพ ถนนคอนแวนต์ สีลม ปัจจุบันอารามของภคินีคาร์เมไลท์ในประเทศไทยมีอยู่ 4 แห่ง คือ กรุงเทพฯ นครปฐม จันทบุรี และนครสวรรค์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ คาร์เมไลท์ ชีวิตภาวนา และพลีกรรม เก็บถาวร 2010-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 1 ก.ย. พ.ศ. 2554
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ยอห์นแห่งไม้กางเขน, ขึ้นภูเขาคาร์เมล, อารามคาร์แมล จันทบุรี, 2541, หน้า หน้า xiii - xxxi
- ↑ ภคินีไม่สวมรองเท้าคณะพระนางพรหมจารีมารีแห่งภูเขาคาร์แมล เก็บถาวร 2010-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 10 ต.ค. พ.ศ. 2553.
- ↑ คาร์เมไลท์ ชีวิตภาวนา และพลีกรรม เก็บถาวร 2010-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 10 ต.ค. พ.ศ. 2553.