คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (อักษรย่อ คปก.) คือ องค์กรอิสระตามเจตนารมณ์ มาตรา 81 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550[1] ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่าด้วยกฎหมายและการยุติธรรม ที่กำหนดให้ รัฐต้องจัดทำกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย ที่ดำเนินการเป็นอิสระ ในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย
ในเวลาต่อมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553[2] ขึ้น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 มีผลทำให้เกิดการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายขึ้นในประเทศไทย โดยองค์กรดังกล่าวมีความเป็นอิสระในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กฎหมายบัญญัติไว้
องค์กรปฏิรูปกฎหมาย จะมีรูปแบบเป็นคณะกรรมการ เรียกว่า "คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย" โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
- ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา)
- รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 1 คน (ปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา)
- กรรมการปฏิรูปกฎหมาย 9 คน แยกเป็น
- (1) กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา 4 คน
- (2) กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา 5 คน
นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นหน่วยงานด้านธุรการของคณะกรรมการ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบังคับบัญชาของส่วนราชการ แต่อยู่ภายใต้กำกับและบังคับบัญชาของประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยงาน เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานสำนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สิ้นสุดลงตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๑/๒๕๕๙ เรื่อง การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559[3]
อำนาจหน้าที่
[แก้]คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมาย ดังนี้
- สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยหรือสนับสนุนการวิจัยทางวิชาการ เกี่ยวกับการพัฒนากฎหมาย
- ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศทั้งระบบ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
- เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการการมีกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย โดยพิจารณากฎหมายในภาพรวมเป็นเรื่องๆ
- เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน
- เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับใดที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินการในการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการจะกำหนด
ที่มาของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
[แก้]คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จะมีกระบวนการสรรหาจาก คณะกรรมการสรรหา ซึ่งคณะกรรมการสรรหาจะมีองค์ประกอบเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคราชการ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ดังนี้
- กรรมการสรรหา ภาครัฐ ได้แก่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
- กรรมการสรรหา ภาควิชาการ ได้แก่ ผู้แทนที่เป็นอาจารย์ประจำซึ่งสอนในสาขาวิชานิติศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ คัดเลือกกันเอง 2 คน และเอกชน คัดเลือกกันเอง 2 คน
- กรรมการสรรหา ภาคเอกชน ได้แก่ ผู้แทนองค์กรเอกชน ด้านแรงงาน ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ละด้านคัดเลือกกันเองให้เหลือด้านละ 1 คน
โดยเมื่อ คณะกรรมการสรรหา ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานเป็นประจักษ์ อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปกฎหมาย แล้วครบจำนวนและประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีการนำรายชื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
รายนามคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
[แก้]รายนามคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดแรก ซึ่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 4 ปี และสามารถได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีก แต่ไม่เกิน 2 วาระติดกัน
- ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
- นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
- นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
- นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
- นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
- ศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
- ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
- นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
- ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
- นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
- รองศาสตราจารย์ วิระดา สมสวัสดิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
คณะกรรมการชุดดังกล่าว หมดวาระลงในปี พ.ศ. 2558
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2020-03-24.
- ↑ พระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553
- ↑ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๑/๒๕๕๙ เรื่อง การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย