ข้ามไปเนื้อหา

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2553

← พ.ศ. 2550 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 พ.ศ. 2554 →
ลงทะเบียน386,660
ผู้ใช้สิทธิ49.55%
 
ผู้สมัคร พนิช วิกิตเศรษฐ์ ก่อแก้ว พิกุลทอง
พรรค ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย
คะแนนเสียง 96,480 81,776[1]
% 53.47 45.32

สส. เขตก่อนการเลือกตั้ง

ทิวา เงินยวง
ประชาธิปัตย์

ว่าที่สส. เขต

พนิช วิกิตเศรษฐ์
ประชาธิปัตย์

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2553 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร (ส.ส.กทม.) แทนที่ นายทิวา เงินยวง ซึ่งถึงแก่กรรมไปก่อนหน้านี้

ที่มา

[แก้]

การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 6 กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 เกิดขึ้นเนื่องจาก นายทิวา เงินยวง ส.ส. เดิมในพื้นที่จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ของพรรคประชาธิปัตย์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ทำให้ตำแหน่งในเขตนี้ (เขตบึงกุ่ม, เขตคลองสามวา, เขตคันนายาว, เขตหนองจอก) ว่างลงหนึ่งตำแหน่ง ตามกฎหมายการเลือกตั้งระบุว่าจะต้องทำการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงมีมติให้มีการเลือกตั้งซ่อมในวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งถึงแม้จะเป็นเพียงการเลือกตั้งซ่อมเพียงแค่ที่เดียว แต่ทว่าเป็นที่สนใจอย่างมากของสังคมเนื่องจากถูกมองว่าเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์อีกครั้งของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ต่อจากการชุมนุมเมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ที่ผ่านมา[2] โดยทางพรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช. ในตอนแรกมีข่าวว่าจะส่ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำ นปช.ลง[3] แต่ในที่สุดแล้วก็มีมติเลือกเอา นายก่อแก้ว พิกุลทอง[4]

ผู้สมัคร

[แก้]

พรรคเพื่อไทยมีมติส่ง นายก่อแก้ว พิกุลทอง หนึ่งในแกนนำของ นปช. ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีมติส่ง นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ เป็นตัวแทนของพรรคลงสมัคร[5]

การเปิดรับสมัครมีขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ที่สำนักงานเขตคลองสามวา ผู้สมัครทั้งหมดได้จับสลาก ปรากฏว่า นายพนิชได้เบอร์ 1 และนายก่อแก้วได้เบอร์ 4

นอกจากนี้แล้วยังมีผู้สมัครรายอื่นจากพรรคการเมืองอื่นอีก ได้แก่ นายนพดล ไชยฤทธิเดช พรรคชาติสามัคคี เบอร์ 2, นายอนุสรณ์ สมอ่อน พรรคความหวังใหม่ เบอร์ 3, นายชูชาติ พิมพ์กา พรรคแทนคุณแผ่นดิน เบอร์ 5[6]และนายกิจณพัฒน์ สามสีลา พรรคประชาธรรม เบอร์ 6[7]

ผู้สมัคร พรรค หมายเลข
นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ พรรคประชาธิปัตย์
1
นายนพดล ไชยฤทธิเดช พรรคชาติสามัคคี
2
นายอนุสรณ์ สมอ่อน พรรคความหวังใหม่
3
นายก่อแก้ว พิกุลทอง พรรคเพื่อไทย
4
นายชูชาติ พิมพ์กา พรรคแทนคุณแผ่นดิน
5
นายกิจณพัฒน์ สามสีลา พรรคประชาธรรม
6

การหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

[แก้]

นายก่อแก้ว พิกุลทอง เป็นผู้ต้องหาจากการชุมนุมของ นปช.ที่ผ่านมา เป็นผู้ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ออกจากเรือนจำมาเพื่อหาเสียงได้ แม้จะมีการยื่นอุทธรณ์แล้วก็ตาม เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์[8][9] แต่อนุญาตให้ใช้เทปบันทึกเสียงหาเสียงได้ แต่ทาง กกต.ได้ตรวจสอบก่อน พบว่ามีข้อความบางส่วนขัดต่อกฎหมาย ซึ่งต้องตัดออกก่อนนำไปหาเสียง[10] และทางพรรคเพื่อไทยก็ได้ช่วยหาเสียงด้วยการให้สมาชิกพรรครายอื่นลงพื้นที่หาเสียงให้แทน รวมทั้งเปิดเวทีปราศรัยด้วย โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นผู้นำปราศรัย[11]

การถอนตัวของพรรคการเมืองใหม่

[แก้]

สำหรับพรรคการเมืองใหม่ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ที่ประชุมพรรคมีมติส่ง พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ลงเลือกตั้งในครั้งนี้[12] แต่ทว่าในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 25 มิถุนายน ทางตัว พล.อ.กิตติศักดิ์ ได้แถลงข่าวขอถอนตัว โดยอ้างว่าไม่ต้องการแข่งขันในครั้งนี้เพราะเท่ากับว่าเป็นการสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ซึ่งในเรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว[13]

การเลือกตั้งล่วงหน้าและผลโพล

[แก้]

การเลือกตั้งล่วงหน้ามีขึ้นในวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม และวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ที่สำนักงานเขตคลองสามวา ซึ่งสามาถลงคะแนนได้ถึงเวลา 17.00 น. โดยในวันที่ 17 กรกฎาคม มีผู้มาใช้สิทธิล่วงหน้าทั้งหมด 6,106 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 103,695 คน แบ่งเป็น เขตคลองสามวา จำนวน 1,865 คน เขตหนองจอก จำนวน 1,038 คน เขตบึงกุ่ม จำนวน 2,320 คน และเขตคันนายาว จำนวน 883 คน[14] และในวันที่ 18 กรกฎาคม ในวันนี้มียอดผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 9,991 คน แบ่งเป็น เขตคันนายาว 1,329 คน คลองสามวา 3,109 คน หนองจอก 2,112 คน และบึงกุ่ม 3,441 คน รวมยอดผู้มาใช้สิทธิทั้งสองวัน 16,097 คน คิดเป็นร้อยละ 4.16 ซึ่งบัตรลงคะแนนล่วงหน้านั้นจะถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี มีกล้องวงจรปิดและเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการทุจริต[15]

ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ทางสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นหรือผลโพล ในแบบเอกซิตโพล (exit poll) โดยทำการสำรวจ 3 ครั้ง คือ ก่อนเลือกตั้งล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 8-14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 จำนวน 1,220 คน, เอกซิตโพลวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 จำนวน 509 คน และเอกซิทโพลวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 จำนวน 790 คน พบว่า นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ มีคะแนนนำที่ร้อยละ 51.05 ตามมาด้วยนายก่อแก้ว พิกุลทอง มีคะแนนรองลงมาที่ร้อยละ 34.30 ในขณะที่ผู้สมัครคนอื่น ๆ มีคะแนนรวมกันแล้วไม่ถึงร้อยละ 1 ซึ่งน้อยกว่าผู้ที่ระบุว่าจะไม่เลือกใครที่มีคะแนนร้อยละ 3.77 และผู้ที่ระบุว่ายังไม่แน่ใจหรือไม่แสดงความเห็นมีคะแนนร้อยละ 10.20 อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สนับสนุนนายก่อแก้วระบุว่า ไม่อยากมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า เพราะกลัวการทุจริต เช่น การเปลี่ยนหีบบัตร เป็นต้น[16]

อันดับ รายนามผู้สมัคร ความนิยม (%)
1 นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ 51.05
2 นายก่อแก้ว พิกุลทอง 34.30
3 อื่น ๆ ไม่ถึง 1

เอกซิตโพลวันเลือกตั้งจริง

[แก้]
ภาพหน้าจอเนชั่น แชนแนล แสดงผลเอกซิตโพลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งจริง หลัง 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดหีบแล้ว ทางสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลเอกซิตโพล ซึ่งปรากฏว่า นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ มีคะแนนร้อยละ 52.77 ขณะที่นายก่อแก้ว มีคะแนนร้อยละ 40.93 ขณะที่ผู้สมัครรายอื่นได้คะแนนร้อยละ 6.30 [17] และผู้ที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกใครร้อยละ 5.70

ผลการเลือกตั้ง

[แก้]
สัญลักษณ์และความหมาย
* ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งที่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
** ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิ์
ผู้สมัครที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว
( ) หมายเลขประจำตัวของผู้สมัคร
ตัวหนา ผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2553
พรรค ผู้สมัคร คะแนนเสียง % ±
ประชาธิปัตย์ พนิช วิกิตเศรษฐ์ (1) 96,480 53.47
เพื่อไทย ก่อแก้ว พิกุลทอง (4) 81,776 45.32
ชาติสามัคคี นพดล ไชยฤทธิเดช (2) 709 0.39
ความหวังใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน (3) 684 0.38
ประชาธรรม กิจณพัฒน์ สามสีลา (6) 405 0.22
แทนคุณแผ่นดิน ชูชาติ พิมพ์กา (5) 378 0.21
ผลรวม 180,432 100.00
บัตรดี 180,432 94.17
ไม่ประสงค์ลงคะแนน 8,235 4.30
บัตรเสีย 2,931 1.53
ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 191,598 49.55
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 386,660 100.00

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พนิชคว้าชัยเลือกตั้งซ่อมเขต6". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-28. สืบค้นเมื่อ 2021-09-06.
  2. เลือกตั้งซ่อม กทม.ศึก3 สีบนศักดิ์ศรี แดง-เหลือง-ฟ้า[ลิงก์เสีย]จากโพสต์ทูเดย์
  3. เพื่อไทย”ทาบส่ง”ณัฐวุฒิ”ลงเลือกตั้งซ่อม กทม.[ลิงก์เสีย]
  4. มติเพื่อไทยส่งก่อแก้วชิงสส.เมืองกรุงอ้างณัฐวุฒิขาดคุณส��บัติ[ลิงก์เสีย]
  5. มติปชป.เคาะแล้ว ส่งพนิช วิกิตเศรษฐ์ลงชิงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6
  6. "เปิดรับสมัครสู้ศึกเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 6 กทม.คึกคัก "พนิช"จับฉลากได้เบอร์ 1 "ก่อแก้ว"คว้าเบอร์ 4". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-05. สืบค้นเมื่อ 2021-09-06.
  7. เลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 6 แทน “ทิวา”มีผู้สมัคร 6 คน เก็บถาวร 2021-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากสยามรัฐ
  8. ศาลไม่ให้ประกัน ก่อแก้วชวด หาเสียงส.ส.กทม.
  9. ยกคำร้องปล่อยก่อแก้ว ศาลชี้กกต.ไม่ได้ระบุผู้สมัครต้องทำธุรกรรมด้วยตัวเอง[ลิงก์เสีย]จากไทยโพสต์
  10. กกต.ตรวจสอบเทปเสียง"ก่อแก้ว"พบบางส่วนขัด ก.ม.[ลิงก์เสีย]
  11. เฉลิม-จตุพรนำทัพขึ้นเวทีปราศรัย วอนเลือก่อแก้ว เก็บถาวร 2010-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากเอ็มไทย
  12. การเมืองใหม่ ส่ง กิตติศักดิ์ ลงเลือกตั้งซ่อมสส.กทม. เก็บถาวร 2010-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากเอ็มไทย
  13. "พล.อ.กิตติศักดิ์" ถอนตัวลงเลือกตั้งซ่อมเขต 6 เก็บถาวร 2010-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากกรุงเทพธุรกิจ
  14. ยอดผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า6,106 คน จากเดลินิวส์
  15. สรุปยอดผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งซ่อมล่วงหน้า 2 วันกว่า 16,000 คน[ลิงก์เสีย]
  16. เอ็กซิทโพลสวนดุสิตเผยพนิชคะแนนนำก่อแก้วเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6
  17. เอ็กซิทโพลชี้พนิชนำก่อแก้ว[ลิงก์เสีย]