ข้ามไปเนื้อหา

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หมายถึงการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการคัดลอกซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีหลายประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีกฎหมายบังคับ แต่ระดับการบังคับแตกต่างกันไป ระบบคอมพิวเตอร์ที่เก่าแก่ที่สุดในทุกวันนี้มีอายุราว 40 ปี ในด้านลิขสิทธิ์แล้วจะไม่หมดลิขสิทธิ์ไปจนราวปี ค.ศ. 2030 ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

สาเหตุ

[แก้]
  1. เนื่องจากของแท้มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายสูง
  2. การละเมิดลิขสิทธิ์ทำได้ง่ายและรวดเร็ว
  3. ตัวสินค้าก็มีคุณภาพเทียบเท่าของจริง
  4. เป็นวัฒนธรรมในบางสังคม ซึ่งมีมาเป็นเวลายาวนาน เช่น การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีการแบ่งปันกันในสังคมมาโดยตลอด จึงทำให้ผู้ที่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ไม่คิดว่าตนเองได้กระทำความผิด
  5. กลไกในการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และการหาตัวผู้กระทำความผิดก็ทำได้ยากเช่นกัน[1]

ประเภท

[แก้]
  1. การทำสำเนาโดยผู้ใช้งาน (Enduser Copy) คือ การทำสำเนาโดยผู้ใช้งาน การทำสำเนาแจกจ่ายระหว่างผู้ใช้งานแม้ว่าจะเป็นการทำสำเนาจากซอฟต์แวร์ต้นฉบับของแท้ ก็จัดว่าเป็นการละเมิดประเภทหนึ่ง เนื่องจากมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ หรือการใช้งานซอฟต์แวร์มากกว่าจำนวนที่ได้รับสิทธิ การกระทำเช่นนี้มิเพียงแต่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเท่านั้น หากแต่ยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส และความเสียหายของข้อมูล ฯลฯ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายอันประเมินค่ามิได้ต่อธุรกิจของท่าน
  2. การติดตั้งซอฟต์แวร์ลงในฮาร์ดดิสก์ (Harddisk Loading) เช่น ทำหน้าที่เป็นผู้ติดตั้งซอฟต์แวร์ให้ โดยแนะนำให้ลูกค้าซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยตนเองจะให้บริการติดตั้งเท่านั้น หรือ แนะนำให้ลูกค้ารับเครื่องเปล่าไปก่อน และส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตั้งที่บ้านหรือที่ทำงานของลูกค้าภายหลัง
  3. การปลอมแปลงสินค้า (Counterfeiting) ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์บางรายถึงกับผลิต CD และคู่มือปลอมจำหน่าย โดยจัดทำบรรจุภัณฑ์เหมือนกับสินค้าจริงทุกประการ เพื่อเป็นการหลอกลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าได้สินค้าของแท้
  4. การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Internet Piracy) ลักษณะที่เกิดขึ้นมากในปัจจุบันคือการ Download ซอฟต์แวร์ผ่าน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะว่าซอฟต์แวร์เหล่านี้ไม่ใช่ Shareware
  5. การขายหรือใช้ลิขสิทธิ์ผิดประเภท ในบางกรณีผู้ค้าซอฟต์แวร์จำหน่ายซอฟต์แวร์ผิดประเภทให้กับลูกค้า ทำให้ผู้ซื้อตกอยู่ในความเสี่ยงทางกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ผลกระทบ

[แก้]

เทคโนโลยีการแชร์ไฟล์แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer; P2P) เป็นเทคโนโลยีทีช่วยลดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการรับข้อมูลเป็นจำนวนมาก มีเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ ในขณะเดียวกันเครือข่ายความรู้นี้ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งยากต่อการตรวจสอบเนื่องจากผู้ใช้สามารถเปลียนชื่อไฟล์และเนื้อหาที่จะแชร์ได้

คุณภาพของฟรีแวร์ที่เพิ่มสูงขึ้นจนเป็นทางเลือกของผู้ใช้ได้ มีส่วนช่วยลดการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน ผู้ผลิตซอฟต์แวร์บางรายมองว่า การทำสำเนาซอฟต์แวร์ของตนเพื่อเผยแพร่ แม้จะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ดีกว่าการไปซื้อซอฟต์แวร์หรือทำสำเนาของซอฟต์แวร์ที่เป็นคู่แข่งขันกัน ผู้บริหารของไมโครซอฟท์ เจฟ ไรค์ส กล่าวว่า "ถ้าพวกเขาอยากจะละเมิดลิขสิทธิ์ใครสักคน ขอให้ใครสักคนที่ว่านั้นเป็นเรา ไม่ใช่คนอื่น" นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า[2] "เราเข้าใจว่าในระยะยาว สิ่งพื้นฐานที่มีค่าที่สุดคือจำนวนผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ของเรา สิ่งที่คุณคาดหวังว่าจะทำไปเรื่อย ๆ ระหว่างนี้คือการเปลี่ยนให้คนที่ใช้ของละเมิดใช้ของที่ถูกกฎหมายแทน"

จากการศึกษารวมกันเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ระหว่าง Business Software Alliance และ Software Publishers Association พบว่าความเสียหายเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของทั้งโลกมากกว่า 13 ล้านเหรียญ ในปี 1995 และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ[3]

กรณีศึกษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ Microsoft v. ATEC Computer

[แก้]

เป็นคำพิพากษาฎีกาเมื่อปี 2543 ที่ผ่านมา เป็นคดีสำคัญที่ผู้ศึกษากฎหมายโดยทั่วไป ส่วนมากจะรู้จักโดยเฉพาะในวิชากฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยพยานหลักฐาน คำพิพากษาฎีกาของจริงนี่จะยาวมาก ๆ แต่ที่ยกมาจะอยู่ในรูปของการเล่าเรื่องมากกว่า ไม่ใช่เป็นฎีกาโดยย่อแต่อย่างใด เพียงอยากให้รู้ว่าคดีนี้ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และผลของคำพิพากษาเป็นอย่างไร[4]

จากข้อมูลที่ได้มามีคำพิพากษาของสองศาลคือ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและของศาลฎีกา ซึ่งแน่นอนว่าผลของคำพิพากษาต่างกัน

เรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ละเมิด

[แก้]

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5305/2550 นายภิรมย์ ฟองทราย ที่ 1 กับพวก 2คน โจทก์ นายประเวศ ประยุทธสินธุ์ ที่ 1 กับพวก 3 คน จำเลย[5]

คดี Streamcast

[แก้]

หัวข้อที่สำคัญคือการพิสูจน์ว่าผู้ค้าส่งซอฟต์แวร์มีเจตนาที่จะส่งเสริมการละเมิดลิขสิทธิ์ในคำวินิจฉัย ศาลฎีกากล่าวว่ามีพยานวัตถุว่า เครือข่าย Streamcast มีการจูงใจให้ประชาชนใช้ซอฟต์แวร์ของเขาไปในทางที่ผิดกฎหมายโดยการแชร์ไฟล์ที่มีลิขสิทธิ์ ศาลไม่ได้วินิจฉัยให้เครือข่าย Streamcast เป็นผู้ที่ต้องรับผิดหรือไม่ แต่พวกเขาเพียงสามารถอ้างความรับผิดได้เท่านั้น โดยหลักแล้วศาลกล่าวว่าไม่สามารถฟ้องบริษัทเทคโนโลยีได้ ถ้าเขาเพียงแต่ทราบว่าลูกค้าของเขาใช้สินค้าของเขาโดยเจตนาที่ผิดกฎหมาย คำวินิจฉัยหมายความว่าศาลสหรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมีอิสระในการตัดสินใจในแต่ละคดีที่ก่อให้เกิดการส่งเสริมให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์[6]

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

[แก้]

ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ("พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์") โดยจัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม (Literary work)

ตามพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ กำหนดว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด ในกรณีที่บุคคลใด ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บุคคลนั้นจะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท

และหากเป็นการกระทำเพื่อการค้า จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ หากผู้ใดรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น แต่ยังนำไปขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ เผยแพร่ต่อสาธารณชน แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ นำเข้าหรือสั่งเข้ามาในประเทศไทย เพื่อหากำไร ก็มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาทและหากเป็นการทำเพื่อการค้า ผู้นั้นจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาทถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกเหนือจากการแก้ไขบรรเทาความเสียหายในคดีอาญาแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ยังสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง ในกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ภายใต้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ หากศาลพบว่ามีการ กระทำความผิดจริงอาจมีคำห้ามมิให้กระทำละเมิดอีกต่อไป และมีคำสั่งให้ชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงอันเนื่องจากการละเมิดดังกล่าว

สิทธิตามกฎหมาย

[แก้]

ภายใต้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยให้สิทธิแก่ผู้สร้างสรรค์เพียงผู้เดียว ในงานที่มีลิขสิทธิ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้

  • สิทธิในการสำเนาทั้งหมดหรือบางส่วนของโปรแกรม
  • สิทธิในการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงโปรแกรม สิทธิในการเผยแพร่งานต่อสาธารณชน
  • สิทธิในการให้ผู้อื่นเช่าโปรแกรม

นั้นหมายความว่า สามารถสำเนา ดัดแปลง หรือเช่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ หากเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาต โดยอยู่ในรูปของการให้สิทธิในการใช้งาน (license) ดังนั้น ทุกครั้งที่ซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างถูกกฎหมาย จะได้รับสัญญาสิทธิการใช้งาน (License Agreement) ซึ่งจะระบุสิทธิที่ผู้ซื้อได้รับเพื่อการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น หากผู้ซื้อกระทำสิ่งที่สัญญาไม่อนุญาต หรือขัดต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ จะถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและต้องรับโทษ

วิธีการหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมาย

[แก้]

วิธีง่าย ๆ คือ ซื้อและใช้แต่ซอฟต์แวร์ของแท้เท่านั้น

ลักษณะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่อนุญาตต่อผู้ใช้ จะถูกระบุไว้ในสัญญาการใช้งาน ดังนั้นควรอ่านสัญญาการใช้งานเสมอ เพื่อให้ทราบถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์

อย่างไรก็ตามคุณจะไม่ทำผิดกฎหมาย หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์จากสมาชิกของ BSA

  • ไม่ติดตั้งและใช้ซอฟต์แวร์เดียวกันบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่องพร้อมกัน
  • ทำสำเนาเพียง 1 ชุด เพื่อจุดประสงค์ในการสำรองซอฟต์แวร์เท่านั้น
  • ไม่ติดตั้งซอฟต์แวร์ไว้ที่เซิร์ฟเวอร์
  • ไม่ให้ผู้อื่นยืมซอฟต์แวร์ของคุณไปใช้

จะทราบได้อย่างไรว่าได้รับซอฟต์แวร์ของแท้

[แก้]

การบอกว่าซอฟต์แวร์ที่ได้รับเป็นของแท้หรือของปลอมไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเสมอไป เนื่องจากซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายไม่น้อยที่จัดทำบรรจุภัณฑ์และองค์ประกอบต่าง ๆ ได้เหมือนกับผลิตภัณฑ์ของแท้ อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตต่อไปนี้อาจบ่งบอกถึงซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายได้

  • มีราคาถูกกว่าปกติมาก​
  • โปรแกรมบรรจุอยู่ในแผ่นซีดีที่รวมซอฟต์แวร์จำนวนมากไว้ด้วยกัน โดยมาจากผู้พัฒนาที่ต่างกันด้วย
  • แผ่นซีดีมีสีทอง
  • ผู้ซื้อได้รับเฉพาะกล่องซีดีหุ้มด้วยพลาสติก
  • ไม่มีบรรจุภัณฑ์สำหรับการจำหน่ายปลีก
  • ผู้ซื้อไม่ได้รับสัญญาการใช้งาน, บัตรลงทะเบียน หรือคู่มือซอฟต์แวร์
  • หากไม่แน่ใจว่าได้รับผลิตภัณฑ์ของแท้หรือไม่ กรุณาติดต่อขอคำแนะนำจาก BSA[7]

การป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

[แก้]

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มีผลเสียต่อผู้เผยแพร่ซอฟต์แวร์ ที่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมสำหรับบริษัทที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง และก่อให้เกิดความเสียหายกับตราสินค้า ผ่านทางการแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และทำให้ลูกค้าได้รับความเสี่ยงด้านไอที รวมถึงการละเมิดข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและการสูญเสียข้อมูล จึงมีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ)

พันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (Business Software Alliance : BSA) เป็นองค์ที่มุ่งสู่เป้าหมายของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และพันธมิตรด้านฮาร์ดแวร์ เพื่อขจัดการกีดกันที่ไม่ใช่กำแพงภาษีในการเข้าสู่ตลาด การป้องกันการเกิดภาษีอินเทอร์เน็ตที่บิดเบือน หรือการสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎหมายที่ลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์[8]

นอกจากนี้กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ร่วมกับไอดีซีเผยผลการศึกษาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ที่ได้ติดตามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟตืแวรื กว่า 100 ประเทศทั่วโลก พบว่า จากปีพ.ศ. 2551 ถึง 2552 อัตราการติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือเครื่องพีซีในประเทศไทยลดลง 1 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 75 การลดลงดังกล่าวดูเหมือนจะส่งสัญญาณยืนยันแนวโน้มที่ดีว่าอัตราการละเมิด ลิขสิทธิ์กำลังลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 จากผลการศึกษายังมีการจัดอันดับประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่ำสุดและสูงสุดอีกด้วย คือ

สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และลักเซมเบิร์ก เป็นประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่ำที่ สุด (คิดเป็นร้อยละ 20 ร้อยละ 21 และร้อยละ 21 ตามลำดับ)

ประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงที่สุด คือ จอร์เจีย ซิมบับเว และมอลโดวา (ทั้งหมดมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงกว่าร้อยละ 90 )[9]

บีเอสเอร่วมฉลองวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดตัววิดีโอนำเสนอปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์เอเชียต้องเผชิญ[10]

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไทย

[แก้]

ไทยยังละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผอ.ฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ด้าน ผบก.ปศท. ประกาศเอาตำแหน่งเป็นเดิมพัน หาก 3 เดือน กวาดล้างการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไม่ได้ผล[11]

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) แถลงข่าวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ โดยนายดรุณ ซอร์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงถึงร้อยละ 80 และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยอันดับ 1 คือ เวียดนาม ตามด้วยอินโดนีเซีย และจีน นายอรุณ กล่าวด้วยว่า ในเครื่องคอมพิวเตอร์คนไทย 1 เครื่อง จะมีชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ถึงร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่อีก 3 ประเทศ กลับพบแนวโน้มที่ลดลง[11]

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะเผชิญกับภัยและความเสี่ย���บนโลกไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรธุรกิจ ข้อมูลปี 2559 จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกโจมตีทางไซเบอร์เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย ในปีที่ผ่านมามีการโจมตีมากถึง 4,300 เหตุการณ์ โดยร้อยละ 35 ถูกกระทำจากซอฟต์แวร์ประสงค์ร้าย หรือ Malicious Software ร้อยละ 26 เป็นเรื่องการหลอกให้โอนหรือชำระเงิน และร้อยละ 23 เป็นเรื่องการเจาะเข้าสู่เครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต[12]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "กรุงเทพโพลล์: การละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าในสายตาคนกรุงเทพฯ". กรุงเทพโพลล์. 13 สิงหาคม 2009 – โดยทาง RYT9.
  2. Matt Mondok (13 มีนาคม 2007). "Microsoft executive: Pirating software? Choose Microsoft!". Ars Technica.
  3. "Frequently Asked Questions". Markkula Center for Applied Ethics. Santa Clara University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 สิงหาคม 2012.
  4. "กรณีศึกษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ Microsoft vs. Atec". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2010.
  5. "เรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ละเมิด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 10 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2010.
  6. McDonald, Paul; Wasko, Janet (2008). The Contemporary Hollywood Film Industry. Malden, MA: Blackwell Pub. p. 202. ISBN 978-1-4051-3388-3. OCLC 122974178.
  7. "การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง". สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมที่ดิน.
  8. "บีเอสเอ". BSA | The Software Alliance.
  9. "BSA Reports $51 Billion Worth of Software Theft in 2009". Business Software Alliance. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 สิงหาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2010.
  10. "th-05052010-nv". Business Software Alliance. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มิถุนายน 2010. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2010.
  11. 11.0 11.1 "ไทยยังละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์". ubuntuclub.com. 13 มิถุนายน 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 ธันวาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2010.
  12. Wilaiphan S. (6 กุมภาพันธ์ 2017). "ข้อควรระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์". AppliCAD.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]