ข้ามไปเนื้อหา

การประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการี ค.ศ. 1867

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การแบ่งอาณาเขตระหว่างพื้นที่ภายใต้การดูแลของเวียนนา (ชมพูเข้ม) และพื้นที่ภายใต้การดูแลของบูดาเปสต์ (เขียว) ตามความตกลงทวิราชาธิปไตย Ausgleich ค.ศ. 1867 ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. 1878 บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (เหลือง) ได้รับการกำหนดเป็นดินแดนใต้การปกครองร่วม
ภาพพระราชพิธีสัตย์สาบานราชาภิเษก ณ เมืองแป็ชต์ บริเวณด้านหน้าโบสถ์อินเนอร์ซิตีแพริช (Inner City Parish Church)
พระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 และเอลีซาเบ็ท อมาลี ณ กรุงบูดอ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1867

การประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการี ค.ศ. 1867 (เยอรมัน: Ausgleich, ฮังการี: Kiegyezés) เป็นการก่อตั้งระบอบทวิราชาธิปไตยในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารและทางการทูตระหว่างสองรัฐอธิปไตย[1] การประนีประนอมได้ฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยและสถานะของราชอาณาจักรฮังการีให้เป็นเหมือนก่อน ค.ศ. 1848[2] พร้อมทั้งแยกออกและไม่ขึ้นตรงกับจักรวรรดิออสเตรียอีกต่อไป การประนีประนอมได้ยกเลิกระบอบเผด็จการทหารที่ยาวนาน 18 ปี และการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิ์เหนือฮังการี ซึ่งจักพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟทรงสถาปนาขึ้นภายหลังการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1848 ความตกลงนี้ยังฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนและธรรมนูญฉบับเก่าแก่ของราชอาณาจักรฮังการีอีกด้วย[3]

ผู้นำทางการเมืองของฮังการีมีเป้าประสงค์หลักสองประการในระหว่างการเจรจา ประการแรกคือการมอบสถานะดั้งเดิม (ทั้งทางกฎหมายและการเมือง) ของรัฐฮังการี ซึ่งสูญเสียไปภายหลังการปฏิวัติ อีกประการหนึ่งคือการฟื้นฟูประมวลกฎหมายปฏิรูป (เรียกว่ากฎหมายเดือนเมษายน) ที่ตราขึ้นโดยรัฐสภาปฏิวัติใน ค.ศ. 1848 ซึ่งมีรากฐานจากหลัก 12 ประการ ที่กำหนดสิทธิพลเมืองและทางการเมืองสมัยใหม่ สิทธิทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูปสังคมในฮังการี[4] ท้ายที่สุดแล้ว กฎหมายเดือนเมษายนของรัฐสภาปฏิวัติฮังการี (ยกเว้นข้อกฎหมายที่กำหนดจากหลักประการที่ 9 และ 10) จึงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งโดยจักรพรรดิออสเตรีย

ภายใต้สัญญาประนีประนอม ดินแดนของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คได้รับการจัดระเบียบเป็นสหภาพที่แท้จริง (real union) ระหว่างจักรวรรดิออสเตรียและราชอาณาจักรฮังการีที่นำโดยพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวซึ่งครองราชย์ในฐานะจักรพรรดิออสเตรียและพระมหากษัตริย์ฮังการี รัฐซิสไลทาเนีย (ออสเตรีย) และทรานส์ไลทาเนีย (ฮังการี) ปกครองโดยรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีที่แยกออกจากกัน ทั้งสองประเทศดำเนินนโยบายทางการทูตและการป้องกันประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจโดยตรงในการดูแลร่วมระหว่างกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม เข่นเดียวกับกระทรวงการคลังที่มีส่วนรับผิดชอบเฉพาะการจัดหาเงินทุนสำหรับกระทรวงร่วมทั้งสอง

ความสัมพันธ์ของฮังการีกับออสเตรียก่อนการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 นั้นมีสถานะเป็นรัฐร่วมประมุข ในขณะที่ภายหลังการประนีประนอม สถานะของฮังการีลดลงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในสหภาพที่แท้จริง[5] ดังนั้นสังคมฮังการีโดยทั่วไปจึงมองว่าการประนีประนอมเป็นการทรยศต่อผลประโยชน์ที่สำคัญของฮังการีและความสำเร็จของการปฏิรูป ค.ศ. 1848 การประนีประนอมยังคงไม่เป็นที่พอใจของชนฮังการีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่าใดนัก[6] โดยประชาชนฮังการีโดยทั่วไปไม่สนับสนุนการปกครองของพรรคเสรีนิยมในการเลือกตั้งรัฐสภาฮังการี ด้วยเหตุนี้ การดำรงไว้ซึ่งการเมืองของการประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการีส่วนใหญ่จึงเป็นผลมาจากความนิยมของพรรคเสรีนิยมที่ปกครองชนกลุ่มน้อยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในราชอาณาจักรฮังการี

จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 ทรงกล่าวพระดำรัสไว้ความว่า "มีเพียงพวกเราสามคนที่ทำความตกลงนี้: แดอัก, อ็อนดราชี และตัวข้าพเจ้า"[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Martin Mutschlechner: The Dual Monarchy: two states in a single empire
  2. André Gerrits; Dirk Jan Wolffram (2005). Political Democracy and Ethnic Diversity in Modern European History. Stanford University Press. p. 42. ISBN 9780804749763.
  3. Robert Young (1995). Secession of Quebec and the Future of Canada. McGill-Queen's Press. p. 138. ISBN 9780773565470. the Hungarian constitution was restored.
  4. Ferenc Szakály (1980). Hungary and Eastern Europe: Research Report Volume 182 of Studia historica Academiae Scientiarum Hungaricae. Akadémiai Kiadó. p. 178. ISBN 9789630525954.
  5. Ádám Kolozsi: (in Hungarian) Deadly threats and treason 150 years ago: front lines and marketing around Austro-Hungarian compromise. LINK: [1]
  6. Cieger András. Kormány a mérlegen – a múlt században (ในภาษาฮังการี)
  7. Kozuchowski, Adam. The Afterlife of Austria-Hungary: The Image of the Habsburg Monarchy in Interwar Europe. Pitt Series in Russian and East European Studies. University of Pittsburgh Press (2013), ISBN 9780822979173. p. 83

แหล่งที่มา

[แก้]
  • Cornwall, Mark (2002), Last Years of Austria-Hungary: A Multi-National Experiment in Early Twentieth-Century Europe (2nd ed.), University of Exeter Press.
  • Seton-Watson, R. W. (1925), "Transylvania since 1867", The Slavonic Review, Modern Humanities Research Association, vol. 4 no. 10, pp. 101–23, JSTOR 4201928.
  • Seton-Watson, R. W. (1939), "The Austro-Hungarian Ausgleich of 1867", The Slavonic and East European Review, Modern Humanities Research Association, vol. 19 no. 19.53/54, pp. 123–40, JSTOR 4203588.
  • Sowards, Steven W. (23 April 2004), Nationalism in Hungary, 1848–1867. Twenty Five Lectures on Modern Balkan History, Michigan State University, สืบค้นเมื่อ 19 March 2009.
  • Sugar, Peter F. (1994). A History of Hungary. Indiana University Press. ISBN 025320867X.
  • Taylor, A. J. P. (1952), The Habsburg Monarchy, 1815 – 1918: A history of the Austrian Empire and Austria-Hungary., New York: Macmillan.
  • Tihany, Leslie C. (1969), "The Austro-Hungarian Compromise, 1867–1918: A Half Century of Diagnosis; Fifty Years of Post-Mortem", Central European History, Cambridge University Press, Central European History Society, vol. 2 no. 2, pp. 114–38, doi:10.1017/s0008938900000169, JSTOR 4545523, S2CID 145522363.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]