การทำฝนเทียม
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
การทำฝนเทียมเป็นกรรมวิธีดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน การทำฝนเทียมเป็นกรรมวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยทำจากเมฆซึ่งมีลักษณะพอเหมาะที่จะเกิดฝนได้ จากนั้นจึงเร่งให้เกิดการควบแน่นของเมฆ ด้วย 3 ขั้นตอน คือ ก่อกวน, เลี้ยงให้อ้วน, และโจมตี มักทำใน 2 สภาวะ คือ การทำฝนเมฆเย็น เมื่อเมฆมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส และ การทำฝนเมฆอุ่น เมื่อเมฆมีอุณหภูมิสูงกว่า 0 องศาเซลเซียส การทำฝนเทียมในสองสภาวะนี้จะใช้สารในการดัดแปรสภาพอากาศที่แตกต่างกัน[1]
ประวัติการทำฝนเทียม
[แก้]ความพยายามในการทำฝนเทียมนั้น ได้เริ่มกันมานานแล้ว ทั้งชาวอินเดียนแดง และชาวไทยมีวิธีขอฝนต่างๆ นานา เช่น แห่นางแมว เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่เคยพิสูจน์ว่า ได้ผลในทางวิทยาศาสตร์เลย อันที่จริงเทคโนโลยีการประดิษฐ์ฝนเทียมถูกคิดค้นครั้งแรกในปี 1946 โดย เออร์วิง แลงมิวร์ นักเคมี ชาวอเมริกัน [2] ในไทย หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้คิดค้นฝนเทียมตั้งแต่ปี 2515 หลังพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร [3] เสด็จเยี่ยมราษฎรถิ่นอีสานในปี 2498 ที่มีสภาพแห้งแล้ง[4] แล้วให้หม่อมราชวงค์เทพฤทธิ์ เทวกุลเป็นผู้สานโครงการ[5]
ขั้นตอนการทำฝนเทียม
[แก้]การทำฝนเทียมในปัจจุบันได้อาศัยเทคนิคจากการศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ว่า กรรมวิธีของฝนธรรมชาติเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้น ในการทำฝนเทียม นักวิทยาศาสตร์จึงได้พยายามเลียนแบบธรรมชาติโดยทำจากเมฆซึ่งมีลักษณะเหมาะสมพอจะเกิดฝนได้ การทำฝนเทียมในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธี ดังนี้
ก. การทำฝนเทียมในเขตอบอุ่นซึ่งมีเมฆที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0°C.
การทำฝนเทียมในเมฆชนิดนี้ เขาใช้โปรยหรือหว่าน ด้วยเม็ดน้ำแข็งแห้งเล็กๆ (dry ice) หรือซิลเวอร์ ไอโอไดด์ (silver iodide) ตามธรรมดาเม็ดน้ำแข็งแห้งเม็ดเล็กๆ ซึ่งมีอุณหภูมิ -78°C. จะสามารถทำให้เมฆกลายเป็นผลึกน้ำแข็ง และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และตกลงมา ส่วนผงซิลเวอร์ไอโอไดด์นั้นทำหน้าที่เป็นนิวเคลียสของการเกิดผลึกน้ำแข็ง ผลึกน้ำแข็งที่เกิดขึ้นนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็ว และตกลงมาเป็นหิมะหรือฝน การหว่านเม็ดน้ำแข็งแห้ง หรือผงซิลเวอร์ไอโอไดด์นั้น อาศัยหลักของการเกิดฝนตามกรรมวิธีของเบอร์เจอรอน-ฟินดีเซน และใช้สำหรับทำฝนเทียมในเมฆซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0°C. แต่ทว่าปฏิกิริยาของน้ำแข็งแห้ง หรือผงซิลเวอร์ไอโอไดด์ทำหน้าที่ต่างกัน
ข. การทำฝนเทียมในเขตร้อนซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า 0°C.
การทำฝนเทียมจากเมฆซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า 0°C. หรือเรียกว่าเมฆอุ่นนี้มีหลายแห่งที่เขาใช้โปรยด้วยเม็ดน้ำธรรมดา หรือน้ำเกลือ เพื่อที่จะให้เม็ดของน้ำ หรือน้ำเกลือทำหน้าที่เป็นเม็ดเมฆขนาดใหญ่กว่าเม็ดเมฆที่เป็นอยู่ และเมื่อเม็ดของเมฆมีขนาดต่างๆ กัน ก็จะทำให้เกิดการรวมตัวกันโดยการชนกัน ตามกรรมวิธีรวมตัวกัน และชนกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
เรื่องการทำฝนเทียมนี้ยังจะต้องทำการค้นคว้ากันอีกมากในขณะนี้มีนักวิทยาศาสตร์ เข้าใจว่า อาจจะเพิ่มฝนได้มากกว่าฝนธรรมชาติประมาณร้อยละ 10 ถึง 20 แต่เรื่องนี้ก็ยัง ไม่มีการพิสูจน์ได้แน่นอนเด็ดขาด เพราะการแยกปริมาณน้ำฝนจากฝนธรรมชาติและฝนเทียมนั้น ทำได้ลำบากมาก[6]
สารเคมีที่ใช้ทำฝนเทียม
[แก้]สารเคมีประเภทคลายความร้อนหรือทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น (Exothermic chemical) ปัจจุบันนี้มีใช้ในการทำฝนเทียมในประเทศไทย 3 ชนิด คือ
- แคลเซียมคาร์ไบด์ (Calcium carbide; CaC2)
- แคลเซียมคลอไรด์ (Calcium chloride; CaCl2)
- แคลเซียมออกไซด์ (Calcium oxide; CaO)
สารเคมีประเภทดูดกลืนความร้อนหรือทำให้อุณหภูมิต่ำลง (Endothermic chemicals) ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีประเภทนี้อยู่ 3 ชนิด คือ
- ยูเรีย (Urea; CO(NH2)2)
- แอมโมเนียไนเตรด (Ammoniumnitrate; NH4N03)
- น้ำแข็งแห้ง (Dry ice; CO2(S))
สารเคมีที่ทำหน้าที่ดูดซับความชื้นประการเดียว
- เกลือ (Sodium chloride; NaCl)
- สารเคมีสูตร ท.1
การทำฝนเทียมนั้นใช้เพื่อประโยชน์หลากหลาย เช่น การเกษตร ดับไฟป่า หรือกระทั่งเพื่อป้องกันการตกของฝนในวันที่กำหนด เช่นในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่ประเทศจีน[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ การทำฝนเทียม[ลิงก์เสีย], สื่อการเรียนรู้ โดยศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ
- ↑ "สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๔ เรื่องที่ ๕ ปรากฏการณ์ของอากาศ การทำฝนเทียม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-14. สืบค้นเมื่อ 2019-10-15.
- ↑ http://huahin.royalrain.go.th/historyhuahinroyalrain/history3.php เก็บถาวร 2022-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประวัติ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล "สายรุ้ง" ปรมาจารย์แห่งฝนหลวง
- ↑ "ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล : นักประดิษฐ์ข้างกายพระราชา - ยอดมนุษย์..คนธรรมดา".
- ↑ https://www.royalrain.go.th/web/Info/ShowDetail.aspx?DetailId=14436 29 ธันวาคม วันสายรุ้ง
- ↑ "สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๔ เรื่องที่ ๕ ปรากฏการณ์ของอากาศ การทำฝนเทียม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-14. สืบค้นเมื่อ 2019-10-15.
- ↑ China practices artificial rain reduction for sunny Olympics เก็บถาวร 2008-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักข่าวซินหัว, 9 สิงหาคม พ.ศ. 2550
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- การทำฝนเทียม เก็บถาวร 2009-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ