กลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่น
ผู้วางกลศึก | จูกัดเหลียง |
---|---|
ผู้ต้องกลศึก | โจโฉ |
ประเภท | กลยุทธ์เข้าตี |
หลักการ | สงสัยพึงแจ้ง สังเกตจึงเคลื่อน |
สถานที่ | ฮันต๋ง |
ผลลัพธ์ | โจโฉถูกเล่าปี่ตีกระหนาบจนแตกพ่าย |
กลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่น หรือ ต๋าเฉ่าจิงเสอ (อังกฤษ: Startle the snake by hitting the grass around it; จีนตัวย่อ: 打草惊蛇; จีนตัวเต็ม: 打草驚蛇; พินอิน: Dá cǎo jīng shé) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก กลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่มีสิ่งใดพึงสงสัย ควรจักส่งคนไปทำการสอดแนมให้รู้ชัดแจ้งเพื่อเป็นการกุมสภาพของศัตรูเอาไว้ เมื่อได้ข่าวคราวของฝ่ายศัตรูแล้วจึงนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตี เรียกว่า "สงสัยพึงแจ้ง สังเกตจึงเคลื่อน"[1]
คัมภีร์อี้จิงกล่าวไว้ว่า "ใช้มรรควิธีเดิมกลับไปมา 7 วัน เมื่อละเอียดแล้วจึงเข้าใจสิ่งนั้นได้ หากศัตรูสงบนิ่งก็พึงสร้างสถานการณ์ให้ศัตรูเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดช่องโหว่ จากนั้นจึงหาโอกาสเอาชัย" ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่นไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ต้องการดูชั้นเชิงกองกำลังทหารของโจโฉเมื่อคราวเล่าปี่ยกทัพไปตีฮันต๋ง[2]
ตัวอย่างกลยุทธ์
[แก้]เมื่อคราวที่เล่าปี่นำกำลังทหารยกทัพไปตีฮันต๋ง โจโฉได้นำกำลังทหารออกไปตีฮันซุยคืนและตั้งค่ายทหารคนละฟากฝั่งแม่น้ำดูเชิงซึ่งกันและกัน จูกัดเหลียงซึ่งเป็นที่ปรึกษาของเล่าปี่ต้องการจะดูชั้นเชิงทางการรบของทหารโจโฉ จึงให้จูล่งนำกำลังทหารห้าร้อยนาย เอากลองและแตรขึ้นไปตั้งทัพที่บริเวณเชิงเขาเหนือน้ำ ครั้นถึงเวลาค่ำคืนและได้ยินเสียงประทัดดังขึ้นเมื่อใด ก็ให้เร่งเป่าแตรตีกลองส่งเสียงให้ดังสนั่นหวั่นไหว แต่ห้ามนำกำลังทหารออกทำศึกด้วยโดยเด็ดขาด ถึงยามเย็นจูกัดเหลียงก็ขึ้นไปอยู่บนเขาสูง ลอบดูความเคลื่อนไหวและชั้นเช��งในการรบของทหารโจโฉ
รุ่งเช้าโจโฉนำกำลังทหารมาท้ารบกับเล่าปี่ แต่เล่าปี่สั่งการให้ทหารภายในกองทัพให้สงบนิ่งไม่ให้แสดงกิริยาใด ๆ รวมทั้งออกไปทำศึกสงครามด้วย ทหารโจโฉเมื่อเห็นเล่าปี่นิ่งเฉยก็แปลกใจจึงตั้งทัพเผชิญหน้ากับเล่าปี่คนละฝั่งแม่น้ำพอถึงยามเย็นก็นำกำลังทหารกลับค่าย จูกัดเหลียงที่ลอบดูชั้นเชิงทหารโจโฉก็คิดลองดีในด้านสติปัญญาในการทำศึก เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนจูกัดเหลียงก็จุดประทัดขึ้นเป็นสัญญาณ จูล่งที่นำกำลังทหารไปซุ่มรอคอยบริเวณเชิงเขาเหนือน้ำได้ยินเสียงประทัด ก็ให้ทหารช่วยกันตีกลองและเป่าแตรขึ้นพร้อมกันส่งเสียงอื้ออึงไปทั่วประดุจกองทัพของศัตรูบุกเข้าโจมตี
ทหารโจโฉพากันตกใจนึกว่าเล่าปี่นำกำลังทหารเข้าจู่โจมจึงเตรียมพร้อมรับศึก แต่เมื่อไม่เห็นกองกำลังทหารเล่าปี่ก็ประหลาดใจ ตกดึกจูล่งก็ทำเสียงอื้ออึงขึ้นอีกทหารโจโฉก็เตรียมพร้อมรบเช่นเดิม จูล่งและทหารทำเสียงดังอื้ออึงรบกวนติด ๆ กันสามวันสามคืน ทำให้กำลังทหารโจโฉไม่ได้หลับนอนคอยเตรียมพร้อมรบอยู่ตลอดเวลา โจโฉนึกครั่นคร้ามในกองกำลังทหารเล่าปี่จึงสั่งให้ถอยทัพจากบริเวณฝั่งแม่น้ำไปไกลถึงสามร้อยเส้น ไปตั้งทัพในทุ่งกว้างเพื่อหลีกเลี่ยงกำลังทหารเล่าปี่ที่ส่งเสียงก่อกวน
จูกัดเหลียงที่ดูชั้นเชิงในการรบของทหารโจโฉก็เห็นได้ทีในการทำศึก จึงให้เล่าปี่ข้ามแม่น้ำไปตั้งค่ายและนำกำลังทหารตีกระหนาบกองกำลังทหารโจโฉจนแตกพ่าย ถอยร่นจากริมฝั่งแม่น้ำซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการทำศึกไปตั้งทัพในบริเวณทุ่งกว้างแทน ทำให้จูกัดเหลียงวางกลอุบายในการทำศึกสงครามกับโจโฉได้โดยสะดวก กลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่นหรือต๋าเฉ่าจิงเสอของจูกัดเหลียง ก็ประสบความสำเร็จในการฉวยโอกาสสังเกตกองกำลังทหารและหาช่องโหว่ในการโจมตีทัพของโจโฉจนแตกพ่ายได้อย่างงดงาม
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- 36 กลยุทธ์ :: ตีหญ้าให้งูตื่น เก็บถาวร 2008-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ แหวกหญ้าให้งูตื่น, 36 กลยุทธ์ผู้นำ, หวางซวนหมิง ผู้แต่ง, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ ผู้แปล, พ.ศ. 2537, ISBN 974-602-172-9
- ↑ ต๋าเฉ่าจิงเสอ กลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่น, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 225, ISBN 978-974-690-595-4