ไกรทอง เป็นนิทานพื้นบ้านภาคกลางของไทย ที่มีตัวเอกชื่อ ไกรทอง เล่าไว้หลายสำนวนด้วยกัน ภายหลังในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครสำหรับละครนอก และได้รับความนิยม ยกย่องเป็นฉบับมาตรฐานฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักเกี่ยวกับคนและจระเข้

ไกรทอง
กวีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ประเภทนิทาน/ตำนาน
คำประพันธ์กลอนบทละคร
ความยาว2 เล่มสมุดไทย
ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์
ภาพการต่อสู้ระหว่างไกรทอง กับชาละวันในร่างมนุษย์ ที่วัดอัมพวันเจติยาราม

เรื่องย่อ

แก้
 
ภาพการชิงตัวตะเภาแก้ว และตะเภาทอง ของชาละวัน ที่วัดอัมพวันเจติยาราม

กาลครั้งหนึ่ง มีถ้ำแก้ววิเศษเป็นที่อยู่ของจระเข้(ใต้) ในถ้ำมีลูกแก้ววิเศษที่ส่องแสงดุจเวลากลางวัน จระเข้ทุกตัวที่เข้ามาในถ้ำจะกลายเป็นมนุษย์ มีท้าวรำไพ เป็นจระเข้เฒ่าผู้ทรงศีล ไม่กินเนื้อมนุษย์และสัตว์ มีบุตรชื่อ ท้าวโคจร ซึ่งนิสัยแตกต่างจากพ่อโดยสิ้นเชิง ท้าวโคจรมีบุตรชื่อ ชาละวัน วันหนึ่ง ท้าวโคจร เกิดทะเลาะวิวาทกับท้าวแสนตาและพญาพันวัง(เหนือ) ท้าวโคจรโกรธที่ท้าวแสนตาฆ่าลูกน้องของตนจึงเข้ามาขอท้าสู้ แต่ท้าวแสนตาก็ไม่อาจสู้กำลังของท้าวโคจรได้ พญาพันวังโมโหที่ท้าวโคจรฆ่าพี่ชายของตนจึงขึ้นมาสู้กับท้าวโคจร สุดท้ายทั้งสามก็จบชีวิตลงจากบาดแผลที่เกิดจากการสู้รบกัน

หลังจากนั้น พญาชาละวัน บุตรของท้าวโคจร ก็ได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองถ้ำบาดาลโดยไม่มีใครกล้าท้าทายอำนาจ และได้จระเข้สาวสองตัวเป็นเมียคือ วิมาลา กับ เลื่อมลายวรรณ ด้วยความลุ่มหลงในอำนาจ ชาละวันจึงมีนิสัยดุร้ายต้องการกินเนื้อมนุษย์ และไม่รักษาศีลเหมือนท้าวรำไพผู้เป็นปู่แต่อย่างใด เพราะถือว่าตนเป็นผู้ปกครองถ้ำ มีอำนาจอยากจะทำอะไรก็ได้

ณ เมืองพิจิตร มีเหตุการณ์จระเข้อาละวาดออกมากินคนที่อยู่ใกล้คลอง วันหนึ่ง พี่น้องคู่หนึ่ง ชื่อนางตะเภาทอง ผู้พี่ และนางตะเภาแก้ว ผู้น้อง ทั้งสองเป็นธิดาของเศรษฐี อยากที่จะลงไปเล่นน้ำที่คลอง เศรษฐีห้ามแต่สองพี่น้องก็ยังรบเร้าที่จะไปโดยบอกว่ามีพี่เลี้ยงลงไปด้วย เศรษฐีจึงใจอ่อนยอมให้ตะเภาแก้วและตะเภาทองลงไปเล่นน้ำ ในเวลานั้น ชาละวัน ซึ่งกลายร่างเป็นจระเข้ยักษ์นิสัยอันธพาล ได้ออกจากถ้ำอาละวาดล่าหามนุษย์เป็นเหยื่อ สร้างความวุ่นวายไปทั่วเมือง และได้ว่ายน้ำผ่านมาเห็นตะเภาทองที่แม่น้ำแถวบ้านท่านเศรษฐี ก็เกิดความลุ่มหลงทันทีจึงคาบตะเภาทองแล้วดำดิ่งไปยังถ้ำทองด้วยความเหิมลำพอง

เมื่อนางตะเภาทองฟื้นขึ้นมา ก็ตกตะลึงในความสวยของถ้ำ และได้เห็นพญาชาละวัน ซึ่งกลายร่างเป็นชายรูปงาม ชาละวันเกี้ยวพาราสีแต่นางไม่สนใจ ชาละวันจึงใช้เวทมนตร์สะกดให้นางหลงรักและยอมเป็นภรรยา เมียของชาละวันคือ วิมาลา และเลื่อมลายวรรณ เห็นก็ไม่พอใจและหึงหวงแต่ก็ห้ามสามีไม่ได้

ท่านเศรษฐีเสียใจมาก จึงประกาศไปว่าใครที่พบศพนางตะเภาทอง และสามารถปราบจระเข้ตัวนี้ได้จะมอบสมบัติของตนเองให้ครึ่งหนึ่ง และจะให้แต่งงานกับนางตะเภาแก้ว แต่ไม่ว่าจะมีผู้มีอาคม มาปราบชาละวันกี่คน ก็จะตกเป็นเหยื่อให้ชาละวันเอาไปนั่งกินเล่นทุกราย และแล้วก็ได้ ไกรทอง หนุ่มรูปหล่อจากเมืองนนทบุรี ซึ่งได้ร่ำเรียนวิชาการปราบจระเข้จากอาจารย์คง จนมีความเก่งกล้า ฤทธิ์อาคมแกร่ง ได้รับอาสามาปราบชาละวัน

ก่อนพบเจอเหตุร้าย ชาละวันได้นอนฝันว่า มีไฟลุกไหม้และน้ำท่วมทะลักเข้าถ้ำ เกิดแผ่นดินไหวแปรปรวน ทันใดนั���น ได้ปรากฏร่างเทวดาฟันคอชาละวันขาดกระเด็น จึงได้นำความฝันไปบอกกล่าวกับปู่ท้าวรำไพ เพราะเหตุการณ์ในความฝันเป็นลางร้าย ชาละวันต้องจำศีลในถ้ำ 7 วัน ถ้าออกไปนอกถ้ำจะพบภัยพิบัติถึงชีวิต วิมาลาจึงรับสั่งให้บริวารจระเข้คาบก้อนหินมาปิดปากถ้ำเอาไว้ เพื่อไม่ให้มนุษย์เข้ามาในถ้ำ

รุ่งเช้าไกรทองเริ่มตั้งพิธีบวงสรวงพร้อมท่องคาถา ทำให้ชาละวันเกิดอาการร้อนรุ่ม วิมาลาได้แต่คอยปลอบใจให้ชาละวันอดทนเข้าไว้ แต่สุดท้ายชาละวันก็ต้องออกจากถ้ำ แปลงกายเป็นจระเข้ขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อต่อสู้กับไกรทอง การต่อสู้ของคนกับจระเข้จึงเริ่มขึ้นไกรทองกระโดดขึ้นบนหลังจระเข้ชาละวันอย่างรวดเร็วและแทงด้วยหอกสัตตโลหะ ทำให้อาคมของเขี้ยวเพชรเสื่อม หอกสัตตโลหะได้ทิ่มแทงชาละวันจนบาดเจ็บสาหัส และมันได้รีบหนีกลับไปที่ถ้ำทองทันที

แต่ไกรทองก็ใช้เทียนระเบิดน้ำเปิดทางน้ำ ตามลงไปที่ถ้ำทันที วิมาลาและเลื่อมลายวรรณต้องการของร้องให้ปู่ท้าวรำไพช่วย แต่ท้าวรำไพก็ไม่สามารถช่วยได้ เมื่อมาถึงถ้ำไกรทองได้พบกับ วิมาลา ด้วยความเจ้าชู้จึงเกี้ยวพาราสีจนนางใจอ่อนยอมเป็นชู้ จนนางตกใจวิ่งหนีเข้าถ้ำ ไกรทองจึงตามนางไป ส่วนชาละวันที่นอนบาดเจ็บอยู่ก็รีบออกมาจากที่ซ่อนตัวและได้ต่อสู้กับไกรทองต่อในถ้ำ จนชาละวันสู้ไม่ไหวในที่สุดก็พลาดเสียท่าถูกแทงจนสิ้นใจตายตรงนั้น (บางสำนวนก็บอกว่า ชาละวันถูกหอกอาคมของไกรทองแทงกลางหลัง แล้วร่างก็เปลี่ยนเป็นจระเข้ยักษ์นอนตายอยู่กลางถ้ำทอง) และไกรทองก็ได้พานางตะเภาทองกลับขึ้นมา เศรษฐีดีใจมากที่ลูกสาวยังไม่ตาย จึงจัดงานแต่งงานให้ไกรทองกับนางตะเภาแก้ว พร้อมมอบสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง แถมนางตะเภาทองให้อีกคน

ใจของไกรทองกลับนึกถึงนางวิมาลา จึงไปหาอยู่กินด้วย โดยทำพิธีทำให้นางยังคงเป็นมนุษย์แม้ออกนอกถ้ำทอง นางตะเภาแก้วและนางตะเภาทอง จับได้ว่า สามีไปมาหาสู่กับนางวิมาลา จึงไปหาเรื่องกับนางในร่างมนุษย์จนนางวิมาลาทนไม่ไหวกลับ ร่างเป็นจระเข้และไกรทองต้องออกไปห้ามไม่ให้เมียตีกันและอำลาจากนางวิมาลาด้วยใจอาวรณ์ สุดท้ายไกรทองก็ปรับความเข้าใจได้กับทั้งสองฝ่าย ทั้งมนุษย์และจระเข้อยู่อย่างสันติ

ตำนานจระเข้ชาละวัน

แก้

ชาละวัน เป็นจระเข้ใหญ่เลื่องชื่อแห่งแม่น้ำน่านเก่าเมืองพิจิตร สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยที่พิจิตรมีเจ้าเมืองปกครอง ตามตำนานกล่าวว่า มีตายายสองสามีภรรยา ออกไปหาปลาพบไข่จระเข้ที่สระน้ำแห่งหนึ่ง จึงเก็บมาฟักเป็นตัวแล้วเลี้ยงไว้ในอ่างน้ำ เพราะยายอยากเลี้ยงไว้แทนลูก ต่อมาจระเข้ตัวใหญ่ขึ้นจึงนำไปเลี้ยงไว้ในสระใกล้บ้านหาปลามาให้เป็นประจำ ต่อมาตายายหาปลามาให้เป็นอาหารไม่พออิ่ม จระเข้ตัวนั้นจึงกินตายายเป็นอาหาร เมื่อขาดคนเลี้ยงดูให้อาหาร จระเข้ใหญ่จึงออกจากสระไปอาศัยอยู่ในแม่น้ำน่านเก่าซึ่งอยู่ห่างจากสระตายายประมาณ 500 เมตร

แม่น้ำน่านเก่าในสมัยนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิดและมีน้ำบริบูรณ์ตลอดปี ขณะนั้นไหลผ่านบ้านวังกระดี่ทอง บ้านดงเศรษฐี ล่องไปทางใต้ ไหลผ่านบ้านดงชะพลู บ้านคะเชนทร์ บ้านเมืองพิจิตรเก่า บ้านท่าข่อย จนถึงบ้านบางคลาน จระเข้ใหญ่ก็เที่ยวออกอาละวาดอยู่ในแม่น้ำตั้งแต่ย่านเหนือเขตวังกระดี่ทอง ดงชะพลู จนถึงเมืองเก่า แต่ด้วยจระเข้ใหญ่ของตายายได้เคยลิ้มเนื้อมนุษย์แล้ว จึงเที่ยวอาละวาดกัดกินคนทั้งบนบกและในน้ำไม่มีเว้นแต่ละวัน จึงถูกขนานนามว่า "ไอ้ตาละวัน" ตามสำเนียงภาษาพูดของชาวบ้านที่เรียกตามความดุร้ายที่มันทำร้ายคน ไม่เว้นแต่ละวัน ต่อมาก็เรียกเพี้ยนเสียงเป็น "ไอ้ชาละวัน" และเขียนเป็น "ชาลวัน" ตามเนื้อเรื่องในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ชื่อของชาละวันแพร่สะพัดไปทั่วเพราะเจ้าชาละวันไปคาบเอาบุตรสาวคนหนึ่งของเศรษฐีเมืองพิจิตรขณะกำลังอาบน้ำอยู่ที่แพท่าน้ำหน้าบ้าน เศรษฐีจึงประกาศให้สินบนหลายสิบชั่ง พร้อมทั้งยกลูกสาวที่มีอยู่อีกคนหนึ่งให้แก่ผู้ที่ฆ่าชาละวันได้ ไกรทอง พ่อค้าจากเมืองล่าง สันนิษฐานว่าจากเมืองนนทบุรี รับอาสาปราบจระเข้ใหญ่ด้วยหอกลงอาคมหมอจระเข้ ถ้ำชาละวันสันนิษฐานว่าอยู่กลางแม่น้ำน่านเก่า ปัจจุบันอยู่ห่างจากที่พักสงฆ์ถ้ำชาละวัน บ้านวังกระดี่ทอง ตำบลย่านยาว ไปทางใต้ประมาณ 300 เมตร ทางลงปากถ้ำเป็นโพรงลึกเป็นรูปวงกลมมีขนาดพอดี จระเข้ขนาดใหญ่มากเข้าได้อย่างสบาย คนรุ่นเก่าได้เล่าถึงความใหญ่โตของชาละวันว่า เวลามันอวดศักดาลอยตัวปริ่มน้ำขวางคลอง ลำตัวของมันจะยาวคับคลอง กล่าวคือ หากหัวอยู่ฝั่งนี้ หางจะอยู่อีกฝั่ง เรื่องชาละวันเป็นเรื่องที่เลื่องลือมาก จนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่อง "ไกรทอง" และให้นามจระเข้ใหญ่ว่า "พญาชาลวัน"

ตำนานนายไกรทอง ชาวเมืองนนทบุรี

แก้

ส่วนนายไกรทองหมอปราบจระเข้ สันนิษฐานตามหลักฐานว่า เป็นบุคคลที่มาจากเมืองนนทบุรี ประกอบอาชีพค้าขายทางน้ำ และเคยรับอาสาปราบจระเข้ยักษ์ที่คร่าชีวิตคนในพิจิตร และภายหลังชาวเมืองนนทบุรีได้ทราบข่าวการสร้างวีรกรรมปราบจระเข้ที่เมืองพิจิตร และได้สร้างศาสนสถานขึ้นคือ วัดบางไกรใน เพื่อเป็นเกียรติแก่ความหาญกล้าของไกรทอง[1]

ไกรทองในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์

แก้
  • ไกรทอง (2501) ภาพยนตร์

เนื้อเรื่องจะเหมือนกับในหนังสือนิทาน เป็นภาพยนตร์ 16 มม. นำแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์ รับบท ไกรทอง, ชนะ ศรีอุบล รับบท ชาละวัน พร้อมด้วย สวลี ผกาพันธุ์, ประภาพรรณ นากทอง, วงทอง ผลานุสนธ์ และ แขไข สุริยา ให้เสียงพากย์โดย รุจิรา-มารศรี ออกฉายที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2501

  • ไกรทอง (2513) ภาพยนตร์ทีวี, ชาละวัน (2515) ภาพยนตร์

เนื้อเรื่องจะเหมือนกับในหนังสือนิทาน ไกรทอง เป็นภาพยนตร์ทีวี ถ่ายทำแบบภาพยนตร์ แต่ออกอากาศเป็นตอนเหมือนละครโทรทัศน์ เรื่องแรกของบริษัท ไชโยโปรดักชั่นส์ โดยสมโภชน์ แสงเดือนฉาย ใช้สเปเชียลเอฟเฟกส์ผสมกับการนำเสนอแบบลิเก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ปี พ.ศ. 2513. และเนื่องจากได้รับความนิยมอย่างมากจนเรตติ้งขึ้นเป็นละครอันดับหนึ่งของปีนั้น ภายหลังจึงได้นำมาตัดต่อใหม่ มีการเพิ่มเอฟเฟ็กต์และความอลังการ และออกฉายในโรงภาพยนตร์ในปี 2515 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ชาละวัน นำแสดงโดย ปรีดา จุลละมณฑล รับบทเป็น ไกรทอง และ ดามพ์ ดัสกร รับบทเป็น ชาละวัน, ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี รับบทเป็น ตะเภาทอง, ร่วมด้วย สุพรรณ บูรณพิมพ์, มาลาริน บุนนาค, จอมใจ จรินทร์, มารศรี ณ บางช้าง, รัตนาภรณ์(น้อย) อินทรกำแหง

  • ไกรทอง (2523) ภาพยนตร์

เนื้อเรื่องจะเหมือนกับในหนังสือนิทาน สร้างโดย ไชโยภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย เนรมิต และ ฉลวย ศรีรัตนา นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี รับบท ไกรทอง, สมบัติ เมทะนี รับบท ชาละวัน, อรัญญา นามวงศ์ รับบท วิมาลา, อำภา ภูษิต รับบท ตะเภาแก้ว, สุพรรษา เนื่องภิรมย์ รับบท ตะเภาทอง และ ดวงชีวัน โกมลเสน รับบท เลื่อมลายวรรณ

  • ไกรทอง 2 (2528)

เป็นทีมผู้สร้างและผู้แสดงหน้าเดิมจากภาคแรก เนื้อเรื่องมีความสนุกตื่นเต้นมากขึ้น มีตัวละครร่วมอย่าง ไอ้เคี่ยม (จระเข้น้ำเค็ม) ซึ่งแสดงโดย ลักษณ์ อภิชาติ

  • ไกรทอง (ละครพื้นบ้าน ช่อง 7) ปี 2538

ซึ่งเนื้อเรื่องก็นำมาจากในหนังสือนิทาน นำแสดงโดย ฉัตรมงคล บำเพ็ญ รับบทเป็น ชาละวัน, สิปปนนท์ คชชาคร รับบทเป็น ไกรทอง, ธิติยา นพพงษากิจ รับบทเป็น ตะเภาทอง, สุดธิดา หาญถนอม รับบทเป็น ตะเภาแก้ว, พรพิมล รักธรรม รับบทเป็น วิมาลา, กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ รับบทเป็น เลื่อมลายวรรณ

  • ไกรทอง (2544) ภาพยนตร์

ฉบับเอาเนื้อเรื่องนิทานมารีเมคใหม่ ผลงานกำกับของ สุทัศน์ อินทรานุปกรณ์ นำแสดงโดย วินัย ไกรบุตร, วรรณษา ทองวิเศษ, ปรายฟ้า สิริวิชชา, แชมเปญ เอ็กซ์, ชุติมา เอเวอรี่, เจ็ท ผดุงธรรม ออกฉายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544

ฉบับนี้จะเป็นการนำละครพื้นบ้านอย่างไกรทองกลับมารีเมคใหม่ ใช้ชื่อเรื่องว่า ลูกผู้ชายชื่อไกรทอง โดยมี มิตร มิตรชัย รับบทเป็น ชาละวัน สุรศักดิ์ สุวรรณวงษ์ รับบทเป็น ไกรทอง[2]

ฉบับนี้จะเป็นการนำละครโทรทัศน์อย่างไกรทองกลับมารีเมดใหม่ ใช้ชื่อเรื่องว่า ศึกเสน่หาไกรทอง-ชาละวัน นำแสดงโดย อนุวัฒน์ ชูเชิดรัตนา รับบทเป็น ไกรทอง ฐิติวัฒน์ ฤทธิ์ประเสริฐ รับบทเป็น ชาละวัน

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "วัดบางไกรใน". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
  2. "งานบวงสรวงละครพื้นบ้าน ไกรทอง - เจ้าหญิงพิกุลทอง". www.ch7.com. 17 May 2022. สืบค้นเมื่อ 26 Aug 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้