เรือนจำกลางบางขวาง

(เปลี่ยนทางจาก เรือนจำบางขวาง)

เรือนจำกลางบางขวาง หรือ เรือนจำมหันตโทษ เป็นเรือนจำที่ใช้คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จนถึงโทษประหารชีวิต[1] ตั้งอยู่เลขที่ 117 หมู่ 3 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี อยู่ติดกับวัดบางแพรกใต้

เรือนจำกลางบางขวาง
ประตูหลักของเรือนจำกลางบางขวาง
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์13°50′48″N 100°29′35″E / 13.84667°N 100.49306°E / 13.84667; 100.49306
สถานะเปิดใช้งาน
ระดับความปลอดภัยการป้องกันสูงสุด
เปิดให้บริการพ.ศ. 2476
บริหารโดยกรมราชทัณฑ์

ประวัติ

แก้

เรือนจำกลางบางขวาง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2476 บนเนื้อที่ 136 ไร่ ล้อมกำแพงสูง 6 เมตร มีรั้วไฟฟ้าแรงสูง มีหอคอยพร้อมพลแม่นปืนเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยเรือนจำเเห่งนี้มีชื่อเดิมว่าเรือนจำกองมหันตโทษแต่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเรือนจำกลางบางขวางเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2484[2] โดยเรือนจำเเห่งนี้ก่อตั้งจากรัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้ย้ายเรือนจำกองมหันตโทษออกจากเขตพระนคร[3] เมื่อมีการเปลี่ยนโทษการประหารชีวิตจากการตัดคอเป็นการยิงเป้า เมื่อ พ.ศ. 2478 ก็ใช้สถานที่นี้เป็นสถานที่ประหารตลอดมา [4]แต่ในบางครั้งการประหารชีวิตเกิดขึ้นนอกเรือนจำกลางบางขวาง เช่นการประหารชีวิตนายสมศักดิ์ ขวัญแก้วที่เชิงเขาตะเเบก อำเภอสัตหีบ[5] หรือการประหารชีวิตครอง จันดาวงศ์และทองพันธ์ สุทธิมาศ ที่อำเภอสว่างแดนดิน[6] จนถึงปัจจุบัน มีนักโทษเด็ดขาดถูกประหารชีวิตโดยเพชรฆาตของเรือนจำไปแล้ว 326 ราย[7] เป็นนักโทษชาย 323 ราย และนักโทษหญิง 3 ราย[8] ปัจจุบันการประหารชีวิตเปลี่ยนมาใช้วิธีฉีดยาพิษเข้าสู่ร่างกาย ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 19 และมีผลบังคับใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2546

การประหารชีวิต

แก้

การประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าส่วนใหญ่จะดำเนินการประหารชีวิตภายในห้องประหารของเรือนจำกลางบางขวาง โดยการประหารชีวิตภายในเรือนจำเเห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2480 โดยเป็นการประหารชีวิตนายเขียน บุญกันสอน ในความผิดฐานสมคบคิดกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา[9] ซึ่งการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษทั้งหมดจะต้องดำเนินการประหารชีวิตภายในเรือนจำกลางบางขวาง โดยได้มีการสร้างห้องฉีดยาพิษไว้ตั้งเเต่ปี พ.ศ.2546 หลังจากที่ได้เปลี่ยนกฏหมายการยิงเป้ามาเป็นการฉีดสารพิษ โดยในห้องประหารมีเตียงประหาร 2 เตียง ซึ่งจะใช้เตียงทั้งสองพร้อมกันหากมีการประหารชีวิตพร้อมกัน

 
ประตูแดงบริเวณวัดบางแพรกใต้ซึ่งเป็นจุดที่เรือนจำนำศพของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตออกจากเรือนจำกลางบางขวาง

ซึ่งหลังจากการประหารชีวิตศพนักโทษประหารจะถูกใส่ในช่องเก็บศพเเล้วนำร่างออกจากประตูเเดงหรือประตูผีของวัดบางแพรกใต้ในวันรุ่งขึ้น โดยในการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรกของประเทศไทยได้ใช้ห้องยิงเป้าเดิมในการประหารชีวิต[10] โดยห้องประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษถูกสร้างขึ้นหลังจากนั้น โดยแบบของห้องประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษห้องใหม่ถูกจำลองมาจากห้องประหารของหน่วยฮันต์สวิลล์ รัฐเท็กซัส ซึ่งห้องประหารชีวิตห้องนี้ถูกใช้ในการประหารชีวิตบัณฑิต เจริญวานิชและจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์เป็นครั้งแรก[11][12]

รายนามผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง

แก้
  1. อำมาตย์เอก พระยาอาชญาจักร์ (บุญมา โรจนวิภาต)
  2. พลตรี ขุนจำนงภูมิเวท (จำนง ศิวแพทย์)
  3. พลตำรวจตรี ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีศรากร)
  4. พันโท หลวงเจนกลรบ (อินทร์ จารุจารีตธ์)
  5. พันตำรวจเอก หลวงรักษาสุขศานต์ (รักษา วาสิกานนท์)
  6. พันตำรวจโท หลวงฤทธิสรไกร (ศิริ ฤทธิ์สรไกร)
  7. ขุนพิสิฐนนทเดช (บุญมี มกรเสน)
  8. ขุนนิยมบรรณสาร (นิยม ศรนิยม)
  9. นายทองธัช สากิยลักษณ์
  10. นายบุญยฤทธิ์ นาคีนพคุณ
  11. นายสมัย บุนนาค
  12. นายสลับ วิสุทธิมรรค
  13. นายวิจิตร ทองคำ
  14. นายหาญ พันธุ์สมบุญ
  15. นายถวิล ณ ตะกั่วทุ่ง
  16. นายสวัสดิ์ สรรเสริญ
  17. นายอรุณ ฤทธิมัต
  18. นายวิวิทย์ จุตปาริสุทธิ์
  19. นายเสน่ห์ เพ็ชรสม
  20. นายสุทธิ์ นุ่นสังข์
  21. นายสุระ พันธุสาคร
  22. นายพิทยา สังฆนาคิน
  23. นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์
  24. นายธนพัฒน์ จันทรปรรณิก
  25. นายประเสริฐ อยู่สุภาพ[13]

นักโทษที่มีชื่อเสียง

แก้

นักโทษปัจจุบัน

แก้
  • ประสิทธิชัย เขาแก้ว ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดในเหตุโจรกรรมร้านทองในจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2563 - ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งจะได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตจากการพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของรัชกาลที่ 10[14]
  • บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีฆาตกรรมชูวงษ์ แซ่ตั๊งและวีรชัย ศกุนตะประเสริฐและวางแผนให้นักโทษอีกคนลักพาตัวภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อแลกกับการให้บรรยินออกไปจากเรือนจำ แต่แผนดังกล่าวเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์สืบทราบได้ก่อน - ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งจะได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตจากการพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของรัชกาลที่ 10[15][16]
  • วันชัย เเสงขาว ฆาตกรที่ก่อเหตุข่มขืนเด็กหญิงอายุ 13 ปี เเล้วโยนลงจากหน้าต่างรถไฟขบวนที่ 174 ที่ตำบลวังก์พง เมื่อปี พ.ศ.2557 - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ก็ได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตจากการพระราชทานอภัยโทษใน พ.ศ. 2562 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 10[17][18]
  • นวัธ เตาะเจริญสุข ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานจ้างวานฆ่าสุชาติ โครตทุมซึ่งเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต[19][20]
  • เชาวลิต ทองด้วง หรือ เสี่ยแป้ง นาโหนด ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีคดีในชั้นศาลหลายคดี วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เขาถูกส่งตัวจากเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชไปรักษาทันตกรรมที่โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล เขามีอาการวูบหมดสติและขาอ่อนแรง แพทย์จึงอนุญาตให้เขาพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ในเวลา 01.00 น.ของวันถัดมาเขาได้สะเดาะตรวนออกขณะที่เจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์ไม่อยู่หน้าห้องแล้วหลบหนีออกจากโรงพยาบาลพร้อมกับผู้ช่วยเหลืออีก 3 ราย ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ได้อยู่ในศาลจากคดีพยายามฆ่าเจ้าพนักงานที่ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง ถูกจับกุมที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เนื่องจากไปทะเลาะกับผู้หญิงคนหนึ่ง ถูกส่งตัวกลับมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567 - ถูกส่งตัวจากเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชมาเรือนจำกลางบางขวางในวันที่ 5 มิถุนายน[21][22][23][24]
  • ซอ ลิน และเว พิว คนงานเข้าเมืองผิดกฎหมายชาวพม่าจากรัฐยะไข่ ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมฮันนาห์ วิตเธอริดจ์ และเดวิด มิลเลอร์ ที่เกาะเต่า เมื่อปี พ.ศ.2557 - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่มีการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตในปีพ.ศ. 2563 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 10[25][26]

นักโทษในอดีต

แก้
  • อธิป สุญาณเศรษฐกร นายแพทย์โรงพยาบาลรถไฟผู้ก่อเหตุจ้างวานฆ่านวลฉวี เพชรรุ่ง ซึ่งเป็นภรรยาในปี พ.ศ. 2502 ก่อนจะนำศพของนวลฉวีทิ้งลงจากสะพานนนทบุรีไปในแม่น้ำเจ้าพระยา - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษหลายครั้ง และพ้นโทษในวันที 20 ตุลาคม พ.ศ. 2515[27][28]
  • สมบัติ พัฒนากุล หรือ ฉายาไอ้โม่งบ้ากาม ผู้ข่มขืนต่อเนื่องและชิงทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงปี พ.ศ. 2518-2521 โดยเขายอมรับว่าข่มขืนคนอย่างน้อย 20 คน และปฎิเสธ 1 คน - ถูกตัดสินจำคุก 722 ปี และกักกันหลังพ้นโทษ 50 ปี แต่ลดโทษเหลือ 50 ปีตามกฎหมาย ต่อมาถูกย้ายไปยังสถานกักกันนครปฐมและพ้นโทษในช่วงปีพ.ศ. 2547-2548
  • เล็ก สุเคน หรือ ฉายาเป๋ อกไก่ ผู้ก่อเหตุข่มขืนและฆาตกรรมนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ห้องน้ำของโรงภาพยนตร์นิวยอร์ก ในย่านสะพานควาย เมื่อปี พ.ศ. 2525 - ถูกตัดสินประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์มีคำพิพาษาจำคุกตลอดชีวิตและศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกตลอดชีวิต ก่อนจะพ้นโทษในเวลาต่อมา[29]
  • สุขุม เชิดชื่น สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 7และนักธุรกิจ และตัดสินว่ามีความผิดฐานจ้างวานฆ่าแพทย์หญิงนิชรี มะกรสาร วิสัญญีแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬา เมื่อปีพ.ศ. 2539 ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ศาลฎีกาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต[30] โดยได้รับการลดโทษตามลำดับชั้นเหลือโทษจำคุก 22 ปี 6 เดือน 20 วัน และถูกย้ายไปเรือนจำกลางเขาบินและเรือนจำกลางคลองเปรม โดยเขาได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 รวมระยะเวลาจำคุก 17 ปี 2 เดือน 20 วัน[31][32][33][34]
  • เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ ฆาตกรรมปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เมื่อปี พ.ศ. 2544 - ถูกตัดสินประหารชีวิตเเต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดวันต้องโทษในปี พ.ศ. 2550 ก่อนจะได้การลดโทษอีก 2 ครั้งจนเหลือโทษจำคุก 13 ปี และได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558
  • วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ฆาตกรรมเเพทย์หญิง ผัสพร บุญเกษมสันติซึ่งเป็นภรรยาในปี พ.ศ. 2544 เเล้วนำไปทำลายศพ - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษหลายครั้งจนเหลือโทษ 10 ปี 9 เดือน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557[35][36]
  • เสริม สาครราษฎร์ ฆาตกรรมนักศึกษาเเพทย์เจนจิรา พลอยองุ่นซึ่งเป็นเเฟนสาวเมื่อปี พ.ศ. 2541 ก่อนจะทำลายศพ - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตและได้รับการลดโทษหลายครั้งก่อนจะพ้นโทษเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ 2555[37][38]
  • วิศิษฐ์ พึ่งรัศมี ผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บเงินค่าคุ้มครองจากพ่อค้าเเม่ค้าในตลาดไนท์บาซาร์และหัวหน้าซุ้มมือปืนภาคเหนือที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมชัยกร ไม้หอม เมื่อปี พ.ศ. 2539 เนื่องจากมือปืนรับจ้างเข้าใจผิดว่าชัยกรเป็นเกษม คำวงศ์ษา - ถูกตัดสินประหารชีวิตได้รับการลดโทษหลายครั้งก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี พ.ศ. 2558 [39][40][41]
  • ชลอ เกิดเทศ อดีตนายตำรวจชาวไทยที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในความผิดฐานสนับสนุนในการฆ่าดาราวดี ศรีธนะขัณฑ์และเสรี ศรีธนะขัณฑ์ซึ่งสืบเนื่องมาจากคดีเพชรซาอุ - ถูกตัดสินประหารเเต่ได้รับการลดโทษหลายครั้งก่อนจะได้รับการพักโทษในปี พ.ศ. 2556ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ
  • เรืองศักดิ์ ทองกุล ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดในการฆาตกรรมครอบครัวบุญทวี - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตก่อนจะได้รับอภัยโทษหลายครั้งจนถูกย้ายมายังเรือนจำกลางสงขลาและพ้นโทษในปี พ.ศ.2553[42][43]
  • วรยศ บุญทองนุ่ม นักร้องที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานมียาเสพติดไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพ(ยาอี) - ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี และได้รับการลดโทษลงเรื่อย ๆ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564
  • วิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือ ท็อป หรือฉายา มือปืนป็อปคอร์น ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนเล็กยาวยิงปืนเข้าไปในอาคารศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เพื่อสกัดผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ที่จะเข้ามาปะทะกัน ส่งผลให้มีได้รับบาดเจ็บ 6 คน[44] ก่อนที่อะแกว แซ่ลิ้ว หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บจะเสียชีวิตในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557 หลังจากอะแกวนอนอัมพาตเป็นเวลา 7 เดือน[45] - ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ให้การเป็นประโยชน์ต่อคดีจึงลดโทษเหลือจำคุก 37 ปี 4 เดือน ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลฎีกาพิพากษากลับจำคุก 37 ปี 4 เดือน[46][47] ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง เหลือโทษจำคุก 6 ปี 11 เดือน 14 วัน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565[48]
  • วอร์เรน เฟลโลว์ อดีตผู้จัดส่งยาเสพติดชาวออสเตรเลีย - ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเเละได้รับพระราชทานอภัยโทษก่อนได้รับการปล่อยตัวจากบางขวางเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2533
  • หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน อดีตนายเรืออากาศ และนักเขียน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏบวรเดช - ถูกตัดสินจำคุก 9 ปี แต่พ้นโทษหลังจากติดคุกเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากการพระราชทานอภัยโทษ
  • หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์) อดีตนายทหารบกผู้เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ให้งดเว้นการประหารชีวิตเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2487 เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
  • พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ให้งดเว้นการประหารชีวิตเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2487 เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ให้งดเว้นการประหารชีวิตเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2487 เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
  • ใบ สะอาดดี หรือ เสือใบ หรือฉายา สุภาพบุรุษเสือใบ อดีตโจรเมืองสุพรรณ และเป็นจอมโจรชื่อดังในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาลดโทษเหลือจำคุก 20 ปี ได้รับการปล่อยตัวในปี 2506 หลังจากถูกคุมขังมา 16 ปี

ถูกวิสามัญฆาตกรรม

แก้
  • สนอง ยืนยง หรือฉายา ขุนโจรสามล้าน ผู้ก่อเหตุร่วมกันปล้นและฆาตกรรมนายมัด บินฮันนิมะซึ่งเป็นคนขับรถขนเงินของธนาคารเอเชีย ที่ถนนราชดำเนินก่อนที่จะถึงสี่แยกวิสุทธิ์กษัตริย์ เมื่อปี พ.ศ.2503 - ถูกตัดสินประหารชีวิต โดยเป็นผู้นำในการแหกคุก เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2504 โดยสามารถถอดโซ่ตรวนและได้รับปืนเมาเซอร์ขนาด.38 ซึ่งพาบุญยืน แสงชมพู,เฉลิม กัปตันแดง,สำเนียง ต้นแขม และวัชระ ศรเพชรออกจากตึกขัง หลังจากนั้นเขาได้จี้ลำพวน พรภักดีให้นำกุญแจมาและใช้เป็นโล่มนุษย์ ก่อนจะจี้สุดใจ เฮงสมบูรณ์ให้นำชุดผู้คุมให้พวกเขาแล้วขังในห้องขังนักโทษประหาร ต่อมาทั้ง 6 คนได้เดินทางเข้ามายังหอรักษาการเจ็ดชั้น แต่ทว่าทุ้ม แสงบัวจำหน้าเขาได้จึงตะโกนเรียกชื่อเขา สนองจึงยิงทุ้มจนเสียชีวิต หลังจากนั้นได้เกิดการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ ส่งผลให้สนองและวัชระถูกยิงเสียชีวิต ส่วนบุญยืน, เฉลิมและสำเนียงสามารถหลบหนีไปได้[49][50][51]

หลบหนีจากเรือนจำโดยยังไม่ถูกจับกุม

แก้
  • เฉลิม กัปตันแดง อดีตมือขวาของกังวาน วีระนนท์ และนักฆ่า ผู้ร่วมกับลี อยู่พงษ์ ก่อเหตุฆาตกรรมยกครัวด้วยมีดและสากตำข้าว ที่อำเภอไทรโยค เมื่อปีพ.ศ. 2504 ส่งผลให้มีผู้เสีย 6 คนรวมถึงหญิงตั้งครรภ์ โดยการฆาตกรรมครั้งนี้มาจากการจ้างวานฆ่าจากทองสาย สุริยา - ถูกตัดสินประหารชีวิตพร้อมกับลี แต่เขาร่วมการแหกคุกของสนอง ยืนยง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2504 โดยสนองกับวัชระถูกยิงเสียชีวิตขณะยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำที่หอรักษาการเจ็ดชั้น ส่วนเฉลิม, สำเนียงและบุญยืนสามารถหลบหนีไปได้สำเร็จ โดยถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ที่ป่าในจังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย ส่วนลีถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2504 โดยเฉลิมนับเป็นนักโทษเพียงคนเดียวที่สามารถแหกคุกของเรือนจำกลางบางขวางแล้วไม่สามารถถูกจับกุมกลับมาได้จนถึงปัจจุบัน[52][53][54]

เสียชีวิตในเรือนจำ

แก้
  • บุญเกิด กฤษบำรุง บาทหลวงชาวนครปฐมผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏภายนอกราชอาณาจักร - ถูกตัดสินจำคุก 15 ปีและถึงแก่มรณกรรมในเรือนจำด้วยวัณโรคเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487 หลังจากติดคุกได้ 3 ปี
  • ประชา พูนวิวัฒน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปไตยผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย - ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เสียชีวิตในสถานพยาบาลของเรือนจำ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2541
  • กังวาน วีระนนท์ หรือฉายา เจ้าพ่อบางนกแขวก ผู้มีอิทธิพลเก็บค่าผ่านทางเรือที่ผ่านคลองดำเนินสะดวกและแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่ตำบลบางนกแขวก โดยเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นและฆาตกรรมหลายคดี รวมถึงการจ้างวานฆ่าทนายความบุญเชิด ศุภมณี และประสิทธิ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร แล้วนำศพไปทิ้งเหวที่อำเภอเขาย้อย[55] โดยเขาถูกจับกุมที่บ้านริมคลองหลอดข้างวัดบุรณศิริมาตยาราม เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ถูกตำรวจตั้งข้อหา 28 คดี - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เสียชีวิตในสถานพยาบาลของเรือนจำ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2515[56][57]

ถูกประหารชีวิต

แก้
  • ธีรศักดิ์ หลงจิ ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมดนุเดช สุขมากด้วยการแทงจำนวณ 24 แผลเพื่อชิงทรัพย์ในจังหวัดตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2555 - ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561
  • หล่ง ยินดี หรือฉายา เจ้าพ่อร่องช้าง หัวหน้ามือปืนรับจ้างผู้ร่วมกับปาน ฤือชัย และ เสา บัวเขียวก่อเหตุฆาตกรรมสุริยัน ส่องแสง นักร้องเพลงลูกทุ่งที่สนามโรงเรียนบ้านจำป่าหวาย อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ปานกับเสาได้ซัดทอดไปยังสังข์ทอง สีใส นักร้องเพลงลูกทุ่งว่าเป็นผู้จ้างวาน แต่ตำรวจไม่ได้ดำเนินคดีกับสังข์ทองเนื่องจากขาดหลักฐาน หล่งถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนปานกับเสาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และหล่ง, ปานและเสา ยังถูกตัดสินประหารชีวิตในคดีฆาตกรรมคหบดีจังหวัดพะเยา- ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2530 ส่วนปานกับเสาได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตจากการพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมาและคาดว่าจะถูกปล่อยตัวแล้ว[58]
  • พันธ์ สายทอง ผู้ก่อเหตุข่มขืนและสังหารเด็กหญิงอายุ 5 ขวบในห้องน้ำของโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2539 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542
  • ณรงค์ ปิ่นแก้ว, สำราญ ปิ่นแก้ว และ หลี แดงอร่าม ก่อคดีร่วมกันปล้นฆ่าชิงสร้อยพ่อค้าปลาสด และยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บในพื้นที่ตลาดลาดพร้าวสะพาน 2 เมื่อปี พ.ศ.2523 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2527
  • สมศักดิ์ ฉั่วตระกูล ผู้ก่อเหตุชิงทรัพย์และฆาตกรรม 2 นักศึกษาสาวพี่น้องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2526 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2528
  • ละมัย โพธิ์สุวรรณ หรือฉายา ไอ้ม้าซาดิสต์ ผู้ก่อเหตุข่มขืนและทุบตีแพทย์หญิงวัลยา เมฆสุดอย่างรุนแรงในบ้านที่กำลังก่อสร้างในหมู่บ้านทิพวัล๑ เป็นเหตุให้เธอไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2527
  • พรหมมาศ เลื่อมใส ฆาตกรผู้ก่อเหตุฆาตกรรมคน 3 คนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดชลบุรี ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2531 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2539[59][60][61]
  • จ.ส.ต. สุพจน์ เพ็งคล้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรป่าพยอม ผู้ก่อเหตุยิงจีรพงศ์ ไข่ขาว เนื่องจากต่อว่าที่เขาเอาอาวุธปืนมาขู่ แล้วยิงวนันญา สุวรรณพยัคฆ์เนื่องจากส่งเสียงกรีดร้อง ก่อนจะยิงวิทยา หนูเอียดจนเสียชีวิตเพราะขอให้หยุดยิงแล้วยิงวนัญญาซ้ำอีกนัด และยังได้ขว้างระเบิดมือใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขัดขวางการจับกุมส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บหลายนาย - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2541[62][63][64]
  • สมศักดิ์ พรนารายณ์หรืออีกชื่อศักดิ์สิทธิ์ คำใส ฆาตกรต่อเนื่องชาวลาวที่ปลอมแปลงสัญชาติเเละหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งได้ก่อเหตุข่มขืนและพยายามฆ่าคนขับรถสามล้อเครื่องในอำเภอเมืองเลยเมื่อเดือนมิถุนายน 2538 และข่มขืนเละสังหารเด็กหญิงอายุ 15 ปีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538 ในอำเภอเชียงคานซึ่งก่อนการประหารชีวิตเขาได้สารภาพว่าข่มขืนผู้หญิงหลายคนและยังได้ฆาตกรรมผู้หญิง 2 คนในประเทศลาว - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542[65][66]
  • เดชา สุวรรณสุก ผู้ก่อเหตุข่มขืนและสังหารลูกสาวของตัวเองอายุ 4 ขวบที่บ้านพักของโรงไม้แห่งหนึ่งในเขตมีนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2539 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2542[67]
  • อำนาจ เอกพจน์ ผู้ก่อเหตุลอบสังหารไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ด้วยอาวุธมีดเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยมีนายนิรันดร เรืองกาญจนเศรษฐ์ บุตรชายคนโตเป็นผู้บงการ เเต่นิรันดรก็ฆ่าตัวตายก่อนถูกจับกุม - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2542
  • สมคิด นามแก้ว ผู้ค้ายาเสพติดที่ลักลอบขนยาบ้าจำนวน 406,000 เม็ด เพื่อนำไปส่งให้ผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกจับกุมที่จังหวัดแพร่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2540 ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2544 นับเป็นนักโทษคดียาบ้ารายแรกของประเทศไทยที่ถูกประหารชีวิต
  • ตะปอยโฮ ชาวกะเหรี่ยงผู้ก่อเหตุฆาตกรรมยกครัวครอบครัวของอดีตภรรยาตนเองที่อำเภอสีคิ้วด้วยขวานเมื่อปี พ.ศ. 2539 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2542
  • ลี ยวน กวง ชาวฮ่องกงที่ลักลอบขนยาเสพติดร่วมกับ ชู ชิน กวย และ บุญเกิด จิตปรานี - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2544[68]
  • ชู ชิน กวย ชาวไต้หวันที่ลักลอบขนยาเสพติดร่วมกับ ลี ยวน กวง และ บุญเกิด จิตปรานี - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2544[69]
  • บุญเกิด จิตปรานี ชาวไทยที่ลักลอบขนยาเสพติดร่วมกับ ลี ยวน กวง และ ชู ชิน กวย - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2544[70]
  • ถวิล หมั่นสาร อดีตข้าราชการครู ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมยกครัวครอบครัวของภรรยาตนเองที่จังหวัดบุรีรัมย์เมื่อปี พ.ศ. 2542 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2545 อนึ่ง ถวิล หมั่นสาร ถูกนำไปอ้างอิงในนิทานพื้นบ้านเรื่อง ทองปานลิ้นดำ โดยผู้เขียนนำภาพของถวิลในขณะที่พี่เลี้ยงนำตัวไปประหารจากหน้าหนังสือพิมพ์ไปใช้เป็นภาพของทองปาน
  • จาย ส่างออ, กุลชนก อินเทศราช และเนตรน้อย ส่างคิด 3 ชาวไทใหญ่ที่ลักลอบขนยาบ้าจำนวนมากจากภาคเหนือเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2545
  • ส้มเกลี้ยง สร้อยพลาย ผู้ก่อเหตุข่มขืนและสังหารลูกสาวของตัวเองอายุ 10 ขวบแล้วนำศพหมกป่าโดยใช้เชือกกระเป๋ารัดคอแล้วแขวนกับต้นไม้ที่จังหวัดกำแพงเพชรเมื่อปี พ.ศ. 2543 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2545
  • สุดใจ ชนะ ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมอธิป บุญร่วม ผู้รับจ้างกรีดยางขณะกรีดยางพร้อมกับภรรยาที่สวนยางพาราในอำเภอทุ่งตะโก เมื่อปี พ.ศ. 2541 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2545 และเป็นบุคคลสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทย[71][72]
  • บุญลือ นาคประสิทธิ์ ผู้ค้ายาเสพติดผู้ร่วมกับพันพงษ์ สินธุสังข์ และวิบูลย์ ปานะสุทธะ ใช้โรงงานไทย-เยอรมันกลูโคสผลิตยาบ้าเป็นจำนวนมาก ถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2541 - ถูกประหารชีวิตพร้อมกับพันพงษ์ด้วยการฉีดสารพิษเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ส่วนวิบูลย์ถูกประหารชีวิตในวันเดียวกันหลังจากบุญลือ โดยการประหารชีวิตครั้งนี้นับเป็นการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรกของประเทศไทย[73][74] [75]
  • บัณฑิต เจริญวานิชและจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ ผู้ที่กระทำความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่1ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย - ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552[76][77]
  • สังข์ สว่างใจ อดีตพระของวัดรางบัว ผู้ก่อเหตุใช้ปืนลูกซองกราดยิงพระสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ. 2481 เป็นเหตุให้มีพระสงฆ์มรณภาพ 2 รูป และได้รับบาดเจ็บ 3 รูป โดยมีแรงจูงใจจากการถูกจับได้ว่ากระผิดวินัยสงฆ์ถึงขั้นปราชิกจากการไปมีเพศสัมพันธ์กับเด็กวัด และถูกไล่ออกจากวัด - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2482(ก่อนปี พ.ศ.2483 วันขึ้นปีใหม่ของไทยคือวันที่ 1 เมษายน)[78]
  • ซีอุย ชาวจีนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดว่าฆาตกรรมเด็กชายสมบูรณ์ บุญยกาญจน์ที่จังหวัดระยองในปี พ.ศ. 2501 ซึ่งตำรวจสืบสวนซีอุยคำรับสารภาพจากซีอุยว่าก่อคดีอีกอย่างน้อย 6 คดีในช่วงปี พ.ศ. 2497–2501 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2502 แต่ความผิดจริงก็เป็นที่ถกเถียงกันมาก
  • ลี อยู่พงษ์ ร่วมกับเฉลิม กัปตันแดงฆ่ายกครัวครอบครัวช่างเจริญ ที่อำเภอไทรโยค เมื่อปี 2504 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2504 [79]
  • บุญยืน แสงชมพู ชาวตำบลศรีพูนผู้ก่อเหตุขว้างวัตถุระเบิดใส่เสียโอ๊วผู้มีอิทธิพลในภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 31 คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เขาสามารถแหกคุกที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ 2 ครั้ง - ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งเขาร่วมการแหกคุกของสนอง ยืนยงเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2504 โดยสนองกับวัชระถูกยิงเสียชีวิตขณะยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำที่หอรักษาการเจ็ดชั้น ส่วนเฉลิม, สำเนียงและเขาสามารถหลบหนีไปได้สำเร็จ ต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2505 เวลา 04.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกขึ้นไปที่บ้านญาติของเขาในบ้านเจดีย์เจ็ดยอด อำเภอเมืองเชียงราย โดยพบเขากำลังนอนกับเมียอยู่ เขาได้พยายามแยงปืนจากตำรวจแต่ก็ถูกตำรวจใช้พานท้ายปืนฟาดที่ศีรษะ ส่งผลให้เขาวิ่งจากบ้าน แต่ก็ถูกตำรวตไล่ตามและยิงขู่จนเขายอมจำนน เขาถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2506[80][81]
  • ธวัช สุธากุล หรือฉายาเปี๊ยก เฉลิมไทย หัวหน้ากลุ่มโจรในพื้นที่จังหวัดชลบุรีซึ่งก่อเหตุปล้นฆ่าหลายครั้ง เขาเคยถูกจับกุมจากคดีปล้นฆ่า 2 ครั้งแต่ก็ถูกยกฟ้องเพราะหลักฐานอ่อน ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2512 เขาได้ร่วมกับสมศักดิ์และพวกก่อคดีทำร้ายร่างกายสุชาติ วงษ์นาวิน และปล้นทรัพย์ ที่เขาสามมุข ก่อนจะลักพาตัวสุภาพรรณ รัตนะทายะ แฟนสาวของสุชาติ ไปข่มขืน และฆาตกรรมที่อ่างเก็บน้ำบางพระ - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515
  • สมศักดิ์ ปาทาน มือขวาของธวัช สุธากุล ผู้ก่อเหตุร่วมกับธวัชและพวกก่อคดีทำร้ายร่างกายสุชาติ วงษ์นาวิน และปล้นทรัพย์ ที่เขาสามมุข ก่อนจะลักพาตัวสุภาพรรณ รัตนะทายะ แฟนสาวของสุชาติ ไปข่มขืน และฆาตกรรมที่อ่างเก็บน้ำบางพระ - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515
  • จำเนียร จันทรา, ธนูชัย มนตรีวัต และ สนอง โพธิ์บาง ร่วมกันตระเวนล้วงกระเป๋าตามรถเมล์สายต่างๆ และฆาตกรรมพลเมืองดีที่มาขัดขวางไป 2 ราย ในปี พ.ศ.2515 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2515
  • ประเสริฐ ฉิมเจริญ ผู้ก่อเหตุข่มขืนฆาตกรรมจิตรดา ปานจ้อย ที่เทศบาลนครอ้อมน้อย เมื่อปีพ.ศ. 2525 ถูกตัดสินประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีเพียง 11 วัน - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 อนึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617/2526 ซึ่งเป็นฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ในประเด็นที่ว่าจำเลยสมัครใจดื่มสุราเองและขณะกระทำความผิดก็มีความรู้ผิดชอบเป็นอย่างดีจะอ้างว่าได้กระทำความผิดไปด้วยความไร้สติ ไม่รู้ผิดรู้ชอบและไม่สามารถบังคับตนเองได้อันเนื่องมาจากจำเลยดื่มสุรา ศาลฎีกาได้เห็นว่าไม่สามารถเป็นประเด็นที่ลดโทษได้
  • พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ ผู้นำการก่อการกบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520และใช้ปืนยิง พล.ต. อรุณ ทวาทศิน จนเสียชีวิตขณะพยายามเเย่งปืน - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2520 และกบฏคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตจนถึงปัจจุบัน
  • หลวงมหิทธิโยธี (สุ้ย ยุกตวิสาร) ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรีที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏในกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2482
  • ณเณร ตาละลักษณ์ อดีตนายทหาร, นักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏในกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2482
  • ลี บุญตา คนรับใช้ในบ้านของหลวงพิบูลสงครามที่ใช้ปืนไล่ยิงหลวงพิบูลสงครามถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏในกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2482
  • ศุภชัย ศรีสติ ผู้นำสภาคนงานแห่งประเทศไทยที่ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยอำนาจมาตรา 17 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม พ.ศ. 2502[82]
  • รวม วงศ์พันธ์ สมาชิกกรรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์และถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยอำนาจมาตรา 17 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2504[83][84]
  • ชิต สิงหเสนี มหาดเล็กที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจาการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498
  • บุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กห้องบรรทมที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจาการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498
  • เฉลียว ปทุมรส สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนและราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจาการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. รู้ไหมเอ่ย ! เรือนจำแต่ละแห่งมีอำนาจคุมขังกี่วัน
  2. "ประวัติเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-23. สืบค้นเมื่อ 2024-02-10.
  3. กำเนิดกรมราชทัณฑ์ เรือนจำกลางบางขวาง-คลองเปรม และการเลิกธรรมเนียมเก็บเงินนักโทษ
  4. "สถานที่ประหารชีวิตด้วยปืน!". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-09-14. สืบค้นเมื่อ 2003-09-14.
  5. ไม่มีใครกล้ารื้อ ศาลเจ้าพ่อแขก จุดยิงเป้านักโทษ สมัยจอมพลถนอม
  6. “ครอง จันดาวงศ์” นักต่อสู้ ปชต. เจ้าของวาทะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”
  7. "อาถรรพณ์ 319 ดวงวิญญาณ มนต์ขลังคุกบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-12. สืบค้นเมื่อ 2006-03-26.
  8. สถิติการประหารชีวิต เก็บถาวร 2009-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เรือนจำกลางบางขวาง, สืบค้นวันที่ 19 พ.ย. 2552
  9. การซ้อนทับจับวางของวาทกรรมทัณฑวิทยา: วงศาวิทยาของการใช้โทษประหารและความรุนแรงเพื่อการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทยหน้าที่ 116 - 118
  10. "การประหารด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรกของประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-16. สืบค้นเมื่อ 2024-02-25.
  11. เปิดประตู...คุกบางขวาง เรื่อง(ไม่)ลับ...หลัง "แดนประหาร"
  12. เปิดห้องประหาร...! ดินแดนสุดท้ายของนักโทษ ก่อนหมดลม [คลิป]
  13. "ประวัติยานุสรณ์ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-24. สืบค้นเมื่อ 2024-02-03.
  14. พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567
  15. พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567
  16. อธิบดีราชทัณฑ์ เผย บรรยิน นช.คดีฆ่า ได้รับพระราชอภัยโทษ67 ลดโทษประหาร เหลือจำคุกตลอดชีวิต
  17. 'วันชัย'นักโทษคดีฆ่าข่มขืนเข้าคุกบางขวางแล้ว
  18. ร.10 โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขัง ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  19. เรือนจำ ย้ายลับ "นวัธ" ขังบางขวาง
  20. “นวัธ”อดีต ส.ส.เพื่อไทยรอดถูกประหารชีวิตศาลฏีกาแก้โทษจำคุกตลอดชีวิต
  21. เฉลยแล้ว! สาเหตุ ‘เสี่ยแป้ง’ ทำไม ‘สะเดาะตรวน’ หนีออก รพ. ได้... สามารถ
  22. ส่อง "คุกบางขวาง" เรือนจำความมั่นคงสูง ขัง "แป้ง นาโหนด"
  23. ศาลจำคุกตลอดชีวิต "เสี่ยแป้ง นาโหนด" กับพวก คดีพยายามฆ่าเจ้าพนักงา���
  24. ย้อนประวัติอาชญากรรม “เสี่ยแป้ง” 16 ปี ก่อวีรกรรม 11 คดี
  25. จบคดีเกาะเต่า ฎีกาพิพากษายืน "ประหาร 2 หนุ่มพม่า" ฆ่า-ข่มขืน
  26. คดีเกาะเต่า : แม่นักโทษชาวเมียนมาคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวอังกฤษหวังพึ่งพระบารมี ร.10 ต่อชีวิตลูกชาย
  27. 12 ก.ย.2502 พบร่าง นวลฉวี "ใบสั่งตาย" จากหมอคนรัก
  28. "หมออธิป". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 21 October 1972. p. 16.
  29. ย้อนคดีในตำนาน ‘เป๋ อกไก่’ ฆาตกรฆ่า ข่มขืน นศ.สาวคาห้องน้ำโรงหนัง
  30. ปิดฉาก! ศาลฎีกาสั่งประหาร'สุขุม เชิดชื่น' อดีตสว.จ้างฆ่า'หมอนิชรี'
  31. พักโทษ! อดีตส.ว.โทษประหาร พ้นเรือนจำแล้ว
  32. พักโทษ พ้นคุก ‘สุขุม เชิดชื่น’ อดีตส.ว.โทษประหาร คดีจ้างวานฆ่าหมอรพ.จุฬา
  33. เสาร์-อาทิตย์ นี้ ปล่อยตัวจำเลย 2 คดีดัง "สรยุทธ"อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง-"สุขุม เชิดชื่น" อดีต ส.ว.
  34. ย้อนคดี ย้อนอดีตตัวตน “สุขุม เชิดชื่น”จ้างวานสังหาร พญ. ถึง “ประหารชีวิต!”
  35. ย้อนรอยคดี “นพ.วิสุทธิ์” ฆาตกรรมซ่อนเงื่อนฆ่าหั่นศพเมีย
  36. '4 คดีฆ่าหั่นศพ สุดโจษจัน' จากปากนักสืบมือฉมัง เล่าพฤติกรรมโหดไขปมจับ!
  37. เลือดสาดกระเซ็น! รวม 2 คดีสยองขวัญ ฆ่าหั่นศพในตำนาน อำมหิตเล่าขานไม่รู้ลืม
  38. "เสริม สาครราษฎร์" ออกคุกแล้ว
  39. สิ้นลมแล้ว! 'วิศิษฐ์ พึ่งรัศมี' ป่าไม้คนดัง-จำเลยฆ่า 'ผอ.แสงชัย'
  40. ฎีกายืนประหารป่าไม้ทมิฬ จ้างฆ่าผิดตัว!
  41. ล้างมาเฟียบางขวาง เหิม”จ้างฆ่าอธ.
  42. ย้อน 4 คดี "ฆ่ายกครัว"
  43. ย้อนคดีสุดเหี้ยม ฆ่าเรียง 5 ศพ เชือกแขวน ยิ้มสะท้าน 'ศักดิ์ ปากรอ'
  44. นครบาลแจงเหตุปะทะหลักสี่ เจ็บ6ราย
  45. ใครคือ ‘ลุงอะแกว’ เหยื่อกระสุนเหตุการณ์ มือปืนป๊อปคอร์น ฮีโร่อิติปิสวนภควา
  46. ย้อนเหตุ "มือปืนป๊อปคอร์น" ยิงสนั่นแจ้งวัฒนะ เวทีพุทธะอิสระ ลุงกำนันเคยเอ่ยชม!
  47. ชุมนุม สาดกระสุน นองเลือด! ย้อนคดี 'มือปืนป๊อปคอร์น' ยิงสนั่นกลางแยกหลักสี่
  48. ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว หลังได้รับอภัยโทษ
  49. เปิดตำนานคดีประวัติศาสตร์ !!! กลุ่มโจรสุดอุกอาจที่สุดแห่งยุค ผู้กล้าลูบคม จอมพลสฤษดิ์ !!! การปล้นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทย !!!
  50. หนังสือแหกคุก มหันตโทษบางขวาง โดยอรรถยุทธ พวงสุวรรณ
  51. ย้อนตำนาน "นักโทษประหาร" แหกคุกไทย ปิดฉาก "แป้ง นาโหนด"
  52. หนังสือพิมพ์อาณาจักรไทย วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ราคา 1 บาท
  53. หนังสือแหกคุก มหันตโทษบางขวาง โดยอรรถยุทธ พวงสุวรรณ
  54. ย้อนตำนาน "นักโทษประหาร" แหกคุกไทย ปิดฉาก "แป้ง นาโหนด"
  55. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายบุญเขต ศุภมณี และนายประสิทธิ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร
  56. กังวาน วีระนนท์ เจ้าพ่อบางนกแขวก
  57. "สิ้นลมสลบในเรือนจำกลางบางขวาง". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 17 October 1972. p. 16.
  58. เป็นคุ้งเป็นแคว อาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2560
  59. Thailand: further information on: fear of imminent execution: Prommas Leamsai
  60. Informe Sobre El Deute Extern a L'estat Espan หน้าที่319-321
  61. Thailand: Fear of imminent execution: one unnamed prisoner
  62. Thailand: Execution / Fear of further executions: Supoj Pengklai
  63. THAILAND A human rights review based on the International Covenant on Civil and Political Right
  64. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3931/2539
  65. พลิกแฟ้ม5นักโทษประหารคดีฆ่าข่มขืน
  66. "สมศักดิ์ พรนารายณ์นักข่มขืนจากลุ่มน้ำโขง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-05. สืบค้นเมื่อ 2023-03-05.
  67. เดชา สุวรรณสุก "ผมไม่ได้ทำน้องนุ่น"
  68. Thai executions condemned
  69. Eyewitness: Thailand's public executions
  70. Eyewitness: Thailand's public executions
  71. หนังสือพิมพ์มติชน หน้าที่ 10 เรื่อง “เอาแน่ 'ประหาร' แบบใหม่ เลิกปุปุ-ฉีดสารพิษแทน”, (25 พฤศจิกายน 2545)
  72. การซ้อนทับจับวางของวาทกรรมทัณฑวิทยา: วงศาวิทยาของการใช้โทษประหารและความรุนแรงเพื่อการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทยหน้าที่ 108 - 110
  73. บางขวางฉีดยาประหาร 2 นักโทษค้ายา!
  74. " พระนักเทศน์... นักโทษประหาร... เพชฌฆาต "
  75. "การประหารด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรก ของประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-16. สืบค้นเมื่อ 2024-02-25.
  76. "เข็มฉีดยา"..จุดจบนักค้ายา
  77. เปิดแฟ้ม 7 คดีดัง “โทษประหาร” บ้างตาย บ้างรอชดใช้กรรม
  78. หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481
  79. หนังสือแหกคุก มหันตโทษบางขวาง โดยอรรถยุทธ พวงสุวรรณ
  80. ย้อนตำนาน "นักโทษประหาร" แหกคุกไทย ปิดฉาก "แป้ง นาโหนด"
  81. หนังสือแหกคุก มหันตโทษบางขวาง โดยอรรถยุทธ พวงสุวรรณ
  82. ประหารชีวิต "ศุภชัย ศรีสติ" วิศวะนักเรียนนอก วัย 34ปี ปลุกระดมต้านรัฐบาล
  83. การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2501-2506
  84. รวม วงษ์พันธ์[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้