ธงไชย แมคอินไตย์

นักร้องและนักแสดงชาวไทย (เกิด พ.ศ. 2501)
(เปลี่ยนทางจาก เบิร์ด ธงไชย)

ธงไชย แมคอินไตย์ (เกิด 8 ธันวาคม พ.ศ. 2501) ชื่อเล่น เบิร์ด เป็นนักร้องและนักแสดงชาวไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. 2565[1][2] ได้รับขนานนามว่าเป็น "ซูเปอร์สตาร์ของเมืองไทย"[3][4] มีผลงานที่สร้างชื่อเสียงยาวนานมากกว่า 30 ปีในวงการบันเทิง[5]

ธงไชย แมคอินไตย์

เกิดธงไชย แมคอินไตย์
8 ธันวาคม พ.ศ. 2501 (66 ปี)
อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันคือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ชื่ออื่นอัลเบิร์ต แมคอินไตย์
ศิษย์เก่าวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี
อาชีพ
  • นักร้อง
  • นักแสดง
  • นักพากย์
  • พิธีกร
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2526–ปัจจุบัน
ผลงานเด่นบูม เมอแรง
คู่กรรม
พริกขี้หนู
ชุดรับแขก
แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์
โทรทัศน์7 สีคอนเสิร์ต
บิดามารดา
  • เจมส์ แมคอินไตย์ (บิดา)
  • อุดม แมคอินไตย์ (มารดา)
รางวัลรายชื่อรางวัลที่ธงไชย แมคอินไตย์ได้รับ
อาชีพทางดนตรี
แนวเพลง
เครื่องดนตรีเสียงร้อง
ช่วงปีพ.ศ. 2529–ปัจจุบัน
ค่ายเพลงจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (พ.ศ. 2529 - 2566)
จีเอ็มเอ็ม มิวสิค (พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน)
ลายมือชื่อ

เขาเริ่มต้นเข้าสู่วงการเพลงจากการประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ของสยามกลการ ในปี พ.ศ. 2527 และได้รับรางวัลนักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากล ต่อมาได้เซ็นสัญญาเป็นนักร้องในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (ต่อมาถูกย้า���ไปอยู่ในสังกัดจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ตามการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง) ซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุดของประเทศไทย[6] มียอดจำหน่ายอยู่ในระดับแนวหน้าของทวีปเอเชีย[7] รวมมากกว่า 25 ล้านชุด[8][9] มีสตูดิโออัลบั้มเดี่ยวที่มียอดจำหน่ายเกินล้านตลับมากที่สุด 7 ชุด[10] และมีอัลบั้มพิเศษที่ยอดจำหน่ายเกินล้านตลับอีก 2 ชุด[11]

ผลงานโดดเด่น 3 ลำดับแรกของเขา ได้แก่ อัลบั้ม บูมเมอแรง (พ.ศ. 2533) เป็นศิลปินคนแรกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่มียอดจำหน่ายเกิน 2 ล้านตลับ[12] ประกอบกับความสำเร็จด้านการแสดงในบทโกโบริในละคร คู่กรรม (พ.ศ. 2533) เป็นละครที่มีเรตติ้งสูงที่สุดในประเทศไทย[13] ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "เบิร์ดฟีเวอร์"[14] ทั้งวงการเพลงและวงการละคร[15]ต่อเนื่องด้วยอัลบั้ม พริกขี้หนู (พ.ศ. 2534) มียอดจำหน่ายรวมมากกว่า 3.5 ล้านตลับ เป็นสถิติยอดจำหน่ายสูงที่สุดของยุค 90[16] และต่อมาอัลบั้ม ชุดรับแขก (พ.ศ. 2545) มียอดจำหน่ายมากกว่า 5 ล้านชุด เป็นอีกปรากฏการณ์ที่อัลบั้มมียอดจำหน่ายสูงที่สุดของประเทศไทย[17][18]

จากชื่อเสียงที่ยาวนานทำให้สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยได้ให้ฉายาธงไชยว่า "ดาวค้างกรุ" (พ.ศ. 2548)[19] และ "ป๋าพันปี" (พ.ศ. 2550)[20] และส่วนหนึ่งจากการสำรวจความนิยมพบว่าเขามีภาพลักษณ์สำคัญคือ ความกตัญญู ความสามารถในการร้องเพลง การพัฒนาตนเอง ความสามารถในการให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม และการเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นต้น[21]

ปฐมวัย

แก้

จากบทสัมภาษณ์ของธงไชย เกิด 8 ธันวาคม พ.ศ. 2501[22][23] (ตามบัตรประชาชน 28 ธันวาคม พ.ศ. 2501)[1] แจ้งเกิดช้า 20 วัน โดยอาศัยอยู่ที่ย่านสลัมบางแค (เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอภาษีเจริญหรือเขตภาษีเจริญในปัจจุบัน) ฝั่งธนบุรี จังหวัดธนบุรี มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "อัลเบิร์ต แมคอินไตย์" (Albert McIntyre) หรือเรียกชื่อเล่นว่า "เบิร์ด" เป็นบุตรคนที่ 9 ในจำนวนพี่น้อง 10 คน ของเจมส์ (จิมมี่) แมคอินไตย์ ซึ่งเป็นทหารเสนารักษ์สังกัดกองแพทย์ทหารบก ลูกครึ่งสกอต-มอญ และอุดม แมคอินไตย์ ครอบครัวของเขาค่อนข้างยากจน ในวัยเด็กธงไชยช่วยเหลือครอบครัวโดยการช่วยพับถุง ขายเรียงเบอร์ เก็บกระป๋องนมขาย และเย็บงอบ เป็นต้น นอกจากนั้นยังหารายได้จากการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กที่สลัมบางแคซึ่งมีรายได้ 5 ถึง 10 บาท แล้วแต่จะบริจาค[24] โดยธงไชยเล่าถึงแง่คิดชีวิตวัยรุ่นตอนที่อาศัยอยู่สลัมบางแคว่า "สอนและให้เราสอบผ่านให้ได้ทุกวัน การเรียนรู้และการแบ่งแยกความคิดไปในทางที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างพร้อม คนเราจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับตัวเราเท่านั้น"[25] เขาชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็ก ได้เข้าร่วมประกวดในเวทีงานวัดต่าง ๆ และเคยได้รางวัล โดยฝึกร้องและสอนกันเองในครอบครัว[26] จากฝีมือการเล่นดนตรีของพี่น้อง 7 คน จึงรวมตัวเล่นดนตรีมีชื่อวงว่า "มองดูเลี่ยน"[24]

ธงไชยศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดนิมมานรดี ระหว่างนั้นก็รับเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือครูในกิจกรรมร้องรำทำเพลงต่าง ๆ เสมอ และเป็นคนร่าเริง กล้าแสดงออก[27] ต่อมา ศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนปัญญาวรคุณ[28] เขาสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาการจัดการ ที่วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี[29] ทั้งนี้ภายหลังจากเขาเข้าวงการบันเทิง และประสบความสำเร็จ เขาได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ 2 ครั้ง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้แก่ ปริญญากิตติมศักดิ์ คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์[30] และ ปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดนตรีคีตศิลป์สากลศึกษา) [31]

วงการบันเทิง

แก้

แรกเข้าจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่และงานแสดงช่วงแรก

แก้

ระหว่างที่ธงไชยทำงานอยู่แผนกต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทย สาขาท่าพระ เขายังทำงานเสริมอื่น ๆ เช่น ถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา รวมถึงเป็นพนักงานเปิดประตูในดิสโก้เธคชื่อ ฟามิงโก ในโรงแรมแอมบาสเดอร์ ที่ซึ่งเขาพบกับผู้จัดละคร วรายุฑ มิลินทจินดา ซึ่งเป็นแขกของโรงแรม เขาร้องเต้นสร้างความบันเทิงให้กับแขกจนวรายุฑชักชวนให้มาเล่นละครเรื่อง น้ำตาลไหม้ (พ.ศ. 2526) โดยมีอดุลย์ ดุลยรัตน์เป็นผู้ช่วยสอน ละครเรื่องนี้เป็นละครเรื่องแรกของธงไชย ซึ่งเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยมรางวัลเมขลา ส่งผลให้ธงไชยเป็นที่รู้จักและมีการกล่าวขานในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ที่มีความสามารถ[32] เขาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกใน บ้านสีดอกรัก (พ.ศ. 2527)[33]

 
1
2
3
4
ธงไชย และคุณหญิงพรทิพย์ ปี 2552
1
คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช
2
กรณ์ ณรงค์เดช บุตรของพรทิพย์
3
ธงไชย แมคอินไตย์
4
พรพิชิต พัฒนถาบุตร ผู้จัดการส่วนตัวธงไชย

ธงไชยมีความสามารถด้านการร้องเพลง เขาจึงสมัครประกวดร้องเพลงเวทีสยามกลการในปี พ.ศ. 2527 เป็นจุดเริ่มต้นด้านเพลงที่สำคัญ[34] การประกวดครั้งนั้นเขาได้รับรางวัลในการประกวด 3 รางวัล รวมรางวัลนักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากลจากเพลง "ชีวิตละคอน"[35] ทำให้ได้เซ็นสัญญากับสยามกลการ ต่อมา เรวัต พุทธินันทน์ ผู้ก่อตั้งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่เห็นพรสวรรค์ของธงไชยได้เข้าพบคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้จัดการใหญ่ของสยามกลการในขณะนั้น เพื่อเจรจาขอดึงตัวมาเป็นศิลปินของแกรมมี่ เป็นจุดเริ่มต้นอาชีพนักร้องของธงไชยในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่[36]

ระหว่างที่รออัลบั้มเสร็จเป็นระยะเวลา 2 ปี เขารับบทพระเอกภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 เรื่อง ด้วยรักคือรัก คู่กับอัญชลี จงคดีกิจ และกำกับโดย หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย[37] ทำให้คู่พระ-นางกลายเป็นคู่ขวัญคลาสสิกคู่หนึ่ง[38][39] และในปีเดียวกัน ยังร่วมแสดงในละครเรื่อง บ้านสอยดาว และ พลับพลึงสีชมพู เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2529 ธงไชยได้รับเลือกให้เป็นพิธีกรนางสาวไทย รอบตัดสิน ปี 2529–2530 และเขายังเป็นพิธีกรคู่แรกในรายการถ่ายทอดสด 7 สีคอนเสิร์ต คู่กับมยุรา ธนะบุตร ซึ่งกลายเป็นพิธีกรคู่ขวัญ ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้ดำเนินรายการดีเด่นชาย รางวัลเมขลา ประจำปี พ.ศ. 2529[40] ในปีเดียวกันเขาออกอัลบั้มแรก หาดทราย สายลม สองเรา ซึ่งจัดให้เป็นอัลบั้มของศิลปินชายที่ดีที่สุดแห่งปี โดยเป็นศิลปินชายที่มียอดจำหน่าย 5 แสนตลับคนแรกของแกรมมี่[41]โดยเพลง "ผ่านมา ผ่านไป" เป็นซิงเกิลแรกที่เขาเข้าบันทึกเสียง[42] สำหรับซิงเกิลแรกที่เผยแพร่คือ "ด้วยรักและผูกพัน" "ฝากฟ้าทะเลฝัน"[43] "บันทึกหน้าสุดท้าย" เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง จากความสำเร็จของอัลบั้มดังกล่าวได้มีการนำเพลงดังในอัลบั้มไปใช้ประกอบในภาพยนตร์ ด้วยรักและผูกพัน ที่ถ่ายทำในต่างประเทศ จากความสำเร็จเหล่านี้ เขาจึงลาออกจากงานประจำและก้าวสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัว โดยมีพรพิชิต พัฒนถาบุตร เป็นผู้จัดการส่วนตัว นอกจากนี้ เขามีคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มแรกชื่อว่า "คอนเสิร์ต สุดชีวิต ธงไชย" และในปีนั้นยังมีการจัดคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 1 ถือเป็นคอนเสิร์ตลำดับแรกที่แกรมมี่เป็นผู้จัด[44]

พ.ศ. 2530–2539

แก้

อัลบั้ม สบาย สบาย

แก้

ในปี พ.ศ. 2530 ธงไชยมีอัลบั้มดังชื่อ สบาย สบาย ซึ่งต้นสังกัดจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี[45]โดยมีเพลงเด่น เช่น เพลง "สบาย สบาย" "เหมือนเป็นคนอื่น" และ "ฝากใจไว้" โดยเพลง "สบาย สบาย" ที่ทำให้เขาดังข้ามประเทศ[46] มีการนำลิขสิทธิ์เพลงไปแปลงหลายภาษาเช่น ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส[47] เป็นต้น และในปีดังกล่าวเขาได้รับรางวัลศิลปินดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) เพลง "สบาย สบาย" นี้ยังมีการนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์ที่เขาแสดงนำเรื่อง หลังคาแดง และได้รับรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ (สุพรรณหงส์ทองคำ)[48] เขาจัดคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 2 ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2530 และปลายปี เขาออกอัลบั้ม รับขวัญวันใหม่ โดยมีเพลงเด่นคือ "หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ" และ "ขอบใจจริง ๆ" เป็นต้น

เขามีคอนเสิร์ตใหญ่สองครั้งในช่วงต้นปีถัดมา คือ คอนเสิร์ตเกาเหลาธงไชย (ไม่งอก) และคอนเสิร์ต เบิร์ด เปิ๊ด-สะ-ก๊าด และออกอัลบั้มพิเศษชื่อ ธงไชย แมคอินไตย์ พ.ศ. 2501 และอัลบั้ม ส.ค.ส. โดยมีเพลงเด่น เช่น เพลง "จับมือกันไว้" ซึ่งเป็นเพลงเด่นประจำการแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์[49]และเขามีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 3 ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2532

ละครคู่กรรม และอัลบั้มบูมเมอแรง

แก้
 
ธงไชย และกมลชนก โกมลฐิติ สองนักแสดงนำจากละครคู่กรรม ร่วมบันทึกรายการโทรทัศน์ ปี 2549

ในปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นยุคที่เกิดกระแสเบิร์ดฟีเวอร์[50] ธงไชยรับบทโกโบริในละคร คู่กรรม ถือเป็นละครฉบับที่ประสบความสำเร็จสูงสุดอันดับ 1 ของไทยตลอดกาล ด้วยเรตติง 40[13] ละครเรื่องนี้ทำให้ธงไชยได้รับรางวัลใหญ่สองรางวัล คือ รางวัลนักแสดงนำชายดีเด่น จากงานประกาศผลรางวัลเมขลา ครั้งที่ 10 และรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 5

ในปีเดียวกันธงไชยได้ออกอัลบั้ม บูมเมอแรง ซึ่งต้นสังกัดจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี และเป็นลำดับ 3 ของอัลบั้มที่ดีที่สุดของทศวรรษ โดยเป็นศิลปินคนแรกของแกรมมี่ที่มียอดจำหน่ายเกิน 2 ล้านตลับ[51][52] ซึ่งยอดจำหน่ายรวมได้ถึงสองล้านปลาย โดยมียอดจำหน่ายเกินล้านตลับภายใน 6 สัปดาห์[53] และเพลง "คู่กัด" ในอัลบั้มดังกล่าว มีการนำไปแปลงหลายภาษาในเอเชีย เช่น ภาษาจีน ภาษาพม่า ภาษาเวียดนาม เป็นต้น[54] และเขามีการจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มมนุษย์บูมเมอแรง ต่อด้วยการทัวร์คอนเสิร์ตที่ใช้ชื่อว่ามนุษย์บูมเมอแรง และมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 4 ใน พ.ศ. 2533 หนังสือพิมพ์ เอกชน ยกให้เป็นศิลปินที่ได้รับประกาศเกียรติคุณมากที่สุด[26]

ในคอนเสิร์ตสายใจไทย ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป่าทรัมเป็ตเพลง "คู่กัด" โดยมีธงไชยเป็นผู้ขับร้อง[55]

อัลบั้มพริกขี้หนู และละครวันนี้ที่รอคอย

แก้

ในปี พ.ศ. 2534 ธงไชยประสบความสำเร็จต่อเนื่องมาถึงอัลบั้มชุดที่ 6 อัลบั้มพริกขี้หนู มียอดจำหน่ายเกินล้านตลับภายใน 50 วัน และยอดจำหน่ายรวมมากกว่า 3.5 ล้านตลับ สูงที่สุดในบรรดาอัลบั้มที่วางจำหน่ายในยุค 90 ทั้งหมด[16] และได้รับขนานนามเป็น "อัลบั้มแห่งทศวรรษ"[56] สื่อบันเทิงยกให้เป็นปรากฏการณ์ "เบิร์ดฟีเวอร์" อีกครั้ง[57] มีเพลงเด่นคือ "พริกขี้หนู" "ขออุ้มหน่อย" "ไม่อาจหยั่งรู้" "ฝากไว้" เป็นต้น ในปีเดียวกันเขายังมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 5 โดยใช้ชื่อตอน ความสุข ความทรงจำ ไม่มีที่สิ้นสุด จำนวน 29 รอบ จำนวนผู้ชม 58,000 คน[58] ก่อนจะพักงานในวงการบันเทิง ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2536 เขากลับมาแสดงละครวันนี้ที่รอคอย รับบท เจ้าซัน และเจ้าชายศิขรนโรดม ซึ่งเป็นละครที่ประสบความสำเร็จอีกเรื่องของเขา[59] เขาได้รับรางวัลดารานำชายดีเด่น จากประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 8

ต้นปี พ.ศ. 2537 เขาออกอัลบั้ม ธ ธง โดยมีเพลงเด่นคือ "เธอผู้ไม่แพ้" "เหนื่อยไหม" เป็นต้น เพลง "เหนื่อยไหม" ได้รางวัลประพันธ์คำร้องยอดเยี่ยมจากงานประกาศผลรางวัลพระพิฆเนศทอง ธงไชยจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม "คอนเสิร์ต ธ.ธง กับ เธอ (นั่นแหละ)" และคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 6 โดยใช้ชื่อตอนว่าอยากเห็นท้องฟ้าเป็นอย่างในฝัน ในปี พ.ศ. 2538 ธงไชยกลับมารับบทบาท โกโบริ อีกครั้งในภาพยนตร์คู่กรรม [60] โดยธงไชยได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ประจำปี พ.ศ. 2538 และในปีเดียวกันธงไชยได้รับเลือกให้ร้องเพลง "Golden Stars" ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี พ.ศ. 2538 จัดที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี[61]

พ.ศ. 2540–2549

แก้

อุปสมบท และการสูญเสียมารดา

แก้
 
พระธงไชยและมารดาในพิธีอุปสมบท ปี 2540

หลังจากถ่ายทำละคร นิรมิต แล้วเสร็จ ธงไชยอุปสมบทในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เป็นการบวชทดแทนคุณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร และได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานผ้าไตร และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประทานเครื่องอัฐบริขาร โดยธงไชยได้รับฉายาว่า "อภิชโย" แปลว่า "ผู้มีชัยชนะอันยิ่งใหญ่"[62] และจำวัด ณ จังหวัดเชียงใหม่[63] วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 อุดม แมคอินไตย์ มารดา เสียชีวิตที่จังหวัดเชียงราย มีพิธีพระราชทานเพลิงศพวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเจ้านาย 3 พระองค์ พระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ[64]

ในปี 2541–2544 ธงไชยมีผลงานเพลงต่อเนื่องอีก 3 อัลบั้มที่ทำยอดจำหน่ายเกินล้านชุด[65] ได้แก่ ธงไชย เซอร์วิส (2541) มีเพลงเด่นคือ "ซ่อมได้" "บอกว่าอย่าน่ารัก" "ก็เลิกกันแล้ว" "ถ่านไฟเก่า" เป็นต้น พร้อมกับอัลบั้มพิเศษ ธงไชย เซอร์วิสพิเศษ และละคร ความทรงจำใหม่ หัวใจเดิม และมีคอนเสิร์ต อัลบั้มตู้เพลงสามัญประจำบ้าน (2542) มีเพลงเด่นคือ "ลองซิจ๊ะ" "กลับไม่ได้ไปไม่ถึง" "ผิดตรงไหน" "ทำไมต้องเธอ" เป็นต้น และปี พ.ศ. 2543 มีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 7, อัลบั้มพิเศษ 100 เพลงรักไม่รู้จบ

ปลายปี พ.ศ. 2544 ธงไชยอัดอัลบั้มสไมล์คลับ ซึ่งต้นสังกัดจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี[66] มีเพลงเด่นคือ "เล่าสู่กันฟัง" "คนไม่มีแฟน" และ "คู่แท้" เป็นต้น โดยเพลง "เล่าสู่กันฟัง" ได้รับรางวัลจากหลายสถาบัน เช่น รางวัลเพลงยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 14 รางวัลมิวสิกวิดีโอศิลปินชายยอดนิยม จากงานประกาศผลรางวัลแชนแนลวีไทยแลนด์มิวสิกวิดีโออวอร์ดส ครั้งที่ 1 เป็นต้น พร้อมกับการจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มเบิร์ดสไมล์คลับ และจากผลสำรวจสุดยอดแห่งความประทับใจ ปี พ.ศ. 2544 ของเอแบคโพล[67] และผลสำรวจที่สุดแห่งปีของสวนดุสิตโพล พบว่าเขาอยู่ในลำดับแรกของนักร้องชายไทยที่ประทับใจที่สุด[68]

ปริญญากิตติมศักดิ์ และอัลบั้ม ชุดรับแขก

แก้
 
ธงไชย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปี 2545

ในปี พ.ศ. 2545 ธงไชยได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ สำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีสากล และประสบความสำเร็จในอาชีพ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี[30]

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2545 ถึงปี 2546 เขาออกอัลบั้มชุดรับแขก ซึ่งสร้างสถิติยอดจำหน่ายเทปสูงสุดของไทยกว่า 5 ล้านตลับ และวีซีดีบันทึกการแสดงคอนเสิร์ต มียอดจำหน่ายมากกว่า 3 ล้านแผ่น รวมแล้วอัลบั้มชุดรับแขกทั้ง เทป ซีดี วีซีดี ยอดจำหน่ายมากกว่า 8 ล้านชุด นอกจากนี้อัลบั้มชุดนี้สร้างสถิติเป็นอัลบั้มที่ทำยอดจำหน่ายเกิน 1 ล้านตลับเร็วที่สุดของแกรมมี่ภายใน 3 สัปดาห์ เป็นอัลบั้มประวัติศาสตร์ของวงการเพลง[17] อัลบั้มดังกล่าวสร้างประวัติการณ์ Break Record สู่ 3 ล้านชุดในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน โดยมีเพลงเด่นคือ "แฟนจ๋า" ซึ่งแต่งโดยโจอี้ บอย และ "มาทำไม" ร่วมร้องกับจินตหรา พูนลาภ เป็นต้น จากการสำรวจความนิยมของคนกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2545 ของกรุงเทพโพลล์ พบว่าเพลงยอดนิยม คือ เพลง "แฟนจ๋า" รองลงมาคือเพลง "มาทำไม"[69]

ความสำเร็จดังกล่าวจึงมีการจัดทำอัลบั้มพิเศษ แฟนจ๋า..สนิทกันแล้วจ้ะ และมีคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม ฟ.แฟน[70] และฟ.แฟน FUN FAIR[71] และในปีดังกล่าวยังมีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 8 เขาได้รับรางวัลจากหลายสำนัก เช่น แฮมเบอร์เกอร์อวอร์ดส์, ท็อปอวอร์ด, แชนแนลวีไทยแลนด์มิวสิกวิดีโออะวอดส์ เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2547 เขาได้รับคัดเลือกให้ไปโชว์เพลงแฟนจ๋าที่งานประกาศผลรางวัลที่ต่างประเทศ พร้อมได้รางวัลศิลปินยอดนิยมประเทศไทย (Favorite Artist Thailand) จากงานเอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ครั้งที่ 3 ณ ประเทศสิงคโปร์[72]

อัลบั้ม เบิร์ด-เสก และ วอลุม วัน

แก้
 
คอนเสิร์ต เบิร์ดซน เบิร์ด-เสก ปี 2547

ในปี พ.ศ. 2547 เขาออกอัลบั้มพิเศษ เบิร์ด-เสก โดยมียอดจำหน่ายสูงสุดแห่งปีมากกว่า 2 ล้านชุด แกรมมี่จัดให้เป็น “อัลบั้มพิเศษที่ดีที่สุดแห่งยุค” โดยมีเพลงดัง คือ "อมพระมาพูด" ร้องคู่กับนักร้องแนวร็อก เสกสรรค์ ศุขพิมาย[73] และเขามีคอนเสิร์ตเบิร์ดซน เบิร์ด-เสก[74] พ.ศ. 2547 ผลสำรวจของสวนดุสิตโพลพบว่าเขาเป็นนักร้องเพลงไทยสากลชายที่ประชาชนชอบมากที่สุด[75] และกรุงเทพโพลพบว่าเป็นนักร้องนักแสดงที่ชื่นชอบและยึดเป็นแบบอย่างมากที่สุด[76]

ในปี พ.ศ. 2548 มีอัลบั้มวอลุม วัน ซึ่งมีเพลงดังคือเพลง "โอ้ละหนอ...My Love" และเพลง "ไม่แข่งยิ่งแพ้" เขาได้รับรางวัลนักร้องยอดเยี่ยมของท็อปอวอร์ด, Oops! Awards; ศิลปินไทยแห่งปีของเฉลิมไทยอวอร์ด มิวสิกวิดีโอเพลง "โอ้ละหนอ...My Love" ได้รับรางวัลมิวสิกวีดีโอยอดเยี่ยมแห่งปี FAT award และรางวัลมิวสิกวิดีโอยอดนิยมของมิวสิกวิดีโออวอร์ดส[77] และจากผลสำรวจเอแบคโพล เพลงโอ้ละหนอ...My Love เป็นเพลงยอดเยี่ยมแห่งปี[78] ธงไชยมีคอนเสิร์ตใหญ่ Volume 1 คอนเสิร์ต โอ้ละหนอ...My Love[79] และจากผลสำรวจของเอแบคโพลและสวนดุสิตโพลพบว่าเขาเป็นนักร้องชายที่ประชาชนชื่นชอบที่สุดอีกปี[78]

ในปี พ.ศ. 2549 ออกอัลบั้มธงไชย วิลเลจ ซึ่งมีเพลงเด่นคือ "เถียงกันทำไม" อัลบั้มพิเศษเบิร์ดเปิดฟลอร์ 3 อัลบั้ม ปีนั้น หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ยกให้ธงไชยเป็นหนึ่งในคนไทย 35 คนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในรอบ 35 ปี[80] อีกทั้งหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ยกให้ธงไชยเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของไทย ปี พ.ศ. 2549 โดยเป็นอันดับ 26 จากทุกสาขาอาชีพ และเป็นอันดับ 1 ประเภทนักร้องนักแสดง[81] เขาได้รางวัลพิเศษศิลปินสร้างสรรค์ Inspiration Award ของเอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส และรางวัลศิลปินที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งปีของ Virgin Hitz Awards และเกียรติบัตรศิลปินชายยอดนิยมแห่งปีของ Thailand Top Chart[82]

พ.ศ. 2550–2559

แก้

ด้านคอนเสิร์ต และอัลบั้ม อาสาสนุก

แก้
 
ธงไชยในคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 9 ปี 2551

ในปี พ.ศ. 2550 มีจัดคอนเสิร์ตเบิร์ดเปิดฟลอร์[83] และปลายปีมีอัลบั้ม ซิมพลีย์ เบิร์ด ซึ่งมีเพลงเด่นคือ "ช่วยรับที" "มีแต่คิดถึง" และเพลง "น้ำตา" เป็นต้น เพลง "น้ำตา" แต่งโดย อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ได้รางวัลเพลงยอดเยี่ยมของสีสันอะวอร์ดส์ ขณะที่เพลง "มีแต่คิดถึง" ซึ่งแต่งโดยนิติพงษ์ ห่อนาค ได้รางวัลชมเชยการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ในปี พ.ศ. 2551 ธงไชยแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 9 ตอน MAGIC MEMORIES อัศจรรย์แห่งความทรงจำ สิ่งเหล่านี้คือความเป็นเรา...ตลอดไป มีจำนวนผู้ชมทุกรอบ 120,000 คน จาก 12 รอบการแสดง[58] ในปี พ.ศ. 2552 ธงไชยได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสองครั้ง คือ "โครงการเที่ยวไทยครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก" และ "โครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน" โดยเขาขับร้องเพลง "ไปเที่ยวกัน" ประกอบสื่อภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์[84] และมีซิงเกิลพิเศษ "จะได้ไม่ลืมกัน" ประกอบภาพยนตร์ ความจำสั้น แต่รักฉันยาว และในปีดังกล่าวเขามีคอนเสิร์ต ธงไชย แฟนซี แฟนซน...ร้อง เต้น เล่น แต่งตัว จำนวน 4 รอบการแสดง

 
ธงไชยในคอนเสิร์ตเบิร์ดอาสาสนุก ปี 2554

ในปี พ.ศ. 2553 ธงไชยออกอัลบั้มอาสาสนุก ซึ่งเป็นอัลบั้มใหม่ในรอบ 3 ปี มียอดจำหน่ายและยอดดาวน์โหลดสูงที่สุด[85][86] โดยมีเพลงเด่นคือ "อยู่คนเดียว" "อย่าทำอย่างนี้ไม่ว่ากับใคร...เข้าใจไหม" "ทูมัชโซมัชเวรีมัช" และ "เรามาซิง" โดยสองเพลงหลังมีการซื้อลิขสิทธิเพลงดังกล่าวไปแปลงเป็นภาษาญี่ปุ่น[87] ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 เขายังมีคอนเสิร์ตใหญ่ชื่อว่า เบิร์ดอาสาสนุก ที่จัดขึ้นที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตสุดร้อนแรงแห่งปี[88] และหนึ่งในคอนเสิร์ตที่ได้รับการตอบรับสูงสุดแห่งปี[89]

ปีนั้นธงไชยยังได้รับเลือกเป็นต้นแบบตัวละครการ์ตูนแอนิเมชัน เรื่อง เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ และเขายังเป็นผู้พากย์เสียง "พี่เบิร์ด" และร้องเพลงประกอบเพลงเบิร์ดแลนด์แดนมหัศจรรย์[90] และในปีเดียวกันเขาได้รับเลือกให้ร้องเพลงพิเศษ เพลง "Thai for Japan" ภาษาญี่ปุ่น ให้แก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554[91] ในปี พ.ศ. 2555 เขาแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 10 ตอน วันของเรา Young อยู่ ฉลองครบรอบ 25 ปีเบิร์ดเบิร์ดโชว์ จำหน่ายบัตรต่อเนื่องในคราวเดียวกว่า 100,000 คน[92][93] ในปี พ.ศ. 2556 มีคอนเสิร์ตขนนกกับดอกไม้ ครั้งที่ 2 ตอน Secret Garden

สานสัมพันธ์ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน

แก้

ในปี พ.ศ. 2556 ธงไชยได้รับเชิญเป็น "ทูตมิตรภาพ" (International Friendship Ambassador)ไปร่วมงานเทศกาล Sapporo Snow Festival ครั้งที่ 64 ณ นครซัปโปโระ จังหวัดฮกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ภายในงานมีรูปปั้นหิมะของเขาขนาดเท่าตัวจริงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพที่ดีของทั้งสองประเทศ การสำรวจในญี่ปุ่นยังพบว่าเขาเป็นศิลปินไทยที่คนญี่ปุ่นรู้จักมากที่สุด[94][95] ในปีเดียวกัน เขาได้รับเชิญร่วมงานเทศกาลดนตรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Music Fair) ณ กรุงโตเกียว[96][97] นอกจากนี้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นเชิญเขาไปถ่ายแบบที่โอกินาวา โยโกฮามา และฟุคุโอกะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น และในปี พ.ศ. 2557 ธงไชยได้รับรางวัล Special Award from JNTO ของ Japan Tourism Award in Thailand สำหรับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวญี่ปุ่น[98] และปีดังกล่าวเขาถ่ายทำละคร กลกิโมโน[99][100]

ในปี พ.ศ. 2558 มีคอนเสิร์ตขนนกกับดอกไม้ ครั้งที่ 3 ตอน The Original Returns[101] ซึ่งจีเอ็มเอ็มแกรมมี่จัดกิจกรรม FUN&FRIENDSHIP EXPERIENCE[102] เป็นโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสานสัมพันธ์ไทยพม่า ซึ่งเขาได้รับการต้อนรับจากชาวพม่าจำนวนมาก[103] และในปี พ.ศ. 2559 ธงไชยมีคอนเสิร์ต รวมวง THONGCHAI concert และมีโครงการพิเศษภาพยนตร์สั้น รักคำเดียว ภารกิจคลุกฝุ่น[104]

ปี พ.ศ. 2560–ปัจจุบัน

แก้

ละครเทิดพระเกียรติ อัลบั้มเบิร์ดมินิมาราธอน และคอนเสิร์ต

แก้

ธงไชยถือเป็นศิลปินคนสุดท้ายที่ได้ขับร้องบทเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากเขาได้ขับร้องเพลง "เหตุผลของพ่อ" ซึ่งถูกเผยแพร่ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559 หรือเพียง 2 วันก่อนจะเกิดเหตุการณ์การเสด็จสวรรคต[105] ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ธงไชยได้มีส่วนร่วมในโครงการเฉลิมพระเกียรติหลายโครงการ เช่น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เป็นดารารับเชิญในละครพิเศษ “เราเกิดในรัชกาลที่ ๙ เดอะซีรีส์” โดยรับบทแพทย์อาสา[106] ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 เป็นนักร้องรับเชิญในงานแสดงดนตรี "แผ่นดินของเรา"[107] และในวันที่ 26 ตุลาคม ปีนั้น เขาเป็นหนึ่งในศิลปินเพียงไม่กี่คนที่ได้เข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในฐานะพลเรือนผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯ[108]

ในปี พ.ศ. 2561 ต้นปีธงไชยมีโปรเจ็กต์พิเศษ ชื่อว่า เบิร์ดมินิมาราธอน[109] โดยทำงานร่วมกับ 8 ศิลปินรุ่นใหม่[110] และในปีดังกล่าวเขาได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งปี สำหรับศิลปินที่เป็นที่สุดตลอดกาล รางวัล Joox Icon Award จากงาน JOOX Thailand Music Awards พ.ศ. 2561[111] ในปีเดียวกัน เขามีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 11 ในตอน "DREAM JOURNEY" (ดรีม เจอร์นี่ย์) ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ซึ่งจัดต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2562[112][113] รวมแล้วจำนวน 7 รอบ[114] และในปีเดียวกันมีคอนเสิร์ต Singing Bird จำนวน 3 รอบ[115] ซึ่งจัดที่รอยัล พารากอน ฮอลล์

 
ธงไชยในงานมหรสพสมโภช เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 เขาได้รับเชิญให้ร่วมแสดงละคร "ในสวนฝัน ผสานใจภักดิ์จงรักนฤบดี" ในงานมหรสพสมโภช เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวท้องสนามหลวง[116] เขาถวายงานร้องเพลงไทยเดิม "ลาวคำหอม"[117] โดยเดือนก่อนหน้านั้นเขาได้ร่วมร้องเพลง "จิตอาสา" ซึ่งเป็นบทเพลงพิเศษที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จัดทำขึ้น มีเนื้อหาเชิญชวนให้คนไทยร่วมกันทำความดี ด้วยการเป็นจิตอาสา เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติ สานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[118]

ในปี พ.ศ. 2564 เขาร่วมโครงการ “โรงพยาบาลไฟจากฟ้า” พลังงานสะอาด เพื่อ 77 โรงพยาบาลทั่วไทย จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 โดยขับร้องเพลง "ให้โลกได้เห็น (น้ำใจคนไทย)"[119] ซึ่งบทเพลงดังกล่าวทำให้เขาได้รับรางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ประเภทการขับร้องเพลงไทยสากลชาย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 จากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม[120] และปลายปีเขามีผลงานเพลง "ใครคิดถึง" ซึ่งเป็นบทเพลงประกอบละครวิมานทราย[121] และเพลง "ทุกวันได้ไหม" ซึ่งร่วมร้องกับหนุ่ม วงกะลา[122] และได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award สำหรับศิลปินที่ประสบความสำเร็จในวงการเพลงมาโดยตลอด และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินอีกหลายท่าน ในงานประกาศผลรางวัล TOTY Music Awards 2021[15]

 
ธงไชย รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ อัลบั้ม เบิร์ด ทเวนตี้ทู และคอนเสิร์ต

แก้

ในปี พ.ศ. 2565 เขาได้เข้ารับพระราชทานปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดนตรีคีตศิลป์สากลศึกษา) จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม[123][124] และในปีเดียวกัน เขามีอัลบั้มใหม่ที่มีชื่อว่า เบิร์ด ทเวนตี้ทู[125] มีซิงเกิล ได้แก่ "เพลงที่ไม่มีใครฟัง"[126] มีมิวสิควีดีโอเพลง "มากองรวมกันตรงนี้"[127] "ลำไยลองกอง"[128] "ทดลองใช้"[129] ในเดือนสิงหาคม เขาได้รับรางวัลผู้ทรงคุณค่าอุตสาหกรรมดนตรีไทย จากงานประกาศผลรางวัลเกียรติยศมณีเมขลา ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2565 โดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย[130] ในเดือนกันยายน ธงไชยได้รางวัลราชมงคลสรรเสริญกิตติมศักดิ์ ประเภทผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมกิตติมศักดิ์ ด้านศิลปะการแสดง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี[131] และในเดือนพฤศจิกายน มีคอนเสิร์ต Singing Bird ตอน Lifetime Soundtrack จำนวน 3 รอบ ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี [132] และในช่วงปลายปีเขาได้รับเชิญให้ขับร้องเพลงในงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำที่จัดขึ้นเพื่อต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Gala Dinner) ณ หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน[133] โดยขับร้องเพลง "แผ่นดินของเรา" ซึ่งเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพลง "ลอยกระทง" ซึ่งแสดงอารยธรรมประจำถิ่นไทย[134]

 
พี่เบิร์ด ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ในโครงการ THAI 5F SOFT POWER

ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย และคอนเสิร์ต

แก้

ในปี พ.ศ. 2566 เขาได้รับเลือกเป็นศิลปินผู้ถ่ายทอดอัตลักษณ์ความเป็นไทย ภายใต้โครงการ THAI 5F SOFT POWER ของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเป็นการยกระดับงานวัฒนธรรมผ่านสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น สื่อเพลง และสื่อบุคคลที่มีอิทธิพลในการถ่ายทอดสู่สาธารณชน ผ่านมิวสิควิดีโอเพลง "ฟ้อนทั้งน้ำตา" ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 5F ประกอบด้วย อาหาร (Food) ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบ แฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival)[135] และต่อมาเขาได้รับเลือกเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวภายในประเทศให้ฟื้นตัว ภายใต้แคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” ตามแนวคิด “โมเมนต์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ”[136] พร้อมกันนี้เขาเป็นผู้ร้องจิงเกิ้ลประกอบภาพยนตร์โฆษณา เพลง “ไปกันอีกสักที ก็ดีนะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์สำหรับแคมเปญดังกล่าว[137] ในเดือนพฤษภาคม เขาได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award ในงานประกาศรางวัล The Guitar Mag Awards 2023 สำหรับศิลปินที่คร่ำหวอดในวงการมายาวนาน[138] และในเดือนเดียวกันเขาได้รับรางวัลพระราชทานกรมสมเด็จพระเทพฯ รางวัลบันเทิงเทิดธรรม ในงานประกาศผลรางวัลไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ ครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นรางวัลคนบันเทิงที่ประพฤติดี มีคุณธรรม และมีผลงานต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี[139] ในวันที่ 27 - 28 มิถุนายน เขาเป็นศิลปินรับเชิญงานกาชาดคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ ครั้งที่ 49 เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย โดยธงไชยขับร้องบทเพลง "วอลซ์นาวี" เพลง "บ้านเรา" และร่วมร้องเพลง "เกียรติยศนาวี" งานจัด ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย[140][141] ในเดือนกรกฎาคม เขามีบทเพลงพิเศษ "เธอคือพลังของฉัน" เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี ปตท. โดยเขาขับร้องร่วมกับวรันธร เปานิล[142] และปลายเดือนกรกฎาคม เขาได้รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย จากบทเพลง "ใจบันดาลแรง แรงบันดาลใจ" เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566 จัดโดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม[143] ในเดือนกันยายน เขามีผลงานเพลง "รักเอ๋ย" เพลงประกอบละครพนมนาคา[144] ในเดือนพฤศจิกายน เขาได้รับรางวัล HOWE ART AWARD 2023 จัดโดยนิตยสาร HOWE[145] และในเดือนเดียวกัน เขามีคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 12 ในตอน "MULTIBIRD จักรวาลธงไชย" ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี รวมจำนวน 5 รอบ[146][147]

 
ธงไชยร่วมงานเปิดนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ

ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)

แก้

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้แถลงข่าวประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566 โดยหนึ่งในนั้นมี ธงไชย แมคอินไตย์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)[148] ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 เขาได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกพระราชทานเครื่องหมายแทนพระองค์ ณ วังสระปทุม[149]

โดยคำประกาศเกียรติคุณส่วนหนึ่ง ได้กล่าวถึงความเหมาะสมของเขาว่า "เป็นเวลาร่วม 40 ปี นายธงไชย ได้ประกอบอาชีพนักร้องและมีผลงานเพลง 18 อัลบั้ม ด้วยกัน ซึ่งแต่ละอัลบั้มประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากชาวไทยทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ผลงานเพลงโด่งดังและเป็นที่รู้จักหลายบทเพลง การแสดงคอนเสิร์ตกว่า 200 รอบ เป็นคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ราว 160 รอบ ซึ่งในหลาย ๆ คอนเสิร์ตจะมีการแสดงด้านศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีไทยผสมผสานอยู่ในการแสดงเสมอ เพื่อเป็นการเผยแพร่และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชาติไทยให้สาธารณชนได้ชื่นชมและเห็นคุณค่า อาทิ การละเล่นพื้นบ้าน รำกลองยาว ตีกลองสะบัดชัย หุ่นละครเล็ก เพลงฉ่อย ลำตัด ลิเก เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ เขายังได้แสดงละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา เป็นพิธีกร นักพากย์ ผู้บรรยายและอื่นๆ เรียกได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถด้านศิลปะการแสดงอย่างครบครัน เพราะมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานและการมีความคิดสร้างสรรค์ทันยุคสมัยอยู่เสมอ นายธงไชยจึงได้รับตำแหน่งขวัญใจมหาชนตลอดกาล และได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมาย ที่สำคัญนายธงไชยยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับศิลปินและเยาวชนรุ่นใหม่ทั้งในด้านการทำงานและในการประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมทั้งในด้านคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อสังคมโดยใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำคุณประโยชน์ในโอกาสต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ"[1]

ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เขาได้รับรางวัลเกียรติยศนักร้องเพลงไทยสากลทรงคุณค่าตลอดกาล จากงานคมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 20 เป็นผลจากความนิยมที่มีมาตลอด รวมถึงการเป็นตัวอย่างให้กับศิลปินรุ่นใหม่[150] และในวันที่ 25 กันยายน เขาได้รับ 2 รางวัล จากงานสีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 33 ประจำปี 2565-2566 ได้แก่ รางวัลศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม เบิร์ด ทเวนตี้ทู และรางวัลเพลงยอดเยี่ยม “ใจบันดาลแรง แรงบันดาลใจ” [151] วันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน เขามีคอนเสิร์ต ขนนกกับดอกไม้ Dream For Love ร่วมกับ 4 ศิลปินรับเชิญ โดยจัดขึ้น ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี จำนวน 3 รอบ[152] และถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณกับธงไชย ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรคอนเสิร์ตดังกล่าว[153]

บทบาททางสังคม

แก้
 
ธงไชยใช้สิทธิเลือกตั้ง ปี 2550

การรณรงค์ การส่งเสริม และการอนุรักษ์

แก้

ด้านการรณรงค์ ธงไชยเป็นตัวอย่างศิลปินในการใช้สิทธิเลือกตั้งต่าง ๆ และในปี พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นตัวแทนประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง[154][155][156] และเขาช่วยเหลือในการรณรงค์ต่าง ๆ เช่น เป็นพรีเซ็นเตอร์โครงการ รณรงค์ลดการแพร่เชื้อทางเดินหายใจ ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย (พ.ศ. 2545) พรีเซนเตอร์ธรรมอาสาพาประชาชนไทยทุกหมู่เหล่าเข้าวัดปฏิบัติภาวนา (พ.ศ. 2546)[157] พรีเซ็นเตอร์กิตติมศักดิ์ จากเครือข่ายคนรักน้องหมาในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา รณรงค์อุดหนุน "ดอกป๊อปปี้" ช่วยครอบครัวทหารผ่านศึก ของมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี[158] ศิลปินจิตอาสา ในภาพยนตร์โฆษณาของมูลนิธิรามาธิบดี ภายใต้แนวคิด “คำว่าให้…ไม่สิ้นสุด”[159] ปลายปี พ.ศ. 2562 เขาได้รับคัดเลือกให้เป็น "KOL" (Key Opinion Leader) หรือ Influencer Marketing ทางด้านไฟฟ้าจากพลังงานที่สะอาด จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน[160] ผลจากการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในโครงการ "ไฟ จาก ฟ้า พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้" ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับรางวัล Thailand Influencer Awards 2019 ในสาขา Best Influencer Campaign of the year และรางวัล Best Game Changer in Influencer Marketing[161] โดยวีดีโอต่าง ๆ มีการเข้าถึงกว่า 21 ล้านวิว และผ่านเมนูเพจช่องวัน 31 และเพลงแสงของดวงตะวันมีการชมกว่า 32 ล้านครั้ง[160][162] เป็นต้น

ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ของ ททท. หลายครั้ง เช่น ในปี พ.ศ. 2548 ได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์โครงการ "เที่ยวที่ไหนไม่สุขใจเท่าบ้านเรา" ซึ่งนำเสนอในช่วงหลังเกิดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย[163] ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์ ททท. "โครงการเที่ยวไทยครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก"[164] สร้างการรับรู้ให้กับคนไทยถึง 99% จากการเปิดเผยของ ททท.[165] "โครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน"[166][167] นอกจากนั้นเขาเป็นผู้ขับร้องเพลงประกอบภาพยนตร์โฆษณา ททท. "ไปเที่ยวกัน" (พ.ศ. 2552) ในปี 2553 เพลง "ร้องไห้ทำไม" ในอัลบั้ม อาสาสนุก ยังได้รับคัดเลือกให้ทำคำร้องใหม่เป็นภาษาจีนกลางเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย โดยเผยแพร่ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2554[168] ต่อมาใน พ.ศ. 2554 ททท. เผยแพร่มิวสิควีดีโอภาษาจีนกลางในเพลง "Why the tear" โดยธงไชยเป็นผู้ร้อง เพื่อนำไปเผยแพร่ในหลายประเทศเอเชีย[169] และในปี 2566 ซึ่งกำหนดให้เป็น "ปีท่องเที่ยวไทย" เขาได้รับเลือกเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์อีกครั้ง โดยผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า "การได้พี่เบิร์ดเข้ามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์นั้น ไม่ได้เป็นครั้งแรก ทุกครั้งที่พี่เบิร์ดเข้ามาอยู่ในช่วงที่ภาคการท่องเที่ยวไทยต้องการการฟื้นฟู โดยครั้งนี้เป็นการฟื้นภาคการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 ระบาดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา"[170]

ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เขามีบทบาทในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมผ่านผลงานของเขา ซึ่งผลงานเพลงของเขาที่มีชื่อเสียงที่สุดคืออัลบั้ม ชุดรับแขก เป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ดนตรี 4 ภาคของไทย บุษบา ดาวเรือง ผู้บริหารแกรมมี่ กล่าวว่า "ธงไชยทำได้ด���มากคือความเป็นไทย คนที่ไปดูแบบเบิร์ดเบิร์ดที่เขาเล่นลิเกแล้วบอกว่า เขาคือสะพานสายรุ้งที่พาศิลปวัฒนธรรมไทยไปสู่คนรุ่นใหม่"[171] ในคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดของเขาแต่ละครั้งสอดแทรกศิลปะวัฒนธรรมไทย เช่น ลำตัด[172] รำกลองยาว[49] รำลาวกระทบไม้ รำกะลา การแสดงหุ่นละครเล็ก[173] เป็นต้น นอกจากนั้นจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เลือกเขาเป็นต้นแบบการ์ตูนแอนมิชั่นเรื่อง เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ พร้อมทั้งใส่เสียงพากย์และบทเพลงของเขาลงในการ์ตูนดังกล่าว[174] และมีการจัดทำตอนพิเศษ "ส่งเสริมคุณค่าของวัฒนธรรมไทย"[90]

นักร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติ และเพลงเพื่อเป็นกำลังใจ

แก้
 
ธงไชย ร้องเพลงของขวัญจากก้อนดินในงานกาชาดคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ ครั้งที่ 43 ปี 2559

นักร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติ ธงไชยได้รับเลือกให้ขับร้องเพลงเนื่องในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เสมอ โดยเฉพาะการขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เขาจึงเป็นหนึ่งในศิลปินที่ขับร้องบทเพลงเพื่อพ่อของแผ่นดินมากเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย[175] เช่น เพลง "ต้นไม้ของพ่อ" "ของขวัญจากก้อนดิน" "รูปที่มีทุกบ้าน" "พระราชาผู้ทรงธรรม" "ตามรอยพระราชา" "ในหลวงในดวงใจ" และ"เหตุผลของพ่อ"[176] โดยธงไชยกล่าวถึงบทเพลงที่ขับร้องว่า "เพลงเหล่านั้นไม่ใช่เพลงของเขา แต่เป็นเพลงของคนไทยทุกคน เขาเป็นเหมือนตัวแทนที่ถ่ายทอดความรู้สึกของทุกคนที่ไม่มีโอกาสได้แสดงความจงรักภักดี เวลาร้องเพลงรู้สึกเหมือนเป็นตัวแทนทุกคนกราบพระบาทท่าน แล้วทูลพระองค์ว่าเรารักพระองค์และรู้ว่าพระองค์ก็รักเรา"[177] ซึ่งเขาเคยได้ถวายการรับใช้ ร้องเพลงต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งที่พระราชวังไกลกังวล และประเทศสวิตเซอร์แลนด์[178]

สำหรับบทเพลงถวายพระบรมวงศานุวงศ์เพลงอื่นๆ ที่เขาขับร้องเนื่องในโอกาส หรือเหตุการณ์สำคัญ เช่น เพลง "คือสายใย" เนื่องในโอกาสพระชันษาครบ 1 ปี พระองค์เจ้าทีปังกรฯ[179] เพลง "ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์" เนื่องในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[180] เพลง "สายใยแผ่นดิน" บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเพลง "รัตนราชกุมารี" ในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 5 รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ[181] เพลง "เจ้าฟ้ามหาจักรี" เป็นเพลงเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี[182]เป็นต้น

นักร้องเพลงเพื่อเป็นกำลังใจ ธงไชยได้รับเลือกให้ขับร้องเพลงเพื่อเป็นกำลังใจในเหตุการณ์สำคัญ เช่น เพลงสำหรับผู้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ "ฝากส่งใจไป"[183] เพลงให้กำลังใจผู้ประสบภัยสึนามิ เพลง "อีกไม่นาน"[91] และบทเพลงภาษาอื่น เช่น ภาษายาวีในเพลง "ซัมไปกันฮาตี" (Sampaikan Hati) เพื่อให้กำลังใจแก่ชาวไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้[183] เพลงภาษาญี่ปุ่น บทเพลง "Thai for Japan" เพลงเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิใหญ่ในโทโฮะกุ ��ระเทศญี่ปุ่น[98] นอกจากนั้นมีบทเพลงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ "เพลงชีวิตลิขิตเอง"[184] เพลงสำหรับโครงการถนนสายแสงตะวัน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม "ถนนสายแสงตะวัน"[185] เพลงสำหรับโครงการไฟจากฟ้า "แสงของดวงตะวัน"[186] เพลงโครงการโรงพยาบาลไฟจากฟ้าพลังงานสะอาด "ให้โลกได้เห็น (น้ำใจคนไทย)"[187] และในอัลบั้มของเขามีบทเพลงเพื่อเป็นกำลังใจ หรือเป็นพลังใจหลายบทเพลงที่ใช้แพร่หลาย เช่น เพลง "เธอผู้ไม่แพ้"[188] "เล่าสู่กันฟัง"[189] จับมือกันไว้[190] ไม่แข่งยิ่งแพ้[191] เป็นต้น

ภาพลักษณ์

แก้

ความกตัญญู และคุณธรรม

แก้

ในปี พ.ศ. 2534 หนังสือพิมพ์เอกชน ยกให้เบิร์ดเป็นศิลปินที่ "แบบอย่างที่ดีและกตัญญูที่สุด"[26] โดยธงไชยได้รับ "รางวัลลูกกตัญญู" จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ[192] ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำรวจความคิดเห็นต่อเขาพบว่า ภาพลักษณ์ที่ทำให้เขายังครองความเป็นซูเปอร์สตาร์ลำดับแรกคือความกตัญญู[21] และในปี พ.ศ. 2550 เขาได้รับ "รางวัลยอดกตัญญู" จากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ ชมรมลูกกตัญญู เป็นต้น หลังจากมารดาอุดมเสียชีวิต หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนีประทานพระเมตตาด้วยเห็นว่าธงไชยเป็นคนมีความกตัญญูอย่างแท้จริง ทรงกรุณารับเขาเป็นเสมือนบุตรบุญธรรม[193]

ในปี พ.ศ. 2554 ธงไชยได้รับรางวัลศิลปินคุณธรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย จากสภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย[194] ในปี พ.ศ. 2555 ได้รับประทานโล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จัดโดยสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และในปีเดียวกันได้รับรางวัลบุคคลที่มีหัวใจโพธิสัตว์ ซึ่งทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน[195] ในปี พ.ศ. 2556 ได้รับประทานโล่รางวัล คนดี คิดดี สังคมดี ตามรอยพระยุคลบาท โดยสมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์ฯ[196] และในปีเดียวกันได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลซึ่งเป็นเพชรน้ำงามที่สุด งานดาราเดลี่ เดอะ เกรท อวอร์ดส์ ครั้งที่ 2 สำหรับศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด เป็นแบบอย่างที่ดีของคนในวงการบันเทิงของประชาชน ในปี พ.ศ. 2557 ได้รับรางวัลเกียรติยศศิลปินผู้ทรงคุณค่าต่อวงการบันเทิงและทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ จากงานมอบรางวัลดาวเมขลา[197] เป็นต้น

 
ธงไชย และนักเต้นประกอบเพลง ปี 2549

ผู้ให้ความบันเทิง

แก้

ภาพลักษณ์ของเขาจากผลสำรวจของรามคำแหงโพล ปี พ.ศ. 2545 ที่สำคัญอีกด้านคือการให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม [21] และในปี พ.ศ. 2556 จากสรุปผลงานคอนเสิร์ตของธงไชย เขาเป็นผู้ให้ความบันเทิงตั้งแต่อดีตจนถึงบัดนี้ทำให้ได้รับความนิยมอย่างยาวนาน[58] ความสามารถของจับกลุ่มคนฟังได้กว้างตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่[198] ในปี พ.ศ. 2557 เขามีรายชื่อเข้าชิงรางวัลระดับโลก World Music Awards 2014 สาขา World's Best Entertainer[199]

บทเพลงของเขา เป็นป็อบโดยพื้นฐาน มีผสมผสานดนตรีต่างๆ เช่น อาร์แอนด์บี ริทึมแอนด์บลูส์ ฟังค์กี้ ร็อก แดนซ์ บูกีวูกี ซินท์ป็อป อิเล็กทรอนิกส์ป็อป ลูกกรุง ฮิปฮอป หมอลำ อะคูสติก โฟล์ก เป็นต้น ซึ่งมีความร่วมสมัยฟังได้ทุกเพศทุกวัย ทำให้เขามีเพลงยอดนิยมในระดับสูงสุดเป็นสถิติในอุตสาหกรรมดนตรีไทย การขับร้องและการแสดงออกผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงการแสดงบนเวที ที่สร้างความประทับใจแรกเริ่ม สามารถดึงดูดให้เกิดความสนใจทั้งจากรูปร่างหน้าตา บุคลิกภาพ น้ำเสียง ลีลาการร้องการแสดง คุณลักษณะเหล่านี้ร่วมกับพื้นฐานของเแก้วเสียง เสียง และการขับร้องเพลงที่ดีอย่างมีพรสวรรค์ ความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ที่ยอดเยี่ยม และสมบูรณ์แบบที่สุด ประกอบกับภาพลักษณ์ของเขามีความอบอุ่นเป็นกันเอง คือคุณสมบัติพิเศษทำให้เขาเป็นที่นิยมยาวนาน[15] สำหรับงานเปิดแสดงคอนเสิร์ตของเขามีผู้ชมการแสดงเต็มทุกรอบ[200] ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 เขามีคอนเสิร์ตใหญ่คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ทั้งหมด 12 ครั้ง 162 รอบการแสดง โดยเฉพาะคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งที่ 9 มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดคอนเสิร์ตจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เปลี่ยนเป็นอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ทำให้คอนเสิร์ตครั้งนั้นมียอดผู้ชมเกิน 1 แสนคน เป็นสถิติสูงสุดของนักร้องไทย[50] นอกจากนั้นเขามีคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบอื่น ๆ สลับกันไปในแต่ละปี

ชีวิตส่วนตัว

แก้
ธงไชยและบุษบา ดาวเรือง ผู้จัดการเรื่องงานของเขา ปี 2551
ธงไชยและพรพิชิต พัฒนถาบุตร ผู้จัดการส่วนตัวของเขา ปี 2554

หลังเข้าวงการบันเทิงและประสบความสำเร็จอย่างสูงกอปรกับเป็นชายโสด เขาจึงได้รับวิจารณ์จากสื่อทั้งในแง่บวก และลบ เป็นเหตุให้เขาพยายามเก็บตัวเงียบ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารแกรมมี่ เคยกล่าวว่า "เขากลายเป็นคนสาธารณะแล้ว เขาไม่มีชีวิตส่วนตัว การประพฤติปฏิบัติตัวของเขาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อได้ทั้งในแง่บวกและลบเสมอ ซึ่งในแง่ลบตัวเองพอจะทนได้ แต่เป็นห่วงแม่ เพราะแม่จะกังวล สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือเก็บตัวเงียบ เ��ียบเพื่อไม่ให้เป็นข่าวใดๆ เลย"[201] ในวงการบันเทิงเขามีพรพิชิต พัฒนถาบุตร เป็นผู้จัดการส่วนตัว[202] และมีบุษบา ดาวเรือง เป็นผู้ดูแลงานของเขามาตลอด"[171][203] สำหรับการใช้จ่าย มีเจ้าหน้าที่ของแกรมมี่ช่วยทำบัญชี โดยพรพิชิต ผู้จัดการส่วนตัวเล่าว่า "ถ้าอยู่เมืองไทย เขาไม่ค่อยมีเวลาและโอกาสที่จะไปไหนตามลำพัง จนบางทีเขาก็ตามสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ทัน เขาไม่เคยเดินซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า นอกจากเวลาไปเมืองนอก"[204]

บุคลิกนิสัย

แก้

ธงไชยเป็นคนมองโลกในแง่ดี ตั้งใจทำงาน ตรงต่อเวลา และหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ[205] ธงไชยทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นหลัก โดยเขาเคยกล่าวว่า “ความสุขของเขาอยู่ที่งาน ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง หรือการโชว์คอนเสิร์ต"[206] สัญญา คุณากรกล่าวถึงธงไชยว่า "เป็นคนตรงต่อเวลามาก ให้เกียรติคนทำงานทุกคน เคารพตนเองพยายามเพิ่มทักษะในการทำงาน"[207] เขามีห้องส่วนตัวสำหรับทำงาน และห้องซ้อมคอนเสิร์ตภายในอาคารแกรมมี่[208] โดยเขาใช้เวลาซ้อมเต้นไม่ต่ำกว่าวันละ 3 ชั่วโมงในช่วงมีคอนเสิร์ต[209] รุ่งโรจน์ ดุลลาพันธ์ ซึ่งเป็นครูสอนร้องเพลง กล่าวถึงความมีวินัยและความรับผิดชอบของธงไชย “เขาซ้อมร้องเพลงวันจันทร์ถึงศุกร์วันละ 2 ชั่วโมง โดยไม่ขาดเรียน พร้อมทั้งวอร์มเสียงกับออกกำลังกายก่อนเริ่มฝึกอย่างมีวินัย และทุกครั้งจะมีการบันทึกเสียงการซ้อมเอาไว้ เพื่อใช้เป็นแบบฝึกหัดสำหรับการซ้อมด้วยตัวเอง” [210] นอกจากการทำงานที่บริษัทฯแล้ว เขาชอบอยู่บ้าน เขาเล่าว่า "เขาไม่ได้ต้องการชีวิตส่วนตัว หรือไม่ได้รู้สึกสูญเสียอิสระ ส่วนหนึ่งเพราะสมัยอยู่ที่บางแคเขาไม่ค่อยมีเงินออกมาเที่ยวข้างนอกบ่อย พอไม่ค่อยได้ออก เขาจึงไม่ได้มีความต้องการอะไรมาก ไม่อยากไปช้อปปิ้ง ดูหนัง หรือไปเที่ยวเหมือนคนทั่วไป"[211]

ครอบครัว

แก้

ธงไชย มีพีน้อง 10 คน เขาเป็นบุตรคนที่ 9 ของ เจมส์ (จิมมี่) แมคอินไตย์ และอุดม แมคอินไตย์[212] โดยครอบครัวของเขาร่วมกันทำบุญทุกเทศกาล เช่น ทำบุญปีใหม่ ทำบุญสงกรานต์ รวมถึงการทำบุญให้มารดา ทำบุญวันเกิดมารดา ทำบุญครบรอบวันเสียชีวิตของมารดา เป็นต้น[213] และธงไชยเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนการศึกษาให้หลาน[214] และเขาให้เงินเดือนกับพี่ของเขาทุกคน[208] ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม กล่าวถึงเขาว่า "เขานำเงินที่ได้ไปสร้างบ้านเป็นงานหลัก เขาซื้อบ้านใบไม้ซึ่งมีเรือนไม้เรือนไทยสำหรับแม่ เขามีบ้านศรีราชา มีบ้านที่เชียงราย มีบ้านที่สวิส เป็นต้น ว่างเมื่อไหร่เขาจะพาแม่ไปเที่ยวตามบ้านที่ตัวเองปลูก และยังเผื่อแผ่ให้พี่ๆ น้องๆ ด้วย"[201]

"ปลูกข้าวที่เชียงรายอยากให้ทำต่อไปนะ เบิร์ดเป็นคนดีที่หนึ่ง" "อ่านและรู้เรื่องของเบิร์ดหมดแล้ว เบิร์ดเป็นนักร้องก็ดีที่หนึ่ง เป็นเกษตรกรก็ดีที่หนึ่ง"

—ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งกับธงไชย[215]

สำหรับบ้านที่จังหวัดเชียงรายเขาสร้างให้มารดา[216] เขาเล่าว่า "บ้านไร่อุดมสุข ซึ่งมาจากชื่อมารดาของเขา ทำเกษตรแบบผสมผสานเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9"[217] ในวันที่เขาได้ไปถวายงานร้องเพลงเฉพาะพระพักตร์ที่วังไกลกังวล ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 50 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งว่า "ปลูกข้าวที่เชียงรายอยากให้ทำต่อไปนะ เบิร์ดเป็นคนดีที่หนึ่ง"[218] และอีกครั้งในงานวันประสูติของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งเป็นบุคคลที่เขานับถืออย่างสูง และเรียกว่า "ท่านพ่อ" เพราะทรงรับเขาเป็นเสมือนบุตรบุญธรรม เขาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ถวายข้าวจากไร่ของเขา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งกับเขาว่า "อ่านและรู้เรื่องของเบิร์ดหมดแล้ว เบิร์ดเป็นนักร้องก็ดีที่หนึ่ง เป็นเกษตรกรก็ดีที่หนึ่ง"[215]

สิ่งสืบเนื่อง

แก้
 
รอยฝ่ามือของ ธงไชย ณ ลานดารา ปี 2553

ปี พ.ศ. 2553 ธงไชยประทับฝ่ามือลานเกียรติยศดาราไทย ดวงที่ 100[28] เพื่อเป็นอนุสรณ์ถาวรและแหล่งเรียนรู้สาธารณะ จัดโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) โดยร่วมประทับรอยพิมพ์มือ-พิมพ์เท้า ณ ลานดารา ซึ่งเป็นบริเวณสำหรับให้ดาราภาพยนตร์ไทยยอดนิยมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้ประทับรอยพิมพ์มือ-พิมพ์เท้าไว้เป็นอนุสรณ์[219] โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ องค์การมหาชน เปิดเผยว่า “ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ คือธงไชยอยู่ในใจของคนไทยทุกคนทุกวัย สร้างความสุขให้กับทุกบ้าน การที่เขามาที่นี่ก็เป็นการนำเอาความสุขมาประทับรอยจารึกไว้ เราจะรักษาสืบไปอาจจะเป็น 100 ปีข้างหน้า จะเป็นตำนาน เป็นความทรงจำอย่างหนึ่ง เป็นประวัติศาสตร์ เป็นจดหมายเหตุอย่างหนึ่ง”[220]

 
ธงไชยในงานแถลงข่าวการ์ตูนเบิร์ดแลนด์แดนมหัศจรรย์ ปี 2553

ปี พ.ศ. 2554 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด และทีมงานฮอลลีวู้ด [221] สร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น “เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์” ซึ่งนำคาแรกเตอร์ของธงไชย แมคอินไตย์ มาสร้างเป็นตัวละครหลักของเรื่อง โดยออกอากาศ ปี พ.ศ. 2554 ทางไทยทีวีสีช่อง 3[222] โดยในงานแถลงข่าว ปี พ.ศ. 2553 บุษบา ดาวเรือง ผู้บริหารแกรมมี่ กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกนำคาแรกเตอร์ของธงไชยมาสร้างว่า "เนื่องจากพี่เบิร์ดเป็นขวัญใจของประชาชน เรื่องของคาแรกเตอร์ของพี่เบิร์ด เป็นอะไรที่ชัดเจนที่คนเห็นจับจ้องได้มาตลอด แล้วโดยธรรมชาติของพี่เบิร์ดก็เป็นการ์ตูนอยู่ในตัวอยู่แล้ว เลยเกิดเป็นโปรเจกท์นี้ขึ้นมา"[223]สำหรับประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารช่อง 3 กล่าวถึงการสนับสนุนการ์ตูนเรื่องนี้ว่า "เรื่องของดนตรีและจินตนาการ ทางช่อง 3 เห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะปลูกฝังทั้ง 2 เรื่องนี้ให้กับเด็กและเยาวชนของไทย เพื่อให้พวกเขาสร้างสีสันให้กับสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น" [224] โดยธงไชยเป็นผู้พากย์เสียงตัวละครหลัก "พี่เบิร์ด"[225] และเป็นผู้ขับร้องเพลง "เบิร์ดแลนด์แดนมหัศจรรย์" ซึ่งซีซั่นแรกได้นำไปฉายเผยแพร่กว่า 70 ประเทศทั่วโลก ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 จัดทำตอน "ตามรอยพระราชา" ซึ่งสนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา[226]

ปี พ.ศ. 2557 บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวโครงการส่งเสริมการสื่อสารของคนไทยผ่านการเขียนผ่านจดหมาย ณ ห้องไปรษณีย์ฤดีสราญ ชั้น 3 อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก โดยจัดทำโปสการ์ดภายใต้ชุด เลิฟ ซีรีส์ จากบทเพลงของธงไชย "เขียนคำว่ารัก" จำนวน 5 รูปแบบ และจัดทำแสตมป์ภาพธงไชย จากโปสการ์ดชุดดังกล่าวเป็นที่ระลึกและสามารถส่งได้จริง จำนวน 2 รูปแบบ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยทุกเพศ ทุกวัย หันมาให้ความสำคัญ และรักการเขียนเพิ่มมากขึ้น[227] ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 มีการจัดทำสแตมป์ภาพธงไชยอีกจำนวน 1 ชุด ภายใต้โครงการดังกล่าว พร้อมจัดแสดง ณ บูธไปรษณีย์ไทย ภายในงานคอนเสิร์ตขนนกกับดอกไม้ ณ อิมแพ็ค อารีน่า สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถสะสมเป็นของที่ระลึกโดยสั่งจองได้จากทางเว็บไซต์ที่เกี่ยวเนื่องของไปรษณีย์ไทย หรือพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน[228][229]

 
นิทรรศการศิลปะธงไชย ปี 2565

ปี พ.ศ. 2565 บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จัดแสดงนิทรรศการ Bird’s Memories Immersive Exhibition ณ ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปี บนเส้นทางสายดนตรีของธงไชย โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน - 23 ตุลาคม 2565 ในรูปแบบดิจิทัลอาร์ต 360 องศา[230] โดยภายในงานนิทรรศการแบ่งออกเป็น 9 ห้อง ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวของธงไชยจากผลงานเพลง และคอนเสิร์ตในรอบ 36 ปีที่ผ่านมา ในรูปแบบของแสง สี เสียง อินเทอร์แอคทีฟเลเซอร์ ร่วมกับการจัดแสดงสิ่งที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เครื่องแต่งกายจริงที่ใส่ในการแสดงคอนเสิร์ต ของสะสมจากงานต่างๆ ของเขา เป็นต้น[231]

ปี พ.ศ. 2566 เน็ตฟลิกซ์ ร่วมกับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จัดสตรีมมิ่งคอนเสิร์ตของธงไชย ทั้งหมดจำนวน 32 คอนเสิร์ต ที่จัดแสดงในรอบ 36 ปีของเขา เผยแพร่บน Netflix เป็นครั้งแรก เช่น แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ขนนกกับดอกไม้ คอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม ซึ่งคอนเสิร์ตของเขาสร้างปรากฏการณ์ให้กับคอนเสิร์ตไทยหลายคอนเสิร์ต เช่น คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 5 มีรอบการแสดงมากที่สุด 29 รอบ คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 9 มียอดผู้ซื้อบัตรเข้าชมสูงสุดกว่า 120,000 คน คอนเสิร์ต ฟ.แฟน มียอดขายบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตมากกว่า 1 ล้านแผ่น เป็นต้น[232]

 
นิทรรศการศิลปินแห่งชาติ ปี 2567

ปี พ.ศ. 2567 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานวันศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่ประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ แก่สาธารณชนในวงกว้าง อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้ศิลปินแห่งชาติได้มีขวัญกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานอันล้ำค่า พัฒนางานศิลปะให้ตกทอดเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแก่ลูกหลานสืบไป และมีพิธีเปิดนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 จำนวน 12 คน โดยมี ธงไชย แมคอินไตย์ ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) โดยนิทรรศการดังกล่าวเปิดให้เข้าชมที่อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 9 มีนาคม 2567[233]

รางวัลเกียรติยศ

แก้
 
รางวัลส่วนหนึ่งของธงไชย แมคอินไตย์
ผลรวม
ชนะ120
การเสนอชื่อ52

ก่อนเข้าวงการเพลง ธงไชยเคยได้รับรางวัล "นักร้องดีเด่น" และรางวัลพิเศษจากคณะกรรมการอีก 2 รางวัล จากการเข้าร่วมประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย สยามกลการ และเมื่อเข้าวงการบันเทิงเขาได้รับรางวัลประเภทนักร้องเป็นหลัก โดยเขามีอัลบั้มเต็ม และอัลบั้มพิเศษต่าง ๆ รวมแล้วมียอดจำหน่ายมากกว่า 25 ล้านชุด และมียอดจำหน่ายสูงสุดตลอดกาลติดระดับแนวหน้าของเอเชีย[7] เขาได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลนักร้องยอดนิยมคนแรกของทวีปเอเชีย จากการประกาศรางวัล Billboard Viewer’s Choice Awards Thailand[1] รางวัล Favorite Artist Thailand ณ ประเทศสิงคโปร์ จากผลรางวัลเอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ครั้งที่ 3 เป็นต้น นอกจากนั้นเขาได้รับรางวัลที่เกี่ยวเนื่องประเภทผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงประกอบละครโทรทัศน์ มิวสิกวิดีโอ อัลบั้ม และคอนเสิร์ต

นอกจากรางวัลในฐานะนักร้องแล้ว เขายังได้รับรางวัลในฐานะนักแสดง ซึ่งธงไชยแสดงภาพยนตร์ไทยทั้งหมด 7 เรื่อง โดยบทบาทสำคัญในการก้าวสู่การเป็นพระเอกภาพยนตร์อย่างเต็มตัว ในปี พ.ศ. 2528 จากภาพยนตร์ เรื่อง ด้วยรักคือรัก ส่วนด้านละครเรื่องแรกเขาเริ่มจากบทบาทนักแสดงสมทบในละครน้ำตาลไหม้ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้แสดงสมทบยอดเยี่ยม สำหรับบทบาทพระเอกละครที่สร้างชื่อเสียงที่สุด ในปี พ.ศ. 2533 ละครคู่กรรม ออกอากาศทางช่อง 7 สร้างประวัติศาตร์ละครที่มีเรตติ้งสูงสุดของไทย เรตติง 40[13]การสวมบทบาทเป็น "โกโบริ" ทำให้เขาได้รับรางวัลใหญ่ในยุคนั้นทั้ง 2 รางวัล คือ รางวัลนักแสดงนำชายดีเด่น จากงานประกาศผลรางวัลเมขลา ครั้งที่ 10 และรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 5 และละครที่สร้างชื่อเสียงให้เขาต่อมาคือละครวันนี้ที่รอคอย ในบทบาท "เจ้าซัน" ซึ่งได้รางวัลเช่นกัน นอกจากการเป็นนักร้อง และนักแสดงแล้วเขายังมีบทบาทด้านการเป็นพิธีกร ที่โดดเด่นเขาได้รางวัลเมขลาด้านผู้ดำเนินรายการดีเด่นชาย จากการเป็นพิธีกร 7 สีคอนเสิร์ต ปี พ.ศ. 2529[234] สำหรับด้านภาพลักษณ์ เขาได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลขวัญใจมหาชน ซุปเปอร์สตาร์ตลอดกาล เป็นต้น[235][236] [237] และจากการที่เขาประสบความสำเร็จในอาชีพ และเป็นที่นิยมมาโดยตลอด ประกอบกับการประพฤติปฏิบัติดี ทำให้เขาได้รับรางวัลเกียรติยศ อาทิ รางวัลศิลปินแห่งชาติ[238] รางวัลบันเทิงเทิดธรรม[239] รางวัลนักร้องเพลงไทยสากลทรงคุณค่าตลอดกาล[240] รางวัล Lifetime Achievement award[241][242] เป็นต้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 หนังสือศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2565. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม: กระทรวงวัฒนธรรม. 2565. pp. 208–235. ISBN 9786165438339. สืบค้นเมื่อ 2024-04-18.
  2. 12 ศิลปินแห่งชาติ ปี 2565 ‘เบิร์ด ธงไชย’ สาขาศิลปะการแสดง
  3. "5 อันดับ คนดัง ครองบัลลังก์ซุปตาร์:ธงไชยอันดับ 1". undubzapp. 2016-01-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-19.
  4. "60 ปี พี่เบิร์ด 'ธงไชย แมคอินไตย์' ข้อดีความจน ที่มาพี่เบิร์ดรักทุกคน:บทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ซุปเปอร์สตาร์อันดับ 1 ตลอดกาล". ไทยรัฐ. 2018-09-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-14.
  5. "30 ปี แห่งที่สุดของแกรมมี่ บนเส้นทางสายดนตรี". ประชาชาติธุรกิจ. 2012-11-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04.
  6. "นักร้องยอดนิยมแห่งปี 2010". สนุก.คอม. 2010-11-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26.
  7. 7.0 7.1 "เบิร์ดนักร้องยอดนิยม เป็นระดับแนวหน้าของเอเชีย จากการจัดระดับโดยนิตยสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์วีกลี่". สนุก.คอม. 2010-11-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-01. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  8. "พี่เบิร์ด ธงไชย สุดเจ๋ง ยอดจำหน่ายรวมสูงสุดตลอดกาลอันดับ 2 ของเอเชีย (Forbes ent. ranking 2009)". สวนบอร์ด. 2009-01-04.
  9. "รีวิว ละครเวที "แฟนจ๋า เดอะมิวสิคัล" บนทรูไอดีพลัส". ทรู. 2021-06-05.
  10. "แกรมมี่เผยรายชื่อ อัลบั้มยอดขายล้านตลับตลอด 33 ปี เบิร์ด ธงชัย จัดไป 9 อัลบั้ม". bugaboo.tv. 2017-04-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-22. สืบค้นเมื่อ 2018-10-17.
  11. "8 ธันวาคม 2501 วันเกิด เบิร์ด-ธงไชย ไอดอลที่เชื่อมทุก Gen กับยอดขายทะลุล้านตลับมากที่สุดในประเทศ". สปริงนิวส์. 2021-12-08. สืบค้นเมื่อ 2022-04-13.
  12. "ย้อนรอยล้านตลับแตกอัลบั้มเพลงป็อบศิลปินแกรมมี่ในยุค "เทปคาสเซ็ท"". เอไทม์. 2022-04-13.
  13. 13.0 13.1 13.2 "ตำนานคู่ขวัญสะเทือนเรตติ้ง 'โกโบริเบิร์ด-อังศุมาลินกวาง'". คมชัดลึก. 2018-05-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-11.
  14. "จุดเปลี่ยนสู่สถานะ "ซูเปอร์สตาร์" ของ "เบิร์ด ธงไชย"". มติชนสุดสัปดาห์. 2019-08-26.
  15. 15.0 15.1 15.2 "อภิมหาดารา 'ธงไชย แมคอินไตย์' ชีพจรเพลง-พลังอมตะเอนเตอร์เทนเนอร์". เวิร์คพอยท์ทูเดย์. 2022-02-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-03.
  16. 16.0 16.1 "GMM GRAMMY : Best of the year อัลบั้มที่ดีที่สุดของแกรมมี่ ปี 1991". GMM Superstar. 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2022-05-12.
  17. 17.0 17.1 "7+1 อัลบั้มสุดฮิต "พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์" ฟันยอดขายเกิน 1 ล้านชุด". ผู้จัดการออนไลน์. 2019-10-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-25. สืบค้นเมื่อ 2022-03-13.
  18. "รวมศิลปินชาย ผู้ทุบสถิติยอดขาย "ล้านตลับ" อย่างยิ่งใหญ่". สนุก.คอม. 2016-10-31.
  19. "ตั้งฉายาดาราประจำปี เขย่าวงการบันเทิงปีแรก". สนุก.คอม. 2005-12-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-25. สืบค้นเมื่อ 2017-12-04.
  20. "10 ฉายาดาราแห่งปี 2550". สนุก.คอม. 2007-12-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2017-12-04.
  21. 21.0 21.1 21.2 "ผลสำรวจเรื่อง "เบิร์ด : ทำไมจึงยังครองความเป็นซุปเปอร์สตาร์"". มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2002. สืบค้นเมื่อ 2015-03-21.[ลิงก์เสีย]
  22. "EP.32 ธงไชย แมคอินไตย์ ในวัย 62 ย้อนมองชีวิตตัวเองในวัย 30 40 50". the cloud. 2022-12-08. สืบค้นเมื่อ 2024-06-02.
  23. "8 ธันวาคม 2501 วันเกิด เบิร์ด ธงไชย ศิลปินที่มียอดขายทะลุล้านตลับ มากสุดในไทย". Sping. 2021-12-08. สืบค้นเมื่อ 2024-06-02.
  24. 24.0 24.1 เจียรวนาลี, ศิวะภาค; มหันต์เชิดชูวงศ์, ลลิลา (2015). 30 ความทรงจำเล่าสู่กันฟังโดยธงไชย. ปีที่ 15 ฉบับที่ 176: อะเดย์. p. 109. ISSN 1513-6205.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  25. "รวมดาราไทย เคยลำบากมาก่อน ในวัยเด็ก กว่าจะมีวันนี้". สุดสัปดาห์. 2017-08-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-24.
  26. 26.0 26.1 26.2 ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินขวัญใจประชาชน. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1: หนังสือพิมพ์เอกชน. 1991. pp.15-48. สืบค้นเมือ 2018-06-02.
  27. การศึกษาธงไชย แมคอินไตย์. ฉบับที่ 9: นิตยสารแฮมเบอร์เกอร์. 2015. p. 24. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  28. 28.0 28.1 "ธงไชย แมคอินไตย์ ดาวดวงที่ 100". หอภาพยนตร์(องค์กรมหาชน). 2022-03-30. สืบค้นเมื่อ 2022-04-03.
  29. "ดาราคนไหนบ้าง เคยเรียนสายอาชีพ มาก่อน?". campus-star. 2017-01-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-19. สืบค้นเมื่อ 2018-10-14.
  30. 30.0 30.1 "เบิร์ด ธงไชยสุดภูมิใจขึ้นแท่นด็อกเตอร์พี่เบิร์ดขอบคุณทุกโอกาส". ไทยรัฐ. 2021-05-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-13. สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
  31. "เบิร์ด ธงไชย เข้าพิธีรับพระราชทานปริญญา". มติชน. 2022-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-21. สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
  32. เจียรวนาลี, ศิวะภาค; มหันต์เชิดชูวงศ์, ลลิลา (2015). 30 ความทรงจำเล่าสู่กันฟังโดยธงไชย. ปีที่ 15 ฉบับที่ 176: อะเดย์. p. 110. ISSN 1513-6205.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  33. ""พี่เบิร์ด" อาลัย "สรพงศ์" ไม่ลืมเล่นหนังเรื่องแรก "บ้านสีดอกรัก"". topnews. 2022-03-11. สืบค้นเมื่อ 2022-09-09.
  34. "ปิดตำนานเวทีสยามก��การ ปิดตำนานผู้สร้างนักร้องคุณภาพเมืองไทย". สนุก.คอม. 2013-10-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-25. สืบค้นเมื่อ 2018-06-03.
  35. "'เบิร์ด ธงไชย' จากหนุ่มแบงก์-พนักงานต้อนรับ สู่ศิลปินแห่งชาติ เบอร์หนึ่งในใจตลอดกาล". thepeople. 2023-08-25. สืบค้นเมื่อ 2023-09-09.
  36. เจียรวนาลี, ศิวะภาค; มหันต์เชิดชูวงศ์, ลลิลา (2015). 30 ความทรงจำเล่าสู่กันฟังโดยธงไชย. ปีที่ 15 ฉบับที่ 176: อะเดย์. p. 113. ISSN 1513-6205.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  37. "ปุ๊ อัญชลี 37 ปี ในวงการ ความคิดตกตะกอนในวัย 65 ยอมรับเคยนิสัยไม่น่ารัก". ไทยรัฐ. 2021-10-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-13. สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
  38. "วันวาน-วันนี้ของคู่จิ้นยุค 90". หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-14. สืบค้นเมื่อ 2018-05-03.
  39. "เบิร์ด ควง ปุ๊ อัญชลี ขึ้นเวทีในรอบ 29 ปี คอนเสิร์ต ขนนกกับดอกไม้". เอ็มไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-23. สืบค้นเมื่อ 2018-05-03.
  40. "10 ความสำเร็จ "เบิร์ด ธงไชย" ที่ผู้คนยกย่องให้เป็นซูเปอร์สตาร์". สนุก.คอม. 2016-10-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-23. สืบค้นเมื่อ 2022-03-25.
  41. "GMM GRAMMY : Best of the year อัลบั้มที่ดีที่สุดของแกรมมี่ ปี 1986". GMM Superstar. 2021-02-15. สืบค้นเมื่อ 2022-05-10.
  42. เจียรวนาลี, ศิวะภาค; มหันต์เชิดชูวงศ์, ลลิลา (2015). 30 ความทรงจำเล่าสู่กันฟังโดยธงไชย. ปีที่ 15 ฉบับที่ 176: อะเดย์. p. 117. ISSN 1513-6205.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  43. "Singing Bird การคืนสู่รากเหง้าของซูเปอร์สตาร์ชื่อ 'เบิร์ด-ธงไชย'". themomentum. 2019-08-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-27. สืบค้นเมื่อ 2022-03-27.
  44. เจียรวนาลี, ศิวะภาค; มหันต์เชิดชูวงศ์, ลลิลา (2015). 30 ความทรงจำเล่าสู่กันฟังโดยธงไชย. ปีที่ 15 ฉบับที่ 176: อะเดย์. p. 118. ISSN 1513-6205.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  45. "GMM GRAMMY : Best of the year อัลบั้มที่ดีที่สุดของแกรมมี่ ปี 1987". GMM Superstar. 2021-03-08. สืบค้นเมื่อ 2022-05-10.
  46. ""เบิร์ดธงไชย"...ดังข้ามไปประเทศจีน". สืบค้นเมื่อ 2018-05-03.
  47. แสงสุวรรณ์, มิ่งขวัญ (2008-03-22). งานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ 2008. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. p. 1. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  48. "รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รัก" ยุทธนา มุกดาสนิท ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์). ปีที่ 53 ฉบับที่ 4: วารสารวัฒนธรรม. 2018. pp. 77, 80. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-27. สืบค้นเมื่อ 2022-03-13.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  49. 49.0 49.1 "ไม่ใช่ "เบิร์ด ธงไชย" ไม่มีใครทำได้! "แบบเบิร์ดเบิร์ด" ในวัยแซยิด". มติชนสุดสัปดาห์. 2018-11-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-06. สืบค้นเมื่อ 2021-08-14.
  50. 50.0 50.1 "33 ปี 162 รอบ แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์เกิดทันดูครั้งไหนกัน". LINE TODAY. 2019-03-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-12. สืบค้นเมื่อ 2019-08-19.
  51. "GMM GRAMMY : Best of the year อัลบั้มที่ดีที่สุดของแกรมมี่ ปี 1990". GMM Superstar. 2021-06-25. สืบค้นเมื่อ 2022-05-12.
  52. "เพลงเขาดังจริง!!! 33 อัลบั้มขายดีที่สุด(ตลอดกาล)จากแกรมมี่". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-04-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-25. สืบค้นเมื่อ 2018-10-17.
  53. "GMM GRAMMY : Best of the year อัลบั้มที่ดีที่สุดของแกรมมี่ ปี 1990". GMM Superstar. 2021-06-25. สืบค้นเมื่อ 2022-05-12.
  54. "เล่าชีวิตผ่านเพลง - "เบิร์ด ธงไชย"". กรุงเทพธุรกิจ. 2019-07-19. สืบค้นเมื่อ 2022-04-07.
  55. "รำลึกวันวาน"สมเด็จพระเทพฯ" ทรงเป่าทรัมเป็ตเพลงคู่กัดกับเบิร์ด ธงไชย". โพสต์ทูเดย์. 2016-10-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2017-05-03.
  56. "ตำนานล้านตลับ! 10 อัลบั้มเพลงป็อป ยอดขายสูงสุด Grammy". undubzapp. 2017-06-12.
  57. "6 เมษายน 2534 – ครบรอบ 30 ปี อัลบั้ม พริกขี้หนู ของเบิร์ด ธงไชย". เดอะสแตนดาร์ด. 2021-04-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-18. สืบค้นเมื่อ 2022-03-27.
  58. 58.0 58.1 58.2 "10 ตำนานคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ด ที่ยังคงประทับใจ". สนุก.คอม. 2013-08-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-28. สืบค้นเม���่อ 2018-10-14.
  59. "'เบิร์ด-ธงไชย เทรน 'อ๋อมย้อนรอย,วันนี้ที่รอคอย ในปีพ.ศ. 2536 โด่งดังเป็นพลุแตก". สยามสปอร์ต. 2013-06-14. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  60. "ส่อง 10 เวอร์ชั่นของ "โกโบริ" พระเอกผู้น่าสงสารใน "คู่กรรม"". ดาราเดลี่. 2017-09-12.
  61. "เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนพิธีเปิด ธันวาคม ปี 2538 ช่อง 7 สี". ช่อง 7. 1995. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-14.
  62. "พี่เบิร์ด อุปสมบท 8 ธ.ค.2540 (pBird ordained 1997)".{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  63. "พี่เบิร์ด ธงไชย อุปสมบท". YouTube. 2012-09-30.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  64. ประมวลภาพงานพระราชทานเพลิงศพคุณแม่อุดม แมคอินไตย์. ฉบับพิเศษ. หนังสือดาราภาพยนตร์. 2001. p. 20
  65. "33 อัลบั้มที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของ 33 ปีแกรมมี่". GMM Superstar. 2017-05-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-03. สืบค้นเมื่อ 2018-11-04.
  66. "GMM Superstar : อัลบั้มที่ดีที่สุดของแกรมมี่ ปี 80s-00s (1983-2009)". pictame.com. 2016-11-19. สืบค้นเมื่อ 2018-11-04.[ลิงก์เสีย]
  67. "เอแบคโพลล์: สุดยอดแห่งความประทับใจของประชาชนต่อนักกีฬาและคนบันเทิงในรอบปี2544". อาร์วายทีไนท์. 2001-12-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-21. สืบค้นเมื่อ 2018-10-16.
  68. "สวนดุสิตโพล: ที่สุดแห่งปี 2544". อาร์วายทีไนท์. 2001-12-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-21. สืบค้นเมื่อ 2018-10-16.
  69. "ความเห็นยอดนิยมของคนกรุงในรอบปี พ.ศ. 2545 หมวดเพลงไทยสากลยอดนิยม". กรุงเทพโพลล์. 2002-12-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-02. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  70. "เบิร์ด ควงคู่ 3 สาว จิน-นัท-แคท เปิดตัวอัลบั้ม ชุดรับแขก". สยามโซน.คอม. 2002-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-05-15.
  71. "สนุกไม่มียั้ง คอนเสิร์ต ฟ.แฟน ฟันแฟร์ ของ เบิร์ด ธงไชย". สยามโซน.คอม. 2003-02-27. สืบค้นเมื่อ 2022-05-15.
  72. "เบิร์ด ศิลปินไทยยอดนิยม เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส์ 2004". สยามโซน.คอม. 2004-02-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-14. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  73. "จำได้ไหม!! อัลบั้ม เบิร์ด-เสก ครั้งแรกในการเป็นร็อคเกอร์ของพี่เบิร์ด". สนุก.คอม. 2015-11-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-26. สืบค้นเมื่อ 2022-03-26.
  74. "สนุกกันแบบเต็มที่ไม่มีอั้นในคอนเสิร์ต เบิร์ดซน เบิร์ด-เสก". สยามโซน. 2004-06-09. สืบค้นเมื่อ 2022-05-20.
  75. "สวนดุสิตโพล: ที่สุดแห่งปี 2547". อาร์วายทีไนท์. 2004-12-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-04. สืบค้นเมื่อ 2022-03-26.
  76. "ตีท้ายครัวย้อนหลังป้างนครินทร์". guchill. 2013-09-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-26. ส��บค้นเมื่อ 2018-10-16.
  77. "ผลรางวัล แชนแนล วี ไทยแลนด์ มิวสิกวิดีโอ อะวอร์ดส์ #5". สยามโซน.คอม. 2006-06-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-23. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  78. 78.0 78.1 "เอแบคโพลล์: ที่สุดของกีฬาและบันเทิงแห่งปี 2548: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ". อาร์วายทีไนท์. 2005-12-30.
  79. "เบิร์ด ดึง 5 สาวฝีปากกล้า ร่วมคอนเสิร์ต โอ้ละหนอ มาย เลิฟ". สยามโซน. 2005-09-08. สืบค้นเมื่อ 2022-05-16.
  80. "หนังสือพิมพ์ The Nation 35 most Influential Thais". หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-28. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  81. "ผู้ทรงอิทธิพลของวงการบันเทิงปี 49". เอ็มไทย. 2007-01-04. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.[ลิงก์เสีย]
  82. "ใช้นวัตกรรมซอฟต์แวร์สร้าง-"thailand-top-chart-2006"-ครั้งแรกในไทย". positioning magazine. 2007-01-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-29. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  83. "ฟลอร์ 'เบิร์ด' สวย-เก่ง แดนซ์ระเบิด! 'อ้อม-นุ่น-กบ-พิ้งกี้-โชว์เกิร์ล' เปรี้ยว". สยามโซน. 2007-03-13. สืบค้นเมื่อ 2022-05-16.
  84. "กระตุ้นเที่ยวไทย...แบบเบิร์ดๆ". ��ู้จัดการออนไลน์. 2009-03-16. สืบค้นเมื่อ 2021-05-11.
  85. "50 อัลบั้มที่ขายด��ที่สุดในยุคดิจิตอล 2007 - 2017". GMM Superstar. 2017-08-21. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.[ลิงก์เสีย]
  86. "เหลียวหลังมองธุรกิจเพลงปีกระต่าย". คมชัดลึก. 2012-01-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-11. สืบค้นเมื่อ 2018-11-01.
  87. "พี่เบิร์ด ดังไกล เกิร์ลกรุ๊ปญี่ปุ่นซื้อเพลงไปคัฟเวอร์-วง Berryz Koubou". กระปุก.คอม. 2012-07-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-17. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  88. ""สรุปคอนเสิร์ตสุดร้อนแรงแห่งปี พ.ศ. 2554"". สนุก.คอม. 2011-12-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-19. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  89. "ที่สุดแห่งปี-2-ค่ายเพลงย". บ้านเมือง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-28. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  90. 90.0 90.1 ""กระทรวงวัฒนธรรมฯ"จับมือ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ" - "เชลล์ฮัทฯ" และ "ช่อง3" ร่วมส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมไทย.....ส่งซีรีส์การ์ตูน "เบิร์ดแลนด์…แดนมหัศจรรย์" ซีซั่น 3 ตอนพิเศษเพื่อเยาวชน". จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. 2013-03-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-25. สืบค้นเมื่อ 2021-03-04.
  91. 91.0 91.1 "'เบิร์ด' ปลื้ม 'อีกไม่นาน' ไทย-ญี่ปุ่นแรง". ไทยรัฐออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-27. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  92. "ซี้ดเบิร์ดฟัน30ล้านค่าจ้างพรีเซนเตอร์ส่วนแบบเบิร์ดเบิร์ดเพิ่มอีก 1 รอบรวมแล้ว 10 รอบ". สยามดารา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-03. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  93. "แบบ เบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 10 แรงเกินต้าน เพิ่มรอบด่วน เพื่อแฟน". ไทยทิคเก็ตเมเจอร์. 2012-09-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-06. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  94. "The 64th Sapporo Snow Festival (2013)". Sutenm.com. 2013-02-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-21. สืบค้นเมื่อ 2022-03-27.
  95. "ตามดู เบิร์ด ธงไชย ในงานเทศกาลหิมะซัปโปโร ครั้งที่ 64". popcornfor2. 2013-02-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-27. สืบค้นเมื่อ 2022-03-27.
  96. "ASEAN-Japan Music Fair คอนเสิร์ตแสดงดนตรีและวัฒนธรรม ครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่น กับ กลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ". jimdo.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  97. "เบิร์ด-ธงไชยได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน ASEAN-Japan Music Fair ณ ประเทศญี่ปุ่น". สยามสปอร์ต. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-21. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  98. 98.0 98.1 "เบิร์ด ธงไชย คว้า Japan Tourism Award 2013 จากการท่องเที่ยวญี่ปุ่น". สนุก.คอม. 2014-03-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  99. "แจ้งเกิด 5 เล่มใหม่ เปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 42". เครือผู้จัดการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  100. "สื่อญี่ปุ่นยกเบิร์ดเป็นไมเคิล แจ็คสัน เมืองไทย". TLCnews. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-05. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  101. "คุ้มค่าที่รอคอย! "ขนนกกับดอกไม้ ดิออริจินัล" ฟินเวอร์". สนุก.คอม. 2015-03-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-04. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  102. "เบิร์ด-ธงไชยดีใจ ชวนแฟนเพลงไทย-พม่าแลกเปลี่ยนมิตรภาพความสุขร่วมกันในคอนเสิร์ต". สยามดารา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  103. ""เบิร์ด" สร้างปรากฏการณ์สนามบินพม่าแตก สุดปลื้มได้รางวัล "Lifetime Achievement Award"". ดาราเดลี่. 2015-04-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  104. ""เบิร์ด" ภูมิใจรับ "แบรนด์แอมบาสเดอร์" สื่อสาร แคมเปญ "จากดินสู่ดาว…ด้วยพลังแห่งความรัก"โดยมีผู้สนับสนุน ดาวเฮืองกรุ๊ป ผู้ผลิตดาวคอฟฟี่ จากประเทศลาว". starupdate. 2016-02-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  105. "บันเทิงไทยใต้ร่มพระบารมี (1) : "เบิร์ด…เป็นนักร้องก็ดีที่หนึ่ง เป็นเกษตรกรก็ดีที่หนึ่ง"". มติชนสุดสัปดาห์. 29 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2024.
  106. "สน-วิว-พี่เบิร์ด ถ่ายทอด "ให้" สุดซึ้ง"เราเกิดในรัชกาลที่ ๙ เดอะซีรีส์"". ผู้จัดการออนไลน์. 2016-11-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-26. สืบค้นเมื่อ 2018-06-04.
  107. "ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ...ในหลวงร.10 เปิดพื้นที่เขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต ให้ประชาชนชมการแสดงดนตรีชุด แผ่นดินของเรา". Tnews. 2017-07-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-09. สืบค้นเมื่อ 2018-06-04.
  108. "เบิร์ด ธงไชย ซาบซึ้ง เข้าถวายพระเพลิงพระบรมศพ กราบลาครั้งสุดท้าย". ไทยรัฐ. 2017-10-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-26. สืบค้นเมื่อ 2017-11-30.
  109. "เบื้องหลัง Bird Marathon Project". นิตยสาร เดอะ คลาวด์. 2017-11-15. สืบค้นเมื่อ 2017-12-04.
  110. "ศิลปินรุ่นใหม่ โคตรคูล ได้ประกบทำเพลงกับ พี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์". ทรู มิวสิค. 2018-01-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-03. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  111. "เผยแล้วรายชื่อผู้ชนะรางวัล Joox Thailand Music Award พ.ศ. 2561". สนุก.คอม. 2018-03-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-27. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  112. "เผยกลับมาให้หายคิดถึง แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์-DREAM JOURNEY เริ่มจองบัตร". กระปุก.คอม. 2018-03-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2018-06-03.
  113. "ไม่พูดเยอะ เจ็บคอ! บัตรแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 11 SOLD OUT ทุกรอบ ทุกที่นั่ง". ไทยทิคเก็ตเมเจอร์. 2018-10-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-27.
  114. "จากสลัมสู่สตาร์ เปิดที่มา "ซุปเปอร์สตาร์" เมืองไทย". line today. 2019-04-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26.
  115. "SINGING BIRD เพิ่มรอบ "เบิร์ด-ธงไชย" ขอบคุณแฟนๆ". ไทยรัฐ. 2019-06-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-05.
  116. "เบิร์ด ธงไชยกับครั้งหนึ่งในชีวิต ร่วมแสดงละคร "ในสวนฝัน ผสานใจภักดิ์จงรักนฤบดี"". ไทยรัฐ. 2019-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-22. สืบค้นเมื่อ 2019-11-23.
  117. "เบิร์ด ธงไชยภูมิใจเป็นตัวแทนคนไทย ถวายงานร้องเพลง "ลาวคำหอม"". พีพีทีวี Online. 2019-05-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-19.
  118. "แกรมมี่จัดทำเพลงพิเศษ'จิตอาสา'ร่วมเชิดชูคุณความดีจิตอาสาทั่วประเทศ". มติชน. 2 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  119. "ให้โลกได้เห็น". ไทยรัฐออนไลน์. 2021-01-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-30.
  120. "ซุปตาร์ "เบิร์ด ธงไชย" ใช้ภาษาไทยดีเด่น ถ่ายทอดบทเพลงให้พลังใจ". ไทยรัฐออนไลน์. 2021-07-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-29.
  121. ""เบิร์ด ธงไชย" แทนใจพระนาง ส่งความรู้สึกผ่าน "ใครคิดถึง" เพลงประกอบละคร "วิมานทราย"". จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. 2021-11-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-27.
  122. "ยิ่งกว่าฝัน "หนุ่ม กะลา" ร่วมงาน "เบิร์ด-ธงไชย" คว้า "กลัฟ-โบว์" เล่น MV". ไทยรัฐ. 2021-12-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-25.
  123. ""เบิร์ด ธงไชย" คว้าปริญญา ตั้งฉายาให้ตัวเอง ด็อกเตอร์แดนซ์ ขอสู้โควิดเตรียมขึ้นคอนเสิร์ต พ.ย. นี้". ผู้จัดการออนไลน์. 2022-03-21.
  124. "สุดภูมิใจ! "เบิร์ด – ธงไชย" คว้าปริญญาเอกสำเร็จ พร้อมมอบเป็นของขวัญให้คุณพ่อและแม่". เดลินิวส์. 2022-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-21.
  125. "เบิร์ด ธงไชย จัดเต็ม อัลบั้ม-คอนเสิร์ต-MV ใหม่ สมการรอคอย". สนุก.คอม. 2022-07-29. สืบค้นเมื่อ 2022-08-04.
  126. "'เพลงที่ไม่มีใครฟัง' ซิงเกิลใหม่ 'เบิร์ด ธงไชย' ที่แฟน ๆ รอฟังด้วยความคิดถึง". เวิร์คพอยท์. 2022-04-22. สืบค้นเมื่อ 2022-07-22.
  127. "เร่เข้ามา! มากองรวมกันตรงนี้ ซิงเกิลใหม่จาก เบิร์ด ธงไชย ที่โอบกอดคนสิ้นหวังว่าในวันที่เสียน้ำตายังคงมีเรื่องดีๆ รอเราอยู่". The Standard. 2022-07-01.
  128. "เนื้อเพลง ลำไยลองกอง เพลงใหม่ 2022 ของ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ (มีคลิป)". ทรูมิวสิค. 2022-07-22. สืบค้นเมื่อ 2022-07-22.
  129. "เบิร์ด ธงไชย พร้อมเซอร์วิส "ทดลองใช้" ควงคู่ อั้ม พัชราภา ทดลองเข้าหอครั้งแรก". ไทยรัฐ. 2022-10-28. สืบค้นเมื่อ 2022-10-28.
  130. "ประกาศผล มอบรางวัล มณีเมขลา ประจำปี 2565 (นาทีที่ 1.28)". เอ็นบีที. 2022-08-22.
  131. "'เบิร์ด ธงไชย' รับรางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาศิลปะการแสดง จาก มทร.ธัญบุรี คนดังรับรางวัลเพียบ". มติชน. 2022-09-15.
  132. "SINGING BIRD #2 บันทึกความสุขีจากผลงานล้ำค่าของซูเปอร์สตาร์เหนือกาลเวลา (วันแรก)". สนุก.คอม. 2022-11-14. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
  133. ""เบิร์ด ธงไชย" โชว์สุดประทับใจ ในงานกาล่าดินเนอร์ เอเปค 2022". pptvhd36.com. 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
  134. ""เบิร์ด ธงไชย" โชว์บทเพลงสุดประทับใจ ในงานกาล่าดินเนอร์ เอเปค 2022". สนุก.คอม. 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
  135. "เบิร์ด ธงไชย ปล่อย "ฟ้อนทั้งน้ำตา" ผลักดัน SOFT POWER ความเป็นไทยให้ดังระดับโลก". สนุก.คอม. 2023-03-01. สืบค้นเมื่อ 2023-03-02.
  136. ""เบิร์ด ธงไชย" นั่งแท่นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ชวนเที่ยวทั่วไทย". เนชั่นออนไลน์. 2023-03-29. สืบค้นเมื่อ 2023-03-29.
  137. ""เบิร์ด-ธงไชย" แบรนด์แอมบาสเดอร์ททท.ชวนออกเดินทางเปิดประสบการณ์เที่ยวไทยครั้งใหม่". สยามรัฐ. 2023-03-29. สืบค้นเมื่อ 2023-03-29.
  138. "The Guitar Mag Awards 2023 งานคนดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย". spacebar. 2023-05-09. สืบค้นเมื่อ 2023-05-12.
  139. "'เบิร์ด ธงไชย' นำทีมรับรางวัล 'ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด'". ไทยโพสต์. 2023-05-25. สืบค้นเมื่อ 2023-05-26.
  140. "เบิร์ด-จิ๋ว โชว์พลังเสียง ร่วมวงซิมโฟนีออเคสตร้า ในงานกาชาดคอนเสิร์ต". สปริงนิวส์. 2023-06-30.
  141. "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร การแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 49". สภากาชาดไทย. 2023-06-28.
  142. "ปตท. x เบิร์ด-ธงไชย อิ้งค์-วรันธร ฉลอง 45 ปี มอบเพลงพิเศษ "เธอคือพลังของฉัน" แทนคำขอบคุณ". ไทยรัฐ. 2023-07-07.
  143. ""เบิร์ด-ธงไชย ครูสลา" นำทีมศิลปินแกรมมี่ เข้ารับรางวัลเพชรในเพลง ประจำปี 2566". สยามรัฐ. 2023-07-24.
  144. "สมกับละครแห่งปี! คว้า "เบิร์ด ธงไชย" ร้องเพลงประกอบละคร "พนมนาคา"". daradaily. 2023-08-25.
  145. "รางวัล HOWE ART AWARD 2023 ได้แก่ "ธงไชย แมคอินไตย์"". Howe Magazine. 2019-03-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-02. สืบค้นเมื่อ 2023-11-06.
  146. "แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ 2023 เพิ่มอีก 2 รอบ เช็กวันแสดง วันซื้อบัตรที่นี่!". mekhanews.com. 2023-07-31.
  147. "ชวนชมคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ด ครั้งที่ 12 "จักรวาลธงไชย" แถมรอบการกุศล รายได้ให้ รพ.ศิริราช". มติชน. 2023-07-26.
  148. ""เบิร์ด ธงไชย" ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565 ขอบคุณโรงลิเกที่เป็นครูทำให้ตนมีวันนี้". mgronline. 2023-08-23.
  149. "หออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม". หออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. 2024-04-20. สืบค้นเมื่อ 2024-04-21.
  150. ""เบิร์ด ธงไชย" "เบลล่า ราณี" และ "เมฆ วินัย" สุดปลื้มคว้ารางวัล "เกียรติยศ ทรงคุณค่าตลอดกาล" คมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 20". คมชัดลึก. 2024-05-28.
  151. ""เบิร์ด ธงไชย" ควง "วี วิโอเลต" คว้าศิลปินเดี่ยวยอดเยี่ยม สีสันอะวอร์ดส์ 33". MGROnline. 2024-09-26.
  152. ""ขนนก" กับ "ดอกไม้" 30 ปีในความทรงจำ". ไทยรัฐ. 2024-12-01.
  153. "ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรคอนเสิร์ต เบิร์ด ธงไชย". ไทยโพสต์. 2024-11-23.
  154. "กกต.เลือก "เบิร์ด–หนูนา" ชวนคนไทยไปเลือกตั้ง". ไทยรัฐ. 2011-06-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-28. สืบค้นเมื่อ 2022-03-29.
  155. "ศิลปินตัวอย่างพาเหรดเลือกตั้ง". คมชัดลึก. 2013-03-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-11. สืบค้นเมื่อ 2018-06-03.
  156. "นับถอยหลังเลือกตั้ง.... งัดกลยุทธ์สร้างสีสัน กระตุ้นคนไทยออกไปใช้สิทธิ์". คมชัดลึก. 2011-06-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล���งเดิมเมื่อ 2021-04-11. สืบค้นเมื่อ 2018-06-03.
  157. "เข้าพรรษานี้...ขอให้มีดวงตาเห็นธรรม". คมชัดลึก. 2011-07-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-11. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  158. ""เบิร์ด" นำทีมรณรงค์อุดหนุน "ดอกป๊อปปี้" ช่วยครอบครัวทหารผ่านศึก". สยามดารา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-26. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  159. "พี่'เบิร์ด' ชวนร่วมทำบุญ บริจาคเงินซื้อเครื่องมือแพทย์ ให้กับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์". ข่าวสด. 2018-04-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2018-08-17.
  160. 160.0 160.1 "วันเปิด "ไฟ จาก ฟ้า" พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้". ผู้จัดการออนไลน์. 2019-07-24. สืบค้นเมื่อ 2022-03-29.
  161. "สรุปผลรางวัล Thailand Influencer Awards 2019". tellscore.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-24. สืบค้นเมื่อ 2019-11-29.
  162. "120 วัน จาก ศูนย์ถึงการแบ่งปันพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึง". The Bangkok. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-24. สืบค้นเมื่อ 2019-12-20.
  163. "เที่ยวที่ไหน...ไม่สุขใจเท่าบ้านเรา". ผู้จัดการออนไลน์. 2005-03-08. สืบค้นเมื่อ 2022-03-27.
  164. "ททท. ดึงพี่เบิร์ด โปรโมต "เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก"". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2022-03-27.
  165. "รับอีกแล้ว!! ขึ้นชื่อว่าเป็น ซูเปอร์สตาร์เมืองไทย ที่ไม่มีวันตก". สนุก.คอม. 2009-10-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-27. สืบค้นเมื่อ 2022-03-27.
  166. "ททท.เลือกเบิร์ดอีกครั้งกับโครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน". สนุก.คอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-10. สืบค้นเมื่อ 2018-06-03.
  167. "31 ธ.ค. 52 นักท่องเที่ยวทั่วสารทิศแห่เที่ยวมอหินขาว จนได้รับการโหวตติด 1 ใน 5 สถานที่น่าท่องเที่ยวที่สุดของประเทศไทย". เครือเนชั่น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-02. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  168. "ข่าวเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย-ททท. ชูกลยุทธ์ Music Marketing ดึง เบิร์ด – ธงไชย ป้อง-ณวัฒน์ ประกบนางเอกจีนชื่อดัง ประชาสัมพันธ์เที่ยวไทย ผ่านมิวสิควิดีโอเพลงจีน". tatnewsthai. 2011-09-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-25. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  169. ""ททท. ดึง เบิร์ด – ธงไชย ป้อง-ณวัฒน์ โปรโมทเที่ยวไทย ผ่าน MV เพลงจีน"". ผู้จัดการออนไลน์. 2011-09-21. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  170. "ททท.ชู "เบิร์ด-ธงไชย" เชื่อมทุกวัยท่องเที่ยว". ไทยรัฐ. 2023-03-29. สืบค้นเมื่อ 2023-03-29.
  171. 171.0 171.1 "บุษบา ดาวเรือง เรื่อง 'เล็ก' น้อยนิด มหาศาล". เดอะสแตนดาร์ด. 2018-03-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-16. สืบค้นเมื่อ 2018-06-17.
  172. "เปิดบ้าน3ศิลปินแห่งชาติลำตัดคณะ'หวังเต๊ะ'". ไทยโพสต์. 2021-09-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-22. สืบค้นเมื่อ 2022-03-22.
  173. "สนุกสุดเหวี่ยงไปกับ เบิร์ด ใน 25 ปี วันของเรา Young อยู่". สยามโซน.คอม. 2012-11-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-17. สืบค้นเมื่อ 2022-03-22.
  174. "พี่เบิร์ดเอาใจแฟนเด็กเบิร์ดแลนด์แดนมหัศจรรย์". grammy. 2010-10-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-18. สืบค้นเมื่อ 2018-06-17.
  175. "เบิร์ด ธงไชยกับบทเพลงแทนใจถึงพ่อหลวง". ไทยพีบีเอส. 2016-11-30. สืบค้นเมื่อ 2022-04-07.
  176. "รวมบทเพลงของ "พ่อ" ร้องโดยเบิร์ด" ธงไชย". คมชัดลึก. 2016-10-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-20. สืบค้นเมื่อ 2018-11-11.
  177. "เปิดใจ 'เบิร์ด ธงไชย' นักร้องของพระราชา". มติชน. 2016-11-08. สืบค้นเมื่อ 2022-04-07.
  178. ""เบิร์ด ธงไชย" เปิดใจร้องไห้ทุกครั้งที่ร้องเพลงในหลวง ภูมิใจได้รับใช้เบื้องพระบาท ทรงตรัสชม". ข่าวสด. 2016-10-20. สืบค้นเมื่อ 2022-04-07.
  179. "ทรงนิพนธ์"คือ...สายใย" พระองค์ทีฯครบ1ชันษา". palungjit.org. 2006-04-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2018-11-01.
  180. "เบิร์ด-ดี้ สร้างเพลง'ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์'เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ". MusicThaiza. 2008-11-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-29. สืบค้นเมื่อ 2024-06-16.
  181. "เบิร์ด-ธงไชย นำทีม "แก้ม-กัน" ร่วมแสดงมหกรรมดนตรีไทยเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ". จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  182. หนังสือปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2559. จังหวัดปทุมธานี: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี. 2016. p. 43. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2022-03-13.
  183. 183.0 183.1 "ร้องเพลงยาวี "ซัมไปกัน ฮาตี" กับ เบิร์ด ธงไชย". ผู้จัดการออนไลน์. 2005-03-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-21. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  184. "'เบิร์ด ธงไชย' ส่งแรงบันดาลใจ ผ่าน "ชีวิตลิขิตเอง" 17ก.ย.ชมทั่วโลก". ไทยรัฐออนไลน์. 2018-09-15. สืบค้นเมื่อ 2022-04-06.
  185. "เด็กๆ ควนโนรีดีใจได้จักรยานพี่เบิร์ด-ทีวีนายกฯปู". สำนักข่าวอิศรา. 2013-01-12. สืบค้นเมื่อ 2022-04-06.
  186. ""แสงของดวงตะวัน" บทเพลงส่งต่อแรงบันดาลใจ และครั้งแรกของ เบิร์ด ธงไชย ที่บันทึกเสียงร้องจริงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์". อาร์วายทีไนท์. 2019-10-24. สืบค้นเมื่อ 2022-04-06.
  187. "วธ.จัดมอบรางวัลเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2564 เน้นรูปแบบออนไลน์". กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2021-07-19.
  188. "'พี่เบิร์ด'ส่งพลังบวก! ร้องสดเพลง'เธอผู้ไม่แพ้'เป็นกำลังใจให้ทุกคนสู้ภัยโควิด-19". แนวหน้า. 2020-04-23. สืบค้นเมื่อ 2022-04-07.
  189. "40 เพลงให้กำลังใจ ที่ช่วยเติมไฟในเวลาเหนื่อย". กระปุก.คอม. 2020-04-24. สืบค้นเมื่อ 2022-04-06.
  190. "ชาวเน็ตซึ้ง! บุคลากรจุดฉีดวัคซีน ร่วมเต้น-ร้องเพลง ส่งกำลังใจสู้ภัยโควิด เสียงขอบคุณล้นหลาม". สยามรัฐ. 2021-04-28. สืบค้นเมื่อ 2022-04-06.
  191. "รวม 19 เพลงให้กำลังใจ ชีวิตยังต้องสู้ต่อไป". punpro.com. 2020-04-27. สืบค้นเมื่อ 2022-04-06.
  192. "ศิลปินแกรมมี่ที่ได้รับรางวัลลูกกตัญญู ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดยเบิร์ด ธงไชยถ่ายทอดบทเพลง "BIKE FOR MOM" (รักที่ยิ่งกว่ารัก)". สยามดารา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-18. สืบค้นเมื่อ 2018-10-14.
  193. "เบิร์ด ธงไชย กับความอบอุ่น เยี่ยมคุณพ่อบุญธรรม หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี". กระปุก.คอม. 2017-08-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-21. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  194. "วธ.จัดคอนเสิร์ตธรรมะหาเงินบูรณะโบราณสถานพังเหตุแผ่นดินไหว". Thaimuslim. 2011-05-02. สืบค้นเมื่อ 2018-11-01.
  195. "'คมชัดลึก'รับโล่สมเด็จพระสังฆราช". คมชัดลึก. 2012-10-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2022-03-26.
  196. "ดารา ศิลปินอาทิ 'เบิร์ด-ธงไชย' 'ผู้พันเบิร์ด' 'เต๋อ-ฉันทวิทย์' รับรางวัล'พระกินรี' รางวัลบุคคลตัวอย่าง 'คนดี คิดดี สังคมดี ตามรอยพระยุคลบาท'". คมชัดลึก. 2013-01-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-26. สืบค้นเมื่อ 2022-03-26.
  197. ""เบิร์ด ธงไชย" คว้ารางวัล "ดาวเมขลา 2557"". ผู้จัดการออนไลน์. 2014-06-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-29. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  198. "พลิกพาณิชย์ศิลป์แบบ "เต๋อ เรวัต" มันสมอง-ผู้ร่วมตั้ง "แกรมมี่" ปฏิวัติเพลงไทยยุคใหม่". SILPA-MAG.COM. 2019-05-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-29. สืบค้นเมื่อ 2019-08-20.
  199. "เบิร์ด ธงไชย' ปลื้ม เข้าชิง World Music Awards 2014 (สาขา World's Best Male Artist และสาขาWorld's Best Entertainer)". วอยซ์ทีวี. 2014-04-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-04. สืบค้นเมื่อ 2019-08-18.
  200. "ปรากฏการณ์ 7 ผู้ทรงพลังในวงการบันเทิงไทยแห่งปี". วอยซ์ทีวี. 2017-01-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-16. สืบค้นเมื่อ 2019-08-18.
  201. 201.0 201.1 ดำรงชัยธรรม, ไพบูลย์ (2001-07-31). ลูกที่มีดวงสมพงษ์กับแม่. หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพนางอุดม แมคอินไตย์. pp. 99–100. สืบค้นเมื่อ 2018-10-13.
  202. "เหมือนมีใจดวงเดียวกัน "เบิร์ด" ให้กำลังใจ "นกน้อย" หลังเสียแม่". mgronline. 2008-02-07. สืบค้นเมื่อ 2023-09-09.
  203. "บุษบา ดาวเรือง หงส์เหนือมังกร". Positioning. 2007-02-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-27. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  204. พัฒนถาบุตร, พรพิชิต (1990-08-31). พรพิชิต พัตนถาบุตร คนใกล้ชิดของเบิร์ด. ปีที่ 14 ฉบับที่ 324: นิตยสารดิฉัน. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  205. "เบิร์ด ธงไชย ดาวค้างฟ้า ขวัญใจมวลชน". Gossipstar. 2012-08-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-14. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  206. "ใช้ชีวิตอย่างคนรู้จักสุข อย่าง เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์". นิตยสาร Secret. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-05. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  207. "ซุปเปอร์สตาร์ตัวจริง ดู๋ สัญญา เผยความลับของเบิร์ด ธงไชย". ที่นี่.คอม. 2016-03-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  208. 208.0 208.1 "เบิร์ด ธงไชย ผู้กินอาหารแค่ 2 ร้าน ซื้อเสื้อผ้าเอง เคยเกือบตายบนเทพีเสรีภาพ". readthecloud. 2018-08-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-14.
  209. "เบิร์ดธงไชยเร่งฟิตหุ่นลงคอนเสิร์ตใหญ่แย้มมีหนัง". ข่าวสด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-09. สืบค้นเมื่อ 2019-07-09.
  210. ""ครูโรจน์" เผยตารางซ้อมสุดเป๊ะของ "เบิร์ด ธงไชย" ก่อนขึ้นคอนเสิร์ต "Singing Bird"". สนุก.คอม. 2019-08-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-13. สืบค้นเมื่อ 2019-08-05.
  211. เจียรวนาลี, ศิวะภาค; มหันต์เชิดชูวงศ์, ลลิลา (2015). 30 ความทรงจำเล่าสู่กันฟังโดยธงไชย. ปีที่ 15 ฉบับที่ 176: อะเดย์. p. 93. ISSN 1513-6205.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  212. "60 ปี "ธงไชย แมคอินไตย์" จากเด็กน้ำเน่าในสลัมสู่ดาวจรัสบนฟากฟ้า". ผู้จัดการออนไลน์. 2018-12-09. สืบค้นเมื่อ 2022-05-03.
  213. เอนกายคุยกันแบบ สบาย สบาย กับพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์. นิตยสาร Secret. 2014-07-10. สืบค้นเมื่อ 2018-06-03.{{cite book}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  214. "ลูกหลานดารา หน้าใสๆ ใกล้จะดัง". โพสต์ทูเดย์. 2012-11-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-27. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  215. 215.0 215.1 "เบิร์ด…เป็นนักร้องก็ดีที่หนึ่ง เป็นเกษตรกรก็ดีที่หนึ่ง". มติชนสุดสัปดาห์. 2017-10-29. สืบค้นเมื่อ 2022-05-03.
  216. "'เบิร์ด ธงไชย' ยึดวิถีชีวิตเรียบง่าย บางมุมก็เหงา แต่มีความรักจากแฟน". ไทยรัฐ. 2011-08-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-19. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  217. ""เบิร์ด ธงไชย" ในวันนี้สู่วิถีความพอเพียง ตามรอยพ่อหลวง". คมชัดลึก. 2022-01-28. สืบค้นเมื่อ 2022-05-03.
  218. ""ปลูกข้าวที่เชียงรายอยากให้ทำต่อไป" ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสแก่เบิร์ด – ธงไชย ศิลปินผู้ใช้ชีวิตตามหลักพ่อหลวง". นิตยสารแพรว. 2016-10-18. สืบค้นเมื่อ 2022-05-04.
  219. "พิมพ์รอยฝ่ามือฝ่าเท้า 'เบิร์ด-ธงไชย' ลานดาราหอภาพยนตร์". ไทยรัฐ. 2010-04-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-09-19. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  220. ""เบิร์ด-ธงไชย" รายที่ 100 คนดังประทับฝ่ามือ-ฝ่าเท้าบนลานดารา". โพสต์ทูเดย์. 2010-04-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-26. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  221. "เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ อาณาจักรเพลงของซุปตาร์". คมชัดลึก. 2013-04-21. สืบค้นเมื่อ 2023-01-02.
  222. "เบิร์ดแลนด์ กระแสแรง...ช่อง 3 ปรับผังด่วน". สนุก.คอม. 2014-05-04. สืบค้นเมื่อ 2023-01-02.
  223. "'เบิร์ด' ทวงบัลลังก์ซูเปอร์สตาร์ ทุ่ม 200 ล้านบาท ทำ 'เบิร์ดแลนด์ฯ'". คมชัดลึก. 2013-10-05. สืบค้นเมื่อ 2023-01-02.
  224. "เปิดโลกแอนิเมชั่น ทุ่มทุนยิ่งใหญ่สร้างซีรีส์การ์ตูน เบิร์ดแลนด์…แดนมหัศจรรย์". สนุก.คอม. 2013-10-06. สืบค้นเมื่อ 2023-01-02.
  225. ""เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย" ซูเปอร์สตาร์คนดังนำทีมศิลปินแกรมมี่ พากย์การ์ตูนแอนิเมชั่น "เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ โดยจะลงจอครั้งแรกวันที่ 6 พฤษภาคม.ทางไทยทีวีสีช่อง3". โพสต์ทูเดย์. 2014-04-25. สืบค้นเมื่อ 2023-01-02.
  226. ""กระทรวงวัฒนธรรมฯ"จับมือ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ" - "เชลล์ฮัทฯ" และ "ช่อง3" ร่วมส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมไทย.....ส่งซีรีส์การ์ตูน "เบิร์ดแลนด์…แดนมหัศจรรย์" ซีซั่น 3 ตอนพิเศษเพื่อเยาวชน". jkacousticduo. 2013-03-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-04. สืบค้นเมื่อ 2023-01-02.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  227. "ชวนคนไทยเขียนจม.-โปสการ์ดบอกรัก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-26. สืบค้นเมื่อ 2014-12-27.
  228. "แสตมป์สุดฟิน"ขนนกกับดอกไม้"รู้ยัง แฟนคลับเบิร์ด์ ธงไชย ห้ามพลาด!". thailandpost. 2015. สืบค้นเมื่อ 2023-03-06.
  229. "แสตมป์เลิฟซีรีส์ของ"พี่เบิร์ด"". thailandpost. 2014. สืบค้นเมื่อ 2023-03-06.
  230. ""เบิร์ด-ธงไชย" ส่งความสุขแบบ 720 องศา ผ่านนิทรรศการ Bird's Memories Immersive Exhibition". สยามรัฐ. 2022-10-28. สืบค้นเมื่อ 2023-01-01.
  231. "ชมนิทรรศการศิลปะ พี่เบิร์ด ธงไชย ที่ House of illumination Bird's Memories Immersive Exhibition". jkacousticduo. 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2023-01-01.[ลิงก์เสีย]
  232. ""Netflix" ปรากฏการณ์มัลติ "เบิร์ด ธงไชย" ขน 32 คอนเสิร์ตสุดปัง สตรีมมิง 18 ก.พ.นี้". ไทยรัฐ. 2023-02-07. สืบค้นเมื่อ 2023-09-09.
  233. "'เบิร์ด ธงไชย' ร่วมงานวันศิลปินแห่งชาติ พร้อมสัญญาว่าจะไม่หยุดพัฒนา". ไทยโพสต์. 2024-02-24. สืบค้นเมื่อ 2024-02-24.
  234. "27 ปี 7 สีคอนเสิร์ต เวทีเกียรติยศของศิลปิน". เดลินิวส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-05. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  235. "เบิร์ด ธงไชย คว้ารางวัลซุปตาร์ตลอดกาล สยามดารา สตาร์ อวอร์ดส์". สยามดารา. 2013-06-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-14. สืบค้นเมื่อ 2011-12-20.
  236. "เบิร์ด ธงไชย ดาวค้างฟ้า ขวัญใจมวลชน". เอ็มไทย. 2012-08-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-13. สืบค้นเมื่อ 2018-10-21.
  237. "พี่เบิร์ดสุดยอดศิลปินในดวงใจศิลปิน". จีเมมเบอร์.คอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-30. สืบค้นเมื่อ 2018-06-02.
  238. "ความรู้สึกแรกของ ศิลปินแห่งชาติ 'เบิร์ด ธงไชย' บอก เกิดขึ้นได้เพราะใคร?". คมชัดลึก. 2023-08-23.
  239. "สรุป 14 ผลรางวัลเกียรติยศ 'ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด 2023'". bangkokbiznews.
  240. ""เบิร์ด ธงไชย" "เบลล่า ราณี" และ "เมฆ วินัย" สุดปลื้มคว้ารางวัล "เกียรติยศ ทรงคุณค่าตลอดกาล" คมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 20". คมชัดลึก. 2024-05-28.
  241. "'เบิร์ด ธงไชย แม็คอินไตย์' คว้ารางวัล 'Lifetime Achievement Award ' จากงาน TOTY Music Awards 2021". workpointtoday. 2022-02-28.
  242. "The Guitar Mag Awards 2023 งานคนดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย". spacebar. 2023-05-09. สืบค้นเมื่อ 2023-05-12.
  243. "รายชื่อผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก" (PDF). เล่ม 109 ตอนที่ 76: ประกาศในราชกิจจานุเบกษา. 1992-06-10: 30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-07. สืบค้นเมื่อ 2018-06-03. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)CS1 maint: location (ลิงก์)
  244. "รายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์" (PDF). เล่ม 122 ตอนที่ 23 ข: ประกาศในราชกิจจานุเบกษา. 2005-12-03: 3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2005-12-06. สืบค้นเมื่อ 2018-06-03. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)CS1 maint: location (ลิงก์)
  245. รายงานประจำปีบริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่จำกัด (มหาชน). ปี 2555: จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. 2012. p. 189. สืบค้นเมื่อ 2022-04-01.{{cite book}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์) CS1 maint: location (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้