ลิยู
ลิยู (ราว ค.ศ. 180–192) มีชื่���ในภาษาจีนกลางว่า หลี่ หรู (จีน: 李儒; พินอิน: Lǐ Rú) ชื่อรอง เหวินโยว (จีน: 文優; พินอิน: Wényōu) เป็นข้าราชการที่รับใช้ขุนศึกตั๋งโต๊ะในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน
ลิยู (หลี่ หรู) | |
---|---|
李儒 | |
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 192 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
หัวหน้ามหาดเล็กราชวังแห่งราชรัฐฮองหลง (弘農郎中令 หงหนงหลางจงลิ่ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 189 – ค.ศ. 192 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
หัวหน้ารัฐบาล | ตั๋งโต๊ะ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ อำเภอเหอหยาง มณฑลฉ่านซี |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
อาชีพ | ขุนนาง, ที่ปรึกษา |
ชื่อรอง | เหวินโยว (文優) |
ประวัติ
แก้ลิยูเป็นชาวอำเภอเหอหยาง (郃陽縣 เหอหยางเซี่ยน) เมืองจั่วผิงอี้ (左馮翊) ซึ่งอยู่ในอำเภอเหอหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน ลิยูรับราชการเป็นหัวหน้ามหาดเล็กราชวังแห่งราชรัฐฮองหลง (弘農郎中令 หงหนงหลางจงลิ่ง) เมื่อตั๋งโต๊ะเข้ากุมอำนาจในราชสำนักฮั่นและพระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิหุ่นเชิดในระหว่าง ค.ศ. 189 ถึง ค.ศ. 192
ในปี ค.ศ. 190 ตั๋งโต๊ะส่งลิยูไปวางยาพิษปลงพระชนม์หองจูเปียนหรือเล่าเปียน (อดีตยุวจักรพรรดิที่ถูกปลดจากตำแหน่งโดยตั๋งโต๊ะ)[1][2]
หลังตั๋งโต๊ะเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 192 ลิยูรับราชการกับลิฉุยอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของตั๋งโต๊ะ ในฤดูหนาวปีเดียวกัน ลิฉุยเสนอชื่อลิยูให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) แต่พระเจ้าเหี้ยนเต้ทรงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอและตรัสว่า "(ลิ) ยูเดิมดำรงตำแหน่งหัวหน้ามหาดเล็กราชวังภายใต้อ๋องแห่งฮองหลง (หองจูเปียน) เขาปลงพระชนม์เชษฐาของเราและควรถูกลงโทษ" ลิฉุยจึงปกป้องลิยูโดยทูลว่า "ลิยูปฏิบัติตามคำสั่งของตั๋งโต๊ะอย่างไม่เต็มใจ เราไม่ควรลงโทษผู้บริสุทธิ์"[3]
ในนิยายสามก๊ก
แก้ลิยูมีบทบาทมากขึ้นในฐานะตัวละครรองในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ในนวนิยาย ลิยูไม่เพียงเป็นที่ปรึกษาผู้ไว้ใจได้ของตั๋งโต๊ะ แต่ยังเป็นบุตรเขยของตั๋งโต๊ะด้วย ลิยูในฐานะที่ปรึกษาและคนสนิทของตั๋งโต๊ะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจเรื่องสำคัญของตั๋งโต๊ะหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น ลิยูแนะนำตั๋งโต๊ะให้เกลี้ยกล่อมลิโป้ให้แปรพักตร์จากเต๊งหงวนมาเข้าด้วยตั๋งโต๊ะ แนะนำให้ปลดหองจูเปียนจากการเป็นจักรพรรดิและตั้งพระเจ้าเหี้ยนเต้ (หองจูเหียบ) ขึ้นแทน และแนะนำให้ย้ายนครหลวงจากลกเอี๋ยงไปยังเตียงอั๋น/เตียงฮัน เมื่อตั๋งโต๊ะตกอยู่ใน "กลสาวงาม" ที่เป็นความเกี่ยวข้องระหว่างตัวตั๋งโต๊ะ ลิโป้ และเตียวเสียน ลิยูพยายามเตือนตั๋งโต๊ะในเรื่องนี้แต่ตั๋งโต๊ะไม่ฟังคำแนะนำของลิยู หลังตั๋งโต๊ะพบจุดจบด้วยการถูกลิโป้สังหารในปี ค.ศ. 192 ลิยูถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตในข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับตั๋งโต๊ะในการกระทำผิด
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 10 (บรรพ 2).
- ↑ จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 59.
- ↑ (儒前為弘農王郎中令,迫殺我兄,誠宜加罪。) โฮ่วฮั่นจี้ เล่มที่ 27.
บรรณานุกรม
แก้- ฟ่าน เย่ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). โฮ่วฮั่นชู.
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
- ล่อกวนตง (คริสต์ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้).