ลิกี๋
ลิกี๋[b] หรือ ลีกี[c] (เสียชีวิต 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 256)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ลฺหวี่ จฺวี้ (จีน: 呂據; พินอิน: Lǚ Jù) ชื่อรอง ชื่ออี้ (จีน: 世議; พินอิน: Shìyì) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของลิห้อมขุนพลผู้รับใช้ซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก
ลิกี๋ (ลฺหวี่ จฺวี้) | |
---|---|
呂據 | |
ขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 253 – 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 256 | |
กษัตริย์ | ซุนเหลียง |
ขุนพลขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 252 – ค.ศ. 253 | |
กษัตริย์ | ซุนเหลียง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไมทราบ |
เสียชีวิต | 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 256[a] |
บุพการี |
|
อาชีพ | ขุนพล |
ชื่อรอง | ชื่ออี้ (世議) |
บรรดาศักดิ์ | หว่านหลิงโหว (宛陵侯) |
ในปี ค.ศ. 252 หลังซุนกวนสวรรคต วุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊กส่งกำลังทหารบุกง่อก๊ก นำไปสู่ยุทธการที่ตังหิน ลิกี๋เข้าร่วมรบในยุทธการร่วมกับจูกัดเก๊กผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กและขุนพลเตงฮองและเอาชนะข้าศึกได้
ในปี ค.ศ. 256 ลิกี๋ขัดแย้งกับซุนหลิมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊ก และฆ่าตัวตายหลังถูกกองกำลังของซุนหลิมต้อนจนมุม
ประวัติช่วงต้น
แก้ลิกี๋ได้รับราชการเป็นมหาดเล็ก (郎 หลาง) เพราะด้วยการส่งเสริมของลิห้อมผู้บิดา ต่อมาเมื่อลิห้อมป่วยหนัก ลิกี๋ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกองพัน (副軍校尉 ฟู่จฺวินเซี่ยวเว่ย์) ช่วยดูแลราชการทหาร[5] หลังจากลิห้อมเสียชีวิตในปี ค.ศ. 228 ลิกี๋ได้สืบทอดบรรดาศักดิ์หว่านหลิงโหว (宛陵侯) และได้รับยศเป็นขุนพลราชองครักษ์สงบทัพ (安軍中郎將 อานจฺวินจงหลางเจี้ยง)[6]
สร้างผลงานทางการทหาร
แก้ลิกี๋มีผลงานในการปราบปรามชนเผ่าชานเยฺว่ (山越) หลายครั้ง ทุกครั้งสามารถเอาชนะข้าศึกได้อย่างราบคาบ ในปี ค.ศ. 231 ลิกี๋ติดตามพัวโยยผู้เป็นเสนาบดีกรมพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) ไปปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยในเง้าเขเซีย (五谿 อู่ซี; แปลว่า "ห้าโตรกธาร"; หมายถึงพื้นที่บริเวณนครหฺวาย-ฮฺว่า มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และสร้างความดีความชอบอีกครั้ง[7]
ในปี ค.ศ. 241 ในช่วงที่จูเหียนผู้เป็นขุนพลทหารม้าและรถรบ (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน) ของง่อก๊กโจมตีอ้วนเสีย (樊城 ฝานเฉิง) ลิกี๋ร่วมกับจูอี้นำกำลังบุกฝ่าวงล้อมของข้าศึกนอกป้อมปราการของอ้วนเสีย หลังกลับจากการทำศึก ลิกี๋ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลรอง (偏將軍 เพียนเจียงจฺวิน) เข้าแทนที่��ม่า เสียน (馬閑) ในตำแหน่งแม่ทัพขวา (右部督 โย่วตูตู) และได้เลื่อนขึ้นเป็นนายกองพันทหารม้าเร็ว (越騎校尉 เยว่ฉีเซี่ยวเว่ย์)[8]
ในปี ค.ศ. 251 เกิดลมพัดแรงทำให้น้ำในแม่น้ำแยงซีไหลย้อนกลับและขึ้นท่วมผ่านประตูเมืองเข้ามา ลิกี๋จึงสั่งการให้เตรียมเรือขนาดใหญ่เพื่อรับมือภัยพิบัติ ซุนกวนจักรพรรดิแห่งง่อก๊กทรงส่งผู้แทนพระองค์ไปตรวจสอบเรื่องน้ำท่วม ผู้แทนพระองค์กลับมาทูลรายงานเรื่องการรับมือของลิกี๋ ซุนกวนทรงชื่นชมลิกี๋และแต่งตั้งให้ลิกี๋เป็นขุนพลปราบวุย (盪魏將軍 ต้างเว่ย์เจียงจฺวิน)[9]
ลิกี๋เข้าร่วมพัวพันในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างพระโอรส 2 องค์ของซุนกวนคือซุนโฮผู้เป็นรัชทายาทและซุน ป้า (孫霸) ผู้เป็นอ๋องแห่งหลู่ (魯王 หลู่หวาง) โดยลิกี๋สนับสนุนซุน ป้า เผย์ ซงจือนักประวัติศาสตร์ผู้เขียนอรรถาธิบายเสริมในจดหมายเหตุสามก๊กวิจารณ์ลิกี๋อย่างหนักในเรื่องนี้ โดยเผย์ ซงจือมีความเห็นว่าการกระทำของลิกี๋ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจนี้เพียงพอที่จะลบล้างความดีความชอบของลิกี๋ในอดีตไป
ในปี ค.ศ. 252 เมื่อซุนกวนทรงพระประชวรหนัก ทรงแต่งตั้งให้ลิกี๋เป็นแม่ทัพขวาของรัชทายาท (太子右都督 ไท่จื่อโย่วตูตู)[10] หลังซุนกวนสวรรคต รัชทายาทซุนเหลียงขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊ก พระองค์ทรงแต่งตั้งให้ลิกี๋เป็นขุนพลขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน)[11] ในปีเดียวกันนั้น วุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊กส่งทัพเข้าโจมตีตังหิน (東興 ตงซิง; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนครเฉาหู มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ลิกี๋เข้าร่วมในยุทธการ นำกองกำลังต้านข้าศึกมีความดีความชอบ[12]
ในปี ค.ศ. 253 ซุนจุ๋นสังหารผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จูกัดเก๊ก ตัวซุนจุ๋นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทน ซุนจุ๋นเลื่อนยศให้ลิกี๋เป็นขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) ดูแลราชการในพระราชวังตะวันตก[13]
ในปี ค.ศ. 255 ลิกี๋ได้รับมอบอาญาสิทธิ์ และติดตามซุนจุ๋นพร้อมกับคนอื่น ๆ ในการเข้าโจมตีฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) แต่โจมตีไม่สำเร็จและต้องถอยทัพกลับ ระหว่างทางได้พบกับเฉา เจิน (曹珍) ขุนพลวุยก๊ก ลิกี๋เอาชนะเฉา เจินได้ที่เกาถิง (高亭)[14]
ฆ่าตัวตาย
แก้ในปี ค.ศ. 256 ลิกี๋นำทัพเข้าโจมตีวุยก๊ก ก่อนที่ลิกี๋จะยกไปถึงแม่น้ำห้วย (淮河 หฺวายเหอ) ก็ได้ข่าวการเสียชีวิตของซุนจุ๋น จากนั้นซุนหลิมลูกพี่ลูกน้องของซุนจุ๋นได้ขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทนที่ซุนจุ๋นและปกครองอย่างเผด็จการ ลิกี๋ได้ยินเรื่องนี้จึงนำทัพกลับมาทันที หวังจะโค่นล้มซุนหลิม ซุนหลิมทราบเรื่องลิกี๋จึงส่งบุนขิม, เล่าเบา, ต๋องจู และคนอื่น ๆ ไปจับกุมลิกี๋ ซุนหลิมยังส่งซุน เซี่ยน (孫憲) ญาติผู้พี่ไปป้องกันเจียงตู (江都) ทหารใต้บังคับบัญชาของลิกี๋เห็นว่าจะต้องพ่ายแพ้เป็นแน่ จึงเสนอให้ลิกี๋ไปสวามิภักด์ต่อวุยก๊ก แต่ลิกี๋ปฏิเสธและกล่าวว่า "อับอายที่จะต้องเป็นขุนนางทรยศ" จากนั้นลิกี๋จึงฆ่าตัวตาย[d] ตระกูลของลิกี๋ถูกกวาดล้างสามชั่วโคตร[15]
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ 1.0 1.1 ชีวประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าลิกี๋ถูกจับและถูกประหารชีวิตในวันซินไฮ่ (辛亥) ในเดือน 10 ของศักราชไท่ผิงปีที่ 1 ในรัชสมัยของซุนเหลียง[1] วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 256 ในปฏิทินกริโกเรียน
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 82[2] และตอนที่ 83[3]
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 80[4]
- ↑ ชีวประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าลิกี๋ถูกจับตัวที่ซินโจว (新州) และถูกประหารชีวิต[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ([太平元年十月]辛亥,獲呂據於新州。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
- ↑ ("ครั้งนั้นซุนจุ๋นซึ่งเปนมหาอุปราชเมืองกังตั๋งนั้นตายแล้ว ซุนหลิมผู้น้องได้ว่าที่มหาอุปราชแทนที่พี่ชาย ก็ฆ่าเตงอิ๋นขุนนางผู้ใหญ่กับพวกทหารชื่อว่าลิกี๋อ๋องตุ้นตาย จึงได้เปนใหญ่ยศฐาศักดิ์สูงกว่าขุนนางทั้งปวง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 6, 2024.
- ↑ ("พระเจ้าซุนฮิวจึงตวาดว่า เมื่อเตงอิ๋นกับลิกี๋แลอองตุ๋นนั้นก็อ้อนวอนขอชีวิตจะลาไปอยู่บ้านเก่าเหตุใดตัวจึงฆ่าเสียเล่า แล้วก็ให้เตียวปอเอาตัวซุนหลิมไปฆ่าเสีย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 7, 2024.
- ↑ ("จูกัดเก๊กจึงว่าท่านว่านี้ชอบนัก ท่านจงเปนแม่ทัพเรือคุมทหารสามพันยกไป ลีกีต๋องจูเล่าเบาทหารสามคนนี้คุมทหารคนละหมื่น เปนแม่ทัพบกยกไปเปนสามกอง ตัวข้าพเจ้าจะยกทัพหลวงหนุนไป เมื่อจะยกเข้าตีนั้นมีประทัดสัญญา ถ้าได้ยินเสียงประทัดก็ให้แม่ทัพแม่กองเร่งยกเข้าตีให้พร้อมกันทั้งบกทั้งเรือ เตงฮองก็ยกทัพเรือสามสิบลำคุมทหารสามพันยกไปเมืองตังหิน ลีกีต๋องจูเล่าเบาคุมทหารคนละหมื่นเปนทัพบกยกไปเมืองตังหิน จูกัดเจ๊กก็ยกทัพหลวงหนุนไป") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 7, 2024.
- ↑ (據字世議。以父任為郎,後范寢疾,拜副軍校尉,佐領軍事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
- ↑ (范卒,遷安軍中郎將。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
- ↑ (數討山賊,諸深惡劇地,所擊皆破、隨太常潘浚討五溪,復有功。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
- ↑ (朱然攻樊,據與朱異破城外圍,還拜偏將軍。入補馬閒右部督,遷越騎校尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
- ↑ (太元元年,大風,江水溢流,漸淹城門,權使視水,獨見據使人取大船以備害。權嘉之,拜蕩魏將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
- ↑ (權寢疾,以據為太子右部督。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
- ↑ (太子即位,拜右將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
- ↑ (魏出東興,據赴討有功。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
- ↑ (明年,孫峻殺諸葛恪,遷據為驃騎將軍,平西宮事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
- ↑ (五鳳二年,假節,與峻等襲壽春,還遇魏將曹珍,破之於高亭。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
- ↑ (太平元年,帥師侵魏,未及淮,聞孫峻死,以從弟綝自代,據大怒,引軍還,欲廢綝。綝聞之,使中書奉詔,詔文欽、劉纂,唐咨等使取據,又遣從兄慮��都下兵逆據於江都。左右勸據降魏,據曰:"恥為叛臣。"遂自殺。夷三族。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.