ซุนหลิม (ซุน เชิน)
ซุนหลิม (ค.ศ. 232 – 18 มกราคม ค.ศ. 259)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซุน เชิน (จีน: 孫綝; พินอิน: Sūn Chēn) ชื่อรอง จื่อทง (จีน: 子通; พินอิน: Zǐtōng) เป็นขุนพลและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน ซุนหลิมปกครองในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชสมัยของจักรพรรดิซุนเหลียงและซุนฮิว ความขัดแย้งระหว่างซุนหลิมและซูนเหลียงทำให้ในที่สุดซุนหลิมปลดซุนเหลียงจากตำแหน่งจักรพรรดิและตั้งซุนฮิวขึ้นครองราชย์แทน แต่ซุนหลิมก็ถูกสังหารโดยซุนฮิวในระหว่างการก่อรัฐประหารโดยซุนฮิว
ซุนหลิม (ซุน เชิน) | |
---|---|
孫綝 | |
อัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง) | |
ดำรงตำแหน่ง 3 ธันวาคม ค.ศ. 258 – 18 มกราคม ค.ศ. 259 | |
กษัตริย์ | ซุนฮิว |
ก่อนหน้า | ซุนจุ๋น |
ถัดไป | เอียงเหียง |
เจ้ามณฑลเกงจิ๋ว (荊州牧 จิงโจวมู่) | |
ดำรงตำแหน่ง 3 ธันวาคม ค.ศ. 258 – 18 มกราคม ค.ศ. 259 | |
กษัตริย์ | ซุนฮิว |
มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ธันวาคม ค.ศ. 256 – 3 ธันวาคม ค.ศ. 258 | |
กษัตริย์ | ซุนเหลียง |
ก่อนหน้า | ซุนจุ๋น |
ถัดไป | เตงฮอง |
ขุนพลยุทธพิทักษ์ (武衛將軍 อู่เว่ย์เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง 19 ตุลาคม ค.ศ. 256 – ธันวาคม ค.ศ. 256 | |
กษัตริย์ | ซุนเหลียง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 232[a] |
เสียชีวิต | 18 มกราคม พ.ศ. 259 (27 ปี)[a] นครหนานจิง มณฑลเจียงซู |
บุพการี |
|
ญาติ | ดูพงศาวลีง่อก๊ก |
อาชีพ | ขุนพล, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ |
ชื่อรอง | จื่อทง (子通) |
บรรดาศักดิ์ | หย่งหนิงโหว (永寧侯) |
ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
แก้ซุนหลิมเป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับซุนจุ๋นที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลำดับก่อนหน้า ทั้งคู่เป็นเหลนชายของซุนเจ้งผู้เป็นพระปิตุลา (อา) ของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก ซุนหลิมและซุนจุ๋นเป็นหลานปู่ของซุน เก่า (孙暠)[2] มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับหน้าที่การงานของซุนหลิมในช่วงต้น ๆ จนกระทั่งเมื่อซุนจุ๋นล้มป่วยกะทันหันในปี ค.ศ. 256 และซุนจุ๋นเลือกจะถ่ายโอนอำนาจให้กับซุนหลิม ซุนหลิมเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นานและซุนหลิมขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขุนพลลิกี๋โกรธมากเมื่อทราบเรื่องดังกล่าว (เนื่องจากลิกี๋ก็ไม่พอใจซุนจุ๋นจากรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการและไม่ได้สร้างผลงานใด ๆ มาแต่ก่อน) ลิกี๋จึงร่วมมือกับเสนาบดีเตงอิ๋น พยายามจะโค่นล้มซุนหลิม ซุนหลิมใช้กำลังทหารตอบโต้ กองกำลังของซุนหลิมเอาชนะเตงอิ๋นและลิกี๋ได้ เตงอิ๋นและตระกูลถูกประหารชีวิต ส่วนลิกี๋ฆ่าตัวตาย หลังซุนหลิมเอาชนะเตงอิ๋นและลิกี๋ได้ก็ยิ่งมีความเย่อหยิ่งมากขึ้น[3]
ในปี ค.ศ. 257 จักรพรรดิซุนเหลียงพระชนมายุ 14 พรรษาเริ่มจัดการราชการสำคัญบางอย่างด้วยพระองค์เอง พระองค์ก่อตั้งกองกำลังรักษาพระองค์ซึ่งประกอบด้วยชายหนุ่มและข้าราชการที่มีอายุไล่เลี่ยกับพระองค์ โดยตรัสว่าพระองค์ตั้งพระทัยจะเติบโตไปด้วยกันกับพวกเขา บางครั้งพระองค์ยังทรงตั้งคำถามถึงการติดสินใจของซุนหลิม ซุนหลิมเริ่มรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องจักรพรรดิหนุ่มซุนเหลียง[4]
กบฏในฉิวฉุนครั้งที่ 3
แก้ต่อมาในปีเดียวกัน จูกัดเอี๋ยนขุนพลของรัฐวุยก๊กเชื่อว่าสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กกำลังคิดการจะยังราชบัลลังก์ จูกัดเอี๋ยนจึงประกาศก่อกบฏและขอการสนับสนุนจากง่อก๊ก กองกำลังขนาดเล็กนำโดยบุนขิมอดีตขุนพลวุยก๊กที่แปรพักตร์เข้าด้วยง่อก๊กจึงเร่งยกกำลังพลมาช่วย แต่ซุนหลิมนำทัพหลักและเลือกจะตั้งค่ายไกลออกไปจากฉิวฉุนที่จูกัดเอี๋ยนกำลังถูกทัพสุมาเจียวล้อมไว้ และซุนหลิมก็ตั้งมั่นโดยไม่ได้ทำการใด ๆ เมื่อซุนหลิมสั่งให้ขุนพลจูอี้ให้พยายามช่วยเหลือฉิวฉุนโดยใช้กำลังพลที่เหนื่อยล้าและไม่ได้กินอิ่ม จูอี้ก็ปฏิเสธ ซุนหลิมจึงสั่งประหารชีวิตจูอี้ ทำให้ผู้คนที่ชิ่นชมทักษะทางการทหารและความซื่อสัตย์ของจูอี้รู้สึกโกรธเคือง เมื่อซุนหลิมไม่สามารถทำอะไรได้ การก่อกบฏของจูกัดเอี๋ยนก็ล้มเหลวในปี ค.ศ. 258 กองกำลังของบุนขิมก็ตกเป็นเชลยของวุยก๊ก[5]
ซุนหลิมรู้ว่าผู้คนในง่อก๊กรวมถึงจักรพรรดิหนุ่มซุนเหลียงต่างก็โกรธตน ซุนหลิมจึงเลือกจะไม่กลับไปนครหลวงเกี๋ยนเงียบ แต่กลับส่งคนสนิทของตนไปดูแลการป้องกันนครหลวงแทน ซุนเหลียงยิ่งกริ้วมากขึ้น และวางแผนร่วมกับกิมก๋งจู๋ที่เป็นพระเชษฐภคินี, ขุนพลเล่าเสง (劉丞/劉承 หลิว เฉิง), จวนเสียง (全尚 เฉฺวียน ช่าง) พระสัสสุระ (พ่อตา) และจวนกี๋ (全記 เฉวียน จี้) พระเทวัน (พี่เขยหรือน้องเขย) เพื่อโค่นล้มซุนหลิม แต่จวนเสียงไม่ได้ปิดบังแผนการจากภรรยาซึ่งลูกพี่ลูกน้องของซุนหลิม ภรรยาของจวนเสียงจึงไปบอกซุนหลิมในเรื่องนี้ ซุนหลิมจึงเร่งให้จับตัวจวนเสียงและสังหารเล่าเสง จากนั้นจึงนำทหารล้อมพระราชวังและบังคับขุนนางคนอื่น ๆ ให้เห็นพ้องที่จะปลดซุนเหลียงลงจากตำแหน่งจักรพรรดิ โดยการประกาศเท็จต่อผู้คนว่าซุนเหลียงประชวนด้วยพระโรคทางจิต ซุนเหลียงถูกลดสถานะลงเป็น "อ๋องแห่งห้อยเข" (會稽王 ไค่วจีหวาง)[6]
ความล่มจมและการเสียชีวิต
แก้จากนั้นซุนหลิมจึงตั้งให้พระเชษฐาของซุนเหลียงคือซุนฮิวผู้เป็นอ๋องแห่งลองเอี๋ย (琅邪王 หลางหยาหวาง) ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ ซุนฮิวเพิ่มห้าอำเภอให้เขตศักดินาของซุนหลิม รวมถึงตั้งให้เหล่าน้องชายของซุนหลิมขึ้นมีบรรดาศักดิ์โหวเพื่อเป็นการเอาใจซุนหลิม แต่ต่อมาไม่นานซุนหลิมก็มีเรื่องขัดแย้งกับจักรพรรดิซุนฮิวเนื่องจากเหตุการณ์เล็ก ๆ คือเรื่องที่ซุนหลิมนำเนื้อและสุรามายังพระราชวังโดยตั้งใจจะรวมงานเลี้ยงกับจักรรรดิ แต่ซุนฮิวทรงปฏิเสธของถวาย ซุนหลิมจึงนำอาหารและสุราไปยังบ้านของขุนพลเตียวปอ แสดงความรู้สึกผิดหวังที่ซุนฮิวทรงปฏิเสธให้เตียวปอฟัง รวมถึงแสดงความเห็นว่าตนควรเลือกคนอื่นขึ้นเป็นจักรพรรดิ เตียวปอทูลรายงานเรื่องคำบ่นของซุนหลิมนี้แก่ซุนฮิว ซุนฮิวจึงทรงวิตกในเรื่องซุนหลิม แต่ยังคงแสดงพระองค์ภายนอกว่าทรงโปรดปรานซุนหลิม ซุนหลิมเริ่มกังวลเกี่ยวกับจุดยืนของตนต่อจักรพรรดิ จึงทูลขอออกจากนครหลวงเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) เพื่อไปทำหน้าที่ป้องกันนครหลวงรองคือบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) ซุนฮิวทรงอนุญาต[7]
อย่างไรก็ตาม ซุนฮิวเริ่มทรงกังวลว่าซุนหลิมจะเข้ายึดบู๊เฉียงและก่อกบฏ พระองค์จึงทรงสมคบคิดกับเตียวปอและมหาขุนพลเตงฮองจะสังหารซุมหลิมระหว่างเทศกาลล่าปา ต่อมาข่าวจะรั่วไหล ซุนหลิมรู้สึกวิตกกังวลแต่ก็ไม่อาจปฏิเสธผู้แทนพระองค์ที่ซุนฮิวทรงส่งมาเชิญซุนหลิม ซุนหลิมจึงเดินทางไปร่วมเทศกาล โดยเห็นว่าตนอาจจะออกจากเทศกาลไปด้วยข้ออ้างว่าจวนของตนถูกไฟไหม้ แต่ซุนหลิมออกไปไม่สำเร็จและถูกจับกุมโดยทหารของเตงฮองและเตียวปอ ซุนหลิมทูลร้องขอชีวิตต่อซุนฮิว ขอถูกเนรเทศไปมณฑลเกาจิ๋ว (ปัจจุบันคือภาคเหนือของประเทศเวียดนาม) หรือให้กลายเป็นทาสแทน แต่ซุนฮิวทรงปฏิเสธโดยตรัสกับซุนหลิมว่าตัวซุนหลิมไม่ได้เสนอทางเลือกเช่นนี้กับเตงอิ๋นและลิกี๋ ซุนหลิมจึงถูกประหารชีวิตพร้อมด้วยสมาชิกในตระกูล นอกจากนี้ซุนฮิวยังรู้สึกละอายพระทัยที่จะอยู่ร่วมตระกูลกับซุนจุ๋น (ซุน จฺวิ้น) และซุนหลิม (ซุน เชิน) จึงมีรับสั่งให้ถอดชื่อของทั้งคู่ออกจากตระกูลซุน และเรียกทั้งสองด้วยชื่อว่ากู้ จฺวิ้น (故峻) และกู้ เชิน (故綝) แทน[8]
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 ชีวประวัติของซุนหลิมในสามก๊กจี่บันทึกว่าซุนหลิมเสียชีวิตในวันอู้เฉิน (戊辰) ในเดือน 12 ของศักราชหย่งอาน (永安) ปีที่ 1 ของศักราชในรัชสมัยของซุนฮิว และซุนหลิมเสียชีวิตขณะอายุ 28 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[1] วันที่ซุนหลิมเสียชีวิตเทียบได้กับวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 259 ในปฏิทินกริกอเรียน เนื่องจากซุนหลิมเสียชีวิตขณะอายุ 27 ปีใน ค.ศ. 259 เมื่อคำนวณแล้ว ปีเกิดของซุนหลิมจึงเป็นปี ค.ศ. 232
อ้างอิง
แก้- ↑ ([永安元年十二月]戊辰臘會, ... 綝起離席,奉、布目左右縛之。 ... 遂斬之。 ... 綝死時年二十八。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 64.
- ↑ (孙峻字子远,孙坚弟静之曾孙也。静生暠,暠生恭,为散骑侍郎。恭生峻。....孙𬘭字子通,与峻同祖。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 64
- ↑ สามก๊กจี่, บทที่ 64, หน้าที่ 1446
- ↑ สามก๊กจี่, หน้าที่ 1448
- ↑ สามก๊กจี่, หน้าที่ 1447
- ↑ สามก๊กจี่, หน้าที่ 1448
- ↑ สามก๊กจี่, หน้าที่ 1450
- ↑ สามก๊กจี่, หน้าที่ 1451
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (1977) [คริสต์ทศวรรษ 280 หรือ 290]. เผย์ ซงจือ (บ.ก.). 三國志 [สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ)]. Taipei: Dingwen Printing.