ภาษากาลิเซีย
ภาษากาลิเซีย (กาลิเซีย: galego) เป็นภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนภาษาหนึ่ง พูดกันในหมู่ประชากรราว 2.4 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในกาลิเซียซึ่งเป็นแคว้นปกครองตนเองทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสเปนที่ซึ่งภาษานี้เป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาสเปน ภาษานี้ยังใช้พูดในพื้นที่บางแห่งของแคว้นอัสตูเรียสและแคว้นกัสติยาและเลออนที่อยู่ติดกับแคว้นกาลิเซีย เช่นเดียวกับในชุมชนผู้อพยพชาวกาลิเซียในพื้นที่อื่น ๆ ของสเปน ลาตินอเมริกา (รวมทั้งปวยร์โตรีโก) สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ และที่อื่น ๆ ในยุโรป
ภาษากาลิเซีย | |
---|---|
galego | |
ออกเสียง | [ɡaˈleɣo̝] |
ประเทศที่มีการพูด | สเปน |
ภูมิภาค | แคว้นกาลิเซียและพื้นที่ติดต่อในแคว้นอัสตูเรียสและแคว้นกัสติยาและเลออน |
ชาติพันธุ์ | ชาวกาลิเซีย |
จำนวนผู้พูด | 2.4 ล้านคน (2555)[1] 58% ของประชากรแคว้นกาลิเซีย (ประมาณ 1.56 ล้านคน) พูดภาษานี้เป็นภาษาที่หนึ่ง (2550)[2] |
ตระกูลภาษา | |
รูปแบบก่อนหน้า | ภาษากาลิเซีย-โปรตุเกส
|
ระบบการเขียน | อักษรละติน (ชุดตัวอักษรกาลิเซีย) อักษรเบรลล์กาลิเซีย |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | แคว้นกาลิเซีย (สเปน) |
ผู้วางระเบียบ | ราชบัณฑิตยสถานกาลิเซีย |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | gl |
ISO 639-2 | glg |
ISO 639-3 | glg |
Linguasphere | 51-AAA-ab |
ภาษากาลิเซียสมัยใหม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภาษาไอบีเรียตะวันตกซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มภาษาโรมานซ์ที่รวมภาษาโปรตุเกสซึ่งพัฒนาขึ้นในท้องถิ่นจากภาษาละตินสามัญและพัฒนาเป็นภาษาที่นักวิชาการสมัยใหม่เรียกว่าภาษากาลิเซีย-โปรตุเกส การลู่ออกของภาษาถิ่นเป็นที่สังเกตได้ระหว่างรูปแบบทางเหนือและทางใต้ของภาษากาลิเซีย-โปรตุเกสในเอกสารสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 แต่ภาษาถิ่นทั้งสองยังมีความคล้ายคลึงกันมากพอที่จะรักษาความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมในระดับสูงจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งมีการแต่งคีตกานท์ภาษากาลิเซีย-โปรตุเกสสมัยกลาง การลู่ออกยังคงดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้และทำให้เกิดภาษากาลิเซียและภาษาโปรตุเกสดังปัจจุบัน[3]
คลังศัพท์ของภาษากาลิเซียส่วนใหญ่มาจากภาษาละติน แต่ก็มีคำที่มาจากภาษากลุ่มเจอร์แมนิกและเคลต์ในระดับปานกลางท่ามกลางภาษาพื้นเดิมและภาษาข้างเคียงอื่น ๆ นอกจากนี้ยังรับคำจำนวนหนึ่งจากภาษาอาหรับอัลอันดะลุสผ่านทางภาษาสเปนเป็นหลัก
ภาษากาลิเซียได้รับการวางระเบียบอย่างเป็นทางการในแคว้นกาลิเซียโดยราชบัณฑิตยสถานกาลิเซีย (Real Academia Galega) องค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเชิงสถาบันอย่างสมาคมภาษากาลิเซีย (Associaçom Galega da Língua) และบัณฑิตยสถานภาษาโปรตุเกสแห่งกาลิเซีย (Academia Galega da Língua Portuguesa) สนับสนุนจุดยืนที่ว่าภาษากาลิเซียเป็นส่วนหนึ่งของภาษาโปรตุเกส
อ้างอิง
แก้- ↑ ภาษากาลิเซีย ที่ Ethnologue (18th ed., 2015) (ต้องสมัครสมาชิก)
- ↑ "Observatorio da Lingua Galega". Observatorio da Lingua Galega. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 August 2013. สืบค้นเมื่อ 17 October 2015.
- ↑ de Azevedo Maia, Clarinda (1997). História do galego-português: estado linguístico da Galiza e do noroeste de Portugal desde o século XIII ao século XVI (com referência à situação do galego moderno) [History of Galician-Portuguese: linguistic state of Galicia and northwestern Portugal from the 13th to the 16th centuries (with reference to the situation of modern Galician)] (ภาษาโปรตุเกส) (Reimpressã da edição do INIC (1986) ed.). Lisboa: Fundação Calouste Gulbenkian. pp. 883–891. ISBN 9789723107463.