พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย

พระมหากษัตริย์ปรัสเซีย ครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1740 ถึง 1786

พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 (เยอรมัน: Friedrich II.) เป็นเจ้าเยอรมันซึ่งทรงปกครองราชอาณาจักรปรัสเซียระหว่างค.ศ. 1740 ถึง 1786 นับเป็นกษัตริย์ที่ทรงราชย์ยาวนานที่สุดในโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น ปรัสเซียในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นยุครุ่งโรจน์ พระองค์เป็นผู้ปฏิรูปกองทัพปรัสเซียใหม่และได้รับชัยชนะในสงครามหลายครั้ง นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นองค์อุปถัมภ์แห่งวงการศิลปะและยุคเรืองปัญญา พระองค์ร่วมมือกับบริเตนใหญ่และได้รับชัยชนะเหนือมหาอำนาจคู่แข่งในสงครามเจ็ดปี นำมาซึ่งการเปลี่ยนดุลอำนาจครั้งใหญ่ในยุโรป ต่อมาในปีค.ศ. 1772 พระองค์เลิกใช้พระยศ "กษัตริย์ในปรัสเซีย" (König in Preußen) และเปลี่ยนไปใช้พระยศ "กษัตริย์แห่งปรัสเซีย" (König von Preußen) ซึ่งเป็นผลจากการที่ปรัสเซียได้ผนวกดินแดนมากมาย ความสำเร็จด้านการทหารของพระองค์ทำให้ปรัสเซียผงาดบารมีขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ในยุโรป และนั่นทำให้พระองค์ได้รับพระสมัญญานามว่า ฟรีดริชมหาราช (เยอรมัน: Friedrich der Große) ถือเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติเยอรมัน

ฟรีดริชมหาราช
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าฟรีดริชมหาราช
โดย อันโทน กราฟ
พระมหากษัตริย์ในปรัสเซีย/แห่งปรัสเซีย
เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกแห่งบรันเดินบวร์ค
ครองราชย์31 พฤษภาคม 1740 – 17 สิงหาคม 1786
ก่อนหน้าพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 1
ถัดไปพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2
พระราชสมภพ24 มกราคม ค.ศ. 1712(1712-01-24)
เบอร์ลิน, ปรัสเซีย
สวรรคต17 สิงหาคม ค.ศ. 1786(1786-08-17) (74 ปี)
พ็อทซ์ดัม ราชอาณาจักรปรัสเซีย
ฝังพระศพพระราชวังซ็องซูซี
คู่อภิเษกเอลีซาเบ็ท คริสทีเนอ แห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล-เบเวิร์น
ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น
พระราชบิดาพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 1
พระราชมารดาโซฟี โดโรเทอา แห่งฮันโนเฟอร์
ศาสนาคาลวิน
ลายพระอภิไธย

ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เจ้าชายฟรีดริชทรงมีความสนพระทัยทางศิลปะและทรงพยายามหนีจาการควบคุมจากพระบิดาครั้งหนึ่งแต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 1 พระราชบิดาทรงเข้มงวดจนได้รับสมญานามว่า "กษัตริย์การทหาร" เจ้าชายฟรีดริชทรงถูกบังคับให้ดูการประหารชีวิตอย่างทารุณของพระสหายที่ทรงรู้จักกันมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังนั้น เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ในปีแรกทรงโจมตีจักรวรรดิออสเตรียและยึดครองบริเวณไซลีเชีย (อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศโปแลนด์ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นดินแดนยึดครองที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานในการขยายดินแดนของปรัสเซียและเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่อาณาจักร ในบั้นปลายของชีวิตพระเจ้าฟรีดริชทรงรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของปรัสเซียเข้าด้วยกัน รวมถึงดินแดนที่ทรงยึดมาจากการแบ่งแยกโปแลนด์

พระเจ้าฟรีดริชทรงเป็นผู้สนับสนุนการปกครองระบบที่มีพื้นฐานมาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรม ทรงติดต่อสื่อสารกับนักปรัชญาวอลแตร์เป็นเวลากว่าห้าสิบปีและมีความสนิทสนมกันมาก แต่ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งโดยตลอด พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ๆ คือการปรับปรุงระบบการบริหารราชการและข้าราชการ และยังทรงสนับสนุนเสรีในการนับถือศาสนา ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปินและนักปรัชญา เมื่อสิ้นพระชนม์ร่างของพระองค์ถูกฝังอยู่ที่พระราชวังที่โปรดปรานที่พระราชวังซ็องซูซีที่เมืองพ็อทซ์ดัม ภายหลังการสวรรคต บัลลังก์ตกไปเป็นของพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 ผู้มีศักด์เป็นหลานลุง เนื่องจากพระองค์เองไม่มีพระราชโอรส

พระเจ้าฟรีดริชถือเป็นแบบอย่างของฮิตเลอร์[1] ฮิตเลอร์เทิดทูนพระองค์มากและมักนำตัวเองไปเปรียบกับพระเจ้าฟรีดริชอยู่เสมอ ฮิตเลอร์นำพระรูปเหมือนที่วาดโดยอันโทน กราฟ แขวนไว้ในห้องที่ฟือเรอร์บุงเคอร์[1] ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิตเลอร์เคยเหม่อมองพระรูปอย่างอาวรณ์ตามบันทึกของโรคุส มิสช์[2]

พระประวัติเบื้องต้น

แก้
 
พระเจ้าฟรีดริชมหาราช (ซ้าย) กับพระเชษภคินีเจ้าหญิงวิลเฮลมีเนอ ขณะทรงพระเยาว์

พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่กรุงเบอร์ลิน ราชอาณาจักรปรัสเซีย เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1712 ทรงได้รับการตั้งพระนามว่า ฟรีดริช โดยไม่มีชื่อกลางและสร้อย ทรงเป็นพระราชโอรสในเจ้าชายฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม (พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 1 ในกาลต่อมา) กับพระนางโซฟี โดโรเ���อา พระราชบิดาซึ่งทรงเป็น "กษัตริย์การทหาร" ทรงเสริมสร้างกองกำลังทัพปรัสเซียที่แข็งแกร่ง พระราชบิดามีกิตติศัพท์ว่าเป็นผู้ที่เข้มงวดและอารมณ์ร้าย กล่าวกันว่าบางครั้งจะทรงใช้ไม้เท้าตีคนหรือทรงเตะสตรีตามถนน แต่พระมเหสีกลับมีพระอัทธยาศัยตรงกันข้าม ทรงมีกิริยาดีและเป็นผู้มีการศึกษาดี พระบิดาของพระนางโซฟี โดโรเทอาคือเจ้าชายเกออร์คแห่งแห่งฮันโนเฟอร์ และเป็นรัชทายาทของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ ต่อมาเมื่อพระราชินีนาถแอนน์สวรรคต เจ้าชายเกออร์คก็ทรงขึ้นครองราชย์ในอังกฤษเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่ เมื่อปี ค.ศ. 1714

การประสูติของเจ้าชายฟรีดริชสร้างความดีพระทัยแก่พระเจ้าฟรีดริชที่ 1 พระอัยยิกาเป็นอันมาก เนื่องจากพระนัดดาสององค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังพระเยาว์ มกุฎราชกุมารฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม มีพระประสงค์ให้พระโอรสและธิดาได้รับการศึกษาอย่างสามัญชน ด้วยเหตุนี้ เจ้าชายฟรีดริชจึงทรงได้รับการศึกษาจากมาดามมงท์เบลล์ สตรีชาวฝรั่งเศสผู้ที่ต่อมาเป็นมาดามเดอโรคูล และฟรีดริชที่ 2 เองก็มีพระประสงค์ให้การศึกษาต่อพระโอรสและธิดาของพระองค์เองในอนาคต มาดามเดอโรคูลเป็นอูเกอโน (Huguenots) หรือชาวฝรั่งเศสผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ซึ่งอาจจะทำให้มีอิทธิพลต่อฟรีดริชในการเข้าใจในความแตกต่างของแต่ละบุคคลในการนับถือศาสนาก็ได้ ขณะที่ทรงศึกษาเล่าเรียนทรงเรียนภาษาฝรั่งเศสพร้อมกับภาษาเยอรมัน

พระองค์ทรงศึกษามาในทางลัทธิคาลวิน แต่ทรงมีความระแวงว่ามิได้เป็นผู้ได้รับเลือกจริง และเพื่อเป็นการเลี่ยงปัญหาของความรู้สึกนั้น จึงทรงสั่งมิให้สอนพระโอรสเกี่ยวกับแนวคิดเทวลิขิต พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 เอง ไม่ทรงเคร่งครัดเรื่องศาสนาแต่ทรงนับถือลัทธิคาลวิน แม้ว่าจะขัดกับพระประสงค์ของพระบิดาก็ตาม แต่ไม่เป็นที่ทราบที่ทรงทำเช่นนั้นเป็นการทำเพื่อประท้วงพระราชบิดาหรือเป็นการที่มีความศรัทธาด้วยพระทัยจริงของพระองค์เอง [3]

มกุฎราชกุมาร

แก้
 
ฟรีดริชมหาราช ครั้งทรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารปรัสเซีย

ในปี ค.ศ. 1730 พระราชินีโซเฟีย โดโรเธียพยายามจัดงานแต่งงานคู่ระหว่างฟรีดริชกับเจ้าหญิงอมิเลีย โซเฟียแห่งบริเตนใหญ่ และวิลเฮ็ลมมินาแห่งเบย์รึธพระขนิษฐากับเจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ พระธิดาและโอรสในพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่ แต่เคานต์ฟรีดริช ไฮน์ริช ฟอน เซ็คเคินดอร์ฟ (Friedrich Heinrich von Seckendorff) ราชทูตออสเตรียประจำกรุงเบอร์ลินมีความระแวงในการพยายามเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างปรัสเซียกับบริเตนใหญ่ จึงติดสินบนจอมพล ฟอน กรุมบ์เคา (Grumbkow) มุขมนตรีการสงครามของปรัสเซีย และเบ็นยามิน ไรเคินบัค (Benjamin Reichenbach) ราชทูตปรัสเซียประจำกรุงลอนดอน สองคนนี้จึงสร้างสถานะการณ์ที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงระหว่างสองราชสำนัก ซึ่งทำให้พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 1 ทรงตั้งข้อเรียกร้องที่ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ไม่สามารถทำตามได้ เช่นปรัสเซียต้องการผนวกแคว้นจูลิชเหนือเมืองโคโลญในปัจจุบันและแคว้นเบิร์กทางตะวันออกเฉียงเหนือของโคโลญในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลทำให้ข้อตกลงฉันทไมตรีระหว่างสองราชวงศ์เป็นอันล้มเหลวลงไป[4]

พระเจ้าฟรีดริชทรงมีความใกล้ชิดกับเจ้าหญิงวิลเฮ็ลมมินาพระขนิษฐาและทรงให้ความสนิทสนมด้วยจนต่อมาตลอดพระชนมายุ เมื่อพระเจ้าฟรีดริชมีพระชนมายุได้ 16 พรรษาทรงมีความใกล้ชิดกับปีเตอร์ คาร์ล คริสตอล์ฟ คีธ เด็กรับใช้ของพระบิดา อายุราว 13 ปี เจ้าหญิงวิลเฮ็ลมมินาทรงบันทึกไว้ว่าสองคนสนิทสนมกันจนแยกจากกันแทบไม่ได้ และทรงกล่าวว่าคีธเป็นเด็กฉลาดเฉลียวแต่ไร้การศึกษา และรับใช้พระอนุชาด้วยความจงรักภักดีโดยการบอกกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่พระบิดาทรงทำ[5]

เมื่อฟรีดริชมีพระชนมายุได้ 18 พรรษาก็ทรงวางแผนหนีไปราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ พร้อมกับฮันส์ แฮร์มัน ฟอน คัทเทอ (Hans Hermann von Katte) และนายทหารรุ่นเล็กสองสามคน แต่เมื่อไปกันเกือบถึงมันไฮม์ โรเบิร์ต คีธพี่ชายของปีเตอร์ คีธเกิดความกลัวขึ้นมาอย่างหนักถึงแผนการหนีจึงพยายามขอพระราชทานอภัยโทษจากพ��ะเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 1 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1730[6] ฟรีดริชและแคทจึงถูกจับขังคุกที่คึสตริน และเพราะทั้งสองคนเป็นนายทหารที่พยายามหนีราชการจากราชอาณาจักรปรัสเซียไปราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มจึงถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นขบถต่อแผ่นดิน และทรงขู่ว่าจะประหารชีวิตฟรีดริช และทรงคิดที่จะบังคับให้ฟรีดริชสละความเป็นมงกุฏราชกุมารให้พระอนุชาเจ้าชายออกัสตัส วิลเลียม แห่งปรัสเซีย แต่การกระทำทั้งสองนี้อย่างเป็นการยากที่จะเสนอและได้รับกการอนุมัติจากสภาไรค์สตากแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[7] พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มจึงทรงตัดสินประหารชีวิตฮันส์ เฮอร์มันน์ ฟอน แคท โดยบังคับให้ฟรีดริชเฝ้าดูการตัดแบ่งร่างของ แคทเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1730

พระเจ้าฟรีดริชทรงได้รับพระราชทานพระอภัยโทษและถูกปล่อยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนและถูกปลดจากตำแหน่งทางทหาร[8] แทนที่จะกลับไปเบอร์ลินฟรีดริชตัดสินใจอยู่ที่คึสตรินต่อ และเริ่มศึกษาทางการปกครองและการบริหารการสงครามอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกับกระทรวงการสงครามและอสังหาริมทรัพย์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ความขัดแย้งระหว่างพระราชบิดาและพระองค์เองค่อยผ่อนคลายลงเมื่อพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มเสด็จมาคึสตรินในปีต่อมา ฟรีดริชได้รับอนุญาตให้กลับไปเบอร์ลินเมื่อพระขนิษฐาเจ้าหญิงวิลเฮ็ลมมินาทรงเสกสมรสกับมาร์กราฟฟรีดริชแห่งบรันเดินบวร์ค-เบย์รึธแห่งนครรัฐเบย์รึธเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1731 หลังจากนั้นก็ทรงได้รับการอนุญาตให้กลับมาอยู่เบอร์ลินเป็นการถาวรเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1732

พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม ทรงมีความประสงค์จะให้เจ้าชายฟรีดริชแต่งงานกับแกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบ็ท คริสทีเนอแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน พระนัดดาของจักรพรรดินีแอนนาแห่งรัสเซียแต่แผนการถูกคัดค้านโดยเจ้าชายเออแฌนแห่งซาวอย ฟรีดริชทรงเสนอการแต่งงานระหว่างพระองค์เองกับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการสละการเป็นมงกุฏราชกุมารของปรัสเซีย แต่เจ้าชายยูจีนกลับทรงชักจูงพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มให้เห็นควรว่าการแต่งงานระหว่างฟรีดริชกับเอลีซาเบ็ท คริสทีเนอ แห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล-เบเวิร์น ผู้เป็นญาติทางราชวงศ์ฮาพส์บวร์คผู้นับถือโปรเตสแตนต์จะเหมาะสมกว่า[9] เมื่อพระเจ้าฟรีดริชทรงทราบถึงข้อเสนอนี้ก็ทรงบรรยายในจดหมายถึงพระขนิษฐาว่า “ความรักและความเป็นมิตรระหว่างเราสองไม่มีทางเป็นไปได้”[5] และทรงคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ก็ทรงเข้าพิธีเสกสมรสเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1733 หลังจากเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1740 ฟรีดริชก็ทรงกีดกันมิให้เอลีซาเบ็ท คริสทีเนอเข้าเฝ้าในราชสำนักที่พ็อทซ์ดัม และทรงจัดให้เอลีซาเบ็ท คริสทีเนออยู่ประทับที่วังเชินเฮาเซิน (Schönhausen Palace) ในกรุงเบอร์ลิน และห้องชุดที่พระราชวังกรุงเบอร์ลิน (Berliner Stadtschloss) และมอบตำแหน่ง “เจ้าชายแห่งปรัสเซีย” ให้แก่พระอนุชาเจ้าชายออกัสตัส วิลเลียม แห่งปรัสเซีย ถึงแม้ว่าฟรีดริชจะทรงปฏิบัติเช่นนี้ต่อเอลีซาเบ็ท คริสทีเนอ เอลีซาเบ็ท คริสทีเนอก็ยังทรงมีความจงรักภักดีต่อพระองค์[10]

หลังจากกลับมาเบอร์ลินพระเจ้าฟรีดริชก็ได้รับตำแหน่งทางทหารแห่งกองทัพปรัสเซียกลับในฐานะพันเอกของกองโกลซ์ (Regiment von der Goltz) ประจำการอยู่ใกล้ๆ เนาเอินและนอยรุพพินในแคว้นบรันเดินบวร์ค เมื่อปรัสเซียส่งทหารไปช่วยออสเตรียระหว่างสงครามสืบราชบัลลังก์โปแลนด์ (War of the Polish Succession) พระเจ้าฟรีดริชทรงศึกษาการยุทธศาสตร์กับเจ้าชายยูจีนแห่งซาวอยระหว่างการสู้รบกับฝรั่งเศสบนฝั่งแม่น้ำไรน์[11] ระหว่างสงครามพระเจ้าฟรีดริช วิลเลียมทรงอ่อนแอลงเพราะโรคข้อต่ออักเสบ ทรงยกปราสาทไรน์สเบิร์กเหนือเมืองนอยรุพพินให้ฟรีดริช ไรน์สเบิร์กกลายเป็นที่พบปะของนักดนตรี, นักแสดง, และศิลปิน ฟรีดริชใช้เวลาอ่านหนังสือ ดูละคร เขียนและเล่นดนตรี และมักจะกล่าวถึงระยะเวลานี้ว่าเป็นระยะเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิต ฟรีดริชทรงก่อตั้ง “กลุ่มเบยาร์ด” (Bayard Order) เพื่อถกเถียงเรื่องการยุทธศาสตร์กันกับเพื่อน โดยมักจะมีไฮน์ริค เอากุสต์ เดลา มอท โฟค (Heinrich August de la Motte Fouqué) เป็นประธานในการประชุม

งานเขียนของนิกโกเลาะ มาเกียเวลลี (Niccolò Machiavelli) เช่นเรื่อง “เจ้าชาย” (The Prince) เป็นงานที่ใช้เป็นแนวทางในการปกครองของพระมหากษัตริย์ในสมัยของฟรีดริช แต่ในปี ค.ศ. 1739 ฟรีดริชเขียน “ปฏิปักษ์ต่อมาเกียเวลลี” (Anti-Machiavel) — ซึ่งเป็นทฤษฏีการปกครองที่ตรงกันข้ามกับการสอนของมาเกียเวลลี หนังสือถูกพิมพ์โดยไม่บอกชื่อผู้ประพันธ์เมื่อปี ค.ศ. 1740 วอลแตร์นำไปเผยแพร่ที่อัมสเตอร์ดัมและได้รับความนิยมเป็นอันมาก[12] ชีวิตของฟรีดริชที่อุทิศให้ศิลปะมาจบลงเมื่อพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มสิ้นพระชนม์

กษัตริย์ปรัสเซีย

แก้
 
การขยายตัวของบรันเดินบวร์ค-ปรัสเซีย ค.ศ. 1600-1795

ก่อนที่พระเจ้าฟรีดริชจะขึ้นครองราชย์นักปรัชญาฌ็อง เลอ รง ดาล็องแบร์ (Jean le Rond d'Alembert) กล่าวกับพระองค์ว่า “นักปรัชญาและนักการศึกษาทั้งแผ่นดินต่างพากันเฝ้ามองพระองค์ เพราะเห็นว่าพระองค์จะเป็นผู้นำในการปกครองตามแผนของพวกเขา” แต่ปรัชญาการปกครองแตกต่างกับความเป็นจริงของสถานะการณ์ทางการเมือง เมื่อพระเจ้าฟรีดริชขึ้นครองราชย์ในฐานะ “พระมหากษัตริย์แห่งปรัสเซีย” ในปี ค.ศ. 1740 ปรัสเซียประกอบด้วยแคว้นเล็กแคว้นน้อยรวมทั้งแคว้นคลีฟส์, แคว้นมาร์ค, และเรเวนสเบิร์กทางตะวันตกของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์; แคว้นบรันเดินบวร์ค, แคว้นวอร์พอมเมิร์น, และ ฟาร์เทอร์พอมเมอราเนียทางตะวันออกของอาณาจักร; และอดีตแคว้นปรัสเซียนอกจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใกล้พรมแดนของจักรภพโปแลนด์-ลิธูเอเนีย ทรงใช้พระนามว่า “พระเจ้าแผ่นดินในปรัสเซีย” เพราะเป็นดินแดนที่เป็นของปรัสเซียทางประวัติศาสตร์ เมื่อปี ค.ศ. 1772 จึงทรงประกาศพระองค์เองได้ว่าเป็น “พระเจ้าแผ่นดินแห่งปรัสเซีย” เมื่อทรงรวมแคว้นต่างๆ เข้าเป็นอาณาจักรปรัสเซีย

ราชการสงคราม

แก้
 
พระเจ้าฟรีดริชมหาราชหลังยุทธการที่โคลิน ค.ศ. 1757

จุดประสงค์ของพระเจ้าฟรีดริชคือการปรับปรุงและรวมแคว้นต่างๆ ที่อยู่คนละทิศละทางของปรัสเซียเข้าด้วยกัน แต่ข้าศึกที่สำคัญที่สุดของพระองค์คือราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (House of Habsburg) แห่งออสเตรีย ผู้เป็นผู้ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ในยุโรปในฐานะพระ จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1806 พระเจ้าฟรีดริชทรงสร้างปรัสเซียให้เป็นมหาอำนาจที่ใหญ่เป็นลำดับที่ห้าของยุโรปจากเงินจำนวนไม่มากนักในพระคลังที่พระราชบิดาสะสมไว้

พระเจ้าฟรีดริชทรงหมายตาบริเวณไซลีเชียซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศโปแลนด์ในปัจจุบัน จึงไม่ทรงยอมลงนามใน “กฎการสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย ” (Pragmatic Sanction of 1713) ซึ่งเป็นกฤษฏีกาที่ออกโดยจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ระบุให้มาเรีย เทเรซาแห่งออสเตรียพระราชธิดามีสิทธิในการสืบราชสมบัติออสเตรียต่อจากพระองค์ นอกจากนั้นฟรีดริชก็ยังทรงกังวลว่าพระเจ้าออกัสตัสที่ 3 แห่งโปแลนด์และอีเล็คเตอร์แห่งแซ็กโซนีว่าจะเข้ามาเป็นพันธมิตรกับไซลีเชีย จึงทรงรุกรานไซลีเชียในปีเดียวกันกับที่ทรงขึ้นครองราชย์ โดยทรงใช้ข้ออ้างจากสนธิสัญญา ที่ค่อนข้างเงื่อมงำจากปี ค.ศ. 1537 ระหว่างราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์นและราชวงศ์ไพอาสต์ แห่งบรเซ็กซึ่งระบุว่าส่วนหนึ่งของไซลีเชียจะกลับมาเป็นของแคว้นบรันเดินบวร์คถ้าราชวงศ์ไพอาสสิ้นสุดลง สงครามไซลีเชียครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1740 ถึงปี ค.ศ. 1742 เป็นการริเริ่มสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย ระหว่างปี ค.ศ. 1740 ถึงปี ค.ศ. 1748 พระเจ้าฟรีดริชได้รับชัยชนะต่อบริเวณไซลีเชียยกเว้นบริเวณไซลีเชียของออสเตรีย ออสเตรียพยายามยึดไซลีเชียคืนใน สงครามไซลีเชียครั้งที่ 2 ระหว่างปี ค.ศ. 1744 ถึงปี ค.ศ. 1745 แต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าฟรีดริชทรงบังคับให้ออสเตรียปฏิบัติตามสัญญาสงบศึกเดิมของสงครามไซลีเชียครั้งที่ 1 การยึดดินแดนไซลีเชียทำให้ปรัสเซียขยายอำนาจการปกครองในบริเวณ แม่น้ำโอเดอร์

ในปี ค.ศ. 1756 ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คแห่งออสเตรีย และ ราชวงศ์บูร์บงแห่งฝรั่งเศสซึ่งแต่เดิมเคยเป็นศัตรูกันหันมาเป็นพันธมิตรกันตาม “การปฏิวัติทูต” (Diplomatic Revolution) เพื่อต่อต้านพระเจ้าฟรีดริชผู้ที่ตัดสินใจรุกรานก่อน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1756 กองทัพของพระองค์ก็ข้ามพรมแดนและรุกรานราชอาณาจักรแซ็กโซนี ซึ่งเป็นการเริ่มสงครามเจ็ดปี (Seven Years' War) ระหว่างปี ค.ศ. 1756 ถึงปี ค.ศ. 1763 ในสงครามนั้นพระเจ้าฟรีดริชทรงต้องต่อสู้กับพันธมิตรออสเตรีย, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, แซ็กโซนี และสวีเดน ส่วนพันธมิตรของพระองค์ก็มีเพียงอังกฤษและแคว้นฮาโนเวอร์ แต่ก็ทรงสามารถรักษาปรัสเซียไว้ได้แม้จะถูกรุกรานบ่อยครั้ง การสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันของจักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งรัสเซียซึ่งเรียกกันว่า “ปาฏิหาริย์ของราชวงศ์บรันเดินบวร์ค” ทำให้พันธมิตรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อปรัสเซียสลายตัวลง พระเจ้าฟรีดริชจึงทรงสามารถรักษาดินแดนไซลีเชียไว้ได้แต่มิได้ได้ดินแดนเพิ่มเติมจากสนธิสัญญาฮูเบอร์ทัสเบิร์ก (Treaty of Hubertusburg) ความสามารถที่ทรงรักษาไซลีเชียไว้ได้จากสงครามสองครั้งทำให้พระเจ้าฟรีดริชกลายเป็นวีรบุรุษทั่วดินแดนที่พูดภาษาเยอรมัน

เมื่อมีพระชนมายุมากขึ้นก็ทรงเข้าทำสงครามสืบราชบัลลังก์บาวาเรีย (War of the Bavarian Succession) ซึ่งเป็นสงครามย่อย ในปี ค.ศ. 1778 ซึ่งทรงยุติความพยายามของออสเตรียที่จะแลกเปลี่ยนเนเธอร์แลนด์ของออสเตรียกับบาวาเรีย เมื่อจักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พยายามทำเช่นนั้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1784 พระเจ้าฟรีดริชทรงก่อตั้ง “แนวร่วมผู้ครองเยอรมัน” (Fürstenbund) และทรงถือพระองค์ว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติภาพของชาวเยอรมันซึ่งตรงกันข้ามกับภาพพจน์สมัยต้นเมื่อทรงเป็นผู้รุกรานฮาพส์บวร์ค

พระเจ้าฟรีดริชมักจะทรงนำกองทัพด้วยพระองค์เอง ม้าที่ทรงใช้ในการศึกต่างๆ ถูกยิงตายไปด้วยกันทั้งสิ้นหกตัว เป็นที่ชื่นชมกันว่าทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ผู้มีอัจฉริยะที่สุดโดยเฉพาะการใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่า “oblique order” ศึกที่เด่นที่สุดที่ทรงได้รับชัยชนะในสนามรบก็ได้แก่ “ยุทธการที่โฮเอินฟรีดแบร์ค”, “ยุทธการที่รอสบาค” และ “ยุทธการที่ลูเทิน” แต่ที่สำคัญกว่าความสามารถทางยุทธวิธีคือการที่ทรงสามารถป้องกันการรวมตัวกันของประเทศที่มีอำนาจมากกว่าไม่ให้สามารถรุกรานและยึดอาณาจักรปรัสเซียได้สำเร็จ

ผู้ที่ซาบซึ้งในความสำคัญของพระองค์ทางด้านนี้มากที่สุดก็คือจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศสผู้ซึ่งถือว่าพระเจ้าฟรีดริชเป็นผู้มีอัจฉริยะที่สุดในทางการใช้ยุทธวิธีในประวัติศาสตร์[13] หลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนทรงได้รับชัยชนะเมื่อ ค.ศ. 1807 ก็เสด็จไปเยี่ยมอนุสรณ์ของพระเจ้าฟรีดริชที่พ็อทซ์ดัมและทรงกล่าวกับนายทหารของพระองค์ว่า “ท่านทั้งหลาย, ถ้าผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่ข้าพเจ้าก็ไม่มายืนอยู่ที่นี่”[14]

การแบ่งแยกโปแลนด์ครั้งที่หนี่ง

แก้
 
จักรภพโปแลนด์-ลิธูเอเนียหลังการแบ่งแยกโปแลนด์ครั้งที่หนี่งเมื่อปี ค.ศ. 1772

เมื่อจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย ขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1762 หลังจากที่ทรงสั่งสังหารพระสวามีพระเจ้าปีเตอร์ที่ 3 แคทเธอรีนทรงเป็นปฏิปักษ์เต็มตัวต่อปรัสเซียขณะที่พระเจ้าฟรีดริชก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกันต่อรัสเซีย และทรงเดินทัพข้ามพรมแดนจักรภพโปแลนด์-ลิธูเอเนียระหว่างสงครามเจ็ดปีโดยไม่มีการต่อต้าน แม้ว่าประมุขทั้งสองพระองค์จะไม่ลงรอยกันแต่ก็ได้ทรงลงนามในสัญญาพันธมิตรเมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1764 ซึ่งประกันการย��ดครองของปรัสเซียในไซลีเชียเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับความสนับสนุนของปรัสเซียต่อรัสเซียในการต่อสู้กับจักรวรรดิออตโตมัน ผู้ที่พระราชินีนาถแคทเธอรีนหมายจะให้เป็นผู้ครองโปแลนด์คือสตานิสสลอว์ เอากุสต์ โปเนียเทาสกี (Stanisław August Poniatowski) ผู้ได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์โปแลนด์ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

พระเจ้าฟรีดริชทรงมีความกังวลเมื่อพระราชินีนาถแคทเธอรีนทรงมีบทบาทสำคัญต่อการประชุมรัฐสภาเร็พนิม (Repnin Sejm) เมื่อปี ค.ศ. 1767 ผลจากการประชุมมีความกระทบกระเทือนต่อออสเตรียและจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อสงครามรัสเซีย-ตุรกี (Russo-Turkish War) ระหว่างปี ค.ศ. 1768 ถึงปี ค.ศ. 1774 เกิดขึ้นพระเจ้าฟรีดริชทรงหนุนหลังพระราชินีนาถแคทเธอรีน--แต่ด้วยความไม่เต็มใจ--เป็นจำนวนเงิน 300,000 รูเบิลเพราะไม่ทรงต้องการให้รัสเซียมีความแข็งแกร่งขึ้นจากการยึดครองดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน นอกจากนั้นก็ยังทรง กลับไปเป็นพันธมิตรกับจักรพรรดิโยเซฟและเว็นเซล อันทอน กราฟ คอนิทซ์อัครเสนาบดีออสเตรีย ราวปี ค.ศ. 1731 พระเจ้าฟรีดริชทรงส่งพระราชสารถึงนายพลดูบิสลาฟ โนมาร์ ฟอน แน็ทซเมอร์แห่งปรัสเซีย เสนอการผนวกดินแดนปรัสเซียโปแลนด์เพื่อสร้างความมั่นคงยิ่งขึ้นให้แก่ทางตะวันออกของราชอาณาจักรปรัสเซีย[15]

ระหว่างฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1770 ถึงปี ค.ศ. 1771 เจ้าชายเฮนรีพระอนุชาของพระเจ้าฟรีดริชทรงไปประจำที่ราชสำนักปรัสเซียที่เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ในฐานะผู้แทนพระองค์ของพระเจ้าฟรีดริช เมื่อออสเตรียผนวกเมืองสิบสามเมืองในบริเวณเซ็พส์ (Szepes) เมื่อปี ค.ศ. 1769 พระราชินีนาถแคทเธอรีนและนายพลไอวาน เชอร์นิชยอฟที่ปรึกษาประจำพระองค์ทรงแนะนำกับเจ้าชายเฮนรีว่าปรัสเซียก็ควรจะผนวกดินแดนบางส่วนของโปแลนด์เช่นบริเวณวาร์เมีย (Warmia) เพื่อเป็นการตอบโต้ เมื่อทรงทราบข้อเสนอของพระราชินีนาถแคทเธอรีนจากพระอนุชาพระเจ้าฟรีดริชก็ทรงเสนอการแบ่งแยกดินแดนบริเวณริมพรมแดนของโปแลนด์ระหว่างออสเตรีย, ปรัสเซีย และรัสเซีย คอนิทซ์นายกรัฐมนตรีออสเตรียเสนอโต้มาว่าปรัสเซียควรผนวกดินแดนของโปแลนด์และคืนดินแดนไซลีเชียที่พระเจ้าฟรีดริชยึดไป แต่ไม่ทรงยอมรับข้อเสนอนั้น

หลังจากที่รัสเซียยึดครองแคว้นต่างๆ ในบริเวณแม่น้ำดานูบแล้ว เจ้าชายเฮนรีก็ทรงแนะนำพระเจ้าฟรีดริชและจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา ว่าการสร้างความสมดุลทางอำนาจจะประสบความสำเร็จมากกว่าถ้าแบ่งแยกจักรภพโปแลนด์-ลิธูเอเนียออกเป็นสามส่วนแทนที่จะให้รัสเซียยึดดินแดนของออตโตมัน ในการแบ่งแยกโปแลนด์ครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1772 พระเจ้าฟรีดริชทรงยึดดินแดนของโปแลนด์ส่วนที่เรียกว่า "ปรัสเซียหลวง" เกือบทั้งหมดซึ่งรวมเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ตารางไมล์พร้อมกับประชากร 600,000 คนซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดในสามส่วนที่แบ่งแยก[16] แต่ดินแดนใหม่ทางตะวันตกที่ได้รับมาเป็นบริเวณที่รวมปรัสเซียตะวันออกกับบรันเดินบวร์คและฮินเทอร์พอมเมิร์นซึ่งทำให้ปรัสเซียมีอำนาจการปกครองบริเวณปากแม่น้ำวิสทูรา แม้กระนั้นมาเรียเทรีซาก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแบ่งแยกครั้งนี้ จนพระเจ้าฟรีดริชทรงกล่าวเยาะว่า “ทรงกันแสงแต่ก็ทรงฉวย”[17]

เมื่อได้ดินแดนใหม่มาแล้วพระเจ้าฟรีดริชก็ทรงปรับปรุงระบบโครงสร้างต่างๆ ทางการบริหารรัฐบาล ระบบการบริหารและกฎหมายของโปแลนด์ก็ถูกแทนที่โดยระบบของปรัสเซีย การปรับปรุงรวมไปถึงระบบการศึกษาโดยการสร้างโรงเรียน 750 โรงเรียนระหว่างปี ค.ศ. 1772 ถึงปี ค.ศ. 1775[18] ครูที่สอนก็มีทั้งโปรเตสแตนต์และโรมันคาทอลิก และยังสนับสนุนให้ครูและนักบริหารพูดได้ทั้งภาษาเยอรมันและโปแลนด์ นอกจากนั้นพระเจ้าฟรีดริชก็ยังทรงตั้งนโยบายให้ผู้สืบราชบัลลังก์ปรัสเซียเรียนภาษาโปแลนด์ด้วย นโยบายซึ่งได้ทำต่อกันมาในราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์นมาจนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3เมื่อทรงตัดสินใจไม่ให้มกุฎราชกุมารวิลเฮ็ล์มเรียน[18]

แม้พระเจ้าฟรีดริชจะทรงปรับปรุงสิ่งต่างๆในดินแดนใหม่ แต่กระนั้นก็ยังทรงดูแคลนประชาชนในดินแดนที่ทรงยึดครองโดยเฉพาะกับเจ้าผู้ครองนครของโปแลนด์ (“szlachta”) และทรงบันทึกว่าโปแลนด์มี “รัฐบาลที่แย่ที่สุดในยุโรปนอกไปจากรัฐบาลออตโตมัน”[17] ทรงถือว่าปรัสเซียตะวันตกเป็นดินแดนที่ไม่มีวัฒนธรรมเช่นเดียวกับอาณานิคมแคนาดาภายใต้การปกครองของอังกฤษ[19] และทรงเปรียบเทียบชาวโปแลนด์อย่างดูแคลนว่าเป็นชาว “อิโรคอยส์” ซึ่งเป็นชาวอเมริกันอินเดียนเผ่าหนึ่ง[17] ในจดหมายถึงเจ้าชายเฮนรีพระเจ้าฟรีดริชทรงกล่าวว่า ในการได้ดินแดนมานั้นก็มีประโยชน์ทั้งทางการเมืองและทางการเงิน แต่เพื่อไม่ให้เป็นที่อิจฉาเมื่อใครถามเมื่อไปเยี่ยมทางตะวันตกของปรัสเซีย ก็จะตอบว่าสิ่งที่เห็นที่ปรัสเซียตะวันตกก็มีเพียงต้นสน, ทุ่งและชาวยิว แต่จะอย่างไรก็ตามก็ยังทรงกล่าวว่าเป็นดินแดนยังมีอะไรที่จะต้องปรับปรุงอีกมากเพราะเป็นดินแดนที่ไม่มีระบบ ไม่มีแผนและสภาพบ้านเมืองก็เป็นที่น่าสมเพช[20] พระเจ้าฟรีดริชทรงเชิญชาวเยอรมันเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อปรับปรุงดินแดนต่างๆ ทึ่ปรัสเซียเข้ายึดครอง[18] เจ้าหน้าที่เยอรมันเองก็ดูถูกดูแคลนชาวโปแลนด์[19] พระเจ้าฟรีดริชมีพระสหายเป็นชาวโปแลนด์บ้างเช่นอิกนาซี คราซิคิ ซึ่งทรงขอให้สถาปนามหาวิหารเซนต์เฮดจวิกในปี ค.ศ. 1773

การปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย

แก้
 
พระเจ้าฟรีดริชทอดพระเนตรการเก็บมันฝรั่งในมณฑลพอเมอเรเนียตะวันออก

พระเจ้าฟรีดริชทรงเปลี่ยนสภาพปรัสเซียจากประเทศที่ล้าหลังมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจและการเมืองที่มั่นคง การยึดดินแดนไซลีเชียเป็นการเพิ่มดินแดนที่มีวัตถุดิบสำหรับการอุตสาหกรรมให้แก่ปรัสเซีย ทรงปกป้องการอุตสาหกรรมด้วยการตั้งภาษีที่สูงและส่งเสริมระบบการค้าภายใน ทรงขุดคลองรวมทั้งคลองระหว่างแม่น้ำวิสทูราและโอเดอร์, ที่ใดที่เป็นที่หนองก็ทรงสั่งให้ถมและแปรสภาพเพื่อให้เป็นที่ทำการเพาะปลูกได้, ทรงส่งเสริมให้มีการปลูกพืชพันธ์ใหม่เช่นมันฝรั่งและหัวเทอร์นิพเป็นต้น[1]

พระเจ้าฟรีดริชทรงเห็นว่าการแปรสภาพที่ดินที่เคยเป็นหนองมาก่อนบริเวณโอเดอร์ว่าเป็นดินแดนที่ได้มาอย่างสันติภาพ[19] ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสพระเจ้าฟรีดริชทรงจัดระบบการเก็บ “ภาษีอากรทางอ้อม” (indirect taxes) เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกไปจากภาษีทางตรง พระเจ้าฟรีดริชทรงจ้างโยฮันน์ เอิร์นส ก็อทซเคาว์สกีเพื่อส่งเสริมโฆษณาทางการค้าและเพื่อแข่งกับฝรั่งเศสรวมทั้ง��ารเพิ่มลูกจ้างโรงงานทำไหมขึ้นเป็น 1,500 คน นอกจากนั้นยังทรงทำตามคำแนะนำในการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ และการจำกัดการนำสินค้าเข้า ในปี ค.ศ. 1763 เมื่อก็อทซเคาว์สกีล้มละลายระหว่างสมัยเศรษฐกิจล้มเหลวของยุโรปที่เริ่มที่อัมสเตอร์ดัม พระเจ้าฟรีดริชทรงซื้อโรงงานเครื่องกระเบื้อง KPM ของก็อทซเคาว์สกีแต่ไม่ทรงยอมซึ้อภาพเขียน

ในรัชสมัยของพระเจ้าฟรีดริชผลของสงครามเจ็ดปีและการได้ดินแดนไซลีเชียมีผลต่อการเศรษฐกิจของปรัสเซีย การหมุนเวียนของเงินที่ลดค่าลงทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เพื่อการวางค่าของเงินใหม่ทรงเสนอกฤษฏีกาการผลิตเหรียญกษาปณ์ปี ค.ศ. 1763 ซึ่งทำให้ค่าของเงินคงตัวขึ้นและเป็นที่ยอมรับกันในการจ่ายค่าภาษีให้เท่ากับค่าของเงินก่อนสงคราม วิธีการปฏิรูปค่าของเงินของพระเจ้าฟรีดริชมีผลให้ประมุขของยุโรปต่างๆ หันมาใช้วิธีของพระองค์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศของตนเอง ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการขาดแคลนเงินสำเร็จรูป[21]

พระเจ้าฟรีดริชทรงปรับปรุงระบบราชการซึ่งจนกระทั่งปี ค.ศ. 1760 เป็นหน้าที่ของอาดัม ลุดวิก ฟอน บลูเม็นทอลรัฐมนตรีกระทรวงการสงครามและเศรษฐกิจ โยฮาคิมผู้เป็นหลานรับหน้าที่ต่อมาและเป็นรัฐมนตรีตลอดรัชสมัยของพระเจ้าฟรีดริชและต่อมา ระบบการศึกษาของปรัสเซียถือกันว่าเป็นระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในยุโรป นอกจากนั้นยังทรงสั่งยกเลิกการลงโทษโดยการทรมาน

เสรีภาพในการนับถือศาสนา

แก้

โดยทั่วไปพระเจ้าฟริดริคทรงสนับสนุนเสรีนิยมในการนับถือศาสนารวมทั้งการอนุญาตให้พระเยซูอิดเป็นครูในไซลีเชีย, วาร์เมีย, และเน็ทซ์หลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 14ทรงสั่งหยุดยั้งลัทธินี้ พระเจ้าฟริดริคทรงมีความสนพระทัยในความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นครูเยซูอิด, ประชาชนอูเกอโนท์, พ่อค้าชาวยิว, นายธนาคาร และโดยเฉพาะผู้ที่มาจากสเปน มีพระประสงค์ที่จะผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ไปปรับปรุงบริเวณต่างในปรัสเซียในสาขาที่ทรงเห็นว่าควรจะปรับปรุง แม้พระเจ้าฟริดริคทรงมีความสามารถในทางปฏิบัติแต่ไม่ทรงอยู่เหนือความมีอคติที่ทรงมีต่อประชาชนบางกลุ่ม เช่นที่เห็นได้จากงานเขียน “Testament politique” ว่า:

“ข้าพเจ้าเห็นว่าเรามีชาวยิวอยู่กันในเมืองมากเกินไป ชาวยิวเหล่านี้เป็นที่ต้องการในบริเวณพรมแดนเพราะบริเวณเหล่านั้นฮิบรูเท่านั้นที่ทำการค้าขายได้ ในทันที่ชาวยิวย้ายจากชายแดน, ชาวยิวก็ไม่มีประโยชน์, อยู่กันเป็นก๊ก, ติดต่อการค้าขายกันด้วยเล่ห์กลต่างๆ ซึ่งเป็นผลเสียต่อชาวเมืองผู้นับถือศาสนาคริสต์และพ่อค้า ข้าพเจ้าไม่เคยลงโทษผู้ใดจากกลุ่มนี้หรือกลุ่มอื่นๆ; แต่อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเพื่อที่จะไม่ให้จำนวนประชากรกลุ่มนี้ขยายตัวเพิ่มขี้น”[22]

ชาวยิวบริเวณพรมแดนโปแลนด์จึงมีอาชีพในการทำมาค้าขายโดยได้รับความคุ้มครองและการสนับสนุนจากพระเจ้าฟริดริคและประชาชนปรัสเซีย ความสำเร็จในการรว��ชาวยิวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยพระเจ้าฟริดริคจะเห็นได้จากบทบาทของเกอร์ซัน ฟอน ไบลคเรอเดอร์, นายธนาคารชาวยิวในการสนับสนุนทางการเงินให้แก่ออทโท ฟอน บิสมาร์คเพื่อช่วยในการรวมตัวของจักรวรรดิเยอรมัน[23]

การสนับสนุนเสรีนิยมในการนับถือศาสนาของพระเจ้าฟริดริคอาจจะมีเหตุผลนอกเหนือไปจากเหตุผลทางปรัชญา แต่เป็นผลทางการเมืองเพื่อความก้าวหน้าของปรัสเซีย เพราะขณะที่ยุโรปยังจำได้ถึงการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันในคริสต์ศตวรรษที่ 17, พระเจ้าฟริดริคทรงกล่าวว่า “ศาสนาทุกศาสนาเท่าเทียมกันและดี และตราบเท่าที่ปฏิบัติโดยผู้มีความซื่อตรงและโดยผู้ที่ต้องการเพิ่มดินแดน, ไม่ว่าจะเป็นชาวตุรกี หรือชนนอกศาสนา, เราจะสร้างสุเหร่าและวัดให้”[24]

สถาปัตยกรรม

แก้

พระเจ้าฟรีดริชทรงสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ หลายแห่งในกรุงเบอร์ลินซึ่งส่วนใหญ่ยังคงตั้งอยู่ในปัจจุบัน เช่นโรงอุปรากรเบอร์ลิน, หอสมุดหลวง (ปัจจุบันเป็นหอสมุดแห่งรัฐเบอร์ลิน), มหาวิหารเซนต์เฮ็จวิก และวังเจ้าชายเฮ็นรี (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยฮัมโบลท์แห่งเบอร์ลิน) แต่พระองค์ทรงชอบใช้เวลาที่พระราชวังฤดูร้อนที่พ็อทซ์ดัมมากกว่า ซึ่งเป็นที่ทรงสร้างวังซองส์ซูซิซึ่งเป็นงานชิ้นสำคัญที่สุดของสถาปัตยกรรมโรโคโคแบบทางเหนือของเยอรมัน “Sanssouci” แปลมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า “ไกลกังวล” เป็นที่ที่ทรงใช้หลบพระองค์จากสังคม

 
ด้านใต้หรือด้านสวนและ “corps de logis” ของวังวังซองส์ซูซิ

ดนตรี, ศิลปะ และการศึกษา

แก้
 
“ขลุ่ยบรรเลงที่วังซองส์ซูซิ” โดยเอดอลฟ ฟอน เม็นเซล (Adolph von Menzel), ค.ศ. 1852, แสดงพระเจ้าฟรีดริชทรงฟลุตในห้องดนตรีที่วังซองส์ซูซิ

พระเจ้าฟรีดริชทรงเป็นนักขลุ่ยที่มีพรสวรรค์ ทรงเขียนดนตรีโซนาตาทั้งหมดราวร้อยชิ้นสำหรับฟลุตและซิมโฟนีอีกสี่ชิ้น กล่าวกันว่าทรงเขียน “การเดินสวนสนามที่โฮเอินฟรีดแบร์ค” (Hohenfriedberger Marsch) ด้วยพระองค์เองเพื่อฉลองชัยชนะจาก “ศึกโฮเอินฟรีดแบร์ค” ในสงครามไซลีเชียครั้งที่ 2 นักดนตรีประจำราชสำนักก็มี คาร์ล ฟิลลิป เอ็มมานูเอล บาค (Carl Philip Emmanuel Bach), โยฮันน์ โยฮาคิม ควันทซ์ และฟรันซ์ เบร็นดา (Franz Benda) หลังจากโยฮันน์ เซบาสเตียน บาคเข้าเฝ้าพระเจ้าฟรีดริชเมื่อปี ค.ศ. 1747 ที่พ็อทซ์ดัมก็กลับมาเขียน “ดนตรีเทิดทูน” (The Musical Offering)

พระเจ้าฟรีดริชเป็นพระเจ้าแผ่นดินนักปรัชญาเช่นเดียวกับจักรพรรดิมาร์คัส ออเรลิอัสแห่งจักรวรรดิโรมัน ทรงเป็นสมาชิกของสมาคม Freemasons ในปี ค.ศ. 1738 ซึ่งเป็นเวลาใกล้กับยุคภูมิปัญญา และทรงมีความชื่นชมในตัวนักคิดวอลแตร์ผู้ที่ทรงมีการติดต่อด้วยเกือบตลอดชีวิต

พระเจ้าฟรีดริชทรงเชิญให้ โฌแซ็ฟ-หลุยส์ ลากร็องฌ์ (Joseph-Louis Lagrange) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์มาทำงานที่สถาบันวิทยาศาสตร์ปรัสเซียต่อจากเลออนฮาร์ด ออยเลอร์ (Leonhard Euler) นักเขียนนักปรัชญาคนอื่นๆ ต่างก็สนใจในราชสำนักของปรัสเซียเช่น ฟรานเชสโก อัลการอตตี (Francesco Algarotti), ฌ็อง-บาติสต์ เดอ โบเย, มาร์กีแห่งอาร์ฌ็อง (Jean-Baptiste de Boyer, Marquis d'Argens), จูเลียง โอฟเฟรย์ เดอ ลา เมท์ทรี (Julien Offray de La Mettrie) และปิแอร์ หลุยส์ โมเปอร์ทุยส์ (Pierre Louis Maupertuis) อิมมานูเอิล คานท์พิมพ์งานเขียนทางศาสนาที่เบอร์ลินซึ่งเป็นงานที่พิมพ์ที่อื่นในยุโรปไม่ได้เพราะจะถูกสั่งห้าม

นอกจากภาษาเยอรมันซึ่งเป็นภาษาแม่แล้วพระเจ้าฟรีดริชยังทรงพูดภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, โปรตุเกส และ อิตาเลียนได้ด้วย นอกจากนั้นยังทรงเข้าใจภาษาละติน, ภาษากรีกทั้งสมัยโบราณและสมัยใหม่ และภาษาฮิบร��� แต่ทางวัฒนธรรมโปรดวัฒนธรรมฝรั่งเศส และไม่โปรดภาษาเยอรมันซึ่งรวมไปทั้งวรรณคดีและวัฒนธรรมของเยอรมันด้วย ทรงอธิบายกับนักเขียนชาวเยอรมันว่าการเขียนภาษาเยอรมันเต็มไปด้วยการใช้ “วงเล็บซ้อนวงเล็บ, และมักจะพบคำกิริยาตอนล่างสุดของหน้าซึ่งทั้งประโยคต้องขึ้นอยู่กับคำนั้น”[25] คำวิจารณ์ของพระองค์ทำให้นักเขียนเยอรมันพยายามสร้างความประทับใจให้พระองค์โดยการเขียนวรรณกรรมในภาษาเยอรมันเพื่อพิสูจน์คุณค่าของภาษา นักรัฐศาสตร์หลายคนรวมทั้งไฮนริช ฟรีดริช คาร์ล ไรคสฟรายแฮร์ ฟอน และ ซุม ชไตน์ (Heinrich Friedrich Karl Reichsfreiherr vom und zum Stein) ได้รับแรงบันดาลใจจากความสามารถในการเป็นรัฐบุรุษของพระเจ้าฟรีดริช โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเทเขียนสดุดีพระเจ้าฟรีดริชระหว่างที่ไปเยี่ยมสตราสเบิร์กว่า:

“Well we had not much to say in favour of the constitution of the Reich; we admitted that it consisted entirely of lawful misuses, but it rose therefore the higher over the present French constitution which is operating in a maze of lawful misuses, whose government displays its energies in the wrong places and therefore has to face the challenge that a thorough change in the state of affairs is widely prophesied. In contrast when we looked towards the north, from there shone Friedrich, the Pole Star, around whom Germany, Europe, even the world seemed to turn…”[26]

รสนิยมทางเพศ

แก้
 
การสนทนาครั้งแรกกับปราชญ์วอลแตร์ (ซ้าย) ในดัชชีเคลเวอ[27]

นักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่าพระเจ้าฟรีดริชอาจจะทรงเป็นผู้รักเพศเดียวกัน, ผู้รักทั้งสองเพศ หรือ ผู้ละเว้นจากการมีความสัมพันธ์ทางเพศ (celibacy) แต่ที่ทราบแน่นอนคือไม่ทรงมีความสนใจในพระชายา และความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับฮันส์ เฮอร์มันน์ ฟอน แคทเป็นที่สันนิษฐานกันโดยทั่วไปในราชสำนักปรัสเซียว่าเป็นความสัมพันธ์ในทางโรแมนติค

เมื่อฟรีดริชยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการเลี้ยงอย่างทารุณโดยพระราชบิดาที่ทรงทำการลงโทษหรือดูแคลนพระองค์ต่อหน้าธารกำนัล เมื่อพระชนมายุได้ 18 พรรษาก็ไม่อาจจะทรงทนได้ต่อไปจึงได้ทรงวางแผนหนีไปอังกฤษกับแคท พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มทรงมีความสงสัยในความสัมพันธ์ของทั้งสองคนอยู่แล้วเมื่อทราบแผนการหนีจึงทรงจับทั้งสองคนและสั่งให้ประหารชีวิตแคทนอกหน้าต่างคุกของฟรีดริช ฟรีดริชได้แต่กรรแสงและส่งจูบให้แคทและทรงขอโทษ แต่แคทตอบว่า “ไม่จำเป็นต้องขอโทษกระหม่อมหรอกพะย่ะค่ะ” และกล่าวว่ายอมถวายชีวิตต่อพระองค์ด้วยความยินดี กล่าวแล้วแคทก็คุกเข่าลงให้ลงโทษ ฟรีดริชทรงสิ้นพระสติและเพ้อไปสองวันหลังจากนั้น[28].

หลังจากที่แคทเสียชีวิตพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มก็บังคับให้ฟรีดริชเสกสมรสกับเจ้าหญิงอลิสซาเบ็ธคริสทีนแห่งบรันสวิค-บาเวิร์น เมื่อพระเจ้าฟรีดริช วิลเลียมสิ้นพระชนม์เมื่อปี ค.ศ. 1740 ฟรีดริชก็แยกจากพระชายา แต่ก็มิได้เกลียดผู้หญิงเพราะทรงมีความสัมพันธ์กับสตรีสองคนเมื่อยังทรงอายุได้ไม่มาก และทรงมีความสนิทสนมกับพระขนิษฐา แต่กระนั้นฟรีดริชก็เกือบจะไม่มีอะไรผูกพันกับพระชายาและไม่ทรงพอพระทัยในการแต่งงานทางการเมืองซึ่งทรงถือว่าเป็นการแทรกแซงของออสเตรียซึ่งมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1701 ฟรีดริชและอลิสซาเบ็ธคริสทีนไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน เมื่อพระชนมายุมากขึ้นเสด็จไปเยี่ยมพระชายาอย่างเป็นทางการปีละครั้ง[29].

นอกจากการออกศึกแล้วพระเจ้าฟรีดริชก็ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ที่วังซองส์ซูซิที่พ็อทซ์ดัมซึ่งเป็นวังที่โปรดปรานที่สุดที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1745 ถึงปี ค.ศ. 1747 เพื่อเป็นที่สำหรับความสำราญส่วนพระองค์ ในบริเวณวังมีวัดเฟร็นดชิพซี่งเป็นที่สำหรับสิ่งยั่วยวนสำหรับผู้รักเพศเดียวกันของกรีกโบราณ การตกแต่งรวมทั้งภาพของเทพโอเรสเทสและเทพไพลาเดสผู้เป็นเทพที่มีความสนิทสนมกับเทพโอเรสเทส และเทพอื่นๆ [30].

วังซองส์ซูซิเป็นที่ประทับที่พระเจ้าฟรีดริชทรงใช้รับรองแขกพิเศษส่วนพระองค์โดยเฉพาะวอลแตร์ผู้ที่ทรงขอให้มาอยู่กับพระองค์ในฐานะคนรักเมื่อปี ค.ศ. 1750 พระเจ้าฟรีดริชทรงติดต่อกับวอลแตร์เป็นเวลาถึง 50 ปีด้วยความสัมพันธ์ทั้งทางปัญญาและทางเพศ แต่ความสัมพันธ์เมื่อพบกันมักจะเป็นความสัมพันธ์ที่รุนแรงเต็มไปด้วยการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง วอลแตร์เกลียดความเป็นทหารของพระเจ้าฟรีดริช และพระเจ้าฟรีดริชผู้ที่วอลแตร์บรรยายว่าเป็น “lovable whore” ก็ไม่ชอบวิธีที่วอลแตร์ชอบพูดจาแทะเล็มแล้วถอย การโจมตีของวอลแตร์ต่อพระสหายนักเขียนคนหนึ่งของพระเจ้าฟรีดริชทำให้วอลแตร์ไม่เป็นที่ต้อนรับในปรัสเซีย เมื่อวอลแตร์กลับมาถึงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1753 ก็พิมพ์หนังสือโดยไม่ออกนามชื่อ “ชีวิตส่วนพระองค์ของกษัตริย์ปรัสเซีย” ซึ่งเปิดเผยความเป็นผู้รักร่วมเพศของฟรีดริชและผู้รักร่วมเพศคนอื่นๆ ในราชสำนักปรัสเซีย พระเจ้าฟรีดริชก็ไม่ทรงตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใด ไม่นานหลังจากนั้นวอลแตร์และพระเจ้าฟรีดริชก็กลับคืนดีกันตามเดิมและเขียนจดหมายติดต่อกันตามที่เคยทำมา แต่ทั้งสองคนก็ไม่ได้พบปะกันอีกหลังจากนั้น[31]

เมื่อพระชนมายุมากขึ้นพระเจ้าฟรีดริชก็ยิ่งทรงกลายเป็นคนสันโดษมากขึ้น หลังจากที่ผู้ที่ใกล้ช��ดเสียชีวิตกันไปหมด พระเจ้าฟรีดริชสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 74 พรรษาหลังจากที่ประชวรเป็นเวลานาน ในบั้นปลายทรงมีเค้านทชาวอิตาเลียนซึ่งทรงให้รางวัลโดยการแต่งตั้งให้เป็นทูต[32]

นักประวัติศาสตร์บางคนไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานทางรสนิยมทางเพศที่กล่าวมาโดยกล่าวว่างานเขียนของพระองค์แสดงถึงสิ่งที่มีความสำคัญต่อพระองค์มากกว่าผู้หญิง ศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศส Dieudonné Thiébault[ต้องการอ้างอิง] ประกาศว่าพระเจ้าฟรีดริชมีสนมอยู่ที่นอยรูพิน โยฮันน์ จอร์จ ฟอน ซิมเมอร์มันนายแพทย์ประจำพระองค์อ้างว่าทรงกระจายข่าวลือว่าทรงเป็นผู้รักเพศเดียวกันเพื่อมิให้ประชาชนทราบว่าอวัยวะทางเพศของพระองค์ได้รับความเสียหายจากการผ่าตัดที่ช่วยให้พระองค์รอดชีวิตจากกามโรค[33] นักประวัติศาสตร์คริสโตเฟอร์ คลาร์คสรุปว่า “เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ - และไม่จำเป็น - ที่จะต้องสร้างประวัติทางการเพศของพระองค์; พระองค์อาจจะไม่ทรงมีความสัมพันธ์ทางเพศไม่ว่ากับใครและเพศใดหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์, หรืออาจจะก่อนหน้านั้นก็ได้ แต่ถ้าไม่ทรงทำ, ก็ทรงพูด; บทสนทนาของข้าราชสำนักปรัสเซียก็มักจะเต็มไปด้วยความยั่วยวนทางความสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน”[34]

บั้นปลาย

แก้
 
หลุมพระศพพระเจ้าฟรีดริช ณ วังซ็องซูซี

ในบั้นปลายของชีวิตพระเจ้าฟรีดริชกลายเป็นผู้อยู่อย่างสันโดษมากขึ้น ในแวดวงพระสหายที่ซองซูซีก็เสียชีวิตกันไปแต่ก็มิได้ทรงหาใครแทน และเมื่อมีพระชนมายุมากขึ้นก็ยิ่งทรงมองเห็นข้อเสียของระบบต่างๆ มากขึ้นซึ่งทำให้เสนาบดีและผู้รับใช้มีความอัดอั้นตันใจ ประชาชนชาวเบอร์ลินก็จะพากันมาชื่นชมถวายพระพรเมื่อเสด็จออกไปชนบท แต่พระเจ้าฟรีดริชก็มิได้มีความยินดียินร้ายกับความรู้สึกชื่นชมของประสกนิกรเท่าใดนัก ทรงหันมาให้ความสนใจต่อสุนัขเกรย์ฮาวนด์ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงแทนที่[35] และทรงเรียกสุนัขของพระองค์เป็นการล้อเลียนว่าเป็น “มาควิสเดอ ปองปาดูร์” ของพระองค์ ซึ่งถอดมาจากมาดาม เดอ ปองปาดูร์[36] พระเจ้าฟรีดริชสิ้นพระชนม์บนพระเก้าอี้ในห้องทรงพระอักษรที่วังซองส์ซูซีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1786

พระเจ้าฟรีดริชมีพระประสงค์ที่จะให้ฝังร่างของพระองค์ใกล้กับสุนัขเกรย์ฮาวนด์บนเนินไร่องุ่นภายในบริเวณวังซองส์ซูซี แต่พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2พระนัดดากลับทรงสั่งให้ตั้งไว้ใกล้กับที่เก็บพระศพของพระราชบิดาที่วัดที่พ็อทซ์ดัมแทนที่ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2แท่นที่ฝังพระศพของทั้งพระเจ้าฟรีดริช และพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 1 ถูกย้ายไปไว้ในหลุมหลบภัยใต้ดิน และต่อมาในเหมืองใต้ดินใกล้เมืองเบิร์นโรดเพื่อป้องกันจากการถูกระเบิด ในปี ค.ศ. 1945 กองทัพสหรัฐย้ายพระศพไปวัดอลิสซาเบ็ธที่มาร์เบิร์ก และต่อมาที่ปราสาทโฮเอินท์ซ็อลเลิร์นใกล้เมืองเฮ็คคิงเง็น หลังจากการรวมตัวระหว่างเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก ร่างของพระเจ้าฟรีดริชก็ถูกไปฝังที่มอโซเลียมไคเซอร์ฟรีดริชในเชิร์ชออฟพีสที่วังซองส์ซูซี

ในโอกาสครบรอบสองร้อยห้าปีของการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าฟรีดริชก็มีการถกเถียงกันอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ถึงความเหมาะสมว่าควรจะจัดเป็นงานของประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะในการที่ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีส่วนก่อสงครามหลายครั้งและทรงมาถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทั้งโดยนาซีเยอรมนีและโดยประเทศเยอรมนีตะวันออกต่อมา แต่ถึงจะมีการประท้วงบ้างแต่เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1991 โลงพระศพของพระเจ้าฟรีดริชคลุมด้วยธงปรัสเซียพร้อมด้วยกองทหารเกียรติยศก็ได้ตั้งให้ประชาชนเข้าถวายการสักการะที่วังซองส์ซูซี ตกกลางคืน ร่างของพระองค์ก็ถูกนำไปฝังบนเนินไร่องุ่นภายในบริเวณวังซองซูซีตามพระราชประสงค์สุดท้ายโดยปราศจากพิธีรีตองและภายในเวลากลางคืน -- “... Im übrigen will ich, was meine Person anbetrifft, in Sans Souci beigesetzt werden, ohne Prunk, ohne Pomp und bei Nacht...” (ค.ศ. 1757)

ในช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป ฮิตเลอร์ได้สั่งการให้นำหีบพระศพของพระเจ้าฟรีดริชมหาราช รวมถึงโลงพระศพของพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 1 พระราชบิดา ไปซ่อนไว้ในเหมืองเกลือเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำลาย ในปีค.ศ. 1953 โลงพระศพของพระองค์และพระราชบิดาถูกย้ายไปประทับที่ปราสาทโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น[37]

มรดก

แก้
 
พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าฟรีดริชในกรุงเบอร์ลิน

พระเจ้าฟรีดริชเป็นรัฐบุรุษของเยอรมนีและทางตอนเหนือของยุโรปผู้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อความคิดทางชาตินิยมแบบโรแมนติคเป็นที่นิยมกันในเยอรมนีพระเจ้าฟรีดริชก็เป็นที่ชื่นชมของของนักชาตินิยม ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 พระเจ้าฟรีดริชก็ถูกกล่าวว่าเป็นผู้มาก่อนการสร้างความแข็งแกร่งทางทหารของเยอรมนีและปรัสเซียซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของ ออทโท ฟอน บิสมาร์คในการรวมตัวของจักรวรรดิเยอรมัน และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในการขยายอำนาจของเยอรมนีระหว่างก่อนหน้าและสงครามโลกครั้งที่สอง

พระองค์ไม่ทรงเหมือนพระมหากษัตริย์ในสมัยเดียวกันเพราะไม่ทรงเชื่อในทฤษฎีที่ว่าอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็น “อำนาจจากพระเจ้าในการเป็นกษัตริย์” Divine Right of Kings ซึ่งเป็นทฤษฎีสนับสนุนอำนาจสูงสุดของพระเจ้าแผ่นดิน และไม่ทรงนิยมเสื้อผ้าสมัยนิยมของฝรั่งเศสระหว่างปี ค.ศ. 1750 ถึงปี ค.ศ. 1795 ที่ออกไปทางหรูหราเกินเลย แต่มักจะทรงเครื่องแบบทหารเก่าๆ แทนที่ ทรงเชื่อว่ามงกุฏเป็นหมวกที่กันฝนไม่ได้ และทรงเรียกพระองค์เองว่าเป็น “คนรับใช้หมายเลขหนึ่งของรัฐ” แต่จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา ทรงเรียกพระเจ้าฟรีดริชว่า “the evil man in Sans Souci” สงครามกับออสเตรียทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อ่อนแอลงแต่กลับเพิ่มดินแดนและความมีหน้ามีตาให้แก่ปรัสเซียซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการการรวมชาติเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยบิสมาร์ค พระเจ้าฟรีดริชเป็นทั้งนักปรัชญาผู้ปราดเปรื่องและขณะเดียวกันก็เป็นนักการทหารที่ไม่มีความปราณี พระเจ้าฟรีดริชทรงเป็นผู้ที่ทำให้ราชอาณาจักรปรัสเซียซึ่งเดิมเป็นอาณาจักรที่ไม่มีความสำคัญเท่าใดให้กลายมาเป็นมหาอำนาจหนึ่งของยุโรปโดยการปฏิรูป, สงครามและการยึดดินแดนจากโปแลนด์

ทอมัส แบบบิงตัน มาคอเลย์ (Thomas Babington Macaulay, 1st Baron Macaulay) กวีชาวอังกฤษกล่าวถึงพระเจ้าฟรีดริชว่า:

“ถ้าพระองค์ไม่ทรงได้รับชัยชนะยิ่งใหญ่เท่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช, จูเลียส ซีซาร์ หรือ นโปเลียนมหาราช, ถ้าในสนามรบพระองค์ไม่ทรงได้รับความพอใจในความสำเร็จเท่าจอห์น เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระ และดยุกแห่งเวลลิงตัน, แต่พระองค์ก็ทรงให้ตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ของความสามารถและการแก้ปัญหาที่เป็นผลในการสร้างอำนาจสูงสุดในสถานะการณ์ที่ไม่เป็นใจที่สุดทีไม่มีใครที่จะสามารถเปรียบเทียบได้”[38]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Hoffmann, Hilmar (30 August 1997). The Triumph of Propaganda: Film and National Socialism, 1933-1945, Volume 1. p. 49.
  2. Schnoor, Stefan; Klinge, Boris (15 May 2011). "The Last Survivor of Hitler's Downfall – The Führer's Bodyguard Gives Last Interview". Daily Express. สืบค้นเมื่อ 16 May 2011.
  3. MacDonogh, p. 35
  4. Reiners, p. 33
  5. 5.0 5.1 Crompton
  6. MacDonogh, p. 63
  7. Reiners, p. 41
  8. Reiners, p. 52
  9. Reiners, p. 63
  10. Reiners, p. 69
  11. Reiners, p. 71
  12. MacDonogh, p. 125
  13. Koch, p. 126
  14. Koch, p. 160
  15. MacDonogh, p. 78
  16. Reiners, p.250
  17. 17.0 17.1 17.2 Ritter, p. 192
  18. 18.0 18.1 18.2 Koch, p. 136
  19. 19.0 19.1 19.2 David Blackbourn. "Conquests from Barbarism": Interpreting Land Reclamation in 18th Century Prussia. Harvard University. Accessed 24 May 2006
  20. MacDonogh, p. 363
  21. W. O. Henderson. Studies in the economic policy of Frederich the Great. Cass. London, 1963.
  22. MacDonogh, p. 347
  23. Stern, p. 19
  24. In the heart of Berlin's history เก็บถาวร 2007-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (from the Hertie School of Governance website. Retrieved 13 October 2007)
  25. MacDonogh, p. 370
  26. Koch, p. 138
  27. Harper's New Monthly Magazine (1870). Vol. 40.
  28. N. Mitford, Frederick the Great, New York, 1970
  29. L. Reiners, Friedrich the Great, New York, 1960
  30. J.D. Steakley, Sodomy in Enlightenment Prussia, Journal of Homosexuality, 16, 1/2 (1988): 163-175
  31. S.W. Henderson, Friedrich the Great of Prussia: A Homophile Perspectice, Gai Saber,1,1 (1977): 46-54.
  32. Sean Henry in Who's who in Lesbian and Gay History, (Ed Wotherspoon and Aldrich), London, 1990.
  33. Snyder, pp. 132-136
  34. Clark, p. 188
  35. Ritter, p. 200
  36. MacDonogh, p. 366
  37. Alford, Kenneth D. (2000). Nazi Plunder: Great Treasure Stories of World War II. Da Capo Press. p. 102.
  38. Essay on Frederic the Great, Essays vol. 5 (1866) Hurd and Houghton

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • Asprey, Robert B. (1986). Frederick the Great: the Magnificent Enigma. New York: Ticknor & Fields, 326. ISBN 0-89919-352-8. Also published by the History Book Club with a foreword by Dennis E Showalter and an ISBN 0 965 067937 [1]
  • Clark, Christopher (2006). Iron Kingdom: The Rise and Downfall of Prussia 1600–1947. Cambridge: * Belknap Press of Harvard, 776. ISBN 0-674-02385-4.
  • Crompton, Louis (2003). Homosexuality and Civilization. Cambridge: Belknap Press of Harvard. ISBN 0-674-01197-X.
  • Hubatsch, Walther (1975). Frederick the Great of Prussia: Absolutism and Administration. London: Thames and Hudson, 302.
  • Koch, H. W. (1978). A History of Prussia. New York: Barnes & Noble Books, 326. ISBN 0-88029-158-3.
  • Lavisse, Ernest; translated from French by Mary Bushnell Coleman (1892). The Youth of Frederick the Great. Chicago: S.C. Griggs and Company.
  • MacDonogh, Giles (2001). Frederick the Great: A Life in Deed and Letters. New York: St. Martin's Griffin, 436. ISBN 0-312-27266-9.
  • Mitford, Nancy (1970). Frederick the Great. London: Hamish Hamilton, 264. ISBN 0-14-003653-9.
  • Reiners, Ludwig; Translated and adapted from the German by Lawrence P. R. Wilson (1960). Frederick the Great, a Biography. New York: G. P. Putnam & Sons, 304.
  • Ritter, Gerhard (1974). Frederick the Great: A Historical Profile. Berkeley: University of California Press, 207. ISBN 0-520-02775-2.
  • Snyder, Louis (1971). Frederick the Great. Englewood Cliffs: Prentice-Hall, 182. ISBN 0-13-330605-4.
  • Stern, Fritz (1979). Gold and Iron: Bismarck, Bleichröder, and the Building of the German Empire. New York: Vintage Books, 620. ISBN 0-394-74034-3.


ก่อนหน้า พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย ถัดไป
พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2   กษัตริย์แห่งปรัสเซีย
(ค.ศ. 1740 – 1786)
  พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 1


  1. Detail taken from a copy of Magnificent Enigma published by History Book Club in 1999 (USA)