พระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701
พระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 (อังกฤษ: Act of Settlement 1701) เป็นพระราชบัญญัติที่ประกาศใช้โดยรัฐสภาอังกฤษเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์แห่งอังกฤษต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ โดยมีการบัญญัติให้โซฟีแห่งฮันโนเฟอร์ พระราชนัดดา(หลานตา) ในพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ และผู้สืบเชื้อสายต่อจากเจ้าหญิงโซฟีโดยต้องเป็นศาสนิกชนชาวโปรเตสแทนต์ เป็นรัชทายาท
พระราชบัญญัติ | |
ชื่อเต็ม | พระราชบัญญัติสำหรับเพิ่มเติมข้อจำกัดแห่งพระมหากษัตริย์ และเพื่อการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในพระราชบัญญัตินี้ |
---|---|
อ้างอิง | 12 และ 13 Will 3 c. 2 |
เขตอำนาจ | ราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรไอร์แลนด์ |
วาระ | |
ได้รับพระบรมราชานุญาต | ค.ศ. 1701 |
เริ่มใช้เมื่อ | ค.ศ. 1701 |
การแก้ไขเพิ่มเติม | |
เกี่ยวข้องกับ | พ.ร.บ.สิทธิพื้นฐาน ค.ศ. 1689 |
สถานะ: มีการแก้ไขเพิ่มเติม | |
เนื้อความของกฎหมายตามที่ตราขึ้นในครั้งแรก | |
เนื้อความที่ปรับปรุงตามการแก้ไขเพิ่มเติม |
เดิมพระราชบัญญัติได้นำเสนอต่อรัฐสภาอังกฤษใน ค.ศ. 1700 และรัฐสภามีมติรับหลักการในปีถัดมา ต่อมาได้มีเสนอญัตติแก้ไขข้อความในพระราชบัญญัติครอบคลุมไปถึงราชบัลลงก์แห่งสกอตแลนด์ตามความในพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707
ที่มา
แก้เนื่องในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ลำดับการสืบสันตติวงศ์ของราชบัลลังก์อังกฤษจึงเป็นไป��ามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 ซึ่งบัญญัติให้ถือว่าการเสด็จลี้ภัยไปต่างแดนของพระเจ้าเจมส์ ที่ 2เป็นการสละราชสมบัติโดยปริยาย และให้พระราชธิดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 2 พร้อมด้วยพระราชสวามีเสด็จขึ้นทรงราชย์แทนเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 และพระเจ้าวิลเลียม ที่ 3 ตามลำดับ โดยให้ปกครองประเทศร่วมกัน
ในกรณีนี้ ผู้มีสิทธิสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากกษัตริย์ทั้งสองคือพระราชบุตรของทั้งสองพระองค์เอง ลำดับต่อมาได้แก่เจ้าหญิงแอนน์ น้องสาวของพระนางเจ้าแมรี ต่อมาได้แก่พระทายาทของเจ้าหญิงแอนน์ จากนั้นจึงเป็นพระราชบุตรของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 หากทรงเสกสมรสใหม่ภายหลังการสวรรคตของพระนางเจ้าแมรี
อย่างไรก็ดีสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อ ค.ศ. 1694 พระโอรสพระองค์สุดท้ายของเจ้าหญิงแอนน์สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1700 และพระเจ้าวิลเลียม ที่ 3 มิได้ทรงเสกสมรสใหม่ กับทั้งโอกาสที่เจ้าหญิงแอนน์จะมีพระราชบุตรอีกก็เป็นไปได้ยากเพราะมีพระชนมายุมากขึ้น จึงเกิดปัญหาว่าผู้ใดควรเป็นผู้สืบพระราชสันตติวงศ์นี้ต่อไป
รัฐบาลเห็นเป็นความจำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อ
- กำหนดให้แน่นอนซึ่งตัวบุคคลผู้สมควรสืบพระราชบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ข้างต้น โดยในพระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นเจ้าหญิงแอนน์
- กระทำให้มั่นใจว่าผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์เป็นศาสนิกชนชาวโปรเตสแตนต์
- ป้องกันมิให้ผู้ไม่มีสิทธิในพระราชบัลลังก์อ้างสิทธิดังกล่าว ซึ่งได้แก่ เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต และ ลุยซา มาเรีย เทเรซา สจวต
พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1701
เนื้อหาของพระราชบัญญัติ
แก้พระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ระบุว่าราชบัลลังก์อังกฤษจะผ่านไปยังสายของโซฟีแห่งฮันโนเฟอร์– พระราชนัดดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษและพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ– และผู้สืบเชื้อสายจากพระองค์ผู้เป็นโปรเตสแตนต์ผู้ที่ยังมิได้เสกสมรสกับผู้เป็นโรมันคาทอลิก; ผู้ที่เป็นโรมันคาทอลิกหรือเสกสมรสกับผู้เป็นโรมันคาทอลิกถูกห้ามจากการมีสิทธิในการครองราชบัลลังก์ “ตลอดกาล” อีกแปดมาตราของพระราชบัญญัติจะมีผลใช้ได้ก็เมื่อหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และพระราชินีนาถแอนน์:[1]
- กษัตริย์ต้องทรงผู้นับถือ "คริสตจักรแห่งอังกฤษ" ซึ่งเป็นอีกมาตราหนึ่งที่เลี่ยงการมีกษัตริย์ผู้เป็นโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นการป้องกันจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ผู้ทรงเปลี่ยนไปเป็นโรมันคาทอลิกที่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศที่ในที่สุดก็นำมาสู่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในปี ค.ศ.1688 ที่ได้มาซึ่งกษัตริย์ร่วมบัลลังก์ระหว่างพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2
- ถ้าผู้ขึ้นครองราชย์มิใช่ชาวอังกฤษโดยกำเนิด อังกฤษจะไม่เข้าร่วมสงครามเพื่อยึดครองรัฐที่มิได้เป็นของราชบัลลังก์อังกฤษโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐสภา ข้อนี้เป็นข้อที่มองการณ์ไกล เพราะเมื่อราชวงศ์ฮันโนเฟอร์จากเยอรมนีขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษ ผู้ที่ขึ้นครองก็ยังเป็นเจ้าผู้ครองรัฐฮันโนเฟอร์ (ปัจจุบันอยู่ในรัฐนีเดอร์ซัคเซินของเยอรมนี) มาตรานี้สิ้นสุดลงเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จขึ้นครองราชย์เพราะพระองค์ไม่สามารถเป็นผู้ครองรัฐฮันโนเฟอร์ได้ตามกฎบัตรซาลลิคที่ใช้กันในเยอรมนีขณะนั้น แต่มาตรานี้ก็อาจจะยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต
- กษัตริย์ไม่สามารถออกจากอังกฤษ, สกอตแลนด์ หรือไอร์แลนด์ได้โดยมิได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา[1] มาตรานี้ถูกยกเลิกในปี ค.ศ. 1716 โดยการขอของพระเจ้าจอร์จที่ 1 ผู้ทรงเป็นเจ้าชายอีเล็คเตอร์แห่งฮันโนเฟอร์และดยุคแห่งบรันสวิค-ลืนเนอร์เบิร์กแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางหรือมีพระประสงค์ที่จะไปพำนักที่ฮันโนเฟอร์บ่อยๆ[2]
- กิจการของรัฐบาลทุกเรื่องที่อยู่ภายไต้อำนาจของสภาองคมนตรีต้องปฏิบัติต่อหน้าสภาองคมนตรี และข้อตกลงทุกข้อของสภาองคมนตรีต้องได้รับการลงชื่อโดยผู้เห็นพ้องกับข้อตกลง ทั้งนี้ก็เพื่อให้รัฐสภาทราบว่าผู้ใดมีความรับผิดชอบต่อนโยบายใด แต่ข้อนี้ถูกยุบเลิกเมื่อต้นรัชสมัยของพระราชินีนาถแอนน์ เพราะองคมนตรียุติการเสนอความคิดเห็นหรือไม่ยอมเข้าประชุมเอาเลย[2]
- ชาวต่างประเทศรวมทั้งผู้ที่เปลี่ยนสัญชาตินอกจากว่าบิดามารดาจะเป็นชาวอังกฤษไม่มีสิทธิในการเป็นสมาชิกสภาองคมนตรีหรือเป็นสมาชิกทั้งสภาสามัญชนและสภาขุนนาง หรือมีตำแหน่งในกรมการทั้งทางทหารและพลเรือนที่สำคัญๆ หรือมีสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินที่ได้รับจากกษัตริย์ แต่กฎหมายการเปลี่ยนสัญชาติต่อมาข้อนี้ไม่มีผลบังคับใช้ต่อผู้เปลี่ยนสัญชาติไม่ว่าจะในประเทศใด
- ผู้ที่รับราชการในกษัตริย์หรือได้รับเบี้ยบำนาญจากกษัตริย์ไม่มีสิทธิในการเป็นสมาชิกรัฐสภา มาตรานี้ระบุไว้เพื่อป้องกันการมีสมาชิกที่มีอิทธิพลจากกษัตริย์ในรัฐสภา และยังคงใช้อยู่แต่มีข้อยกเว้นหลายประการ
- ผู้พิพากษาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งขณะที่ “quamdiu se bene gesserint” (มีความประพฤติดี) และถ้ามีปัญหาจะถูกปลดได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากทั้งสองรัฐสภาหรือเพียงรัฐสภาเดียวขึ้นอยู่กับโครงร่างของกฎหมาย มาตรานี้เป็นผลมาจากการที่กษัตริย์ทรงมีอิทธิพลในการตัดสินของผู้พิพากษาและเป็นการทำให้การตัดสินของผู้พิพากษาปราศจากอิทธิพลใดๆ
- การพระราชทานอภัยโทษไม่เป็นการป้องกันการถูกไล่ออกจากสภาสามัญชน
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 http://www.worldfreeinternet.net/parliament/settlement.htm เก็บถาวร 2008-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Text of the Act of Settlement
- ↑ 2.0 2.1 I. Naamani Tarkow, 'The Significance of the Act of Settlement in the Evolution of English Democracy', Political Science Quarterly, Vol. 58, No. 4. (Dec., 1943), p. 547.