โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน
โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน (ดัตช์: Rogier van der Weyden) หรือ รอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์ (ฝรั่งเศส: Rogier de le Pasture; ค.ศ. 1399/1400 - 18 มิถุนายน ค.ศ. 1464) เป็นจิตรกรคนสำคัญของจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกของประเทศเนเธอร์แลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เขาเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพสีน้ำมันและการเขียนบานพับภาพ
ชีวิต
แก้รอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์ เกิดที่ตูร์แน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม) ระหว่างปี ค.ศ. 1399 ถึงปี ค.ศ. 1400 พ่อและแม่ของเขาชื่อ อ็องรี เดอ เลอ ปัสตูร์ และอาแญ็ส เดอ วาเทรโล อ็องรีและอาแญ็สมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ตูร์แนก่อนที่รอฌีเยจะเกิด พ่อของรอฌีเยเป็นช่างทำมีด ในปี ค.ศ. 1426 รอฌีเยแต่งงานกับเอลีซาเบต โคฟฟาร์ต ผู้เป็นลูกสาวของช่างทำรองเท้าจากบรัสเซลส์ ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 4 คน สองคนแรกคือ กอร์เนลียึส (ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระคาร์ทูเซียน) และมาร์กาเรตา ก่อนวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1435 รอฌีเยกับครอบครัวก็ย้ายไปบรัสเซลส์ซึ่งเป็นที่เกิดลูกสองคนหลังคือปีเตอร์และยัน ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1436 รอฌีเยก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "ช่างเขียนประจำเมืองบรัสเซลส์" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้ามีตาเพราะในเวลานั้นบรัสเซลส์เป็นที่ตั้งของราชสำนักของดุ๊กแห่งเบอร์กันดี ในโอกาสนั้นเขาก็เปลี่ยนชื่อจากภาษาฝรั่งเศส "รอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์" ไปเป็นภาษาดัตช์ "โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน"
การฝึกงาน
แก้หลักฐานที่ปรากฏกล่าวว่าตูร์แนมอบไวน์เป็นค่าครูให้แก่ครูบานามว่า "ครูรอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์" เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1426 แต่มาเมื่อถึงวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1427 บันทึกของชมรมช่างเขียนกล่าวว่า รอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์ เข้าฝึกงานกับโรงฝึกงานของโรเบิร์ต กัมปินพร้อมกับฌัก ดาแร (Jacques Daret) ห้าปีต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1432 รอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์ก็ได้รับตำแหน่งเป็น มาสเตอร์ หรือจิตรกรเต็มตัว แต่ก็เป็นที่สงสัยกันว่า ผู้ฝึกงานของกัมปินชื่อ "รอเฌอแล" (Rogelet) จะเป็นคนคนเดียวกับมาสเตอร์รอฌีเยผู้ได้รับไวน์เป็นค่าครูเมื่อปี ค.ศ. 1426 หรือไม่ และระหว่างปี ค.ศ. 1426 ถึงปี ค.ศ. 1427 โรเคียร์ (รอฌีเย) มีอายุได้ยี่สิบปีกว่าและแต่งงานแล้ว ซึ่งเมื่อคำนึงถึงอายุผู้ฝึกงานกันแล้วทำให้สันนิษฐานกันว่า รอเฌอแลน่าจะเป็นจิตรกรที่อายุน้อยกว่าที่มีชื่อเดียวกัน แต่ในระหว่างทศวรรษที่ 1420 ระบบการปฏิบัติงานของชมรมช่างเขียนที่เมืองตูร์แนออกจะมีปัญหา ฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าการฝึกงานเมื่ออายุมากกว่าปกติของโรเคียร์ (รอฌีเย)/รอเฌอแล อาจจะเป็นเพียงหลักฐานที่เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น นอกจากนั้นฌัก ดาแรเองก็มีอายุราวยี่สิบปีกว่าและพักพิงและทำงานอยู่กับกัมปินมาอย่างน้อยก็ร่วมยี่สิบปี ข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งก็คืออาจจะเป็นไปได้ว่าโรเคียร์อาจจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นจิตรกรเต็มตัวมาก่อนหน้านั้นแล้ว และไวน์ที่ได้รับก็อาจจะเป็นการฉลองโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งนั้น นอกไปจากนั้นแล้วเมื่อคำนึงถึงลักษณะ คุณภาพ และองค์ประกอบของงานที่สมบูรณ์แบบของโรเคียร์แล้วก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่สนับสนุนประเด็นการสันนิษฐานข้อหลังนี้ สถานะทางสังคมและทางสติปัญญาในบั้นปลายชีวิตของโรเคียร์ก็ดูจะเหนือกว่าการเป็นเพียงช่างในสมัยนั้น โดยทั่วไปแล้วลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับงานที่บันทึกไว้ของฌัก ดาแร และงานเขียนที่ว่ากันว่าเป็นงานของโรเบิร์ต กัมปินและโรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดินทำให้สันนิษฐานกันว่าโรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดินเป็นลูกศิษย์ของโรเบิร์ต กัมปิน
อาชีพ
แก้หลังจากที่ไปตั้งหลักฐานอยู่ที่บรัสเซลส์แล้ว โรเคียร์ก็เริ่มสร้างชื่อเสียงจนในที่สุดก็กลายเป็นจิตรกรคนสำคัญคนหนึ่งของยุโรป ซึ่งจะเห็นได้จากหลักฐานของอสัง��าริมทรัพย์และการลงทุนต่าง ๆ ที่โรเคียร์เป็นเจ้าของ นอกจากนั้นก็ยังมีหลักฐานปรากฏว่าโรเคียร์มีความสนิทสนมกับเจ้านายและคนสำคัญต่าง ๆ ในยุโรปจะเห็นได้จากงานภาพเหมือนของดุ๊กแห่งเบอร์กันดีหลายองค์ รวมทั้งพระญาติพระวงศ์ ข้าราชสำนัก และบุคคลผู้มีฐานะร่ำรวยและมีอำนาจในเวลานั้น
งานแท่นบูชามิราโฟลเรส (Miraflores Altarpiece) อาจจะเป็นงานที่รับจากพระเจ้าฆวนที่ 2 แห่งกัสติยา เพราะพระเจ้าฆวนทรงอุทิศให้สำนักสงฆ์แห่งมิราโฟลเรสในปี ค.ศ. 1445 ในปี ค.ศ. 1450 โรเคียร์อาจจะเดินทางไปแสวงบุญที่กรุงโรมที่ทำให้มีโอกาสได้ทำความคุ้นเคยกับศิลปินและผู้อุปถัมภ์ศิลปินชาวอิตาลี ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สมาชิกในตระกูลเอสเตและตระกูลเมดีชีจ้างให้โรเคียร์เขียนภาพหลายภาพ และบีอังกา มารีอา วิสกอนตี ดัชเชสแห่งมิลาน ถึงกับส่งซาเนตโต บูกัตโต (Zanetto Bugatto) ผู้เป็นช่างเขียนประจำสำนักไปบรัสเซลส์เพื่อให้ไปศึกษาการเขียนภาพกับโรเคียร์ ความมีชื่อเสียงของโรเคียร์ไปในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1450 และ 1460 นักปราชญ์เช่นนิโคลัสแห่งคูส, ฟีลาเรเต และบาร์โตโลเมโอ ฟาซีโอ กล่าวสรรเสริญโรเคียร์อย่างเลิศลอยว่าเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ในบรรดาจิตรกรทั้งหลาย
ลักษณะสำคัญของภาพเขียนโดยโรเคียร์ก็คือการที่ทำให้ผู้ดูรู้สึกสะเทือนอารมณ์ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพเขียน "ชะลอร่างจากกางเขน" (พิพิธภัณฑ์ปราโด มาดริด ประเทศสเปน) ที่เชื่อกันว่าเขียนโดยโรเคียร์ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 งานชิ้นนี้ผู้จ้างอาจจะเป็น "สมาคมนายขมังธนูแห่งนักบุญจอร์จ" (Saint Georges Guild of the crossbowmen) สำหรับวัด "Onze-Lieve-Vrouw van Ginderbuiten" ที่เลอเฟิน แต่นักวิชาการบางท่านเช่น มักซ์ ยอท. ฟรีดเลนเดอร์ (Max J. Friedländer) และเมื่อไม่นานมานี้ เฟลิกซ์ เทือร์เลอมันน์ (Felix Thürlemann) สันนิษฐานจากการเปรียบเทียบลักษณะงานว่าเป็นงานของโรเบิร์ต กัมปิน มิใช่โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดินตามที่สันนิษฐานกันมาก่อนหน้านั้น
อิทธิพล
แก้ลักษณะงานที่เต็มไปด้วยชีวิตจิตใจและการแสดงออก และการเขียนเกี่ยวกับเรื่องศาสนาเป็นลักษณะการเขียนของโรเคียร์ที่มีอิทธิพลไปทั่วยุโรปไม่แต่จะเป็นฝรั่งเศสและเยอรมนีแต่ยังรวมไปถึงอิตาลีและสเปน ฮันส์ แม็มลิงเป็นจิตรกรที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากโรเคียร์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดที่กล่าวว่าแม็มลิงเป็นลูกศิษย์ของโรเคียร์ นอกไปจากนั้นโรเคียร์ก็ยังมีอิทธิพลต่อมาร์ติน โชนเกาเออร์ (Martin Schongauer) จิตรกรและช่างภาพพิมพ์โลหะชาวเยอรมันผู้มีผลงานไปทั่วยุโรปตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15
ผลงาน
แก้ผลงานสำคัญ ๆ ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นงานของโรเคียร์ งานเกือบทั้งหมดประกอบด้วยงานจิตรกรรมแผง และหลายชิ้นเป็นงานบานพับภาพสอง, บานพับภาพ และบานพับหลายชิ้น แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่างานบานพับภาพบางส่วนก็สูญหายไปหรือถูกแบ่งเป็นชิ้น ๆ แยกกันไปเป็นของพิพิธภัณฑ์ต่างทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา งานทุกชิ้นเป็นภาพสีน้ำมันบนแผงไม้โอ๊กนอกไปจากบรรยายว่าเป็นวัสดุอื่น
งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1425 ถึงปี ค.ศ. 1430
- "พระแม่มารีและพระบุตรบนบัลลังก์ในซอก" (Enthroned Virgin and Child in a Niche), ที่พิพิธภัณฑ์ทึสเซิน-โบร์แนมีซอ, มาดริด, ประเทศสเปน
- "นักบุญจอร์จกับมังกร" (Saint George and the Dragon), พิพิธภัณฑ์ที่มาดริด และหอศิลป์แห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี., สหรัฐอเมริกา
- "พระเยซูบนกางเขน" (Crucifixion), พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ, เบอร์ลิน, ประเทศเยอรมนี
งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1430 ถึงปี ค.ศ. 1432
- "บานพับภาพสองภาพพระแม่มารีและพระบุตรยืนในซอกและนักบุญแคเทอรินในภูมิทัศน์" (Diptych with the Virgin and Child Standing in a Niche, and Saint Catherine in a landscape), พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ, เวียนนา, ประเทศออสเตรีย
งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1430 ถึงปี ค.ศ. 1435
- "ชะลอร่างจากกางเขน", พิพิธภัณฑ์ปราโด, มาดริด, ประเทศสเปน
- "พระแม่มารีและพระบุตรในซอก" (Virgin and Child in a Niche) หรือที่เรียกว่า "พระแม่มารีดูรัน" (Durán Madonna), พิพิธภัณฑ์ปราโด, มาดริด, ประเทศสเปน
- "ภาพเหมือนสตรี" (บ้างก็เชื่อกันว่าเป็นภาพเขียนของเอลีซาเบต โคฟฟาร์ต ภรรยาของฟัน เดอร์ไวเดิน), พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ, เบอร์ลิน, ประเทศเยอรมนี
- "บานพับภาพสามการประกาศของเทพ" (บานกลางการประกาศของเทพ: พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส, ประเทศฝรั่งเศส; บานข้าง พระแม่มารีเสด็จเยี่ยมนักบุญเอลิซาเบทและนักบวชคุกเข่า: พิพิธภัณฑ์ซาเบาดา, ตูริน, ประเทศอิตาลี
งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1435 ถึงปี ค.ศ. 1440
- "นักบุญลูกาวาดรูปพระแม่มารี" (Saint Luke drawing the portrait of the Virgin), พิพิธภัณฑ์ศิลปะ, บอสตัน, สหรัฐอเมริกา
- "พระแม่มารีเสด็จเยี่ยมนักบุญเอลิซาเบท" (Visitation), พิพิธภัณฑ์ศิลปะจิตรกรรม, ไลพ์ซิจ ประเทศเยอรมนี
- "บานพับภาพสามพระเยซูตรึงกางเขน" หรือที่เรียกว่า "บานพับภาพอาเบกก์" (Abegg Triptych), ริกกิสแบร์ก, ประเทศเยอรมนี
งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1440 ถึงปี ค.ศ. 1445
- "บานพับภาพสามพิธีศีลมหาสนิทเจ็ดพิธี" (Triptych of the Seven Sacraments) หรือที่เรียกว่า "แท่นบูชาเชอวโร" (Chevrot Altarpiece), Koninklijk Museum voor Schone Kunsten Antwerpen, แอนต์เวิร์ป, ประเทศเบลเยียม
- "บานพับภาพสามพระแม่มารีผู้งดงาม" (Triptych of Our Fair Lady) หรือที่เรียกว่า "แท่นบูชามิราโฟลเรส" (Miraflores Altarpiece), พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ, เบอร์ลิน, ประเทศเยอรมนี
- "บานพับภาพสามพระเยซูตรึงกางเขน" พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ, เวียนนา, ประเทศออสเตรีย
- "นักบุญมารีย์ชาวมักดาลาอ่านหนังสือกับนักบุญแคเทอรินแห่งอเล็กซานเดรียและนักบุญโจเซฟ" (Reading Mary Magdalen, Saint Catherine and Saint Joseph), บางส่วนภาพของนักบุญมารีย์ชาวมักดาลา: หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน, อังกฤษ; หัวของนักบุญแคเทอรินและนักบุญโยเซฟ: Calouste Gulbenkian Foundation, ลิสบอน
งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1445 ถึงปี ค.ศ. 1450
- "บานพับภาพสามกำเนิดพระเยซู" หรือที่เรียกว่า "แท่นบูชาบลาเดลิน" (Bladelin Triptych), พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ, เบอร์ลิน, ประเทศเยอรมนี
- "ฌ็อง โวเกอแล็งถวาย "บันทึกแห่งแอโน" แก่ฟิลิปเดอะกู๊ด ดุ๊กแห่งเบอร์กันดี", หอสมุดหลวงแห่งเบลเยียม, บรัสเซลส์, ประเทศเบลเยียม
- "บานพับภาพการตัดสินครั้งสุดท้าย" หรือที่เรียกว่า "แท่นบูชาโบน" (Beaune Altarpiece) ประกอบด้วยกันทั้งสิ้นสิบห้าส่วน, ออแตล-ดีเยอ, โบน
งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1450 ถึงปี ค.ศ. 1455
- "นักบุญมาร์กาเรตและนักบุญแอพอลโลเนีย" (ปึกขวาหาย), พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ, เบอร์ลิน, ประเทศเยอรมนี
- "บานพับภาพสามฌ็อง บรัก" (Triptych of Jean Braque), พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส, ประเทศฝรั่งเศส
- "ภาพเหมือนชาย", พิพิธภัณฑ์ทึสเซิน-โบร์แนมีซอ, มาดริด, ประเทศสเปน
- "บานพับภาพสามการนมัสการของโหราจารย์" หรือที่เรียกว่า "แท่นบูชาโคลัมบา" (Columba Altarpiece), พิพิธภัณฑ์ศิลปะ, มิวนิก, ประเทศเยอรมนี
- "บานพับภาพสามชีวิตนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา" หรือที่เรียกว่า "แท่นบูชานักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา", พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ, เบอร์ลิน, ประเทศเยอรมนี
- "พระเยซูตรึงกางเขนระหว่างนักบุญมารีย์ชาวมักดาลากับนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร" หรือที่เรียกว่า "พระเยซูตรึงกางเขนแห่งสเคิต" (Crucifixion of Scheut), อารามเอสโกเรียล, ประเทศสเปน
งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1455 ถึงปี ค.ศ. 1464
- "ปีเอตา", พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งบรัสเซลล์, บรัสเซลส์, ประเทศเบลเยียม
- "บานพับภาพสองของฌ็อง โกร", ปีกซ้ายพระแม่มารีและพระบุตร: พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งตูร์แน ปีกขวาภาพเหมือนฌ็อง โกร: สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก, ชิคาโก, สหรัฐอเมริกา
- "ภาพเหมือนของฟรันเชสโก เดสเต" (Portrait of Francesco d'Este), พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน, นครนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
- "บานพับภาพสองของฟีลิปเดอครูอี ลอร์ดแห่งซ็องปี", ปีกซ้ายพระแม่มารีและพระบุตร: พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮันทิงตัน, แซนมารีโน (แคลิฟอร์เนีย), สหรัฐอเมริกา ปีกขวาภาพเหมือนฟีลิปเดอครูอี: แอนต์เวิร์ป
- "ภาพเหมือนของชาลส์เดอะบอลด์ ดุ๊กแห่งเบอร์กันดี" พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ, เบอร์ลิน, ประเทศเยอรมนี
- "ภาพเหมือนของอ็องตวน บาสตาร์ดแห่งเบอร์กันดี", พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งบรัสเซลล์, บรัสเซลส์, เบลเยียม
- "พระแม่มารีและพระบุตร" พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์, ฮิวสตัน, สหรัฐอเมริกา
- "พระแม่มารีและพระบุตรและนักบุญสี่องค์" หรือที่เรียกว่า "มาดอนนาเมดีชี" (Medici Madonna), พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งรัฐ, แฟรงก์เฟิร์ต, ประเทศเยอรมนี
- "บานพับภาพสองของฌ็อง เดอ ฟรัวมง", ปีกซ้ายพระแม่มารีและพระบุตร: พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์, ก็อง, ประเทศฝรั่งเศส ปีกขวา: พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งบรัสเซลล์, บรัสเซลส์, ประเทศเบลเยียม
- "ภาพเหมือนสตรี" สันนิษฐานว่าเป็นภาพของมารี เดอ วาล็องแฌ็ง พระธิดานอกสมรสของฟีลิปที่ 3 ดุ๊กแห่งเบอร์กันดี พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี., สหรัฐอเมริกา
- "ฝังร่างพระเยซู" (Entombment of Christ) อาจจะจ้างโดยโกซีโม เด เมดีชี, พิพิธภัณฑ์อุฟฟีซี, ฟลอเรนซ์, ประเทศอิตาลี
- "บานพับภาพสองทางสู่กางเขน" (Calvary diptych) ปีกซ้ายพระแม่มารีโศกประคองโดยนักบุญจอห์น; ปีกขวาพระเยซูตรึงกางเขน: พิพิธภัณฑ์ศิลปะ, ฟิลาเดลเฟีย, สหรัฐอเมริกา
อ้างอิง
แก้ดูเพิ่ม
แก้สมุดภาพ
แก้-
บานพับภาพการประสูติของพระเยซู จากโรงฝึกงานของโรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน, พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน, นครนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
-
"การปรากฏตัวต่อพระแม่มารี"
ราว ค.ศ. 1430 -
"ภาพเหมือนสตรี"
ราว ค.ศ. 1430 -
ดัชเชสอีซาแบลแห่งโปรตุเกส