ปฏิบัติการปักกิ่ง
แผนการปักกิ่ง (อังกฤษ: Peking Plan) หรือ ปฏิบัติการปักกิ่ง (อังกฤษ: Operation Peking)[1] เป็นปฏิบัติการอพยพเรือประจัญบานแห่งกองทัพเรือโปแลนด์สามลำ อันได้แก่ Burza ("พายุ"), Błyskawica ("สายฟ้า") และ Grom ("ฟ้าร้อง") ไปยังสหราชอาณาจักร ในปลายเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 ก่อนหน้าสงครามปะทุ เรือทั้งสามลำได้รับคำสั่งให้ล่องไปยังท่าของอังกฤษและสนับสนุนกองทัพเรืออังกฤษหากเกิดสงครามกับนาซีเยอรมนี แผนการดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลและช่วยให้เรือทั้งสามพ้นจากการถูกทำลายในการบุกครองของเยอรมนี
เบื้องหลัง
[แก้]แผนการดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อย้ายกองเรือพิฆาต (Dywizjon Kontrtorpedowców) แห่งกองทัพเรือโปแลนด์จากยุทธบริเวณปฏิบัติการทะเลบอลติก ครีกสมารีเนอมีความได้เปรียบด้านจำนวนเหนือกว่ากองทัพเรือโปแลนด์อย่างมาก และหากเกิดสงครามขึ้น กองบัญชาการทหารสูงสุดของโปแลนด์ตระหนักว่า เรือซึ่งอยู่ในทะเลบอลติกที่เล็กและส่วนใหญ่ล้อมรอบไปด้วยพื้นดินมีแนวโน้มถูกเยอรมนีจมอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ช่องแคบเดนมาร์กยังอยู่ในพิสัยปฏิบัติการของครีกสมารีเนอและลุฟท์วัฟเฟอ ฉะนั้น หากดำเนินแผนการดังกล่าวหลังความเป็นศัตรูกันเริ่มต้นขึ้น จะมีโอกาสสำเร็จน้อย
วันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1939 รัฐบาลอังกฤษ ผ่านพลโท เซอร์ Adrian Carton De Wiart หัวหน้าคณะทูตทหารอังกฤษ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างหนักแน่นต่อจอมพล Edward Śmigły-Rydz ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพโปแลนด์ ให้อพยพกองทัพเรือส่วนที่ทันสมัยที่สุดจากทะเลบอลติก แม้ Śmigły-Rydz จะทัดทานความคิดดังกล่าวในช่วงแรก แต่สุดท้ายเขาก็ตกลง
เหตุผลของ Śmigły-Rydz ส่วนหนึ่ง คือ ความคิดหัวสะพานโรมาเนีย มีความหวังว่า กองทัพโปแลนด์จะสามารถยื้อในทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศได้ ใกล้กับพรมแดนร่วมกับโรมาเนีย กระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากการรุกของฝรั่งเศส-อังกฤษ ยุทโธปกรณ์และอาวุธสามารถถูกส่งมาจากตะวันตกได้ผ่านท่าและทางรถไฟของโรมาเนีย จากนั้น กองทัพเรือโปแลนด์จะสามารถนำเรือส่งเสบียงไปยังท่าโรมาเนียได้
การเดินทางไปเอดินบะระ
[แก้]เมื่อความตึงเครียดระหว่างโปแลนด์และเยอรมนีเพิ่มขึ้น พลเรือตรี Józef Unrug ผู้บัญชาการกองเรือโปแลนด์ ลงนามคำสั่งปฏิบัติการเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1939 หนึ่งวันให้หลังการลงนามสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันโปแลนด์-อังกฤษ คำสั่งดังกล่าวถูกส่งไปยังเรือในซองปิดผนึก วันที่ 29 สิงหาคม กองเรือได้รับสัญญาณ "ปักกิ่ง ปักกิ่ง ปักกิ่ง" จากผู้บัญชาการทหาร คือ "ดำเนินการ[แผน]ปักกิ่ง" เมื่อเวลา 12.55 น. เรือได้รับสัญญาณผ่านธงสัญญาณหรือวิทยุจากหอสัญญาณที่ Oksywie กัปตันของเรือแต่ละลำเปิดซอง และแล่นออกจากท่าเมื่อเวลา 14.15 น. ภายใต้การบังคับบัญชาของนาวาโท Roman Stankiewicz เรือแต่ละลำมีผู้บัญชาการดังนี้ Błyskawica อยู่ในการบังคับบัญชาของนาวาโท Włodzimierz Kodrębski, Burza อยู่ในการบังคับบัญชาของนาวาตรี Stanisław Nahorski, อยู่ในการบังคับบัญชาของนาวาตรี Włodzimierz Kodrębski และ Grom อยู่ในการบังคับบัญชาของนาวาตรี Włodzimierz Hulewicz
เรือทั้งสามเดินทางผ่านทะเลบอลติกโดยไม่ประสบปัญหา โดยเข้าเขตช่องแคบออร์ซึนด์หลังเที่ยงคืน ระหว่างทาง เรือทั้งสามเผชิญกับเรือลาดตระเวนเบา เคอนิกสแบร์ก และเรือพิฆาตอีกลำหนึ่ง แต่เนื่องจากสงครามยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่มีการสู้รบกัน จากนั้น เรือโปแลนด์ผ่านช่องแคบแคตทีแกตและสแกเกอร์แรก วันที่ 31 สิงหาคม เรือทั้งสามถูกตรวจจับและติดตามโดยเครื่องบินทะเลลาดตระเวนเยอรมัน และกลุ่มเรือได้เปลี่ยนทิศทางมุ่งหน้าไปยังนอร์เวย์เพื่อสลัดการติดตามช่วงกลางคืน เมื่อทั้งสามหันกลับมาเส้นทางเดิมมุ่งสู่สหราชอาณาจักร เรือดังกล่าวเข้าสู่เขตทะเลเหนือ และเมื่อเวลา 9.25 น. ของวันที่ 1 กันยายน ก็ทราบข่าวการบุกครองโปแลนด์ของเยอรมนี เมื่อเวลา 12.58 น. ทั้งสามเผชิญกับเรือพิฆาตของราชนาวีอังกฤษ วันเดอเรอร์ และ วอลเลซ และได้รับนายทหารติดต่อประสานงาน เมื่อเวลา 17.37 น. ทั้งหมดได้เทียบท่าในลีธ ในนครเอดินบะระ
หลังจากปฏิบัติการ
[แก้]แผนการดังกล่าวทำให้เกิดการโต้เถียงขึ้นในโปแลนด์ แต่ก็นับได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เรือรบทั้งสามลำของโปแลนด์ยังคงทอดสมออยู่ที่เอดินเบิร์กตลอดช่วงเวลาของสงคราม
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ คำว่า "Peking" เป็นชื่อเรียกเดิมของ กรุงปักกิ่ง (Beijing) ซึ่งขณะนั้นยังมิใช่เมืองหลวงของประเทศจีน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Jerzy Pertek, "Wielkie dni małej floty", Wyd. Poznańskie, Poznań 1976, OCLC 69482799, ISBN 832100542X
- Adrian Carton De Wiart, "Happy Odyssey" Jonathan Cape, London, 1950