เว็บ 2.0
เว็บ 2.0 (อังกฤษ: Web 2.0) มีความเชื่อมโยงกับโปรแกรมประยุกต์บนเว็บ ซึ่งมีลักษณะส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล การพัฒนาในด้านแนวความคิดการออกแบบที่เน้นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (User-centered design) และ การร่วมสร้างข้อมูลในโลกของอินเทอร์เน็ตเวิลด์ไวด์เว็บ เว็บไซต์ที่ออกแบบโดยใช้หลักการของเว็บ 2.0 ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานสามารถปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกันในลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์ โดยกลุ่มผู้ใช้งานเป็นผู้สร้างเนื้อหาขึ้นเอง ต่างจาก เว็บ 1.0 ที่กลุ่มผู้ใช้ถูกจำกัดบทบาทโดยทำได้แค่เพียงการเยี่ยมชม หรือดูเนื้อหาที่ผู้ใช้สนใจ สำหรับตัวอย่างของเว็บ 2.0 ได้แก่ บล็อก เครือข่ายสังคมออนไลน์ สารานุกรมเสรี วิดีโอแชริง โปรแกรมประยุกต์บนเว็บ แมชอัพส์ และ โฟล์คโซโนมี
คำว่า "เว็บ 2.0" เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังจากงานประชุม โอไรล์ลีย์มีเดีย เว็บ 2.0 ที่จัดขึ้นในปี 2547[1][2] คำว่า "เว็บ 2.0" นั้นเป็นคำกล่าวเรียกลักษณะของเวิลด์ไวด์เว็บในปัจจุบัน ตามลักษณะของผู้ใช้งาน โปรแกรมเมอร์และผู้ให้บริการ ซึ่งตัวเว็บ 2.0 เองนั้นไม่ได้กล่าวถึงการพัฒนาทางด้านเทคนิคแต่อย่างใด แต่เป็นคำที่กล่าวถึงลักษณะโดยรวมที่ผู้พัฒนาเว็บเปลี่ยนแปลงวิธีการออกแบบเว็บไซต์ และผู้ใช้ปลายทางเปลี่ยนแปลงบทบาทการใช้งานเว็บ ทิม เบอร์เนิร์สลี ผู้เริ่มแนวความคิด และสร้างเวิลด์ไวด์เว็บ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ลักษณะทางเทคนิคของเว็บ 2.0 นั้นเกิดขึ้นมานานกว่าคำว่า "เว็บ 2.0" จะถูกนำมาเรียกใช้ วิสัยทัศน์เริ่มแรกของเบอร์เนิร์ส ลี คือการสร้างสื่อที่เอื้อต่อการร่วมสรรค์สร้างของผู้ใช้งาน เป็นสื่อกลางที่ผู้ใช้งานไม่เพียงแต่รับ แต่สามารถร่วมแบ่งปันข้อมูลข่าวสารด้วย[3][4]
นิยาม
[แก้]WEB 2.0 นั้นมีคำจำกัดความหลายอย่าง ทิม โอไรล์ลีย์ ได้กล่าวไว้ว่าเว็บ 2.0 เปรียบเหมือนธุรกิจ ซึ่งเว็บกลายเป็นแพลตฟอร์มหนึ่ง ที่อยู่เหนือการใช้งานของซอฟต์แวร์ โดยไม่ยึดติดกับตัวซอฟต์แวร์เหมือนระบบคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา โดยมีข้อมูล ที่เกิดจากผู้ใช้หลายคน (ตัวอย่างเช่น บล็อก) เป็นตัวผลักดันความสำเร็จของเว็บไซต์อีกต่อหนึ่ง ซึ่งเว็บไซต์ในปัจจุบันมีลักษณะการสร้างโดยผู้ใช้ที่อิสระ และแยกจากกัน ภายใต้ซอฟต์แวร์ตัวเดียวกัน เพื่อสรรค์สร้างระบบให้ก่อเกิดประโยชน์ในองค์รวม โอไรล์ลีย์ ได้แสดงตัวอย่างของระดับของเว็บ 2.0 ออกเป็นสี่ระดับ ดังนี้
- ระดับ 3 - ระดับของการใช้งานจากผู้ใช้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นลักษณะของการสื่อสารของมนุษย์ภายใต้เว็บไซต์เดียวกัน ตัวอย่างเช่น วิกิพีเดีย สไกป์ อีเบย์ เครกส์ลิสต์
- ระดับ 2 - ระดับการจัดการทั่วไปที่สามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านอินเทอร์เน็ต แต่เมื่อนำมาใช้งานออนไลน์ นั้น จะมีประโยชน์มากขึ้นจากการเชื่อมโยงผู้ใช้งานเข้าด้วยกัน ซึ่งโอไรลลีย์ ยกตัวอย่างเว็บไซต์ ฟลิคเกอร์ เว็บไซต์อัปโหลดภาพที่มีการใช้งานเชื่อมโยงระหว่างภาพ และเช่นเดียวกันระหว่างผู้ใช้งาน
- ระดับ 1 - ระดับการจัดการทั่วไปที่สามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านอินเทอร์เน็ต แต่มีความสามารถเพิ่มขึ้นมีนำมาใช้งานออนไลน์ ตัวอย่างเช่น ไรต์รีย์ (ปัจจุบันคือ กูเกิลดอคส์) และ ไอทูนส์
- ระดับ 0 - ระดับที่สามารถใช้งานได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เช่น แมปเควสต์ และ กูเกิล แมปส์
ซึ่งแอปพลิเคชันหลายตัวที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารอย่าง อีเมล เมสเซนเจอร์ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในลักษณะของเว็บ 2.0 แต่อย่างใด[5]
โดยลักษณะที่เด่นชัดของเว็บ 2.0 นั้น จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาและการโต้ตอบระหว่างผู้ให้บริการ และผู้ใช้งาน แทนที่จากระบบเว็บแบบเก่า ที่เป็นลักษณะของการให้บริการอ่านอย่างเดียว โดยรวมไปถึงการรวดเร็ว และการง่ายดายของการส่งข้อมูล แทนที่แบบเก่าที่ต้องจัดการผ่านเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งบล็อกและเว็บที่ให้บริการอัปโหลดภาพถูกนำมาใช้เป็นตัวอย่างของเว็บ 2.0 ที่ให้เห็นได้ทั่วไป ที่มีการให้บริการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการใช้งานที่ง่าย โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในด้านเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์แต่อย่างใด เห็นได้ว่าลักษณะของเว็บ 2.0 นั้นก่อให้เกิดการสร้างเนื้อหา ที่รวดเร็ว และมีการแบ่งปันข้อมูลที่ง่ายขึ้น โดยลักษณะของเว็บเปลี่ยนจากทางเน้นหนักทางด้านเทคนิค ไปในด้านข้อมูลข่าวสารแทนที่ และก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านธุรกิจต่อมา[6]
ลักษณะ และเทคโนโลยีที่แสดงถึงเว็บ 2.0
[แก้]เว็บ 2.0 ส่วนใหญ่ จะมีลักษณะและคุณสมบัติ ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ดังนี้
- Search
หาข้อมูลจากคีย์เวิร์ด
- Links
โยงข้อมูลไปยังเว็บไซต์อื่น
- Authoring
สามารถสร้างหรือแก้ไขข้อมูลร่วมกันได้ ในวิกิผู้ใช้สามารถ เพิ่ม แก้ไข หรือลบข้อมูล ในบล็อกผู้ใช้สามารถโพสต์คอมเมนต์ได้
- Tags
จัดหมวดหมู่ให้กับข้อมูลโดยใช้แท็ก - คำสั้น ๆ ใช้อธิบายว่าข้อมูลนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
- Extension
ส่วนเสริมสำหรับเว็บแอปพลิเคชัน รวมถึงซอฟต์แวร์จำพวก อะโดบี รีดเดอร์ แฟลช ไมโครซอฟท์ ซิลเวอร์ไลต์ แอ็กทีฟเอ็กซ์ จาวา ควิตไทม์ และอื่น ๆ
- Signals
เทคโนโลยีที่แจ้งเตือนผู้ใช้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา เช่น RSS Atom เป็นต้น
เว็บ 3.0
[แก้]หลังจากที่มีความนิยมในคำว่า "เว็บ 2.0" ได้มีการนิยามหลากหลายของคำว่า "เว็บ 3.0" ออกมากล่าวถึงเทคโนโลยีในอนาคตที่ยังไม่มี อย่างไรก็ตามไม่มีการนิยามคำว่าเว็บ 3.0 และไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายเหมือนคำว่า เว็บ 2.0
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Graham, Paul (November 2005). "Web 2.0". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-10. สืบค้นเมื่อ 2006-08-02.
I first heard the phrase 'Web 2.0' in the name of the Web 2.0 conference in 2004.
- ↑ O'Reilly, Tim (2005-09-30). "What Is Web 2.0". O'Reilly Network. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-24. สืบค้นเมื่อ 2006-08-06.
- ↑ "DeveloperWorks Interviews: Tim Berners-Lee". IBM. 2006-07-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-21. สืบค้นเมื่อ 2012-08-05.
- ↑ Nate Anderson (2006-09-01). "Tim Berners-Lee on Web 2.0: "nobody even knows what it means"". arstechnica.com. สืบค้นเมื่อ 2006-09-05.
- ↑ Tim O'Reilly (July 17, 2006). "Levels of the Game: The Hierarchy of Web 2.0 Applications". O'Reilly radar. สืบค้นเมื่อ August 8, 2006.
- ↑ Barnwal, Rajesh (2007-01-21). "Web 2.0 is all about understanding the economic value of social interaction". AlooTechie. สืบค้นเมื่อ 2008-02-23.
หนังสืออ่านเพิ่ม
[แก้]- Deloitte & Touche LLP - Canada (2008 study) - Change your world or the world will change you: The future of collaborative government and Web 2.0 เก็บถาวร 2008-09-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- "Critical Perspectives on Web 2.0", Special issue of First Monday, 13 (3) , 2008.
- Graham Vickery, Sacha Wunsch-Vincent: "Participative Web and User-Created Content: Web 2.0, Wikis and Social Networking"; OECD, 2007