ข้ามไปเนื้อหา

มิฮาย กาโรยี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Mihály Károlyi)
มิฮาย กาโรยี
ประธานาธิบดีฮังการี คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
11 มกราคม ค.ศ. 1919 – 21 มีนาคม ค.ศ. 1919
รักษาการ: 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 – 11 มกราคม ค.ศ. 1919
นายกรัฐมนตรีเดแน็ช เบริงคีย์
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปซานโดร์ กอร์บอยี
นายกรัฐมนตรีฮังการี คนที่ 20
ดำรงตำแหน่ง
31 ตุลาคม ค.ศ. 1918 – 11 มกราคม ค.ศ. 1919
กษัตริย์พระเจ้ากาโรยที่ 4
อาร์ชดยุกโยเซ็ฟ เอากุสท์
(ในฐานะผู้สำเร็จราชการ)
ประธานาธิบดีตัวเอง
ก่อนหน้ายาโนช ฮอดิก
ถัดไปเดแน็ช เบริงคีย์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
อาดาม เจิร์จ มิกโลช กาโรยี แด น็อจกาโรย

4 มีนาคม ค.ศ. 1875
โฟต จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
เสียชีวิต19 มีนาคม ค.ศ. 1955 (80 ปี)
ว็องส์ ประเทศฝรั่งเศส
พรรคการเมืองพรรคโกชุตอิสระแห่งชาติ
คู่สมรสกาตินกา อ็อนดราชี

เคานต์ มิฮาย อาดาม เจิร์จ มิกโลช กาโรยี แด น็อจกาโรย (ฮังการี: gróf nagykárolyi Károlyi Mihály Ádám György Miklós; 4 มีนาคม ค.ศ. 1875 – 19 มีนาคม ค.ศ. 1955) เป็นนักการเมืองชาวฮังการี ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฮังการี ค.ศ. 1918-1919 และเป็นประธานาธิบดีฮังการีคนแรกหลังการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบเป็นสาธารณรัฐประชาชน ในระหว่างการดำรงตำแหน่งของเขา ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศจากผลที่ตามมาของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการยึดครองดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน กาโรยีลงจากอำนาจหลังการยึดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1919

กาโรยีเกิดเมื่อ ค.ศ. 1875 ในตระกูลขุนนางคาทอลิกที่มีชื่อเสียง เขาเติบโตและได้รับการเลี้ยงดูตามแบบขุนนางฮังการีโดยทั่วไป ต่อมาเขาเริ่มมีความสนใจทางด้านการเมืองมากขึ้น เขาจึงลงสมัครเลือกตั้งและได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภาในฐานะสมาชิกพรรคฝ่ายค้านใน ค.ศ. 1910 เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งดำเนินขึ้นใน ค.ศ. 1914 กาโรยีเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านสงครามที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในรัฐสภา และคัดค้านการเป็นพันธมิตรของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกับจักรวรรดิเยอรมัน อีกทั้งยังเรียกร้องให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีและทหารผ่านศึก ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้สร้างความนิยมต่อตัวเขาเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเขากับฝ่ายรัฐบาลของอิชต์วาน ติซอ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1914 เขาได้สมรสกับเคาน์เตส กาตินกา อ็อนดราชี บุตรสาวของตระกูลผู้ทรงอิทธิพลในฮังการี ใน ค.ศ. 1918 หลังการยอมจำนนของจักรวรรดิในมหาสงคราม กาโรยีได้ร่วมจัดตั้งสภาแห่งชาติฮังการีในฐานะฝ่ายต่อต้านระบอบทวิอำนาจกับออสเตรียและเข้ายึดอำนาจในเดือนพฤศจิกายนหรือที่รู้จักกันว่า "การปฏิวัติเบญจมาศ" ส่งผลให้ฮังการีประกาศแยกตัวออกจากออสเตรียและกลายสภาพเป็นสาธารณรัฐประชาชนแห่งใหม่

ในเวลาห้าเดือนของการดำรงตำแหน่ง รัฐบาลกาโรยียังคงไม่สามารถแก้ปัญหาที่ร้ายแรงของประเทศได้สำเร็จ เนื่องจากความล้มเหลวในการปรองดองกับชนกลุ่มน้อยในเขตแดนฮังการีซึ่งนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไป รวมถึงการว่างงานและความยากเข็ญในเขตเมือง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ความปรารถนาที่จะปฏิรูปทางการเกษตรในชนบทยังไม่ได้ดําเนินการ และการถูกรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน จนท้ายที่สุดในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1919 พันธมิตรประชาธิปไตยสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์จึงขึ้นสู่อำนาจและส่งผลให้สาธารณรัฐประชาชนฮังการีภายใต้การปกครองของเขาต้องสิ้นสุดลง

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1919 เขาลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส และเดินทางกลับฮังการีอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเขาดำรงตำแหน่งระดับชาติในระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะลี้ภัยไปยังฝรั่งเศสอีกครั้งและถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1955

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Balogh, Eva S (1976). "Istvan Friedrich and the Hungarian coup d'etat of 1919: A Reevaluation". Slavic Review. 35 (2): 269-286.
  • Bodo, Bela (2004). "Paramilitary Violence in Hungary After the First World War". East European Quarterly. 38 (2): 129-172.
  • Cartledge, Bryan (2009). Károlyie and Bethlen, Hungary : Makers of the Modern World, the Peace Conferences of 1919-23 and Their Aftermarth (ภาษาอังกฤษ). Haus Publishing. ISBN 9781905791736.
  • Deak, Istvan "The Decline and Fall of Habsburg Hungary, 1914-18" pages 10-30 from Hungary in Revolution edited by Ivan Volgyes Lincoln: University of Nebraska Press, 1971.
  • Menczer, Bela "Bela Kun and the Hungarian Revolution of 1919" pages 299-309 from History Today Volume XIX, Issue #5, May 1969, History Today Inc: London
  • Pastor, Peter (1976). Hungary Between Wilson and Lenin (ภาษาอังกฤษ). East European Monograph. p. 191. ISBN 9780914710134.
  • Rothschild, Joseph (1990). East Central Europe Between the Two World Wars (ภาษาอังกฤษ). University of Washington Press. p. 438. ISBN 9780295953571.
  • Szilassy, Sándor (1971). Revolutionary Hungary 1918-1921 (ภาษาอังกฤษ). Danubian Press. p. 141. ISBN 9780879340056.
  • Szilassy, Sándor (1969). "Hungary at the Brink of the Cliff 1918-1919". East European Quarterly. 3 (1): 95-109. ISSN 0012-8449.
  • Vermes, Gabor "The October Revolution In Hungary" pages 31-60 from Hungary in Revolution edited by Ivan Volgyes Lincoln: University of Nebraska Press, 1971.
  • Vermes, Gabor (1985). Istvan Tisza (ภาษาอังกฤษ). East European Monographs. p. 627. ISBN 9780880330770.
  • Zsuppán, Ferenc Tibor (1965). "The Early Activities of the Hungarian Communist Party, 1918-19". The Slavonic and East European Review. 43 (101): 314-334.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]