พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดย อ็องตวน-ฟร็องซัว ซาลเลต | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ | |||||
ครองราชย์ | 10 พฤษภาคม 1774 – 4 กันยายน 1791 | ||||
ราชาภิเษก | 11 มิถุนายน 1775 | ||||
ก่อนหน้า | พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 | ||||
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส | |||||
ครองราชย์ | 4 กันยายน 1791 – 10 สิงหาคม 1792 | ||||
ประกาศองค์ | 30 กันยายน 1791 | ||||
ถัดไป | การปฏิวัติฝรั่งเศส ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง สภากงว็องซียงแห่งชาติ | ||||
พระราชสมภพ | 23 สิงหาคม ค.ศ. 1754 พระราชวังแวร์ซาย, ราชอาณาจักรฝรั่งเศส | ||||
สวรรคต | 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ปลัสเดอลากงกอร์ด, ปารีส, สาธารณรัฐฝรั่งเศส | (38 ปี)||||
ฝังพระศพ | 21 มกราคม 1815 มหาวิหารแซ็ง-เดอนี, ทางเหนือของฝรั่งเศส | ||||
คู่อภิเษก | มารี อ็องตัวแน็ต | ||||
พระราชบุตร | มารี-เตแรซแห่งฝรั่งเศส เจ้าชายหลุยส์-โฌแซ็ฟ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศส เจ้าหญิงโซเฟีย เฮเลน เบียทริซแห่งฝรั่งเศส | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | บูร์บง | ||||
พระราชบิดา | เจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส | ||||
พระราชมารดา | มาเรีย โจเซฟาแห่งซัคเซิน | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก | ||||
ลายพระอภิไธย |
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Louis XVI de France, หลุยส์แซซเดอฟร็องส์; 5 กันยายน ค.ศ. 1754 – 21 มกราคม ค.ศ. 1793) ทรงเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ ในช่วงต้นของสมัยใหม่ พระบิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 คือ เจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ผู้เป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวและทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ซึ่งสวรรคตในปี ค.ศ. 1765 ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระอัยกา (พระเจ้าหลุยส์ที่ 15) ในปี ค.ศ. 1774 โดยในปี ค.ศ. 1791 ทรงสูญเสียราชบัลลังก์แห่งนาวาร์และครองราชย์ต่อไปในฐานะกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ถัดมาในปี ค.ศ. 1792 ทรงถูกขับออกจากราชสมบัติและสำเร็จโทษในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส
ช่วงต้นรัชกาลได้รับการบันทึกไว้ว่าทรงพยายามที่จะปฏิรูปฝรั่งเศส เนื่องจากทรงได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของยุคเรืองปัญญา อาทิเช่น ความพยายามในการล้มเลิกระบบมาเนอร์ การจัดทำระบบตายย์ (ฝรั่งเศส: Taille; การจัดเก็บภาษีที่ดินคำนวณจากขนาดที่ดินที่ถือครอง) และสนับสนุนขันติธรรมไปในแนวทางที่ออกห่างจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก แต่ฝ่ายขุนนางฝรั่งเศสกลับแสดงท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปของพระองค์และประสบความสำเร็จในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สามัญชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังทรงเข้าไปพัวพันกับสงครามประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา ด้วยการประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา สงครามดังกล่าวสร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ฝรั่งเศสเป็นเงินจำนวนมาก จนทำให้ฐานะการคลังของประเทศตกอยู่ในภาวะเลวร้าย
วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการคลังที่ตามมามีส่วนทำให้ความนิยมในระบอบเก่าเสื่อมลง ความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นกลางและล่างของฝรั่งเศสส่งผลให้มีการต่อต้านอภิสิทธิ์ชนและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่มมากขึ้น ที่ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ทรงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของระบอบการปกครองนี้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1789 คุกบัสตีย์ถูกทลายลงระหว่างการก่อจลาจลในกรุงปารีส อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส ยังผลให้เกิดสถาบันนิติบัญญัติแห่งชาติ และการปฏิวัติยังสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองแต่เพียงในนามเท่านั้น
แม้ว่าจะทรงสนับสนุนรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 แต่พระราโชบายที่ให้ชาติมหาอำนาจในยุโรปเข้าแทรกแซงฝรั่งเศสเพื่อยุติความวุ่นวายก็ประสบความล้มเหลว ตามมาด้วยเหตุการณ์ความพยายามเสด็จหนีออกจากฝรั่งเศสที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อพระองค์เป็นวงกว้างทั่วฝรั่งเศส ทำให้พระราชอำนาจถูกล้มล้างลงอย่างเป็นทางการจากเหตุการณ์สิบสิงหาคมที่มีการบุกทำลายพระราชวังตุยเลอรี พระเจ้าหลุยส์และพระบรมวงศ์ทรงถูกจองจำในป้อมปราการแห่งหนึ่ง จนเมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ขึ้น สมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสก็ได้กล่าวหาพระองค์ว่าทรยศต่อประเทศชาติ จากการสืบสวนพบว่าทรงมีความผิดจริงและทรงถูกตัดสินลงโทษด้วยการปลงพระชนม์ ทั้งนี้ทรงถูกเรียกขานในแบบสามัญชนว่า หลุยส์ กาเป (Louis Capet) ซึ่งนามสกุลนี้มีที่มาจากเชื้อสายราชวงศ์กาเปเซียงของพระองค์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สวรรคตจากการสำเร็จโทษด้วยเครื่องกิโยตีน ในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793
ทรงพระเยาว์
[แก้]หลุยส์ออกุสต์ เดอ ฟร็อง และดำรงตำแหน่งดยุกแห่งแบร์รีตั้งแต่แรกประสูติ ณ พระราชวังแวร์ซาย ทรงเป็นโอรสองค์ที่สามจากทั้งหมดเจ็ดพระองค์ของเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสกับพระราชินีมารี เลสซ์ไซน์สกา มีพระราชมารดามีพระนามว่า เจ้าหญิงมาเรีย โจเซฟาแห่งซัคเซิน ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าออกัสตัสที่ 3 แห่งโปแลนด์ เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกแห่งซัคเซินและพระมหากษัตริย์โปแลนด์-ลิทัวเนีย
เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ ทรงเผชิญกับความยากลำบากในวัยเยาว์ เนื่องจากว่ากันว่าพระบิดาและพระมารดาของพระองค์ทรงทอดทิ้งพระองค์และให้ความสำคัญกับพระเชษฐา เจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งบูร์กอญ ซึ่งมีพระจริยวัตรและพระปรีชาสามารถมากกว่า แต่ต่อมาก็สิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ. 1761 ด้วยพระชนมายุ 9 พรรษา เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์มีพระพลานามัยแข็งแรงแต่ทรงมีพระจริยวัตรเขินอาย มีพระปรีชาในด้านการเรียนและทรงแตกฉานในภาษาละติน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และดาราศาสตร์ นอกจากนี้ยังทรงใช้ภาษาอิตาลีและภาษาอังกฤษได้อย่างเชี่ยวชาญ ทรงโปรดกิจกรรมที่ใช้พละกำลังเช่นการล่าสัตว์กับพระอัยกา หรือการหยอกเล่นกับพระอนุชา เจ้าชายหลุยส์สตานิสลาส์ เคาท์แห่งโพรว็องส์ และเจ้าชายชาร์ลส์-ฟีลีปป์ เคาท์แห่งอาร์ตัวส์ นอกจากนี้ยังทรงได้รับแรงสนับสนุนในงานอดิเรกส่วนพระองค์อื่น ๆ เช่น การประกอบนาฬิกา ซึ่งถูกมองว่าเป็นประโยชน์กับผู้เยาว์[1]
จากการสิ้นพระชนม์ของพระบิดาด้วยวัณโรคในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1765 เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ผู้มีพระชนมายุได้เพียง 11 พรรษา ก็ได้เฉลิมพระยศใหม่ขึ้นเป็นโดแฟ็ง พระมารดาของพระองค์ผู้ทรงไม่เคยฟื้นจากความอาดูรในการสูญเสียพระสวามีก็ได้สิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1767 ด้วยวัณโรคเช่นเดียวกัน[2] การศึกษาอย่างเข้มงวดในแบบอนุรักษนิยมจากดยุกแห่งโวกียงซึ่งมีฐานะเป็น ข้าหลวงแห่งราชบุตรฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Gouverneur des Enfants de France; กูแวร์เนอเดส์อ็องฟ็องต์สเดอฟร็องส์) ตั้งแต่ ค.ศ. 1760 จนกระทั่งทรงอภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1770 ไม่ได้ช่วยเตรียมพระองค์ในการขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ต่อจากพระอัยกาในปี ค.ศ. 1774 เลย การศึกษาที่ทรงได้รับเป็นการผสมปนเปกันของวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะศาสนา จริยธรรม และมนุษยศาสตร์[3] ทั้งนี้พระอาจารย์อาจจะมีส่วนในการปลุกปั้นพระองค์ให้ทรงกลายมาเป็นกษัตริย์ผู้ไร้ซึ่งความหนักแน่นเฉียบขาดอีกด้วย เช่นที่ อับเบ แบร์ตีแยร์ พระอาจารย์ของพระองค์ชี้แนะว่าความขลาดกลัวคือคุณค่าในตัวกษัตริย์ผู้แข็งแกร่ง หรือที่อับเบ โซลดีนี ผู้รับฟังคำสารภาพบาป ได้ชี้แนะไว้ว่าอย่าทรงปล่อยให้ผู้คนอ่านพระราชหฤทัยของพระองค์ได้[4]
พระชนม์ชีพส่วนพระองค์
[แก้]ในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1770 ขณะมีพระชนมายุ 15 พรรษา เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ทรงอภิเษกกับอาร์คดัชเชสพระชนมายุ 14 พรรษาจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คพระนามว่า อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (ชื่อฝรั่งเศสเรียกมารี อ็องตัวแน็ต) พระญาติชั้นที่สองและพระราชธิดาองค์เล็กสุดในจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา พระชายาผู้น่าเกรงขาม
การอภิเษกสมรสในครั้งนี้ต้องเผชิญกับการต่อต้านบางส่วนจากสาธารณชนชาวฝรั่งเศส จากที่การเป็นพันธมิตรกับออสเตรียได้นำพาฝรั่งเศสเข้าสู่ความหายนะในสงครามเจ็ดปี ทำให้ฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่สหราชอาณาจักรทั้งในแผ่นดินยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยในช่วงของการอภิเษกสมรสครั้งนี้ ประชาชนชาวฝรั่งเศสมองสัมพันธไมตรีกับออสเตรียด้วยความชิงชัง และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ก็ทรงถูกมองว่าเป็นสตรีชาวต่างชาติผู้ไม่เป็นที่พึงประสงค์[5] สำหรับคู่รักราชนิกุลผู้เยาว์ทั้งสองแล้ว การอภิเษกครั้งนี้เริ่มแรกดูชื่นมื่นแต่ห่างเหิน - ความเขินอายของเจ้าชายหลุยส์โอกุสต์หมายความว่าพระองค์จะทรงล้มเหลวในการรวมกันของสองราชวงศ์ครั้งนี้ สร้างความทุกข์ใจให้แก่พระชายาอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นคือความกังวลว่าจะทรงถูกบงการโดยพระชายาเพื่อประสงค์บางอย่างของพระบรมวงศ์ฮับส์บูร์ก ก็ยิ่งกดดันให้ทรงวางพระองค์เย็นชาต่อพระชายาในที่สาธารณะมากขึ้นไปอีก[6] อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านไป ทั้งสองพระองค์ก็ทรงใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้น จนมีรายงานว่าในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1773 สายสัมพันธ์ได้แนบแน่นจนผสานทั้งสองพระองค์เข้าไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์ แต่ก็ยังไม่ปรากฏอย่างชัดจริงจนกระทั่งปี ค.ศ. 1777[7]
อย่างไรก็ดี ทั้งสองพระองค์ทรงล้มเหลวที่จะมีรัชทายาทร่วมกันเป็นเวลาหลายปีนับจากนี้ สร้างความกดดันเพิ่มขึ้นให้แก่การอภิเษกสมรส[8] ในขณะที่สถานการณ์ได้เลวร้ายลงไปอีกเมื่อจุลสารสิ่งพิมพ์ลามกอนาจาร ลีเบลล์ (ฝรั่งเศส: libelles) ได้เสียดสีล้อเลียนทั้งคู่โดยการตั้งคำถามว่า "กษัตริย์จะทรงทำได้ไหม? กษัตริย์จะทรงทำได้ไหม"[9]
ในช่วงเวลานั้นมีการถกเถียงถึงสาเหตุของความล้มเหลวในช่วงต้นของการมีองค์รัชทายาท และก็ยังทรงเป็นเช่นนั้นไป หนึ่งในข้อเสนอแนะก็คือ เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ ต้องทรงทุกข์ทรมานจากความเสื่อมสมรรถภาพทางสรีรวิทยา[10] ส่วนมากคาดเดาก���นว่าเกิดจากพระอาการหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิดในวัยพระเยาว์ (phimosis) ซึ่งคำเสนอแนะนี้ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1772 โดยเหล่าแพทย์หลวง[11] ด้านเหล่านักประวัติศาสตร์ยึดมั่นต่อมุมมองนี้ว่าทรงได้เข้ารับการสุหนัต[12] (วิธีการรักษาทั่วไปของอาการหนังหุ้มปลายไม่เปิด) เพื่อบรรเทาพระอาการหลังจากเป็นเวลาผ่านไปเจ็ดปีหลังการอภิเษกสมรส แพทย์หลวงประจำพระองค์ไม่เห็นชอบกับการผ่าตัดมากนัก - การผ่าตัดมีความละเอียดอ่อน มีความชอกช้ำ และง่ายต่อการ "สร้างความเสียหายร้ายแรง" ต่อบุรุษวัยฉกรรจ์ ข้อถกเถียงเรื่องพระอาการข้างต้นและผลที่ตามมาจากการผ่าตัดส่วนมากสามารถพบเห็นได้ในงานเขียนของสเตฟาน ชไวจ์ นักเขียนชาวออสเตรีย[13]
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับในหมู่นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ส่วนมากว่าพระองค์มิทรงเคยเข้ารับการผ่าตัด[14][15][16] - ตัวอย่างเช่นในช่วงปลาย ค.ศ. 1777 ราชทูตปรัสเซียนามว่า บารอน ���กลต์ซ รายงานว่ากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสทรงปฏิเสธรับการผ่าตัดอย่างแน่นอน[17] ข้อเท็จจริงก็คือเจ้าชายถูกประกาศว่ามีพระสมรรถภาพสมบูรณ์อย่างเยี่ยมยอดต่อการมีเพศสัมพันธ์ ยืนยันโดยจักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และในช่วงที่ทรงถูกกล่าวอ้างถึงการเข้ารับการผ่าตัด พระองค์เสด็จออกไปล่าสัตว์แทบจะทุกวันตามคำบันทึกส่วนพระองค์ ซึ่งหมายความว่าการทรงเข้ารับการผ่าตัดไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็ไม่น่าจะทรงสามารถเสด็จออกไปล่าสัตว์ในช่วงสองสามสัปดาห์หลังจากการผ่าตัดนั้น ทั้งนี้ประเด็นถกเถียงถึงความสมบูรณ์ทางสรีระส่วนพระองค์ถูกนำไปประกอบกับปัจจัยอื่นแล้ว ซึ่งก็ยังคงเป็นที่โต้แย้งและถกเถียงมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงระยะต่อมา แม้ว่าจะประสบกับความยากลำบากมาก่อนหน้านี้ แต่ในท้ายที่สุดทั้งสองพระองค์ก็ทรงมีรัชทายาทสืบเชื้อพระวงศ์รวมสี่พระองค์ ได้แก่
- เจ้าหญิงมารี เตเรส ชาร์ลอตต์ (19 ธันวาคม ค.ศ. 1778 – 19 ตุลาคม ค.ศ. 1851)
- เจ้าชายหลุยส์ โฌแซ็ฟ ซาวีแยร์ ฟร็องซัว โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส (22 ตุลาคม ค.ศ. 1781 – 4 มิถุนายน ค.ศ. 1789)
- เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลส์ (พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศสในอนาคต ผู้ทรงเป็นกษัตริย์แต่เพียงในนาม; 27 มีนาคม ค.ศ. 1785 – 8 มิถุนายน ค.ศ. 1795)
- เจ้าหญิงโซฟี เอเลน บีอาทริซแห่งฝรั่งเศส ซึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ (9 กรกฎาคม ค.ศ. 1786 – 19 มิถุนายน ค.ศ. 1787)
คาร์ล ชอว์ เขียนในหนังสือ Royal Babylon: The Alarming History of European Royalty ของเขาว่า "ว่ากันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นที่จดจำจากการเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์แรกที่ทรงริเริ่มการใช้มีดและส้อม อีกทั้งการที่ทรงสรงน้ำและสีพระทนต์น้อยครั้ง" ท้ายที่สุดราชทูตอิตาลีประจำราชสำนักฝรั่งเศสผู้นี้เขียนไว้ตอนท้ายประมาณพระราชกิจวัตรขององค์กษัตริย์ไว้ดั่งกับ "ความสนพระราชหฤทัยในสุขอนามัยส่วนพระองค์อันแปลกประหลาด"
สมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งฝรั่งเศส
[แก้]เมื่อพระเจ้าหลุยส์เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 1774 ทรงมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ทรงต้องแบกรับความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง ในขณะนั้นรัฐบาลกำลังประสบกับภาวะหนี้สินล้นพ้นและกระแสการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังทรงรู้สึกว่าตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งกษัตริย์อีกด้วย
ในฐานะกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ทรงให้ความสำคัญกับพระราชกิจด้านการศาสนาและการต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งจากพระราชกิจด้านการทำให้ศาสนจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียว ประกอบกับแรงกดดันจากคณะลัทธิฌ็องเซ็น (Jansénisme) ส่งผลให้ต่อมาทรงตัดสินพระทัยขับไล่เนรเทศคณะเยสุอิตออกจากแผ่นดินฝรั่งเศส[18] ทรงหวังที่จะได้รับความนิยมชมชอบจากพสกนิกรด้วยการรื้อฟื้นรัฐสภา (Parlement) ขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ไม่มีใครสงสัยถึงพระปรีชาสามารถการบริหารแผ่นดินของพระองค์ ทั้งนี้เป็นที่แน่ชัดว่าแม้จะทรงเจริญพระชันษาผ่านการเลี้ยงดูในฐานะ โดแฟ็ง ตั้งแต่ ค.ศ. 1765 แต่ก็ทรงขาดความหนักแน่นและเด็ดขาดในพระจริยวัตรของพระองค์ การที่ทรงต้องการที่จะเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนปรากฏเป็นหลักฐานในบทนำของพระบรมราชโองการหลายครั้ง และถูกใช้อ้างอิงถึงเจตนาดีของพระองค์ที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ เมื่อตั้งคำถามถึงเหตุผลที่ทรงตัดสินพระทัยรื้อฟื้นรัฐสภาขึ้นมา ทรงตรัสว่า "มันอาจดูเหมือนการตัดสินใจทางการเมืองที่ไม่ค่อยชาญฉลาดนัก แต่กับข้าพเจ้าแล้ว มันดูเหมือนเป็นความปรารถนาทั่วไปของสาธารณชน และข้าพเจ้าก็ต้องการให้สาธารณชนรักข้าพเจ้า"[19] ซึ่งแม้จะทรงขาดความเด็ดขาด พระเจ้าหลุยส์ก็ยังถูกพิจารณาว่าเป็นกษัตริย์ที่ดี ตรัสว่าจะต้องทรง "ปรึกษาหารือและรับฟังทัศนคติของสาธารณชนทุกครั้ง; ผลที่ออกมาจะไม่มีผิดพลาด"[20] พระเจ้าหลุยส์ยังทรงแต่งตั้งที่ปรึกษาส่วนพระองค์ผู้มีประสบการณ์สูงอย่าง ฌ็อง-เฟรเดริก เฟลีโปซ์ เคาน์แห่งโมเรอปาส์ ผู้ซึ่งรับผิดชอบงานราชการของกระทรวงต่าง ๆ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1781
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญระหว่างรัชกาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 คือการตราพระราชกฤษฎีกาแวร์ซาย (Edict of Versailles) หรือรู้จักกันในชื่อ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยขันติธรรม (Edict of Tolerance) ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1787 และได้รับการลงมติในรัฐสภา ณ วันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1788 พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ลบล้างผลของพระราชกฤษฎีกาฟงแตนโบล (Edict of Fontainebleau) ซึ่งถูกตราและบังคับใช้มากว่า 102 ปี พระราชกฤษฎีกาแวร์ซายรับรองให้ชาวคริสต์นอกนิกายโรมันคาทอลิก เช่น นิกายคาลวิน- อูเกอโนต์ (Calvinist Huguenots) นิกายลูเทอแรน เช่นเดียวกับชาวยิว ได้รับสถานะทางแพ่งและทางกฎหมายในฝรั่งเศส และเปิดให้คนเหล่านั้นสามารถเลือกนับถือความเชื่อใดก็ตามได้อย่างเปิดเผย แต่ถึงกระนั้นพระราชกฤษฎีกาแวร์ซายก็ไม่ได้ประกาศเสรีภาพในการนับถือศาสนาในฝรั่งเศสโดยตรง ซึ่งต่อมาอีกสองปีก็มีการตรากฎหมายที่รับรองเสรีภาพดังกล่าวขึ้นคือ ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 อย่างไรก็ตามนับได้ว่าพระราชกฤษฎีกาแวร์ซายเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญที่ช่วยลบล้างความตรึงเครียดทางศาสนาและทำให้การประหัตประหารกันระหว่างศาสนาในแผ่นดินของพระองค์สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ[21]
การปฏิรูปทางการเงินอย่างสุดโต่งโดย ตูร์โกต์และมาเลอแซเบอส์ ส่งผลให้เหล่าขุนนางเกิดความไม่พอใจอย่างมากและถูกยับยั้งไว้โดยรัฐสภา ที่ซึ่งพวกเขายืนกรานว่าพระเจ้าหลุยส์ไร้ซึ่งพระราชอำนาจในการกำหนดเกณฑ์ภาษีขึ้นมาใหม่ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1776 ตูร์โกต์จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง และมาเลอแซเบอส์ลาออก เปิดทางให้ฌัก แนแกร์ เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน แนแกร์มีแนวคิดสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกาและดำเนินนโยบายด้านการคลังด้วยการก่อหนี้จำนวนมากแทนการขึ้นภาษี ในปี ค.ศ. 1781 เขาพยายามเอาใจประชาชนด้วยการตีพิมพ์รายงาน กงต์รองดูโอรัว (ฝรั่งเศส: Compte rendu au roi; รายงานแด่กษัตริย์) ซึ่งแสดงบัญชีหนี้สินและรายจ่ายของกษัตริย์ฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก เปิดโอกาสให้ชาวฝรั่งเศสสามารถตรวจดูรายการบัญชีของกษัตริย์ที่มีรายรับมากกว่ารายจ่ายอยู่เล็กน้อย[22] แต่เมื่อนโยบายนี้ประสบความล้มเหลวอย่างน่าสังเวช พระเจ้าหลุยส์ก็ทรงปลดเขาออกจากตำแหน่ง และทรงแต่งตั้งชาร์ล อาแล็กซ็องดร์ เดอ กาลอน (Charles Alexandre de Calonne) ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนในปี ค.ศ. 1783 กาลอนกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อ "ซื้อ" หนทางที่จะนำพาประเทศออกจากหนี้กองโต อีกเช่นเคย นโยบายนี้ประสบความล้มเหลว ดังนั้นพระเจ้าหลุยส์จึงทรงเรียกประชุมสมัชชาชนชั้นสูง (Assembly of Notables) ในปี ค.ศ. 1787 เพื่ออภิปรายถึงการปฏิรูประบบการคลังของประเทศซึ่งถูกเสนอไว้โดยกาลอน เมื่อเหล่าชนชั้นสูงได้รับการชี้แจ้งว่าจะมีการก่อหนี้ก้อนใหม่ ทั้งหมดรู้สึกตกตะลึงอย่างมากและปฏิเสธแผนการดังกล่าว ผลลัพธ์เชิงลบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ส่งสัญญาณว่าพระเจ้าหลุยส์ได้สูญเสียพระราชอำนาจที่จะปกครองในฐานะกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว และทำให้ทรงตกอยู่ในภวังค์แห่งความหดหู่[23]
ขณะที่พระราชอำนาจในการปกครองประเทศของพระเจ้าหลุยส์กำลังเสื่อมถอยลง มีเสียงเรียกร้องให้ทรงเปิดการประชุมสภาฐานันดรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1614 ในช่วงต้นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ในความพยายามครั้งสุดท้ายของพระองค์ที่จะให้การปฏิรูประบบการเงินการคลังได้รับการอนุมัติ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ตัดสินพระราชหฤทัยเรียกประชุมสภาฐานันดรในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1788 และกำหนดวันเปิดสภาในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 ด้วยการเรียกประชุมสภาฐานันดรนี้เอง เท่ากับว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงเดิมพันเกียรติยศและภาพลักษณ์ต่อสาธาณชนของพระองค์ไปไว้ในมือของคณะบุคคลผู้ซึ่งไม่ค่อยรู้สึกกังวลกับแนวคิดสาธารณรัฐนิยมมากเท่ากับที่พระเจ้าหลุยส์ทรงรู้สึก ซึ่งความเสี่ยงเช่นนี้มีให้พบเห็นบ่อยครั้งจากเหตุการณ์และกรณีต่าง ๆ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีการโต้เถียงกันว่าการจัดการประชุมในครั้งนี้ควรปฏิบัติตามระเบียบวีธีการดั้งเดิมหรือไม่ เนื่องจากการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ในท้ายที่สุด ปาร์เลอมงต์เดอปารีส์ (ฝรั่งเศส: parlement de Paris) ก็มีมติตกลงว่า "ควรดำรงไว้ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติอย่างระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติใด ๆ นอกเหนือไปจากธรรมเนียมดังกล่าว" และจากมติดังกล่าว พระเจ้าหลุยส์จึงทรงยินยอมให้คงไว้ซึ่งธรรมเนียมประเพณีหลาย ๆ อย่าง อันเป็นบรรทัดฐานมาจากการประชุมครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 1614 ส่งผลให้ฐานันดรที่สาม (สามัญชน) ไม่พอใจธรรมเนียมบางประการที่ขัดกับประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองว่าด้วยความเท่าเทียม เช่น การที่ฐานันดรที่หนึ่ง (นักบวช) และฐานันดรที่สอง (ขุนนาง) สามารถแต่งกายได้อย่างหรูหราสมฐานะเข้าไปในสภาได้ แต่ฐานันดรที่สามกลับถูกจำกัดให้แต่งกายแบบเรียบ ๆ ด้วยสีดำทะมึนอันแสดงถึงการกดขี่ เมื่อการประชุมเริ่มขึ้น พระเจ้าหลุยส์แสดงออกถึงความเคารพผู้เข้าร่วมประชุม : สมาชิกสภาฐานันดรผู้มีความเย่อหยิ่งในตนสูงปฏิเสธที่จะถอดหมวกของตนเมื่อพระเจ้าหลุยส์เสด็จมาถึง ดังนั้นพระเจ้าหลุยส์จึงทรงเป็นผู้ถอดพระมาลา (หมวก) ของพระองค์ต่อสมาชิกสภาแทน[24]
ที่ประชุมของสามฐานันดรนี้เองที่เป็นชนวนเหตุเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและการเมืองโดยทั่วไปอัน "ป่วยการ" ของประเทศไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1789 ฐานันดรที่สามประกาศตนว่าเป็นสมัชชาแห่งชาติแต่เพียงฝ่ายเดียว พระเจ้าหลุยส์จึงทรงพยายามควบคุมเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์คำปฏิญาณสนามเทนนิส (ฝรั่งเศส: serment du jeu de paume) ในวันที่ 20 มิถุนายน ตามมาด้วยการสถาปนาสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติในวันที่ 9 กรกฎาคม จนในที่สุดนำไปสู่การทลายคุกบัสตีย์ในวันที่ 14 กรกฎาคม อันเป็นการเปิดฉากการปฏิวัติฝรั่งเศส และในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงสามเดือน พระราชอำนาจปกครองประเทศของพระเจ้าหลุยส์ส่วนมากก็ถูกส่งผ่านไปยังผู้แทนที่ได้รับเลือกมาจากประชาชนในประเทศ
พระราโชบายด้านการต่างประเทศ
[แก้]ผลของสงครามเจ็ดปีทิ้งไว้ซึ่งความหายนะแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ชัยชนะของบริเตนใหญ่ส่งผลให้ฝรั่งเศสสูญเสียดินแดนอาณานิคมมากมาย ซึ่งบางส่วนได้รับคืนในปี ค.ศ. 1763 จากสนธิสัญญาปารีส ดังนั้นดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของทวีปอเมริกาเหนือจึงตกเป็นของอังกฤษโดยสมบูรณ์
ความพ่ายแพ้นี้เองนำไปสู่แผนการรื้อสร้างกองทัพฝรั่งเศสขึ้นมาใหม่ของเหล่าชนชั้นนำฝรั่งเศสเพื่อที่จะต่อสู้ในสงครามแก้แค้นกับอังกฤษ โดยพวกเขาคาดหวังไว้ว่าอาจได้รับดินแดนอาณานิคมบางส่วนกลับคืนมา อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสยังคงมีอิทธิพลเหนือหมู่เกาะอินดีสตะวันตกอย่างมาก และมีสถานีการค้าห้าแห่งอยู่ในอินเดีย ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถใช้เป็นเงื่อนไขในสร้างความขัดแย้งและต่อรองอำนาจกับอังกฤษได้ในอนาคต[25]
การปฏิวัติอเมริกา
[แก้]ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1776 แวร์เฌนส์ รัฐมนตรีการต่างประเทศ มองเห็นโอกาสที่จะฉีกหน้าคู่ปรับเก่าแก่ของฝรั่งเศสอย่างอังกฤษ เช่นเดียวกับโอกาสที่จะได้ดินแดนที่เสียไปในช่วงสงครามเจ็ดปีกลับคืนมาด้วยการสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกา พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกน้าวโน้มโดยปิแยร์ โบมาร์เชส์ ให้ทรงส่งเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์แก่สหรัฐอเมริกาอย่างลับ ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1776 ลงนามสนธิสัญญาพันธมิตรฝรั่งเศส-อเมริกันในต้นปี ค.ศ. 1778 และเข้าร่วมสงครามต่อต้านอังกฤษในท้ายที่สุด ต่อมาสเปนและเนเธอร์แลนด์จึงเข้าร่วมกับฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรในการต่อต้านอังกฤษ หลังจากปี ค.ศ. 1778 อังกฤษหันมาให้ความสำคัญกับหมู่เกาะอินดีสตะวันตก เนื่องจากตระหนักว่าการปกป้องหมู่เกาะซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยน้ำตาลสำคัญกว่าการพยายามยึดอาณานิมทั้งสิบสามกลับคืนมา ส่วนฝรั่งเศสและสเปนวางแผนที่จะบุกเกาะอังกฤษด้วยกองเรืออาร์มาดาปี ค.ศ. 1779 แต่แผนการดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ในช่วงต้นของการสนับสนุนฝ่ายปฏิวัติอเมริกัน ฝรั่งเศสพบกับความผิดห���ังจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายอเมริกันในสมรภูมิโรดไอส์แลนด์และการโอบล้อมที่ซาวันนาห์ ในปี ค.ศ. 1780 ฝรั่งเศสส่งโรช็องโบและเดอ กราสส์ ไปช่วยฝ่ายอเมริกัน พร้อมทั้งกำลังพลทั้งทางบกและทางน้ำ กองพลเคลื่อนที่เร็วของฝรั่งเศสเดินทางถึงอเมริกาเหนือในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1780 ตามมาด้วยการปรากฏตัวของราชนาวีฝรั่งเศสในทะเลแคริบเบียนจากการเข้ายึดหมู่เกาะน้ำตาล รวมทั้งโตเบโกและเกรเนดา[26] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1781 การปิดล้อมทางเรือของฝรั่งเศสถูกใช้เป็นเครื่องมือบังคับให้กองทัพอังกฤษภายใต้การนำของลอร์ดคอร์นาวอลลิสให้ยอมจำนนในการโอบล้ามที่ยอร์กทาวน์[27] เมื่อลอนดอนได้รับข่าวนี้ ส่งผลให้รัฐบาลของลอร์ดนอร์ทล่มลงในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1782 และอังกฤษกลับท่าทีเพื่อให้ความขัดแย้งสงบลงอย่างกระทันหัน อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสทำให้สงครามยืดเยื้อออกไปจนกระทั่งเดือนกันยายน ค.ศ. 1783 โดยหวังว่าจะได้รับดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในอินเดียและหมู่เกาะอินดีสตะวันตกเพิ่มเติม
ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่รับรองเอกราชของอาณานิคมทั้งสิบสามในฐานะสหรัฐอเมริกาและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสสามารถรื้อฟื้นกองทัพฝรั่งเศสขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอังกฤษสามารถเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1782 ได้สำเร็จและสามารถป้องกันจาเมกาและยิบรอลตาร์ไว้ได้ ส่วนฝรั่งเศสได้ดินแดนเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยจากสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. 1783 ซึ่งปิดฉากสงครามลงอย่างเป็นทางการ ยกเว้นในอาณานิคมโตเบโกและเซเนกัล พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงผิดหวังอย่างมากจากพระราชประสงค์ที่จะได้ดินแดนแคนาดา อินเดีย และเกาะอื่น ๆ ในหมู่เกาะอินดีสตะวันตกคืนมาจากอังกฤษ เนื่องจากดินแดนดังกล่าวได้รับการป้องกันอย่างดีเยี่ยม อีกทั้งราชนาวีอังกฤษที่แข็งแกร่งทำให้การรุกรานจากภายนอกเป็นไปไม่ได้ สงครามดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1,066 ล้านลีฟว์ โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเงินกู้ระยะยาวที่อัตราดอกเบี้ยสูง (โดยไม่มีภาษีชนิดใหม่) แนแกร์ปกปิดวิกฤตการเงินจากสาธารณชนด้วยการอธิบายเพียงว่างบประมาณรายได้มากกว่ารายจ่ายของประเทศ และไม่ได้กล่าวถึงเงินกู้ยืมก้อนดังกล่าว ซึ่งหลังจากที่เขาถูกขับออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 1781 จึงมีการจัดเก็บภาษีชนิดใหม่[28]
อินเดีย
[แก้]พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงหวังที่จะใช้สงครามปฏิวัติอเมริกันในการขับไล่อังกฤษออกจากอินเดีย[25] ในปี ค.ศ. 1782 ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับ เพชวา มัดฮัฟเราที่ 2 (Peshwa Madhavrao II) มาร์กี เดอ บุชชี-คัสเตลโน จึงเคลื่อนกองกำลังของตนเข้าไปยังอีลส์เดอฟร็องซ์ (ปัจจุบันคือมอริเชียส) และภายหลังได้ช่วยเหลือในความพยายามของฝรั่งเศสในอินเดีย ค.ศ. 1783[25][29] ซุฟเฟร็นเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฮีดดะ อาลี (Hyder Ali) ในสงครามอังกฤษ-ไมซอร์ครั้งที่สองต่อต้านการปกครองของอังกฤษในอินเดีย ช่วงปี ค.ศ. 1782 – 1783 ต่อสู้กับกองเรืออังกฤษตลอดแนวชายฝั่งของอินเดียและซีลอน[30][31]
เวียดนามและอินโดจีน
[แก้]ฝรั่งเศสยังได้เข้าแทรกแซงโคชินจีน (Cochinchina) จากการที่นายพลปิโญ เดอ เบอเฮน เข้าแทรกแซงให้การช่วยเหลือทางการทหาร การเป็นพันธมิตรกันระหว่างฝรั่งเศสและโคชินจีนได้รับการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย ค.ศ. 1787 ระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับเจ้าชายเหวียน อันห์[32] ในขณะที่ระบอบการปกครองของฝรั่งเศสตกอยู่ในความตึงเครียดและความวุ่นวาย ฝรั่งเศสไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญาได้ แต่นายพลเบอเฮนยังคงยืนหยัดในความพยายามของเขาและได้รับการสนับสนุนจากปัจเจกบุคคลและพ่อค้าชาวฝรั่งเศสที่ร่วมกันจัดตั้งเป็นกองกำลังทหารและเจ้าพนักงาน ซึ่งจะช่วยพัฒนากองทัพของเจ้าชายเหวียน อันห์ ให้มีความทันสมัยขึ้น และตามมาด้วยชัยชนะของนายพลเบอเฮนในการยึดครองเวียดนามได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1802
การสำรวจดินแดนใหม่
[แก้]พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังทรงให้การสนับสนุนนักสำรวจและนักเดินทาง ในปี ค.ศ. 1785 ทรงแต่งตั้งเคาน์แห่งลาเปรูสเป็นผู้นำการสำรวจดินแดนทั่วโลก
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
[แก้]วันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789 กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งส่วนมากเป็นสตรีชนชั้นแรงงานชาวปารีสและได้รับการปลุกระดมโดยเหล่านักปฏิวัติ เดินขบวนสู่พระราชวังแวร์ซายที่ซึ่งพระบรมวงศ์ประทับอยู่ ณ รุ่งเช้า เหล่าผู้ประท้วงต่างพากันเข้าไปในเขตพระราชวังและพยายามปลงพระชนม์พระนางอ็องตัวแน็ต ผู้ซึ่งใช้ชีวิตหรูหราและสุขสบายอันเป็นสัญลักษณ์ที่น่าเกลียดชังของ อองเซียงเรฌีม เหตุการณ์ได้รับการคลี่คลายลงโดยนายพล ลา ฟาแย็ต ผู้นำกองทหารรักษาการณ์แห่งชาติ (ฝรั่งเศส: Garde nationale) ฝูงชนนำพระเจ้าหลุยส์และพระบรมวงศ์เสด็จแปรที่พำนักไปยังพระราชวังตุยเลอรีในกรุงปารีส โดยเชื่อว่าหากนำองค์กษัตริย์ไปพำนัก ณ กรุงปารีสซึ่งแวดล้อมไปด้วยประชาชนแล้ว จะทำให้พระเจ้าหลุยส์ทรงมีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น
หลักการที่ประมุขแห่งรัฐมาจากความนิยมของสาธารณชนของฝ่ายปฏิวัติ (ซึ่งพัฒนาไปเป็นหลักการประชาธิปไตยในยุคสมัยหลัง) แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากหลักการที่ประมุขแห่งรัฐมาจากการสืบทอดตำแหน่งตามสายเลือด อันเป็นหลักการสำคัญของการปกครองของฝรั่งเศสในอดีต ผลที่ตามมาก็คือหลักการใหม่ของฝ่ายปฏิวัตินี้ได้รับการต่อต้านจากชาวชนบทในฝรั่งเศสจำนวนมากมายและและรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านที่รายล้อมฝรั่งเศสในขณะนั้น เมื่อการปฏิวัติทวีความรุนแรงขึ้นและการควบคุมฝูงชนผู้ประท้วงทำได้ยากขึ้น บุคคลสำคัญของฝรั่งเศสหลายคนที่ร่วมจุดชนวนการปฏิวัติจึงเริ่มตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ที่จะตามมาในอนาคต เช่น ออนอเร มิราโบ เริ่มสมคบคิดอย่างลับ ๆ กับพระเจ้าหลุยส์ในการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญแบบใหม่
เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1791 มงต์มอแร็ง รัฐมนตรีการต่างประเทศเริ่มดำเนินการจัดตั้งกองกำลังปฏิวัติตอบโต้ อีกทั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับกษัตริย์ (ฝรั่งเศส: la Liste civile) ซึ่งได้รับการลงมติอนุมัติเป็นประจำทุกปีโดยสมัชชาแห่งชาติ ถูกปันส่วนอย่างลับ ๆ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ อาร์โนลต์ ลาปอร์ต ผู้รับผิดชอบบัญชีรายชื่อพลเรือน ร่วมมือกับมงต์มอแร็งและมิราโบ ซึ่งภายหลังการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของมิราโบ มักซีมีเลียง ราดีซ์ เดอ แซ็งต์-ฟัวส์ นักการเงินการธนาคาร เข้าดำรงตำแหน่งแทน มีผลทำให้เขากลายเป็นหัวหน้าสภาองคมนตรีที่ปรึษาลับของพระเจ้าหลุยส์ ซึ่งเป็นคณะของบุคคลผู้พยายามรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ ในท้ายที่สุดแผนการดังกล่าวประสบความล้มเหลว และได้รับการเปิดโปงจนกลายเป็นกรณีอื้อฉาว อาร์มัวร์เดอแฟร์ (ฝรั่งเศส: armoire de fer; ตู้เหล็ก)
การเสียชีวิตของมิราโบและความไม่เด็ดขาดของพระเจ้าหลุยส์ ส่งผลให้การเจรจาระหว่างกษัตริย์และนักการเมืองสายกลางอ่อนลงอย่างรุนแรง แต่ในอีกทางหนึ่ง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังคงมีท่าทีไม่หัวรุนแรงเท่าพระอนุชาทั้งสองอย่าง เคาน์แห่งโพรว็องส์[ต้องการอ้างอิง]และเคาน์แห่งอาร์ตัวส์ โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ส่งราชหัตถเลขาแก่พระอนุชาทั้งสองผ่านผู้ถูกเสนอชื่ออย่างลับ ๆ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนอย่าง พระคาร์ดินัลโลเมนี เดอ บรีเยนน์ ร้องขอให้หยุดความพยายามก่อการปฏิวัติต่อต้าน ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ทรงมีพระราชหฤทัยออกห่างรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากปฏิกิริยาด้านลบของรัฐบาลต่อบทบาทตามประเพณีของกษัตริย์และความเป็นอยู่ของเชื้อพระวงศ์ที่หรูหรา พระเจ้าหลุยส์ทรงรู้สึกระคายเคืองอย่างยิ่งจากการถูกคุมขังราวกับนักโทษในพระราชวังตุยเลอรี และจากการที่รัฐบาลใหม่ไม่อนุญาตให้ทรงมีผู้ไถ่บาปและนักบวชตามพระราชประสงค์
การเสด็จสู่วาแรน
[แก้]วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1791 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระบรมวงศ์ เสด็จออกจากกรุงปารีสอย่างลับ ๆ ไปยังเมืองม็งต์เมดิซึ่งเป็นเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยมใกล้กับชายแดนฝรั่งเศสทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ซึ่งจะทรงเข้าร่วมกับพวก เอมิเกร (ฝรั่งเศส: émigrés) และได้รับการคุ้มครองจากออสเตรีย ในขณะที่สภาร่างนิติบัญญัติแห่งชาติทำงานอย่างอุตสาหะเพื่อให้ฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้ พระเจ้าหลุยส์และพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ก็ทรงมีแผนการของพระองค์เอง พระเจ้าหลุยส์ทรงแต่งตั้งบารงแห่งเบรอเตยให้เทียบเท่ากับตำแหน่งทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม เพื่อไปเจรจากับประมุขแห่งรัฐอื่น ๆ ให้ร่วมกันก่อการปฏิวัติซ้อนขึ้น พระเจ้าหลุยส์ยังทรงสงวนท่าทีในการรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ทรงมีแนวคิดเช่นเดียวกับพระบิดาและพระมารดาที่ว่าพวกออสเตรียคือพวกทรยศชาติและพวกปรัสเซียคือพวกทะเยอทะยานเกินตน[33] ต่อมาขณะที่ความตึงเครียดในปารีสทวีความรุนแรงขึ้นและทรงถูกกดดันให้ยอมรับแนวทางของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ พระเจ้าหลุยส์และพระนางอ็องตัวแน็ตทรงวางแผนเสด็จหนีออกจากฝรั่งเศสอย่างลับ ๆ ที่เมื่อสำเร็จแล้ว ทรงหวังจะรวมกองกำลังทหารจากความช่วยเหลือของพวกเอมิเกรส์รวมไปถึงชาติอื่น ๆ ในยุโรปเพื่อเข้ายึดฝรั่งเศสกลับมาจากฝ่ายปฏิวัติ แผนการนี้เองที่เป็นตัวบ่งชี้เจตนารมณ์ทางการเมืองในการนำฝรั่งเศสออกจากความวุ่นวาย โดยในท้ายที่สุด แนวคิดและแผนการดังกล่าวถูกใช้เป็นหลักฐานเพื่อสำเร็จโทษพระองค์ในข้อหา "ทรยศต่อประเทศชาติ"[34] อย่างไรก็ตาม ความไม่เด็ดขาดและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฝรั่งเศสของพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้ทรงเสด็จฯ หลบหนีไม่สำเร็จ พระบรมวงศ์ทรงถูกจับกุม ณ เมืองวาแรน ไม่นานหลังจากที่ฌ็อง-บาติสต์ ดรูเอต์ ผู้สามารถจดจำพระเจ้าหลุยส์จากพระฉายาลักษณ์บนธนบัตรใบละ 50 ลีฟว์ได้[35] พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระบรมวงศ์ทรงถูกนำกลับสู่กรุงปารีสและเสด็จถึงในวันที่ 25 มิถุนายน ทรงถูกมองจากสาธารณชนอย่างสงสัยว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติและทรงถูกกักบริเวณ ณ พระราชวังตุยเลอรี
นักประวัติศาสตร์ส่วนน้อยมองว่าความล้มเหลวของแผนการเสด็จฯ หนี มีสาเหตุมาจากความโชคร้าย ความล่าช้า ความเข้าใจผิด และการตัดสินใจที่ไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน[36] แต่ในขณะที่ส่วนมากมองว่าความล้มเหลวดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความไม่เด็ดขาดของพระเจ้าหลุยส์ ทรงเลื่อนแผนการดังกล่าวออกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าและทรงปล่อยให้ปัญหาเล็กน้อยบานปลายเป็นปัญหาใหญ่ ทรงคิดว่ามีเพียงพวกหัวรุนแรงจำนวนไม่มากในปารีสกำลังก่อการปฏิวัติ ในขณะที่คนส่วนมากของประเทศไม่เห็นด้วย และทรงเข้าใจอย่างผิด ๆ ว่าทรงเป็นที่รักใคร่ของชนชั้นเกษตรกรและชาวบ้านทั่วไป[37] การเสด็จหนีที่ล้มเหลวในครั้งนี้สร้างบาดแผลไว้ให้แก่ฝรั่งเศส กระตุ้นให้เกิดกระแสความปวดร้าว ความคับแค้น และความตื่นตระหนกในความรู้สึกของสาธารณชนทั่วไป ทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่าสงครามขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ และตระหนักได้ลึกยิ่งขึ้นว่ากษัตริย์ของพวกเขาแท้ที่จริงแล้วทรงต่อต้านการปฏิวัติ ทั้งยังสร้างความตกตะลึงอย่างใหญ่หลวงในหมู่คนที่ยังคงเชื่อว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีและปกครองด้วยโองการของพระเจ้า พวกเขารู้สึกถูกทรยศ ผลที่ตามมาก็คือลัทธิสาธารณรัฐนิยมปะทุขึ้นในร้านกาแฟทั่วทุกหนแห่งและกลายมาเป็นปรัชญาหลักของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว[38]
การแทรกแซงจากต่างชาติ
[แก้]ในขณะเดียวกันนั้นเอง กษัตริย์ยุโรปพระองค์อื่น ๆ ต่างทอดพระเนตรสถานการณ์ในฝรั่งเศสอย่างกังวลพระทัย ทรงพินิจว่าควรจะแทรกแซงฝรั่งเศสด้วยการเข้าสนับสนุนพระเจ้าหลุยส์ หรือควรจะฉกฉวยความได้เปรียบจากความวุ่นวายที่กำลังดำเนินไป บุคคลสำคัญในประเด็นนี้ก็คือ จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเชษฐาในพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ซึ่งเริ่มแรกจักรพรรดิเลโอโปลด์ทอดพระเนตรการปฏิวัติว่าเป็นเพียงความวุ่นวายเล็กน้อย แต่ทรงวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อเหตุการณ์ทวีความรุนแรงจนกระทั่งไม่สามารถควบคุมไว้ได้ ถึงอย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงหวังว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงสงครามกับฝรั่งเศสได้
ในวันที่ 27 สิงหาคม จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 2 และพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาซึ่งเป็นขุนนางฝรั่งเศสฝ่าย เอมิเกร์ ออกคำประกาศพิลนิทซ์ (Declaration of Pillnitz) ซึ่งแสดงความกังวลพระทัยของบรรดากษัตริย์ยุโรปต่อความผาสุขของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระบรมวงศ์ฝรั่งเศส ทั้งยังแสดงท่าทีคุกคามและกล่าวอย่างเป็นนัยถึงผลลัพธ์อันเลวร้ายที่จะตามมาหากกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ฝรั่งเศสได้รับภยันตรายใด ๆ และแม้ว่าจักรพรรดิเลโอโปลด์จะทอดพระเนตรคำประกาศฉบับนี้ว่าเป็นแนวทางแสดงความกังวัลพระทัยเกี่ยวกับสถานการณ์ในฝรั่งเศสอย่างง่าย ๆ โดยที่ไม่ต้องใช้��นวทางด้านการทหารหรือการเงินใด ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ดังกล่าว แต่เหล่าผู้นำการปฏิวัติในปารีสกลับตอบสนองต่อคำประกาศนี้ด้วยความหวาดกลัว โดยมองว่าเป็นภัยคุกคามจากต่างชาติที่ต้องการจะบ่อนทำลายอธิปไตยของฝรั่งเศส
ทั้งนี้ นอกเหนือจากความแตกต่างทางด้านแนวคิดและอุดมการณ์ระหว่างฝรั่งเศสและบรรดาสิทธิราชย์แห่งยุโรปแล้ว ยังปรากฏความขัดแย้งต่าง ๆ อาทิเช่น ความขัดแย้งเรื่องสถานะสินทรัพย์ของออสเตรียในแคว้นอาลซัส และความกังวลของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเรื่องการก่อกวนของขุนนางฝ่ายเอมิเกร์ที่อยู่นอกฝรั่งเศส โดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์ของออสเตรียและในบรรดาจุลรัฐของเยอรมนี
ในช่วงท้าย สภานิติบัญญัติซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยพระเจ้าหลุยส์ เป็นฝ่ายประกาศสงครามต่อจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก่อน โดยได้รับการลงคะแนนญัตติดังกล่าวในวันที่ 20 ค.ศ. 1792 ภายหลังจากได้รับการร้องทุกข์จำนวนมากผ่านรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ชาลส์ ฟร็องซัวส์ ดูมูรีเยส์ ทั้งนี้ดูมูรีเยส์ได้เตรียมรุกรานเข้าไปยังเนเธอร์แลนด์ของออสเตรียอย่างฉับพลัน ที่ที่เขาคาดการณ์ว่าประชาชนในท้องถิ่นจะร่วมลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของออสเตรีย อย่างไรก็ตาม กองกำลังฝ่ายปฏิวัติขาดการจัดการที่ดีและกองกำลังลุกฮือมีจำนวนไม่มากพอสำหรับการรุกราน ส่งผลให้แผนการดังกล่าวประสบความล้มเหลว เหล่านายทหารต่างพากันถอยหนีออกจากสมรภูมิรบ ทั้งนี้ในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1792 ยังเกิดกรณีสังหารผู้บังคับบัญชาระดับนายพลของตนนามว่า เคาน์เตโอบาลด์แห่งดิลอน ซึ่งมีสัญชาติไอร์แลนด์ เนื่องจากเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ[39]
ในขณะที่รัฐบาลฝ่ายปฏิวัติกำลังจัดตั้งและจัดวางโครงสร้างของกองทัพใหม่อย่างแข็งขัน กองทัพผสมปรัสเซีย-ออสเตรียภายใต้การบัญชาการของ คาร์ล วิลเฮล์ม แฟร์ดีนันด์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ รวมพล ณ เมืองโคเบลนซ์ (Koblenz) ริมฝั่งแม่น้ำไรน์ การรุกรานของฝ่ายปรัสเซีย-ออสเตรียเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคมและสามารถเข้ายึดป้อมปราการแห่งล็องก์วี (ฝรั่งเศส: Longwy) และแวร์เดิง จากนั้นในวันที่ 25 กรกฎาคม ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ออกแถลง คำประกาศเบราน์ชไวค์ (Brunswick Manifesto) ซึ่งถูกร่างขึ้นโดยพระญาติฝ่ายเอมิเกร์ของพระเจ้าหลุยส์นามว่า หลุยส์ โฌแซ็ฟ แห่งบูร์บง เจ้าชายแห่งกงเด (ฝรั่งเศส: Louis Joseph de Bourbon, Prince de Condé) เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมของชาวออสเตรียและชาวปรัสเซียในการคืนสิทธิราชย์ทั้งมวลแก่พระเจ้าหลุยส์ และเพื่อดำเนินการในข้อหากบฏกับบุคคลใดหรือเมืองใดก็ตามที่ต่อต้านชาวออสเตรียและปรัสเซีย ซึ่งบุคคลนั้นหรือเมืองนั้นจะได้รับการกล่าวโทษด้วยกฏอัยการศึกถึงขั้นประหารชีวิต
แม้กระนั้น คำประกาศเบราน์ชไวค์กลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับจุดประสงค์แรกเริ่ม คือเพื่อเสริมสร้างพระราชสถานะของพระเจ้าหลุยส์ในปารีสและตัดรอนกระแสการปฏิวัติ หากแต่ยิ่งบั่นทอนพระราชสถานะของพระเจ้าหลุยส์ที่ตกอยู่ในที่นั่งลำบากอยู่แต่เดิมแล้วให้ยิ่งเลวร้ายไปมากกว่าเดิม หลายคนถือว่าคำประกาศนี้คือหลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ยืนยันว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงสมคบคิดกับชาวต่างชาติในการต่อต้านประเทศชาติของพระองค์เอง ความโกรธแค้นของประชาชนดำเนินมาถึงจุดเดือดในวันที่ 10 เดือนสิงหาคม เมื่อกองกำลังติดอาวุธภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลเมืองปารีสชุดใหม่ที่รู้จักกันในชื่อกอมมูนปารีส เข้าปิดล้อมพระราชวังตุยเลอรี ส่งผลให้พระบรมวงศ์ต้องเสด็จลี้ไปพำนัก ณ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
การจองจำและการสำเร็จโทษ
[แก้]พระเจ้าหลุยส์ทรงถูกจับกุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 สิงหาคม 1792 และถูกส่งไปยังหอคอยต็องเปลอ ซึ่งเป็นป้อมปราการโบราณในกรุงปารีสที่เคยถูกใช้เป็นเรือนจำมาก่อน ต่อมาในวันที่ 21 กันยายน สมัชชาแห่งชาติจึงประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐและล้มล้างระบอบราชาธิปไตยลง พระเจ้าหลุยส์ทรงถูกถอดพระอิสริยยศและพระเกียรติทั้งหมด และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาทรงเป็นที่รู้จักในนามเยี่ยงสามัญชนว่า ซีโตย็อง หลุยส์ กาเป
ฝ่ายฌีรงแด็งตั้งใจที่จะกักขังอดีตกษัตริย์องค์นี้ไว้ เพื่อเป็นตัวประกันและตัวการันตีถึงอนาคตของตน แต่ฝ่ายกอมมูนและนักการเมืองหัวรุนแรงส่วนมาก ซึ่งภายหลังรวมกลุ่มกันขึ้นในนาม "ลามงตาญ" (La Montagne) มีความเห็นแย้งกับฝ่ายฌีรงแด็งและต้องการให้มีการสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์โดยทันที แต่ด้วยพื้นเพเดิมของสมาชิกในกลุ่มส่วนมากมาจากอาชีพด้านก��หมาย จึงยอมรับได้ยากหากจะสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์โดยไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมายให้เป็นรูปธรรมบางอย่าง ทั้งหมดจึงลงคะแนนเสียงกันว่าให้ส่งอดีตกษัตริย์ไปสอบสวนต่อหน้าสภากงว็องซียงแห่งชาติ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร การสอบสวนนี้ถูกมองจากหลายฝ่ายว่าเป็นตัวแทนของการปฏิวัติ การปฏิวัติที่ถูกมองว่ามรณกรรมของคนคนหนึ่งนำมาซึ่งชีวิตของอีกหลายคน แต่มิเชเลต์เห็นแย้งว่ามรณกรรมของอดีตกษัตริย์จะทำให้ผู้คนถือเอาว่าความรุนแรงคือเครื่องมือที่ทำให้ได้มาซึ่งความสงบสุข เขากล่าวว่า "หากเรายอมรับว่าคนหนึ่งคนสามารถเสียสละเพื่อความสุขของคนอีกหลายคนได้ อีกไม่ช้ามันก็จะกลายเป็นคนสองหรือสามคนก็สามารถเสียสละเพื่อความสุขของคนหลายคนได้เช่นกัน เช่นนี้ไปทีละเล็กทีละน้อย จนเรายอมที่จะเสียสละคนหลายคนเพื่อความสุขของคนหลายคนได้ในที่สุด"[40]
ในเดือนพฤศจิกายน 1792 เหตุอื้อฉาว อาร์มัวร์เดอแฟร์ (ตู้เหล็ก) เกิดขึ้น ณ พระราชวังตุยเลอรี เมื่อฟร็องซัว กาแม็ง ค้นพบและเปิดโปงว่ามีตู้เหล็กนิรภัยภายในห้องพระบรรทม ซึ่งภายในบรรจุเอกสารลับอยู่มากมาย ช่างทำกุญแจผู้ติดตั้งตู้เหล็กดังกล่าวจึงเดินทางไปยังปารีสในวันที่ 20 พฤศจิกายน เพื่อให้การกับฌ็อง-มารี โรล็องด์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจากฝ่ายฌีรงแด็งในขณะนั้น[41] ส่งผลให้พระเกียรติของพระองค์เสื่อมเสียลงไปอีก
ในวันที่ 11 ธันวาคม อดีตกษัตริย์ถูกนำพระองค์ออกจากจากหอคอยต็องเปลอ ผ่านฝูงชนผู้สังเกตการณ์จำนวนมากตามท้องถนนที่เงียบสงัด ไปยังสภากงซ็องซียงเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาการเป็นกบฏต่อแผ่นดินและอาชญากรรมต่อประเทศชาติ ต่อมาในวันที่ 26 ธันวาคม ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ เรย์ม็งด์ เดอ เซส นำคำตอบรับของพระเจ้าหลุยส์ต่อคดีความภายใต้ความช่วยเหลือของฟร็องซัว ตรงเชอต์ และกีโยม-เครเตียง เดอ ลามัวญง เดอ มาลแซบ์
ในวันที่ 15 มกราคม 1793 มีการจัดประชุมสภากงว็องซียงและมีสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 721 คน เพื่อลงคะแนนเสียงในคดีความดังกล่าว ผลของการลงคะแนนเป็นที่ทราบแน่ชัดมาก่อนหน้านี้แล้ว จากหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงร่วมมือกับชาวต่างชาติให้รุกรานประเทศชาติของพระองค์ ด้วยคะแนนเสียงว่าทรงมีความผิดจริง 693 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง และไม่มีสมาชิกคนใดลงคะแนนให้พระองค์ทรงพ้นจากความผิด ในวันถัดมามีการลงคะแนนเสียงอีกครั้งในประเด็นวิธีการสำเร็จโทษของพระเจ้าหลุยส์ และผลที่ออกมาสูสีกันมากเนื่องจากเป็นการลงคะแนนตัดสินใจที่สำคัญและละเอียดอ่อน สมาชิกลงคะแนนเสียงจำนวน 288 เสียง ต่อต้านการปลงพระชนม์และเลือกวิธีการสำเร็จโทษรูปแบบอื่น ส่วนมากเห็นชอบให้คุมขังหรือเนรเทศพระองค์ ซึ่งสมาชิกอีกจำนวน 72 เสียงสนับสนุนให้มีการปลงพระชนม์ แต่ให้ชะลอโทษดังกล่าวออกไปด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ นานา ในขณะที่อีก 361 เสียงลงคะแนนให้ปลงพระชนม์ในทันที หนึ่งในจำนวนเสียงนั้นก็คือ ฟีลิป เอกาลีเต อดีตดยุกแห่งออร์เลอ็อง ผู้เป็นพระญาติของพระเจ้าหลุยส์ สร้างความขมขื่นในหมู่ฝ่ายกษัตริย์นิยมของฝรั่งเศสในอนาคตอย่างมาก ซึ่งในท้ายที่สุดเขาเองก็ถูกประหารด้วยเครื่องกีโยตินในช่วงปลายปี 1793
ในวันถัดมา คำอุทธรณ์ในโทษประหารชีวิตของพระเจ้าหลุยส์ถูกปฏิเสธด้วยคะแนนเสียง 380 ต่อ 310 เสียง ส่งผลให้ต้องมีการสำเร็จโทษด้วยการปลงพระชนม์ในทันที และคำตัดสินดังกล่าวถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้ว วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกสำเร็จโทษจากการบั่นพระเศียรด้วยเครื่องกีโยติน ณ ปลัสเดอลาเรวอลูซียง ผู้สำเร็จโทษนามว่า ชาลส์ อ็องรี ซ็องซง ให้การว่าทรงยอมรับชะตากรรมของพระองค์อย่างกล้าหาญ[42]
ขณะที่ทรงถูกนำพระองค์ขึ้นไปบนนั่งร้าน ทรงมีท่าทีที่สง่างามแต่ปล่อยวาง ทรงมีพระดำรัสสั้น ๆ ถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ ("ข้าพเจ้าขออภัยท่านเหล่านั้น ผู้เป็นเหตุแห่งมรณกรรมของข้าพเจ้า....")[43] ทรงประกาศว่าบริสุทธิ์จากอาชญกรรมทีทรงถูกกล่าวหา และภาวนาว่าพระโลหิตของพระองค์จะไม่ไหลหลั่งลงบนผืนแผ่นดินของฝรั่งเศส[44] ผู้ร่วมในเหตุการณืหลายคนให้การว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประสงค์ที่จะมีพระดำรัสมากกว่านี้ แต่อ็องตวน-ฌอเซฟ ซงแตรร์ นายพลจากกองทหารักษาการณ์แห่งชาติ (การ์ดนาซียงนัล) ระงับพระดำรัสและสั่งให้พลทหารรัวกลอง จากนั้นพระเจ้าหลุยส์จึงถูกนำพระองค์ไปบั่นพระเศียรอย่างรวดเร็ว[45] ผู้อยู่ในเหตุการณ์บางรายกล่าวว่าใบมีดไม่ได้หั่นพระศอ (คอ) ให้ขาดออกจากพระวรกายในคราวแรก บ้างก็กล่าวว่าทรงเปล่งเสียงร้องด้วยความตกใจหลังจากที่ใบมีดถูกปล่อยลงมา แต่คำกล่าวนี้ไม่น่าจะมีมูลความจริงเนื่องจากใบมีดควรจะหั่นสับพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) ไปก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปถึงคำกล่าวอ้างที่ว่า ในขณะที่พระโลหิตของพระเจ้าหลุยส์หยดลงสู่พื้นดิน ผู้คนจำนวนมากนำผ้าเช็ดหน้าของตนไปรองรับพระโลหิตดังกล่าว[46] เนื่องจากมีการพิสูจน์ทราบในภายหลังเมื่อปี 2012 ด้วยการเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) จากพระโลหิตที่คาดว่าได้มาจากการบั่นพระเศียรพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับตัวอย่างเนื้อเยื้อจากมัมมี่พระเศียรที่เชื่อว่าเป็นของพระเจ้าอองรีที่ 4 โดยตัวอย่างพระโลหิตดังกล่าวได้มาจากน้ำเต้าแกะสลักเพื่อเฉลิมฉลองวีรบุรุษจากการปฏิวัติ ซึ่งตามตำนานกล่าวว่าเคยถูกใช้เป็นภาชนะสำหรับบรรจุพระโลหิตของพระเจ้าหลุยส์[47]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Andress, David. The Terror, Farrar, Straus and Giroux, New York, 2005, p. 12-13
- ↑ Lever, Évelyne, Louis XVI, Librairie Arthème Fayard, Paris, 1985
- ↑ Hardman, John. Louis XVI, The Silent King. New York: Oxford University Press, 2000. p. 10.
- ↑ Hardman, John. Louis XVI, The Silent King. New York: Oxford University Press, 2000. p. 18.
- ↑ Andress, David. "The Terror", p. 12
- ↑ Fraser, Antonia, Marie Antoinette, pp.100–102
- ↑ Fraser, Antonia, Marie Antoinette, p.127
- ↑ Fraser, Antonia, Marie Antoinette, pp.166–167
- ↑ Fraser, Antonia, Marie Antoinette, p.164
- ↑ Francine du Plessix Gray (7 August 2000). "The New Yorker From the Archive Books". The Child Queen. สืบค้นเมื่อ 17 October 2006.
- ↑ Fraser, Antonia, Marie Antoinette, p.122
- ↑ Androutsos, George. "The Truth About Louis XVI's Marital Difficulties". Translated from French.
- ↑ Zweig, Stefan (1933). Marie Antoinette: The Portrait of An Average Woman.
- ↑ Fraser, Antonia (2001). Marie Antoinette: The Journey.
- ↑ Lever, Evelyne (2001). Marie Antoinette: Last Queen of France.
- ↑ Cronin, Vincent (1974). Louis and Antoinette.
- ↑ "Dictionary of World Biography". Author: Barry Jones. Published in 1994.
- ↑ Hardman, John. Louis XVI, The Silent King. New York: Oxford University Press, 2000. p. 4.
- ↑ Hardman, John. Louis XVI, The Silent King. New York: Oxford University Press, 2000. p. 37-39.
- ↑ Andress, David,(2005) The Terror, pp.13
- ↑ Encyclopedia of the Age of Political Ideals, Edict of Versailles (1787) เก็บถาวร 2012-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, downloaded 29 January 2012
- ↑ Doyle, William (2001). The French Revolution: A Very Short Introduction. New York: Oxford University Press. pp. 26–27.
- ↑ John Hardman, Louis XVI, Yale university Press, New Haven and London, 1993 p126
- ↑ Baecque, Antoine de, From Royal Dignity to Republican Austerity: The Ritual for the Reception of Louis XVI in the French National Assembly (1789–1792), The Journal of Modern History, Vol. 66, No. 4 (December 1994), p.675.
- ↑ 25.0 25.1 25.2 "Tipu Sultan and the Scots in India". The Tiger and The Thistle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-21. สืบค้นเมื่อ 17 July 2011.
- ↑ The Oxford Illustrated History of the British Army (1994) p. 130.
- ↑ Jonathan R. Dull, The French Navy and American Independence: A Study of Arms and Diplomacy, 1774–1787 (1975).
- ↑ On finance, see William Doyle, Oxford History of the French Revolution (1989) pp. 67-74.
- ↑ The influence of sea power upon history, 1660–1783, by Alfred Thayer Mahan, p. 461: [1]
- ↑ "The History Project - University of California,, Davis". Historyproject.ucdavis.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-29. สืบค้นเมื่อ 17 July 2011.
- ↑ Black, Jeremy. Britain as a military power, 1688–1815. สืบค้นเมื่อ 17 July 2011.
- ↑ http://belleindochine.free.fr/2TraiteVersaillesEvequeAdran.htm (in French)
- ↑ Hardman, John, Louis XVI, The Silent King, New York: Oxford University Press, 2000. p.127.
- ↑ Price, Munro, Louis XVI and Gustavus III: Secret Diplomacy and Counter-Revolution, 1791–1792, The Historical Journal, Vol. 42, No. 2 (June 1999), p. 441.
- ↑ http://assignat.fr/1-assignat/ass-04a
- ↑ J.M. Thompson, The French Revolution (1943) identifies a series of major and minor mistakes and mishaps, pp. 224-227
- ↑ Timothy Tackett, When the King Took Flight (2003) ch. 3
- ↑ Timothy Tackett, When the King Took Flight (2003) p. 222
- ↑ Liste chronologique des généraux français ou étrangers au service de France, morts sur le champ de bataille... de 1792 à 1837, A. Leneveu, rue des Grands-Augustins, n° 18, Paris, 1838, p. 7.
- ↑ Dunn, Susan, The Deaths of Louis XVI: Regicide and the French Political Imagination, Princeton: Princeton University Press, 1994, pp. 72-76.
- ↑ G. Lenotre, Vieilles maisons, vieux papiers, Librairie académique Perrin, Paris, 1903, pp. 321-338 (in French)
- ↑ Alberge, Dalya. What the King said to the executioner... เก็บถาวร 2010-06-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Times, 8 April 2006. Retrieved 26 June 2008.
- ↑ Hardman, John (1992). Louis XVI. Yale University Press. p. 232.
- ↑ Louis XVI's last words heard before the drums covered his voice: Je meurs innocent de tous les crimes qu'on m'impute ; je pardonne aux auteurs de ma mort ; je prie Dieu que le sang que vous allez répandre ne retombe pas sur la France.
- ↑ Hardman 1992, p. 232.
- ↑ Andress, David, The Terror, 2005, p. 147.
- ↑ "Blood of Louis XVI 'found in gourd container'". BBC News Online. 2013-01-01. สืบค้นเมื่อ 2013-01-03.
ก่อนหน้า | พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 | พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ (10 พฤษภาคม ค.ศ. 1774 - 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792) |
ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง ลำดับถัดไปโดย นโปเลียน โบนาปาร์ต ในตำแหน่งจักรพรรดิ | ||
เจ้าชายหลุยส์ แฟดีน็อง (พ.ศ. 2272 - 2308) |
โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส (20 ธันวาคม ค.ศ. 1765 – 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1774) |
เจ้าชายหลุยส์ โฌแซ็ฟ |
- บทความที่ขาดแหล่งอ้างอิงเฉพาะส่วนตั้งแต่March 2009
- Pages using reflist with unknown parameters
- พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2297
- ดยุกแห่งแบร์รี
- พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส
- ราชวงศ์บูร์บง
- ผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส
- พระมหากษัตริย์ที่ถูกสำเร็จโทษ
- บุคคลในการปฏิวัติฝรั่งเศส
- ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์
- เจ้าแผ่นดินที่ถูกปลดจากราชบัลลังก์
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2336