ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย
ไฮน์ริชที่ 3 ดยุกแห่งซัคเซิน ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย Henry the Lion | |
---|---|
เกิด | ค.ศ. 1129 |
ถึงแก่กรรม | 6 สิงหาคม ค.ศ. 1195 |
บุตร | จักรพรรดิออตโตที่ 4 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และอื่น ๆ |
บิดามารดา |
|
ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย หรือ ไฮน์ริชสิงห์ (เยอรมัน: Heinrich der Löwe; ราว ค.ศ. 1129 – 6 สิงหาคม ค.ศ. 1195) สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเกลฟ ผู้มีตำแหน่งเป็นปกครองเป็นดยุกแห่งซัคเซินในนามว่า "ไฮน์ริชที่ 3" ตั้งแต่ ค.ศ. 1142 และดยุกแห่งบาวาเรียในนามว่า "ไฮน์ริชที่ 12" ตั้งแต่ ค.ศ. 1156 และปกครองทั้งสองอาณาจักรมาจนถึงปี ค.ศ. 1180
ไฮน์ริชเป็นดยุกผู้มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งของเยอรมนีในสมัยนั้นจนกระทั่งราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟินขึ้นมามีอำนาจและเริ่มริดอำนาจของไฮน์ริชจนกระทั่งยึดอำนาจทั้งหมดของทั้งสองอาณาจักรได้ในรัชสมัยของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และไฮน์ริชที่ 6 พระราชโอรส
ในจุดที่รุ่งเรืองที่สุดในสมัยการปกครองไฮน์ริชปกครองดินแดนตั้งแต่ฝั่งทะเลของทะเลเหนือและทะเลบอลติกไปจนถึงเทือกเขาแอลป์ และจากเวสต์ฟาเลียไปจนถึงพอเมอเรเนีย รากฐานบางส่วนของความมีอำนาจของไฮน์ริชมาจากความสามารถทางการเมืองและทางการทหาร และจากงานที่วางรากฐานไว้โดยบรรพบุรุษก่อนหน้านั้น
ต้นชีวิต
[แก้]ไฮน์ริชสิงห์เป็นบุตรชายคนเดียวของไฮน์ริชผู้หยิ่งทะนง ดยุคแห่งซัคเซินและบาวาเรีย[1] กับแกร์ทรูเดอ[1] พระธิดาของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์โลทาร์ที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1142 เขาได้กอบกู้ซัคเซิน หนึ่งในสองดัชชีของบิดาที่ถูกพระเจ้าค็อนราทที่ 3 กษัตริย์เยอรมันคนแรกของราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟินริบไปกลับคืนมาได้ ในปี ค.ศ. 1147 ไฮน์ริชอ้างสิทธิ์ในบาวาเรียที่พระเจ้าค็อนราทที่ 3 มอบให้ไฮน์ริชที่ 2 ยาโซเมียร์ก็อท มาร์เกรฟแห่งออสเตรีย และในปี ค.ศ. 1151 เขาได้พยายามอย่างไร้ผลที่จะเอาสิทธิ์ในการครอบครองดัชชีกลับคืนมา ในปี ค.ศ. 1147 หรือไม่ก็ 1148 เขาได้แต่งงานกับเคลเม็นท์ซีอา บุตรสาวของค็อนราท ดยุคแห่งเซริงเงิน แต่การแต่งงานถูกยุติในปี ค.ศ. 1162
เมื่อฟรีดริชที่ 1 บาร์บาร็อสซาแห่งราชวงศ์โฮเฮินชเตาเฟิน ลูกพี่ลูกน้องของเขา ได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนีในปี ค.ศ. 1152 ชาวโฮเฮินชเตาเฟินสงบศึกกับศัตรูคู่อริ ตระกูลเวล์ฟ ที่ไฮน์ริชเป็นสมาชิกคนหนึ่งของตระกูล ในปี ค.ศ. 1154 ฟรีดริชให้สิทธิ์ไฮน์ริชแต่งตั้งบิชอปกลุ่มใหม่และยังยอมรับการอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตบาวาเรียของเขา ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1156 ไฮน์ริชได้สิทธิ์ในการครอบครองดัชชีบาวาเรียกลับคืนมา ภายหลังออสเตรียถูกแยกตัวออกจากบาวาเรียและถูกยกให้ไฮน์ริช ยาซอมมิร์กอตต์ และได้รับการยกระดับเป็นดัชชี
สัมพันธไมตรีกับจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บาร็อสซา
[แก้]แลกกับสิ่งที่ได้มา ไฮน์ริชให้การสนับสนุนพระเจ้าฟรีดริช บาร์บาร็อสซาเป็นเวลา 20 ปี เขาติดตามพระองค์ไปพร้อมกับกองทัพใหญ่เพื่อไปทำสงครามอิตาลีครั้งแรกในปี ค.ศ. 1154/55 และหลังการราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิของฟรีดริช เขาได้ปราบปรามการลุกฮือของชาวโรมัน ในปี ค.ศ. 1157 เขามีส่วนร่วมในการเดินทางไปทำศึกกับชาวโปลของจักรพรรดิฟรีดริช ในช่วงการทำสงครามอิตาลีครั้งที่สอง ไฮน์ริชให้ความช่วยเหลืออันล้ำค่าแก่จักรพรรดิในการปิดล้อมโจมตีเครมาในปี ค.ศ. 1160 และในการทำสงครามกับชาวเมืองมิลานในปี ค.ศ. 1161
หนึ่งปีหลังได้บาวาเรียกลับคืนมา ไฮน์ริชวางรากฐานให้นครมิวนิกด้วยการสร้างตลาดแห่งใหม่ขึ้นมาริมแม่น้ำอีซาร์ แต่เป้าหมายหลักของเขาคือการขยายดัชชีซัคเซินออกไปนอกแม่น้ำเอ็ลเบอ ในปี ค.ศ. 1159 เขาสร้างนครลือเบ็คขึ้นมาใหม่ในอาณาเขตที่ได้มาจากอาด็อล์ฟที่ 2 เคานต์แห่งฮ็อลชไตน์ ซึ่งเป็นคนแรกที่ก่อตั้งลือเบ็คขึ้นมาในปี ค.ศ. 1143 สนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ทำกับพ่อค้าในกอตลันด์และเจ้าชายแห่งสวีเดนกับเจ้าชายแห่งนอฟโกรอดทำให้เขาผลักดันให้ลือเบ็คเป็นศูนย์กลางทางการค้า ในปี ค.ศ. 1160 ตำแหน่งบิชอปแห่งอ็อลเดินบวร์คก็ถูกย้ายมาอยู่ที่เมืองนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1158 เป็นต้นมาไฮน์ริชออกไปปราบโอโบไดร์ตของชาวสลาฟได้หลายครั้ง ขยายอำนาจไปทั่วเมคเลินบวร์ค เปิดทางให้ดินแดนดังกล่าวถูกเปลี่ยนให้นับถือศาสนาคริสต์และกลายเป็นอาณานิคม
ในปี ค.ศ. 1160 ชเวรีนกลายเป็นที่ตั้งของตำแหน่งบิชอปแห่งเมคเลินบวร์คและได้รับอภิสิทธิ์ในฐานะนคร แม้แต่เจ้าชายของพอเมอเรเนียตะวันตกก็ยอมรับอำนาจอธิปไตยตามระบอบศักดินาของไฮน์ริชอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อพระเจ้าแวลเดอมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์กพิชิตเกาะรือเกินในทะเลบอลติกได้ การต่อสู้แย่งชิงที่ลากยาวระหว่างพระองค์กับไฮน์ริชก็อุบัติขึ้นและดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ. 1171 เมื่อความขัดแย้งได้รับการแก้ไขและบุตรสาวของไฮน์ริชได้แต่งงานกับพระโอรสของพระเจ้าแวลเดอมาร์
ในช่วงเวลาดังกล่าวไฮน์ริชยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของตนในซัคเซินด้วยการแย่งชิงเอาทรัพย์สินที่ดินของหลายราชวงศ์ที่สิ้นสุดไปแล้วมาโดยไม่สนใจการอ้างสิทธิ์ตามสายเลือดจากตระกูลอื่น เขาตั้งเบราน์ชไวค์เป็นเมืองหลวงในการปกครองและตั้งรูปปั้นสิงโตหน้าปราสาทที่เขาสร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลและเครื่องหมายแห่งอำนาจอธิปไตย แต่นิสัยหยิ่งผยองและชอบที่จะมุ่งแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ให้ตัวเองปลุกปั่นให้เกิดศัตรู ช่วงแรกของกลางคริสต์ทศวรรษ 1150 เจ้าชายแซ็กซันหลายคนเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเขา สิบปีต่อมากลุ่มพันธมิตรที่นำโดยอัลเบร็ชท์ที่ 1 หมี มาร์เกรฟแห่งบรันเดินบวร์คและอาร์ชบิชอปแห่งโคโลญกลายเป็นภัยคุกคามครั้งร้ายแรง แต่หลังจากจักรพรรดิเข้าม��แทรกแซงในปี ค.ศ. 1168 ซัคเซินก็กลับมาสงบสุขอีกครั้ง
ในตอนนั้นเองที่ไฮน์ริชขึ้นสู่จุดสูงสดทางอำนาจ ต้นปี ค.ศ. 1168 เขาแต่งงานกับมาทิลดา พระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ[1] และหลังจากนั้นไม่นานก็ถูกส่งตัวไปฝรั่งเศสและอังกฤษในฐานะราชทูตของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 เพื่อปฏิบัติภารกิจหาทางสงบศึกระหว่างสองชาติ ในปี ค.ศ. 1172 เขาจาริกแสวงบุญไปเยรูซาเลมพร้อมกับผู้ติดตามกลุ่มใหญ่และจักรพรรดิไบเซนไทน์มานูเอลที่ 1 คอมเนนุสจัดงานเลี้ยงใหญ่ให้ที่คอนสแตนติโนเปิล
ในปี ค.ศ. 1176 เมื่อจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บาร็อสซาขอการสนับสนุนในการต่อกรกับนครลอมบาร์ดในอิตาลีเหนือ รางวัลที่ไฮน์ริชต้องการแลกกับการช่วยเหลือจักรพรรดิคือนครกอสลาร์อันสำคัญของจักรวรรดิพร้อมกับเหมืองเงิน แต่จักรพรรดิฟรีดริชปฏิเสธที่จะยกให้ จึงเป็นต้นเหตุให้สัมพันธไมตรีอันยาวนานกับไฮน์ริชถึงคราวสิ้นสุดลง
การตกต่ำลงของไฮน์ริช
[แก้]เมื่อการต่อสู้ในซัคเซินอุบัติขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1177 ฟรีดริชที่เพิ่งกลับมาเยอรมนีในปี ค.ศ. 1178 ดำเนินการพิจารณาคดีตามที่ขุนนางแซ็กซันได้กล่าวหาว่าไฮน์ริชได้สร้างรอยร้าวให้กับความสันติสุขของกษัตริย์ ไฮน์ริชที่ปฏิเสธที่จะตอบคำถามในการพิจารณาคดีในศาลของกษัตริย์ถูกริบดัชชีทั้งสองและที่ดินศักดินาของจักรวรรดิทั้งหมดที่มี ในปี ค.ศ. 1180 จักรพรรดิได้แยกดินแดนที่เคยเป็นของไฮน์ริชออกจากกัน ในปีเดียวกันนั้นดัชชีของชาวซัคเซินถูกแยกออกเป็นสองส่วน ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของตำแหน่งบิชอปโคโลญและพาเดอร์บอร์นถูกยกให้อาร์ชบิชอปแห่งโคโลญในชื่อใหม่คือดัชชีเวสต์ฟาเลีย พื้นที่ส่วนตะวันออกของซัคเซินถูกยกให้เป็นที่ดินศักดินาของบุตรชายของอัลเบร็ชท์หมีแห่งบรันเดินบวร์ค ดัชชีบาวาเรียถูกยกให้พันธมิตรของฟรีดริช อ็อทโท ฟ็อน วิทเทิลบัค
ไฮน์ริชในตอนแรกสามารถยืนหยัดต่อกรกับบาร์บาร็อสซาได้ในซัคเซินเหนือ แต่ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1181 เขาจำต้องยอมจำนน เขาได้รับอนุญาตให้รักษาดินแดนเบราน์ชไวค์และลืนบวร์กที่สืบทอดทางสายเลือดไว้ได้ แต่ก็ถูกขับไล่ออกจากประเทศไปอยู่ที่ราชสำนักของพ่อตา พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ เป็นเวลาหลายปี เมื่อกลับมาในปี ค.ศ. 1185 เขาพยายามที่จะเอาอิทธิพลในซัคเซินกลับคืนมา การปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในสงครามครูเสดครั้งที่สามหรือไม่ก็การปฏิเสธที่จะล้มเลิกการอ้างสิทธิ์ในซัคเซินทำให้เขาถูกเนรเทศอีกครั้งในปี ค.ศ. 1189 กลับไปอยู่กับพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในนอร์ม็องดี
หลังการสิ้นพระชนม์ของฟรีดริช บาร์บาร็อสซาในปี ค.ศ. 1190 ไฮน์ริชกลับมาซัคเซินอีกครั้ง พระเจ้าไฮน์ริชที่ 6 แห่งเยอรมนีเตรียมจะทำสมรภูมิกับเขาแต่ก็สงบศึกกันได้ที่ฟุลดาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1190 หลังไฮน์ริชสิงห์ทำการต่อสู้ใหม่อีกครั้งในช่วงที่จักรพรรดิไฮน์ริชที่ 6 ไปสู้รบในอิตาลี จักรพรรดิกับไฮน์ริชคืนดีกันในการพบปะกันในปี ค.ศ. 1194 ปีต่อมาไฮน์ริชสิงห์เสียชีวิตในเบราน์ชไวค์ เขาถูกฝังไว้ในอาสนวิหารที่เขาสร้างขึ้นที่นั้น เคียงข้างภรรยา
ครอบครัว
[แก้]ไฮน์ริชมีบุตรธิดา ดังนี้ กับภรรยาคนแรก เคลเม็นท์ซีอาแห่งเซริงเงิน (หย่าขาดปี ค.ศ. 1162[2]) บุตรสาวของค็อนราทที่ 1 ดยุคแห่งสเวเบียกับเคลเมนซ์แห่งนามูร์
- แกร์ทรูเดอแห่งบาวาเรีย (ค.ศ. 1155–1197) แต่งงานครั้งแรกกับฟรีดริชที่ 1 ดยุคแห่งสเวเบีย ครั้งที่สองกับพระเจ้าคานุตที่ 6 แห่งเดนมาร์ก
- ริชเช็นท์ซาแห่งบาวาเรีย (ค.ศ. 1157–1167)
- ไฮน์ริชแห่งบาวาเรีย เสียชีวิตในวัยเด็ก
กับภรรยาคนที่สอง มาทิลดาแห่งอังกฤษ (แต่งงานปี ค.ศ. 1168) พระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษกับเอเลนอร์แห่งอากีแตน[3]
- มาทิลดา (หรือริชเช็นท์ซา) (ค.ศ. 1172–1204) แต่งงานครั้งแรกกับฌอฟรัว เคานต์แห่งแปร์ช[4] ครั้งที่สองกับอ็องแกร็องที่ 3 ลอร์ดแห่งกูซี
- ไฮน์ริชที่ 5 เคานต์พาลาไทน์แห่งไรน์ (ค.ศ. 1173 – 1227)[3]
- โลทาร์แห่งบาวาเรีย (ค.ศ. 1174–1190)
- อ็อทโทที่ 4 จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และดยุคแห่งสเวเบีย (ค.ศ. 1175 – 1218)[3]
- วิลเลียมแห่งวินเชสเตอร์ ลอร์ดแห่งลือเนอบวร์ค (ค.ศ. 1184 Lüneburg 1213)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Emmerson 2013, p. 320.
- ↑ C. W. Previte Orton, The Early History of the House of Savoy: 1000-1233, (Cambridge University Press, 1912), 329 note3.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Helen Nicholson, Love, War, and the Grail, (Brill, 2001), 129.
- ↑ John W. Baldwin, Aristocratic Life in Medieval France, (Johns Hopkins University, 2002), 46.
- Benjamin Arnold, "Henry the Lion and His Time", Journal of Medieval History, vol. 22, pp. 379-393 (1996)
- Karl Jordan, Henry the Lion. A Biography, ISBN 0-19-821969-5
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย
- Henry the Lion on Encyclopedia.com
- Henry the Lion. The Columbia Encyclopedia, Sixth Edition เก็บถาวร 2005-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The fall of Henry the Lion (from Germany) -- Encyclopædia Britannica
- Deposition of Henry the Lion. (from Frederick I) -- Encyclopædia Britannica
- MSN Encarta - Multimedia - Henry the Lionเก็บถาวร 2007-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Charter given by Henry to monastery Volkenroda, 31.1.1174. Photograph taken from the collections of the Lichtbildarchiv älterer Originalurkunden at Marburg University showing Henry's seal.