ข้ามไปเนื้อหา

โจว ต๋ากวาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โจว ต้ากวาน)
โจว ต๋ากวาน
อักษรจีนตัวเต็ม周達觀
อักษรจีนตัวย่อ周达观

โจว ต๋ากวาน (จีนตัวย่อ: 周达观; จีนตัวเต็ม: 周達觀; พินอิน: Zhōu Dáguān; ราว ค.ศ. 1270 – ?) เป็นนักการทูตชาวจีนในรัชสมัยจักรพรรดิยฺเหวียนเฉิงจง (元成宗) แห่งราชวงศ์ยฺเหวียน (元朝) เป็นที่รู้จักเพราะได้เดินทางไปเมืองพระนคร และบันทึกขนบประเพณีกับสถานที่ต่าง ๆ เอาไว้[1][2] เขาถึงเมืองพระนครในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1296[3] และพำนัก ณ ราชสำนักของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 (ឥន្ទ្រវរ្ម័នទី៣) จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1297[4][5] แม้เขามิใช่ชาวจีนคนแรกที่เข้าไปในเมืองพระนครของจักรวรรดิเขมร แต่การเดินทางของเขาเป็นที่รู้จักกว่าของใครเพื่อน เพราะเขาได้บันทึกชีวิตในเมืองพระนครเอาไว้โดยละเอียด ซึ่งรู้จักในชื่อ เจินล่าเฟิงถูจี้ (真臘風土記; "บันทึกขนบประเพณีเจนละ") ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเมืองพระนครและจักรวรรดิเขมร นอกเหนือไปจากศิลาจารึกและเอกสารอื่น ๆ ที่พรรณนาชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยในเมืองพระนคร

ประวัติ

[แก้]
เอกสาร เจินล่าเฟิงถูจี้

โจว ต๋ากวาน เป็นชาวหย่งเจีย (永嘉縣) ซึ่งสมัยนั้นเรียก "เวินโจว" (温州) เอกสารบางฉบับเรียกเขาว่า "โจว จิ้งกวาน" (周建觀) หรือ "โจว ต๋าเข่อ" (周達可) ในบั้นปลายชีวิตเขาใช้นามปากกว่า "เฉ่าถิงอี้หมิน" (草庭逸民; "นักพรตศาลามุงฟาง")[6]

คณะผู้แทนทางทูตถึงกัมพูชา

[แก้]

ใน ค.ศ. 1296 จักรพรรดิยฺเหวียนเฉิงจงส่งคณะทูตไปต่างประเทศ ซึ่งมีโจว ต๋ากวาน เป็นทูตอยู่ด้วย แต่เอกสารหลวงมิได้บันทึกการส่งทูตครั้งนี้ไว้ อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1296 โจว ต๋ากวาน ออกเดินทางโดยเรือจากชายฝั่งทะเลในหมิงโจว (明州) ซึ่งปัจจุบัน คือ หนิงปัว (宁波) ผ่านท่าและด่านต่าง ๆ คือ ฝูโจว (福州), กว่างโจว (广州), เฉฺวียนโจว (泉州), ไห่หนาน (海南), และทะเลชีโจว (七洲; "ทะเลเจ็ดเกาะ") เข้าเวียดนามไปทางเจียวจื่อ (交趾) แวะพัก ณ ที่ซึ่งปัจจุบัน คือ กวีเญิน (Quy Nhơn) แล้วเดินทางต่อไปยังบ่าเสียะ (Bà Rịa) ผ่านหมู่เกาะโกนด๋าว (Côn Đảo) ก่อนขึ้นเหนือไปยังแม่โขง เข้าสู่โตนเลสาบ (ទន្លេសាប ทนฺเลสาบ) ในแดนเขมร ไปออกกำพงฉนาง (កំពង់ឆ្នាំង กํพง̍ฉฺนำง) แล้วล่องเรือเล็กในโตนเลสาบอีกหลายวันไปจนถึงเมืองพระนครในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1296 นั้น

เขาและคณะได้รับอนุญาตให้เข้านอกออกในพระราชวัง แต่ไม่รวมถึงฝ่ายใน เขาบันทึกพรรณนาปราสาทราชมนเทียร วัดวาอาราม ตึกรามบ้านช่อง ต่าง ๆ ไว้ทั้งในเมืองนอกเมือง เขายังได้ชมพิธีกรรมและขบวนแห่ต่าง ๆ รวมถึงชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งได้เที่ยวท่องไปตลอดเมืองและชนบท ในช่วงที่เขาอยู่ ณ เมืองพระนครนี้ เขาพักอยู่ ณ เรือนแห่งหนึ่งใกล้กับประตูทางทิศเหนือของเมือง[7]

เขาอยู่ในจักรวรรดิเขมรราว 11 เดือน แล้วเดินทางออกไปในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1297 และภายในเวลา 15 ปีหลังจากนั้น เขาเขียน เจินล่าเฟิงถูจี้ ขึ้น แต่เขียนเสร็จเมื่อไรแน่ไม่ปรากฏ ต้นฉบับที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่า เป็นเพียงหนึ่งในสามของเนื้อหาทั้งหมด ส่วนที่เหลือน่าจะสาบสูญสิ้น[8]

ชีวิตของเขาหลังจากการเดินทางครั้งนั้นก็ไม่เป็นที่รับทราบมากมายนัก แต่เชื่อกันว่า เขามีชีวิตอยู่จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1350[8]

หนังสือแปล

[แก้]

ฌ็อง-ปีแยร์ อาเบล-เรมูซา นักจีนวิทยา แปลหนังสือของโจวเป็นภาษาฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1819[9] และ Paul Pelliot แปลหนังสืออีกครั้งใน ค.ศ. 1902[10] โดยหนังสือแปลที่ผ่านการแก้ไขของ Pelliot ถูกนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษและเยอรมัน[11][12][13][14] ใน ค.ศ. 2007 ปีเตอร์ แฮร์ริส นักภาษาศาสตร์ แปลหนังสือนี้โดยตรงจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษสมัยใหม่เป็นครั้งแรก เขายังเขียนชุดเปรียบเทียบการเดินทางของโจวกับการเดินทางของมาร์โก โปโล อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสรายงานว่า การเดินของมาร์โก โปโลมีการละเว้นที่ผิดปกติจำนวนมาก ซึ่งยังไม่ได้รับการอธิบายอย่างครบถ้วน[8] และยังมีหนังสือเจินล่าเฟิงถูจี้ ฉบับแปลภาษาไทยโดยเฉลิม ยงบุญเกิดใน ค.ศ. 1967 ซึ่งมีการตีพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์มติชนใน ค.ศ. 2014[15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Morris Rossabi (28 November 2014). From Yuan to Modern China and Mongolia: The Writings of Morris Rossabi. BRILL. p. 670. ISBN 978-90-04-28529-3.
  2. Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. pp. 176, 213–217. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  3. Maspero, G. (2002). The Champa Kingdom. Bangkok: White Lotus Co., Ltd. p. 90. ISBN 9747534991.
  4. Higham, C. (2001). The Civilization of Angkor. London: Weidenfeld & Nicolson. pp. 134–138. ISBN 9781842125847.
  5. Higham, C. (2014). Early Mainland Southeast Asia. Bangkok: River Books Co., Ltd. pp. 390–391. ISBN 9786167339443.
  6. Zhou Daguan (2007). A Record of Cambodia. แปลโดย Peter Harris. University of Washington Press. ISBN 978-9749511244.
  7. Charles Higham (14 May 2014). Encyclopedia of Ancient Asian Civilizations. Chelsea House Publishers. p. 414. ISBN 9781438109961.
  8. 8.0 8.1 8.2 Zhou Daguan (2007). A Record of Cambodia. แปลโดย Peter Harris. University of Washington Press. ISBN 978-9749511244.
  9. Jean-Pierre Abel-Rémusat: Description du royaume de Cambodge par un voyageur chinois qui a visité cette contrée à la fin du XIII siècle, précédée d'une notice chronologique sur ce même pays, extraite des annales de la Chine, Imprimerie de J. Smith, 1819
  10. Paul Pelliot: Mémoires sur les coutumes du Cambodge de Tcheou Ta-Kouan
  11. Chou Ta-Kuan, The Customs of Cambodia, transl. by John Gilman d'Arcy Paul, Bangkok: Social Science Association Press, 1967.
  12. Zhou Daguan, The Customs of Cambodia, transl. by Michael Smithies, Bangkok: The Siam Society, 2001.
  13. Zhou Daguan, Sitten in Kambodscha. Leben und Alltag in Angkor im 13. Jahrhundert, Phnom Penh: Indochina Books, 6th edition 2010.
  14. Chou Ta-Kuan: Sitten in Kambodscha. Über das Leben in Angkor im 13. Jahrhundert. Keller und Yamada, Frankfurt: Angkor Verlag, 2nd edition 2006. ISBN 978-3-936018-42-4.
  15. โจวต้ากวาน (2014). บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. แปลโดย เฉลิม ยงบุญเกิด. ISBN 978-974-02-1326-0. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-14. สืบค้นเมื่อ 2022-12-14.