ข้ามไปเนื้อหา

โจว เอินไหล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โจวเอินไหล)
โจว เอินไหล
周恩来
ภาพอย่างเป็นทางการ ทศวรรษที่ 1950
นายกรัฐมนตรีจีน คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
27 กันยายน ค.ศ. 1954 – 8 มกราคม ค.ศ. 1976
(21 ปี 103 วัน)
รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่หนึ่งต่ง ปี้อู่
เฉิน ยฺหวิน
หลิน เปียว
เติ้ง เสี่ยวผิง
ก่อนหน้าเหมา เจ๋อตง
(ในฐานะประธานรัฐบาลประชาชนส่วนกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน)
ตนเอง
(ในฐานะนายกสภาบริหารรัฐบาลกลาง รัฐบาลประชาชนส่วนกลาง)
ถัดไปฮฺว่า กั๋วเฟิง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 – 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958
(8 ปี 133 วัน)
หัวหน้ารัฐบาลตนเอง
ก่อนหน้าหู ชื่อ
(ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐจีน)
ถัดไปเฉิน อี้
รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนลำดับที่หนึ่ง
ดำรงตำแหน่ง
30 สิงหาคม ค.ศ. 1973 – 8 มกราคม ค.ศ. 1976
(2 ปี 131 วัน)
ประธานเหมา เจ๋อตง
ก่อนหน้าหลิน เปียว (1971)
ถัดไปฮฺว่า กั๋วเฟิง
รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
28 กันยายน ค.ศ. 1956 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1966
(9 ปี 307 วัน)
ประธานเหมา เจ๋อตง
ประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน คนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
25 ธันวาคม ค.ศ. 1954 – 8 มกราคม ค.ศ. 1976
(21 ปี 14 วัน)
ประธานกิตติมศักดิ์เหมา เจ๋อตง
ก่อนหน้าเหมา เจ๋อตง
ถัดไปว่าง (1976–1978)
เติ้ง เสี่ยวผิง
นายกสภาบริหารรัฐบาลกลาง รัฐบาลประชาชนส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
21 ตุลาคม ค.ศ. 1949 – 26 กันยายน ค.ศ. 1954
(4 ปี 340 วัน)
ประธาน เหมา เจ๋อตง
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปตนเอง (ในฐานะนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 มีนาคม ค.ศ. 1898(1898-03-05)
หฺวายอาน, มณฑลเจียงซู, จักรวรรดิชิง
เสียชีวิต8 มกราคม ค.ศ. 1976(1976-01-08) (77 ปี)
ปักกิ่ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (1921–1976)
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
พรรคก๊กมินตั๋ง (1923–1927)
คู่สมรสเติ้ง อิ่งเชา (สมรส 1925)
บุตรไม่มีบุตรทางสายเลือด;
บุตรบุญธรรม: ซุน เหวย์ชื่อ, หวัง ชู่ (หลานชาย), โจว เป่าจาง (หลานชาย), โจว เป่าจวง (หลานสาว), วรรณไว พัธโนทัย, สิรินทร์ พัธโนทัย
การศึกษาโรงเรียนมัธยมหนานไค
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยหนานไค
มหาวิทยาลัยเมจิ
ลายมือชื่อ
เว็บไซต์zhouenlai.people.cn
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
สังกัดกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (1937–1945)
กองทัพแดงจีน
กองทัพปลดปล่อยประชาชน
ยศพลโทแห่งกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน
ผ่านศึก
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ周恩来
อักษรจีนตัวเต็ม周恩來
ชื่อรอง
ภาษาจีน翔宇

โจว เอินไหล (จีน: 周恩来; พินอิน: Zhōu Ēnlái; เวด-ไจลส์: Chou1 Ên1-lai2; 5 มีนาคม ค.ศ. 1898 – 8 มกราคม ค.ศ. 1976) เป็นรัฐบุรุษ นักการทูต และนักปฏิวัติชาวจีน ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1954 จนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1976 โจวดำรงตำแหน่งภายใต้การนำของประธานเหมา เจ๋อตง และให้ความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์ในการก้าวขึ้นสู่อำนาจ ต่อมาได้ช่วยรวมอำนาจควบคุม กำหนดนโยบายต่างประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจของจีน

ในฐานะนักการทูต โจวเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 ถึง 1958 หลังจากสงครามเกาหลี เขาได้สนับสนุนแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับชาติตะวันตก โดยเข้าร่วมการประชุมเจนีวาในปี ค.ศ. 1954 และการประชุมบันดุงในปี ค.ศ. 1955 นอกจากนี้เขายังมีบทบาทสำคัญในการจัดการเยือนประเทศจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันในปี ค.ศ. 1972 เขามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับข้อพิพาทกับสหรัฐ ไต้หวัน สหภาพโซเวียต (หลังปี ค.ศ. 1960) อินเดีย เกาหลี และเวียดนาม

โจวรอดพ้นจากการกวาดล้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ขณะที่เหมาใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงบั้นปลายชีวิตทุ่มเทให้กับการต่อสู้ทางการเมืองและอุดมการณ์ โจวก็เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนกิจการบ้านเมืองในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ ความพยายามของเขาในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของกลุ่มยุวชนแดง และการปกป้องผู้อื่นจากความโกรธแค้นของกลุ่มดังกล่าว ทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปลายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

สุขภาพของเหมาเริ่มเสื่อมลงในปี ค.ศ. 1971 และหลิน เปียวก็ตกที่นั่งลำบาก ถูกปลดจากตำแหน่ง และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในเวลาต่อมา ท่ามกลางเหตุการณ์ดังกล่าว ในปี ค.ศ. 1973 คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 10 ได้มีมติเลือกโจวให้ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนลำดับที่หนึ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างลง และด้วยเหตุนี้จึงทำให้โจวได้รับเลือกเป็นผู้สืบทอดอำนาจจากเหมา (นับเป็นบุคคลลำดับที่สามที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ ต่อจากหลิว เช่าฉี และหลิน เปียว) อย่างไรก็ตาม โจวยังคงต้องเผชิญกับการต่อสู้ทางการเมืองภายในพรรคกับแก๊งออฟโฟร์เพื่อแย่งชิงอำนาจในการนำประเทศจีน การปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งสุดท้ายที่สำคัญของเขาคือในการประชุมครั้งแรกของสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 4 เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1975 โดยเขาได้นำเสนอรายงานผลการทำงานของรัฐบาล จากนั้นเขาก็หายไปจากสายตาประชาชนเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล และได้ถึงแก่อสัญกรรมในอีกหนึ่งปีต่อมา ความโศกเศร้าใหญ่หลวงของสาธารณชนอันเนื่องมาจากการอสัญกรรมของเขาในกรุงปักกิ่งกลายมาเป็นความโกรธแค้นต่อแก๊งออฟโฟร์ ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์กรณีเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 1976 หลังการถึงแก่อสัญกรรม ฮฺว่า กั๋วเฟิง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานลำดับที่หนึ่งและผู้สืบทอดตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม เติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งเป็นพันธมิตรของโจวก็สามารถเอาชนะแก๊งออฟโฟร์และขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดแทนฮฺว่าในปี ค.ศ. 1978

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

วัยเด็ก

[แก้]
โจว เอินไหล ในปี 1912

โจวเอินไหลมีภูมิลำเนาเป็นชาวเมืองเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียง ในขณะที่ความจริงแล้ว เขาเกิดที่เมืองหวยอัน(淮安) มณฑลเจียงซู ในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1898 ซึ่งเป็นรกรากของฝ่ายมารดา บรรพบุรุษหลายชั่วอายุคนของตระกูลโจวที่เมืองเส้าซิงนี้ ล้วนเป็นที่ปรึกษาให้กับข้าราชการในเมือง ซึ่งอาชีพดังกล่าวได้รับความนิยมสูงสุดจน รับรู้กันว่ามีชาวเส้าซิงมากมายที่ประจำอยู่ตามหน่วยงานราชการทั่วประเทศของจีน นอกเหนือไปจากการเป็นพ่อค้า

โจวรำลึกถึงผู้ให้กำเนิดของตนว่า ยายของเขาเป็นหญิงชาวนาในชนบทของหวยอิน(淮阴) ดังนั้น ในร่างกายเขาก็มีเลือดของชาวนาไหลเวียนอยู่ด้วย ส่วนมารดานั้นเป็นผู้หญิงที่มีหน้าตางดงาม และจิตใจอ่อนโยน แต่น่าเสียดายที่ต้องเสียชีวิตตั้งแต่ยังสาวเมื่อมีอายุได้เพียง 35 ปี

เนื่องจากป่วยเป็นวัณโรค อันมีสาเหตุมาจากการทำงานหนักเกินไปหลังจากที่ปู่เสียชีวิตลงโดยไม่เหลือมรดกไว้ให้ครอบครัวเลย ปู่��องโจวเสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ 50 ปี ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่ได้สร้างทรัพย์สมบัติใด ๆ ไว้

มีเพียงบ้านที่อาศัยเท่านั้น เมื่อมาถึงรุ่นพ่อ ครอบครัวก็ถึงคราวลำบาก ซึ่งทั้งบิดาและอาของเขาต่างรับราชการ โดยบิดาของโจวมีตำแหน่งเป็นผู้ดูแลด้านเอกสาร ส่วนอาดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา ซึ่งรวมกันแล้วรายได้ก็ยังไม่เพียงพอ

การศึกษา

[แก้]
โจว เอินไหล ขณะเป็นเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมหนานไค

ที่เฟิงเทียน โจวเรียนที่ Dongguan Model Academy ก่อนหน้านั้นการเรียนของโจวเป็นการเรียนที่บ้านเท่านั้น นอกเหนือจากวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษนั้น โจวยังได้สัมผัสงานเขียนของนักปฏิวัติและนักปฏิรูปหลายคน เช่น เหลียง ฉีเฉา, คัง โหยวเว่ย, เฉิน เทียนหัว, ซู หรง และ จาง ปิงหลิน เมื่อโจวอายุ 14 ปี ได้ประกาศแรงบัลดาลใจในการศึกษาของเขาคือ “การเป็นคนยิ่งใหญ่และรับผิดชอบภาระอันหนักอึ้งของประเทศ” ในปี 1913 ลุงของโจว เอินไหลถูกย้ายไปที่เทียนจิน และโจวได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมหนานไคที่มีชื่อเสียง

โรงเรียนมัธยมหนานไคก่อตั้งโดย หยาน ซิ่ว นักวิชาผู้มีชื่อเสียง และนำโดย จาง โบหลิง วิธีการสอนของโรงเรียนมัธยมหนานไคนั้น ไม่ธรรมดาเมื่อเทียบกับมาตรฐานการสอนสมัยนั้น สมัยที่โจว เอินไหลเรียนนั้น โรงเรียนมัธยมหนานไคได้นำรูปแบบการศึกษามาจากวิทยาลัยฟิลลิปส์ สหรัฐ ด้วยชื่อเสียงของโรงเรียนที่มีวินัยสูง ทำให้ดึงดูดนักเรียนจำนวนซึ่งหลายคนกลายมาเป็นคนที่มีชื่อเสียง เพื่อนร่วมชั้นของโจว มีตั้งแต่ หม่า จุน (ผู้นำคอมมิวนิสต์คนแรกที่ถูกประหาร) ถึง เค ซี อู๋ (ต่อมาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเซี่ยงไฮ้และผู้ว่าการไต้หวันภายใต้พรรคชาตินิยม) ความสามารถของโจวเข้าตา หยาน ซิ่ว และ จาง โบหลิง โดยเฉพาะหยาน ช่วยจ่ายค่าเรียนโจวที่ญี่ปุ่นและฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

หยานประทับใจโจวมาก และสนับสนุนให้โจวแต่งงานกับลูกสาว แต่โจวปฏิเสธ โจวได้บอกเหตุผลให้กับจาง หงห่าวเพื่อนร่วมชั้น ว่าที่โจวปฏิเสธเพราะเกรงว่าอนาคตการเงินของเขาในอนาคตจะไม่สู้ดี และเกรงว่าหยานจะเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตเขาในภายหลัง

โจวเรียนได้ดีที่มัธยมหนานไค โจวเก่งภาษาจีน และได้รับรางวัลจากชมรมการพูดในโรงเรียนหลายรางวัล และได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โรงเรียนในปีสุดท้าย และโจวยังมีความสามารถในการแสดงละครเวที นักเรียนที่ไม่รู้จักโจวมาก่อน รู้จักโจวจากการแสดงของเขา ในปัจจุบัน โรงเรียนมัธยมหนานไคได้เก็บรักษาเรียงความและบทความจำนวนหนึ่งที่เขียนโดยโจวเอาไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวินัย การฝึกฝน และความห่วงใยในประเทศที่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหนานไคพยายามปลูกฝังให้กับลูกศิษย์ พิธีจบในปี 1917 โจวเป็นหนึ่งในห้าคนที่ได้รับเกียรติในพิธี และเป็นหนึ่งในสองคนกล่าวอำลา

โจวจบจากหนานไค คำสอนของจาง โบหลิงเรื่อง กง (จิตวัญญาณสาธารณะ) และ เนิง (ความสามารถ) ทำให้โจวประทับใจจางเป็นอย่างมาก การมีส่วมร่วมให้การอภิปรายและการแสดงละครเวที ทำให้โจวมีความสามารถในการพูดได้อย่างไพเราะ และความสามารถในการโน้มน้าว โจวจบจากหนานไคไปพร้อมกับความปารถนาที่รับใช้ประชาชนและฝึกฝนทักษะที่จำเป็น

กิจกรรมทางการเมืองยุคแรก

[แก้]
โจว เอินไหลในปี 1919

โจว เอินไหลกลับเทียนจินในปี 1919 ฤดูใบไม้ร่วง นักประวัติศาสตร์หลายคนไม่เชื่อว่าโจวเข้าร่วมขบวนการ 4 พฤษภาคม ชีวประวัติอย่างเป็นทางการภาษาจีนของโจวระบุว่า โจวเป็นผู้นำในการประท้วงของนักศึกษาที่เทียนจินในขบวนการ 4 พฤษภาคม แต่นักวิชาการสมัยใหม่หลายคนเชื่อว่าไม่น่าเเป็นไปได้ที่โจวจะเข้าร่วม เนื่องจากขาดหลักฐานที่ยังเหลือรอดจากสมัยนั้น ในเดือน กรกฎาคม 1919 จากคนขอของหม่า จุน เพื่อนร่วมชั้นจากโรงเรียนมัธยมหนานไค โจวได้เป็นบรรณธิการสมาพันธ์นักศึกษาเทียนจินในที่สุด ในช่วงเวลาสั้นจากเดือนกรกฎาคม 1919 ถึง ต้นปี 1920 กระดานข่าวของโจว ถูกอ่านโดยกลุ่มนักศึกษาทั่วประเทศ และถูกรัฐบาลระงับอย่างน้อย 1 ครั้ง เนื่องจากเป็นความอันตรายต่อความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคม

ในเดือนสิงหาคม 1919 เมื่อหนานไคกลายมาเป็นมหาวิทยาลัย โจวเป็นนักเรียนรุ่นแรก และเป็นนักกิจกรรมเต็มเวลา กิจกรรมทางการเมืองของโจวเริ่มขยายไปเรื่อย ๆ ในเดือน กันยายน โจวและนักศึกษาหลายคนเห็นด้วยที่จะก่อตั้งสมาคมเจี้ยอู้ (ตื่นตัว) ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีสมาชิกไม่ถึง 25 คน จุดประสงค์ของสมาคม โจวได้ประกาศว่า สิ่งใดก็ตามที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันควรถถูกปฏิรูป เช่น การทหาร ชนชั้นกระฎุมพี ความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง จริยธรรมเก่า ๆ ฯลฯ และเป็นจุดประสงค์ของสมาคมที่ตั้งใจจะเผยแพร่ให้แก่ประชาชนชาวจีน ในสมาคมนี้เป็นสถานที่ที่โจวพบกับเติ้ง อิ่งเชา ภรรยาในอนาคต ในอีกมุม สมาคมเจี้ยอู้มีความคล้ายกับกลุ่มศึกษาลัทธิมาร์กซิสต์นำโดยหลี่ ต้าเจา ที่ใช้ตัวเลขแทนชื่อเป็นรหัสล���บ (โจว เอินไหล ได้เลข 5 จึงใข้นามปากกาว่า อู่หาว และยังคงใช้นามฝางในปีต่อ ๆ มา) โดยแท้จริงแล้ว ทันทีหลังจากที่ก่อตั้งสมาคม ก็ได้มีการเชิญหลี่ ต้าเจามาบรรยายเรื่องลัทธิมาร์กซิสต์

อาการป่วย

[แก้]

ค.ศ. 1972

[แก้]

วันที่ 12 พฤษภาคม แพทย์ประจำตัวของโจวได้ทำการตรวจปัสสาวะประจำเดือนตามปกติและพบว่ามีเม็ดเลือดแดงปนอยู่จำนวนมากเมื่อส่อง��ูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม หลังปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัสสาวะหลายคน ได้แก่ อู๋ เจียผิง, ยฺหวี ซ่งถิง, สฺยง หรู่เฉิง, ยฺหวี ฮุ่ย-ยฺเหวียน และอู๋ เต๋อเฉิง ผลการวินิจฉัยสรุปว่าโจวเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุผนังกระเพาะปัสสาวะ[1]: 295  อู๋และคณะจึงรายงานสภาพร่างกายของโจวให้แก่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงทราบทันที โดยหวังว่าเขาจะได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด[1]: 301  อย่างไรก็ตาม ประธานเหมา เจ๋อตง แห่งคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ให้คำสั่งสี่ประการผ่านวัง ตงซิง ผู้อำนวยการสำนักงานทั่วไปคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดังนี้ ประการแรก ให้เก็บเป็นความลับ ห้ามบอกโจวและภริยา ประการที่สอง ห้ามตรวจสอบ ประการที่สาม ห้ามผ่าตัด และประการที่สี่ ให้เสริมสร้างโภชนาการและดูแลตามอาการ[2][3] เมื่อพูดถึงวิธีการรักษาโรคนี้ เหมากล่าวว่า "การผ่าตัดอาจทำให้โรคแพร่กระจายได้ง่ายและเป็นอันตราย เราใช้ยาแผนโบราณคุมโรคนี้ได้หรือไม่?" แล้วเขาก็อธิบายต่อว่า "พวกหมอผ่าตัดนี่ผ่าตัดกันตลอดเวลา และทุกครั้งที่ผ่าก็มีคนตายไปหนึ่งคน นายพลเฉินไม่ใช่เหรอที่เสียชีวิตระหว่างผ่าตัด? เซี่ย ฟู่จื้อ ก็ตายระหว่างผ่าตัดเหมือนกันไม่ใช่หรือ?"[4]: 2586–2587 [5]

ค.ศ. 1973

[แก้]

วันที่ 5 มกราคม โจวปัสสาวะเป็นเลือดจำนวนมาก เนื่องจากการรักษาล่าช้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า[6] ในเช้าวันที่ 13 มกราคม โจวปัสสาวะเป็นเลือด น้ำในโถส้วมทั้งหมดกลายเป็นสีแดง อู๋และคณะจึงรายงานเรื่องนี้ไปยังวัง ตงซิงอีกครั้งเพื่อขอให้มีการตรวจวินิจฉัยและผ่าตัด และแจ้งให้เติ้ง อิ่งเชา ภริยาของโจวทราบถึงอาการป่วย[1]: 305-306  อย่างไรก็ตาม กระทั่งวันที่ 10 มีนาคม เมื่อโจวเข้าพักที่เขายฺวี่เฉฺวียน จึงสามารถเข้ารับการตรวจกระเพาะปัสสาวะด้วยกล้องส่องได้[1]: 321  ในระหว่างการตรวจรักษา คณะแพทย์ได้ละเมิดคำสั่งของเหมาและใช้ไฟฟ้าจี้เผาเนื้องอกบริเวณเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะ[a] การรักษาด้วยการผ่าตัดมีประสิทธิผลและปัสสาวะกลับมาเป็นปกติอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การให้เคมีบำบัดที่ควรจะทำสัปดาห์ละสองครั้งหลังการผ่าตัดกลับไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้[1]: 306-307  ปลายเดือนตุลาคม โจวปัสสาวะเป็นเลือดจำนวนมากอีกครั้ง แต่ด้วยอิทธิพลทางการเมืองของ "ขบวนการวิจารณ์หลิน เปียวและขงจื๊อ" และปัจจัยทางการเมืองอื่น ๆ ทำให้เขาไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ค.ศ. 1974

[แก้]

อาการของเขารุนแรงขึ้นในช่วงต้น ค.ศ. 1974 และตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา เขาปัสสาวะมีเลือดปนกว่า 100 มิลลิลิตรทุกวัน[6] วันที่ 12 มีนาคม คณะแพทย์ได้ทำการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะครั้งที่สองกับโจว และทำการรักษาด้วยไฟฟ้ากัดกร่อน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นที่น่าพอใจและไม่นานเลือดก็ปนออกมาในปัสสาวะอีกครั้ง ตามคำแนะนำของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้มีการใช้การรักษาด้วยยาแบบอนุรักษ์นิยมและการถ่ายเลือดตั้งแต่นั้นมา ในช่วงเวลานี้ เลือดจำนวนมากได้สะสมอยู่ในกระเพาะปัสสาวะของโจวจนแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดและอุดกั้นช่องเปิดภายในท่อปัสสาวะ ส่งผลให้เขามีอาการปวดอย่างรุนแรง[1]: 321-322  ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม การตรวจทางพยาธิวิทยาของปัสสาวะพบก้อนเนื้อมะเร็งปัสสาวะชนิดปาปิลลารีหลุดลอกออกมา อู๋และคณะจึงยื่นคำขอประชุมกับผู้นำส่วนกลางอีกครั้งเพื่อเริ่มกระบวนการผ่าตัดรักษาโดยเร็วที่สุด[1]: 323 

วันที่ 1 มิถุนายน โจวถูกนำตัวเข้าโรงพยาบาล 305 กองทัพปลดปล่อยประชาชน เพื่อเข้ารับการผ่าตัด เขาได้รับการผ่าตัดเนื้องอกที่กระเพาะปัสสาวะครั้งแรก และอาการของเขาก็ดีขึ้น[1]: 334  วันที่ 7–8 สิงหาคม ปริมาณเลือดในปัสสาวะเพิ่มขึ้น และอาการเดิมกลับมาอีกครั้ง แพทย์วินิจฉัยว่ามะเร็งลุกลาม หลังปรึกษากับคณะแพทย์และได้รับอนุมัติจากกรมการเมืองแล้ว เขาได้เข้ารับการตรวจกระเพาะปัสสาวะด้วยกล้องส่องและรับการผ่าตัดครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สอง หลังผ่าตัด อาการของเขาค่อนข้างคงที่และสามารถดูแลตัวเองได้[6] ก่อนเดือนธันวาคม คณะแพทย์ได้พบว่าโจวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่การรักษาถูกเลื่อนออกไปเพราะโจวต้องเดินทางไปยังเมืองฉางชาเพื่อรายงานการเตรียมการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติครั้งที่ 4 ต่อเหมา[1]: 334 

ค.ศ. 1975

[แก้]

การตรวจระบบทางเดินอาหารในวันที่ 6 และ 18 มีนาคม พบว่าโจวมีก้อนเนื้อขนาดเท่าลูกวอลนัทในลำไส้ใหญ่บริเวณใกล้ตับ คณะแพทย์จึงตัดสินใจทำการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้แก่เขา วันที่ 26 เจิง เซี่ยนจิ่ว ได้ทำการผ่าตัดตัดลำไส้ใหญ่ส่วนขวาและใช้ไฟฟ้าเผาเพื่อรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โจวมีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัดหลังการผ่าตัด[1]: 346 

วันที่ 1 กรกฎาคม โจวได้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับเจ้าหน้าที่บางส่วน และกล่าวว่า "นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันจะถ่ายรูปกับพวกคุณ ฉันหวังว่าในอนาคตพวกคุณจะไม่ตบหน้าฉัน"[6] ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ผลตรวจทางพยาธิวิทยาปัสสาวะของโจวพบเซลล์มะเร็ง squamous (ชนิดหนึ่งของมะเร็งผิวหนัง) ร่วมด้วยหลายตำแหน่ง วันที่ 20 กันยายน เขาได้เข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ในวันนั้นเอง เติ้ง เสี่ยวผิง, จาง ชุนเฉียว, หลี่ เซียนเนี่ยน, วัง ตงซิง และเติ้ง อิ่งเชา ต่างเฝ้ารออยู่ที่โรงพยาบาล เมื่อเข้าห้องผ่าตัด โจวได้ตะโกนเสียงดังว่า "ฉันภักดีต่อพรรคและประชาชน! ฉันไม่ใช่ผู้ยอมจำนน!" ระหว่างการผ่าตัด แพทย์พบว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปทั่วร่างกายและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทันทีที่ทราบข่าว เติ้ง เสี่ยวผิงจึงสั่งการให้คณะแพทย์ทำทุกวิถีทางเพื่อ "ลดการปวดและยืดอายุขัย" ให้มากที่สุด[6] หลังปลายเดือนตุลาคม โจวแทบจะนอนติดเตียง และรับประทานอาหารผ่านสายยางทางจมูก การใช้ยาปฏิชีวนะปฏิชีวนะวงกว้างในปริมาณมากอาจทำให้ภาวะสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้เสีย ส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วง และอาจตามมาด้วยการติดเชื้อทั่วร่างกาย ไข้สูงเรื้อรัง และภาวะไตวายและหัวใจล้มเหลว[1]: 358 [b]

กลางเดือนพฤศจิกายน วัง ตงซิง และจี้ เติงขุย ได้จัดการประชุมระดับย่อย ณ โถงฟูเจี้ยน ภายในมหาศาลาประชาชน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยกัว ยฺวี่เฟิง อธิบดีกรมองค์การพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเจิ้ง ผิงเหนียน รองอธิบดี ตลอดจนโจว ฉี่ไฉ ผู้ปฏิบัติงานในสำนักเลขาธิการสำนักงานกลางคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมการจัดพิธีศพของโจวล่วงหน้าตามคำสั่งของคณะกรรมาธิการกลางฯ ต่อมาโจว ฉี่ไฉ ได้ร่างประกาศการถึงอสัญกรรมและคำสรรเสริญ[8]

ค.ศ. 1976

[แก้]

วันที่ 1 มกราคม โจวอยู่ในสภาพวิกฤตและอยู่ในอาการโคม่ามานาน ขณะตื่นนอน เขาได้ฟังวิทยุซึ่งกำลังเผยแพร่บทกวีสองบทที่ประพันธ์ขึ้นใหม่โดยเหมาใน ค.ศ. 1965 ได้แก่ "น้ำเสียงเพลง: กลับสู่เขาจิ่งกัง" และ "เนี่ยนหนูเจียว: คำถามและคำตอบของนก" เขาแนะนำให้เจ้าหน้าที่ซื้อหนังสือรวมบทกวีและอ่านกวีทั้งสองบทนี้[6] นอกจากนี้โจวยังขอให้คณะทำงานเปิดเพลง "ไต้ยฺวี่ฝังดอกไม้" (黛玉葬花) และ "เป่ายฺวี่คร่ำครวญถึงความตาย" (宝玉哭灵) จากอุปรากรเรื่อง "ฝันของคฤหาสน์แดง" (红楼梦) ฟังซ้ำ ๆ[2]

ในช่วงเช้าของวันที่ 5 มกราคม โจวได้รับการผ่าตัดครั้งสุดท้าย (การสร้างลำไส้เทียม) เนื่องจากลำไส้เป็นอัมพาต ทำให้ท้องป่องและไม่สามารถขับถ่ายได้[1]: 359  เติ้ง เสี่ยวผิง, หลี่ เซียนเนี่ยน, วัง ตงซิง และคณะได้เดินทางมาเยี่ยมและรอ ตั้งแต่บ่ายยันค่ำ สมาชิกกรมการเมืองในกรุงปักกิ่งได้รับแจ้งว่าโจวป่วยหนักและทยอยกันไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล วันที่ 7 มกราคม โจวเข้าสู่ภาวะโคม่า แพทย์ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจและให้อาหารทางสายยางเพื่อยื้อชีวิตไว้ ในเวลา 23.00 น. คืนนั้น โจวอยู่ระหว่างการต่อสู้กับความตายแล้ว เขาลืมตาขึ้นเล็กน้อย รับรู้ถึงการปรากฏตัวของอู๋ เจียผิง และบุคคลอื่น ๆ ที่อยู่ตรงหน้า และกล่าวด้วยเสียงแผ่วเบาว่า: "ฉันสบายดีที่นี่ พวกคุณควรไปดูแลสหายที่เจ็บป่วยท่านอื่น คุณมีความจำเป็นมากกว่าที่นั่น..."[c] นี่เป็นคำพูดสุดท้ายที่โจวพูดก่อนถึงแก่อสัญกรรม[6]

อสัญกรรม

[แก้]

วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1976 เวลา 09:57 น. โจว เอินไหล ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ณ โรงพยาบาล 305 กรุงปักกิ่ง สิริอายุ 78 ปี เติ้ง อิ่งเชา พร้อมด้วยสมาชิกกรมการเมืองคนอื่น ๆ ในกรุงปักกิ่งได้รีบไปยังโรงพยาบาลเพื่อกล่าวอำลาต่อศพและจัดเตรียมพิธีศพ "เสียงของเติ้ง เสี่ยวผิงสั่นเครือ เย่ เจี้ยนอิงน้ำตาไหลอาบแก้ม และกุมมือเติ้ง อิ่งเชาไว้ หลี่ เซียนเนี่ยน, เฉิน หย่งกุ้ย, ซู เจิ้น-หฺวา และคณะไม่สามารถเดินได้และหลายคนตาบวมแดงจากการร้องไห้ ขณะที่เจียง ชิง และคณะรีบหันหลังกลับไปทันที"[10] ในช่วงบ่าย กรมการเมืองได้จัดประชุมเพื่อร่างรายงานขออนุมัติประกาศแสดงความอาลัย และรายชื่อคณะกรรมการจัดพิธีศพ จากนั้นได้ส่งเอกสารเหล่านี้ไปยังเหมา เจ๋อตง เพื่อขออนุมัติ และในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 9 เหมาได้ให้การอนุมัติ ร่างของโจวถูกส่งไปยังโรงพยาบาลปักกิ่งในเวลาเที่ยงวันของวันที่ 8 และได้มีการชันสูตรพลิกศพตามความประสงค์ของเขา พบว่ามะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญทุกส่วน ต่อมาโจวได้รับการตัดผมโดยจู เตี้ยน-หฺวา ช่างตัดผมจากโรงแรมปักกิ่ง ในเวลาเที่ยงคืน หลังจากการตัดผม แต่งกาย ทำศัลยกรรมตกแต่ง และแต่งหน้าแล้ว ศพของโจวก็ถูกนำไปยังห้องเก็บศพของโรงพยาบาลปักกิ่ง ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวซินหัว สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน และสตูดิโอภาพยนตร์สารคดีข่าวกลางจีน ได้รีบไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำการบันทึกภาพจนถึงตอนดึก[1]: 383 

วันที่ 9 มกราคม เวลา 04:12 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศจีนได้เริ่มกระจายเสียงประกาศการถึงแก่อสัญกรรมของโจว ซึ่งออกโดยคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ และคณะมนตรีรัฐกิจ พร้อมทั้งประกาศการตั้งคณะกรรมการจัดพิธีศพสำหรับสหายโจว เอินไหล ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 107 คน รวมถึงเหมา เจ๋อตง, หวัง หงเหวิน, เย่ เจี้ยนอิง, เติ้ง เสี่ยวผิง และจู เต๋อ ตั้งแต่วันที่ 9 ถึงวันที่ 15 ธงชาติถูกลดครึ่งเสา ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ประตูซินหฺวา วังวัฒนธรรมแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศในกรุงปักกิ่ง[6][11] บนถนน ใบหน้าของผู้คนแทบทุกคนดูเศร้าสร้อย บนรถไฟ ทหารตีอกชกตัวร้องไห้ฟูมฟาย และในสำนักงาน อพาร์ตเมนต์ และโรงเรียน ผู้คนร้องไห้เงียบ ๆ สะอื้นไห้กันทั่วไป[12]: 1–13 

วันที่ 10 มกราคม คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะมนตรีรัฐกิจได้ออกประกาศตัดสินใจจัดพิธีไว้อาลัยอย่างยิ่งใหญ่ให้แก่โจวในกรุงปักกิ่งและทั่วประเทศ ในวันที่ 10 และ 11 ผู้นำพรรคและรัฐ รวมถึงผู้แทนประชาชนจำนวนกว่า 10,000 คนเดินทางไปยังโรงพยาบาลปักกิ่งเพื่อกล่าวอำลาศพของโจว จู เต๋อ, เย่ เจี้ยนอิง, เติ้ง เสี่ยวผิง, ซ่ง ชิ่งหลิง, หวัง หงเหวิน, เจียง ชิง, จาง ฉุนเฉียว, เหยา เหวินหยวน และบุคคลสำคัญอื่น ๆ มาร่วมแสดงความเคารพต่อศพของโจวอย่างเงียบเชียบ เจียง ชิงไม่ได้ถอดหมวกในระหว่างขบวนศพ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และผู้ที่รับชมผ่านโทรทัศน์[13][14] ในเวลาเดียวกัน ประชาชนจำนวนมากได้มารวมตัวกันหน้าโรงพยาบาล���ักกิ่งเพื่อเข้าร่วมพิธีส่งศพ โดยหวังจะได้เห็นร่างของโจวและแสดงความอาลัย[6]

ในช่วงบ่ายของวันที่ 11 มกราคม ร่างของโจวถูกนำไปยังสุสานปฏิวัติปาเป่าชานในกรุงปักกิ่งเพื่อทำการฌาปนกิจ ชาวปักกิ่งนับล้านรวมตัวกันอย่างสมัครใจที่สองข้างถนนฉางอานหน้าประตูเทียนอันเพื่อส่งโจวเป็นครั้งสุดท้ายท่ามกลางอากาศหนาวจัด[15]: 447  พิธีศพเริ่มขึ้นในเวลา 16:00 น. ของวันที่ 11 มกราคม ร่างของโจวได้รับการอารักขาโดยหวัง หงเหวิน, วัง ตงซิง, เติ้ง อิ่งเชา เจ้าหน้าที่คณะกรรมการจัดพิธีศพ และมิตรสหายของโจวจากโรงพยาบาลปักกิ่งไปยังสุสานปฏิวัติเป่าชาน ผ่านถนนไถจีฉ่างและถนนฉางอาน ประชาชนรวมตัวกันอยู่สองข้างทางเพื่อส่งร่างของโจว เสียงร่ำไห้โศกเศร้าดังกึกก้องไปทั่วทุกหนแห่งที่ขบวนเคลื่อนผ่าน[6] นี่คือเหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงว่า "ถนนสิบลี้ส่งนายกรัฐมนตรี" เวลา 18:05 น. ขบวนรถมาถึงสู่สุสานปฏิวัติปาเป่าชาน ร่างของโจวถูกเคลื่อนย้ายไปยังห้องอำลาที่ 2 (หอประชุมตะวันออก สถานประกอบพิธีศพปาเป่าชาน) เติ้ง อิ่งเชา กล่าวอำลาโจวด้วยความเศร้าโศกว่า "เอินไหล ฉันมาหาคุณแล้ว ลาก่อน ขอให้ฉันได้มองคุณเป็นครั้งสุดท้าย! ฉันไม่ได้ร้องไห้หนักหนาเช่นนี้มานานนัก แต่บัดนี้ฉันจะร้องไห้ให้หนักยิ่งกว่า" ผู้คนมากมายที่อยู่ที่นั่นต่างหลั่งน้ำตาออกมา[13] ต่อมา ร่างของโจวถูกเผา และจาง ชู่อิ๋ง กับเกา เจิ้นผู่ อดีตทหารรักษาการณ์ของโจวได้นำอัฐิไปยังวังวัฒนธรรมแรงงานเพื่อประกอบพิธีฝัง[13]

ช่วงบ่ายของวันที่ 12 กรกฎาคม กรมการเมืองได้จัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับคำสรรเสริญและพิธีศพ โดยจาง ฉุนเฉียว เสนอให้เย่ เจี้ยนอิง กล่าวคำสรรเสริญในพิธีรำลึก แต่เขาปฏิเสธข้อเสนอนี้ และเสนอให้เติ้ง เสี่ยวผิง กล่าวแทน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกกรมการเมืองส่วนใหญ่ในที่ประชุม[16]

ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 มกราคม ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพในเมืองหลวงกว่า 40,000 คนได้เข้าร่วมพิธีไว้อาลัยอย่างยิ่งใหญ่ ณ วังวัฒนธรรมแรงงาน หลังเสร็จพิธี อัฐิของโจวถูกเคลื่อนย้ายไปยังโถงไถวาน มหาศาลาประชาชน ในช่วงการไว้ทุกข์ ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพทั้งโดยสมัครใจและการบังคับได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกต่าง ๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงและแสดงความเศร้าโศกต่อการจากไปของโจว อนุสาวรีย์วีรชน ใจกลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งจารึกด้วยลายมือของโจวกลายเป็นสถานที่หลักในการไว้ทุกข์และระลึกถึงโจว ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน มีการวางพวงมาลาล้อมรอบอนุสาวรีย์ และประดับผนังทั้งสี่ด้านด้วยดอกไม้สีขาว กิจกรรมรำลึกในลักษณะเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นในเมืองใหญ่และกลางทั่วประเทศ เช่น เซี่ยงไฮ้, เทียนจิน, อู่ฮั่น, ซีอาน, หนานจิง, ฉงชิ่ง, หนานชาง, กว่างโจว และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง[6]

ในช่วงบ่ายของวันที่ 14 มกราคม คณะทำงานได้อ่านร่างคำสรรเสริญสำหรับพิธีรำลึก ซึ่งคณะกรรมาธิการกลางฯ ได้ส่งมาให้เหมาฟังและพิจารณา เหมาถึงกับร้องไห้ออกมา[d][15]: 447  เหมาป่วยหนักเกินกว่าจะเข้าร่วมพิธีรำลึก

วันที่ 15 มกราคม ธงชาติทั่วประเทศถูกลดครึ่งเสาเพื่อเป็นการแสดงความอาลัย และกิจกรรมบันเทิงทุกประเภทถูกระงับชั่วคราว ในช่วงบ่าย มีการจัดพิธีรำลึกถึงโจว ณ มหาศาลาประชาชน จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีและกล่าวคำสรรเสริญ บรรยากาศของโดยรวมเต็มไปด้วยความโศกเศร้าและเคร่งขรึม หลังการถึงแก่อสัญกรรมของโจว ตามเจตนารมณ์ของเขา ร่างของเขาถูกฌาปนกิจ และอัฐิไม่ได้ถูกเก็บรักษาไว้ เติ้ง อิ่งเชาได้มอบอัฐิให้แก่กัว ยฺวี่เฟิง, หลัว ชิงฉาง, จาง ชู่อิ๋ง และเกา เจิ้นผู่ ซึ่งได้นำเครื่องบินขนส่งอานโตนอฟ อาน-2 ไปโปรยอัฐเหนือกำแพงเมืองจีนในกรุงปักกิ่ง อ่างเก็บน้ำมี่หยุน ปากแม่น้ำไห่เหอในเทียนจิน และปากแม่น้ำเหลืองในทะเลปั๋วไห่ ที่ปินโจว มณฑลชานตง

หลังการถึงแก่อสัญกรรมของโจว ผู้นำจากกว่า 130 ประเทศและพรรคการเมืองต่างส่งโทรเลขและจดหมายแสดงความเสียใจมายังพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีน เพื่อแสดงถึงความอาลัยอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของโจว และเพื่อยกย่องถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของเขาที่มีต่อประเทศจีนและโลก ขณะเดียวกัน ที่การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประธานสมัชชาใหญ่ได้เสนอให้ผู้แทนทุกคนลุกยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยแก่โจว และสหประชาชาติได้ลดธงครึ่งเสาเพื่อแสดงความอาลัยด้วย[6]

เหตุการณ์ที่ตามมา

[แก้]

ความไม่พอใจและความต่อต้านที่สั่งสมมานานในสังคมจีนนับตั้งแต่การปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้รวมตัวกันอย่างรวดเร็วภายใต้ร่มเงาของการไว้อาลัยโจว และแสดงออกในรูปแบบของ "ไว้อาลัยโจว สนับสนุนเติ้ง ตำหนิเจียง และยิงเหมา" (悼周、拥邓、讨江、射毛)[2] เหมาได้เขียนข้อความสั้น ๆ เพียงหกคำลงบนรายงานฉบับหนึ่งว่า "การไว้อาลัยเป็นเท็จ การฟื้นฟูเป็นจริง'" (悼念虚,复辟实)[2] กรมโฆษณาชวนเชื่อซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ "แก๊งออฟโฟร์" ได้ดำเนินการจัดพิธีศพของโจวอย่างเงียบเชียบ โดยเจตนาที่จะลดความสำคัญของเหตุการณ์นี้ เหยา เหวิน-ยฺเหวียน ได้สั่งห้ามรายงานข่าวเกี่ยวกับการไว้อาลัยของชาวปักกิ่งที่มีต่อโจว และเริ่มจับกุมประชาชนบางส่วนที่มารวมตัวกันไว้อาลัยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน วันที่ 25 มีนาคม หนังสือพิมพ์เหวินฮุ่ยเป้า (文汇报) ได้ตีพิมพ์รายงานหน้าหนึ่งที่มีใจความว่า "ผู้เดินสายทุนนิยมในพรรคต้องการนำผู้เดินสายทุนนิยมที่ถูกโค่นล้มและไม่ยอมกลับใจมาสู่อำนาจ" โดยทั่วไปเข้าใจกันว่ารายงานฉบับนี้เป็นการพาดพิงถึง "ความตั้งใจของโจวที่ต้องการนำเติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นสู่อำนาจ"[18] ไม่กี่วันต่อมา นักศึกษาและกรรมกรในเมืองหนานจิงได้ออกมาเดินขบวนประท้วง ป้ายประกาศที่มีข้อความ เช่น "จับจาง ฉุนเฉียว ผู้ทะเยอทะยาน ร่วมสมคบคิด และสองหน้าเช่นเดียวกับครุชชอฟ มาลงโทษเป็นเยี่ยงอย่าง!", "โค่นล้มผู้ใดก็ตามที่คัดค้านนายกโจว!" และ "เปิดโปงเบื้องหลังดำมืดของเวินฮุ่ยเป้า!" ปรากฏอยู่บนท้องถนนในหนานจิงและบนขบวนรถไฟที่มุ่งหน้าไปปักกิ่ง[19]: 727  ไม่นานหลังจากนั้น เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันก็เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศ ในวันที่ 4 เมษายน ซึ่งตรงกับวันเช็งเม้ง ชาวปักกิ่งได้รวมตัวกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อรำลึกถึงโจว กล่าวสุนทรพจน์และแต่งบทกวีเพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของโจว พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ "แก๊งออฟโฟร์" อย่างลับ ๆ ในช่วงเย็นวันเดียวกัน กรมการเมืองได้จัดการประชุม ที่ประชุมเชื่อว่ามีบางกลุ่มบุคคลกำลังใช้การรำลึกถึงโจวในการดำเนินกิจกรรมต่อต้านการปฏิวัติและมุ่งเป้าไปที่เติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งในความเป็นจริงถูกปลดจากอำนาจไปแล้ว ด้วยการอนุมัติจากเหมา จึงมีการตัดสินใจเคลียร์พื้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ท้ายที่สุด เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างตำรวจกับประชาชนก็ปะทุขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในช่วงเช้ามืดของวันที่ 5 เมษายน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในประเทศจีน เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักในนาม "ขบวนการ 5 มิถุนายน" ซึ่งรัฐบาลจีนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และนำไปสู่การโค่นล้มเติ้ง เสี่ยวผิงอีกครั้งหนึ่ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ bj
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 高文谦 (2003). 晚年周恩来. 明镜出版社. ISBN 9781932138078.
  3. ""一代国医"吴阶平_尚文频道_新浪网". style.sina.com.cn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-02. สืบค้นเมื่อ 2022-12-02. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |dead-url= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  4. 毛泽东传(第6册)》. 中央文献出版社. 2011. ISBN 9787507331882. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)
  5. "周恩来的最后时光:让医生去照顾别的同志【2】". zhouenlai.people.cn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-03. สืบค้นเมื่อ 2023-11-02. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |dead-url= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 中共中央文献研究室 (2007). 周恩来年谱(下). 北京. ISBN 978-7-5073-2404-4.
  7. 高文谦 (2005-03-22). "把历史的知情权还给民众——驳复"司马公"先生(二)". 华夏文摘增刊. 中国新闻电脑网络 (425). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-02. สืบค้นเมื่อ 2022-12-02. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |dead-url= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  8. "周恩来讣告和悼词起草前后_cctv.com提供". news.cctv.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-02. สืบค้นเมื่อ 2022-12-02. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |dead-url= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  9. 阎长贵 (2013). "康生的秘书谈康生". 炎黄子孙 (2).
  10. "难忘的400余天——忆周恩来总理在三〇五医院_腾讯新闻". new.qq.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-02. สืบค้นเมื่อ 2022-12-02. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |dead-url= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  11. 张树军主编;荆彦周副主编. 图文中国共产党纪事 6 1972-1981[M]. 石家庄:河北人民出版社, 2011.06.
  12. 《震撼世界的二十天——外國記者筆下的周恩來逝世》. 北京: 中央文獻出版社. 1999.
  13. 13.0 13.1 13.2 陈寰著. 流光漫忆 一个女记者的人生旅程[M]. 北京:新世界出版社, 2003.11.pp63-73
  14. 董惠民著. 小写历史[M]. 北京:九州出版社, 2016.01.pp390
  15. 15.0 15.1 毛澤東傳(第六卷)》 (香港第一版 ed.). 香港: 中和出版. 2011. ISBN 978-988-15116-8-3. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)
  16. 中国中央文献研究室编 (2007). 邓小平年谱 1975-1997 上. 北京: 中央文献出版社. p. 143. ISBN 7507324068. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: checksum (help)
  17. 张玉凤 (1989). "毛泽东周恩来晚年二三事". 炎黄子孙 (1).
  18. 沈国祥 (2005). "〈亲历1976年"三·五"、"三·二五"事件〉" (03). 《百年潮》. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-24. สืบค้นเมื่อ 2012-11-24. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |dead-url= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  19. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ zcq
ก่อนหน้า โจว เอินไหล ถัดไป
ไม่มี
นายกรัฐมนตรีจีน
(ค.ศ. 1949 – 1976)
ฮั่ว กั๋วเฟิง


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน