แผนเค 5
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
---|
ประวัติศาสตร์กัมพูชา |
ประวัติศาสตร์ยุคแรก |
ยุคมืด |
สมัยอาณานิคม |
เอกราชและความขัดแย้ง |
กระบวนการสันติภาพ |
กัมพูชายุคใหม่ |
ตามหัวข้อ |
แผนเค 5 (อังกฤษ: K5 Plan, K5 Belt หรือ K5 Project; เขมร: ផែនការក៥) หรือที่รู้จักกันในชื่อม่านไม้ไผ่[1] เป็นความพยายามระหว่างปี พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2532 โดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาที่จะปิดเส้นทางแทรกซึมของกลุ่มเขมรแดงที่จะเข้าสู่กัมพูชาโดยใช้สนามเพลาะ รั้วลวดหนาม และทุ่นระเบิดไปตลอดเกือบทั้งชายแดนไทย–กัมพูชา[2]
ประวัติ
[แก้]หลังจากที่กัมพูชาประชาธิปไตยพ่ายแพ้ในปี พ.ศ. 2522 เขมรแดงได้หลบหนีออกจากกัมพูชาอย่างรวดเร็ว กองกำลังกึ่งทหารของ พล พต ซึ่งแทบไม่มีบาดแผลใด ๆ จำนวนประมาณ 30,000 ถึง 35,000 นาย ได้รับการปกป้องจากรัฐไทยและมีสายสัมพันธ์กับต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ได้รวมกลุ่มและจัดระเบียบใหม่ในเขตป่าและภูเขาที่อยู่หลังแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 กองกำลังเขมรแดงสามารถแสดงความแข็งแกร่งภายในค่ายผู้อพยพใกล้ชายแดนในฝั่งไทย รวมถึงได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ทางทหารได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ อาวุธส่วนใหญ่มาจากจีนและสหรัฐอเมริกา และถูกส่งต่อไปทั่วแนวรบที่ติดกับไทยด้วยความร่วมมือจากกองทัพไทย[3]
จากตำแหน่งที่มั่นคงในฐานทัพลับตามแนวชายแดนไทย กองกำลังติดอาวุธของเขมรแดงได้เปิดฉากโจมตีสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาที่เพิ่งสถาปนาขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเขมรแดงจะมีสถานะเหนือกว่า แต่ก็ได้ต่อสู้กับกองทัพปฏิวัติประชาชนกัมพูชา (KPRAF) และกองทัพประชาชนเวียดนาม รวมทั้งกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์กลุ่มเล็ก ๆ ที่เคยต่อสู้กับเขมรแดงมาแล้วระหว่างปี พ.ศ. 2518 ถึง 2522[4]
ผลที่ตามมาที่สำคัญของสงครามกลางเมืองที่ชายแดนก็คือ สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาถูกขัดขวางไม่ให้พยายามสร้างชาติที่ได้รับความเสียหายและรวมอำนาจการปกครองของตนขึ้นใหม่ การปกครองของสาธารณรัฐใหม่นั้นไม่มั่นคงในพื้นที่ชายแดนเนื่องมาจากการก่อวินาศกรรมอย่างต่อเนื่องต่อระบบการปกครองของจังหวัดผ่านสงครามกองโจรอย่างต่อเนื่องโดยเขมรแดง[2]
การนำไปปฏิบัติ
[แก้]สถาปนิกของแผนเค 5 คือนายพล เล ดึ๊ก อัญ (Lê Đức Anh) ผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพประชาชนเวียดนามในกัมพูชา ได้กำหนดประเด็นสำคัญ 5 ประการ สำหรับการป้องกันกัมพูชาจากการแทรกซึมอีกครั้งของเขมรแดง ตัวอักษร "เค" (K) ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของอักษรเขมร มาจากคำว่า kar karpier ซึ่งแปลว่า "การป้องกัน" ในภาษาเขมร และหมายเลข "5" หมายถึงประเด็น 5 ประการของ เล ดึ๊ก อัญ ในแผนการป้องกันของเขา ซึ่งการปิดผนึกพรมแดนกับประเทศไทยเป็นประการที่สอง[2] อย่างไรก็ตาม คนงานหลายคนในโครงการไม่ทราบว่า "เค 5" ย่อมาจากอะไร[5]
แผนเค 5 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2527[6] นับเป็นแผนการที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งรวมไปถึงการถางป่าดิบชื้นเป็นบริเวณยาวโดยการตัดต้นไม้จำนวนมาก รวมถึงการโค่นและถอนพืชพันธุ์สูง วัตถุประสงค์คือเพื่อให้มีพื้นที่โล่งกว้างต่อเนื่องตลอดแนวชายแดนไทยที่จะถูกเฝ้าจับตาและวางกับระเบิด โดยใช้แรงงานจากการเกณฑ์ทหารเนื่องจากอาสาสมัครที่สมัครมาไม่เพียงพอ ซึ่งใช้แรงงานทั้งพลเรือน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และกำลังติดอาวุธรวมมากถึง 380,000 คนสำหรับโครงการตามแผนเค 5[7]
ในท���งปฏิบัติ รั้วเค 5 ประกอบด้วยพื้นที่ยาวประมาณ 700 กิโลเมตร กว้าง 500 เมตร ตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศไทย ซึ่งมีการฝังทุ่นระเบิดต่อต้านรถถังและทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคลไว้ในความหนาแน่นประมาณ 3,000 ลูกต่อแนวชายแดน 1 กิโลเมตร[8]
ผลที่ตามมา
[แก้]จากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม การตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมากถือเป็นหายนะทางระบบนิเวศ ส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรง คุกคามพันธุ์สัตว์ และทิ้งพื้นที่เสื่อมโทรมจำนวนมากไว้เบื้องหลัง พื้นที่ห่างไกล เช่น ทิวเขาบรรทัด แทบไม่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์เลย จนกระทั่งกลายมาเป็นฐานที่มั่นของเขมรแดงและเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองที่เคยอยู่ร่วมกับป่าได้ให้มาเป็นแรงงานในพื้นที่เกษตรกรรมรวมของเขมรแดง[9]
ผู้วางแผนโครงการไม่ได้คาดคิดมาก่อน จากมุมมองของทหาร แผนเค 5 ยังเป็นหายนะสำหรับสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาอีกด้วย แผนนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อพวกเขมรแดงที่ต้องการข้ามกลับไปสักนิด เนื่องจากไม่สามารถที่จะควบคุมชายแดนตลอดแนวยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การบำรุงรักษายังทำได้ยาก เนื่องจากป่าดงดิบที่ถูกทำลายทิ้งให้กลายเป็นพุ่มไม้รก ซึ่งในภูมิอากาศแบบร้อนชื้น พุ่มไม้จะงอกขึ้นมาใหม่ทุกปีจนสูงประมาณเท่าชายคนหนึ่ง[10]
แผนเค 5 ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาในฐานะสาธารณรัฐที่มุ่งมั่นที่จะรื้อฟื้นการปกครองของ พอล พต และพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่ทำลายล้างกัมพูชาขึ้นมาใหม่ แม้จะมีความพยายามมากมาย แต่โครงการทั้งหมดก็ไม่ประสบผลสำเร็จในที่สุด และสุดท้ายก็ตกอยู่ในมือของศัตรูของสาธารณรัฐใหม่ที่สนับสนุนฮานอย ชาวนากัมพูชาหลายพันคนที่ยินดีรับอิสรภาพจากเขมรแดงในการทำฟาร์มแบบดั้งเดิม แต่การไม่มีภาษีภายใต้รัฐบาลสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา[2] กลับเริ่มทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมา
พวกเขาโกรธที่ต้องละทิ้งทุ่งนาของตนเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการถางป่า ซึ่งเป็นงานหนักที่พวกเขาเห็นว่าไร้ประโยชน์และไม่ได้มีประสิทธิพลอะไรเลย[10] ความโกรธแค้นของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพวกเขามองว่าการใช้แรงงานภาคบังคับ แม้จะไม่มีการสังหารหมู่ แต่ก็คล้ายคลึงกับสิ่งที่พวกเขาเคยประสบมาภายใต้การปกครองของเขมรแดง[11] เนื่องจากสภาพที่ไม่ถูกสุขอนามัยและมียุงชุกชุมในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก คนงานในโครงการเค 5 ที่ได้รับอาหารไม่เพียงพอและที่พักไม่เพียงพอจึงตกเป็นเหยื่อของมาลาเรียและความอ่อนล้าจากการทำงานหนัก[12] ซึ่งแรงงานมากถึงร้อยละ 60 ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย บางส่วนเสียชีวิตด้วยโรคติดต่อทางเพศ[7]
ทุ่นระเบิดจำนวนมากยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ ทำให้พื้นที่อันกว้างใหญ่แห่งนี้ยังคงอันตราย เขตเค 5 กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ในกัมพูชาหลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2533 เพียงปีเดียว จำนวนชาวกัมพูชาที่ต้องตัดขาหรือเท้าอันเป็นผลจากการบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6,000 ราย[13] รวมถึงทุ่นระเบิดดังกล่าวยังถูกวางล้ำเข้ามาในฝั่งประเทศไทยจนในปัจจุบันบางส่วนถูกประกาศเป็นพื้นที่ไร่นาที่ดินทำกินของราษฎรชาวไทย บางส่วนเป็นพื้นที่ของป่าอนุรักษ์ของกรมป่าไม้[14]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Kelvin Rowley, Second Life, Second Death: The Khmer Rouge After 1978, Swinburne University of Technology เก็บถาวร 16 กุมภาพันธ์ 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Margaret Slocomb, The People's Republic of Kampuchea, 1979-1989: The revolution after Pol Pot ISBN 978-974-9575-34-5
- ↑ Puangthong Rungswasdisab, Thailand's Response to the Cambodian Genocide
- ↑ "ไทยผิดหรือเวียดถูก? เปิดปมดราม่าแถลงอาลัยป๋า". posttoday. 2019-06-11.
- ↑ Esmeralda Luciolli, Le mur de bambou, ou le Cambodge après Pol Pot. ISBN 2-905538-33-3
- ↑ "Chronologie du Cambodge de 1960 à 1990 - from Raoul M. Jennar, Les clés du Cambodge". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 February 2005. สืบค้นเมื่อ 16 March 2010.
- ↑ 7.0 7.1 "Healing a Nation - The Cambodia Daily". english.cambodiadaily.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-04-21.
- ↑ Landmine Monitor Report 2005
- ↑ Sarou, Long (2009). "The Historical Background of the CCPF": 14–18.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ 10.0 10.1 Soizick Crochet, Le Cambodge, Karthala, Paris 1997, ISBN 2-86537-722-9
- ↑ Margaret Slocomb, "The K5 Gamble: National Defence and Nation Building under the People's Republic of Kampuchea", Journal of Southeast Asian Studies (2001), 32 : 195-210 Cambridge University Press
- ↑ Craig Etcheson, After the killing fields: lessons from the Cambodian genocide, ISBN 978-0-275-98513-4
- ↑ NewScientist - "The killing minefields of Cambodia"
- ↑ "ทุ่นระเบิด กองทัพทหารใบ้ สงครามไม่รู้จบ". www.sarakadee.com.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
บรรณานุกรม
[แก้]- Evan Gottesmann, Cambodia After the Khmer Rouge: Inside the Politics of Nation Building, ISBN 978-0-300-10513-1