ข้ามไปเนื้อหา

อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ

พิกัด: 40°41′21″N 74°02′41″W / 40.6893°N 74.0446°W / 40.6893; -74.0446
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เทพีเสรีภาพ)
อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ
ประเทศ สหรัฐ
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(i) (vi)
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2527 (คณะกรรมการสมัยที่ 8)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ หรือ เทพีเสรีภาพ เป็นอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่ และมีคุณค่าทางจิตใจ ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า Statue of Liberty แต่เดิมชื่อว่า Liberty Enlightening the World ตั้งอยู่ ณ เกาะลิเบอร์ตี อ่าวนิวยอร์ก ที่นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก​ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นของขวัญที่ชาวฝรั่งเศสมอบให้แก่ชาวอเมริกัน ในวันที่อเมริกาเฉลิมฉลองวันชาติครบ 100 ปี ณ วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2419 โดยส่งมอบอย่างเป็นทางการ โดยมี ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2429

เทพีเสรีภาพ เป็นประติมากรรมโลหะสำริด รูปเทพีลิเบอร์ตาส (Libertas) เทพีแห่งเสรีภาพของโรมัน ห่มเสื้อคลุม มือขวาชูคบเพลิง มือซ้ายถือแผ่นจารึกคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ และมีอักษรสลักว่า "JULY IV MDCCLXXVI" หรือ วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2319 (ค.ศ. 1776) เท้าข้างหนึ่งมีโซ่ที่ขาด แสดงถึงความหลุดพ้นจากการเป็นทาส สวมมงกุฎ 7 แฉกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทะเลทั้งเจ็ด หรือทวีปทั้งเจ็ด ภายในมีบันไดวนรวมทั้งสิ้น 162 ขั้น เกิดขึ้นตามแนวคิดของเอดูอาร์ด เดอ ลาบูลาเย นักประวัติศาสตร์ ชาวฝรั่งเศส เพื่อระลึกถึงความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสระหว่างการปฏิวัติอเมริกัน ออกแบบโดยเฟรเดรีค โอกุสต์ บาร์โทลดี โครงร่างเหล็กออกแบบโดย เออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก และกุสตาฟ ไอเฟล ซึ่งเป็นผู้ออกแบบหอไอเฟล ในกรุงปารีส ส่วนฐานอนุสาวรีย์สร้างโดยสหรัฐอเมริกา จารึกโคลงซอนเนต์ของกวีชาวอเมริกัน เอมมา ลาซารัส ซึ่งมีเนื้อหาต้อนรับผู้อพยพที่เข้าอยู่มาในอเมริกา

สาเหตุที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสมอบเทพีเสรีภาพให้แก่สหรัฐอเมริกา เพราะพวกเขาชื่นชมชาวอเมริกันที่กล้าหาญลุกขึ้นสู้กับสหราชอาณาจักร และประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรสำเร็จจนเป็นชาติเอกราชในที่สุด ชาวฝรั่งเศสจึงรณรงค์หาเงินบริจาคจากทั่วประเทศ

ในการขนส่งจากฝรั่งเศส มายังสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความใหญ่โตของอนุสาวรีย์ ทำให้ต้องแยกส่วนแล้วมาประกอบที่อเมริกา มีชิ้นส่วนรวมทั้งหมด 350 ชิ้น และนำมาประกอบขึ้นใหม่โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน แต่ส่วนฐาน พบว่ามีการสร้างเสร็จ ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2429 โดยหมุดตัวสุดท้ายถูกประกอบเสร็จ ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2429

ปี พ.ศ. 2527 องค์การยูเนสโก ประกาศให้อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ เป็นแหล่งมรดกโลก ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมกว่า 3.2 ล้านคน (ในปี พ.ศ. 2552)[1]

หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายนทางการได้สั่งปิดอนุสาวรีย์และเกาะลิเบอร์ตีชั่วคราว เกาะเปิดอีกครั้งในปลายปี พ.ศ. 2544 ในขณะที่ฐานและอนุสาวรีย์ยังคงปิดอยู่ ฐานเปิดขึ้นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547[2] ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ตัวอนุสาวรีย์ได้เปิดให้สาธารณะชนเข้าชมแต่ได้จำกัดจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปถึงส่วนหัวมงกุฎในแต่ละวัน[3]

ประวัติ

[แก้]
ภาพจาก Harper's Weekly ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1885
ภาพถ่ายใบหน้าของเทพีเสรีภาพ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1885

โครงการได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2408 (ค.ศ. 1865) โดยประชาชนชาวฝรั่งเศสซึ่งประสงค์จะมอบของขวัญให้แก่ประชาชนชาวสหรัฐฯเพื่อเป็นเครื่องหมายเตือนความทรงจำรำลึกถึงสัมพันธภาพอันดีระหว่างสหรัฐฯและฝรั่งเศสในระหว่างสงครามประกาศอิสรภาพในสหรัฐอเมริกา

คณะกรรมการคณะหนึ่งมีนาย เอดดูวาด เดอลาบูลาเย เป็นประธานประติมากรหนุ่มชื่อ เฟรเดอริก ออกุสเต บาร์ทอลดิ (Frederic Bartholdi) ซึ่งเป็นกรรมการผู้หนึ่งได้เดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อศึกษาความต้องการในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานและบาร์ทอลดิเกิดความคิดที่จะสร้างของขวัญเป็นอนุสรณ์สถานแห่งเสรีภาพขึ้นโดยคณะกรรมการฟรองโกอเมริกันจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ฝ่ายอเมริกันรับผิดชอบส่วนที่เป็นรากฐาน และได้วางแผนจะขอรับบริจาคเงินค่าใช้จ่ายจากเอกชนประมาณสองแสนห้าหมื่นดอลลาร์อเมริกา (คิดเป็นเงินไทยประมาณห้าล้านบาทในขณะนั้น)

บาร์ทอลดิ เริ่มงานก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งเสรีภาพขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874) โดยใช้มารดาของเขาเป็นนางแบบ เริ่มแรกทำรูปจำลองด้วยปูนปลาสเตอร์สูง 9 ฟุต 1 รูป และสูง 36 ฟุต อีก 1 รูป ในที่สุดก็สามารถกำหนดสัดส่วนของเทพีแห่งเสรีภาพได้ แล้วก่อสร้างขึ้นด้วยโลหะผสมทองแดงกับเหล็กเพื่อความแข็งแกร่ง การวางแผนดำเนินการโครงการนี้ อยู่ในความอำนวยการของนายกุสตาฟไอเฟล ซึ่งเป็นวิศวกรชาวฝรั่งเศสผู้ก่อสร้างหอไอเฟล ในการนี้ต้องตีแผ่นทองแดงมากกว่า 300 แผ่น น้ำหนักรวม 90 ตัน

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายอเมริกันก็เริ่มงานสร้างฐานไปพร้อมกันโดยได้เลือกสถานที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์นี้ที่เกาะเบดโล ซึ่งชื่อเกาะนี้ตั้งตามชื่อของเจ้าของดั้งเดิมคือ ไอแซค เบดโล และได้เริ่มงานสร้างรากฐานเมื่อ พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) เมื่องานก่อสร้างเริ่มขึ้นแล้ว โครงการต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง เพราะขาดเงินสนับสนุน แต่ต่อมา นายโจเซฟ ฟูลิตเซอร์ บรรณาธิการผู้มีชื่อเสียงของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กเวิลด์ ได้รณรงค์หาทุนให้โดยขอรับบริจาคจากมหาชนใน พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) ทำให้งานก่อสร้างรากฐานสำเร็จลุล่วงในปลายปีเดียวกันนั้น

ส่วนของอนุสรณ์รูปเทพีได้เดินทางมาถึงนครนิวยอร์กเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) โดยจัดเป็นชิ้นๆบรรจุในหีบใหญ่ถึง 214 หีบ เมื่อมาถึงแล้วจึงนำชิ้นส่วนมาต่อกันและติดตั้งเป็นรูปร่างที่บนป้อมเก่า อยู่ทางปลายสุดของเกาะลิเบอร์ตี้ เดิมชื่อเกาะเบดโล รูปปั้นนี้หนัก 254 ตัน ออกแบบเป็นรูปสตรีสวมเสื้อผ้าคลุมร่างตั้งแต่ไหล่ลงมาจรดปลายเท้า ท่วงท่าสง่างาม ศีรษะสวมมงกุฎ มือขวาถือคบเพลิงชูเหนือศีรษะ มือซ้ายถือหนังสือคำประกาศอิสรภาพ ตั้งแต่เวลาเย็นจนถึงกลางคืน ไฟจากคบเพลิงของเทพีเสรีภาพนี้จะเปล่งแสงสว่างผู้ที่ไปเยือนเพียงยืนอยู่ที่ฐานของอนุสรณ์สถานก็จะรู้สึกได้ถึงความใหญ่โตมโหฬารของอนุสาวรีย์แห่งนี้

อนุสาวรีย์มีทางเดินจากป้อมเข้าสู่ส่วนที่เป็นแท่นฐาน และที่ทางเข้ามีแผ่นบรอนซ์จารึกข้อความเป็นคำประพันธ์ซอนเนท แต่งโดย เอมมา ลาซารัส เมื่อ พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1883) เมื่อเดินเข้าไปในตัวเทพี จะมีบันไดเลื่อนพาสูงขึ้นไป 10 ชั้นแรก หรือเทียบเท่าบันได 167 ขั้น ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยขึ้นบันไดเวียน 12 ชั้น รวม 168 ขั้น ซึ่งจะขึ้นไปได้จนถึงศีรษะและมงกุฎของเทพีแห่งเสรีภาพ มีลานซึ่งจุคนได้ครั้งละ 20-30 คน จากลานนี้สามารถชื่นชมทิวทัศน์อันงดงามกว้างไกลของอ่าวนิวยอร์กตลอดไปทางเหนือ ซึ่งจะมองเห็นเขตแมนแฮตตันและเขตธุรกิจการเงินและทิวทัศน์ทางใต้จะเห็นสะพานแคนเวอราซาโน

เทพีแห่งเสรีภาพนี้สูง 93.3 เมตร (306 ฟุต 8 นิ้ว) นับจากส่วนล่างถึงยอดคบไฟ เฉพาะตัวเทพีสูง 46.4 เมตร (152 ฟุต 2 นิ้ว) แขนขวายาว 12.8 เมตร (42 ฟุต) มือยาว 5.03 เมตร (16 ฟุต 5 นิ้ว) หนังสือในมือซ้ายของเทพีหนา 2 ฟุต ยาว 23 ฟุตครึ่ง จารึกว่า "July 4, 1776" ตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม 2319 อันเป็นวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ที่ปลายเท้าเทพีมีโซ่หักขาด ซึ่งแสดงความหมายของการประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ได้ประกอบพิธีเปิดอนุสรณ์สถานแห่งเสรีภาพ นายบาร์ทอลติ และ เฟอดินัน เดอ เลสเซน ซึ่งเป็นผู้สืบทอดงานจาก นายเอดดูวาร์ด เดอ ลาบูลาเย มาร่วมงานด้วย และในพิธีเปิดครั้งนั้นได้มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นคือ ขณะที่วุฒิสมาชิกกำลังอ่านคำปราศัยได้มีการให้สัญญาณเปิดผ้าคลุมออกก่อนกำหนดเวลา มีการยิ��ปืนใหญ่ ชาวเรือในอ่าวต่างตะโกนกู่ก้อง และฝูงชนที่มาชุมนุมร่วมพิธีเปิดต่างก็โห่ร้องแสดงความยินดีกันอึงคะนึง ขณะที่ผ้าคลุมเทพีเปิดออกเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าวุฒิสมาชิกยังคงอ่านคำปราศัยต่อไป

ข้อมูลจำเพาะ

[แก้]
เมื่อมองจากพื้นดินบนเกาะลิเบอร์ตี
คุณลักษณะ[4] อเมริกา เมตริก
ความสูงของอนุสาวรีย์ทองแดง 151 ฟุต 1 นิ้ว 46 เมตร
จากฐานระดับพื้นดิน ถึงปลายไฟบนคบเพลิง 305 ฟุต 1 นิ้ว 93 เมตร
ส้นเท้าถึงด้านบนของหัว 111 ฟุต 1 นิ้ว 34 เมตร
ความสูงของมือ 16 ฟุต 5 นิ้ว 5 เมตร
นิ้วชี้ 8 ฟุต 1 นิ้ว 2.44 เมตร
เส้นรอบวงที่สองของนิ้ว 3 ฟุต 6 นิ่ว 1.07 เมตร
คางถึงหัวกะโหลก 17 ฟุต 3 นิ้ว 5.26 เมตร
ความหนาของหัวจากหูถึงหู 10 ฟุต 0 นิ้ว 3.05 เมตร
ระยะห่างระหว่างตา 2 ฟุต 6 นิ้ว 0.76 เมตร
ความยาวของจมูก 4 ฟุต 6 นิ้ว 1.48 เมตร
ความยาวของแขนขวา 42 ฟุต 0 นิ้ว 12.8 เมตร
ส่วนที่หนาสุดของแขนขวา 12 ฟุต 0 นิ้ว 3.66 เมตร
ความหนาของเอว 35 ฟุต 0 นิ้ว 10.67 เมตร
ความกว้างของปาก 3 ฟุต 0 นิ้ว 0.91 เมตร
แผ่นจารึก, ความยาว 23 ฟุต 7 นิ้ว 7.19 เมตร
แผ่นจารึก, ความกว้าง 13 ฟุต 7 นิ้ว 4.14 เมตร
แผ่นจารึก, ความหนา 2 ฟุต 0 นิ้ว 0.61 เมตร
ความสูงของแท่น 89 ฟุต 0 นิ้ว 27.13 เมตร
ความสูงของฐาน 65 นิ้ว 0 นิ้ว 19.81 เมตร
น้ำหนักทองแดงที่ใช้ในการสร้าง 60,000 ปอนด์ 27.22 ตัน
น้ำหนักเหล็กที่ใช้ในการสร้าง 250,000 ปอนด์ 113.4 ตัน
น้ำหนักรวมของตัวอนุเสาวรีย์ 450,000 ปอนด์ 204.1 ตัน
ความหนาของแผ่นทองแดง 3/32 ของนิ้ว 2.4 มิลลิเมตร

เทพีเสรีภาพทั่วโลก

[แก้]
เทพีเสรีภาพที่ปารีส

ในปัจจุบัน มีการลอกเลียนแบบสร้างเทพีเสรีภาพทั่วโลกกว่า 100 แห่ง โดยเทพีที่โดดเด่นที่สุดคือที่ตั้งอยู่ที่ปารีส ซึ่งมีความสูง 11.5 เมตร สร้างมานานกว่า 100 ปีแล้ว นอกจากนั้นยังมีให้เห็นเช่นในโตเกียว และลาสเวกัส เป็นต้น

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Bartholdi, Frédéric (1885). The Statue of Liberty Enlightening the World. North American Review. p. 62.
  2. "History and Culture". Statue of Liberty. National Park Service. สืบค้นเมื่อ October 20, 2011.
  3. Chan, Sewell (May 8, 2009). "Statue of Liberty's Crown Will Reopen July 4". The New York Times. สืบค้นเมื่อ October 20, 2011.
  4. https://www.nps.gov/stli/learn/historyculture/statue-statistics.htm

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

40°41′21″N 74°02′41″W / 40.6893°N 74.0446°W / 40.6893; -74.0446