สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในฤดูกาล 1989–90
ฤดูกาล 1989–90 | ||||
---|---|---|---|---|
ประธานสโมสร | มาร์ติน เอ็ดเวิดส์ | |||
ผู้จัดการทีม | อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน | |||
กัปตันทีม | ไบรอัน ร็อบสัน | |||
ดิวิชัน 1 | อันดับที่ 13 | |||
เอฟเอคัพ | แชมป์ | |||
ลีกคัพ | รอบที่ 3 | |||
ผู้ทำประตูสูงสุด | ลีก: มาร์ก ฮิวส์ (13) ทั้งหมด: มาร์ก ฮิวส์ (15) | |||
ผู้เข้าชมในบ้านสูงสุด | 47,245 vs อาร์เซนอล (19 สิงหาคม 1989) | |||
ผู้เข้าชมในบ้านต่ำสุด | 26,698 vs พอร์ตสมัท (3 ตุลาคม 1989) | |||
ผู้เข้าชมในบ้านเฉลี่ย | 39,078 | |||
| ||||
ฤดูกาล 1989–90 เป็นฤดูกาลที่ 88 ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดใน ฟุตบอลลีก และเป็นฤดูกาลที่ 15 ติดต่อกันในลีกสูงสุดของ ฟุตบอลอังกฤษ[1]
ฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลที่พวกเขาจบอันดับต่ำที่สุดในลีกนับตั้งแต่ตกชั้นจากดิวิชัน 1 เมื่อ 15 ปีก่อนคือในฤดูกาล 1973–74 เมื่อพวกเขาจบอันดับที่ 13 ของตาราง และในวันคริสต์มาสก็มีเสียงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องจากแฟนบอลให้ปลดอเล็กซ์ เฟอร์กูสันออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม อย่างไรก็ตามเมื่อจบฤดูกาลยูไนเต็ดคว้าแชมป์เอฟเอคัพเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่คว้าแชมป์ครั้งล่าสุดในปี 1985 โดยการเอาชนะคริสตัลพาเลซ 1–0 ในการแข่งขันนัดรีเพลย์หลังจากเสมอกันในนัดแรกด้วยสกอร์ 3–3 และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่แต่งตั้ง อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นผู้จัดการทีมเมื่อ 4 ปีก่อน
นอกจากนี้พวกเขายังเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปในฐานะตัวแทนของอังกฤษในยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ ฤดูกาล 1990–91 หลังจากการแบนสโมสรจากอังกฤษในการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปอันเนื่องมาจากภัยพิบัติเฮย์เซลในปี 1985 สิ้นสุดลง
ในฤดูกาลนี้ มาร์ก ฮิวส์ ยังครองตำแหน่งผู้ทำประตูสูงสุดของสโมสรเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ในขณะที่สโมสรยินดีต้อนรับผู้เล่นใหม่ 4 คนในช่วงต้นฤดูกาล ได้แก่ แดนนี วอลเลซ ปีกความเร็วสูงจากเซาแทมป์ตัน นีล เว็บบ์ กองกลางทีมชาติอังกฤษจากนอตทิงแฮมฟอเรสต์, พอล อินซ์ กองกลางพันธุ์ดุจากเวสต์แฮมยูไนเต็ด และแกรี พัลลิสเตอร์ กองหลังร่างยักษ์จากมิดเดิลส์เบรอ
มาร์ก โรบินส์ ลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่เป็นประจำในฤดูกาลนี้ แต่มักจะเป็นตัวสำรอง และยิงได้ 10 ประตู รวมถึงประตูชัยในเกมกับนอตทิงแฮมฟอเรสต์ในรอบที่ 3 ของเอฟเอคัพ ลี มาร์ติน แบ็คซ้ายดาวรุ่งผู้ทำประตูชัยในเอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศ นัดรีเพลย์ กลายเป็นแบ็กซ้ายตัวหลักของสโมสรในฤดูกาลนี้หลังจากการจากไปของอาร์เธอร์ อัลบิสตัน
ฤดูกาลนี้ยังมีความพยายามซื้อสโมสรโดยไมเคิล ไนท์ตัน นักธุรกิจชาวอังกฤษภายหลังจากที่มาร์ติน เอ็ดเวิดส์ ประธานสโมสรในขณะนั้นพิจารณาขายสโมสรในราคา 10 ล้านปอนด์ แต่การขายสโมสรล้มเหลวเนื่องจากผู้สนับสนุนทางการเงินของไนท์ตัน สำหรับการซื้อหุ้นของยูไนเต็ดค่อย ๆ ถอนตัวทำให้เขาไม่มีเงินทุนและตัดสินใจถอนตัวในที่สุด ช่วงนี้เป็นที่จดจำของไนท์ตันได้ดีที่สุดเมื่อเขาสวมชุดยูไนเต็ดและเสื้อวอร์มโชว์การเดาะบอลกลางสนามเพื่อขอเสียงเชียร์จากแฟนบอลก่อนเกมเปิดฤดูกาลเปิดบ้านพบกับอาร์เซนอล แชมป์เก่าจากฤดูกาลที่แล้ว ตามที่ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เขียนไว้ในอัตชีวประวัติของเขาชื่อ Managing My Life (ตีพิมพ์เกือบหนึ่งทศวรรษต่อมา) ว่าการกระทำนี้สร้างความรำคาญให้กับเฟอร์กูสัน เพราะเขารู้สึกว่ามันส่งผลเสียต่อการเตรียมทีมของเขาสำหรับการแข่งขันที่กำลังจะมาถึง แม้ว่ายูไนเต็ดจะชนะ 4–1 ก็ตาม
เฟอร์กูสันยังเปิดเผยในอัตชีวประวัติด้วยว่าทั้ง ๆ ที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ฟอร์มตกต่ำในช่วงครึ่งแรกของฤดูกาล เขาได้รับคำยืนยันจากคณะกรรมการบริหารของสโมสรว่าตำแหน่งผู้จัดการทีมของเขาไม่เคยเสี่ยง แม้ว่าจะผิดหวังตามธรรมชาติของสโมสรที่ขาดความคืบหน้าในลีก พวกเขาเข้าใจเหตุผลของเรื่องนี้ นั่นคือผู้เล่นคนสำคัญจำนวนหนึ่ง รวมทั้ง นีล เว็บบ์ ไม่สามารถเล่นได้เป็นเวลานานเนื่องจากได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม เฟอร์กูสันยอมรับในอัตชีวประวัติของเขาด้วยว่าหากเขาไม่ประสบความสำเร็จกับยูไนเต็ดในฤดูกาลนั้น เขากลัวว่าแฟน ๆ และสื่อจะกดดันคณะกรรมการของสโมสรให้ปลดเขาออกในที่สุด มีแฟน ๆ เรียกร้องมากมายในช่วงฤดูกาลให้เฟอร์กูสันถูกปลดออก และรายงานของสื่อระบุว่า ฮาเวิร์ด เคนดัลล์ อดีตผู้จัดการทีมเอฟเวอร์ตัน จะได้รับการแต่งตั้งจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คู่แข่งในท้องถิ่นของยูไนเต็ดในช่วงระหว่างฤดูกาล ในทำนองเดียวกัน ยังมีรายงานอีกว่าไนท์ตันต้องการจ้างผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ บ็อบบี้ ร็อบสัน (ไม่ใช่ญาติกับไบรอัน ร็อบสัน) ซึ่งประกาศความตั้งใจที่จะลงจากตำแหน่งหลังจาก ฟุตบอลโลก 1990 ให้เป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของเขา เมื่อการเข้าซื้อกิจการสโมสรของไนท์ตันไม่ประสบความสำเร็จ ร็อบสันก็กลายเป็นผู้จัดการทีมของ เปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน แทนหลังฟุตบอลโลก
เหตุการณ์ในฤดูกาล
[แก้]อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเริ่มต้นฤดูกาลที่ 4 ของเขาในฐานะผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หวังอย่างยิ่งที่จะนำถ้วยรางวัลสำคัญมาสู่สโมสรและท้ายที่สุดคือถ้วยรางวัลแชมป์ลีกเพื่อประดับตู้โชว์ในพิพิธภัณฑ์ของสโมสรในโอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นครั้งแรกในยุคของเขา ในช่วงปิดฤดูกาล เขาคว้าตัวไมค์ ฟีแลน ซึ่งเซ็นสัญญาจากนอริชด้วยราคา 750,000 ปอนด์ และนีล เว็บบ์จากนอตทิงแฮมฟอเรสต์ด้วยราคา 1.5 ล้านปอนด์ เพื่อสร้างกองกลางของเขาขึ้นใหม่แทนที่กองกลางชุดเก่าหลังจากขายกอร์ดอน สตรักคันให้กับลีดส์ยูไนเต็ดในราคาเพียง 300,000 ปอนด์และนอร์มัน ไวต์ไซด์กองกลางอีกหนึ่งคนขายให้กับเอฟเวอร์ตันในราคา 750,000 ปอนด์ พอล แมคกรัธถูกขายให้กับแอสตันวิลลาในราคาเพียง 400,000 ปอนด์ โดยเฟอร์กูสันยื่นข้อเสนอให้เกล็นน์ ไฮเซน กองหลังทีมชาติสวีเดนย้ายมาร่วมทีมปีศาจแดง แต่เป็นลิเวอร์พูลที่คว้าตัวไฮเซนไปร่วมทีมแทน ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม เขาได้คว้าตัวแกรี พัลลิสเตอร์ เซ็นเตอร์แบ็กร่างยักษ์จากมิดเดิลส์เบรอด้วยราคา 2.3 ล้านปอนด์ ถือเป็นสถิติของสโมสรในขณะนั้นและเป็นสถิติของอังกฤษในตำแหน่งกองหลังด้วย เฟอร์กูสันเซ็นสัญญาคว้าตัวพอล อินซ์ มิดฟิลด์พันธุ์ดุวัย 21 ปีจากเวสต์แฮมยูไนเต็ดด้วยค่าตัว 1.7 ล้านปอนด์ หลังจากรอมานานซึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวทางการแพทย์
เพียง 48 ชั่วโมงก่อนเริ่มการแข่งขันดิวิชัน 1 มีรายงานว่ามาร์ติน เอ็ดเวิดส์ ใกล้จะขายแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในราคา 20 ล้านปอนด์ 9 ปีหลังจากที่เขาได้รับสืบทอดการบริหารสโมสรต่อจากหลุยส์ พ่อผู้ล่วงลับของเขา วันรุ่งขึ้น ไมเคิล ไนท์ตัน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 37 ปี ซึ่งเป็นแฟนบอลของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ตกลงที่จะเทคโอเวอร์สโมสร
พวกเขาเริ่มต้นฤดูกาลด้วยฟอร์มที่ยอดเยี่ยมเมื่อเปิดบ้านชนะ 4–1 เหนือทีมแชมป์เก่าอย่างอาร์เซนอล 4 ประตูมาจากสตีฟบรูซ, มาร์ก ฮิวจ์ส, ไบรอัน แม็กแคลร์ และนีล เว็บบ์ ซึ่งเพิ่งประเดิมสนามนัดแรก เพิ่มความหวังว่าฤดูกาล 1989–90 เป็นฤดูกาลที่แชมป์ลีกจะกลับคืนสู่ยูไนเต็ด
อย่างไรก็ตาม ภายในวันที่ 9 กันยายน ยูไนเต็ดแพ้เกมลีก 3 นัดติดต่อกัน และความไม่พอใจก็เพิ่มมากขึ้นในหมู่แฟนบอล ทำให้เกิดข่าวลือว่าเฟอร์กูสันอาจจะต้องออกจากตำแหน่ง สื่อบางแห่งรายงานว่าฮาวเวิร์ด เคนดัลล์ อดีตผู้จัดการทีมเอฟเวอร์ตันที่คว้าแชมป์ลีกในฤดูกาล 1984–85 และ 1986–87 กำลังจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในวันคริสต์มาส เคนดัลล์ อยู่ที่แมนเชสเตอร์จริง ๆ แต่ในฐานะผู้จัดการทีมซิตี้
เมื่อวันที่ 16 กันยายน แดนนี วอลเลซย้ายไปร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัว 1.2 ล้านปอนด์ ทำให้ยูไนเต็ดจำเป็นต้องเสริมในตำแหน่งปีกซ้าย ภายหลังจากที่ราล์ฟ มิลน์ที่เซ็นสัญญาเมื่อปีที่แล้วมีฟอร์มที่ย่ำแย่ และเป็นทางเลือกที่มีประสบการณ์มากกว่าลี ชาร์ป ปีกดาวรุ่งวัย 18 ปี
5 วันหลังจากการมาถึงของวอลเลซ มาร์ติน เอ็ดเวิดส์ตกลงขายแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ให้กับไมเคิล ไนท์ตัน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในราคา 20 ล้านปอนด์
23 กันยายน ถือเป็นเกมดาร์บีแมนเชสเตอร์ครั้งแรกในรอบ 3 ฤดูกาล และถือเป็นหายนะสำหรับยูไนเต็ดเมื่อพวกเขาพ่ายให้กับซิตี 1–5 ที่เมนโรด (สนามเก่าของซิตี้ก่อนที่จะย้ายไปเอติฮัด สเตเดียม) ทำให้พวกเขาอยู่อันดับที่ 14 ของตารางโดยมี 7 แต้มจาก 7 นัดแรก[2]
แม้ว่าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะออกสตาร์ทฤดูกาลได้ไม่ดีนัก แต่บอร์ดบริหารของสโมสรก็เสนอสัญญาฉบับใหม่ให้กับอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เพื่อคุมทีมจนจบฤดูกาล 1992–93 และเขาก็ยอมรับสัญญาดังกล่าว
ภายในกลางเดือนตุลาคม ไมเคิล ไนท์ตันถอนตัวจากการเทคโอเวอร์แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและรับตำแหน่งกรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหารในคณะกรรมการบริหารของสโมสร
ต่อมาในเดือนนั้น ความหวังของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในการคว้าแชมป์ลีกคัพเป็นสมัยแรกจบลงเมื่อพวกเขาพ่ายในบ้านต่อทอตนัมฮอตสเปอร์ 0–3 ในรอบที่ 3
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 1989 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดลงเล่นนัดสุดท้ายของทศวรรษ 1980 โดยเสมอ 2–2 กับวิมเบิลดัน[3] ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่ชนะใครเลยตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน และอยู่อันดับที่ 15 ของตาราง โดยมีคะแนนเหนือโซนตกชั้นเพียง 2 แต้ม สิ่งที่คาดหวังจากการลุ้นแชมป์ลีกดูเหมือนจะสลายไปเป็นการต่อสู้เพื่อลุ้นหนีตกชั้น แต่คณะกรรมการบริหารของสโมสรยังคงยืนหยัดเคียงข้างอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และยืนกรานว่าเขาจะไม่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง แม้ว่าจะผิดหวังที่ไม่ประสบความสำเร็จในลีก แต่พวกเขาก็เข้าใจเหตุผลก็คือวิกฤตอาการบาดเจ็บที่รบกวนทีมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว[4]
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 1990 มาร์ก โรบินส์ กองหน้าวัย 20 ปีทำประตูชัยทำให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเอาชนะนอตทิงแฮมฟอเรสต์ 1–0 ในเอฟเอคัพรอบที่ 3 เมื่อมีการจับสลากเอฟเอ คัพ รอบ 3 เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น นักข่าวหลายคนคาดว่านัดนี้ยูไนเต็ดจะแพ้และสโมสรจะปลดเฟอร์กูสันออกจากตำแหน่ง
ต่อมาในเดือนนั้น ความพ่ายแพ้ต่อนอริชซิตี 0–2 ส่งผลให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอยู่ห่างจากโซนตกชั้นเพียงแต้มเดียว แต่พวกเขายังคงผ่านเข้ารอบในเอฟเอคัพ โดยเคลย์ตัน แบล็คมอร์ทำประตูเดียวของการแข่งขันให้ทีมยูไนเต็ดในการแข่งขันกับเฮเรฟอร์ดยูไนเต็ดในเอฟเอคัพรอบ 4 ที่เอ็ดการ์สตรีต
หนึ่งเดือนต่อมา พวกเขาผ่านเข้าสู่เอฟเอคัพ รอบที่ 6 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันโดยเอาชนะนิวคาสเซิ่ลยูไนเต็ด 3–2 ที่เซนต์เจมส์พาร์ก และ 3 สัปดาห์หลังจากนั้นพวกเขาก็จองตำแหน่งในรอบรองชนะเลิศเอฟเอคัพเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่พวกเขาคว้าแชมป์รายการนี้ในปี 1985 โดยชนะ 1–0 เหนือเชฟฟีลด์ยูไนเต็ด ที่บรามอลล์เลน
เอฟเอคัพรอบรอง���นะเลิศที่เมนโรด เมื่อวันที่ 8 เมษายน จบลงด้วยการเสมอ 3–3 กับโอลดัมแอทเลติก พวกเขาผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศด้วยการชนะ 2–1 ในการแข่งขันรีเพลย์ โดยพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับทีมคริสตัลพาเลซที่คุมทีมโดยสตีฟ คอปเปลล์ อดีตปีกขวาของยูไนเต็ดในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 ถึงต้นทศวรรษที่ 80
ยูไนเต็ดจบฤดูกาลด้วยการจบอันดับที่ 13 และอยู่เหนือโซนตกชั้นเพียง 5 แต้มซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ตกชั้นในฤดูกาล 1973–74
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดลงสนามพบกับคริสตัล พาเลซในเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศที่สนามเวมบลีย์ นาทีที่ 18 ของการแข่งขัน พาเลซ (ซึ่งไม่เคยเล่นในรอบชิงชนะเลิศมาก่อน) ขึ้นนำก่อนจากแกรี โอไรลีย์ ก่อนที่ไบรอัน ร็อบสันจะยิงประตูตีเสมอในนาทีที่ 35 มาร์ก ฮิวส์ยิงประตูให้ยูไนเต็ดขึ้นนำในนาทีที่ 62 แต่พาเลซตีเสมอได้ในนาทีที่ 72 โดยเอียน ไรต์ หมดเวลาเสมอกัน และการแข่งขันเข้าสู่ช่วงต่อเวลาพิเศษ ไรต์ ยิงประตูให้พาเลซขึ้นนำและดูเหมือนว่าถ้วยเอฟเอคัพจะมุ่งหน้าสู่ เซลเฮิสต์พาร์ก เป็นครั้งแรก จากนั้น เมื่อเหลือช่วงต่อเวลาพิเศษอีก 7 นาที มาร์ก ฮิวส์ ทำประตูตีเสมอได้ทำให้ต้องเล่นนัดรีเพลย์
จิม เลห์ตัน ผู้รักษาประตูมือหนึ่งมีฟอร์มที่ไม่คงเส้นคงวามาเกือบตลอดฤดูกาล 1989–90 ฟอร์มของเขาในเอฟเอคัพรอบชิงชนะเลิศก็ไม่แตกต่างกัน จากนั้นอเล็กซ์ เฟอร์กูสันจึงตัดสินใจดร็อปเลห์ตันในนัดรีเพลย์ และส่งเลส ซีลีย์ที่ย้ายมาร่วมทีมแบบยืมตัวจากลูตันทาวน์เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และลงเล่นให้กับสโมสรเพียง 2 นัดก่อนหน้านี้ ลงมาเป็นผู้รักษาประตูมือหนึ่งแทน
นัดรีเพลย์เล่นที่เวมบลีย์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม และซีลีย์เซฟได้อย่างน่าทึ่งหลายครั้งในครึ่งแรกเพื่อป้องกันไม่ให้พาเลซขึ้นนำ ในนาทีที่ 59 ลี มาร์ติน ยิงประตูชัยจากการจ่ายบอลของ นีล เว็บบ์ ส่งผลให้ยูไนเต็ดคว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี
3 สัปดาห์หลังนัดชิงชนะเลิศ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เซ็นสัญญาคว้าตัวเดนิส เออร์วิน ฟูลแบ็คทีมชาติไอร์แลนด์วัย 24 ปี จากโอลดัมแอทเลติก ด้วยค่าตัว 625,000 ปอนด์ โดยอเล็กซ์ เฟอร์กูสันตั้งใจจะใช้เขาเป็นแบ็กขวา ขณะที่ไมค์ ฟีแลนถูกสลับมาเป็นกองกลาง
ทีม
[แก้]ผู้รักษาประตู
[แก้]กองหลัง
[แก้]- (2) วิฟ แอนเดอร์สัน
- (3) ลี มาร์ติน
- (4) สตีฟ บรูซ
- (6) แกรี พัลลิสเตอร์
- ดีเร็ค บราซิล
กองกลาง
[แก้]- (7) ไบรอัน ร็อบสัน (c)
- (8) พอล อินซ์
- ไมค์ ฟีแลน
- ลี ชาร์ป
- นีล เว็บบ์
ซื้อขายนักเตะ
[แก้]ย้ายเข้า
[แก้]วันที่ | ตำแหน่ง | ผู้เล่น | จาก | ค่าตัว |
---|---|---|---|---|
1 กรกฎาคม 1989 | MF | ไมค์ ฟีแลน | นอริชซิตี | 750,000 ปอนด์ |
นีล เว็บบ์ | นอตทิงแฮมฟอเรสต์ | 1.5 ล้านปอนด์ | ||
24 สิงหาคม 1989 | DF | ไบรอัน แครี่ย์ | คอร์กซิตี | 100,000 ปอนด์ |
28 สิงหาคม 1989 | DF | แกรี พัลลิสเตอร์ | มิดเดิลส์เบรอ | 2.3 ล้านปอนด์ |
13 กันยายน 1989 | MF | พอล อินซ์ | เวสต์แฮมยูไนเต็ด | 2.4 ล้านปอนด์ |
18 กันยายน 1989 | FW | แดนนี วอลเลซ | เซาแทมป์ตัน | 1.2 ล้านปอนด์ |
21 กันยายน 1989 | FW | Andy Rammell | Atherstone United | 40,000 ปอนด์ |
ย้ายออก
[แก้]วันที่ | ตำแหน่ง | ผู้เล่น | ไป | ค่าตัว |
---|---|---|---|---|
กรกฎาคม 1989 | DF | Wayne Heseltine | โอลดัมแอทเลติก | 40,000 ปอนด์ |
12 กรกฎาคม 1989 | DF | Nicky Spooner | โบลตันวอนเดอเรอส์ | ไม่เปิดเผยค่าตัว |
3 สิงหาคม 1989 | DF | พอล แม็คกรัธ | แอสตันวิลลา | 450,000 ปอนด์ |
สิงหาคม 1989 | FW | นอร์มัน ไวต์ไซด์ | เอฟเวอร์ตัน | 750,000 ปอนด์ |
25 ตุลาคม 1989 | FW | Shaun Goater | Rotherham United | 40,000 ปอนด์ |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Manchester United Season 1989/90". StretfordEnd.co.uk. สืบค้นเมื่อ 23 May 2008.
- ↑ "Barclays First Division 1989/1990: Historical league standings at 23rd September 1989". manchesterunited-mad.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 October 2011. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
- ↑ "Fixtures". www.manchesterunited-mad.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 September 2012.
- ↑ "Barclays First Division 1989/1990: Historical league standings at 30th December 1989". www.manchesterunited-mad.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 October 2011.