อัตเลติโกเดมาดริด
ไฟล์:Atletico Madrid Logo 2024.svg | ||||
ชื่อเต็ม | กลุบอัตเลติโกเดมาดริด | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | Los Colchoneros (The Mattressers) Los Rojiblancos (The Red-and-Whites) ตราหมี (ในภาษาไทย) | |||
ก่อตั้ง | 26 เมษายน 1903 (ในชื่อ Athletic Club de Madrid) 4 ตุลาคม 1939 (ในชื่อ Club Atlético de Madrid) | |||
สนาม | เอสตาดีโอเมโตรโปลีตาโน, มาดริด | |||
ความจุ | 67,703 ที่นั่ง[1] | |||
ประธานสโมสร | เอนริเก เซเรโซ | |||
ผู้จัดการ | ดิเอโก ซิเมโอเน | |||
ลีก | ลาลิกา | |||
2022–23 | ลาลิกา อันดับที่ 3 จาก 20 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
| ||||
กลุบอัตเลติโกเดมาดริด (สเปน: Club Atlético de Madrid) หรือที่รู้จักในชื่อ อัตเลติโกมาดริด และ อัตเลติโก เป็นสโมสรฟุตบอลจากกรุงมาดริด ประเทศสเปน เล่นอยู่ในลีกลาลิกาซึ่งเป็นลีกสูงสุดของฟุตบอลสเปน มีสนามเหย้าคือเอสตาดิโอเมโตรโปลิตาโน ความจุ 70,692 ที่นั่ง[2]
สโมสรก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1903 ในชื่อ อัตเลติกคลับเดมาดริด (Athletic Club Sucursal de Madrid) สโมสรมีธรรมเนียมในการสวมชุดแข่งขันลายทางแนวตั้งสีแดงและสีขาวมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นที่รู้จักในชื่อ Los Colchoneros ("ช่างทำที่นอน") และ Los Rojiblancos ("ขาวแดง") สโมสรเปลี่ยนชื่อเป็น อัตเลติโกเดมาดริด ใน ค.ศ. 1946 และใช้ชื่อนี้มาถึงปัจจุบัน สโมสรเป็นคู่อริของทีมร่วมเมืองอย่างเรอัลมาดริดในการแข่งขันเดร์บิมาดริเลญโญ รวมทั้งเป็นคู่แข่งกับบาร์เซโลนา[3] สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน พระมหากษัตริย์สเปน ดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของสโมสรมาตั้งแต่ ค.ศ. 2003
อัตเลติโกเดมาดริดเป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในฟุตบอลสเปน สำหรับการแข่งขันในประเทศ สโมสรชนะเลิศลาลิกา 11 สมัย (รวมดับเบิลแชมป์ฟุตบอลลีกและฟุตบอลถ้วยใน ค.ศ. 1996), โกปาเดลเรย์ 10 สมัย, ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา 2 สมัย รวมถึงเพรสซิเดนท์คัพ และโกปาเอบาดัวร์เต รายการละ 1 สมัย ในการแข่งขันนานาชาติ สโมสรชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย (1962), ยูฟ่ายูโรปาลีก 3 สมัย (2010, 2012 และ 2018), ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 3 สมัย (2010, 2012 และ 2018) และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปและอเมริกาใต้ 1 สมัย (1974) และเข้าชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 3 ครั้ง (1974, 2014 และ 2016)
ประวัติ
[แก้]ยุคแรก (1903–1939)
[แก้]สโมสรก่อตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1903[4] ในชื่ออัตเลติกคลับเดมาดริด โดยนักศึกษาชาวบาสก์ 3 คนที่อาศัยอยู่ในกรุงมาดริด ผู้ก่อตั้งมีแนวคิดว่าสโมสรใหม่แห่งนี้ จะทำหน้าที่เป็นสาขาของทีมเยาวชนของทีมในวัยเด็กของพวกเขาอย่างอัตเลติกเดบิลบาโอ[5] ในปีต่อมา สมาชิกฝ่ายต่อต้านจากเรอัลมาดริดได้ย้ายร่วมทีม ในช่วงเวลานั้นสโมสรลงแข่งขันในชุดสีน้ำเงินและสีขาวซึ่งเป็นสีของอัตเลติกเดบิลบาโอ ก่อนที่ใน ค.ศ. 1910 ทั้งอัตเลติกเดบิลบาโอและอัตเลติกคลับเดมาดริดได้เปลี่ยนมาใช้ชุดแข่งขันแถบสีแดงและสีขาวซึ่งเป็นสีหลักมาถึงปัจจุบัน โดยเชื่อกันว่าสาเหตุในการเปลี่ยนสีนั้นเนื่องมาจากผ้าลายทางสีแดงและขาวเป็นผ้าที่มีราคาถูกที่สุดในการผลิต ซึ่งมีการใช้ผ้าผสมแบบเดียวกันนี้ในการทำที่นอน และส่วนที่เหลือซึ่งไม่ได้ใช้สามารถนำมาผลิตเป็นเสื้อฟุตบอลได้อย่างง่ายดาย นี่จึงเป็นที่มาของฉายา Los Colchoneros ("ช่างทำที่นอน")
อย่างไรก็ตาม พบข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับที่มาของชุดแข่งขันสโมสร ด้วยแนวคิดว่าทั้งอัตเลติกเดบิลบาโอ และแอทเลติกคลับเดมาดริดเคยซื้อชุดแข่งขันของสโมสรแบล็กเบิร์นโรเวอส์ในประเทศอังกฤษ[6][7] โดยในช่วงปลายปี 1909 ฆวน เอลอร์ดูย อดีตผู้เล่นและคณะกรรมการของสโมสรเดินทางไปอังกฤษเพื่อซื้อชุดแข่งขันสำหรับทั้งสองทีม แต่ไม่สามารถหาชุดแข่งขันของแบล็กเบิร์นโรเวอส์ได้ จึงซื้อชุดลายขาวแดงของสโมสรเซาแทมป์ตันแทน (สโมสรซึ่งตั้งอยู่ในเมืองท่าซึ่งเป็นจุดขึ้นเรือกลับประเทศสเปน)[8] จากนั้น สโมสรจึงเริ่มใช้ชุดแข่งขันสีแดงและขาวเป็นสีหลัก และเป็นที่มาของฉายาต่อมาก็คือ Los Rojiblancos ("ขาวแดง")[9] แต่ยังคงรักษากางเกงขาสั้นสีน้ำเงินแบบดั้งเดิมเอาไว้ ในขณะที่อัตเลติกเดบิลบาโอได้เปลี่ยนมาใช้กางเกงขาสั้นสีดำ[10] อัตเลติกเดบิลบาโอชนะการแข่งขันโกปาเดลเรย์ นัดชิงชนะเลิศ 1911 ด้วยผู้เล่นหลายคนที่ยืมตัวมาจากแอทเลติกคลับเดมาดริด[11]
สนามแห่งแรกของอัตเลติกคลับเดมาดริดคือสนาม Ronda de Vallecas ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณชนชั้นแรงงานทางทิศใต้ของเมือง โดยในปี 1919 บริษัท Compañía Urbanizadora Metropolitana ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลระบบสื่อสารใต้ดินในกรุงมาดริด ได้ซื้อที่ดินบางส่วนใกล้กับ Ciudad Universitaria ต่อมาในปี 1921 แอทเลติกคลับเดมาดริดเป็นอิสระจากการบริหารของสโมสรแม่อย่างอัตเลติกเดบิลบาโอ และย้ายไปสู่สนามแห่งใหม่อย่าง เอสตาดิโอเมโตรโปลิตาโน เด มาดริด ด้วยความจุ 35,800 ที่นั่ง[12]
สโมสรเริ่มประสบความสำเร็จในทศวรรษ 1920 ด้วยการชนะการแข่งขัน Campeonato Regional Centro 3 สมัย และรองชนะเลิศโกปาเดลเรย์ 1921 ซึ่งพวกเขาพบกับอัตเลติกเดบิลบาโอ และเข้าชิงชนะเลิศอีกครั้งในปี 1926 แต่แพ้บาร์เซโลนา จากความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้ในปี 1928 พวกเขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขัน Primera División ของลาลิกาซึ่งจัดขึ้นในปีถัดไป ในช่วงแรกของการลงเล่นลาลิกา สโมสรอยู่ภายใต้การฝึกสอนโดยเฟร็ด เพนต์แลนด์ ชาวอังกฤษ แต่สโมสรต้องตกชั้นสู่ลีกระดับสองอย่างเซกุนดาดิบิซิออนในอีกสองปีต่อมา และกลับสู่ลาลิกาได้อีกครั้งใน ค.ศ. 1934 แต่ต้องชั้นอีกครั้งในปีสองปีต่��มา โดยผู้ฝึกสอนอย่างโฆเซป ซามิติเยร์ ชาวสเปนซึ่งเข้ามารับตำแหน่งแทนเพนต์แลนด์ในช่วงกลางฤดูกลาง สงครามกลางเมืองสเปนทำให้การแข่งขันของสโมสรต้องถูกระงับชั่วคราว เนื่องจากสนามของทีมคู่แข่งอย่างเรอัลโอเบียโด ไม่สามารถใช้การได้เนื่องจากการทิ้งระเบิด ส่งผลให้การตกชั้นของสโมสรในลาลิการวมถึงแอทเลติกคลับเดมาดริดถูกเลื่อนออกไป และสโมสรเอาชนะการแข่งขันรอบเพลย์ออฟเหนือเซอา โอซาซูนา ซึ่งเป็นทีมแชมป์เซกุนดาดิบิซิออนในปีนั้น
อัตเลติก อาวิอาซิออน เด มาดริด (1939–1947)
[แก้]ภายหลังจากฟุตบอลลาลิกากลับมาทำการแข่งขันในปี 1939 สโมสรได้ควบรวมกับ Aviación Nacional (สโมสรฟุตบอลอาวิอาซิออน นาซิอองนาล) ในเมืองซาราโกซา และกลายเป็น อัตเลติก อาวิอาซิออน เด มาดริด โดยสโมสรนาซิอองนาลนั้นก่อตั้งขึ้นในปี 1937 โดยทหารจากกองทัพอากาศสเปนจำนวน 3 นาย[13] พวกเขาได้รับคำมั่นว่าจะได้ลงเล่นในลาลิกา ฤดูกาล 1939–40 แต่ถูกปฏิเสธโดยราชสหพันธ์ฟุตบอลสเปน และเนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการเลื่อนชั้นขึ้นไปในดิวิชันอื่น สโมสรแห่งนี้จึงควบรวมกับอัตเลติกซึ่งทีมของพวกเขาสูญเสียผู้เล่นไปแปดคนในช่วงสงครามกลางเมือง รวมถึงดาวเด่นของทีมอย่างมอนชิน ตริอานา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ในช่วงเวลานั้น เรอัลโอเบียโต ได้สละสิทธิ์การแข่งขันนัดตัดสินเพื่อหาผู้ชนะเลื่อนชั้นสู่ลาลิกา ส่งผลให้การช่วงชิงตำแหน่งนี้ตกเป็นของ อาวิอาซิออน นาซิอองนาล และ โอซาซูนา ณ เมืองบาเลนเซีย วันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1939 ซึ่งนาซิอองนาลเอาชนะไปได้ 3–1 ภายใต้การนำของผู้ฝึกสอนอย่างริการ์โด ซาโมรา ซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะตำนานของสโมสร พวกเขาชนะเลิศการแข่งขันลีกสูงสุดสองสมัยติดต่อกันระหว่างปี 1940 และ 1941 ในช่วงเวลานี้ สโมสรมีผู้เล่นคนสำคัญซึ่งมีเสน่ห์เป็นที่จดจำอย่าง เจอร์มัน โกเมส กองกลางชาวสเปนซึ่งย้ายมาจากราซินเดซันตันเดร์ ใน ค.ศ. 1939 ลงเล่นให้สโมสรเป็นเวลา 8 ฤดูกาลติดต่อกันจนถึงฤดูกาล 1947–48 ผนึกกำลังร่วมกับตัวหลักอย่าง ราโมน กาบีลอนโด และมาชิน
สืบเนื่องจากคำสั่งโดย ฟรันซิสโก ฟรังโกในกลางทศวรรษ 1940 ซึ่งสั่งแบนสโมสรที่ใช้ชื่อต่างประเทศเป็นชื่อสโมสร พวกเขาจึงเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น อัตเลติโก อาวิอาซิออน เด มาดริด[14] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1940 สโมสรชนะเลิศการแข่งขันซูเปอร์คัพสมัยแรกด้วยการเอาชนะแอร์ราเซเด อัสปัญญ็อล ด้วยผลประตูรวมสองนัด 10–4 ซึ่งชัยชนะในนัดที่สองด้วยผลประตู 7–1 ณ สนามกีฬาบาเยกัส เป็นที่จดจำอย่างมาก[15] ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1946 สโมสรตัดสินใจตัดชื่อซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทัพหรือการทหารออก และจากนั้นในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1947 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Club Atlético de Madrid (กลุบอัตเลติโกเดมาดริด) และใช้ชื่อดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน ในปีเดียวกันนั้น อัตเลติโกยังเอาชนะคู่อริอย่างเรอัลมาดริดได้ถึง 5–0 ณ สนามเอสตาดิโอเมโตรโปลิตาโน เด มาดริด ถือเป็นชัยชนะที่ขาดลอยที่สุดที่มีต่อคู่ปรับร่วมเมืองมาถึงปัจจุบัน
ยุคทอง (1947–1965)
[แก้]ภายใต้ผู้ฝึกสอนชาวอาร์เจนตินา เอเลนิโอ เอร์เรรา สโมสรชนะเลิศลาลิกาเพิ่มอีกสองสมัยใน ค.ศ. 1950 และ 1951 ภายหลังการอำลาทีมของเขา สโมสรต้องตกเป็นรองทีมใหญ่อย่างเรอัลมาดริด และบาร์เซโลนาในทศวรรษนี้ และทำได้เพียงการแย่งอันดับ 3 กับอัตเลติกเดบิลบาโอ อย่างไรก็ตามในทศวรรษ 1960 และ 1970 สโมสรมีผลงานที่ดีขึ้นและแย่งการเป็นทีมอันดับสองกับบาร์เซโลนาได้ โดยในฤดูกาล 1957–58 พวกเขาคว้ารองแชมป์โดยตามหลังแชมป์อย่างเรอัลมาดริดเพียง 3 คะแนน และมีคะแนนมากกว่าบาร์เซโลนา 4 คะแนน ภายใต้ผู้ฝึกสอนอย่างเฟอร์ดินันด์ เดาชิค ทำให้สโมสรได้สิทธิ์แข่งขันยูโรเปียนคัพ ฤดูกาล 1958–59 และผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศโดยเอาชนะสโมสรกีฬากลางแห่งกองทัพบก โซเฟีย ด้วยผลประตูรวมสองนัด 3–1 ตามด้วยการชนะชัลเคอ 04 ด้วยผลรวม 4–1[16] แต่แพ้เรอัลมาดริด 2–1 ในการแข่งขันนัดตัดสินนัดที่สามที่ซาราโกซา[17][18]
อย่างไรก็ตาม สโมสรสามารถล้างแค้นเรอัลมาดริดได้ ภายใต้ผู้ฝึกสอนชาวสเปน โฆเซ บิยาลองกา ผู้พาสโมสรชนะเลิศโกปาเดลเรย์ 2 สมัยติดต่อกันในปี 1960 และ 1961 โดยเอาชนะเรอัลมาดริดทั้งสองปีด้วยผลประตู 3–1 และ 3–2 ตามลำดับ ตามด้วยการชนะเลิศฟุตบอลยุโรปครั้งแรกด้วยการเอาชนะฟีออเรนตีนาในรายการยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ 1961–62 ในนัดแข่งใหม่ 3–0[19] นี่ถือเป็นชัยชนะที่สำคัญของสโมสร เนื่องจากการแข่งขันยูโรเปียน/ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ เป็นการแข่งขันระดับทวีปยุโรปรายการเดียวที่คู่แข่งอย่างเรอัลมาดริดไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ สโมสรเข้าชิงชนะเลิศได้อีกครั้งในปี 1963 แต่แพ้ทอตนัมฮอตสเปอร์ 5–1[20] ผู้เล่นคนสำคัญในช่วงทศวรรษนี้คือปีกพรสวรรค์อย่างเอนรีเก โกลัล, มิเกล โจนส์ และ อเดลาร์โด โรดริเกซ[21]
ในช่วงเวลานั้น สโมสรอริอย่างเรอัลมาดริด ครองความยิ่งใหญ่ในฟุตบอลสเปนอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 1961 ถึง 1980 พวกเขาชนะเลิศลาลิกาถึง 14 สมัย โดยอัตเลติโกเดมาดริดสามารถแย่งความสำเร็จดังกล่าวมาได้ในฤดูกาล 1966, 1970, 1973 และ 1977 และคว้ารองแชมป์สามครั้งในปี 1961, 1963 และ 1965 สโมสรยังชนะเลิศโกปาเดลเรย์เพิ่มในปี 1965, 1972 และ 1976 และในปี 1965 ที่พวกเขาจบอันดับสองในลีก พวกเขาเป็นสโมสรแรกในรอบ 8 ปีที่บุกไปชนะเรอัลมาดริดได้ที่สนามกีฬาซานเตียโก เบร์นาเบว
เข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลยูโรเปียนคัพ (1965–1974)
[แก้]ในปี 1966 สโมสรได้ย้ายจากสนามเอสตาดิโอเมโตรโปลิตาโน เด มาดริด (ซึ่งถูกรื้อถอนและก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของอาคารเรียนมหาวิทยาลัยและตึกสำนักงานของบริษัท ENUSA) สู่สนามแห่งใหม่ริมแม่น้ำมานซานาเรส ซึ่งได้แก่สนามกีฬาบิเซนเต กัลเดรอน การลงสนามนัดแรกในสนามแห่งนี้คือนัดที่พบกับบาเลนเซียวันที่ 2 ตุลาคม[22] ผู้เล่นสำคัญในช่วงเวลานี้ได้แก่ ลุยส์ อาราโกเนส, ฆาเวียร์ อิรูเรตา, และโฆเซ ยูโลจิโอ การาเตซึ่งได้รับรางวัลผู้ทำประตูสูงสุดของลาลิกาสามครั้งในปี 1969, 1970 และ 1971 ในทศวรรษ 1970 สโมสรนำเข้าผู้เล่นอาร์เจนตินาเข้ามาหลายคน ได้แก่ รูเบน อยาลา, รูเบน ดิอัซ, ราโมน เฮเรเดีย รวมถึงผู้ฝึกสอนอย่างฆวน การ์โลส โลเรนโซ ซึ่งโลเรนโซเน้นการปลูกฝังระเบียบวินัยให้แก่ผู้เล่น และเน้นการตัดเกมของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม แม้จะได้รับการวิจารณ์แต่เขาก็พิสูจน์ว่ารูปแบบการเล่นของเขาได้ผล สโมสรชนะเลิศลาลิกาอีกครั้งในปี 1973 และเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลยูโรเปียนคัพ 1974 เป็นครั้งแรก[23] เส้นทางก่อนหน้านั้นพวกเขาเอาชนะกาลาทาซาไร, ดินาโม บูคาเรสต์, เรดสตาร์เบลเกรด และเซลติก[24] ในรอบรองชนะเลิศนัดแรกที่พบกับเซลติกนั้น ผู้เล่นอัตเลติโกเดมาดริดได้รับใบแดงถึงสามคนภายใต้การแข่งขันอันดุเดือดตลอดทั้งเกม และถือเป็นนัดแข่งขันที่มีการทำฟาวล์ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่รายการนี้เคยมี แต่อัตเลติโกเดมาดริดเอาตัวรอดด้วยการยันผลเสมอ 0–0 กลับออกไปและเอาชนะได้ 2–0 ในบ้าน[25]
การแข่งขันนัดชิงชนะเลิศนั้น อัตเลติโก���ดมาดริดปราศจากผู้เล่นตัวหลักซึ่งถูกแบนจากการรับใบแดงก่อนหน้านี้ พวกเขาพบไบเอิร์นมิวนิกซึ่งเต็มไปด้วยผู้เล่นชั้นนำหลายคน เช่น ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์, เซ็พพ์ ไมเยอร์, พอล ไบรท์เนอร์, อุลริช "อูลี" เฮอเนอส และแกร์ท มึลเลอร์ การแข่งขันจัดขึ้นที่บรัสเซลส์ อัตเลติโกเดมาดริดเกือบจะคว้าแชมป์ได้โดยได้ประตูขึ้นนำในนาทีที่ 114 ในช่วงต่อเวลาจากอาราโกเนส แต่ถูกตีเสมอในนาทีสุดท้ายของการต่อเวลาจากฮันส์-จอร์จ วาร์เซนเบค และต้องลงแข่งขันในนัดแข่งใหม่ และครั้งนี้พวกเขาแพ้ไป 4–0[26]
ยุคของอาราโกเนส (1974–1987)
[แก้]ไม่นานหลังจากความพ่ายแพ้ในฟุตบอลยูโรเปียนคัพ สโมสรแต่งตั้งอดีตผู้เล่นอย่างลุยส์ อาราโกเนสเป็นผู้ฝึกสอน อาราโกเนสคุมสโมสรถึง 4 ช่วงเวลาด้วยกัน ตั้งแต่ปี 1974 ถึง 1980, 1982 ถึง 1987, 1991 ถึง 1993 และ 2002 ถึง 2003 ความสำเร็จรายการแรกในยุคของอาราโกเนสเกิดขึ้นในรายการฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปและอเมริกาใต้ (อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ) สืบเนื่องจากแชมป์ยูโรเปียนคัพอย่างไบเอิร์นมิวนิกสละสิทธิ์การแข่งขันเนื่องจากโปรแกรมการแข่งขันที่อัดแน่นของทีม ทำให้สิทธิ์เป็นของอันเลติโกเดมาดริดแทน พวกเขาพบกับกลุบอัตเลติโกอินเดเปนดิเอนเต โดยบุกไปชนะได้ 1–0 และกลับมาชนะในบ้านอีก 2–0 จากประตูของอิรูเรตา และรูเบน อยาลา[27] ตามด้วยการชนะเลิศโกปาเดลเรย์ 1976 เอาชนะซาราโกซา 1–0 และแชมป์ลาลิกา ฤดูกาล 1976–77
ในการคุมทีมวาระที่สองของอาราโกเนส เขาพาทีมคว้าอันดับ 2 ในลาลิกา และชนะเลิศโกปาเดลเรย์ในปี 1985 ด้วยผู้เล่นตัวหลักชาวเม็กซิกันอย่างอูโก ซันเชสซึ่งทำ 19 ประตูในลีกและกลายเป็นผู้เล่นที่ทำประตูสูงสุดในลาลิกาในฤดูกาลนี้ รวมถึงการทำสองประตูในนัดชิงชนะเลิศที่สโมสรเอาชนะอัตเลติกเดบิลบาโอ 2–1 แต่เขาก็ลงเล่นให้สโมสรในปีนี้เป็นปีสุดท้ายและย้ายไปร่วมทีมคู่แข่งอย่างเรอัลมาดริด อย่างไรก็ตาม สโมสรยังชนะเลิศซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาด้วยการชนะบาร์เซโลนา และยังเข้าชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ 1986 ก่อนจะแพ้ดือนามอกือยิว 3–0[28][29]
ยุคของตอร์เรส และการเปลี่ยนแปลงของสโมสร (2000–2011)
[แก้]ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 อัตเลติโกเดมาดริดเริ่มกลับมาเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการฟุตบอลสเปนอีกค��ั้ง หลักจากที่ได้แชมป์เซกุนดาดิบิซิออน ในปี 2002 ในยุคที่ ลุยส์ อาราโกเนส ซึ่งทั้งเคยเป็นตำนานของสโมสรและเป็นผู้จัดการทืมคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จกับสโมสรซึ่งเคยคุมสโมสรตั้งแต่ปี 1974 และเขาก็ได้กลับมาคุมทีมอีกครั้งในปีเดียวกัน เขาได้นำอัตเลติโกเดมาดริดขึ้นมาอยู่ในดิวิชันแรก (ลาลิกาในปัจจุบัน) และเป็นคนที่ให้โอกาสเฟร์นันโด ตอร์เรสได้ลงเล่นในลาลิกาครั้งแรกผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกองหน้าตัวหลัก และหนึ่งในตำนานของสโมสรซึ่งการลงสนามสนัดแรกเป็นนัดที่พบบาร์เซโลนาที่กัมนอว์ และจบลงด้วยการเสมอกัน 2–2
กองหน้าอย่างตอร์เรสทำไปถึง 13 ประตูจากการลงเล่น 29 นัดในฤดูกาล 2002–03[30] ด้วยผลงานโดดเด่นทำให้เป็นที่สนใจโดยเชลซี ซึ่งได้ยิ่นข้อเสนอมูลค่า 28 ล้านปอนด์ให้แก่ตอร์เรส ก่อนจะถูกปฏิเสธโดยอัตเลติโกเดมาดริด ต่อมาในฤดูกาล 2003–04 ตอร์เรสยังทำผลงานโดดเด่นต่อเนื่องด้วยการทำ 19 ประตูจาก 35 นัดในลาลิกา ส่งผลให้เขาเป็นผู้ทำประตูสูงสุดในอันดับสามของลีก[31] เขาถือเป็นผลผลิตและความภาคภูมิใจของสโมสรอย่างแท้จริง โดยอยู่กับสโมสรมาตั้งแต่อายุ 11 ปี และกลายเป็นกัปตันทีมที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรในวัย 19 ปี[32][33]
ในปี 2006 สโมสรได้เซ็นสัญญากับกอชตินยาและมานีชีนักฟุตบอลชาวโปรตุเกส รวมทั้งเซร์คีโอ อะกูเอโร กองหน้าชาวอาร์เจนตินา ต่อมา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007 สโมสรได้ขายตอร์เรสให้กับลิเวอร์พูลด้วยจำนวนเงิน 26 ล้านปอนด์ และได้ลุยส์ การ์ซีอาเป็นหนึ่งในข้อแลกเปลี่ยน จากนั้นสโมสรได้เซ็นสัญญากับเดียโก ฟอร์ลัน กองหน้าชาวอุรุกวัย ด้วยจำนวนเงิน 21 ล้านปอนด์จากบิยาร์เรอัล พร้อมปล่อยตัวมาร์ติน เปตรอฟ ชาวบัลแกเรียให้กับแมนเชสเตอร์ซิตีในราคา 7 ล้านปอนด์ และได้เซ็นสัญญากับนักเตะชื่อดังชาวโปรตุเกสอย่างซีเมา ซาบรอซา จากสปอร์ลิชบัวอีไบฟีกา รวมทั้งเซ็นสัญญากับโฆเซ อันโตนีโอ เรเยส ด้วยค่าตัว 12 ล้านปอนด์
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 คณะกรรมการบริหารของสโมสรได้พูดคุยกับเทศบาลกรุงมาดริดในการสร้างสนามเหย้าใหม่คือเอสตาดีโอลาเปย์เนตา ซึ่งจะเปิดใช้งานในปี 2016 ต่อมาในฤดูกาล 2007–08 สโมสรได้เริ่มประสบความสำเร็จในการแข่งขันของยุโรปมากขึ้น โดยสามารถผ่านเข้ารอบ 32 ทีมสุดท้ายในการแข่งขันยูฟ่าคัพ แต่ก็ต้องแพ้โบลตันวันเดอเรอส์ และเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในถ้วยโกปาเดลเรย์ก่อนจะแพ้บาเลนเซีย และในฤดูกาลนี้สโมสรจบในอันดับที่ 4 และได้สิทธิ์ไปเล่นยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในรอบคัดเลือกฤดูกาลหน้า โดยมีนักเตะตัวหลักในฤดูกาลนี้ เช่น เซร์ฆิโอ อาเกวโร, เดียโก ฟอร์ลัน, ซีเมา ซาบรอซา, มักซี โรดรีเกซ และผู้รักษาประตูอย่างเลโอ ฟรานโก
ต่อมาในฤดูกาล 2008–09 สโมสรได้ลงเล่นในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกครั้งแรกหลังจากปี 1997 โดยในรอบคัดเลือกรอบที่ 3 เจอกับชัลเคอ 04 และพวกเขาเอาชนะไปด้วยผลประตูรวมสองนัด 4–1 หลังจากนั้นได้เข้ามาอยู่ในรอบแบ่งกลุ่มซึ่งเจอกับสโมสรใหญ่ทั้งลิเวอร์พูล, พีเอสวี ไอน์โฮเฟน และออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ แต่สโมสรก็สามาร���ผ่านเข้ารอบต่อไปได้ในฐานะรองแชมป์กลุ่ม แต่ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย สโมสรพ่ายโปร์ตูด้วยกฎประตูทีมเยือน สโมสรได้เสริมทัพด้วยการซื้อนักเตะในช่วงตลาดซื้อ-ขายนักเตะเปิดในช่วงมกราคม ค.ศ. 2009 ด้วยการซื้อตัว เกรกอรี กูแป ผู้รักษาประตูชาวฝรั่งเศส, จอห์น ไฮทิงกา กองหลังชาวดัตช์, โตมาช อุลฟาลูชี เซ็นเตอร์แบ็กชาวเช็ก, เปาลู อาซุงเซา กองกลางตัวรับชาวบราซิล, เอเบร์ บาเนกา กองกลางตัวรับชาวอาร์เจนตินาซึ่งยืมตัวมาจากบาเลนเซีย และกองหน้าชาวฝรั่งเศสอย่างฟลอร็อง ซีนามา ปงกอล
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 ฆาเบียร์ อากีร์เร ลาออกจากการเป็นผู้จัดการทีม หลังจากการเริ่มต้นในปี 2009 ด้วยการนำสโมสรไม่ชนะทีมใดติดต่อกัน 6 เกม โดยเขาอ้างว่าไม่ได้มีกรณีหรือเหตุการณ์ใด ๆ กับสโมสร ซึ่งในสื่อข่าวได้นำเสนอว่าเขาถูกยกเลิกสัญญามากกว่าการไล่ออก[34] หลังจากนั้นแฟนบอลของสโมสรได้ออกมาประท้วงและโต้แย้งจากการลาออกของอากีร์เร อาเบล เรซีโน เข้ามารับตำแหน่งต่อ ซึ่งยังพาทีมจบอันดับ 4 ได้ลงแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบเพลย์ออฟ กองหน้าอย่างฟอร์ลันยังเป็นผู้ทำประตูสูงสุดของลาลิกาในฤดูกาลนี้ และคว้ารางวัลรองเท้าทองคำยุโรป จากผลงาน 32 ประตูรวมทุกรายการ[35] นอกจากนี้ ดาวรุ่งอย่าง ดาบิด เด เฆอา ยังก้าวขึ้นมาเป็นผู้รักษาประตูอายุน้อยที่น่าจับตามอง สโมสรยังนำเข้าผู้เล่นเพิ่มเติมหลายราย รวมถึง เซร์คิโอ อเซนโฆ จากเรอัลบายาโดลิด และฆัวนิโต จากเรอัลเบติส แม้สองผู้เล่นสำคัญอย่างอาเกวโร และฟอร์ลันจะได้รับความสนใจจากสโมสรใหญ่ แต่สโมสรยังเก็บผู้เล่นทั้งสองไว้ในฐานะกำลังหลักเพื่อลุ้นความสำเร็จ
สโมสรมีผลงานตกต่ำลงในฤดูกาล 2009–10 ในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2009 อัตเลติโกเดมาดริดแพ้เชลซี 4–0 ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก[36] เรซีโนถูกปลดจากตำแหน่ง และภายหลังจากล้มเหลวในการเจรจาให้มีเคล เลาโตรป เข้ามาคุมทีม สโมสรจึงแต่งตั้ง กีเก ซันเชส ฟลอเรส[37][38] ซึ่งเข้ามายกระดับทีม พาทีมจบอันดับ 3 ในรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2009–10 และลงแข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก ซึ่งพวกเขาคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยแรก เริ่มจากการชนะกาลาทาซาไรสปอร์คูลือบือ ในรอบ 32 สุดท้ายด้วยผลประตูรวม 3–2 และเอาชนะสปอร์ติงลิสบอนด้วยกฏการยิงประตูทีมเยือนหลังจากเสมอกัน 2–2 และเอาชนะคู่แข่งร่วมลีกอย่างบาเลนเซียในรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยกฏประตูทีมเยือนอีกเช่นกัน ตามด้วยการชนะลิเวอร์พูลในรอบรองชนะเลิศในช่วงต่อเวลา[39] การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้นที่ฟ็อลคส์พาร์คชตาดีอ็อน สโมสรเอาชนะทีมจากพรีเมียร์ลีกอย่างฟูลัม 2–1 ด้วยประตูชัยในช่วงต่อเวลานาทีที่ 116 โดยฟอร์ลัน[40][41] ถือเป็นความสำเร็จในรายการยุโรปครั้งแรกของอัตเลติโกเดมาดริด นับตั้งแต่ชนะเลิศยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ ฤดูกาล 1961–62 และยังเข้าชิงชนะเลิศโกปาเดลเรย์วันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 แต่แพ้เซบิยา 2–0
จากการชนะเลิศยูโรปาลีก ทำให้สโมสรได้ลงแข่งขันยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2010 และคว้าแชมป์จากการเอาชนะอินเตอร์มิลาน 2–0 จากประตูของเรเยส และ อาเกวโร ถือเป็นแชมป์ครั้งแรกของสโมสรในถ้วยนี้[42] ฟลอเรสอำลาตำแหน่งหลังจากผลงานน่าผิดหวังในฤดูกาล 2010–11 ซึ่งสโมสรจบอันดับ 7 และยังตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายโกปาเดลเรย์ และตกรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่ายูโรปาลีก[43]
ยุคของดิเอโก ซิเมโอเน (2011–ปัจจุบัน)
[แก้]สโมสรแต่งตั้งดิเอโก ซิเมโอเน อดีตนักฟุตบอลชาวอาร์เจนตินา และอดีตผู้เล่นสโมสรเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2011[44][45] ในช่วงเวลานั้นสโมสรตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนัก มีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมถึง 5 คนในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี และยังปล่อยตัวผู้เล่นสำคัญซึ่งอายุน้อยอย่างเด เฆอา และอาเกวโรซึ่งย้ายไปเล่นในพรีเมียร์ลีก[46] สโมสรอยู่อันดับ 10 ในช่วงที่ซิเมโอเนเข้ารับตำแหน่งโดยแพ้การแข่งขัน 4 จาก 5 นัดหลังสุด การแต่งตั้งซิเมโอเนนั้นถือว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากขาดประสบการณ์ในการคุมสโมสรใหญ่ แต่เขาเข้ามายกระดับทีมด้วยแนวทางการเล่นที่ชัดเจน รูปแบบการเล่นที่ดุดัน การมีวินัยของนักฟุตบอล และจิตใจที่แข็งแกร่ง แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเน้นผลการแข่งขันมากเกินไป เขาเข้ามาปฏิบัติรูปแนวทางการเล่นเริ่มจากการพัฒนาเกมรับของทีมให้แข็งแกร่งขึ้นซึ่งมีศูนย์กลางในแนวรับอย่างดิเอโก โกดิน รวมถึงยืมตัวผู้รักษาประตูอย่างตีโบ กูร์ตัว การคุมทีมใน 6 นัดแรกของซิเมโอเนนั้นจบลงโดยไม่เสียแม้แต่ประตูเดียว ทำให้เขากลายเป็นที่ยอมรับในบรรดาแฟน ๆ ของอัตเลติโกเดมาดริกอย่างรวดเร็ว โดยก่อนหน้านี้เขาเป็นที่จดจำในฐานะหนึ่งในผู้เล่นที่คว้าดับเบิลแชมป์ ลาลิกาและโกปาเดลเรย์ร่วมกับทีมในฤดูกาล 1995–96
ซิเมโอเนพาสโมสรชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2011–12 ด้วยการเอาชนะอัตเลติกเดบิลบาโอ 3–0 ณ อาเรนานัตซียอนาเลอจากสองประตูของกองหน้าตัวหลักอย่างราดาเมล ฟัลกาโอ การ์ซิอา ซึ่งย้ายมาในฐานะตัวแทนของอาเกวโร[47] ตามด้วยการชนะเชลซี 4–1 ในยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2012 จากการทำแฮตทริกของราดาเมล ฟัลกาโอ ความสำเร็จยังตามมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเอาชนะเรอัลมาดริดในโกปาเดลเรย์นัดชิงชนะเลิศ 2013 ด้วยผลประตู 2–1 ซึ่งแข่งขันที่สนามกีฬาซานเตียโก เบร์นาเบว จาdประตูของดิเอโก โกสตา และกองหลังชาวบราซิลอย่างมีรานดา ซึ่งเป็นนัดที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งโดยผู้เล่นของทั้งสองทีมได้รับใบแดงฝั่งละหนึ่งคน ชัยชนะครั้งนี้เป็นการยุติช่วงเวลาเลวร้ายกว่า 14 ปี (25 นัด) ที่สโมสรไม่สามารเอาชนะเรอัลมาดริดได้
สโมสรคว้าแชมป์สามถ้วยรางวัลในช่วงระหว่างปี 2012–13[48][49] ซิเมโอเนพาทีมคว้าแชมป์ลาลิกา ฤดูกาล 2013–14 ด้วยการทำไปถึง 90 คะแนนจากการเสมอบาร์เซโลนาในนัดสุดท้าย 1–1 ซึ่งกองหน้าอย่างโกสตาทำไปถึง 27 ประตูในฤดูกาลนี้ เป็นแชมป์ลีกครั้งแรกของสโมสรตั้งแต่ ค.ศ. 1996 และเป็นครั้งแรกตั้งแต่ฤดูกาล 2003–04 ที่ผู้ชนะการแข่งขันลาลิกาไม่ใช่เรอัลมาดริด หรือบาร์เซโลนา[50] อัตเลติโกเดมาดริดยังพบกับเรอัลมาดริดในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศ 2014 ณ สนามอิชตาดียูดาลุช แม้จะได้ประตูออกนำไปก่อนจากดิเอโก โกดิน ในครึ่งเวลาแรก แต่ประตูตีเสมอในช่วงทดเวลาบาดเจ็บครึ่งเวลาหลังโดยเซร์ฆิโอ ราโมสทำให้ต้องต่อเวลาพิเศษ และเรอัลมาดริดทำได้อีก 3 ประตูและคว้าแชมป์ไปด้วยผลประตู 4–1[51] ในช่วงปิดฤดูกาล สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในตลาดซื้อขายด้วยการมาถึงของอ็องตวน กรีแยซมาน นักฟุตบอลชื่อดังทีมชาติฝรั่งเศส ย้ายมาจากเรอ���ลโซซิเอดัดในเดือนกรกฎาคม[52][53] และกลายเป็นผู้ทำประตูสูงสุดของสโมสรจำนวน 5 ฤดูกาลติดต่อกัน และที่นี่เองทีเขาสถาปนาตนเองสู่การเป็นนักฟุตบอลระดับโลก รวมถึงเป็นผู้ทำประตูสูงสุดในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 และรับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำการแข่งขัน รวมทั้งอันดับสามในการประกาศรางวัลบาลงดอร์ 2016 เป็นรองเพียงคริสเตียโน โรนัลโด และลิโอเนล เมสซิ ในช่วงเวลานี้ สโมสรเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกครั้งที่สองในรอบสามฤดูกาล และเป็นอีกครั้งที่ลูกทีมของซิเมโอเนต้องผิดหวังจากการแพ้เรอัลมาดริด โดยในครั้งนี้พวกเขาแพ้การยิงจุดโทษในนัดชิงชนะเลิศ 2016 หลังจากเสมอกัน 1–1[54] เส้นทางก่อนหน้านั้นอัตเลติโกเดมาดริดสามารถผ่านทีมใหญ่อย่างบาร์เซโลนา และไบเอิร์นมิวนิกมาได้
สโมสรอำลาสนามกีฬาบิเซนเต กัลเดรอน ในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2017[55] และย้ายสู่สนามเหย้าแห่งใหม่ซึ่งก็คือเอสตาดิโอเมโตรโปลิตาโน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงมาดริด[56] สโมสรชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2017–18 ด้วยการเอาชนะออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ ณ สนามปาร์กอแล็งปิกลียอแนจากสองประตูของกรีแยซมาน นับเป็นแชมป์สมัยที่ 3 ในรอบ 9 ปีหลังสุด และยังเป็นการลงสนามนัดสุดท้ายของกัปตันทีมอย่างกาบิ[57] ต่อมา อัตเลติโกเดมาดริดคว้าแชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2018 เอาชนะเรอัลมาดริด 4–2[58]
สโมสรคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศลาลิกา ฤดูกาล 2018–19 ตามด้วยอันดับสามในฤดูกาล 2019–20 โดยในเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 สโมสรเซ็นสัญญากับลุยส์ ซัวเรซ ซึ่งย้ายจากบาร์เซโลนาในฐานะหนึ่งในกองหน้าที่ดีที่สุดของโลก และเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในแนวรุกของทีม ส่งผลให้อัตเลติโกเดมาดริดชนะเลิศลาลิกา ฤดูกาล 2020–21 เป็นการกลับมาคว้าแชมป์ฟุตบอลลีกในรอบ 7 ปี[59] ซัวเรสทำประตูได้ถึง 17 ประตูจาก 19 นัดแรกในลาลิกา ทำให้สโมสรขึ้นเป็นทีมนำของตารางด้วยระยะห่างถึง 10 คะแนน แม้ทีมจะมีผลงานตกลงไป แต่ด้วยผลงานการทำประตูของซัวเรส โดยเฉพาะประตูที่ยิงได้ในสองนัดสุดท้ายเพียงพอต่อการคว้าแชมป์[60] ในนัดสุดท้ายนั้น สโมสรบุกไปเอาชนะเรอัลบายาโดลิด 2–1 ในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 ซัวเรสอำลาทีมและย้ายไปร่วมทีมกลุบนาซิโอนัลเดฟุตโบลในปี 2022
สโมสรยังรักษาอันดับหัวตารางได้อย่างยอดเยี่ยม คว้าอันดับ 4 ในลาลิกา ฤดูกาล 2021–22 และอันดับ 3 ในฤดูกาล 2022–23 ตามด้วยอันดับ 4 ในฤดูกาล 2023–24 และในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2024 อัตเลติโกเดมาดริดจะได้สิทธิ์ลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2025 เป็นครั้งแรก แม้จะตกรอบยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2023–24 แต่เนื่องจากบาร์เซโลนาก็ตกรอบเช่นกันและอัตเลติโกเดมาดริดมีอันดับของสโมสรฟุตบอลสเปนที่สูงกว่าจากการจัดอันดับใน 4 ปีที่ผ่านมา ในฤดูกาล 2024–25 สโมสรเซ็นสัญญากับฆูเลียน อัลบาเรซ จากแมนเชสเตอร์ซิตีด้วยมูลค่าสูงถึง 95 ล้านยูโร[61][62]
เอสตาดิโอเมโตรโปลิตาโน
[แก้]เอสตาดิโอเมโตรโปลิตาโน เดิมมีชื่อว่า สนามกีฬาแคว้นมาดริด เริ่มก่อสร้างเมื่อ ปี ค.ศ.1990 ในฐานะส่วนหนึ่งของแผนการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน กรีฑาชิงแชมป์โลก 1997 แต่ไม่ได้รับเลือก ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 4 ปีจึงเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กันยายน 1994 โดยมีความจุ 20,000 ที่นั่ง ต่อมาสนามถูกปิดเพื่อปรับปรุงสำหรับรองรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2016 แต่กรุงมาดริดก็ไม่ได้รับเลือกอีกเช่นกัน ในปี 2013 อัตเลติโกเดมาดริดได้ซื้อและเข้าปรับปรุงสนามโดยขยายความจุเป็น 66,703 ที่นั่ง และลงเล่นนัดแรกเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2017 สนามแห่งนี้จะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 2018–2019 รอบชิงชนะเลิศ
สีและตราสัญลักษณ์
[แก้]ชุดเหย้าของแอตเลติโกประกอบด้วยเสื้อลายทางแนวตั้งสีแดงและสีขาว กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน และถุงเท้าสีน้ำเงินและสีแดง ชุดแข่งขันแบบนี้ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1910 ตราสัญลักษณ์ของสโมสรซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 1917 โดยมีตราอาร์มของเมืองมาดริด และปรากฏเสื้อของสโมสรตั้งแต่ปี 1947 ได้รับการออกแบบใหม่อีกครั้งในปี 2016 แต่จากการลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2023 เผยให้เห็นว่าสมาชิกสโมสร 88.68% ต้องการตราสัญลักษณ์แบบดั้งเดิมมากกว่า ซึ่งตราดังกล่าวจะกลับมาในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2024[63][64]
เกียรติประวัติ
[แก้]ระดับประเทศ
[แก้]- ลาลิกา
- ชนะเลิศ (11): 1939–40, 1940–41, 1949–50, 1950–51, 1965–66, 1969–70, 1972–73, 1976–77, 1995–96, 2013–14, 2020–21
- โกปาเดลเรย์
- ชนะเลิศ (10):1960, 1961, 1965, 1972, 1976, 1985, 1991, 1992, 1996, 2013
- ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา
- ชนะเลิศ (2): 1985, 2014
- โกปาเดกัมเปโอเนสเดเอสปัญญา
- ชนะเลิศ (1): 1940[65]
- โกปาเอบาดัวร์เต
- ชนะเลิศ (1): 1951[66]
- โกปาเปรซีเดนเตเอเฟเอเอเฟ
- ชนะเลิศ (1): 1947
- เซกุนดาดิบิซิออน
- ชนะเลิศ (1): 2001–02
ระดับทวีปยุโรป
[แก้]- ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
- ยูฟ่ายูโรปาลีก
- ชนะเลิศ (3): 2009–10, 2011–12, 2017–18
- ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ
- ชนะเลิศ (1): 1961–62
- รองชนะเลิศ (2): 1962–63, 1985–86
- ยูฟ่าซูเปอร์คัพ
- ชนะเลิศ (3): 2010, 2012, 2018
- ยูฟ่าอินเตอร์โตโตคัพ
- ชนะเลิศ (1): 2007[67]
- รองชนะเลิศ (1): 2004
- ไอบีเรียนคัพ
- ชนะเลิศ (1): 1991
ระดับโลก
[แก้]- อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ
- ชนะเลิศ (1): 1974
ผู้เล่น
[แก้]ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
[แก้]หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
ผู้เล่นที่ถูกยืมตัว
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://stadiumdb.com/constructions/esp/estadio_la_peineta
- ↑ "Club Atlético de Madrid - El aforo del Cívitas Metropolitano crece hasta los 70.460 espectadores". Club Atlético de Madrid (ภาษาสเปนแบบยุโรป). 2023-09-07.
- ↑ "The Madrid Derby - Great Football Derbies - Real Madrid v Atletico Madrid". web.archive.org. 2019-03-15.
- ↑ "Classic club". FIFA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-06. สืบค้นเมื่อ 20 November 2010.
- ↑ "FIFA.com - Classic club". web.archive.org. 2011-09-06.
- ↑ "Blackburn Rovers - Historical Football Kits". www.historicalkits.co.uk.
- ↑ "The Atlético Crest and its Meaning - - The Offside - Atlético Madrid Spanish La Liga Football Blog". web.archive.org. 2010-11-03.
- ↑ "Southampton - Historical Football Kits". www.historicalkits.co.uk.
- ↑ "Athletic-Atlético, historia de dos parientes". Diario ABC (ภาษาสเปน). 2012-05-08.
- ↑ "ATHLETIC DE MADRID en la temporada 1910-11". ATHLETIC DE MADRID en la temporada 1910-11.
- ↑ BKB, Borja (2014-03-30). "Manuel Garnica, el «Santo» que metió un gol con el Athletic". Memorias del Fútbol Vasco (ภาษาสเปน).
- ↑ Perkins, Keith (2010-04-26). "Talking History: Atlético Madrid - Liverpool FC". This Is Anfield (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "La historia desconocida del Atlético Aviación: el club que nunca fue el origen del Atlético de Madrid". La Razón (ภาษาสเปน). 2021-10-05.
- ↑ Relaño, Alfredo (2016-12-20). "Un decreto españoliza los nombres (1940)". Diario AS (ภาษาสเปน).
- ↑ "Spain - List of Super Cup Finals". www.rsssf.org.
- ↑ "European Cup & Champions League History 1955-2022". www.europeancuphistory.com.
- ↑ "European Competitions 1958-59". www.rsssf.org.
- ↑ "1958/59: Di Stéfano keeps Madrid rolling - UEFA Champions League - News - UEFA.com". web.archive.org. 2013-05-01.
- ↑ "uefa.com - UEFA Cup Winners' Cup". web.archive.org. 2015-09-04.
{{cite web}}
: no-break space character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 9 (help) - ↑ "uefa.com - UEFA Cup Winners' Cup". web.archive.org. 2016-01-12.
{{cite web}}
: no-break space character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 9 (help) - ↑ "Adelardo, Adelardo Rodríguez Sánchez - Footballer | BDFutbol". www.bdfutbol.com.
- ↑ Santos, Eric (2016-10-03). "Así fue el primer partido del Calderón". Cadena SER (ภาษาสเปนแบบยุโรป).
- ↑ "1973/74: Müller ends Bayern wait - UEFA Champions League - News - UEFA.com". web.archive.org. 2017-07-24.
- ↑ "European Competitions 1973-74". www.rsssf.org.
- ↑ "European Cup & Champions League History 1955-2022". www.europeancuphistory.com.
- ↑ "1973/74: Müller ends Bayern wait on UEFA.COM". web.archive.org. 2010-10-11.
- ↑ "Intercontinental Club Cup 1974". www.rsssf.org.
- ↑ "uefa.com - UEFA Cup Winners' Cup". web.archive.org. 2010-08-21.
{{cite web}}
: no-break space character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 9 (help) - ↑ "European Competitions 1985-86". www.rsssf.org.
- ↑ "Fernando Torres - Web Oficial - F9T". www.fernando9torres.com.
- ↑ "Soccer on ESPN - Scores, Stats and Highlights". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Liverpool complete Torres signing" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2007-07-04. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ Lowe, Sid (2007-07-03). "Will Torres be Kop's new God or just another Fernando?". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ Javier Aguirre Walks Away From Atletico เก็บถาวร 2011-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. TheOriginalWinger.com (3 February 2009). Retrieved 20 November 2010.
- ↑ Middleton, Dave (2009-09-14). "Diego Forlán reveals folly of defying Sir Alex Ferguson's footwear advice". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "Chelsea 4-0 Atletico Madrid" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2009-10-21. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "La Liga Weekly: Quique to Atletico Madrid". web.archive.org. 2009-10-30.
- ↑ "Quique Sánchez Flores to be manager at Atlético de Madrid". web.archive.org. 2012-03-01.
- ↑ "Liverpool 2-1 Atletico (agg 2-2)" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2010-04-29. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "Fulham Atletico Madrid - Telegraph". web.archive.org. 2010-05-15.
- ↑ "Atletico Madrid coach Quique Sanchez Flores hails players' resolve against Fulham - Telegraph". web.archive.org. 2010-05-22.
- ↑ UEFA.com. "The official website for European football". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ published, Andrew Murray (2022-03-15). "Atletico Madrid, the Champions League's toughest team to beat? Meet Liverpool's biggest challenge: Diego Simeone". fourfourtwo.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Diego Simeone: 'He's totally transformed Atletico Madrid' - but is he suffering an identity crisis?". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-12-23. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ Published, App (2011-12-23). "Simeone replaces Manzano at Atletico". fourfourtwo.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Diego Simeone: 'He's totally transformed Atletico Madrid' - but is he suffering an identity crisis?". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-12-23. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ Wilson, Jonathan (2012-05-09). "Europa League: Radamel Falcao's Atlético Madrid rout Athletic Bilbao". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "Atletico Madrid upsets Real Madrid to win Copa del Rey". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Football: Atletico stun 10-man Real Madrid to win Spanish Cup - Channel NewsAsia". web.archive.org. 2013-06-07.
- ↑ "Barcelona 1 Atletico Madrid 1, La Liga: match report". The Telegraph (ภาษาอังกฤษ). 2014-05-17.
- ↑ "Real Madrid 4-1 Atletico Madrid". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "Atlético Madrid to sign forward Antoine Griezmann". SI (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-07-28.
- ↑ "Antoine Griezmann: Barcelona sign Atletico Madrid forward". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-07-12. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "Champions League final: Real Madrid v Atletico Madrid". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "El Vicente Calderón ya es historia". La Vanguardia (ภาษาสเปน). 2020-07-06.
- ↑ "The story of Atletico Madrid's new Wanda Metropolitano Stadium". Sky Sports (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "Europa League final: Marseille 0-3 Atletico Madrid". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2018-05-15. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ sport, Guardian (2018-08-15). "Diego Costa double helps Atlético beat Real Madrid 4-2 in Uefa Super Cup". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "Atletico Madrid fight back against Valladolid to pip Real Madrid to La Liga title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-05-22. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ Corrigan, Dermot. "Luis Suarez's last hurrah at Atletico Madrid". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "Club Atlético de Madrid - Welcome, Julián Alvarez!". Club Atlético de Madrid (ภาษาอังกฤษ). 2024-08-12.
- ↑ Ornstein, David. "Atletico Madrid agree €95m deal with Manchester City for Julian Alvarez". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2024-12-28.
- ↑ "Club Atlético de Madrid - In constant evolution since 1917". Club Atlético de Madrid (ภาษาอังกฤษ). 2023-06-30.
- ↑ Leveridge, Sam. "Atletico Madrid Will Return To Former Club Crest In 2024 After 89% Vote In Favor Of Change". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ es:Copa de Campeones de España. "The first Supercopa de España". See: es:Precedentes de la Supercopa de España de fútbol.
- ↑ The Copa Eva Duarte was only recognized and organized with that name by the RFEF from 1947 until 1953, and therefore Atlético Madrid's "Copa de Campeones" win of 1940 is not included in this count.
- ↑ UEFA.com. please see: UEFA club competition honours: Winners in 2007 and runners-up in 2004. Retrieved on 2011-02-12.
- ↑ "Primer Equipo" [First team] (ภาษาสเปน). Atlético Madrid. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-04. สืบค้นเมื่อ 3 February 2016.
- ↑ "Club Atlético de Madrid - Effectif". uefa.com.
- ↑ "Club Atlético de Madrid SAD - Plantilla". laliga.es.