ข้ามไปเนื้อหา

ริชชาร์ท วากเนอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ริชาร์ด วากเนอร์)
ริชชาร์ท วากเนอร์
Richard Wagner
วากเนอร์ใน ค.ศ. 1871
วากเนอร์ใน ค.ศ. 1871
เกิด22 พฤษภาคม ค.ศ. 1813(1813-05-22)
ไลพ์ซิช ราชอาณาจักรซัคเซิน
เสียชีวิต13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1883(1883-02-13) (69 ปี)
เวนิส ราชอาณาจักรอิตาลี
อาชีพคีตกวี, วาทยกร, ผู้กำกับมหรสพ, นักโต้วาที
สัญชาติเยอรมัน

ลายมือชื่อ

ริชชาร์ท วากเนอร์ (เยอรมัน: Richard Wagner) เป็นคีตกวี วาทยกร ผู้กำกับมหรสพ และนักโต้วาทีชาวเยอรมัน เขาถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการอุปรากร

ชีวิตของวากเนอร์นับว่ามีสีสันมาก เคยลี้ภัยการเมือง วนเวียนเรื่องรักใคร่มากมาย เดี๋ยวตกยากเดี๋ยวได้ดี ด้วยเหตุนี้ ผลงานของเขาทั้งคีตกรรมและการละครจึงมีความย้อนแย้งกันเองขึ้นกับช่วงเวลา เช่นผลงานของเขาเรื่อง Die fliegende Hollander ("บุรุษดัตช์ล่องนภา") แต่งขึ้นขณะที่เขาโดยสารเรือเพื่อหนีหนี้แล้วเผชิญพายุ ระหว่างนั้นก็ได้รับฟังตำนานของเรือฟลายอิงดัตช์แมน ทั้งหมดนี้เป็นแรงบันดาลใจแก่เขา

อีกผลงานเด่นคืออุปรากรเรื่อง โลเอินกรีน เกี่ยวกับอัศวินที่ขี่หงส์ขาวมาช่วยหญิงสาวผู้ถูกกล่าวหาว่าฆ่าน้องชายของตนผู้เป็นเจ้าครองแคว้น อัศวินต่อสู้กับผู้สำเร็จราชการจนได้รับชัยชนะ อุปรากรเรื่องนี้สร้างความประทับใจอย่างมากต่อพระเจ้าลูทวิชที่ 2 แห่งบาวาเรีย ถึงกับทรงตั้งชื่อปราสาทที่สร้างขึ้นใหม่ตามชื่อหงส์ขาวว่าปราสาทน็อยชวานชไตน์ พระเจ้าลูทวิชอุดหนุนวากเนอร์หนักมาก ถึงขั้นเกิดข่าวลือว่าทั้งสองเป็นคู่รักกัน

ผลงานเด่นที่สุดของเขาคือเรื่อง แหวนของนีเบอลุง ซึ่งถือเป็นอุปรากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษ เขาใช้เวลาแต่งเรื่องนี้ถึง 26 ปีและมีความยาวถึง 15 ชั่วโมง เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทวตำนาน มีทั้งคนแคระและยักษ์ อุปรากรเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อนวนิยาย เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ของเจ. อาร์. อาร์. โทลคีน

จูเซปเป แวร์ดี เอกกวีอุปรากรชาวอิตาลีซึ่งเป็นคู่แข่งของเขา ยกย่องเขาว่าเป็น "หนึ่งในอัจฉริยบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดผู้ทิ้งคุณค่าอมตะไว้เป็นมรดกโลก"

ประวัติ

[แก้]

ริชชาร์ท วากเนอร์ เกิดที่เมืองไลพ์ซิช เมื่อ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1813 เป็นบุตรคนที่เก้าของคาร์ล ฟรีดริช วากเนอร์ (Carl Friedrich Wagner) เสมียนตำรวจเมืองไลพ์ซิช กับโยฮันนา โรซีเนอ (Johanna Rosine) ลูกสาวช่างอบขนมปัง[1] คาร์ลเสียชีวิตจากไข้รากสาดใหญ่ขณะเด็กชายมีอายุเพียงหกเดือน หลังจากนั้น มารดาจึงไปอาศัยอยู่กับไกเออร์ เพื่อนของคาร์ลผู้เป็นนักแสดงและนักเขียนบทละคร[2] เชื่อว่าโยฮันนากับไกเออร์สมรสกันใน ค.ศ. 1814 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในงานทะเบียนของโบสถ์ เธอพาลูกย้ายไปอาศัยที่บ้านไกเออร์ที่เมืองเดรสเดิน เด็กชายริชชาร์ทจึงเติบโตที่นั่นจนมีอายุสิบสี่ปี ซึ่งตลอดที่ผ่านมา เด็กชายมีอีกชื่อว่า วิลเฮ็ล์ม ริชชาร์ท ไกเออร์ (Wilhelm Richard Geyer) วากเนอร์เกือบจะเชื่อว่าไกเออร์คือพ่อที่แท้จริงของตนเอง[3]

ความหลงใหลในงานละครของไกเออร์เริ่มส่งอิทธิพลต่อลูกบุญธรรมของเขา ในที่สุด วากเนอร์ก็เริ่มมีส่วนร่วมในการแสดงละครของไกเออร์ ในหนังสือ Mein Leben ("ชีวิตของข้าพเจ้า") ซึ่งเป็นอัตชีวิตประวัติของวากเนอร์ระบุว่าตนเองมักจะมีส่วนร่วมในบททูตสวรรค์[4] ต่อมาในปลาย ค.ศ. 1820 วากเนอร์เข้าศึกษาที่โรงเรียนเมืองโพเซินดอร์ฟ ใกล้กับเดรสเดิน เขามีโอกาสเรียนเปียโนที่นั่นแต่ประสบปัญหาเมื่อต้องเล่นบนบันไดเสียง จึงอาศัยการฝึกฝนแบบฟังด้วยหูมากกว่า

หลังไกเออร์เสียชีวิตใน ค.ศ. 1821 วากเนอร์ถูกส่งตัวไปยังโรงเรียนกางเขน (Kreuzschule) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของคณะสวดกางเขนเดรสเดิน (Dresdner Kreuzchor) ด้วยทุนทรัพย์จากน้อยชายของไกเออร์ ขณะที่มีอายุเก้าขวบ วากเนอร์มีโอกาสได้รับชมงานอุปรากร Der Freischütz ของเวเบอร์และเกิดความประทับใจมาก[5] เขาเริ่มมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนบทละคร บทละครแรกของเขาคือโศกนาฎกรรมที่ชื่อ Leubald ซึ่งเขียนจบใน ค.ศ. 1826 ขณะที่ยังเรียนอยู่ งานชิ้นนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากผลงานของเชกสเปียร์และเกอเทอ เขาเริ่มสนใจดนตรีและร้องขออนุญาตจากครอบครัวให้เขาเรียนดนตรี[6]

ก่อน ค.ศ. 1827 ครอบครัวของเขาย้ายกลับมาพำนักที่เมืองไลพ์ซิช ใน ค.ศ. 1828 วากเนอร์ในวัยสิบห้าปีได้รับฟังซิมโฟนีหมายเลข 7 และซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบทโฮเฟิน ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจหลักให้เขา นอกจากนี้ วากเนอร์ยังประทับใจมากต่อผลงานเรควีเอ็มของโมทซาร์ท[7]

ผลงานอุปรากร

[แก้]
วากเนอร์ในวัย 48 ปีขณะลี้ภัย
  • (1832) Die Hochzeit ("วิวาห์")
  • (1834) Die Feen ("นางฟ้า")
  • (1836) Das Liebesverbot ("รักต้องห้าม")
  • (1837) RienziRienzi, der letzte der Tribunen
  • (1843) Der fliegende Holländer ("บุรุษดัตช์ล่องนภา")
  • (1845) Tannhäuser
  • (1848) Lohengrin
  • (1859) Tristan und Isolde ("ทริสทันกับอีซอลเดอ")
  • (1867) Die Meistersinger von Nürnberg ("ครูเพลงแห่งเนือร์นแบร์ค")
  • Der Ring des Nibelungen ("แหวนของนีเบอลุง")
    • (1854) บทนำ: Das Rheingold ("ขุมทองแม่น้ำไรน์")
    • (1856) ภาคหนึ่ง: Die Walküre ("ธิดาวัลคือเรอ")
    • (1871) ภาคสอง: Siegfried ("ซีคฟรีท")
    • (1874) ภาคสาม: Götterdämmerung ("เทวาอัสดง")
  • (1882) Parsifal ("เพอร์ซิวัล")

อ้างอิง

[แก้]
  1. Wagner (1992) 3; Newman (1976) I, 12
  2. Newman (1976) I, 6
  3. Newman (1976) I, 9
  4. Wagner (1992) 5
  5. Gutman (1990) 78
  6. Wagner (1992) 25–7
  7. Newman (1976) I, 62