ข้ามไปเนื้อหา

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
ชื่อเดิมบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (11 พ.ย. 2526 - 24 มี.ค. 2537)
บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (25 มี.ค. 2537 - 24 ต.ค. 2544)
ประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
การซื้อขาย
SET:GRAMMY
อุตสาหกรรมการบันเทิง
ก่อตั้ง11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526; 41 ปีก่อน (2526-11-11)
ผู้ก่อตั้งเรวัต พุทธินันทน์
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
สำนักงานใหญ่อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส เลขที่ 50 ถนนอโศกมนตรี แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
บุคลากรหลัก
ผลิตภัณฑ์สื่อบันเทิง ดนตรี เพลง คอนเสิร์ต โชว์บิซ งานการแสดง อีเวนท์ ละครเวที สตูดิโอ สื่อสิ่งพิมพ์ และ สถานีโทรทัศน์
รายได้6,984 ล้านบาท (รายได้รวมปี พ.ศ. 2561) [1]
บริษัทในเครือ
เว็บไซต์www.gmmgrammy.com

บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ : GMM Grammy Public Company Limited) เป็นบริษัทสื่อบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[2][3][4] ก่อตั้งโดย ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และเรวัต พุทธินันทน์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 ในชื่อ บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด

ในระยะแรก แกรมมี่ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์ผลงานเพลงไทยสากลและผลิตรายการโทรทัศน์ จากนั้นจึงเริ่มขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจบันเทิงอื่น ๆ เช่น วิทยุ ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต การศึกษา สิ่งพิมพ์เผยแพร่ รวมทั้งธุรกิจร้านค้าปลีกเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ เช่น ตลับเทป แผ่นเสียงจานแสง และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ส่งผลให้บริษัทมีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสื่ออย่างครบวงจร และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ปรับรูปแบบการประกอบธุรกิจเป็นบริษัทผู้ถือหุ้น โดยดำเนินธุรกิจบันเทิงครบวงจร ผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วมหลักจำนวน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจเพลง ผ่านบริษัทย่อย บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน), ธุรกิจสื่อ ผ่านกิจการร่วมค้า บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) และธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง ผ่านบริษัทย่อย บริษัท จีเอ็มเอ็ม โอ ช้อปปิ้ง จำกัด นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเสริม เช่น ภาพยนตร์ (จีดีเอช) สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (จีเอ็มเอ็ม แซท) และการลงทุนในบริษัทอื่น (จีเอ็มเอ็ม โฮลดิ้ง) โดยมี จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักในปัจจุบัน

ประวัติ

[แก้]

พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2529

[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2526 ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นำเงินที่สะสมไว้ราว 4-5 แสนบาท มาร่วมหุ้นกับ เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์ นักดนตรีซึ่งมีชื่อเสียงในยุคนั้น ที่ไพบูลย์ได้รู้จักผ่านทางบุษบา ดาวเรือง รวมถึงกลุ่มเพื่อนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตงานดนตรีแล้วบันทึกเพื่อจำหน่าย มีสถานะเป็นค่ายเพลง และผลิตศิลปินนักดนตรีเป็นหลัก ซึ่งผลงานลิขสิทธิ์ชิ้นแรกของแกรมมี่ คือการผลิตเพลงชุดมหาดุริยางค์ไทย ที่ประพันธ์โดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) โดยในระยะแรกดำเนินธุรกิจหลักสร้างสรรค์ผลงานเพลงไทยสากล โดยมีศิลปินคนแรกคือ แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ โดยออกอัลบั้มชุดแรก นิยายรักจากก้อนเมฆ และต่อมาแกรมมี่ได้ผลิตรายการโทรทัศน์ 3 รายการ ได้แก่ ยิ้มใส่ไข่, มันกว่าแห้ว และ เสียงติดดาว

ในปี พ.ศ. 2527 แกรมมี่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการออกอัลบั้ม เต๋อ 1 ของเต๋อ และพร้อมทั้งคาราบาว ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ 5 ของวง ที่แกรมมี่ส่งเสริมการตลาดอยู่ โดยทำยอดขายได้ถึง 5 ล้านตลับ เป็นสถิติยอดจำหน่ายอัลบั้มเพลงของศิลปินไทยที่สูงที่สุดของไทยไม่มีใครทำลายได้มาจนปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2529 มีการออกอัลบั้มแรกของเบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ อัลบั้ม หาดทราย สายลม สองเรา[5] ออกวางตลาด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง พร้อมทั้งเพิ่มการผลิตเพลงร็อค ได้แก่วงไมโคร ในอัลบั้มแรก ร็อค เล็ก เล็ก[6] ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเช่นกัน จากเพลง รักปอนปอน หลังจากนั้นมีผลงานต่อมาคือ หมื่นฟาเรนไฮต์ ซึ่งมีเพลงดังคือ เอาไปเลย ที่ต่อมากลายเป็นเพลงประจำคอนเสิร์ตมือขวาสามัคคี และ เต็มถัง[7] ซึ่งมีเพลงดังคือ ส้มหล่น

พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2536

[แก้]
โลโก้ แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (พ.ศ. 2531 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544)

ในปี พ.ศ. 2531 จัดตั้งบริษัท เอ็มจีเอ จำกัด (Music Generating Administration) เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายเทปเพลงและสินค้าบันเทิงต่าง ๆ จากนั้นจึงเริ่มขยายกิจการไปสู่ธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์และรายการวิทยุ

ในปี พ.ศ. 2532 ได้ขยายธุรกิจวิทยุ โดยจัดตั้ง บริษัท เอไทม์ มีเดีย จำกัด ควบคุมโดย ฉอด - สายทิพย์ ประภาษานนท์ โดยออกอากาศ 2 สถานีแรก คือ กรีนเวฟ และ ฮอตเวฟ

ในปี พ.ศ. 2534 จัดตั้งบริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด โดยผลิตรายการและละครโทรทัศน์ ควบคุมโดย บอย - ถกลเกียรติ วีรวรรณ และเริ่มออกอากาศละครซิทคอม เรื่อง "3 หนุ่ม 3 มุม" และในปีเดียวกัน ได้จัดตั้งบริษัท เอ็กซ์ทรอกาไนเซอร์ จำกัด เป็นธุรกิจการแสดงและคอนเสิร์ต ทำให้บริษัทมีความเจริญเติบโตมากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2536 บริษัทเริ่มต้นเข้าสู่ยุคแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์และภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงและผลงานบันเทิง ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2537 ได้เแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในชื่อ บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จากนั้นได้ระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้��ก่สาธารณชน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 หลังจากนั้นได้ดำเนินการทำธุรกิจดนตรี และสื่อควบคู่กันเรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นบริษัทที่ครองตลาดเพลงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย[8] โดยมีรายได้จากธุรกิจดนตรีไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ในปีเดียวกันเริ่มมีธุรกิจภาพยนตร์โดยชื่อว่า แกรมมี่ภาพยนตร์ หรือ แกรมมี่ ฟิล์ม และเมื่อปี พ.ศ. 2539 เริ่มขยายเข้าสู่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ โดยการเข้าลงทุนในนิตยสารอิมเมจ

พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2547

[แก้]

แล้วจากนั้นก็เริ่มขยายไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเปิดบริษัทในไต้หวัน ในปี พ.ศ. 2540 และในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการจัดตั้งสถาบันดนตรี โรงเรียนมีฟ้า แล้วปีถัดไปในปี พ.ศ. 2543 จัดตั้งหน่วยธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (E - Business)

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 มีการปรับโครงสร้างธุรกิจและองค์กรครั้งใหญ่ โดยแบ่งการดำเนินธุรกิจเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) โดยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2544) และก่อตั้ง บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ควบคุมโดย สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา เพื่อดำเนินธุรกิจสื่อทุกประเภท โดยนำทั้งสองบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท โดยมีการโอนขายบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจวิทยุ ธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ และธุรกิจสิ่งพิมพ์ จำนวน 8 บริษัท โดยคำว่า "GMM" ย่อมาจาก "Global Music & Media"[9]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 กลุ่มบริษัทมีกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจภาพยนตร์ ภายในปีเดียวกันมีภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน โดยผู้กำกับกลุ่ม 365 ฟิล์ม ได้มอบหมายให้ จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ ร่วมทุนสร้างกับ ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และ หับ โห้ หิ้น เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุดจากการฉายสูงสุดในปีนั้น ด้วยมูลค่าถึง 137.7 ล้านบาท และในปีเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่อง บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ ยังได้รับความสนใจจากต่างประเทศอย่างมาก กำกับโดย เอกชัย เอื้อครองธรรม ซึ่งในเวลาต่อมาทั้ง 3 บริษัทได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็น บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด

จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีรายได้และกำไรสูงที่สุดนับแต่ก่อตั้ง เป็นจำนวนกว่า 6,671 ล้านบาท และเป็นผลให้มูลค่าตลาดของ กลุ่มบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีมูลค่ากว่า 11,025 ล้านบาท และในปีเดียวกันบริษัทตั้งเป้าหมายสู่การเป็น "King of content" โดยการร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ดีทอล์ค จำกัด เป็นธุรกิจโทรทัศน์, บริษัท สยามอินฟินินิท จำกัด ให้บริการเกมออนไลน์, บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด ธุรกิจภาพยนตร์ และบริษัท นินจา รีเทิร์นส์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด รับจัดกิจกรรมและคอนเสิร์ต[10]

พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2549

[แก้]

ในช่วงปี พ.ศ. 2548 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีเหตุการณ์สำคัญ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ในปี พ.ศ. 2549 เข้าร่วมทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม ฟิตเนส คลับ จำกัด เพื่อให้บริการด้านสถานออกกำลังกาย โดยบริษัทถือหุ้น ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน จำนวน 40 ล้านบาท ในปีเดียวกัน เข้าร่วมทุนในบริษัท ลักษ์มิวสิก 999 จำกัด เพื่อขยายธุรกิจด้านผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเพลงโดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนจำนวน 20 ล้านบาท

พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2555

[แก้]

ในปีต่อมา พ.ศ. 2550 บริษัทซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ทรี-อาร์ดี จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 จำนวน 2.63 ล้านบาท ในปีเดียวกัน บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนในหุ้นสามัญของแชนแนลวี ไทยแลนด์ มิวสิก ในสัดส่วนร้อยละ 25 จำนวน 16.65 ล้านบาท

จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 มีการปรับโครงสร้างธุรกิจและองค์กรขนาดใหญ่อีกครั้ง โดยเพิกถอนจีเอ็มเอ็ม มีเดีย ออกจากตลาดหลักทรัพย์ และให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เข้าถือหุ้นทั้งหมด เพื่อควบรวมกิจการ โดยให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม ส่งผลให้มีรายได้กำไรสุทธิในปีนั้น เป็นจำนวน 7,834 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดอีกครั้งนับแต่ก่อตั้ง

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2552 กลุ่มบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ร่วมถือหุ้นกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในสัดส่วน 50% ผ่านบริษัทแฟมิลี่ โนฮาว จำกัด[11] โดย บมจ.จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียมขึ้นจำนวน 4 ช่องสัญญาณ ด้วยเงินลงทุนจำนวน 500 ล้านบาท เพื่อนำเสนอในรูปแบบสถานีโทรทัศน์บันเทิง ซึ่งใช้เวลาออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง

ในปี พ.ศ. 2553 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีรายได้รวมสูงสุดกว่า 8,863 ล้านบาท ในปีเดียวกัน ได้เข้าร่วมลงทุนในบริษัท แอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด และ บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมเพื่อดำเนินการก่อสร้างสตูดิโอขนาดใหญ่ โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนจำนวน 200 ล้านบาท และในปีเดียวกัน เข้าร่วมลงทุนในบริษัท ลักษ์ แซทเทิลไลท์ จำกัด เพื่อผลิตรายการโทรทัศน์ออกอากาศผ่านดาวเทียม โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียนจำนวน 20 ล้านบาท

ในปี พ.ศ. 2554 ได้เข้าร่วมทุนกับซีเจ โอ ช้อปปิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทโฮมช้อปปิ้งอันดับ 1 ของสาธารณรัฐเกาหลี ก่อตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท จีเอ็มเอ็ม โอ ช้อปปิ้ง จำกัด) เพื่อประกอบธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด 540 ล้านบาท

และในปี พ.ศ. 2555 เข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เพื่อให้บริการแพลตฟอร์มโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยถือหุ้นทั้งหมดของทุนจดทะเบียนซึ่งมีจำนวน 100 ล้านบาท และจีเอ็มเอ็ม แซท ได้ลงทุนในหุ้นสามัญของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด เพื่อให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแบบเสียค่ารับชม (เพย์ ทีวี) โดยถือหุ้นทั้งหมดของทุนจดทะเบียนซึ่งมีจำนวน 1 ล้านบาท

พ.ศ. 2556 - 2565

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2556 ในเดือนมีนาคม จีเอ็มเอ็ม ไท หับ นำภาพยนตร์เรื่อง พี่มาก..พระโขนง ออกสู่สายตาประชาชน และทำรายได้ Box Office สูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยที่ 567 ล้านบาท

เดือนพฤษภาคม จีเอ็มเอ็ม ไท หับ เปิดตัวซีรีส์เรื่อง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น จำนวนทั้งหมด 13 ตอน ออกฉายผ่านทางช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจีเอ็มเอ็มวัน และผ่านช่องทางยูทูบ ซึ่งได้กลายเป็นซีรีส์ยอดนิยมระดับประเทศ สามารถทำยอดผู้ชมในยูทูบได้กว่า 80 ล้านผู้ชม

เดือนกันยายน ทางบริษัทได้เพิ่มทุนเพื่อนำไปลงทุนใน Strategic Investment ด้วยอัตราส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 10 บาท จำนวน 106,052,989 หุ้น ส่งผลให้สามารถระดมเงินทุนคิดเป็นจำนวน 1 พันล้านบาท จำนวนหุ้นจดทะเบียนรวมทั้งหมด 636,317,936 หุ้น จำนวน 636,317,936 บาท และเดือนธันวาคม ทางบริษัทได้เข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ และชนะการประมูล 2 ช่องได้แก่ ช่องทั่วไปความคมชัดสูง ซึ่งต่อมาคือช่องวัน 31 และช่องทั่วไป ความคมชัดมาตรฐาน ซึ่งต่อมาคือจีเอ็มเอ็ม 25

วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ช่องยูทูบของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นช่องแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 10,000,000 คน[12]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ร่วมมือกับวายจีเอนเตอร์เทนเมนต์ ก่อตั้งวายจีเอ็มเอ็ม (YG”MM) เพื่อพัฒนาศิลปินไทยให้เป็นศิลปินมืออาชีพระดับโลก และยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรมเพลงไทย[13]

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ปีเดียวกัน ผู้ถือหุ้นตระกูลดำรงชัยธรรม ได้โอนหุ้นทั้งหมดของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นแทน ในสัดส่วนร้อยละ 52.05% เพื่อปรับโครงสร้างของกลุ่มดำรงชัยธรรม เนื่องจากตัวไพบูลย์มีอายุมากแล้ว จึงต้องการจัดสรรทรัพย์สินส่วนตนให้เป็นกองกลางของครอบครัว รวมถึงตั้งธรรมนูญครอบครัวเพื่อแบ่งหน้าที่การบริหารของสมาชิกครอบครัวดำรงชัยธรรมในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อย่างชัดเจน ทั้งนี้ไพบูลย์ยังคงมีเสียงส่วนใหญ่ใน บจ.ฟ้า ดำรงชัยธรรม ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 99% ส่วนอีก 1% ไพบูลย์ให้บุตรธิดาทั้ง 4 คนถือเท่ากันที่คนละ 0.25%[14]

พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน

[แก้]

ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยประกาศแยกธุรกิจเพลง การจัดคอนเสิร์ต และการบริหารศิลปิน ไปอยู่ในการดูแลของบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่[15] ซึ่งต่อมามีการประกาศแจ้งชื่อบริษัทย่อยดังกล่าวว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด โดยจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน[16]

ระหว่างนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้จับมือกับกลุ่มอาร์เอส ซึ่งเป็นค่ายเพลงคู่แข่งสำคัญ จดทะเบียนจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ภายใต้ชื่อ อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส (Across The Universe) และดำเนินการจัดคอนเสิร์ตร่วมระหว่างศิลปินทั้ง 2 ค่าย ในชื่อ แกรมมี่ อาร์เอส คอนเสิร์ตส[17] ก่อนที่ต่อมาจะหยุดดำเนินงานชั่วคราว แล้วเปลี่ยนมาให้บริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจเพลงโดยตรง คือ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ร่วมลงทุนกับอาร์เอส มิวสิค ในชื่อ อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส โปรเจค (Across The Universe Project) แทน ตามการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 บริษัท[18]

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้อนุมัติให้นำจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ซึ่งเป็นบริษัทเรือธงในธุรกิจเพลง เข้าสู่กระบวนการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน และเข้าจดทะเบียนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย[18][19] เช่นเดียวกับอาร์เอส มิวสิค ของค่ายคู่แข่งซึ่งวางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงโดยสมบูรณ์ โดยดำเนินการโอนธุรกิจเพลง ซึ่งประกอบด้วย ทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพัน และบุคลากรในธุรกิจเพลงทั้งหมด และหุ้นสามัญจดทะเบียนในส่วนที่ตนถือหุ้นอยู่ในบริษัทย่อยด้านธุรกิจเพลง คือ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (สัดส่วน 100%), บริษัท จีสองร้อยเอ็ม จำกัด (สัดส่วน 100%), บริษัท จีอาร์ โวคอล สตูดิโอ จำกัด (สัดส่วน 65%) และบริษัท วายจีเอ็มเอ็ม จำกัด (สัดส่วน 51%) ให้แก่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด เสร็จสิ้น ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจทั่วไป เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นบริษัทอื่น (Holding Company) แทน โดยกำหนดให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน รวมถึงกำหนดให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม โอ ช้อปปิ้ง จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชนของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค[20]

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2567 จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ในชื่อ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน)[21] และได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม[22]

กลุ่มบริษัทและธุรกิจในเครือ

[แก้]

รายชื่อศิลปินในสังกัด

[แก้]

ผลงาน

[แก้]

ภาพยนตร์

[แก้]

ละครโทรทัศน์

[แก้]

เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และ ช่องวัน 31

[แก้]

เอ็กแซ็กท์ และ ซีเนริโอ

[แก้]

จีเอ็มเอ็ม 25

[แก้]

จีเอ็มเอ็ม มีเดีย

[แก้]

ดูเพิ่มเติมที่ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย

จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์

[แก้]

ดูเพิ่มเติมที่ จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์

เอไทม์

[แก้]

ดูเพิ่มเติมที่ เอไทม์ มีเดีย

จีเอ็มเอ็ม ไท หับ

[แก้]

จีดีเอช

[แก้]

บทความหลัก: จีเอ็มเอ็มทีวี § ผลงาน

ช่องโทรทัศน์

[แก้]
ปี พ.ศ. 2551 เปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม แฟนทีวี ที่ออกอากาศครั้งแรกผ่านกล่องดาวเทียมและเคเบิลทีวีทั่วประเทศ เป็นช่องรายการเพลงและเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่จากค่ายลูกทุ่ง เปิดเพลงลูกทุ่ง และลูกทุ่งคาราโอเกะในเครือแกรมมี่ เริ่มออกอากาศเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ต่อมาเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ได้พัฒนาระบบเป็นโทรทัศน์ความละเอียดสูง (High Definition) ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ได้มีช่วงเพลงไทยสากลสมัยใหม่จากช่องจีเอ็มเอ็ม มิวสิค มาผนึกในช่องแฟนทีวีด้วย ในเวล��� 19.00 น. - 01.00 น. ของทุกวัน
ปี พ.ศ. 2554 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เปิดสถานีโทรทัศน์ทีวีดาวเทียม วัน สกาย-วัน ผ่านกล่องดาวเทียมวันสกาย เป็นช่องรายการวาไรตี้คุณภาพจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น จีเอ็มเอ็มแซต ฮิตส์ และ จีเอ็มเอ็มวัน ตามลำดับ ต่อมาได้โอนย้ายกิจการเป็นของ บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด เพื่อเปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลทีวี ออกอากาศทางกล่องทีวีดิจิทัลและเสาอากาศดิจิทัล ช่องหมายเลข 31 ในชื่อ ช่องวัน 31
ปี พ.ศ. 2557 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด เปิดสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลทีวี จีเอ็มเอ็ม 25 ออกอากาศทางกล่องทีวีดิจิทัลและเสาอากาศดิจิทัล ช่องหมายเลข 25 ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2563 ถูกโอนย้ายออกจากจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง มาเป็นของ จีเอ็มเอ็ม โฮลดิ้ง และมี เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นตัวแทนการตลาด

รางวัล

[แก้]
  • รางวัลบริษัทที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และบริหารยอดเยี่ยม อันดับ 1 ของเอเชีย จาก นิตยสารฟาร์อีสเทอร์น นิตยสารธุรกิจชั้นนำของโลก (ปี 2005)
  • "Asia's Best Under A Billion" หนึ่งในบริษัทชั้นนำของเอเชีย ซึ่งได้รับการจัดอันดับจาก นิตยสารฟอร์บส์ให้เป็น 1 ในบริษัทสุดยอดแห่งเอเชีย
  • รางวัลบริษัทที่มีบรรษัทภิบาลดีเด่น (Good Corporate Governance) ปี (2005-2007)
  • รางวัลองค์กรยอดนิยมของประเทศไทยประจำปี 2550

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "รายได้บริษัท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-21. สืบค้นเมื่อ 2020-02-21.
  2. Jason Tan (27 March 2018). "'Thai wave' in showbiz poised for big splash in China". Nikkei Asian Review. สืบค้นเมื่อ 27 April 2020. GMM Grammy – the largest media conglomerate on the Stock Exchange of Thailand
  3. Nanat Suchiva (22 July 2017). "Mr Expo reflects on the big event". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 27 April 2020. Soon after, Mr Kriengkrai agreed to sell a 50% stake in Index to GMM Grammy Plc, Thailand's largest entertainment company.
  4. Sarah Newell (24 March 2016). "This Thailand Tycoon's Private Palace Is a Pool-Filled Oasis". Bloomberg News. สืบค้นเมื่อ 27 April 2020. Paiboon, the 66-year-old chairman of GMM Grammy, Thailand’s largest media company...
  5. "ธงไชย แมคอินไตย์ อัลบั้ม หาดทราย สายลม สองเรา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-04. สืบค้นเมื่อ 2015-04-27.
  6. "ไมโคร อัลบั้ม ร็อค เล็ก เล็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2021-08-14.
  7. "ไมโคร อัลบั้ม เต็มถัง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-07-07.
  8. ผู้ครองตลาดเพลงอันดับ1ของไทย หน้า 4[ลิงก์เสีย]
  9. เลิศวิราม, ไพเราะ (กรกฎาคม 2002). "2 ปีกับเก้าอี้ CEO". นิตยสารผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2024. GMM GRAMMY เป็นการประยุกต์ใช้ชื่อ GMM ที่ย่อมาจาก Global Music and Media{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "การเติบโตธุรกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-23. สืบค้นเมื่อ 2012-10-14.
  11. "แกรมมี่ ร่วมถือหุ้นกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในสัดส่วน 50%". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-20. สืบค้นเมื่อ 2012-03-09.
  12. ขอขอบคุณแฟนๆทุกคน ที่ทำให้ GMM GRAMMY OFFICIAL มีผู้ติดตาม 10 ล้าน Subscribers เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเฟซบุ๊ก
  13. YG”MM บริษัทใหม่ภายใต้ความร่วมมือ GMM Grammy+YG Entertainment บุกตลาดโลก
  14. "'อากู๋ ไพบูลย์' แจงโยนบิ๊กล็อต 52% หวังปรับโครงสร้างถือหุ้นมอบเป็นมรดกให้ลูก พร้อมตั้งธรรมนูญครอบครัว แบ่งหน้าที่บริหารงานชัด". เดอะสแตนดาร์ด. 2021-10-18. สืบค้นเมื่อ 2022-08-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. พร้อมศรี, ชลยา (2023-02-27). "การปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง" (PDF). จดหมายถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-08-02.{{cite press release}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. "GRAMMY ปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง แยกตั้งบริษัทใหม่ "จีเอ็มเอ็ม มิวสิค"". ประชาชาติธุรกิจ. 2023-07-04. สืบค้นเมื่อ 2023-08-02.
  17. “GRAMMY x RS” ร่วมทุนตั้งกิจการร่วมค้า “อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส” ลุยธุรกิจเพลง
  18. 18.0 18.1 พร้อมศรี, ชลยา (2023-08-04). "สารสนเทศรายการจําหน่ายไปซึงสินทรัพย์ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เรื่อง การเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering) และการนำหุ้นสามัญของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่: 2. สืบค้นเมื่อ 2023-08-26.
  19. "GRAMMYส่ง "จีเอ็มเอ็ม มิวสิค" ขาย IPO 30 % เข้า SET". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-07-31. สืบค้นเมื่อ 2023-08-01.
  20. "สิ่งทีส่งมาด้วย : สารสนเทศเกี่ยวกับการปรับรูปแบบการประกอบธุรกิจจากบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจทั่วไป (Operating Company) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) การกำหนดธุรกิจหลัก และการกำหนดบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน" (PDF). ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย: 3–13. 15 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2023.
  21. งบการเงินไตรมาสที่ 1/2567 (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (Report). 16 พฤษภาคม 2024. p. 18. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2024.
  22. จรรย์จิรา พนิตพล (25 ตุลาคม 2024). รายงานความคืบหน้าการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) รวมถึงการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ บมจ.จีเอ็มเอ็ม มิวสิค (PDF) (Report). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. pp. 1–2. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]