ดิอะเมซิ่งเรซ
ดิอะเมซิ่งเรซ | |
---|---|
สร้างโดย | Elise Doganieri Bertram van Munster |
งานต้นฉบับ | ดิอะเมซิ่งเรซ (สหรัฐ) |
ภาพยนตร์และโทรทัศน์ | |
ละครโทรทัศน์ | ดิอะเมซิ่งเรซ (ดู เวอร์ชันสากล) |
เบ็ดเตล็ด | |
ออกอากาศครั้งแรก | 5 กันยายน ค.ศ. 2001 |
ผู้จัดจำหน่าย | CBS Media Ventures (สหรัฐ) Disney Platform Distribution (นานาชาติ) |
ดิ อะเมซิ่ง เรซ (อังกฤษ: The Amazing Race หรือในบางครั้งรู้จักกันในตัวย่อ TAR มีชื่อภาษาไทยตามที่ออกอากาศทางช่องเอเอกซ์เอ็นในประเทศไทยว่า คนแกร่งแข่งอึด) เป็นเรียลลิตี้โชว์ ทางโทรทัศน์ ที่สมาชิกในทีม ทีมละสองคน ที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว ทำการแข่งขันกับทีมอื่นโดยการเดินทางรอบโลก โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องพยายามเข้าเป็นทีมแรกที่จุดหยุดพักในแต่ละเลกให้ได้ เพื่อเป็นผู้ชนะในเลกนั้น ๆ และหลีกเลี่ยงการมาถึงเป็นทีมสุดท้าย ที่อาจจะทำให้ทีมถูกคัดออกจากการแข่งขัน หรืออาจทำให้ทีมประสบอุปสรรคตามมาในเลกต่อไป ผู้เข้าแข่งขันจะเดินทางระหว่างประเทศหลายประเทศ ด้วยวิธีการเดินทางที่แตกต่างกันออกไป เช่น เครื่องบิน แท็กซี่ รถเช่า รถไฟ รถประจำทาง และเรือ คำสั่งในแต่ละช่วงของเลกจะสั่งให้ทีมไปยังจุดหมายต่อไป หรือทำงาน ไม่ว่าจะทำคนเดียวหรือสองคนก็ตาม ซึ่งงานที่ทีมทำนั้นจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับมารยาท หรือวัฒนธรรม ท้องถิ่นในประเทศที่พวกเขาไปเยือน โดยแต่ละทีมจะทะยอยถูกคัดออก จนกระทั่งเหลืออยู่ 3 ทีมสุดท้าย ณ จุดนั้น ทีมที่มาถึงเป็นทีมแรกในเลกสุดท้ายจะได้รับเงินรางวัลก้อนใหญ่ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีมูลค่า 1 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ
ดิ อะเมซิ่ง เรซ ในเวอร์ชันสหรัฐอเมริกา สร้างโดย อลิส ดอร์แกนเลอร์ และ เบ็นตั้น แวนด์ มัสเตอร์ และได้ออกอากาศในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ. 2001 มีพิธีกรชื่อดังระดับรางวัลเอ็มมี ชาวนิวซีแลนด์ ฟิล คีโอแกน เป็นพิธีกรของรายการตั้งแต่ซีซั่นแรก และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ระดับ ฮอลลีวูด เจอร์รี บรัคไฮเมอร์ เป็นผู้อำนวยการสร้างหลักของรายการ นอกจากนี้รายการนี้ยังมีการซื้อลิขสิทธิ์ ไปสร้างในหลาย ๆ ประเทศ โดยยังคงรูปแบบหลัก ๆ ของรายการอยู่ ส่วนเนื้อหาในบทความนี้จะใช้เกณฑ์และเนื้อหาของฉบับอเมริกาเป็นส่วนใหญ่
เนื้อหาโดยสรุป
[แก้]ผู้เข้าแข่งขัน
[แก้]ผู้เข้าแข่งขันจำนวน 10 - 12 ทีม ใน ดิ อะเมซิ่ง เรซ จะเป็นทีมผู้เข้าแข่งขันสองคนที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว (ยกเว้นหนึ่งครั้งในเวอร์ชันสหรัฐอเมริกา คือ ดิ อะเมซิ่ง เรซ 8 ที่เป็นการแข่งขันเป็นครอบครัวทีมละ 4 คน) จากจำนวนทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด ทีมที่เข้าแข่งขันล้วนแสดงให้เห็นถึงสถิติของอายุ การเข้ากันทางเพศ และความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน ความสัมพันธ์ในการแข่งขันที่พบเห็นเช่นคู่แต่งงานที่แต่งงานกันมานานแล้ว คู่พี่น้อง (รวมถึงแฝด) คู่พ่อแม่ (รวมถึงหลานกับปู่ย่าตายาย) เพื่อน (เพื่อนร่วมห้อง, เพื่อนนักศึกษา, เพื่อนรักซึ่งเป็นเพ��เดียวกัน, เพื่อนในโรงเรียนมัธยม, เพื่อนที่คบกันมานาน และเพื่อนในลักษณะอื่น ๆ) คู่รักโรแมนติก (ทั้งรักต่างเพศ และ รักเพศเดียวกัน) รวมไปถึงคู่สามีภรรยาที่เพิ่งเดทกันหรือแยกกันอยู่ กลไกความสัมพันธ์ในหลายด้านระหว่างสมาชิกในทีม ในระหว่างการแข่งขันเป็นหนึ่งในจุดสนใจของรายการ สมาชิกในทีมจะต้องแข่งขันร่วมกัน โดยไม่สามารถแยกกันได้ (ยกเว้นคำสั่งบอกให้ทำเป็นเวลาชั่วคราว) หากมีสมาชิกของทีมบาดเจ็บและไม่สามารถจบการแข่งขันได้ ทีมจะต้องถูกทำโทษ (เช่นมาร์แชลล์กับแลนซ์ในซีซั่นที่ 5) สมาชิกในทีมทั้งสองคนยังจะต้องเข้ามาที่จุดหยุดพักด้วยกันเพื่อเช็กอิน[1] ทิศทางในการแข่งขันหลายอย่างเช่น ตัวผู้เข้าแข่งขันเอง การออกอากาศการแข่งขัน การโปรโมตการแข่งขันและการสนทนาระหว่างฟิลกับทีมที่ถูกคัดออกนั้น จะเป็นตัวเน้นผลกระทบของความสัมพันธ์ระหว่างการแข่งขัน แรกเริ่มแล้วผู้สมัครในการแข่งขันจะต้องรู้จักและมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมาอย่างน้อย 3 ปี และผู้เข้าแข่งขันในคนละทีมกันจะต้องไม่รู้จักกันมาก่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้มีการออกอากาศความสัมพันธ์ในทีมได้อย่างถูกต้องโดยที่ไม่ต้องยุ่งยากกับความสัมพันธ์ระหว่างทีม
อย่างไรก็ดี ผู้ผลิดรายการก็ได้ตัดกฎนี้ออกไปในซีซั่นหลัง ๆ เช่น คริสกับจอห์น (ซีซั่นที่ 6) เป็นคู่เดททางไกลมาเป็นเพียงแค่ 1 ปี หรือในกรณีที่ผู้เข้าแข่งขันหลายคนใน ซีซั่นที่ 5 ได้เคยแข่งขันกันมาก่อนในเวทีประชันความงาม (นิโคลชนะคริสตี้ในเวทีมิสเท็กซัส ใน 2003) [2] อีริคกับแดนเนียล (ซีซั่นที่ 11) ได้พบกันมาก่อนเป็นเวลาเพียงแค่ 1 ปีหลังจากแข่งอยู่คนละทีมในซีซั่นที่ 9 อย่างไรก็ดีสุดท้ายแล้วใบสมัครและคุณสมบัติการเข้ารับเลือกของซีซั่นที่ 14 (แจกจ่ายในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 ที่เว็บไซต์ของซีบีเอส) ได้ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องความสัมพันธ์ก่อนการแข่งขันแล้ว แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วสมาชิกในทีมจะมีความสัมพันธ์กันมาก่อนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม
เลก
[แก้]การแข่งขันในแต่ละด่านจะประกอบไปด้วย งานทางแยก และ งานอุปสรรค แต่ในบางเลกอาจมีเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีงานเสริมที่ไม่จัดเป็นภารกิจหลักอีกมากมาย บางเลกอาจมี ทางด่วน ให้ใช้เพื่อนข้ามกิจกรรมทั้งหมดของเลกนั้นไปยังจุดพักเลย แต่ทีมสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวตลอดการแข่งขันเท่านั้น เมื่อจบแต่ละเลกผู้เข้าแข่งขันจะมีเวลาพัก 12 หรือ 24 ชั่วโมงแต่ในบางกรณีอาจมากกว่านั้นโดยสูงสุดอยู่ที่ 60 ชั่วโมงซึ่งเกิดขึ้นในฤดูกาลที่ 1 ที่ทีมงานเปลี่ยนแปลงสถานที่กะทันหันและยังสามารถแยกเลกในการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภทได้ดังนี้
- Normal Leg คือเลกที่ประกอบด้วย งานทางแยก + งานอุปสรรค + (งานทางด่วน + งานเพิ่มเติม)
- Super Leg คือ เลกที่ยาวเป็นพิเศษโดยจะมี 2 งานทางแยกและ 2 งานอุปสรรคและพิธีกรจะให้คำใบ้ ณ จุดครึ่งทางหรืออาจมาในรูปคำใบ้ปกติที่จะเขียนว่า "Keep Racing" พร้อมรายละเอียดและรางวัลสำหรับทีมที่เข้ามาเป็นที่ 1 จะถูกมอบที่ปลายทางของเลกเพียงที่เดียว
- No Break Leg คือ เลกธรรมดาที่ถูกจัดให้แข่งติดต่อกันไปเลย 2 เลกโดยไม่มีการหยุดพัก และจะมีการมอบรางวัลเป็นปกติสำหรับทีมที่เข้ามาเป็นที่ 1 ในแต่ละเลก
เงินในการแข่งขัน
[แก้]ในช่วงเริ่มต้นของแต่ละเลก แต่ละทีมจะได้รับเงินสดเป็นค่าใช้จ่ายพร้อมกับซองคำใบ้แรก ซึ่งในระหว่างการแข่งขัน ค่าใช้จ่ายทั้งหมด (อาหาร , การเดินทาง , ค่าที่พัก , ค่าเข้าชมสถานที่ในการแข่งขัน และอุปกรณ์ต่าง ๆ) จะต้องใช้เงินสดนี้ในการจ่าย ยกเว้นการซื้อตั๋วเครื่องบิน (และการจ่ายค่าน้ำมัน ในซีซั่นที่ 8) จะต้องใช้บัตรเครดิตที่ทางรายการมีให้[3] หากมีเงินเหลืออยู่ระหว่างเลก ทีมสามารถนำไปใช้ในเลกต่อไปได้ สำหรับในฤดูกาลก่อน ๆ ทีมสามารถใช้บัตรเครดิตในการจองตั๋วผ่านทางโทรศัพท์และการจองตั๋วออนไลน์ ได้ แต่ในซีซั่นที่ 12 ทีมจะสามารถใช้บัตรเครดิตได้ในการจองตั๋วที่แท่นขายตั๋วเท่านั้น (แต่ทีมยังสามารถใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้ในการค้นหาเที่ยวบินที่พวกเขาเห็นว่าดีที่สุด)
เงินในที่นี้จะให้เป็นเงินสกุล ดอลลาร์สหรัฐ ไม่ว่าทีมจะอยู่ในประเทศใด ๆ ก็ตาม (กฎนี้มีข้อยกเว้นในเลก 4 ของ ซีซั่นที่ 10 ในประเทศเวียดนาม ที่ให้เงินเป็นเงินสกุลท้องถิ่น (ด่อง) โดยจำนวนเงินที่ให้ในแต่ละเลกนั้นแตกต่างออกไปตั้งแต่ไม่ให้เงินจนถึงหลายร้อยดอลลาร์ (ในซีซั่นที่ 1 , ซีซั่นที่ 10 , ซีซั่นที่ 12 มีอยู่หนึ่งเลกที่ทางรายการไม่ได้ให้เงินและในซีซั่นที่ 4 ทางรายการให้เงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับ 2 เลกสุดท้าย และตั้งแต่ ซีซั่นที่ 5 ถึง ซีซั่นที่ 9 ทีมที่เข้าสุดท้ายในเลกที่ไม่มีการคัดออกจะถูกบังคับให้คืนเงินทั้งหมด และจะไม่ได้รับเงินใช้ในเลกต่อไป
หากทีมใช้เงินหมดในระหว่างการแข่งขันหรือถูกยืดเงิน ทีมสามารถพยายามหาเงินได้ในวิธีที่ไม่ผิดกฎหมายท้องถิ่น เช่น การยืมเงินจากทีมอื่น การขอเงินจากคนท้องถิ่นหรือขายทรัพย์สินติดตัว (แต่มีกฎข้อหนึ่งที่เห็นชัดเจนในซีซั่นที่ 7 คือ "ห้ามทีมขอเงินในท่าอากาศยานในประเทศสหรัฐอเมริกา" นอกจากนี้ในเลก 3 (มองโกเลีย → เวียดนาม) ของซีซั่นที่ 10 ทีมไม่ได้รับอนุญาตให้ขอเงินหรือขายทรัพย์สินติดตัวเพื่อแลกกับเงินด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ทีมที่จำเป็นจะต้องใช้เงินฉุกเฉินประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถขอเงินจำนวนนี้มาใช้ได้จากทีมงานถ่ายทำที่จะถือเงินจำนวนนี้ไว้ แต่ต้องเป็นในกรณีเร่งด่วนเท่านั้นและโดยทั่วไปแล้วเงินเร่งด่วนนี้ไม่สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน อย่างไรก็ดีจำนวนเงินนี้ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนและ "สถานการณ์เร่งด่วน" ที่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเช่นกัน
คำสั่งต่างๆ ที่ใช้ในการแข่งขัน
[แก้]เครื่องหมาย | คำอธิบาย |
---|---|
Route Marker เป็นสัญลักษณ์ธงสีแดงและสีเหลือง เป็นเครื่องหมายประจำสถานที่ที่ผู้เข้าแข่งขันสามารถค้นหาคำสั่งต่อๆ ไป | |
Route Infomation (ข้อมูลเส้นทาง) เป็นสัญลักษณ์ตัวบอกเส้นทางที่ไปยังจุดหมายถัดไป ทีมจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้ไว้อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะถูกทำโทษปรับเวลาขั้นต่ำในการลงโทษ 30 นาทีบวกกับเวลาที่ได้เปรียบจากการเดินทางที่ผิดไปจากคำสั่ง | |
Detour (ทางแยก) เป็นสัญลักษณ์ตัวเลือกระหว่างภารกิจที่แตกต่างกันสองประการที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเลือกทำให้สำเร็จ ภารกิจทั้ง 2 อย่างนั้นมีข้อดีและข้อเสียในตัวมันเองฉะนั้นควรเลือกที่คิดว่าทั้งทีมถนัดเพื่อทำงานให้เสร็จโดยเร็ว จึงจะได้รับคำสั่งต่อๆ ไป ถ้าหากโดนคำสั่งย้อนกลับ ทีมจะต้องกลับมาทำ Detour อีกอันที่ไม่ได้เลือกทำแต่แรก และกลายเป็นว่าจะต้องทำทั้งสองอันนั่นเอง (ถ้าทำไม่สำเร็จจะถูกปรับ 24 ชั่วโมงแต่ในฤดูกาลที่ 17 เป็นต้นมาจะถูกปรับแค่ 6 ชั่วโมงเท่านั้น) | |
Roadblock (อุปสรรค) เป็นสัญลักษณ์ภารกิจที่อนุญาตให้สมาชิกเพียงคนเดียวในทีมสามารถทำได้เท่านั้นและเมื่อเลือกแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนคนทำได้ ผู้เข้าแข่งขันที่เลือกทำนั้นต้องทำงานอุปสรรคนั้นให้สำเร็จก่อน จึงจะได้รับคำสั่งต่อๆ ไป (หลังจากฤดูกาลที่ 5 ได้กำหนดตลอดระยะเวลาการแข่งขันให้ทำได้ไม่เกินคนละ 6-7 ครั้ง โดยมากแล้วจะแบ่งในสัดส่วนพอๆ กันและถ้าทำไม่สำเร็จจะถูกปรับ 4 ชั่วโมง) | |
Face-Off (ภารกิจตัวต่อตัว) เป็นสัญลักษณ์ที่ให้ทีมที่มาขึ้นจุดนี้ รออีกทีมหนึ่งมา และสองทีมจะต้องแข่งภารกิจ ตัวต่อตัว ทีมที่ชนะจะได้คำใบ้ถัดไป ส่วนทีมที่แพ้ต้องรอจนกว่าจะมีอีกทีมถัดมา และแข่งใหม่อีกครั้ง โดยทีมสุดท้ายที่แพ้จะต้องถูกโทษปรับเวลา การแข่งขันภารกิจแบบตัวต่อตัวนี้ จะทำให้ลำดับการแข่งขันเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาก | |
Fast Forward (ทางด่วน) เป็นสัญลักษณ์ที่อนุญาตให้ทีมใดก็ตามที่เสร็จสิ้นภารกิจ 1 อย่างเป็นพิเศษ ตามคำสั่งของ Fast Forward เรียบร้อยแล้ว จะสามารถเดินทางต่อไปยัง Pit Stop หรือจุดหมายปลายทางสุดท้ายของด่านนั้นๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านด่านใดๆ อีกในระหว่างทาง สิทธิ์ในการใช้สัญลักษณ์นี้ จะให้เฉพาะกับทีมแรกที่สามารถหาและเสร็จสิ้นภารกิจ Fast Forward เท่านั้นและตลอดการแข่งขันทีมๆ นั้นจะใช้สิทธิ์นี้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ยกเว้นในกฏ Intersection จะสามารถทำ Fast Forward ร่วมกันกับอีกทีมที่จับคู่ได้ถึงแม้ว่าจะเป็น Fast Forward ครั้งที่ 2 ก็ตาม (การใช้ Fast Forward ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นได้น้อยมาก) อย่างไรก็ตาม การได้บัตรทางด่วนนี้ ยังคงไม่รับประกันว่าจะไม่ตกรอบ ถ้ายังคงมาถึงเป็นทีมสุดท้าย (มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ) | |
Express Pass (บัตรผ่านเร่งด่วน) เป็นสัญลักษณ์ให้กับทีมที่มีบัตรผ่านนี้สามารถข้ามงานใดๆ ก็ได้ที่ไม่ต้องการทำ 1 งาน ไม่ว่าจะเป็นงานรูปแบบใดก็ตามและผ่านไปเลยโดยไม่ต้องมีอะไรเป็นการแลกเปลี่ยน ต่างจาก Fast Forward ที่ข้ามทั้งเลกและต้องทำภารกิจตามที่กำหนด 1 อย่างก่อน (บัตรนี้จะถูกให้กับทีมที่เข้ามาเป็นที่ 1 ในเลกแรกของการแข่งขันซึ่งใช้ได้ถึงเลก 8 จาก 12) | |
Salvage Pass (บัตรกอบกู้) เป็นสัญลักษณ์ให้กับทีมที่มีบัตรผ่านนี้สามารถช่วยทีมที่มาถึงเป็นลำดับสุดท้ายไม่ให้ถูกคัดออกได้ หรือจะใช้เพื่อเป็นการช่วยตัวเองไม่ให้ถูกคัดออกด้วยก็ได้ ในกรณีที่ต้องเผชิญหน้ากับการถูกคัดออก (ในเวอร์ชั่นอเมริการจะใช้คำว่า The Save) | |
Yield (ถ่วงเวลา) เป็นสัญลักษณ์ที่อนุญาตให้ทีมที่เลือกใช้สัญลักษณ์นี้มีโอกาสสั่งอีกทีมหนึ่งที่มาที่หลังพวกเขาให้หยุดแข่งได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทีมที่เลือกใช้สัญลักษณ์นี้ สามารถใช้ในการออกคำสั่งกับอีกทีมหนึ่งได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นตลอดการแข่งขัน (ไม่นับรวมกับคำสั่ง ย้อนกลับ) | |
U-Turn (ย้อนกลัับ) เป็นสัญลักษณ์ที่อนุญาตให้ทีมที่เลือกใช้สัญลักษณ์นี้มีโอกาสสั่งอีกทีมหนึ่งที่มาที่หลังพวกเขาให้กลับไปทำงาน Detour อีกงานที่ไม่ได้เลือกทำ ทีมที่เลือกใช้สัญลักษณ์นี้ สามารถใช้ในการออกคำสั่งกับอีกทีมหนึ่งได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นตลอดการแข่งขัน (ไม่นับรวมกับคำสั่ง ถ่วงเวลา) | |
Intersection (จุดร่วมมือ) เป็นสัญลักษณ์ที่สั่งให้ทีมต้องจับคู่กับอีกทีมทำภารกิจทุกๆ อย่างร่วมกัน ถ้ามาถึงจุดที่มีคำสั่งแต่ยังไม่มีทีมร่วมงานก็จำเป็นต้องรอและเมื่อมีคำสั่งยกเลิก Intersection จึงจะทำการแข่งขันแบบปกติได้ | |
Speed Bump (งานเพิ่มเติม) เป็นสัญลักษณ์ที่สั่งให้ทีมที่ได้สัญลักษณ์นี้ต้องทำงานเพิ่มอีก 1 งานในเลกถัดไป เนื่องจากเป็นการลงโทษที่มาถึงเป็นทีมสุดท้ายแต่ไม่ถูกคัดออกในเลกที่แล้ว โดยจะเป็นงานพิเศษ ที่ไม่เหมื่อนกับงานทั่วไปที่แข่งในเลกนั้นๆ ทำให้ทีมที่ได้บทลงโทษนี้ ทำงานเพิ่มมากกว่าปกติอีก 1 งานในเลกนั้น คล้ายกับ Handicap ต่างกันตรงที่เป็นงานใหม่เพิ่มขึ้นมาต่างหาก | |
Handicap (เพิ่มจำนวนชิ้นงาน) เป็นสัญลักษณ์ที่สั่งให้ทีมที่ได้สัญลักษณ์นี้ต้องเพิ่มจำนวนชิ้นงานมากกว่าปกติ เนื่องจากเป็นการลงโทษที่มาถึงเป็นทีมสุดท้ายแต่ไม่ถูกคัดออกในเลกที่แล้ว เช่น ในงานธรรมดาทั่วไปปกติให้ทำ 50 ชิ้นแต่ทีมที่ได้สัญลักษณ์นี้ต้องทำ 75 ชิ้น เป็นต้น คล้ายกับ Speed Bump ต่างกันตรงที่เป็นงานปกติทั่วไปในเลกนั้นๆ เพียงแต่เพิ่มจำนวน | |
Pit Stop (จุดหยุดพัก) เป็นสัญลักษณ์จุดหมายปลายทางสุดท้ายของการแข่งขันในแต่ละด่านโดยทีมที่มาถึงเป็นทีมสุดท้าย อาจจะถูกคัดออก หรือบางครั้งจะมีการเตือนในคำใบ้สุดท้ายก่อนถึงจุดพักเลยว่า ทีมที่มาถึงเป็นทีมสุดท้าย จะถูกคัดออก |
กฎกติกา บทลงโทษและการชดเชยเวลา
[แก้]ทุกทีมจะต้องปฏิบัติตามกฎกติกาที่วางไว้เมื่อเริ่มต้นการแข่งขัน หากทีมใดไม่ปฏิบัติตาม อาจส่งผลกระทบต่อโทษปรับเวลาที่อาจส่งผลต่อลำดับในการจบการแข่งขันในเลกนั้น ๆ ของทีม อย่างไรก็ดี กฎการแข่งขันอย่างเป็นทางการไม่ได้ถูกเผยแพร่ออกมาสู่ผู้ชม แต่มีกฎกติกาบางส่วนที่เผยแพร่ออกมาในรูปของการบังคับใช้ในหลาย ๆ ครั้งระหว่างการแข่งขัน โดยกฎกติกาที่มีการเปิดเผยมีดังนี้
- ทีมจะต้องซื้อตั๋วเครื่องบินในชั้นประหยัดเท่านั้น อย่างไรก็ดีทีมสามารถปรับระดับตั๋วเป็นตั๋วชั้นธุรกิจหรือชั้นหนึ่งได้ แต่ทีมจะต้องจ่ายค่าตั๋วในราคาชั้นประหยัดเท่านั้น (ตัวอย่างในกรณีนี้เช่น ร็อบกับเบรนแนน และแฟรงค์กับมาร์การิต้าในซีซั่นที่ 1 เรย์เชนกับชิพในซีซั่นที่ 4 เรย์กับเดียนาในซีซั่นที่ 7 อีริคกับแดนเนียลในซีซั่นที่ 11 และโรนัลด์กับคริสติน่าในซีซั่นที่ 12) โดยการจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินจะต้องใช้บัตรเครดิตที่ทางรายการจัดให้ (โดยไม่ใช้เงินสด) [4] ห้ามนำบัตรเครดิตนี้ไปใช้ในกรณีอื่นใดโดยเด็ดขาด และสามารถใช้ได้ที่ท่าอากาศยานเท่านั้น (ไม่อนุญาตให้จ่ายเงินผ่านทางอินเทอร์เน็ต) [5] สำหรับใน ซีซั่นที่ 8 ที่มีการเดินทางส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ ทีมสามารถใช้บัตรเครดิตในการจ่ายค่าน้ำมัน โดยเสมือนเป็นการจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินได้
- กรณีที่ทีมต้องซื้อตั๋วเครื่องบินเอง ทีมไม่สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินจากสายการบินหรือเส้นทางบินที่ถูกขึ้นบัญชีดำโดยทีมงาน (ซื้อได้เฉพาะเส้นทางหรือสายการบินที่ไม่ถูกห้าม) โดยทั่วไปแล้วกฎนี้เป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ก็เป็นการป้องกันทีมในการหาเส้นทางที่ไม่ได้ถูกวางแผนไว้โดยทีมงาน ซึ่งอาจทำให้ใช้เวลามากกว่ากำหนดการเดินทางที่คาดไว้เดิมมาก และอาจทำให้ทีมแยกออกไปจากทีมอื่นมากกว่าหนึ่งวัน
- ทีมไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรู้จักส่วนตัวระหว่างการแข่งขัน แต่ทีมสามารถพูดคุยและขอความช่วยเหลือกับผู้คนที่พวกเขาพบระหว่างการแข่งขันได้ เช่นนายหน้าการท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น อย่างไรก็ดีกฎนี้มีข้อยกเว้นหนึ่งครั้งใน ซีซันที่ 3 ที่ทีมจะได้รับโทรศัพท์มือถือหลังจากเสร็จงานทางแยกในเลก 9 ซึ่งเว็บไซต์ของซีบีเอสอธิบายในเรื่องนี้ไว้ว่า "พวกเขามีโอกาสที่จะโทรศัพท์กลับไปหาคนที่ตนรักนานแค่ไหนก็ได้ที่อยากจะคุย แต่ทีมจะต้องวางโทรศัพท์ก่อนจะขึ้นรถเพื่อขับไปที่ Château de Chillon ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทีมมีความสมัครใจเองที่จะคุยนานเท่าไหร่ก็ได้หรือจะรีบกลับไปแข่งขันต่อและจะได้ไม่เสี่ยงกับการตกรอบ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทีมเอง"[6] ข้อยกเว้นของกฎนี้มีขึ้นอีกครั้งใน ซีซันที่ 10 และ ซีซันที่ 11 ที่ผู้ชนะสามารถโทรศัพท์กลับไปหาครอบครัวจากสถานที่ที่เป็นเส้นชัยได้ (ซึ่งการแข่งขันนั้นจบแล้ว) โดยในซีซันก่อน ๆ ทีมไม่ได้รับอนุญาตให้โทรศัพท์เพื่อบอกลำดับในการแข่งขันของตน จนกว่าการแข่งขันจะได้ออกอากาศทางโทรทัศน์
- เมื่อมีการระบุไว้ ทีมไม่สามารถช่วยเหลือทีมอื่นระหว่างที่แต่ละทีมทำงานได้ (เกร็ธเชนกล่าวถึงเรื่องนี้หลังจากเธอถูกช่วยเหลือโดยยูเชนน่าด้วยเรือใน ซีซันที่ 7) [7] หากไม่มีการระบุไว้ ทีมสามารถช่วยกันทำงานให้สำเร็จได้ เช่นใน ซีซันที่ 8 ที่หลาย ๆ ทีมช่วยกันการเต๊นท์ และทีมของครอบครัวลินซ์และครอบครัวโกดลิวสกีช่วยกันทำงานทางแยก[8] แต่หากมีจุดร่วมมือปรากฏขึ้น ทีมที่จับคู่กันจะต้องทำงานร่วมกันจนกว่าจะสั่งเป็นอย่างอื่น
- ห้ามผู้เข้าแข่งขันสูบบุหรี่ระหว่างการแข่งขัน[9] ผลจากการไม่สูบบุหรี่นี้ทำให้ผู้เข้าแข่งขันบางคนอารมณ์ร้อน เช่นเอียน (ซีซั่นที่ 3) ที่เลิกสูบบุหรี่ก่อนการแข่งขัน
- ทีมที่ขับรถเร็วเกินกว่ากำหนดถ้าถูกตำรวจท้องถิ่นจับ ทีมจะต้องแก้ปัญหาด้วยตนเองและจะต้องโดนโทษปรับเวลา 2 นาทีต่อไมล์หรือกิโลเมตร (แล้วแต่กฎของการควบคุมความเร็วในประเทศนั้นๆ) เช่น กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าขับไปที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะถูกทำโทษ 40 นาทีแต่การขับรถเกินความเร็วเป็นโทษเดียวที่จะไปบวกทดตอนเริ่มเลกถัดไป ฉะนั้นถ้าทีมได้รับโทษนี้และไม่ได้เข้ามาเป็นลำดับสุดท้าย ทีมจะไม่ถูกคัดออกในเลกนั้นๆ อย่างแน่นอน
- แต่ละทีมจะมีช่างกล้องและช่างเสียงติดตามอยู่ทีมละ 2 คน ตลอดการแข่งขันในเลกนั้น ๆ โดยช่างกล้องและช่างเสียงจะมีการสลับเปลี่ยนกันเมื่อจบแต่ละเลก เพื่อให้การถ่ายทำดำเนินไปได้ สมาชิกในทีมทั้งสองคนจะต้องอยู่ในระยะ 20 ฟุต ซึ่งกันและกัน ยกเว้นสมาชิกคนใดคนหนึ่งไปทำงานอุปสรรคอยู่[10] รวมถึงสมาชิกทั้งสองคนจะต้องอยู่ใกล้กับช่างกล้องและช่างเสียงตลอดเวลา ยกเว้นจะระบุไว้เป็นอย่างอื่น ช่างกล้องและช่างเสียงยังต้องสามารถติดตามทีมไปได้ทุกที่ ไม่ว่าทีมจะใช้ยานพาหนะใดก็ตาม ยกเว้นจะระบุไว้เป็นอย่างอื่น (ในอีกความหมายหนึ่งคือ ทีม ช่างกล้องและช่างเสียงจะต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันกับทีม ไม่ว่าทีมจะใช้ยานพาหนะประเภทใดก็ตาม เช่น รถ, แท็กซี่, รถบัส, รถไฟ หรือเครื่องบิน ไม่เช่นนั้นทีมจะไม่สามารถเดินทางด้วยวิธีนั้น ๆ ได้)
- ห้ามทีมนำแผนที่, หนังสือแนะนำการเดินทาง, หนังสือเรียนภาษา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องจีพีเอส และ พีดีเอ ติดตัวไปในการแข่งขัน แต่ทีมสามารถซื้อแผนที่และหนังสือแนะนำการเดินทางได้ในระหว่างการแข่งขัน โดยใช้เงิน ที่มีให้[11]สำหรับสิ่งของที่นอกเหนือจากนั้น ทีมสามารถขนไปได้มากน้อยเพียงใดก็ได้ เท่าที่ทีมเห็นว่าจำเป็น โดยปกติแล้ว หากทีมไปซึ่งบริเวณที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น ทีมจะได้รับเสื้อกันหนาวจากทีมงาน และทีมไม่จำเป็นต้องขนไปในกระเป๋าอีก นอกจากนี้แต่ละทีมจะได้รับกระเป๋าสีดำคาดเหลืองและแดง (รู้จักกันในชื่อ "The Amazing Purse") ที่จะไม่เก็บรวมในกระเป๋าเดินทาง (ในกรณีที่ทีมเข้าเป็นลำดับสุดท้ายในเลกที่ไม่มีการคัดออก ในซีซั่นที่ 7 ซีซั่นที่ 8 และ ซีซั่นที่ 9 และต้องทิ้งสัมภาระทั้งหมด) ทีมจะใช้กระเป๋านี้เก็บหนังสือเดินทาง เอกสารการแข่งขันอย่างเป็นทางการ และแบบฟอร์มการเดินทาง โดยกระเป๋านี้ห้ามเก็บรวมกับสิ่งของติดตัวอื่น ๆ ในกรณีที่ทีมทำกระเป๋านี้หาย (โทนี่กับดัลลัส ในซีซั่นที่ 13 ที่ทำหายในเลก 10) จะไม่มีบทลงโทษต่อพวกเขา แต่พวกเขาจะไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่มีหนังสือเดินทางได้ อย่างไรก็ดีพวกเขาก็จะไม่ถูกคัดออกโดยอัตโนมัติ ในเลก 10 นั้นโทนี่กับดัลลัสยังคงแข่งต่อ แต่พวกเขาเสียเวลากับการขอเงินผู้คนท้องถนน ทำให้จบการแข่งขันเป็นลำดับสุดท้ายและถูกคัดออกจากการแข่งขันและเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งในซีซั่นที่ 15 ที่เซฟกับจัสตินทำหนังสือเดินทางหายหลังจากที่เข้าจุดพักแล้ว พวกเขาก็ได้สิทธิ์ให้กลับไปหาหนังสือเดินทางภายในเวลาก่อนที่ทีมสุดท้ายจะเข้ามายังจุดพัก
- ทีมอาจถูกบังคับให้ส่งกระเป๋าและสิ่งของติดตัวให้ทีมงานถ่ายทำตรวจสอบได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นช่วงก่อนเริ่มการแข่งขันก็ตาม
- กฎเพิ่มเติมของแต่ละเลกหรือของแต่ละงาน อาจให้มากับคำใบ้ในซองที่ผู้ชมเห็น โดยอาจเป็นคำใบ้ในกระดาษอีกแผ่นที่พิมพ์แยกต่างหาก หรือเป็นเพียงลายมือที่เขียนโดยทีมงานก็ได้ กฎเหล่านี้โดยทั่วไปแล้วมักไม่มีการอธิบายให้แก่ผู้ชม ยกเว้นจะมีการทำผิดกฎนั้น ๆ แต่ว่าทีมก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎเพิ่มเติมนี้ด้วย ตัวอย่างของกฎประเภทนี้คือการสรุปเรื่องการขับรถไปยังสถานที่ต่าง ๆ และข้อห้ามที่เกี่ยวกับการเดินทางทางอากาศ
- สำหรับการทำผิดกฎพื้นฐานของการแข่งขัน จะมีโทษปรับเวลา 30 นาที บวกกับเวลาที่ทีมได้เปรียบจากการทำผิดกฎของการแข่งขัน (ถ้ามี) โดยที่ทีมมาถึง ณ จุดหยุดพัก ฟิล คีโอแกน จะบอกว่า "คุณมาถึงเป็นลำดับที่ ..." แล้วจึงแจ้งบทลงโทษหรือแจ้งว่าอ่านคำใบ้ไม่ละเอียด ซึ่งการแจ้งว่าอ่านคำใบ้ไม่ละเอียดมักเกิดจากการเดินทางผิดรูปแบบ[12]หรือเดินทางด้วยวิธีที่ห้ามในการแข่งขัน[13] การได้รับใบสั่ง การทำผิดคำสั่งในคำใบ้ หรือขัดขวางทีมอื่น เช่นขับรถที่กำหนดไว้สำหรับทีมอื่นออกไปโดยประมาท หรือหยิบคำใบ้มากกว่า 1 ซองจากกล่องคำใบ้[14] อย่างไรก็ดี สำหรับบทลงโทษเรื่องใบสั่งนั้น หากบทลงโทษนั้นไม่มีผลกระทบต่อทีมที่จะทำให้แข่งต่อไม่ได้ (คำนวณโทษปรับเวลาแล้วทีมตกไปอยู่ในลำดับสุดท้าย) โทษปรับเวลานั้นจะไปมีผล ณ ช่วงที่ทีมออกเดินทางในเลกต่อไปแทน แต่ถ้าหากทีมรู้สึกว่าได้ทำผิดกฎในการแข่งขันก่อนที่พวกเขาจะไปทำงานต่อไป พวกเขาสามารถกลับไปที่สถานที่ที่พวกเขาทำผิดกฎนั้น แล้วทำให้ถูกต้องได้โดยที่ไม่ต้องโดนโทษปรับเวลา แต่จะเสียเวลากลับไปทำงานที่ทำไม่ถูกต้องเท่านั้น แต่หากการกระทำผิดกฎของพวกเขามีผลกระทบต่อทีมอื่นด้วย โทษปรับเวลาก็จะยังคงมีผลเช่นเดิม ในบางกรณีทีมที่ข้าม Route Marker ไปหรือทำงานไม่ถูกต้อง จะไม่ได้รับโทษปรับเวลา แต่พวกเขาจะยังไม่สามารถเช็กอินได้ และฟิล จะบอกให้ทีมกลับไปทำงานให้ถูกต้อง หรือหยิบคำใบ้ให้ครบก่อนที่จะกลับมาเช็กอินอีกครั้ง การที่จะโดนโทษปรับเวลาหรือจะไม่โดนปรับเวลาแต่ต้องกลับไปทำงานให้ถูกต้องนั้นจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเหมาะสมที่ถูกกำหนดได้ล่วงหน้าแล้ว
- ทีมที่ไม่สามารถทำงานอุปสรรคได้สำเร็จ จะต้องรับโทษปรับเวลา 4 ชั่วโมง เริ่มจากเวลาที่ทีมต่อไปมาถึงสถานที่ทำงาน[15] ทีมที่ไม่สามารถทำงานทางแยกใด ๆ ให้สำเร็จได้ จะต้องรับโทษปรับเวลา 24 ชั่วโมง (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง ที่ทีมแนนซี่กับเอมิลี่ในฤดูกาลที่ 1 และทีมมาเรียกับทิฟฟานี่ในฤดูกาลที่ 15 ที่ไม่สามารถทำงานทางแยกได้) แต่ตั้งแต่ฤดูกาลที่ 17 เป็นต้นมาถ้าไม่ทำงานทางแยกใดๆ เลยจะถูกปรับเวลาแค่ 6 ชั่วโมงเท่านั้น [16]
- ถ้ายานพาหนะของทีมเสียหรือไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ โดยที่ไม่ได้เกิดจากความผิดของพวกเขา พวกเขาสามารถขอยานพาหนะทดแทนได้โดยที่ไม่โดนโทษปรับเวลา แต่ในกรณีนี้จะไม่มีเวลาชดเชยให้ [17] แต่ถ้าในกรณีทีมได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อยาพาหนะเอง เช่น การเติมน้ำมันผิดประเภททำให้รถเสีย ทีมจะต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง
- ทีมที่ใช้ของส่วนตัวแทนการจ่ายค่าโดยสารหรือการทำงานต่างๆ จะถูกปรับ 2 ชั่วโมงต่อ 1 ครั้งที่ได้ทำผิดกฎ (ทีมสามารถขายของเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินก่อนที่จะนำมาใช้จ่ายได้แต่ยกเว้นบางสถานที่เท่านั้นที่ห้ามขายของเพื่อแลกเป็นเงินด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย โดยจะแจ้งให้ผู้เข้าแข่งขันทราบแต่อาจจะไม่ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์)
- ทีมที่เดินทางบนเครื่องบินด้วยชั้นธุรกิจ จะต้องรับโทษปรับเวลา 24 ชั่วโมง[18] (ยกเว้นทีมได้รับการเลื่อนระดับที่นั่ง โดยจ่ายค่าตั๋วโดยสารในราคาประหยัด)
- ในบางกรณีทีมต้องล่าช้าเนื่องจากอุปสรรคในการถ่ายทำ ทีมได้รับการชดเชยเวลาที่เสียไป (ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในฤดูกาลแรกๆ โดยในฤดูกาลหลังๆ ทีมงานพยายามทำงานให้ทันเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดนี้) ความผิดพลาดบางอย่างที่ผลกระทบต่อลำดับของทีมซึ่งเป็นความผิดพลาดของทีมงานซึ่งอาจเกิดได้น้อยมาก โดยถ้าเป็นเช่นนั้นทีมงานจะทำการตกลงกับผู้เข้าแข่งขันและทำการชดเชยเวลาให้หรือถ้าร้ายแรงมากถึงขึ้นลำดับสลับกันเลย ทีมงานจะวางแผนให้ทุกทีมไปเสมอกันตรงที่สนามบิน ซึ่งทำให้ต้องนั่งเครื่องบินไปพร้อมกันและเปรียบเสมือนเริ่มการแข่งขันกันใหม่เพราะไม่ว่าจะอย่างไรถ้านั่งเครื่องบินลำเดียวมาด้วยกัน ทุกทีมจะต้องมาถึงที่หมายปลายทางพร้อมกันอยู่แล้วและการแข่งขันก็จะยังดำเนินต่อไปตามปกติ
- ในระหว่างพักก่อนที่จะเริ่มเลกใหม่ ทีมจะไปทำอะไรก็ได้ตามสะดวกโดยใช้เงินที่เหลือจากการแข่งขัน ห้ามทีมใช้เงินส่วนตัวหรือของส่วนตัวแลกเป็นเงินเด็ดขาด แต่ส่วนใหญ่แล้วทีมมักจะพักในโรงแรมกันมากกว่าและไม่ออกไปไหน เนื่องจากพักกันแค่ 12 ชั่วโมงเท่านั้น (เวลาในการพักนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวกของทีมงานโดยเป็นกฎว่าต่ำสุดอยู่ที่ 12 ชั่วโมงและเคยสูงสุดอยู่ที่ 60 ชั่วโมงเนื่องจากทีมงานได้ทำการวางแผนการเดินทางและภารกิจใหม่ นอกเหนือจากที่เตรียมพร้อมไว้)
บทลงโทษและการชดเชยเวลาส่วนมากแล้วจะมีผลเมื่อทีมมาถึงจุดหยุดพัก โดยไม่สนว่าการกระทำผิดเกิดขึ้นในช่วงใดของเลก ฟิลจะบอกให้ทีมลงจากพรมเช็กอินก่อน แล้วรอจนกว่าโทษปรับเวลาจะหมด ซึ่งจะทำให้ทีมอื่น ๆ เข้าเช็กอินได้ในระหว่างนั้น ข้อยกเว้นสำหรับกรณีนี้คือทีมที่ไม่สามารถทำงานอุปสรรคได้ จะได้รับโทษปรับเวลา 4 ชั่วโทงทันทีที่ตัดสินใจถอนตัวหรือไม่ทำ รวมถึงไม่สามารถทำงานทางแยกได้ จะโดนปรับเวลา 24 ชั่วโมงทันทีเช่นกัน (ร็อบกับแอมเบอร์ใช้ประโยชน์จากข้อยกเว้น��ี้ในซีซั่นที่ 7 จึงทำให้พวกเขายังอยู่ในการแข่งขัน) ในบางครั้งบทลงโทษอาจมีการประกาศหลังจากจบเลกนั้นแล้ว แต่ในบางครั้งไม่มีการออกอากาศ เพราะไม่ได้ส่งผลต่อลำดับของพวกเขา (นิคกับสตาร์ในซีซั่นที่ 13 เลกที่ 4) อย่างไรก็ดีก็สามารถสรุปได้ว่ามีบทลงโทษนั้น ๆ เกิดขึ้น โดยสรุปแล้ว บทลงโทษที่จะออกอากาศทางโทรทัศน์จะมีเพียงบทลงโทษที่ส่งผลกระทบต่อลำดับของทีมเท่านั้น (เช่น ฮีเธอร์กับอีฟในซีซั่นที่ 3 และเทอเรนซ์กับซาร่าห์ในซีซั่นที่ 13)
การถ่ายทำ
[แก้]การถ่ายทำดิ อะเมซิ่ง เรซ ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นรายการที่แข่งขันไปทั่วโลก ทำให้ก่อนการถ่ายทำนั้นทีมงานจะต้องวางแผนเรื่องสถานที่ ภารกิจระหว่างการแข่งขัน การคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันและการส่งทีมงานเพิ่มเติมไปสนับสนุน ให้รอบคอบและสำเร็จไปได้ด้วยดี ท่ามกลางหน้าที่อันยากลำบากที่ผู้ผลิตจะต้องเผชิญระกว่างการแข่งขัน ระหว่างการแข่งขันช่างกล้องจะต้องติดตามทีมผู้เข้าแข่งขันและพิธีกรตลอดเวลา และหลังจากการถ่ายทำ ตัดต่อและได้ฟิล์มสุดท้ายที่จะนำไปออกอากาศแล้ว ทั้งทีมงานและสมาชิกในทีมจะต้องรับผิดชอบในการไม่เปิดเผยเนื้อความในรายการ (สปอยเลอร์) ที่จะทำให้มีผู้ทราบสถานที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือผลการแข่งขัน จนกว่าการแข่งขันจะออกอากาศจนจบ
หลังจากผ่านความพยายามมาอย่างหนัก ดิ อะเมซิ่ง เรซ เวอร์ชันสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับรางวัลหลายรางวัล รวมทั้งรางวัลเอ็มมีสำหรับรายการเรียลลิตี้โชว์ประเภทการแข่งขันยอดเยี่ยม และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในรางวัลเอ็มมีในด้านเสียง การถ่ายทำวิดีโอ และการตัดต่อวิดีโออีกด้วย
เวอร์ชันต่างๆ ของดิ อะเมซิ่ง เรซ
[แก้]เวอร์ชันต้นฉบับของ ดิ อะเมซิ่ง เรซ คือเวอร์ชันของสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกอากาศครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส ในเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 โดยในเดิอนตุลาคม ค.ศ. 2005 ซีบีเอส ให้เอกสิทธิ์ประเทศอื่นในการทำ ดิ อะเมซิ่ง เรซ เป็นของตนเอง โดยบัวนาวิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย-แปซิฟิก (BVITV-AP) และ ���ซนี่ พิกเจอร์ส เอนเตอร์เทนเมนต์ เอเชีย (บริษัทแม่ของ เอเอกซ์เอ็น เอเชีย) ได้ผลิตดิ อะเมซิ่ง เรซ ในเวอร์ชันเอเชีย โดยมีชื่อว่า ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชียในเดือนเดียวกันนั้นเอง [19] โดยซีซั่นแรกเริ่มรับสมัครตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ จนถึงปลายเดือน มีนาคม ค.ศ. 2006[20] เริ่มถ่ายทำในเดือนมิถุนายน และฤดูกาลแรกออกอากาศตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ถึง 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 หลังจากนั้นเองยังมี ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย ตามอีก 2 ฤดูกาล
ในช่วงปี ค.ศ. 2005 เอเอกซ์เอ็น เซ็นทรัลยุโรป ได้ประกาศเวอร์ชันเซ็นทรัลยุโรปออกมาโดยให้ชื่อว่า ดิ อะเมซิ่ง เรซ เซ็นทรัล ยุโรป การสมัครปิดลงโดยมีจำนวนผู้สมัครกว่า 2,500 คน และคาดว่าจะถ่ายทำในปี ค.ศ. 2006 และออกอากาศในเดือน กันยายน ในปีเดียวกัน[21] โดยจนถึงปัจจุบันรายการก็ยังไม่ได้ออกอากาศ และถูกถอดออกจากเว็บไซต์ของเอเอกซ์เอ็น ทำให้มีข่าวลือกันว่ารายการนี้อาจถูกยกเลิก
นอกจากนี้บริษัทผลิดรายการอิสระของอเมริกาใต้แห่งหนึ่งประกาศในช่วงปลายปี ค.ศ. 2006 ว่าจะมีการออกอากาศเวอร์ชันบราซิลของ ดิ อะเมซิ่ง เรซ ในชื่อ ดิ อะเมซิ่ง เรซ: A Corrida Milionária ในช่วงเวลาที่ต้องซื้อเวลาของโทรทัศน์บราซิล RedeTV! โดยซีซั่นแรกเริ่มรับสมัครตั้งแต่เดือน มกราคม จนถึง กรกฎาคม ถ่ายทำในช่วงเดือน สิงหาคม ถึง กันยายน และออกอากาศซีซั่นแรกในช่วงวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2007 ถึง 5 มกราคม ค.ศ. 2008[22](โปรตุเกส)
ในช่วงปี ค.ศ. 2008 ดิสคัฟเวอรี แชนแนล ลาตินอเมริกา ได้ประกาศเวอร์ชันลาตินอเมริกาของดิ อะเมซิ่ง เรซ ในชื่อ ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอ็น ดิสคัฟเวอรี แชนแนล โดยเป็นความร่วมมือกับดิสนีย์แชนแนล ลาตินอเมริกา โดยคาดว่าจะเริ่มถ่ายทำในช่วงต้นปี ค.ศ. 2009 และออกอากาศในแถบลาตินอเมริกา และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ในช่วงปลายปีเดียวกัน[23] และโทรทัศน์อิสราเอล Reshet ได้ลิขสิทธิ์ในการผลิตเวอร์ชันอิสราเอลของรายการที่ชื่อ Ha'Merotz La'Million (อังกฤษ: The Race to the Million; ไทย: การแข่งขันสู่เงินล้าน) โดยรายการมีกำหนดจะออกอากาศทั่วเอเชียใน ค.ศ. 2009[24]
โดยส่วนใหญ่แล้วจะซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตและฉายไปทั่วทวีปที่ตนเองอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาใต้ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นกำเนิดและมีลิขสิทธิ์เป็นของตนเองโดยมากต่างประเทศจะซื้อรายการของสหรัฐอเมริกาไปฉาย แต่ในบางประเทศก็ซื้อลิขสิทธิ์ไปเพื่อผลิตเองและฉายเฉพาะในประเทศตนเองเท่านั้น ไม่ได้ฉายไปทั่วทวีป เช่น ประเทศบราซิล ประเทศจีน ประเทศอิสราเอล ประเทศออสเตรเลีย ประเทศยูเครน เป็นต้น
ประเทศที่มีรายการ | ชื่อท้องถิ่น | เครือข่ายโทรทัศน์ | เงินรางวัลสูงสุด |
---|---|---|---|
สหรัฐอเมริกา | ดิ อะเมซิ่ง เรซ | ซีบีเอส | US$ 1,000,000 |
ทวีปเอเชีย | ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย | เอเอกซ์เอ็น เอเชีย | US$ 100,000 |
ทวีปอเมริกาใต้ | ดิ อะเมซิ่ง เรซ ลาติน อเมริกา | ดิสคัฟเวอรี แชนแนล | US$ 250,000 |
ทวีปยุโรป | ดิ อะเมซิ่ง เรซ เซ็นทรัล ยุโรป | เอเอกซ์เอ็น เซ็นทรัล ยุโรป | € 100,000 |
ประเทศฝรั่งเศส | อะเมซิ่ง เรซ | Direct 8 | € 50,000 |
ประเทศออสเตร��ลีย | ดิ อะเมซิ่ง เรซ ออสเตรเลีย | เซเว่น เน็ตเวิร์ค | AU$ 250,000 |
ประเทศนอร์เวย์ | ดิ อะเมซิ่ง เรซ นอร์เกียน | TV2 | NOK 1,000,000 |
ประเทศแคนาดา | ดิ อะเมซิ่ง เรซ แคนาดา | CTV | CA$ 500,000 |
ประเทศฟิลิปปินส์ | ดิ อะเมซิ่ง เรซ ฟิลิปปินส์ | TV5 | PHP 2,000,000 |
ประเทศจีน | ดิ อะเมซิ่ง เรซ ไชน่า รัช | เซียงไฮ้อินเตอร์เนชั่นแนล | RMB¥ 500,000 |
ประเทศอิสราเอล | Ha'Merotz La'Million | Channel 2 - Reshet | ₪ 1,000,000 |
ประเทศบราซิล | A Corrida Milionária | RedeTV! | R$ 500,000 |
ประเทศยูเครน | Вепикі перегони | 1+1 | UAH 1,000,000 |
ประเทศเวียดนาม | Cuộc đua kỳ thú | Vietnam Television 3 | VND 300,000,000 |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ TAR FAQ: Basic Rules. What happens if both members of Team A step onto the mat after one member of Team B, but before the other member? เก็บถาวร 2016-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 19 มิถุนายน 2007
- ↑ Lilley, Jason. "Girly Stuff เก็บถาวร 2005-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", TashiTagg, 2004 เรียกข้อมูลวันที่ 15 มกราคม 2007
- ↑ The Amazing Race 5 FAQ
- ↑ The Amazing Race FAQ: Basic Rules. "OK, I'm confused about the rules for booking airplane tickets. เก็บถาวร 2016-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" เรียกข้อมูลวันที่ 15 มกราคม 2007
- ↑ Goldman, Eric (15 พฤศจิกายน 2007). "Amazing Race Interview: Kate & Pat". IGN.com. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2008.
- ↑ "Why Did You Have to Take Your Pants Off?!". ดิ อะเมซิ่ง เรซ. ฤดูกาล 3 ออกอากาศวันที่ 4 ธันวาคม 2002. ตอน 9. ซีบีเอส.
- ↑ "The Devil Made Me Do It". ดิ อะเมซิ่ง เรซ. ฤดูกาล 7 ออกอากาศวันที่ 3 พฤษภาคม 2005. ตอน 11. ซีบีเอส.
- ↑ "We're Getting Out of the Country, Girls". ดิ อะเมซิ่ง เรซ. ฤดูกาล 8 ออกอากาศวันที่ 25 ตุลาคม 2005. ตอน 5. ซีบีเอส.
- ↑ TAR FAQ: Living on the Road. "Why doesn't this show ever cast smokers? เก็บถาวร 2016-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". เรียกข้อมูลวันที่ 15 มกราคม 2007
- ↑ TAR FAQ: Basic Rules. Are teammates ever allowed to separate? เก็บถาวร 2016-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 15 มกราคม 2007
- ↑ TAR FAQ: Basic Rules. What sorts of items are the teams not allowed to bring? เก็บถาวร 2016-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 15 มกราคม 2007
- ↑ "Did You See How I Stopped It? With My Face". ดิ อะเมซิ่ง เรซ. ฤดูกาล 3 ออกอากาศวันที่ 23 ตุลาคม 2002. ตอน 4. ซีบีเอส.ฮีเธอร์กับอีฟโดนลงโทษปรับเวลา 30 นาที บวกกับเวลาที่เสียไปจากการนั่งแท็กซี่ ซึ่งในคำใบ้บอกให้เดินไป
- ↑ "Oh, Wow! It's Like One of Those Things You See on TV!". ดิ อะเมซิ่ง เรซ. ฤดูกาล 10 ออกอากาศวันที่ 1 ตุลาคม 2006. ตอน 3. ซีบีเอส.ทอมกับเทอรี่โดนลงโทษปรับเวลา 30 นาทีเพราะใช้มอเตอร์ไซค์ ที่ถูกห้ามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน
- ↑ "I'm Not His Wife - He Doesn't Need to Scream at Me". ดิ อะเมซิ่ง เรซ. ฤดูกาล 6 ออกอากาศวันที่ 23 พฤศจิกายน 2004. ตอน 2. ซีบีเอส.
- ↑ "Do You Need Some Mouth-to-Mouth Resuscitation". ดิ อะเมซิ่ง เรซ. ฤดูกาล 7 ออกอากาศวันที่ 15 มีนาคม 2005. ตอน 3. ซีบีเอส.
- ↑ "The Unexpected Twist". ดิ อะเมซิ่ง เรซ. ฤดูกาล 1 ออกอากาศวันที่ 14 พฤศจิกายน 200]. ตอน 9. ซีบีเอส.
- ↑ TAR FAQ: Basic Rules. What happens if a team's car breaks down? เก็บถาวร 2016-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 17 มกราคม 2007
- ↑ Rocchio, Christopher (10 ธันวาคม 2007). "INTERVIEW: 'The Amazing Race's Azaria and Hendekea Azene dish". Reality TV World. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2007.
- ↑ "The Amazing Race Format makes a pit stop in ASIA PACIFIC - Thailand 4 News and Press Releases". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-16. สืบค้นเมื่อ ค.ศ. 2006.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "The Amazing Race Asia". สืบค้นเมื่อ ค.ศ. 2006.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "Риалити състезанието "The Amazing Race - Central Europe" следва оригинала" (ภาษาโปแลนด์). 11 ตุลาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2007.
- ↑ "The Amazing Race: A Corrida Milionária official website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-09. สืบค้นเมื่อ 2007.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Disney, Discovery team for 'Race'
- ↑ "The Amazing Race Heads to Israel". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-22. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน ค.ศ. 2008.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
ดูเพิ่ม
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของดิ อะเมซิ่ง เรซ เวอร์ชันอเมริกา (อังกฤษ)
- วิกิของดิ อะเมซิ่ง เรซ เวอร์ชันอเมริกา เก็บถาวร 2008-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย เก็บถาวร 2007-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของดิ อะเมซิ่ง เรซ: A Corrida Milionária เก็บถาวร 2007-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (โปรตุเกส)
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของดิ อะเมซิ่ง เรซ เอ็น ดิสคัฟเวอรี แชนแนล (สเปน)
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Ha'Merotz La'Million เก็บถาวร 2009-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ฮีบรู)