ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าพรหมมหาราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
พระเจ้าพรหมมหาราช
พระองค์พรหมราช
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราชที่อุทยานประวัติศาสตร์แม่สาย จังหวัดเชียงราย
กษัตริย์แห่งอาณาจักรโยนกนคร
ครองราชย์พ.ศ. 1572 – 1632 (60 ปี)
ก่อนหน้าพระเจ้าทุกขิตะ
ถัดไปพระเจ้าชัยศิริ
พระราชสมภพพ.ศ. 1464, 1583, หรือ 1641[1]
อาณาจักรโยนกนคร
สวรรคตพ.ศ. 1632
อาณาจักรโยนกนคร
อัครมเหสีพระนางแก้วสุภา
พระราชบุตรพระเจ้าชัยศิริ
ราชวงศ์สิงหนติ
พระราชบิดาพระเจ้าพังคราช
พระราชมารดาพระนางเทวี
ศาสนาพุทธ

พระเจ้าพรหมมหาราช พระองค์พรหมราช หรือ พรหมกุมาร เป็นราชบุตรของ พระองค์พังคราช กษัตริย์เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น ประสูติราว พ.ศ. 1555 ถึง พ.ศ. 1632 ซึ่งเป็นเมืองในที่ลุ่มแม่น้ำกก แต่มีหลักฐานท้องถิ่นระบุว่าพระองค์ประสูติใน พ.ศ. 1655 ที่เวียงสี่ทวง และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1732 พระองค์มีพระปรีชาสามารถด้านการรบ สามารถตีเอาเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น คืนได้จากพระยาขอม (ขอมดำ จากเมืองอุโมงคเสลานคร) ซึ่งยกทัพมาชิงเมืองโยนกในสมัยพระองค์พังคราช พระองค์เป็นกษัตริย์ไทยองค์แรกที่ได้รับสมญานาม "มหาราช" แต่กลับไม่ค่อยมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นตำนานหรือคติชนมากกว่าประวัติศาสตร์จริง จึงทำให้พระองค์อาจถือเป็นกษัตริย์ในตำนาน รัชสมัยของพระองค์ไม่เป็นที่กระจ่าง แต่นักโบราณคดีส่วนใหญ่ประมาณการว่าอยู่ในช่วง ค.ศ. 857–58[2][3]

พระราชประวัติ

[แก้]

พระเจ้าพรหมมหาราช (พระองค์พรหมกุมาร) เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ของ พระองค์พังคราชกับพระนางเทวี กษัตริย์เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น องค์ที่ 45

ตามตำนานสิงหนติกุมาร (ไม่ใช่สิงหนวัติ หรือ สิงหนวติ เพราะไม่ปรากฏในเอกสารใบลานชั้นต้น ซึ่งปรากฏเพียง สิงหนติ) กล่าวว่า ภายหลังจาก พระองค์พังคราช เสียเมืองให้ พระยาขอม และถูกขับไปเป็นแก่บ้าน เวียงสี่ทวง ต้องส่งส่วยให้พระยาขอมเป็นทองคำปีละ 4 ทวงหมากพินน้อย (คือมะตูมลูกเล็ก นำมาผ่าซีก 4 ส่วน นำทองคำหลอมลงไปเพียง 1 ซีก) และมีโอรสองค์แรกชื่อ ทุกขิตะกุมาร ต่อมาได้มีสามเณรชาวเวียงสี่ทวง เดินเข้ามาบิณฑบาตรในคุ้มหลวงของพระยาขอม เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น พระยาขอมเห็นจึงถามว่ามาจากไหน เมื่อได้ทราบว่าเป็นชาวสี่ทวงจึงโกรธและสั่งให้ไล่สามเณรออกไป สามเณรได้ยินจึงรู้สึกโกรธ เลยเดินออกจากเมืองขึ้นไปยัง พระธาตุดอยกู่แก้ว แล้วเจาะบาตรใส่หัวถวายข้าวให้พระธาตุ แล้วอธิษฐานขอให้ตัวเองได้เกิดเป็นลูกของพระองค์พังคราชและได้ปราบพวกขอมให้พ่ายแพ้ไป แล้วจึงลงไปที่ตีนดอยกู่แก้วนั่งใต้ต้นไม้อดอาหาร 7 วันจนมรณภาพ แล้วไปเกิดเป็นลูกคนที่ 2 ของพระองค์พังราช ชื่อ พรหมกุมาร

เมื่อพรหมกุมารอายุได้ 13 ปี เทวดาได้มาเข้าฝันว่าพรุ่งนี้ให้ไปที่แม่น้ำโขง จะมีช้างเผือก 3 ตัวล่องตามน้ำมา จับได้ตัวแรกจะปราบได้ทวีปทั้ง 4 จับได้ตัวที่สองจะปราบได้ชมพูทวีป จับได้ตัวที่สามจะปราบพวกขอมดำได้ พรหมกุมารพร้อมกับบริวาร 50 คนจึงไปแม่น้ำโขง เห็นมีงูสองตัวล่องมาตามน้ำแล้วผ่านไป เมื่อเห็นงูตัวที่สาม พรหมกุมารจึงสั่งให้จับงูตัวนั้น งูก็พลันกลับร่างเป็นช้าง แต่ไม่ยอมขึ้นมาบนฝั่ง พระองค์พังคราชจึงเอาทองคำพันหนึ่งตีเป็น พาน (พาน อ่านว่าปาน คือเครื่องดนตรีล้านนาชนิดหนึ่ง คล้ายฆ้องแต่ไม่มีโหม่ง ใช้ตี) แล้วให้ทุกขิตะกุมารนำมาส่งให้พรหมกุมารตี เมื่อช้างได้ยินเสียงพานคำจึงเดินตามเสียงพานคำ ช้างตัวนั้นจึงชื่อ ช้างพานคำ และทำการขุดคูเมือง ปรับปรุงกำแพงและประตูเมือง แล้วเปลี่ยนชื่อเวียงสี่ทวงเป็น เวียงพานคำ (สันนิษฐานว่าเวียงสี่ทวงและเวียงพานคำควรอยู่บริเวณเมืองโบราณที่เรียกว่าเวียงแก้ว บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน และเวียงสี่ทวงกับเวียงพานคำไม่ควรอยู่บริเวณเมืองโบราณที่ อ.แม่สาย เพราะตำนานหลายฉบับกล่าวว่าบริเวณนั้นเป็นเมืองหิรัญนครเงินยาง) และทำการซ่องสุมผู้คน แข็งเมืองต่อพระยาขอม

เมื่อพระยาขอมทราบจึงโกรธและยกทัพมาสู้กันที่ทุ่งสันทราย พรหมกุมารขี่ช้างพานคำต่อสู้และได้รับชัยชนะ ไล่ตามตีกองทัพพระยาขอมแตกและสามารถชิงเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นกลับคืนมาได้ ถวายเมืองคืนพระองค์พังคราช เมื่อเสร็จศึกแล้ว พรหมกุมารได้เดินทางกลับเวียงพานคำ เมื่อลงจากหลังช้างพานคำ ช้างพานคำได้หนีออกจากเมืองและกลับร่างเป็นงูเช่นเดิม เลื้อยหายเขาไปในดอยแห่งหนึ่ง ภายหลังเรียกชื่อดอยนั้นว่า ดอยช้างงู ต่อมาชาวอาข่าเรียกเพี้ยนเป็น “ดอยสะโง้” (ปัจจุบันอยู่ที่ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย)

พระองค์พังคราชจะตั้งให้พรหมกุมารเป็นอุปราช แต่พรหมกุมารไม่รับ กลับยกให้ผู้พี่ทุกขิตะกุมารเป็นแทน พระองค์พังคราชได้จัดการสู่ขอ พระนางแก้วสุภา ลูกพญาเรือนแก้ว เจ้าเมืองเวียงไชยนารายณ์เมืองมูล ให้กับพระองค์พรหมราช พระองค์พรหมราชได้กลัวว่าจะมีข้าศึกมาอีก จึงไปสร้างเมืองใหม่ คือ เวียงไชยปราการ (สันนิษฐานว่าควรอยู่บริเวณ บ้านร่องห้า (ร่องห้าทุ่งยั้ง) ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย)

ต่อมา พระพุทธโฆษาจารย์ หลังจากเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาจากประเทศลังกาแล้ว จึงกลับมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในมอญ พม่า ตามลำดับจนเข้ามาในโยนกนคร ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏ (หน้าผาก) 16 องค์ พระองค์พังคราช พระองค์พรหมราช และพญาเรือนแก้ว ได้สร้างโกศเงิน โกศทอง โกศแก้ว บรรจุพระธาตุ ได้แบ่งให้พญาเรือนแก้วนำไปบรรจุในพระธาตุจอมทอง กลางเวียงไชยนารายณ์เมืองมูล ส่วนพระธาตุที่เหลือ พระองค์พังคราช พระองค์พรหมราช และพระพุทธโฆษาจารย์ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้บนดอยน้อย (คือวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย)

พระองค์พรหมราช ครองราชย์ในเวียงไชยปราการได้ถึง 77 พรรษา ก็สวรรคตไป พระองค์ไชยสิริ พระโอรสได้ขึ้นครองราชย์เวียงไชยปราการต่อมา[4][5][6][7]

ข้อสันนิษฐาน

[แก้]

อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่า พระเจ้าพรหมมหาราชไม่น่าจะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่เป็นการแต่งขึ้นเพื่อสร้างวีรบุรุษของแคว้นโยนก โดยได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง วีรบุรุษในตำนานที่มีการเผยแพร่อยู่อย่างหลากหลายก่อนหน้านั้นแล้ว ต่อมาเมื่อมีการรับพุทธศาสนาเข้ามาแทนที่ลัทธินับถือผีดั้งเดิม จึงได้หยิบเอาพระพรหม หนึ่งในตรีมูรติของศาสนาฮินดูมาเป็นวีรบุรุษของตนเอง และยกย่องให้เป็นมหาราชเหนือกษัตริย์อื่น ๆ สิ่งใด ๆ ก่อนหน้านี้รวมถึงท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ด้วย[8][3]

อย่างไรก็ตาม รายงานจากบันทึกชาวตะวันตกบางส่วนที่เข้ามาในอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง เช่น วันวลิต กี ตาชาร์ และเดอ ลาลูแบร์ ระบุว่า ชาวอยุธยาหลายคนเชื่อว่าพระเจ้าพรหมมหาราชเป็น "กษัตริย์บรรพกาล" เป็นเวลานานแล้ว ชนชั้นนำในอยุธยาก็เชื่อว่าพระองค์เป็นบรรพบุรุษของพระเจ้าอู่ทอง กษัตริย์องค์แรกและผู้สถาปนาอาณาจักรอยุธยา[9]

ปัจจุบัน มีการสร้างอนุสาวรีย์อุทิศแด่พระองค์ที่หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโยนก[10] ในการรับรู้ของชาวแม่สายในปัจจุบันยกย่องพระองค์เป็นผู้บุกเบิกและเทพารักษ์แห่งแม่สาย โดยมีการจัดพิธีบวงสรวงแก่พระองค์ทุกปี[11]

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • พระร่วง – กษัตริย์ในตำนานอีกพระองค์ในประวัติศาสตร์ไทย
  • ขุนบรม – กษัตริย์ในตำนานที่มีความเกี่ยวข้องกับขุนเจือง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pralongchoeng, Kilen (2019-01-29). "ช้างพระเจ้าพรหม". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  2. Pralongchoeng, Kilen (2018-01-18). "พระเจ้าพรหม". Thairath. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  3. 3.0 3.1 Jiajanpong, Pises (2021-04-23). "พระเจ้าพรหมมหาราช ในตำนานล้านนา นัยความสำคัญของกษัตริย์สืบสายทางธรรม VS สายเลือด" [King Phrom in Lanna legend, significance of the king's dharma lineage VS bloodline]. Art & Culture. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  4. . ใบลานตำนานโยนกนครเชียงแสน ฉบับวัดเชียงมั่น เชียงใหม่.[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  5. . ใบลานตำนานสิงหนติโยนก ฉบับวัดลำเปิง เชียงราย.[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  6. อภิชิต ศิริชัย. วิเคราะห์ตำนานจากเอกสารพื้นถิ่น ว่าด้วย โยนกนคร เวียงสี่ตวง เวียงพานคำ เมืองเงินยาง และ ประวัติวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย:ล้อล้านนา, 2560.
  7. Rak-Yom (2017-07-23). ""พระฝาง" ไชยปราการ ศรัทธายิ่งยุคพระเจ้าพรหมมหาราช". Thairath. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  8. พระเจ้าพรหม “มหาราช” ในประวัติศาสตร์ไทย “ไม่มีจริง”พระเจ้าพรหม “มหาราช” ในประวัติศาสตร์ไทย “ไม่มีจริง” เก็บถาวร 2017-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. Wongthes, Sujit (2018-12-06). ""งูใหญ่" กลายเป็น "ช้างเผือก" สตอรี่ เหนือสุดในสยาม "เขาขุนน้ำนางนอน" แม่สาย เชียงราย". มติชน. สืบค้นเมื่อ 2021-09-18.
  10. ""ตำนานพระเจ้าพรหม" วีรบุรุษของโยนกล้านนา". Chiangmainews. 2019-01-08. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  11. "พิธีบวงสรวงพระเจ้าพรหมมหาราช ครั้งที่ ๑๙ ประจำปี ๒๕๖๔". M-culture.go.th. 2021-02-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]