เบญจศีล
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
เบญจศีล หรือ ปัญจสีล แปลว่า ศีล 5 เป็นศีลหรือข้อห้ามในลำดับเบื้องต้นตามพระโอวาทของพระโคตมพุทธเจ้า พระศาสดาพระองค์ปัจจุบันแห่งศาสนาพุทธ แต่ทั้งนี้เบญจศีลเป็นหลักการที่มีมาและเป็นที่สั่งสอนทั่วไปก่อนพระพุทธโคดมอุบัติแล้ว[1] จัดเป็นศีลขั้นต่ำของพระโสดาบัน
เบญจศีลเป็นหลักธรรมประจำสังคมมนุษย์ ในพิธีกรรมทั้งปวงแห่งพุทธศาสนา ภิกษุจึงนิยมกล่าวเป็นภาษาบาลีมอบศีลที่ตนมีให้บุคคลร่วมรักษาด้วย เรียกว่า "ให้ศีล" และพุทธศาสนิกจักกล่าวรับปากว่าจะรักษาศีลหรือที่เรียกว่ากล่าว "รับศีล" ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ภิกษุเท่านั้นที่ให้ศีล ฆราวาสผู้รักษาศีลอยู่แล้วก็สามารถให้ศีลแก่บุคคลอื่นได้ด้วย[2]
เบญจศีลเป็นข้อไม่พึงปฏิบัติ คู่กับ "เบญจธรรม" อันเป็นข้อพึงปฏิบัติ การรักษาเบญจศีลให้บริบูรณ์ควรกระทำพร้อมกับรักษาเบญจธรรมด้วย แต่การรักษาเบญจศีลนี้มิใช่ข้อบังคับของพุทธศาสนิก เป็นคำแนะนำให้พึงยึดถือด้วยความสมัครใจเท่านั้น[3]
ประวัติ
[แก้]เบญจศีลเป็นหลักธรรมประจำสังคมที่มีมาก่อนพุทธกาลแล้ว ปรากฏในจักกวัตติสูตร[4] (บาลี: จกฺกวตฺติสุตฺต) อันกล่าวถึงเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิตรัสสอนประชาชนว่า ท่านทั้งหลายต้องไม่ฆ่าสัตว์ (บาลี: ปาโณ น หนฺตพฺโพ), ต้องไม่ถือเอาของที่เขามิได้ให้ (บาลี: อทินฺนํ น อาทาตพฺพํ), ต้องไม่ประพฤติไม่เหมาะสมทางเพศ (บาลี: กาเมสุ มิจฺฉา น จริตพฺพา), ต้องไม่กล่าวเท็จ (บาลี: มุสา น ภาสิตพฺพา) และต้องไม่บริโภคสุรายาเมา (บาลี: มชฺชํ น ปาตพฺพํ) ต่อมา เมื่อมีผู้ประพฤติผิดจากที่พระเจ้าจักรพรรดิสอน จึงมีการลงโทษด้วยวิธีจับแขนไพล่หลังแล้วเอาเชือกเหนียวมัดอย่างมั่นคง โกนผม และประโคมบัณเฑาะว์เสียงกร้าว แห่ประจานไปตามถนนและตรอกซอกซอย พาออกไปทางประตูเมืองทิศใต้ ก่อนประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ[1]
เบญจศีลมีอิทธิพลมากในสังคมอินเดียโบราณ จากคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์จักวัตติสูตรดังกล่าว เมื่อกาลผ่านไปก็กลายเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานสำหรับนักบวชทั่วไปในสังคมอินเดีย แต่ปรับปรุงเหลือเพียงสี่ข้อเท่านั้น ประกอบด้วย ไม่ฆ่าสัตว์ 1 ไม่ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ 1 ไม่มีเพศสัมพันธ์ 1 และไม่อวดอุตริมนุษยธรรม 1
ต่อมาพระโคตมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นและประกาศศาสนาพุทธก็ทรงยอมรับเอาข้อห้ามห้าประการตามจักวัตติสูตรมาสั่งสอนในพุทธศาสนาอย่างแพร่หลาย เรียกว่า "ศีล" บ้าง "สิกขาบท" บ้าง แต่ในทางปฏิบัติหมายถึง เจตนางดเว้นจากการกระทำความชั่วห้าประการข้างต้น ไม่เพียงเท่านี้ ครั้งเสด็จออกบรรพชาก็ทรงถือปฏิบัติตามคุณธรรมนักบวชสี่ประการดังกล่าว โดยทรงขนานชื่อว่า "อกรณียกิจ 4" แปลว่า เรื่องที่นักบวชไม่พึงทำสี่ประการ และทรงนำไปเป็นเกณฑ์บัญญัติพระวินัยอีกด้วย ที่เห็นได้ชัดคือ ปาราชิก 4[2]
โดยเหตุที่เบญจศีลเป็นหลักธรรมสำหรับอุ้มชูโลก จึงได้รับสมญาต่าง ๆ อาทิ สมญาว่า "มนุษยธรรม" คือ ธรรมของมนุษย์ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์รักษาธรรมะห้าประการนี้แล้ว โลกหรือสังคมก็จะสงบสุข[2], ว่า "นิจศีล" หรือ "นิตยศีล" คือ ศีลที่บุคคลทั้งนักบวชและฆราวาสพึงรักษาเป็นนิตย์, ว่า "คิหิศีล" คือ ศีลของคฤหัสถ์, ว่า "อาคาริยวินัย" คือ วินัยของผู้ครองเรือน เป็นต้น[5] ราชบัณฑิตยสถานแสดงความเห็นว่า "...น่าจะถือได้ว่า ศีล 5 เป็นรากฐานของศีลทั้งปวง..."[5]
ต่อมา ได้มีผู้นำทางการเมืองของบางประเทศนำคำว่า "ปัญจสีล" ไปใช้ในทางการเมืองโดยเรียกว่า "ปัญจสีละ" และได้ให้นิยามตามความคิดเห็นของตนเอง ได้ความว่าคือการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (อังกฤษ: non-alignment)[5]
องค์ประกอบ
[แก้]เบญจศีลในศาสนาพุทธประกอบด้วยข้อห้ามห้าข้อเช่นที่ปรากฏในคำสมาทานศีล ดังต่อไปนี้[2]
ลำดับที่ | คำสมาทาน | คำแปล |
---|---|---|
1. ปาณาติบาต | ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ | เราจักถือศีลโดยเว้นจากการเบียดเบียนชีวิต |
2. อทินนาทาน | อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ | เราจักถือศีลโดยเว้นจากการเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ |
3. กาเมสุมิจฉาจาร | กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ | เราจักถือศีลโดยเว้นจากการประพฤติไม่เหมาะสมทางเพศ |
4. มุสาวาท | มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ | เราจักถือศีลโดยเว้นจากการกล่าวเท็จ |
5. สุราเมรยมัชปมาทัฏฐาน | สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ | เราจักถือศีลโดยเว้นจากการบริโภคสุรายาเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท |
การรักษาศีล
[แก้]การรักษาเบญจศีลสามารถกระทำได้สองวิธี ดังนี้[2]
1. สมาทานวิรัติ คือ สมาทานหรือขอรับศีลจากภิกษุ ซึ่งต่อมามีการพัฒนารูปแบบให้เป็นการกล่าวคำขอและคำรับศีล รวมทั้งมีคำสรุปอานิสงส์ของศีลด้วย ในอรรถกถาชาดก[6] ปรากฏกตอนหนึ่งว่า พระโพธิสัตว์เคยให้เบญจศีลแก่ยักษ์ด้วย นี้หมายความว่า มิใช่แต่ภิกษุเท่านั้น แม้คฤหัสถ์ที่มีศีลก็สามารถให้ศีลตามที่มีผู้ขอได้
2. สัมปัตวิรัติ (บาลี: สมฺปตฺตวิรติ) คือ งดเว้นไม่ทำบาปขณะประสบกับสถานการณ์ที่กระตุ้นให้ทำบาป
การจูงใจ
[แก้]ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี โสตาปัตติสังยุตต์ ปุญญาภิสันทวรรค มหานามสูตร[7] ปรากฏการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระเจ้ามหานามะ ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระเจ้ามหานามะทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ. ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล." มีพระกระแสวิสัชนาว่า
"ดูก่อน มหาบพิตร, อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต, เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน, เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร, เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท, เป็นผู้งดเว้นจากสุราเมรยมัชปมาทัฏฐาน. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.
นอกจากนี้ ในพระไตรปิฎก โสตาปัตติสังยุตต์ ปุญญาภิสันทวรรค อภิสันทสูตรที่ 1[8] ปรากฏพระพุทธดำรัสสรรเสริญเบญจศีลอันเป็นพระธรรมว่า
"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย. ห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข 4 ประการนี้, 4 ประการเป็นไฉน. อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม...นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข..."
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน, 2548 : 363.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ราชบัณฑิตยสถาน, 2548 : 364.
- ↑ Stewart McFarlane, 2001 : 187.
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตร. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [1]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 30-6-52
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ราชบัณฑิตยสถาน, 2548 : 365.
- ↑ อรรถกถาชาดก ทั้งหมด 547 เรื่อง, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
- ↑ วิกิซอร์ซ, 23 มกราคม 2550 : ออนไลน์.
- ↑ วิกิซอร์ซ, 23 มกราคม 2550 : ออนไลน์.
อ้างอิง
[แก้]- ราชบัณฑิตยสถาน. (2548). พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2, แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน. ISBN 9749588339.
- วิกิซอร์ซ.
- (2550, 23 มกราคม). โสตาปัตติสังยุตต์ - 4. ปุญญาภิสันทวรรค - มหานามสูตร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1 เก็บถาวร 2009-08-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 30 พฤษาภาคม 2552).
- (2550, 23 มกราคม). โสตาปัตติสังยุตต์ - 4. ปุญญาภิสันทวรรค - อภิสันทสูตรที่ 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <2 เก็บถาวร 2009-08-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 30 พฤษาภาคม 2552).
- อรรถกถาชาดกทั้งหมด 547 เรื่อง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 30 พฤษาภาคม 2552).
- Stewart McFarlane. (2001). Buddhism. Peter Harvey, editor. USA : Continuum.