ข้ามไปเนื้อหา

เดอะคิงเนเวอร์สไมลส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
เดอะคิงเนเวอร์สไมลส์
ไฟล์:Kingneversmile.jpg
หน้าปกของหนังสือ "เดอะคิงเนเวอร์สไมลส์"
ผู้ประพันธ์พอล แฮนด์ลีย์
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
สำนักพิมพ์สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเยล
วันที่พิมพ์มิถุนายน พ.ศ. 2549

เดอะคิงเนเวอร์สไมลส์ (อังกฤษ: The King Never Smiles; "กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม") เป็นหนังสือว่าด้วยพระราชประวัติอย่างไม่เป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและราชวงศ์จักรี เขียนโดย พอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) นักเขียนชาวอเมริกัน จัดพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale University Press) และออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2549

หนังสือนี้ทางการไทยจัดให้เป็น "หนังสือต้องห้าม" อย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ก่อนตีพิมพ์ โดยมิได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการในกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์[1] ต่อมามีหนังสือกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ ตช 0016.146/289 ลงวันที่ 18 มกราคม 2551 ว่าหนังสือเล่มนี้เป็น "หนังสือต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร"[2] และในเดือนมกราคม 2549 ทางการไทยยังได้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่โฆษณาหรือให้บริการสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วย[3][4]

หนังสือเดอะคิงเนเวอร์สไมลส์นับเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มที่สองที่ว่าด้วยพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เล่มแรกชื่อ "เดอะเรวอลูเชินแนรีคิง" (อังกฤษ: The Revolutionary King; "กษัตริย์นักปฏิวัติ") เขียนโดยชาวแคนาดาชื่อ วิลเลียม สตีเวนสัน (William Stevenson) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2544 ซึ่งไม่ผ่านการตรวจพิจารณาในประเทศไทยเช่นเดียวกัน[5]

การตรวจพิจารณาหนังสือในประเทศไทย

[แก้]

ในเดือนมกราคม 2550 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย อาศัยอำนาจตามคำสั่งคณะปฏิรูป��ารปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 5/2549 เรื่อง ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550[6] สั่งปิดกั้นการเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือเดอะคิงเนเวอร์สไมลส์ในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเยลและเว็บไซต์แอมะซอน.คอม[3][4] ซึ่งโปรแกรมชี้แหล่งทรัพยากรสากลของเว็บไซต์ทั้งสองปรากฏในรายการระบบสารสนเทศที่ต้องปิดกั้นของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นอย่างน้อยตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2550 จึงนำออกจากรายการ[7] โดยพลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีแถลงการณ์ลงวันที่ 19 มกราคม 2549 ว่าหนังสือเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ผ่านการตรวจพิจารณา ไม่อาจให้เผยแพร่ในราชอาณาจักรได้

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสั่งระงับการขายหนังสือ "อะกูป์ฟอร์เดอะริช" (อังกฤษ: A Coup for the Rich; "รัฐประหารเพื่อคนรวย") ซึ่งเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 และรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เขียนโดย รองศาสตราจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรองผู้จัดการของศูนย์หนังสือจุฬาฯ ชี้แจงว่า เพราะหนังสือดังกล่าวมีการอ้างอิงงานเขียนของพอล แฮนด์ลีย์ คือ หนังสือเล่มนี้[8]

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ในประเทศไทยการเข้าถึงหนังสือเดอะคิงเนเวอร์สไมลส์ยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามโดยรัฐ แต่คงปรากฏว่าผู้ใช้งานส่วนหนึ่งยังสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเยลและเว็บไซต์แอมะซอน.คอมดังกล่าวได้ตามปกติ ขึ้นอยู่กับว่าใช้บริการของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใด

เนื้อเรื่อง

[แก้]

คำแนะนำหนังสือเดอะคิงเนเวอร์สไมลส์จากเว็บไซต์แอมะซอน.คอมซึ่งเว็บไซต์ประชาไทได้แปลขึ้น มีความว่า[9] [10]

...เป็นหนังสือที่บอกเล่าพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชในช่วงเวลาที่ทรงครองราชย์ อธิบายว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบตะวันตกนั้นกลายมาเป็น 'ในหลวง' (living Buddha) ของประชาชนได้อย่างไร และในความเป็นจริงแล้ว กษัตริย์ซึ่งมีพระเมตตาและวางตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อาจเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างลึกซึ้งและมีอำนาจเด็ดขาดที่แท้จริงก็ได้

จอห์น กุลกา (John Kulka) บรรณาธิการอาวุโสของสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่าหนังสือนี้เป็นหนังสือ "ชีวประวัติเชิงตีความหมาย" ("interpretive biography")

ส่วนหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือนี้ "แสดงข้อแก้ต่างอย่างตรงไปตรงมาถึงกระบวนการการที่ราชวงศ์ใช้สร้างภาพลักษณ์อย่างเป็นระบบในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา อันเป็นการฉายภาพกษัตริย์ไปไกลกว่าการเมือง บุรุษแห่งสันติภาพ ผลงานอันยิ่งใหญ่ และความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างพุทธ"[11]

พอล แฮนด์ลีย์ ผู้เขียนหนังสือเดอะคิงเนเวอร์สไมลส์ กล่าวในนิตยสารอีโคโนมิกรีวิว (อังกฤษ: Economic Review) ว่า หนังสือเล่มนี้มีประเด็นหลักอยู่สองประเด็น ประการแรกคือเป็นเวลากว่าหกสิบปีแล้วที่สถาบันกษัตริย์สนับสนุนให้ทหารก่อการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และประการที่สองคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ใช้กุศโลบายทางวัฒนธรรมและประเพณีไทยมาสร้างความนิยมให้แก่ตนเองภายในหมู่ชนชาวไทย ทั้งนี้เพื่อกอบกู้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ของตนกลับคืนมา[12]

การตอบรับเชิงวิพากษ์

[แก้]

การตอบรับจากต่างประเทศ

[แก้]

หนังสือเดอะคิงส์เนเวอร์สไมส์ได้รับการตอบรับในเชิงบวกเป็นการทั่วไปจากหมู่นักวิจารณ์และนักวิชาการนานาชาติ ส่วนความเห็นในอินเทอร์เน็ตนั้นมีทั้งเชิงบวกและลบ

นิตยสารนิวยอร์กรีวิวออฟบุ๊กส์ (อังกฤษ: New York Review of Books) กล่าวว่าหนังสือนี้เป็น "หนังสือเล่มหนึ่งที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับประเทศไทยเท่าที่ปรากฏอยู่ในภาษาอังกฤษ" และตั้งข้อสังเกตว่า "ความริเริ่มไม่เหมือนใครในหนังสือของแฮนด์ลีย์มีความก้าวร้าว แต่ผมคิดว่าเมื่อวิเคราะห์อย่างเป็นธรรมแล้ว เกี่ยวกับการฟื้นฟูอำนาจราชวงศ์ในสมัยของกษัตริย์ภูมิพล"[13]

ดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ในประเทศอังกฤษ ผู้เขียนบทความหลายชิ้นซึ่งมีอิทธิพลต่อประเทศไทย เช่น บทความเรื่อง "เน็ตเวิร์กโมนาร์คีออฟภูมิพลแอนด์ฮีสพรอกซีส์" (อังกฤษ: network monarchy of Bhumibol and his proxies; "เครือข่ายของภูมิพลและนายหน้าตัวตายตัวแทนของพระองค์") [14][15] เขียนบทวิจารณ์ไว้ในนิตยสถาน "นิวเลฟต์รีวิว" (อังกฤษ: New Left Review) ว่า หนังสือเดอะคิงเนเวอร์สไมลส์นี้เป็น "หนังสือสำคัญ" ที่ "เขียนขึ้นอย่างแตกฉานและอยู่บนพื้นฐานของการวิจัยจำนวนมาก"

ดันแคนยังกล่าวอีกว่า ในขณะที่การพิจารณาของพอล แฮนด์ลีย์ "มาจากความเข้าใจลึกซึ้งในระบอบกษัตริย์ของไทยจากนักวิชาการและนักเขียนจำนวนมาก รวมถึง คริสตีน เกรย์ (Christine Gray) กอบเกื้อ สุวรรณทัตเพียร และ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร" และการเล่าเรื่องของพอล แฮนด์ลีย์นั้น "ไปไกลกว่าตัวแปรของสิ่งตั้งต้นเหล่านี้ มันมีความเด่นชัดและเร่าร้อนเกินกว่าชีวประวัติธรรมดา ๆ ใด ๆ..." ดันแคนยกย่องพอล แฮนด์ลีย์ที่มี "ความเข้าใจถึงภูมิพลในฐานะตัวละครทางการเมือง ในฐานะสถาปนิกเอกของโครงการชั่วชีวิตที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าสถาบันกษัตริย์ที่ไม่เป็นที่นิยมและถูกทำให้ไม่มีความสำคัญ จากขอบข่ายของการเลิกล้มมากกว่าหนึ่งครั้งไปสู่องค์ประกอบที่มีอำนาจมากที่สุดหนึ่งเดียวในรัฐไทยสมัยใหม่" กับทั้งยังว่าอีกว่า พอล แฮนด์ลีย์มี "ความสามารถในการเข้าใจโดยสัญชาตญาณอย่างหลักแหลม ในเรื่องปฏิกิริยาที่เสื่อมศีลธรรมต่อกันและกัน ระหว่างเงินตราและอำนาจ และในเรื่องเกี่ยวกับการทำงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตถึง "ความรู้สึกร่วมอย่างชัดเจนกับสิ่งที่เขา [หมายถึงพอล แฮนด์ลีย์] ศึกษา"[16]

ในหน้าจำหน่ายหนังสือนี้ ณ เว็บไซต์แอมะซอน.คอม ได้รับความคิดเห็นจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำนวนหนึ่งเขียนขึ้นก่อนที่หนังสือจะตีพิมพ์ ความคิดเห็นเหล่านั้นมีตั้งแต่ยกยอไปจนถึงอาฆาตแค้น ผู้วิจารณ์บางรา��กล่าวหาอย่างลอย ๆ ว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้เขียนนั้นเขียนหนังสือเล่มนี้ แต่การวิจารณ์ที่พบบ่อยที่สุดก็คือ ชาวต่างชาตินั้นไม่สามารถเข้าใจกษัตริย์และระบอบกษัตริย์ของไทยได้

นอกจากนี้ มีบทวิจารณ์อีกหลายชิ้นยกย่องหนังสือดังกล่าวในด้านคุณภาพของการวิจัย[16]

การตอบรับในประเทศไทย

[แก้]

การตอบรับเชิงวิพากษ์ในประเทศไทยนั้นมีคละกันทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

สนธิ ลิ้มทองกุล นักธุรกิจด้านสื่อสารมวลชน และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์เชิงสนทนาซึ่งสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ วิพากษ์วิจารณ์หนังสือดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า "เขียนจากข่าวโคมลอย" และพูดถึงผู้เขียนหนังสือว่า "ก้าวร้าว" "จาบจ้วง" "โอหัง" "ดูถูกคนเอเชีย" และ "ยโสไม่เว้นแม้กระทั่งพ่อและแม่มัน"[17]

กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อข่าวในนิตยสารดิอีคอเนอมิสต์ (อังกฤษ: The Economist) ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม 2549 ซึ่งได้รายงานและคัดลอกข้อเขียนบางตอนของหนังสือเดอะคิงเนเวอร์สไมลส์ ว่า "ไม่ต้องขยายผล"[18]

คริส เบเคอร์ นักวิชาการอิสระที่มีแหล่งพำนักในประเทศไทย ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมืองไทยหลายเล่ม เช่น "ทักษิณ : เดอะบีซีเนสออฟพอลิทิกส์อินไทยแลนด์" (อังกฤษ: Thaksin : The Business of Politics in Thailand) [19] และ หนังสือ "เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ"[20] และเป็นผู้เขียนรายงานยกย่องทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสนอต่อสหประชาชาติ ได้วิพากษ์วิจารณ์หนังสือดังกล่าวลงในนิตยสารเอเชียเซนทิเนล (อังกฤษ: Asia Sentinel) [21] ว่า

แต่แฮนด์ลีย์พลาดประเด็นสำคัญอันหนึ่ง หรือละเว้นมันไปเพื่อความเรียบง่าย. ตั้งแต่ เหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 ส่วนสำคัญของกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางของไทย มีความจำเป็นต้องจินตนาการให้กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย โดยเฉพาะเพื่อต่อต้านฝ่ายทหารที่ต้องการหยุดยั้งมันลงด้วยปากกระบอกปืน และต่อต้านฝ่ายนักธุรกิจที่ต้องการล้มล้างมันด้วยเงินตรา. กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากความน่าเชื่อถือทางศีลธรรมอันยิ่งใหญ่ของระบอบกษัตริย์ โดยไม่สนใจการเมือง. พวกเขาได้สมคบกันในการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ เพื่อสร้างภาพกษัตริย์ในฐานะผู้ทำให้เกิดสันติภาพ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ พร้อมทั้งบิดเบือนเหตุการณ์ 6 ตุลา ไปในคราวเดียว และละเลยการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เพื่อทำให้ประชาธิปไตยดูเหมือนเป็นของขวัญจากราชบัลลังก์ นี่เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เข้าใจเหตุการณ์ที่แสนสำคัญในปีที่ผ่านมา. โชคไม่ดี ส่วนเหล่านี้ของหนังสือ มีข้อผิดพลาดด้านข้อเท็จจริงและการพิจารณาที่ไม่ระมัดระวัง. ที่สำคัญกว่านั้น การวิเคราะห์ของเขาไม่สามารถทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมกลุ่มหลายกลุ่มถึงจำต้องฉกฉวยโอกาสจากระบอบกษัตริย์ ในฐานะฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลปัจจุบันที่ทุจริตและเผด็จการ. หนังสือของเขาตีแผ่การประชดประชันในกลุ่มผู้ต่อต้านทักษิณ แต่ในสถานการณ์การเมืองไทยที่ป่วยไข้ การบอกเป็นนัย ๆ เช่นนี้จะถูกมองข้ามไป

โดยได้กล่าวทิ้งท้ายในบทวิจารณ์ว่า

เป็นเวลานานเกินไปแล้ว ที่ประเด็นเรื่องระบอบกษัตริย์เป็นประเด็นอ่อนไหว ที่นักวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และการเมืองไทยจำเป็นต้องสำรวจอย่างระมัดระวัง. ยุคสมัยนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว. ในพระราชดำรัสที่พระราชทานในวันพระราชสมภพ กษัตริย์ภูมิพลเองได้ยืนยันว่า กษัตริย์นั้นไม่ได้อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์. หวังว่าหนังสือของแฮนด์ลีย์จะกระตุ้นให้ผู้คนที่เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ทำวิจัยมาไม่เพียงพอและเข้าใจผิด ได้ผลิตงานประวัติศาสตร์ทางเลือกซึ่งมีความเป็นมืออาชีพอย่างน้อยก็ให้เท่ากับงานของเขา

ส่วนรองศาสตราจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ นักกิจกรรมทางสังคม และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนในตอนท้ายบทวิจารณ์หนังสือเล่มดังกล่าวว่า "หนังสือเล่มนี้ไม่ควรเป็นหนังสือที่ห้ามนำเข้า ยิ่งกว่านั้นควรมีการแปลเป็นไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ข้อดีข้อเสียของเล่มนี้ได้ และเพื่อให้เราสร้างความโปร่งใสและระบบตรวจสอบประมุขของไทยได้อีกด้วย"[22]

นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้อย่างกว้างขวางในกระดานสนทนาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต[23]

ประวัติการพิมพ์

[แก้]

หนังสือเล่มดังกล่าว แม้จะถูกห้ามจำหน่ายในประเทศไทย แต่ก็ประความสำเร็จในด้านพาณิชย์ โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2549 พบว่ามีการพิมพ์ไปแล้วสามครั้ง[24] และในประเทศไทยก็มีสำเนาเถื่อนของหนังสือนี้วางจำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร[23] เช่น ในย่านท่าพระจันทร์[25][22] กับทั้งมีการแปลโดยมิได้รับอนุญาตให้แปลจากเจ้าของลิขสิทธิ์และนำเผยแพร่บนเว็บไซต์หลายแห่ง

ข้อมูลทางบรรณานุกรม

[แก้]

Handley, Paul M. The King Never Smiles : A Biography of Thailand's Bhumibol Adulyadej. Yale University Press. ISBN 0-300-10682-3.

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มกราคม). พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < http://www.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFile=pdf&hID=0[ลิงก์เสีย] >. (เข้าถึงเมื่อ: 18 ตุลาคม 2551).
  2. ตำรวจนครบาลสั่งห้ามขายหนังสือ A Coup for the Rich, ประชาไท, 29 มกราคม พ.ศ. 2551, เรียกดูเมื่อ 14 มกราคม พ.ศ. 2552
  3. 3.0 3.1 Warrick-Alexander, James, "Thailand Bars Univ. Website" เก็บถาวร 2009-01-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Yale Daily News, 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549, เรียกดูเมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2550
  4. 4.0 4.1 สตช. บล็อกเว็บม.เยลห้ามนำเข้า ‘เดอะคิงเนเวอร์สไมลส์’, ประชาไท, 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549, เรียกดูเมื่อ 19 เมษายน พ.ศ. 2550
  5. Bangkok May Ban King's Biography[ลิงก์เสีย] (อังกฤษ), International Herald Tribune, 27 สิงหาคม พ.ศ. 2542, เรียกดูเมื่อ 19 เมษายน พ.ศ. 2550
  6. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มกราคม). คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 5/2549 เรื่อง ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < http://gotoknow.org/blog/tutorial/50925 เก็บถาวร 2008-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน >. (เข้าถึงเมื่อ: 18 ตุลาคม 2551).
  7. กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย
  8. ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ไม่ยอมขายหนังสืออ.ใจ เพราะอ้างอิงผู้เขียน TKNS., ประชาไท, 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 19 เมษายน พ.ศ. 2550
  9. บทคัดย่อจากแอมะซอน.คอม, ประชาไท, 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549, เรียกดูเมื่อ 19 เมษายน พ.ศ. 2550
  10. Yale University Press, เดอะคิงเนเวอร์สไมลส์
  11. The New York Times, A Banned Book Challenges Saintly Image of Thai King (อังกฤษ), 26 กันยายน พ.ศ. 2549
  12. Nuanced Views of the King, Far Eastern Economic Review
  13. Ian Buruma, New York Review of Books, "Thailand: All the King's Men", ปีที่ 54, เล่มที่ 3, 1 มีนาคม พ.ศ. 2550
  14. Duncan McCargo. 2005. Network Monarchy and Legitimacy Crises in Thailand. The Pacific Review, Vol. 18 No.4. (December 2005) , pp. 499-519. (CiteULike เก็บถาวร 2007-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) (อังกฤษ)
  15. Duncan McCargo. 2006 Thaksin and the resurgence of violence in the Thai South: Network monarchy strikes back? Critical Asian Studies, Vol. 38, No. 1. (March 2006) , pp. 39-71. (CiteULike เก็บถาวร 2007-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) (อังกฤษ)
  16. 16.0 16.1 Duncan McCargo, New Left Review, "A Hollow Crown (อังกฤษ), มกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
  17. แฉ 'แม้ว' เก็บเงียบ ไม่สั่งท้วงหนังสือฝรั่งหมิ่นในหลวง เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวเกี่ยวกับหนังสือ, ผู้จัดการรายวัน, 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549, เรียกดูเมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2550
  18. สรุปประเด็นวิเคราะห์ข่าวจากต่างประเทศจากสื่ออินเทอร์เน็ต : ความมั่นคง เก็บถาวร 2009-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, กรมประชาสัมพันธ์, 8 สิงหาคม พ.ศ. 2549, เรียกดูเมื่อ 25 เมษายน พ.ศ. 2550
  19. Chris Baker, 2005. Thaksin: The Business of Politics in Thailand. Silkworm Books. ISBN 974-9575-55-5
  20. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์, 2546. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ เก็บถาวร 2006-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ฉบับเพิ่มเติมและปรับปรุงใหม่). Silkworm Books. ISBN 974-9575-30-x
  21. Revival, Renewal and Reinvention: The Complex Life of Thailand’s Monarch เก็บถาวร 2006-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Chris Baker, 8 September 2006, เรียกดูเมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2550
  22. 22.0 22.1 ใจ อึ๊งภากรณ์, บทความ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ วิจารณ์ : เดอะคิงเนเวอร์สไมลส์, ประชาไท, 14 ธันวาคม พ.ศ. 2549, เรียกดูเมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2550
  23. 23.0 23.1 Inconvenient truths of censorship, The Nation, 16 เมษายน พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 22 เมษายน พ.ศ. 2550
  24. Hartford Courant, The King Is Not Amused[ลิงก์เสีย] (อังกฤษ)
  25. การนำเสนอจากการสัมมนา Understanding the Past: Freedom of Expression and Democratic Processes Today ที่ศูนย์ศิลปะเอเชียอเมริกัน นครนิวยอร์ก, 19 ตุลาคม พ.ศ. 2549

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]