ข้ามไปเนื้อหา

สโมสรกีฬาฟุตบอลนาโปลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
นาโปลี
ชื่อเต็มSocietà Sportiva Calcio Napoli S.p.A.
ฉายาPartenopei
ลยีอัซซูรี (The Blues) ลาน้ำ
ก่อตั้ง1926 (AC Napoli)
2004 (SSC Napoli)
สนามสตาดีโอซานเปาโล
ความจุ54,726
เจ้าของฟิลเมาโร เอส.อาร์.แอล.
ประธานเอาเรริโอ เดอ ลอเรนติส
หัวหน้าผู้ฝึกสอนอันโตนีโอ กอนเต
ลีกเซเรียอา
2023–24อันดับที่ 10
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน
สีชุดที่สาม
ฤดูกาลปัจจุบัน

สโมสรกีฬาฟุตบอลนาโปลี (อิตาลี: Società Sportiva Calcio Napoli; โซชีเอตาสปอร์ตีวากัลโชนาโปลี) เป็นสโมสรฟุตบอลในประเทศอิตาลี จากเมืองเนเปิลส์ แคว้นคัมปาเนีย ปัจจุบันเล่นอยู่ในเซเรียอา ลีกสูงสุดของฟุตบอลอิตาลี สโมสรมีเกียรติประวัติคือ ชนะเลิศลีกสูงสุด 3 สมัย, โกปปาอีตาเลีย 6 สมัย, ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 2 สมัย และ ยูฟ่าคัพ 1 สมัย[1]

ก่อตั้งใน ค.ศ. 1926 ในชื่อ อัสโซเซียซิโอเน กัลโช นาโปลี จากการควบรวมของสองสโมสร ได้แก่ ยูเอส อินแตร์นาซีโอนาเล นาโปลี และ เนเปิลส์ ฟุตบอล คลับ สโมสรยังไม่สามารถทำผลงานโดดเด่นได้ในยุคแรก โดยต้องรอถึง ค.ศ. 1962 เพื่อชนะถ้วยรางวัลแรกคือโกปปาอิตาเลีย และเริ่มประสบความสำเร็จในทศวรรษ 1970–80 ด้วยการมาถึงของ ดิเอโก มาราโดนา ใน ค.ศ. 1984 ในช่วงเวลานี้ถือเป็นยุคที่สโมสรประสบความสำเร็จมากที่สุด มาราโดนานำทีมชนะการแข่งขันหลายรายการ จนกลายเป็นตำนานซึ่งได้รับการรีไทร์เสื้อหมายเลข 10 นาโปลีชนะเลิศเซเรียอาใน ค.ศ. 1987 และ 1990 รวมถึงโกปปาอิตาเลีย ค.ศ. 1987 และ ยูฟ่าคัพ ค.ศ. 1989 ซึ่งเป็นความสำเร็จในรายการยุโรปเพียงครั้งเดียวของสโมสร หลังจากมาราโดนาอำลาทีม สโมสรต้องประสบปัญหาทางการเงิน นำไปสู่การตกชั้น และย่ำแย่ถึงขั้นล้มละลาย ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงด้วยการมาถึงของประธานคนใหม่อย่าง เอาเรริโอ เดอ ลอเรนติส สโมสรชนะเลิศเลกาโปรปรีมาดีวีซีโอเน ค.ศ. 2006 ก่อนจะกลับมาเป็นสโมสรชั้นนำของอิตาลีและลงเล่นในลีกสูงสุดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ทศวรรษ 2010 นาโปลีชนะเลิศโกปปาอิตาเลียเพิ่มสามสมัยใน ค.ศ. 2012, 2014 และ 2020 รวมทั้งซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 2014 และคว้าแชมป์เซเรียอาสมัยที่สามใน ค.ศ. 2023

นาโปลีเป็นสโมสรที่มีผู้เข้าชมในสนามมากเป็นอันดับ 4 ในอิตาลี[2] และมีรายรับมากเป็นอันดับ 5 ในเซเรียอา ด้วยจำนวนเงิน 182 ล้านดอลลาร์ในฤดูกาล 2017–18 และถือเป็นสโมสรอิตาลีที่มีมูลค่าทีมมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ในฤดูกาล 2018 ด้วยมูลค่า 379 ล้านดอลลาร์ นาโปลียังเป็นสมาชิกของสมาคมสโมสรยุโรป สโมสรใช้สนามสตาดีโอซันปาโอโลเป็นสนามเหย้ามาตั้งแต่ ค.ศ. 1959 ซึ่งได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น สนามกีฬาดิเอโก อาร์มันโด มาราโดนา ใน ค.ศ. 2020 เพื่อเป็นเกียรติแก่ตำนานผู้ล่วงลับ นาโปลีมักสวมชุดแข่งขันทีมเหย้าด้วยเสื้อสีฟ้า และกางเกงสีขาว และใช้เสื้อสีขาว พร้อมกางเกงสีขาวหรือสีฟ้าในชุดทีมเยือน สโมสรเป็นคู่อริกับโรมา, ยูเวนตุส และ ปาแลร์โม เพลงประจำสโมสรคือ โอซูร์ดาโตนัมมูราโต ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดในกลุ่มผู้ใช้ภาษาเนเปิลส์[3]

ประวัติ

[แก้]

ยุคแรก และความไม่แน่นอน

[แก้]

สโมสรฟุตบอลแห่งแรกที่เป็นตัวแทนของชาวเนเปิลส์นั้นมีประวัติสืบไปถึง ค.ศ. 1905 โดยก่อตั้งในชื่อ "สโมสรฟุตบอลและคริกเกตเนเปิลส์ (Naples Foot-Ball & Cricket Club)" โดยกะลาสีชาวอังกฤษนามว่า วิลเลียม พ็อตส์ และชาวเมืองเนเปิลส์หลายรายยังมีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อตั้งสโมสร รวมถึง อาร์เมดีโอ ซาลซี ซึ่งกลายเป็นประธานสโมสรคนแรก สโมสรใช้เสื้อสีฟ้า และ กางเกงสีดำเป็นสีหลักของชุดแข่ง การแข่งขันนัดแรกของสโมสรคือการเอาชนะทีมกะลาสีชาวอังกฤษด้วยผลประตู 3–2[4]

ในยุคแรกมีกฏระเบียบว่า สโมสรทางตอนเหนือของอิตาลีเท่านั้นที่จะมีสิทธิร่วมแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุด เป็นผลให้สโมสรทางใต้ทำได้เพียงลงแข่งกันกับทีมกะลาสีเท่านั้น[5] รวมถึงลงแข่งขันในรายการการกุศลอย่าง ลิปตัน ชาร์เลนจ์ คัพ ซึ่งสโมสรเนเปิลส์สามารถเอาชนะปาแลร์โมในรอบชิงชนะเลิศได้ 3 ครั้ง[6] ในเวลาต่อมา ผู้เล่นต่างชาติจำนวนหนึ่งได้ออกจากสโมสรเพื่อไปก่อตั้งสโมสรฟุตบอลแห่งใหม่ในชื่อ อินแตร์นาซีโอนาเล นาโปลี และทั้งสองสโมสรได้ร่วมแข่งขันฟุตบอลลีกครั้งแรกในฤดูกาล 1912–13 ซึ่งเป็นปีแรกที่สมาคมเปิดโอกาสให้สโมสรจากทางใต้ร่วมแข่งขัน และแม้สองสโมสรจะมีความเป็นอริต่อกัน ทว่าจากการประสบปัญหาการเงินในต้นทศวรรษ 1920 นำไปสู่การควบรวมกิจการของสองสโมสรและได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "สโมสรฟุตบอลอินแตร์นาซีโอนาเล –เนเปิลส์ (Foot-Ball Club Internazionale-Naples)" ตัวย่อคือ FBC Internaples

ภายใต้การบริหารทีมของประธานสโมสรอย่าง จอร์โจ อัสกาเรลลี สโมสรทำการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น อัสโซเซียซิโอเน กัลโช นาโปลี ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1926[7] ซึ่งได้รับการรับรองโดยสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี ตามด้วยการมาถึงของผู้เล่นตัวหลักอย่าง แอตทิลา ซัลลุสโตร กองหน้าชาวอิตาลี–ปารากวัย ซึ่งกลายเป็นขวัญใจแฟนฟุตบอล[8] ซัลลุสโตรถือครองสถิติเป็นผู้ทำประตูสูงสุดของสโมสรมาอีกยาวนานหลายทศวรรษ ก่อนที่สถิติจะถูกทำลายโดย ดิเอโก มาราโดนา และ มาเร็ก ฮัมชีก ตามลำดับ[9] สโมสรเริ่มเข้าสู่ยุคเซเรียอาภายใต้การคุมทีมของ วิลเลียม การ์บัตต์ อดีตนักฟุตบอลชาวอังกฤษ ซึ่งพาทีมพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่องจนสามารถก้าวขึ้นไปจบอันดับครึ่งบนของตารางในระยะเวลาไม่กี่ปี[10] และยังทำผลงานยอดเยี่ยมต่อเนื่องด้วยการจบอันดับสามอีกสองครั้งใน ค.ศ. 1933 และ 1934 ด้วยผู้เล่นแกนหลักอย่าง อันโตนีโอ โวจัก, อาร์นัลโด เซนตีเมนตี และ การ์โล บุสกาลยา ก่อนที่สโมสรจะตกต่ำลงในช่วงก่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยรอดพ้นการตกชั้นในฤดูกาล 1939–40 ด้วยจำนวนผลต่างประตูได้เสีย อย่างไรก็ตาม นาโปลีได้รับผลกระทบจากสงครามเช่นเดียวกับหลายสโมสรในอิตาลี นำไปสู่การตกชั้นสู่เซเรียบีเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 1942 และย้ายไปเล่นที่สตาดีโอ อาร์ตูโร โคลานา และเล่นในเซเรียบีจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม

ยุคหลังสงคราม และถ้วยรางวัลใบแรก

[แก้]
สนามกีฬาซันปาโอโล ถูกใช้เป็นสนามเหย้าของนาโปลีตั้งแต่ ค.ศ. 1959 ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อาร์มันโด มาราโดนา ซึ่งสโมสรนาโปลีเปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ ดีเอโก มาราโดนา

ระบบลีกของฟุตบอลอิตาลีได้รับการจัดระเบียบใหม่หลังสิ้นสุดสงคราม โดยแบ่งการแข่งขันเป็นสองดิวิชัน ดิวิชันแรกประกอบไปด้วยทีมจากเซเรียอา (ลีกสูงสุด) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือเท่านั้น ในส่วนของอีกดิวิชันนั้น ประกอบด้วยสโมสรจากเซเรียอาและเซเรียบีซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ โดยมีข้อกำหนดว่าสโมสรที่จบใน 4 อันดับแรกของแต่ละดิวิชันจะได้สิทธิแข่งขันในรอบเพลย์ออฟระดับชาติต่อไป นาโปลีได้สิทธิกลับสู่ลีกสูงสุดอย่างเซเรียอาอีกครั้งใน ค.ศ. 1946 แต่ก็ถูกลงโทษลดชั้นลงไปเล่นในเซเรียบีในอีกสองฤดูกาลถัดมาจากกรณีอื้อฉาวในการติดสินบนผู้ตัดสิน[11] แต่ก็เลื่อนชั้นกลับมาอีกครั้งในฐานะผู้ชนะเซเรียบีในต้นทศวรรษ 1950 และย้ายสู่สนามแห่งใหม่อย่าง สตาดีโอซันปาโอโล ใน ค.ศ. 1959 สโมสรไม่ประสบควาสำเร็จใด ๆ ในช่วงเวลานี้และยังทำผลงานไม่แน่นอน โดยสลับระหว่างการเลื่อนชั้นและตกชั้นจากลีกสูงสุดบ่อยครั้ง และต้องรอถึง ค.ศ. 1962 ในการชนะเลิศถ้วยรางวัลแรกด้วยการเอาชนะ เอส.พี.เอ.แอล. 2013 ในรอบชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลียจากประตูของ จานนี โกเรลลี และ ปีแอร์ลุยจี รอนซอน ส่งผลให้นาโปลีเป็นสโมสรแรกที่ชนะเลิศโกปปาอิตาเลียในขณะเล่นอยู่ในเซเรียบี และพวกเขาเลื่อนชั้นสู่เซเรียอาได้ในฤดูกาลนั้น แต่ก็ลงเล่นได้เพียงฤดูกาลเดียวและตกชั้นเป็นครั้งที่สี่

สโมสรเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1964 เป็น โซเซียตา สปอร์ติวา กัลโช นาโปลี และกลับมาทำผลงานโดดเด่นอีกครั้ง เริ่มจากการเลื่อนชั้นกลับสู่เซเรียอาในฤดูกาล 1964–65 ภายใต้การคุมทีมของ บรูโน เปซาโอลา อดีตผู้เล่นของสโมสร รวมถึงชนะการแข่งขันฟุตบอลถ้วยการกุศลอย่าง Coppa delle Alpi และยังทำอันดับติด 1 ใน 5 ในเซเรียอา และใกล้เคียงกับการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดมากที่สุดในฤดูกาล 1967–68 เป็นรองเพียงทีมแชมป์อย่าง เอซี มิลาน ทีมชุดนั้นประกอบไปด้วยผู้เล่นชื่อดังอย่าง ดีโน ซอฟฟ์, โจเซ่ อัลตาฟินี่, โอมาร์ ซิโบริ และ อันโทนิโอ จูเลียโน ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นเจ้าของสถิติ ลงสนามมากที่สุดของสโมสรซึ่งยังคงเป็นสถิติมาถึงปัจจุบัน[12] สโมสรยังทำผลงานได้ดีต่อเนื่องถึงทศวรรษ 1970 ด้วยการจบอันดับสามอีกสองครั้งใน ค.ศ. 1971 และ 1974 ภายใต้ผู้ฝึกสอนอย่าง ลุยส์ วินิซิโอ และได้ร่วมแข่งขันในรายการยุโรปอย่างยูฟ่าคัพเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1974–75 และผ่านเข้ารอบที่สามก่อนจะแพ้บานิค ออสตราวา จากเช็กเกีย ด้วยผลประตูรวมสองนัด 1–3 นาโปลียังคว้ารองแชมป์เซเรียอาได้อีกครั้งในฤดูกาลนั้น เป็นรองทีมแชมป์อย่างยูเวนตุสเพียงสองคะแนน ด้วยผู้เล่นอย่าง จูเซปเป บรุสโกลอตลอที, ซัลวาโตเร เอสโปซิโต และ จูเซปเป ซาวอลดิ และสามารถชนะเลิศโกปปาอิตาเลียสมัยที่สองใน ค.ศ. 1976 โดยเอาชนะเอซี มิลาน และ ฟีออเรนตินา มาได้ ก่อนจะเอาชนะ เฮลแลสเวโรนา ด้วยผลประตู 4–0 ในรอบชิงชนะเลิศ ในปีนั้นนาโปลียังเอาชนะเซาแทมป์ตันจากอังกฤษด้วยผลประตูรวมสองนัด 4–1 ในการแข่งขัน แองโกล - อิตาเลียนลีกคัพ[13] ตามด้วยการแข่งขันยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพในฤดูกาล 1976–77 แต่ไปแพ้ราชสโมสรกีฬาอันเดอร์เลคต์ ในรอบรองชนะเลิศด้วยผลประตู 1–2[14] นาโปลียังจบใน 6 อั���ดับแรกเป็นส่วนมากในทศวรรษนี้ และจบอันดับสามอีกครั้งในต้นทศวรรษ 1980 แต่ก็กลับไปหนีตกชั้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1983[15]

สร้างประวัติศาสตร์: เทพนิยายของมาราโดนา

[แก้]
กลุ่มผู้สนับสนุนของนาโปลี เฉลิมฉลองในสนามกีฬาซันปาโอโล หลังจากนาโปลีชนะเลิศฟุตบอลลีกสูงสุดสมัยแรก ค.ศ. 1987

การมาถึงของผู้เล่นชื่อดังอย่าง ดิเอโก มาราโดนา เปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของนาโปลีไปตลอดกาล เขาย้ายมาจากบาร์เซโลนาด้วยค่าตัว 12 ล้านยูโรซึ่งเป็นสถิติโลกในขณะนั้น[16] ทีมมีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่นอีกหลายราย ด้วยการมาถึงของ ซิโร เฟอร์รารา, ซัลวาโตเร บัญนี รวมถึง เฟร์นันโด เด นาโปลี นาโปลีจบอันดับสามอีกครั้งในฤดูกาล 1985 ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ในฤดูกาล 1986–87 ด้วยการคว้าแชมป์สองถ้วยรางวัลทั้งในเซเรียอา และ โกปปาอิตาเลีย โดยเอาชนะอตาลันตาในรอบชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลียด้วยผลประตู 4–0 มาราโดนาได้รับการยกย่องให้เป็นตำนานในระยะเวลาอันรวดเร็ว อันเนื่องมาจากไม่เคยมีสโมสรในภูมิภาคทางใต้ชนะเลิศการแข่งขันลีกสูงสุดมาก่อน ความสำเร็จครั้งนี้จึงเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวเนเปิลส์และแฟนฟุตบอลที่อยู่ทางใต้เป็นจำนวนมาก มาราโดนาถูกยกให้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของชาวเมืองเนเปิลส์[17] อย่างไรก็ตาม สโมสรไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ในปีต่อมา ทำได้เพียงรองชนะเลิศ และไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันยูโรเปียนคัพ แต่ยังได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่าคัพในฤดูกาล 1988–89 และคว้าแชมป์ได้ ซึ่งถือเป็นแชมป์รายการยุโรปรายการเดียวของพวกเขาถึงปัจจุบัน ในเส้นทางแต่ละรอบนั้น พวกเขาเอาชนะทีมใหญ่อย่างยูเวนตุส และ ไบเอิร์นมิวนิก รวมถึง สโมสรปาโอกจากกรีซ ก่อนจะเอาชนะสโมสรเยอรมนีอย่าง เฟาเอ็ฟเบ ชตุทการ์ท ด้วยผลประตู 5–4[18]

ดีเอโก มาราโดนา กับถ้วยยูฟ่าคัพ ค.ศ. 1989

นาโปลีคว้าแชมป์เซเรียอาสมัยที่สองในฤดูกาล 1989–90 ด้วยการมีคะแนนเหนือ เอซี มิลาน สองคะแนน ในปีนั้น มาราโดนายังได้รับเสียงวิจารณ์จากการออกมาเรียกร้องให้แฟนฟุตบอลเมืองเนเปิลส์ รวมถึงเมืองอื่น ๆ ทางตอนใต้สนับสนุนทีมชาติอาร์เจนตินา ในนัดที่พบกับทีมชาติอิตาลีในฟุตบอลโลก 1990 จากความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ชาวอิตาลีและผู้พลัดถิ่นทางตอนใต้ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมาหลายศตวรรษ เหตุการณ์ดังกล่าวมีประวัติศาสตร์ยาวนานซึ่งสามารถสืบไปถึงช่วงการรวมชาติอิตาลี [19]

สนามกีฬาซันปาโอโล เป็นเพียงสนามเดียวที่ทีมชาติอาร์เจนตินาไม่ได้รับเสียงโห่[20] มาราโดนาโค้งคำนับเพื่อให้เกียรติชาวเมืองเนเปิลส์เมื่อจบการแข่งขัน และอาร์เจนตินาเอาชนะอิตาลีผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจบการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศซึ่งอาร์เจนตินาแพ้เยอรมนีตะวันตก สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลีร้องขอให้มาราโดนาเข้ารับการตรวจสารกระตุ้น ซึ่งเขาถูกตรวจพบว่ามีการใช้โคเคน ทั้งตัวมาราโดนาและทีมงานของนาโปลีเชื่อว่า เป็นแผนการเพื่อแก้แค้นมาราโดนาจากเหตุการณ์ในฟุตบอลโลก[21] มาราโดนาถูกตัดสินว่ามีความผิด และได้รับโทษแบนจำนวน 15 เดือน และไม่ได้ลงเล่นในสีเสื้อของนาโปลีอีกเลย แต่สโมสรยังชนะเลิศโกปปาอิตาเลียในปีนั้น ด้วยการเอาชนะคู่อริอย่างยูเวนตุสขาดลอยด้วยผลประตู 5–1 แต่นั่นก็เป็นถ้วยรางวัลสุดท้ายในทศวรรษนั้น และพวกเขาต้องรออีก 22 ปีในการกลับมาชนะถ้วยรางวัล และสโมสรยังตกรอบที่สองในยูโรเปียนคัพปีนั้น

ตกต่ำอีกครั้ง และการมาถึงของประธานคนใหม่

[แก้]

นาโปลีคว้าอันดับ 4 ในเซเรียอาฤดูกาล 1991–92 และเริ่มมีผลงานตกต่ำหลังจากนั้น ประสบปัญหาทั้งภายในและนอกสนาม จากการมีปัญหาโครงสร้างการเงิน ผู้เล่นอย่าง จันฟรังโก โซลา, แดเนียล ฟอนเซสกา และ ซิโร เฟอร์รารา ต่างก็อำลาทีมเพื่อช่วยพยุงฐานะการเงินของสโมสร นาโปลียังได้ลงแข่งขันยูฟ่าคัพฤดูกาล 1994–95 และเข้าถึงรอบสาม และเข้าชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลียอีกครั้งในฤดูกาล 1996–97 แต่แพ้วิเซนซาด้วยผลประตู 1–3[22] แต่ผลงานในลีกตกต่ำต่อเนื่อง นำไปสู่การตกชั้นเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 1997–98 โดยชนะได้เพียงสองนัดตลอดทั้งฤดูกาล

นาโปลีเลื่อนชั้นกลับสู่เซเรียอาใน ค.ศ. 1999 แต่ก็ตกชั้นกลับไปอีกครั้งในเวลาหนึ่งฤดูกาล ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2004 สโมสรประกาศภาวะล้มละลาย[23] เป็นเหตุพิจารณาให้ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อย่าง อูเรริโอ ดิ ลูเรนทิอัส เข้าควบคุมกิจการสโมสร และนาโปลีถูกบังคับให้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเพือให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ดิ ลูเรนทิอัส จึงพิจารณาเปลี่ยนชื่อทีมอีกครั้งกลายเป็น Napoli Soccer และจากการล้มละลายดังกล่าว ส่งผลให้นาโปลีต้องถูกลดชั้นไปเล่นในลีกระดับสามอย่างเซเรียซี และเกือบจะเลื่อนชั้นสู่เซเรียบีได้ทันที ทว่าพวกเขาแพ้ต่อ อเวลลิโน 1992 ในรอบเพลย์ออฟด้วยผลประตู 1–2 ในรอบเพลย์ออฟฤดูกาล 2004–05 และแม้จะตกอับอยู่ในลีกระดับล่าง แต่นาโปลียังมีสถิติในการมีผู้ชมในสนามมากว่าสโมสรอื่นในลีกสูงสุด และทำลายสถิติผู้ชมในเซเรียซีด้วยจำนวนเฉลี่ย 51,000 รายต่อนัด[24] ในฤดูกาลต่อมา นาโปลีสามารถเลื่อนชั้นสู่เซเรียบีได้ และ ลูเรนทิอัส ทำการเปลี่ยนชื่อสโมสรอีกครั้งว่า โซชีเอตาสปอร์ตีวากัลโชนาโปลี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2006 และเป็นชื่อที่ใช้มาถึงปัจจุบัน ลงเล่นในเซเรียบีได้เพียงฤดูกาลเดียว พวกเขาก็เลื่อนชั้นกลับสู่ลีกสูงสุดได้อีกครั้ง พร้อมกับสโมสรใหญ่ที่เปรียบเสมือน "ยักษ์หลับ" ในทศวรรษนั้นอย่าง สโมสรเจนัว[25] ใน ค.ศ. 2010 นาโปลีจบอันดับหก ภายใต้ผู้จัดการทีม วอลเตอร์ มาซซาร์รี ได้ร่วมแข่งขันยูโรปาลีก ตามด้วยการจบในอันดับสามในฤดูกาลต่อมา ได้ลงแข่งขัน ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2011–12 ในรอบแบ่งกลุ่ม

นาโปลีจบอันดับห้าในฤดูกาล 2011–12 แต่เอาชนะยูเวนตุส ณ สนามสตาดีโอโอลิมปีโก ในรอบชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลีย คว้าแชมป์สมัยที่สี่ และเป็นแชมป์แรกในรอบ 25 ปี และยังคว้าอันดับสองในรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ก่อนจะตกรอบโดยแพ้เชลซีทีมเป็นแชมป์ในปีนั้น ต่อมา ในฤดูกาล 2012–13 นาโปลีคว้ารองแชมป์เซเรียอา ถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่คว้าแชมป์ได้ใน ค.ศ. 1990 เอดินซอน กาบานิ เป็นผู้ทำประตูสูงสุดของเซเรียอาในปีนั้น จำนวน 29 ประตู ก่อนจะย้ายร่วมทีม ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ด้วยค่าตัวสถิติสโมสร 64 ล้านยูโร[26]

นาโปลีชนะการแข่งขัน ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 2014

มาซซาร์รีอำลาทีมเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2013 และผู้ที่มาแทนคือ ราฟาเอล เบนิเตซ ซึ่งพาทีมชนะการแข่งขันสองถ้วยรางวัล เริ่มจากการเอาชนะจุดโทษยูเวนตุสในรายการ ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 2014 ตามด้วยแชมป์โกปปาอิตาเลีย เอาชนะฟีออเรนตินาในรอบชิงชนะเลิศด้วยผลประตู 3–1[27] และพ่าย อัตเลติกเดบิลบาโอ ในรอบคัดเลือกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ทำได้เพียงไปเล่นยูโรปาลีกซึ่งพวกเขาแพ้ ดนีปรอ ในรอบรองชนะเลิศ เบนิเตซพาทีมจบอันดับห้าในเซเรียอา ฤดูกาล 2014–15 ก่อนจะอำลาทีมเพื่อไปคุมเรอัลมาดริด และเขาถูกแทนที่โดย เมารีซีโอ ซาร์รี พาทีมคว้ารองแชมป์เซเรียอา ฤดูกาล 2015–16 โดยทำไปถึง 82 คะแนน แต่ก็ตกรอบยูโรปาลีกจากการแพ้ บิยาร์เรอัล ต่อมา นาโปลีจบอันดับสามใน เซเรียอา ฤดูกาล 2016–17 ทำไป 86 คะแนน และแพ้เรอัลมาดริดในรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ในฤดูกาลนี้ ดรีส แมร์เตินส์ ปีกตัวหลักชาวเบลเยียมยังทำสถิติยิง 34 ประตูรวมทุกรายการ จากการปรับบทบาทมาเล่นกองหน้าตัวเป้าแทนที่ อาร์กาดียุช มีลิกซึ่งบาดเจ็บจากเอ็นไขว้หัวเข่าฉีกขาด นาโปลียังทำผลงานยอดเยี่ยมต่อเนื่อง โดยมีลุ้นคว้าแชมป์เซเรียอา ฤดูกาล 2017–18 ตลอดทั้งฤดูกาล แต่ก็พลาดให้กับยูเวนตุสทีมแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย แม้จะทำคะแนนไปถึง 91 คะแนน ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของสโมสร ในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2017 มาเร็ก ฮัมชีก ได้กลายเป็นผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลของสโมสรจำนวน 115 ประตู ทำลายสถิติของมาราโดนา[28]

ซาร์รีอำลาทีมเมื่อจบฤดูกาลและถูกแทนที่โดย การ์โล อันเชลอตตี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2018[29] และพาทีมคว้าอันดับสองอีกครั้ง แต่ถูกปลดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 จากการทำผลงานในช่วงเริ่มต้น ฤดูกาล 2019–20 ย่ำแย่ ซึ่งนาโปลีอยู่อันดับเจ็ดในขณะนั้น เจนนาโร กัตตูโซ นักฟุตบอลชื่อดังชาวอิตาลีได้รับการแต่งตั้งในวันต่อมา[30] ในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2020 แมร์เตินส์ทำลายสถิติของฮัมชีกในการเป็นผู้ทำประตูสูงสุดของสโมสรจำนวน 122 ประตู ในการแข่งขันโกปปาอิตาเลียรอบรองชนะเลิศที่พบกับอินเตอร์[31] และคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่หก จากการดวลจุดโทษชนะยูเวนตุสในรอบชิงชนะเลิศ[32] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 สโมสรทำการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าเป็น สนามกีฬาดิเอโก อาร์มันโด มาราโดนา เพื่อเป็นเกียรติแก่ตำนานกองหน้าผู้ล่วงลับซึ่งเสียชีวิตในปีนั้น ลูเซียโน สปัลเล็ตติ เข้ามาแทนที่กัตตูโซในฤดูกาล 2021–22 ซึ่งพาทีมจบอันดับสาม[33]

แม้จะตกรอบก่อนรองชนะเลิศในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้เอซีมิลาน แต่สปัลเลตติก็พาทีมคว้าแชมป์เซเรียอาฤดูกาล 2022–23 หลังจากบุกไปเสมออูดิเนเซ ด้วยผลประตู 1–1 ในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 ถือเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่สามของสโมสร และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มาราโดนาอำลาทีม[34][35] อย่างไรก็ตาม สปัลเลตติได้อำลาทีมเมื่อจบฤดูกาล และรูดี การ์เซียได้รับการแต่งตั้งเข้ามาคุมทีมในฤดูกาล 2023–24 แต่ถูกปลดหลังคุมทีมไปเพียงสามเดือนเนื่องจากผลงานย่ำแย่ วอลเตอร์ มาซซาร์รีได้รับการแต่งตั้งมาคุมทีมแทนด้วยสัญญาจนสิ้นสุดฤดูกาล ถือเป็นการกลับมาคุมทีมเป็นครั้งที่สองในรอบสิบปี แต่ก็คุมทีมได้เพียงสามเดือนโดยนาโปลีมีผลงานย่ำแย่ต่อเนื่อง โดยชนะเพียง 6 จาก 17 นัดต่อมา เขาถูกแทนที่โดยฟรันเชสโก คัลโซนา และนาโปลีจบอันดับ 10 ในเซเรียอาซึ่งเป็นอันดับที่แย่ที่สุดในรอบ 15 ฤดูกาล สโมสรได้แยกทางกับคัลโซนา และแต่งตั้ง อันโตนีโอ กอนเต เข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 2024 ด้วยสัญญา 3 ปี

เกียรติประวัติ

[แก้]

อิตาลี ระดับประเทศ

[แก้]
  • โกปปาเดลเลอัลพิ
    • ชนะเลิศ (1): 1966

ยุโรป ระดับทวีปยุโรป

[แก้]
  • แองโกล-อินาเลียโนคัพ
    • ชนะเลิศ (1): 1976

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

[แก้]
ณ วันที่ 1 กันยายน 2024 [36]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
1 GK อิตาลี อเล็กซ์ เมเร็ต
4 DF อิตาลี อาเลสซันโดร บูออนจอร์โน
5 DF บราซิล ฮวน เฮซุส
6 MF สกอตแลนด์ บิลลี กิลมอร์
7 FW บราซิล เดวิด เนเรส
8 MF สกอตแลนด์ สกอตต์ แม็กโทมิเนย์
11 FW เบลเยียม โรเมลู ลูกากู
13 DF คอซอวอ อมิร ราห์มานี
14 GK ยูเครน นีกีตา กอนตีนี
16 DF สเปน ราฟา มาริน
17 DF อุรุกวัย มาเธียส โอลิเวรา
18 FW อาร์เจนตินา โจวานนี ซิเมโอเน
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
21 FW อิตาลี มัตเตโอ โปลีตาโน
22 DF อิตาลี โจวันนี ดี โลเรนโซ (กัปตัน)
23 FW อิตาลี อเลสซิโอ แซร์บิน
25 GK อิตาลี เอเลีย คาปริเล
26 FW เบลเยียม ซีริล เอ็นกอนจ์
30 DF อิตาลี ปาสเควล มัซซอกกี
37 DF อิตาลี เลโอนาร์โด สปินาซโซลา
68 MF สโลวาเกีย สตานิสลาฟ โลบอตกา
77 FW ประเทศจอร์เจีย ฆวีชา กวารัทส์เฆลีอา
79 MF เซอร์เบีย มาทิยา ปอปอวิค
81 FW อิตาลี จีอาโกโม รัสปาโดรี
90 MF อิตาลี มิเกล โฟโลรุนโช
99 MF แคเมอรูน อ็องเดร-ฟรองค์ ซัมโบ อ็องกิสซา

อ้างอิง

[แก้]
  1. ".:: CalcioNapoliNet.com ::...:: Tutto sul Calcio Napoli ::". web.archive.org. 2007-08-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-09. สืบค้นเมื่อ 2019-02-20.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  2. "Il tifo calcistico in Italia - settembre 2012 - Osservatorio capitale sociale - Demos & Pi". www.demos.it.
  3. Joseph Sciorra, Italian Folk: Vernacular Culture in Italian-American Lives (2010), page 116 "the Neapolitan standard O surdato 'nnammurato (A Soldier in Love)"
  4. "Napoli back among the big boys - FIFA.com". web.archive.org. 2015-11-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  5. "Storia Napoli Soccer". web.archive.org. 2007-07-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-02. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.
  6. "I primi anni del Palermo". web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  7. "A short history of Napoli's roots". web.archive.org. 2007-02-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-11. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.
  8. "NAPOLI CALCIO - STORIA DELLA..... di Gaito". web.archive.org. 2011-07-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-22. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.
  9. "Storia del Napoli". archive.ph. 2012-07-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-07. สืบค้นเมื่อ 2023-09-18.
  10. Modena, Panini Edizioni (2005). Almanacco Illustrato del Calcio – La Storia 1898–2004.
  11. "Italy 1947/48". www.rsssf.org.
  12. "Player Statistics". web.archive.org. 2016-12-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-31. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.
  13. "Anglo-Italian League Cup". www.rsssf.org.
  14. "uefa.com - UEFA Cup Winners' Cup". web.archive.org. 2008-01-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-11. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  15. OLMI, GIUSEPPE (1985). "Immagine enatura. L'immagine naturalistica neicodici elibria stampadelle Biblioteche EstenseeUniversitaria. Secoli XV-XVII. Catalogo della mostra, Modena, 21 marzo - 15 maggio 1984. Modena, Edizioni Panini, 1984". Annali dell'Istituto e Museo di storia della scienza di Firenze. 10 (1): 161–162. doi:10.1163/221058785x01984. ISSN 0391-3341.
  16. "Finals Countdown: Argentina :". web.archive.org. 2007-10-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.
  17. "channel4.com - Football Italia". web.archive.org. 2008-05-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-29. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  18. "European Competitions 1988-89". www.rsssf.org.
  19. Maradona, Diego (2004). El Diego, pg. 165.
  20. Maradona, Diego (2004). El Diego, pg. 166.
  21. "channel4.com - Football Italia". web.archive.org. 2008-05-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-29. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  22. "Soccer Digest: Coppa Italia champions - Names and Numbers; soccer". web.archive.org. 2004-09-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-09-27. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  23. "CNN.com - Napoli declared bankrupt says ANSA - Aug 2, 2004". edition.cnn.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.
  24. "SoloNapoli - De Laurentiis: "Il mio Napoli tra le grandi"". www.solonapoli.com.
  25. "Genoa e Napoli ritorno in paradiso A Marassi battaglia, poi gioia comune - Serie B - Calcio - Sport - Repubblica.it". www.repubblica.it.
  26. Agencies (2013-07-16). "Edinson Cavani joins Paris Saint-Germain for French club record fee". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  27. "Benitez's Napoli win Coppa Italia". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.
  28. "Hamsik breaks Maradona's Napoli record". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2017-12-23.
  29. "Napoli hire Ancelotti to replace Sarri as coach". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2018-05-23.
  30. "Napoli appoint Gennaro Gattuso as head coach after sacking Carlo Ancelotti". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2019-12-11.
  31. "Mertens sets record as Napoli advances to Coppa Italia final - Sportsnet.ca". www.sportsnet.ca.
  32. "Napoli beats Juventus on penalties to win Coppa Italia final; Ronaldo, Buffon denied title". CBSSports.com (ภาษาอังกฤษ).
  33. "S.S.C. Napoli", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-22, สืบค้นเมื่อ 2022-09-27
  34. "Napoli win Serie A title with draw at Udinese, clinch Scudetto for first time since days of Diego Maradona". CBSSports.com (ภาษาอังกฤษ).
  35. "Napoli win Italian title for first time in 33 years". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-05-05.
  36. Agorà Telematica, Agorà Med S.r.l. "Prima squadra – SSC Napoli" [First team – SSC Napoli] (ภาษาอิตาลี). S.S.C. Napoli. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-22. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]