ข้ามไปเนื้อหา

พระบาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
พระบาง
จำลอง
ชื่อเต็มพระบางพุทธลาวัน
ชื่อสามัญพระบาง
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางห้ามสมุทร ศิลปะเขมรแบบบายนตอนปลาย
ความกว้าง- เมตร
ความสูง1.14 เมตร
วัสดุสำริด
สถานที่ประดิษฐานหอพระบาง พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง
ความสำคัญพระพุทธรูปสำคัญของแขวงหลวงพระบาง
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระบางพุทธลาวัน (ພຣະບາງພຸທລາວັນ) หรือ พระบาง (ພຣະບາງ) เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สูงสองศอกเจ็ดนิ้ว (ประมาณ 1.14 เมตร) หล่อด้วยสำริด (ทองคำผสม 90 เปอร์เซ็นต์) มีอายุอยู่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 ตามศิลปะเขมรแบบบายนตอนปลาย โดยมีพุทธลักษณะคือ ประทับยืนยกพระหัตถ์ขึ้น นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกัน พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์บาง พระเศียร และพระเกตุมาลาเกลี้ยงสำหรับสวมเครื่องทรง ปั้นพระองค์เล็ก พระโสภีใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม แลเห็นแถบสบง และหน้านาง

พระบางเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง แต่ชาวอีสานมีความเลื่อมใสมากและมักจะจำลองพระบางมาไว้ที่วัดสำคัญ ๆ ของท้องถิ่น เช่น พระบางวัดไตรภูมิ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และพระบางจำลองวัดพระเหลา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นต้น พระบางเป็นพระพุทธรูปที่เคยอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร ถึง 2 ครั้ง และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสังคมอีสานอยู่เนือง ๆ

พระบางเดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของอาณาจักรขอม จนเมื่อ พ.ศ. 1902 พระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพระราชอาณาจักร จึงได้ทูลขอพระบางเพื่อมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทองอันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้างในขณะนั้น แต่เมื่ออัญเชิญพระบางมาได้ถึงเมืองเวียงคำ (บริเวณแถบเมืองเวียงจันทน์ในปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้จนถึง พ.ศ. 2055 อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุณราช ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองเวียงคำมาก่อน จึงสามารถนำเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุนราชในนครเชียงทอง ทำให้เมืองเชียงทองเรียกว่า หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากส���นมหาราชได้ยกทัพเข้ายึดครองอาณาจักรล้านช้างไว้ได้ จึงได้อาราธนาพระบาง พร้อมทั้งพระแก้วมรกต ลงมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี

ปัจจุบันพระบางประดิษฐานอยู่ที่ หอพระบาง พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง

ประวัติ

[แก้]

พระบางนั้นตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระจุลนาคเถระได้สร้างพระบางขึ้น เมื่อ พ.ศ. 436 ที่กรุงลังกา เมื่อหล่อสำเร็จแล้ว พระเถระเจ้าได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไว้ในองค์พระ 5 แห่ง คือ พระศอ พระนลาฏ พระชานุ พระอุระ ข้อพระกรทั้งสองข้าง เนื้อองค์พระบางมีน้ำหนักทองคำ ทองแดง และเงินถึง 52 กิโลกรัม 85 มิลลิกรัม สูง 4 คืบ (ประมาณ 1.14 เมตร) พระสุคตแต่ปลายพระเกศาถึงพระเมาลีอีก 7 นิ้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 1389 พระเจ้าจันทราชแห่งอินทปัตนครได้ไปของพระบางจากพระเจ้าสุบินทราชาแห่งลังกาประเทศ มาไว้ที่กรุงอินทปัตนคร

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 1901 พระเจ้าฟ้างุ้มได้ให้ทูตไปขอพระพุทธศาสนาจากพระนครหลวงอินทปัตนครมาเป็นศาสนาประจำชาติลาว กษัตริย์พระนครหลวง ได้มอบให้พระมหาป่าสมันตเถระและพระมหาเทพลังกา พร้อมด้วยพระสงฆ์อีก 20 รูป นักปราชญ์ผู้เจนจบพระไตรปิฎกอัญเชิญเอาพระไตรปิฎกและพระบาง และหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาประดิษฐานในเมืองเชียงทอง เมื่อคณะทูตเชิญพระไตรปิฎกและพระพุทธรูปและต้นศรีมหาโพธิ์มาถึงเมืองใด เจ้าเมืองเหล่านั้นก็แต่งเครื่องสักการบูชาต้อนรับเป็นอย่างดี จนกระทั่งมาถึงเมืองเวียงคำ (ວຽງຄຳ) พระยาเมืองเวียงคำจึงขอเอาพระบางสักการะไว้ที่เมืองเวียงคำ พระมหาป่าสมันตระก็อนุญาตแล้วเดินทางต่อไปจนถึงเชียงดง เชียงทอง (ຊຽງດົງ ຊຽງທອງ) (ปัจจุบันคือเมืองหลวงพระบาง) ได้ตั้งประดิษฐานพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงทอง โดยมีพระเจ้าฟ้างุ้มและพระนางแก้วเก็งยา พระอัครมเหสี เป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระองค์ได้สร้างพระอารามวัดป่าสมันต์ให้เป็นที่อยู่ของพระมหาเถระทั้งสองและเป็นวัดมาจนทุกวันนี้

มณฑลที่ประดิษฐานพระบางพุทธบาวรรณ วัดใหม่สุวรรณภูมาราม นครหลวงพระบาง ภาพถ่ายในสมัยพระราชอาณาจักรลาว

จวบจนถึงปี พ.ศ. 2043 ในรัชกาลพระเจ้าวิชุลราชได้ให้เสนาอำมาตย์ แสนท้าวพระยาลาว ไปอัญเชิญเอาพระบางเจ้าจากเมืองเวียงคำมายังพระนครเชียงทอง พระองค์ได้ทรงสร้างวัดวิชุลมหาวิหารให้เป็นที่สถิตแห่งพระบางเจ้า เป็นที่เคารพบูชาของพระองค์แลพระบรมวงศ์พร้อมเสนาอำมาตย์ ไพร่บ้านพลเมืองสืบมา ต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2101 เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชย้ายเมืองหลวงไปอยู่นครเวียงจันทน์ พร้อมกับอัญเชิญเอาพระแก้วมรกตที่ได้มาจากพระนครเชียงใหม่ ลงไปประดิษฐานไว้ที่นครเวียงจันทน์ และขนานนามนครเวียงจันทน์นั้นว่า จันทบุรีศรีสัตนาคนหุตอุตมราชธานี ส่วนพระนครเชียงทองนั้นให้ขนานนามว่า พระนครศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว หลวงพระบางราชธานี แต่คนทั่วไปเรียกเพียงนครหลวงพระบางแต่นั้นมา ทั้งนี้ก็เพราะพระบางได้ไปประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญแห่งพระนครนี้ตลอดมาแต่โบราณจนตราบเท่าทุกวันนี้

ในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าไชยองค์เว้) พ.ศ. 2257 ได้ให้เจ้าองค์รอง พระอนุชาต่างพระชนกไปครองนครหลวงพระบาง แต่ได้ถูกพระเจ้ากิงกิสราชยกทัพมาตี แย่งเอานครหลวงพระบางไปได้ เจ้าองค์รองจึงได้อัญเชิญเอาพระบางเจ้าลงไปประดิษฐานที่นครเวียงจันทน์คู่กันกับพระแก้วมรกต

ในระหว่างปี พ.ศ. 2321–2322 เกิดสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสุตนาคนหุต เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ชัยชนะแก่พระเจ้าสิริบุญสาร (องค์บุญ) จึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตและพระบางเจ้าลงไปถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. 2325 ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านันทเสนอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองเวียงจันทน์ ซึ่งพระบางสถิตอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 ปีเศษ

ในปี พ.ศ. 2369–2371 เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ได้ยกกองทัพเข้าตีหัวเมืองอีสานทั้งหมด ยึดได้เมืองนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยกกองทัพไปปราบ ในที่สุดปราบเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ได้ เมื่อจัดการบ้านเมืองทางอีสานให้เข้าสู่ความสงบเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาสุรสีห์ได้อัญเชิญเอาพระบางเจ้าลงไปกรุงเทพมหานคร โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเจ้าพระยาสุภาวดีเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นให้เป็นที่ประดิษฐานพระบางเจ้าไว้นอกกรุงคือ ให้อัญเชิญไปไว้วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร ตลอดมาจนถึงรัชสมัยพระบางประดิษฐานที่วัดจักรวรรดิฯ มาจนถึงรัชกาลที่ 4 ก็ได้เกิดเหตุฝนแล้ง ต่อเนื่องกันหลายปีชาวกรุงก็ได้ร่ำลือกันว่า ด้วยเหตุที่พระบางและพระแก้วมรกตประดิษฐานไว้ด้วยกันความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ จึงได้พระราชทานพระบางกลับคืนสู่หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระบางได้ถูกอัญเชิญพระบางกลับหลวงพระบางและคงอยู่ในหลวงพระบางตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ความเชื่อ

[แก้]

ความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ประจำพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง ความว่า "ชาวล้านช้างเชื่อถือกันมาแต่โบราณว่า พระพุทธรูปสำคัญย่อมมี 'ผี' คือ เทวดารักษาทุกพระองค์ ผู้ปฏิบัติบูชาจำต้องเซ่นสรวงผีที่รักษาพระพุทธรูปด้วย เพราะถ้าผีนั้นไม่ได้ความพอใจ ก็อาจบันดาลให้เกิดภัยอันตรายต่าง ๆ หรืออีกอย่างหนึ่งถ้าผีที่รักษาพระพุทธรูปต่างพระองค์เป็นอริกัน หากนำเอาพระพุทธรูปนั้นไว้ใกล้กัน ก็มักเกิดอันตรายด้วยผีวิวาทกัน เลยขัดเคืองต่อผู้ปฏิบัติบูชา"[1]

คติที่กล่าว ๆ มาปรากฏขึ้นในกรุงเทพครั้งแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2327 ครั้งนั้นโปรดให้อัญเชิญพระบางอันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหลวงพระบาง แล้วตกไปเป็นของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ พระองค์ได้ทรงอัญเชิญลงมาพร้อมกับพระแก้วมรกต เข้ามาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้านันทเสนบุตร พระเจ้าล้านช้างกราบบังคลทูลว่าผีซึ่งรักษาพระแก้วมรกตกับพระบางเป็นอริกัน พระพุทธรูป 2 พระองค์นั้นอยู่ด้วยกันในที่ใด มักมีเหตุภัยอันตรายอ้างอุทาหรณ์แต่เมื่อครั้งพระแก้วมรกตอยู่เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีสุตนาคนหุตก็อยู่เย็นเป็นสุข ครั้งพระเจ้าไชยเชษฐาเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ด้วยกับพระบางที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีสุตนาคนหุต แล้วพม่ามาเบียดเบียน จนต้องย้ายราชธานีลงมาตั้งอยู่ ณ นครเวียงจันทน์ ครั้นอัญเชิญพระบางลงมาไว้นครเวียงจันทน์กับพระแก้วมรกตด้วยกันอีก ก็เกิดเหตุจลาจลต่าง ๆ บ้านเมืองไม่ปกติ จนเสียนครเวียงจันทน์ให้แก่กรุงธนบุรี ครั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมาไว้ด้วยกันในกรุงธนบุรี ไม่ช้าก็เกิดเหตุจลาจล ขออย่าให้ทรงประดิษฐานพระบางกับพระแก้วมรกตไว้ด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริว่า พระบางก็ไม่ใช่พระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะงาม เป็นแต่พวกชาวศรีสัตนาคนหุตนับถือกัน จึงโปรดให้ส่งพระบางคืนขึ้นไปไว้ ณ นครเวียงจันทน์

อ้างอิง

[แก้]
  • สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน -- กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542. ISBN 974-8365-26-3
  1. หนังสือประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2523 หน้า 68.