ข้ามไปเนื้อหา

วังจั่นน้อย ส.พลังชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
วังจั่นน้อย ส.พลังชัย
เกิดอาภรณ์ โสภาพ
30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 (57 ปี)

วังจั่นน้อย ส.พลังชัย มีชื่อจริงว่า อาภรณ์ โสภาพ (ชื่อเล่น: ภรณ์) เกิดวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี[1] เป็นนักมวยไทยชื่อดังระดับเงินแสนคนหนึ่งในประเทศไทย โด่งดังมีชื่อเสียงอยู่ในช่วง พ.ศ. 2530–2538 มีสถิติการชกที่แท้จริงไม่มีการบันทึกไว้ แต่คาดว่าอยู่ที่ 300 ครั้ง แพ้ไม่น่าจะเกิน 50 ครั้ง[1]

ประวัติ

[แก้]

วังจั่นน้อยเป็นบุตรของนายหยาด และนางบุญ โสภาพ เรียนจบชั้นอนุปริญญาจากโรงเรียนรัตนพณิชยการ เริ่มชกมวยตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ตระเวนชกมวยแถวบ้านเกิดจนมีชื่อเสียง จากนั้นจึงเดินทางเข้ามาชกมวยในกรุงเทพมหานคร อยู่ในสังกัดของทรงชัย รัตนสุบรรณ มีโอกาสขึ้นชกมวยหลายครั้ง จนมาเป็นที่รู้จักเมื่อ ชนะคะแนน นำพล หนองกี่พาหุยุทธ ได้ครองแชมป์มวยไทยรุ่นไลท์ฟลายเวท ของสนามมวยเวทีลุมพินี และฟลายเวท ถึง 4 สมัย ของเวทีเดียวกัน

ต่อมา วังจั่นน้อยสละแชมป์ และขยับมาชกในรุ่นที่สูงขึ้น ได้ครองแชมป์รุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวทของสนามมวยเวทีลุมพินี 5 สมัย ได้ชกกับนักมวยชื่อดังมากมาย เช่น สามารถ พยัคฆ์อรุณ, เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง, ฉมวกเพชร ช่อชะมวง, สำราญศักดิ์ เมืองสุรินทร์, ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ, โอเล่ห์ เกียรติวันเวย์ เป็นต้น เงินค่าตัวสูงสุดที่ได้รับคือ 350,000 แสนบาท เมื่อชกกับสามารถ พยัคฆ์อรุณ โดยในครั้งนั้นวังจั่นน้อยเป็นฝ่ายเอาชนะคะแนนสามารถได้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 ที่เวทีมวยลุมพินี ซึ่งทั้งคู่ชกเป็นคู่มวยประกอบรายการชิงแชมป์โลกมวยสากลของเมืองชัย กิตติเกษม กับเทรซี่ มาคาลอส เจ้าของตำแหน่งชาวฟิลิปปินส์ เมื่อกรรมการประกาศผลคะแนนออกมา สามารถได้ประกาศแขวนนวมไปทันทีบนเวที[2] นอกจากนั้นยังได้รับรางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2536

วังจั่นน้อย ได้รับฉายาว่า "ไอ้หมัด 33 วิ" จากการเอาชนะน็อก นำขบวน หนองกี่พาหุยุทธ น้องชายของนำพล หนองกี่พาหุยุทธ ด้วยหมัดไปด้วยเวลาเพียง 33 วินาที ของยกแรกเท่านั้น ซึ่งนับเป็นสถิติการชกที่รวดเร็วมาก[2] และยังมีอีกฉายาหนึ่งว่า "ไอ้หนุ่มชีวาส" เนื่องจากชอบสังสรรค์เฮฮา กินเลี้ยงกับเพื่อนฝูงด้วยวิสกี้ยี่ห้อชีวาสรีเกิล โดยเฉพาะหลังชกเสร็จ[1] และยังมีฉายาอื่นอีก เช่น "เมธีหมัดตรง" และ"พระกาฬละโว้"[3]

วังจั่นน้อยเลิกชกมวยเมื่อ พ.ศ. 2540 เพราะสภาพร่างกายไม่ไหว โดยชกครั้งสุดท้ายแพ้คะแนน แรมโบ้น้อย ช.ทับทิม จึงหันมาช่วยพี่ชายดูแลค่ายมวยเพชรอาภรณ์อยู่ระยะหนึ่งจึงไปเป็นครูมวยไทยที่ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับสลับชกไปด้วย เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปีจึงกลับมาประเทศไทย ประกอบอาชีพส่วนตัวและช่วยพี่ชายทำค่ายมวย[4] ประสบความสำเร็จอยู่ระดับหนึ่ง โดยสร้างนักมวยชื่อดังขึ้นมาได้ส่วนหนึ่ง และได้เลิกในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน วังจั่นน้อยเป็นเทรนเนอร์อยู่ที่ค่าย ช.ห้าพยัคฆ์ ที่คลอง 8 อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี [3]

ชื่ออื่น

[แก้]
  • วั่งจั่นน้อย ส.สิระดา (ชื่อในการชกมวยระยะหลัง)

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "ทำเนียบมวยดัง .."วังจั่นน้อย ส.พลังชัย" คุณยังจำเขาได้หรือไม่ และคุณลืมเขาไปแล้วหรือยัง..?!?! (ตอนที่ 2 ความทรงจำจากแฟนพันธุ์แท้)". ข่าวสด. March 19, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-31. สืบค้นเมื่อ 2016-09-09.
  2. 2.0 2.1 "แฟนพันธุ์แท้ 2014_7 มี.ค. 57 (มวยไทย)". แฟนพันธุ์แท้ 2014. March 7, 2014. สืบค้นเมื่อ September 9, 2016.
  3. 3.0 3.1 วันนี้ของ 'วังจั่นน้อย ส.พลังชัย' ร่วมสร้างตำนาน ช.ห้าพยัคฆ์. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก. ปีที่ 16 ฉบับที่ 6545 วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 หน้า 9 กีฬา
  4. อนิรุธ เชื้อบาง. วังจั่นน้อย ส.สิระดา ไอ้หนุ่มชีวาส. หนังสือพิมพ์สยามกีฬา. ปีที่ 23 ฉบับที่ 8356 วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 หน้า 27