ข้ามไปเนื้อหา

พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
พระยาวิเชียรคีรี
(ชม ณ สงขลา)
เกิดชม ณ สงขลา
4 มีนาคม พ.ศ. 2397
อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
ถึงแก่กรรม4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 (50 ปี)
ภรรยาเอกสมบุญ วิเชียรคีรี
บิดามารดาพระยาสุนทรนุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) (บิดา)
พับ ณ สงขลา (มารดา)

พระยาวิเชียรคี��ี (ชม ณ สงขลา) มีนามเดิมว่า “ชม” เป็นเจ้าเมืองสงขลาคนที่ 8 (4 มีนาคม พ.ศ. 2431-4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนสุดท้าย ชาวเมืองสงขลาให้สมญานามว่า "เจ้าจอมเมือง" มีราชทินนามว่า "พระยาวิเชียรคีรีศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมภาหุ"

ประวัติ

[แก้]

พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) เป็นบุตรคนโตของพระยาสุนทรนุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลากับคุณหญิงพับ เกิดที่เมืองสงขลา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2397 ณ บ้านป่าหมาก (ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลจังหวัดสงขลา) เริ่มเรียนหนังสือกับเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เมื่ออายุ 11 ปี ในปี พ.ศ. 2407 ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 เป็นมหาดเล็กหลวงเวรฤทธิ์ รับราชการในกรุงเทพฯ ได้ 2 ปี ก็ลาออกมาศึกษาวิชาการอื่นๆ ที่สงขลา เช่น วิชาช่างไม้ ยุทธศาสตร์การยิงปืน โหราศาสตร์ แพทยศาสตร์พื้นบ้าน สมุทรศาสตร์การเดินเรือ การถ่ายรูป ช่างเหล็ก ช่างทองและการทำแผนที่ทั้งกับครูไทย และครูชาวต่างประเทศหลายคน จนมีความเชี่ยวชาญ อายุได้ 16 ปี (พ.ศ. 2413) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงวิเศษภักดี (ชม) ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา อายุ 21 ปี ลาอุปสมบทสำนักอาจารย์แดง วัดดอนรัก ถึงปี พ.ศ. 2431 จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุนทรานุรักษ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา 1500 รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการเมืองสงขลาภายหลังจากการถึงแก่กรรมของ พระยาวิเชียรคีรี [1] กระทั่งวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2433 จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาวิเชียรคีรี ศรีสมุทวิสุทธิศักดามหาพิไชยสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ" ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา 5000 พร้อมกับรับพระราชทานเครื่อง��าชอิสริยาภรณ์ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ [2]รับราชการต่อมาอีก 13 ปี ในปี พ.ศ. 2444 ถูกปลดออก และเลื่อนเป็นจางวางเมืองสงขลา[3]รับพระราชทานเบี้ยบำนาญปีละ 8,000 บาท สูงกว่าเงินเดือนเดิมหลายเท่าตัว และ 3 ปี ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 ก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอายุ 50 ปี[4]

สืบเนื่องจากแปดบรรพบุรุษสกุล ณ สงขลา เมื่อ พ.ศ. 2318 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสุวรรณคีรี (เหยี่ยง แซ่เฮา) เป็นผู้ปกครองเมืองสงขลา ต่อมาบุตรและหลานของพระยาสุวรรณคีรี (บรรดาศักดิ์ต่อมา) ได้รับช่วงเป็นเจ้าเมืองสงขลาถึง 8 คน ติดต่อกัน 8 สมัย ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นเวลา 121 ปี เจ้าเมืองในตระกูล ณ สงขลา มีดังต่อไปนี้

  • พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) พ.ศ. 2318-2327
  • เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) พ.ศ. 2327-2355
  • พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) พ.ศ. 2355-2360 สายสกุล "โรจนะหัสดิน"
  • พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) พ.ศ. 2360-2390
  • เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) พ.ศ. 2390-2408
  • เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) พ.ศ. 2408-2427
  • พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) พ.ศ. 2427-2431
  • พระยาวิเชียรคีรี (ชม) พ.ศ. 2431-2444

พระยาวิเชียรคีรี (ชม) สมรสกับ คุณหญิงสมบุญ วิเชียรคีรี ธิดาของ ท่านปั้น วัชราภัย มีธิดา 4 คน ได้แก่

  • คุณหญิงช่วง สมรสกับ พระยาสวัสดิ์คีรีศรีสมันตราษฎร์นายก (เย็น สุวรรณปัทมะ)
  • คุณหญิงพจนาวิลาศ (เชย) สมรสกับ พระยาพจนาวิลาส (แปะ นิโรดม)
  • นางชนานุกูลกิจ (สงวน) สมรสกับ หลวงชนานุกูลกิจ (จวง จารุจินดา)
  • นางเพชรคีรีศรีราชสงคราม สมรสกับ พระเพชรคีรีศรีราชสงคราม (เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง) มีผู้สืบสกุลต่อมา คือ เจ้าเชิดกาวิละ และเจ้าเดชา ณ ลำปาง[5]

พระยาวิเชียรคีรี (ชม) มีบุตร 3 คน ไม่ปรากฏชื่อมารดา ได้แก่

  • พระยาวิชุโชติชำนาญ (ปรง ณ สงขลา) เจ้ากรมไฟฟ้าหลวง
  • พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) เจ้ากรมสวนหลวง สมรสกับ คุณหญิงลิ้ม ธิดาพระอนันต์สมบัติ (เอม ณ สงขลา)
  • พระยาสุรกานต์ประทีปแก้ว (หนิ ณ สงขลา)


เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

เครื่องยศ

[แก้]

พานหมากทองคำ คนโททองคำ กระโถนทองคำ

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชทานสัญญาบัตร
  2. เสด็จออกแขกเมืองพระราชทานสัญญาบัตรและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน้า 368)
  3. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย (หน้า 846)
  4. ข่าวตาย
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-13. สืบค้นเมื่อ 2016-11-13.
  6. เสด็จออกแขกเมืองพระราชทานสัญญาบัตรและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน้า 368)
  7. พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา
  8. ส่งเหรียญจักรมาลาไปพระราชทาน