ข้ามไปเนื้อหา

กลุ่มอาการสำรอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
กลุ่มอาการสำรอก
Rumination syndrome
A line graph. The line has pronounced upwards spikes followed by less pronounced downward spikes. These spikes are separated by longer intermittent periods where the line is jagged, but roughly and statistically straight.
การวัดการบีบตัวของหลอดอาหารหลังทานอาหารของคนไข้ที่มีอาการสำรอก ภาพแสดงแรงดันภายในท้อง ยอดกราฟเป็นลักษณะเฉพาะของการบีบตัวของผนังท้องที่เป็นเหตุให้ขย้อนในอาการนี้
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์

กลุ่มอาการสำรอก[1] (อังกฤษ: Rumination syndrome, Merycism) เป็นความผิดปกติทางการหดเกร็ง/การเคลื่อนไหวเอง (motility) ของกล้ามเนื้อแบบเรื้อรังที่แพทย์ยังวินิจฉัยไม่ค่อยถูก มีอาการสำรอกอาหารออกโดยไม่ต้องพยายามเนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ท้องอย่างไม่ได้ตั้งใจ[2] และจะไม่มีอาการเหมือนกับเมื่ออาเจียนรวมทั้งขย้อนแบบจะอาเจียน คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก มีกลิ่นโดยเฉพาะของอาเจียน และปวดท้อง โรคนี้ในอดีตได้บันทึกไว้ว่าเกิดเพียงแค่กับทารก เด็กเล็ก ๆ และคนที่มีปัญหาทางสติปัญญา/ประชาน (อาการมีความชุกสูงถึง 10% ในคนไข้โรคจิตที่อยู่ประจำในโรงพยาบาล) แต่ปัจจุบัน ก็เป็นอาการที่วินิจฉัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่นอกจากอาการนี้ก็ปกติดี ถึงกระนั้น ทั้งแพทย์ คนไข้ และสาธารณชนโดยทั่วไปก็ยังไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยเข้าใจว่ามีอาการเช่นนี้

อาการนี้ปรากฏได้หลายอย่าง โดยอาจต่างกันมากระหว่างคนไข้ผู้ใหญ่ที่ไม่มีปัญหาทางจิตกับทารกหรือเด็กที่มีปัญหาทางจิต เหมือนกับโรคทางเดินอาหารอื่น ๆ อาการอาจมีผลลบต่อชีวิตและการเข้าสังคมของบุคคล เป็นอาการที่สัมพันธ์กับความซึมเศร้า

มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับอาการนี้ในบุคคลที่มีสุขภาพปกติโดยทั่วไป เพราะคนไข้โดยมากไม่เปิดเผยว่ามีอาการ และบ่อยครั้งถูกวินิจฉัยผิดเพราะมีอาการต่าง ๆ กัน และมีความคล้ายคลึงกับโรคหลอดอาหารและกระเพาะอื่น ๆ เช่น อัมพฤษ์กระเพาะ (gastroparesis) และโรคกินแล้วขับออก (bulimia nervosa) อาการรวมทั้งแผลในหลอดอาหารและฟันกร่อน/ผุเนื่องจากกรดจากระเพาะอาหาร, ลมหายใจเหม็น, ทุพโภชนาการ, น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว และความอยากอาหารอย่างไม่เลิก บุคคลอาจขย้อนออกเพียงไม่กี่นาทีหลังจากการทานอาหาร โดยวงจรการทานและการขย้อนออกอาจเลียนสภาพของการทานอาหารอย่างรีบ ๆ แล้วขับออกเหมือนกับโรคกินแล้วขับออก

การวินิจฉัยของอาการนี้ไม่ต้องอาศัยการตรวจที่เจ็บ เพราะจะขึ้นอยู่กับประวัติของคนไข้ และการรักษาดูจะมีอนาคต เพราะคนไข้อาจถึง 85% ตอบสนองต่อการรักษา รวมทั้งทารกและผู้พิการทางจิต

อาการ

แม้อาการต่าง ๆ และความรุนแรงจะต่างกันในระหว่างบุคคล การขย้อนออกอาหารที่ยังไม่ย่อย (เหมือนการเคี้ยวเอื้อง) หลังจากทานอาหารจะเป็นอาการหลักซึ่งเกือบมีเสมอ[3][4] ในบุคคลบางคน การขย้อนออกจะเป็นเพียงทีละน้อย โดยเกิดเป็นระยะเวลายาวหลังจากการทาน ซึ่งอาจจะเคี้ยวแล้วกลืนเข้าไปอีก ในบุคคลอื่น อาหารอาจจะประกอบด้วยน้ำดีและเกิดไม่นาน แต่ต้องถ่มคายออก แม้บางคนจะมีอาการหลังการทานอาหารบางอย่าง/บางคราวเท่านั้น แต่โดยมากก็จะมีหลังการทานอาหารทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแค่คำเดียวหรือเป็นแค่อาหารว่าง[5] แต่คนไข้ที่เป็นในระยะยาวบางคนก็อาจพบอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่ก่ออาการ

ไม่เหมือนกับการอาเจียนธรรมดา การขย้อนออกมักจะกล่าวว่า ไม่ต้องพยายามไม่ต้องบังคับ[3] น้อยครั้งมากที่จะมีอาการคลื่นไส้ก่อน และอาหารที่ยังไม่ย่อยจะไม่มีรสขมและกลิ่นของกรดกระเพาะอาหารและน้ำดี[3] อาการสามารถเริ่มตั้งแต่เริ่มทานอาหารจนกระทั่ง 120 นาทีหลังอาหาร[4] แต่ช่วงเวลาที่สามัญอยู่ในระหว่าง 30 วินาทีจนถึง 1 ชม. หลังทานอาหารเสร็จ[5] อาการมักจะหยุดเมื่อสิ่งที่ขย้อนออกเริ่มมีรสเป็นกรด[3][5]

อาการต่อไปนี้ยังกล่าวว่าสามัญในชีวิตประจำวันอีกด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเกิดในช่วงที่ขย้อนอาหารออก แต่เมื่อไรก็ได้[4]

น้ำหนักลดก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ ด้วย (42.2%) โดยในประเทศตะวันตกจะลดโดยเฉลี่ย 9.6 กก. และสามัญกว่าในกรณีที่โรคไม่ได้วินิจฉัยอย่างถูกต้องเป็นเวลานาน[4] แต่นี่อาจเป็นเรื่องคาดหวังได้เพราะขาดอาหารซึ่งบ่อยครั้งเป็นเพราะอาการของโรค[4] ความซึมเศร้ายังเชื่อมกับอาการนี้อีกด้วย[6] แม้ผลของมันต่ออาการนี้ก็ยังไม่ชัดเจน[3]

ฟันผุกร่อนเนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารอาจเป็นลักษณะหนึ่งของกลุ่มอาการนี้[7] และลมหายใจเหม็นก็เช่นกัน[8]

อาการหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจรวมความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ ท้องไม่สบาย สำลัก การสูดอาหารหรือน้ำเข้าปอด และปอดบวม[9]

เหตุ

นักขย้อนมืออาชีพ Hadji Ali (ค.ศ. 1887-1937)

เหตุของกลุ่มอาการนี้ยังไม่ชัดเจน แต่งานศึกษาก็ได้แสดงสหสัมพันธ์ระหว่างเหตุที่สันนิษฐานกับประวัติคนไข้ ในทารกและบุคคลที่มีปัญหาทางสติปัญญา โรคปกติจะโทษการให้ความสนใจมากเกินไป (over-stimulation) หรือน้อยเกินไป (under-stimulation) จากผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ทำให้บุคคลต้องหาความพึงพอใจในตัวเองและต้องกระตุ้นตัวเอง เนื่องจากมีสิ่งเร้าภายนอกที่น้อยหรือมากเกินไป โรคนี้ก็ยังโทษความเจ็บป่วยช่วงสั้น ๆ, ความตึงเครียดในชีวิตเร็ว ๆ นี้, และการเปลี่ยนยา โดยสามัญอีกด้วย[3]

ในผู้ใหญ่และวัยรุ่น เหตุที่สันนิษฐานมักจะตกอยู่ในหมวดสองหมวดคือ เกิดจากนิสัย หรือเกิดจากการบาดเจ็บ บุคคลที่มีอาการเนื่องกับนิสัยโดยทั่วไปมีประวัติโรคทานแล้วขับออก หรือการขย้อนออกโดยตั้งใจ (เช่น นักมายากล หรือนักขย้อนมืออาชีพ) ซึ่งแม้ในตอนแรกจะตั้งใจทำ แต่ภายหลังเกิดนิสัยใต้จิตสำนึกที่จะปรากฏโดยไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจ ส่วนอาการที่เกิดจากการบาดเจ็บ คนไข้จะกล่าวถึงการบาดเจ็บทางกายหรือทางใจ (เช่น การผ่าตัดเร็ว ๆ นี้ ความทุกข์ทางใจ การกระแทกกระเทือนศีรษะ สมาชิกครอบครัวเสียชีวิต เป็นต้น) ซึ่งเกิดก่อนเริ่มมีอาการ บ่อยครั้งเป็นเวลาหลายเดือน[3][4]

พยาธิสรีรวิทยา

กลุ่มอาการนี้เป็นความผิดปกติที่มีความเข้าใจน้อยมาก แต่ก็มีทฤษฎีจำนวนหนึ่งที่ได้สันนิษฐานกลไกของอาการขย้อนที่จำเพาะต่อความผิดปกตินี้[4] แม้จะยังไม่มีความเห็นพ้องในทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง แต่ก็มีทฤษฎีบางทฤษฎีที่ได้รับความสนใจและกล่าวถึงในวรรณกรรมมากกว่าเพื่อน[3] กลไกที่กล่าวถึงมากที่สุดก็คือการทานอาหารทำให้กระเพาะอาหารขยายออก ซึ่งตามมาด้วยการบีบกดท้องและการคลายตัวของหูรูหลอดอาหารส่วนล่าง (LES) พร้อม ๆ กัน ซึ่งก็จะทำให้อาหารวิ่งเข้าไปในช่องว่าง ๆ ระหว่างกระเพาะกับคอหอยหลังช่องปากจนกลับไปถึงปาก โดยมีคำอธิบายหลายอย่างว่าทำไมหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างจึงคลายตัว[10]

คำอธิบายอย่างหนึ่งก็คือเป็นการคลายตัวอย่างตั้งใจที่ได้เรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องสามัญของคนไข้ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคทานแล้วขับออก แม้การคลายตัวนี้จะเป็นเรื่องตั้งใจ แต่กระบวนการขย้อนออกโดยรวม ๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ การคลายตัวเนื่องจากแรงดันภายในท้องเป็นคำอธิบายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งกำหนดการบีบอัดในท้องเป็นกลไกหลัก กลไกที่เสนออย่างที่สามเป็นเรื่องเกี่ยวกับรีเฟล็กซ์การเรอ นี่เป็นกลไกที่กล่าวถึงในวรรณกรรมมากที่สุด คือ การกลืนอากาศเข้าไปก่อนหน้าที่จะขย้อนออก ก่อรีเฟล็กซ์การเรอซึ่งจุดชนวนการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหาร คนไข้บ่อยครั้งกล่าวถึงความรู้สึกเหมือนกับจะเรอก่อนจะขย้อนอาหารออก[3]

วินิจฉัย

การวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้จะอิงประวัติของคนไข้ การตรวจที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเจ็บเช่น การตรวจการบีบตัวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้เล็กส่วนต้น (gastroduodenal manometry) และการตรวจความเป็นกรดด่างของหลอดอาหาร (esophageal Ph testing) ไม่จำเป็นและบ่อยครั้งทำให้วินิจฉัยผิดพลาด[3] มีการเสนอเกณฑ์วินิจฉัยหลายอย่างที่อิงลักษณะซึ่งปกติพบ[4]

อาการหลักคือการขย้อนอาหารที่เพิ่งทาน จะต้องคงเส้นคงวา เกิดขึ้นอย่างน้อย 6 อาทิตย์ภายใน 12 เดือนที่ผ่านมา การขย้อนต้องเริ่มภาย 30 นาทีหลังจากทานอาหารเสร็จ คนไข้อาจจะเคี้ยวอาหารที่ขย้อนขึ้นมาหรือคายทิ้ง อาการต้องหยุดภายใน 90 นาที หรือเมื่ออาหารที่ขย้อนเริ่มเป็นกรด อาการต้องไม่ใช่มาจากการอุดตันทางเดินอาหาร และไม่ควรตอบสนองต่อการรักษาปกติของโรคกรดไหลย้อน[3] ในผู้ใหญ่ การวินิจฉัยจะได้การยืนยันเมื่อไม่พบโรคทางกระเพาะลำไส้ ส่วนเกณฑ์ช่วยวินิจฉัยรวมทั้งการขย้อนที่ไม่มีรสเปรี้ยวคือเป็นรสกรด[10] ปกติไม่มีกลิ่น ไม่ต้องพยายามทำ[5] หรืออย่างมาก��ะรู้สึกเหมือนกับจะเรอ[3] โดยไม่มีการขย้อนแบบจะอาเจียน[3] และการขย้อนจะไม่สัมพันธ์กับอาการเวียนหัวหรือแสบร้อนกลางอก[3]

คนไข้โดยเฉลี่ยจะไปหาหมอถึง 5 คนเป็นเวลา 2.75 ปีก่อนจะได้วินิจฉัยที่ถูกต้องว่ามีอาการกลุ่มนี้[11]

การวินิจฉัยแยกโรค

กลุ่มอาการนี้ในผู้ใหญ่เป็นความผิดปกติที่ซับซ้อนและมีอาการคล้ายกับโรคทางกระเพาะอาหาร-หลอดอาหารหลายอย่างอื่น ๆ โรคทานแล้วขับออก (bulimia nervosa) และอัมพฤษ์กระเพาะอาหาร (gastroparesis) เป็นการวินิจฉัยผิดที่เกิดชุกสุดในคนไข้กลุ่มนี้[3] โดยโรคทานแล้วขับออกเป็นการวินิจฉัยผิดบ่อยที่สุดในคนไข้ผู้ใหญ่และโดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่น นี่เป็นเพราะความคล้ายคลึงของอาการดังปรากฏต่อคนอื่น ๆ เช่น การอาเจียนตามด้วยการกิน โดยเฉพาะในคนไข้ระยะยาวที่อาจทานอาหารเป็นจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดอาหาร และความไม่ต้องการเปิดเผยสภาพและอาการของตนต่อผู้อื่น

แม้มีการเสนอว่ากลุ่มอาการนี้สัมพันธ์กับโรคทานแล้วขับออก[11][12] แต่ไม่เหมือนโรคทานแล้วขับออก กลุ่มอาการนี้ไม่ได้ทำเอง ผู้ใหญ่และเด็กวัยรุ่นที่มีอาการนี้สำนึกเป็นอย่างดีถึงการขาดอาหารของตนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่สามารถควบคุมรีเฟล็กซ์ของตนได้ เทียบกับคนไข้โรคทานแล้วขับออก ที่ตั้งใจอาเจียนออก และน้อยครั้งมากที่จะกลืนอาหารเข้าไปใหม่อีก[3]

อัมพฤกษ์กระเพาะอาหารเป็นการวินิจฉัยผิดอีกโรคหนึ่ง[3] เพราะคนไข้อัมพฤกษ์กระเพาะบ่อยครั้งก็มีอาหารย้อนขึ้นมาหลังจากทานเข้าไป แต่ไม่เหมือนอาการนี้ อัมพฤกษ์กระเพาะจะทำให้อาเจียนอาหารที่ไม่ย่อยอีกต่อไปจากกระเพาะ (เทียบกับแค่ขย้อนขึ้นมา) โดยจะเกิดเป็นเวลาหลาย ชม. หลังจากทานอาหารแล้ว รู้สึกเวียนหัวและขย้อนแบบจะอาเจียนก่อน และมีรสขมหรือรสเปรี้ยวที่เป็นลักษณะปกติของอาเจียน[5]

การจัดหมู่

อาการสำรอกขึ้นเป็นภาวะที่มีผลต่อการทำงานของกระเพาะและหลอดอาหาร โดยรวมอยู่ในหมู่โรคที่เรียกว่า "functional gastrointestinal disorder"[13] ในคนไข้ที่มีประวัติโรคทางจิตเวชคือความผิดปกติในการทานอาหาร (eating disorder) กลุ่มอาการนี้จะรวมอยู่ในหมู่เดียวกับความผิดปกติในการทานอาหารอื่น ๆ เช่น โรคทานแล้วขับออก (bulimia) และอาการกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร (pica) ซึ่งโดยพวกมันเองก็รวมกลุ่มอยู่ใต้ความผิดปกติทางจิตที่ไม่ใช่วิกลจริต (non-psychotic mental disorder) แต่ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่พิการทางใจ อาการนี้พิจารณาว่าเป็นความผิดปกติทางการบีบตัวของทางเดินอาหาร ไม่ใช่ความผิดปกติในการทานอาหาร เพราะคนไข้ปกติจะไม่สามารถควบคุมการเกิดขึ้นของอาการแลไม่มีประวัติความผิดปกติการทานอาหาร[14][15]

การรักษาและพยากรณ์โรค

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด ยายับยั้งการหลั่งกรดและยาอื่น ๆ ได้ลองใช้แล้วโดยได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลอะไร[16] ในเด็กทารกและในผู้มีความพิการทางจิต การรักษาจะต่างกับผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่ไม่พิการ

สำหรับผู้ใหญ่และวัยรุ่น เทคนิกการผ่อนคลายและ biofeedback คือ การวัดการตอบสนองทางสรีรภาพด้วยเครื่องมือโดยมีจุดประสงค์เพื่อจะควบคุมการตอบสนองเช่นนั้น ๆ ที่ทำหลังการทานอาหารหรือเมื่อไรที่การขย้อนขึ้นเกิดขึ้น พบว่าได้ผลดีที่สุด ในเด็กทารกและผู้พิการทางจิต การฝึกพฤติกรรมโดยลงโทษแบบเบา ๆ (mild aversive training) พบว่า ทำให้ดีขึ้นในกรณีโดยมาก[17] การฝึกโดยลงโทษก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมขย้อนขึ้นกับผลที่ไม่น่าชอบใจ และการให้รางวัลที่น่าชอบใจสำหรับพฤติกรรมการทานที่ดี เช่น การเอาของเปรี้ยวหรือขมให้อมเมื่อบุคคลเริ่มทำท่าทางหรือหายใจแบบที่ปกติเกิดพร้อมกับการขย้อนขึ้นโดยทั่วไป เป็นวิธีที่ยอมรับเพื่อการฝึกเช่นนี้[17] แม้จะมีงานศึกษาก่อน ๆ ที่เสนอให้หยิก[ต้องการอ้างอิง]

ส่วนในคนไข้ที่ไม่พิการทางใจ การสำรอกขึ้นไม่ใช่พฤติกรรมที่ตั้งใจ และสามารถปรับนิสัยได้โดยให้หายใจโดยใช้กะบังลมเพื่อแก้ความรู้สึกอยากจะสำรอกขึ้น[16] นอกจากจะให้กำลังใจ ให้คำอธิบายเรื่องการแก้นิสัย แพทย์อาจแสดงการหายใจด้วยกะบังลมโดยให้ใช้ก่อนและระหว่างที่การสำรอกจะเกิด[16][18] การหายใจวิธีนี้สามารถช่วยป้องกันแม้การอาเจียน เพราะเป็นการกันการหดเกร็งของท้องที่จำเป็นเพื่อขับของในกระเพาะอาหารออก

การบำบัดโดยให้กำลังใจและการหายใจจากกะบังลมมีหลักฐานว่าทำให้อาการดีขี้นในกรณี 56% และทำให้อาการยุติไปในกรณีอีก 30% ในงานศึกษาหนึ่งที่ตรวจคนไข้วัยรุ่น 56 คนโดยติดตามคนไข้หลังจากการรักษาเบื้องต้น 10 เดือน[4] คนไข้ที่ใช้เทคนิกนี้ได้สำเร็จบ่อยครั้งสังเกตเห็นสุขภาพที่ดีขึ้นทันที[16] ผู้ที่มีอาการทานแล้วขับออก หรือผู้ที่จงใจทำให้อาเจียนในอดีต มีโอกาสดีขึ้นลดลงเนื่องจากไม่สามารถแก้พฤติกรรมที่ไม่ดีได้[11][16] เทคนิกนี้ไม่ใช้ในทารกหรือเด็กเล็ก ๆ เนื่องจากยากเกินไปเพราะต้องกะเวลาและมีสมาธิ แต่เด็กทารกจะหมดอาการนี้ภายใน 1 ปีหลังจากฝึกแบบลงโทษ[19]

กราฟแจกแจงอายุเมื่อวินิจฉัยว่ามีความผิดปกตินี้[4]

การระบาด

ความผิดปกติในการสำรอกเบื้องต้นบันทึกว่า[19][20] เป็นปัญหาต่อทารกเกิดใหม่[15] ทารก เด็ก[14] และบุคคลที่พิการทางจิต (เช่น มีปัญหาทางสติปัญญา/ประชาน/ปัญญาอ่อน)[20][21] แต่ตั้งแต่นั้นก็พบแล้วว่า เกิดทั้งในชายหญิงในอายุทุกช่วงและผู้มีสติปัญญาทุกระดับ[3][22]

ในบรรดาคนปัญญาอ่อน มีความชุกในทารก (6-10%) เท่า ๆ กับผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ประจำใน รพ. (8-10%)[3] ในทารก อาการมักเริ่มเมื่อมีอายุระหว่าง 3-12&npsb;เดือน[19] ความชุกโรคในประชากรทั่วไปยังไม่ได้กำหนด[13] แต่บางครั้งก็กล่าวว่าเกิดน้อย[3] หรือว่าจริง ๆ เกิดไม่น้อย แต่วินิจฉัยไม่ค่อยถูก[23]

ความผิดปกติมักจะเกิดในหญิงมากกว่า[13] คนไข้วัยรุ่นปกติจะเริ่มมีอาการที่ 12.9±0.4 ปี โดยเด็กชายจะเริ่มขึ้นก่อน (ชาย-11.0±0.8 ปี หญิง-13.8±0.5 ปี)[4] มีหลักฐานน้อยมากกว่ากรรมพันธุ์มีผลต่ออาการนี้เช่นไร[10] แต่ก็มีรายงานกรณีคนไข้ที่เป็นครอบครัวต่าง ๆ ซึ่งสมาชิกมีอาการนี้ทุกคน[24]

ประวัติ

ภาษาอังกฤษว่า rumination มาจากคำภาษาละตินว่า ruminare ซึ่งหมายความว่า "เคี้ยวเอื้อง"[24] เป็นอาการที่บันทึกมาตั้งแต่โบราณแล้ว เช่นที่กล่าวถึงในงานเขียนของอาริสโตเติลหรือในพระไตรปิฎก ต่อมาจึงมีการบันทึกทางการแพทย์ในปี ค.ศ. 1618 โดยนักกายวิภาคชาวอิตาลี (Fabricus ab Aquapendende) ผู้เขียนถึงอาการของคนไข้ของเขาคนหนึ่ง[22][24]

กรณีแรก ๆ สุดของอาการนี้ก็คือที่เกิดกับแพทย์ชาวมอริเชียส Charles-Édouard Brown-Séquard ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากการทดลองที่ทำกับตนเอง คือเพื่อตรวจสอบการตอบสนองของกรดในกระเพาะอาหารต่ออาหารต่าง ๆ หมอได้กลืนฟองน้ำที่ผูกไว้กับด้าย แล้วตั้งใจสำรอกมันขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์สิ่งที่มันซับ โดยเป็นผลของการทดลองเช่นนี้ หมอในที่สุดก็สำรอกอาหารขึ้นมาเป็นประจำโดยเป็นรีเฟล็กซ์[25]

มีรายงานคนไข้หลายรายงานก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่โดยมากจะวิเคราะห์ตามวิธีการที่ใช้และแนวคิดที่นิยมในเวลานั้น ิเริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่า กลุ่มอาการนี้ปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ โดยเป็นการตอบสนองต่อภาวะต่าง ๆ[22] แม้จะยังพิจารณาว่าเป็นความผิดปกติในเด็กทารกและผู้มีปัญหาทางสติปัญญาในเวลานั้น แต่ความแตกต่างของรูปแบบการแสดงออกระหว่างทารกกับผู้ใหญ่ก็ชัดเจนแล้ว[24] เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1900 งานศึกษาในผู้ใหญ่ที่สุขภาพปกติเว้นอาการนี้ก็มีน้อยลงเรื่อย ๆ คือรายงานวิเคราะห์อาการในผู้ใหญ่ที่ไม่พิการทางจิตจะปรากฏหลังจากช่วงนี้ ในตอนแรก รายงานกล่าวถึงอาการนี้ในผู้ใหญ่ว่าไม่ทำให้เสียหาย แต่ปัจจุบันก็กล่าวเป็นอีกอย่างหนึ่ง[9]

ปัจจุบัน แม้จะมีจำนวนคนไข้มากขึ้นและก็มีคนมากขึ้นที่กล่าวถึงอาการนี้ของตนเอง แต่ความรู้ความเข้าใจถึงอาการนี้ในวงการแพทย์และสาธารณชนทั่วไปก็ยังจำกัด[3][23][26][27]

ในวินัยปิฎก

พระวินัยปิฎก (ส่วนแรกของพระไตรปิฎก) ขุททกวัตถุขันธกะ ได้กล่าวถึงการสำรอกอาหารออกมาเคี้ยวไว้ คือพระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ภิกษุผู้มักเคี้ยวเอื้อง เคี้ยวอาหารที่สำรอกขึ้นมาหลังเที่ยงวันแล้วกลืนไม่เป็นอาบัติเนื่องจากฉันอาหารในเวลาเย็น (วิกาลโภชนา) โดยได้ตรัสถึงพระภิกษุผู้เป็นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า มีนิสัยเคี้ยวเอื้องเพราะชาติที่แล้วได้เกิดเป็นโค

[๒๗๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีนิสัยเคี้ยวเอื้อง ท่านสำรอกอาหารออกมาเคี้ยว แล้วกลืนเข้าไปอีก ภิกษุทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ภิกษุนี้ฉันอาหารในเวลาวิกาล” แล้วนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เพิ่งจุติมาจากกำเนิดโค ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีนิสัยเคี้ยวเอื้อง เคี้ยวเอื้องได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกลืนอาหารที่ออกมานอกปากแล้วเข้าไปอีก รูปใดกลืน พึงปรับอาบัติตามธรรม”

— พระวินัยปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 ข้อ 273 (ขุททกวัตถุขันธกะ)[28]

ในสัตว์อื่น

การเคี้ยวเอื้องในสัตว์เช่น วัว ควาย แพะ และยีราฟ จัดเป็นพฤติกรรมปกติ เป็นสัตว์ที่เรียกรวม ๆ กันว่า สัตว์เคี้ยวเอื้อง (ruminant)[10] แต่พฤติกรรมที่ว่านี้ แม้จะเรียกในภาษาอังกฤษว่า rumination เช่นกัน ก็ไม่เกี่ยวกับอาการในมนุษย์ เพราะเป็นเรื่องปกติของสัตว์ การสำรอกออกโดยไม่ได้ตั้งใจดังที่พบในมนุษย์ ก็พบในกอริลลาและไพรเมตอื่น ๆ อีกด้วย[29] True merycism, as opposed to the cud-chewing process in ruminants, is also a normal part of the digestive process in some other animals, such as kangaroos. ส่วนสัตว์ในวงศ์ Macropodidae ซึ่งรวมสัตว์พวกจิงโจ้ มีพฤติกรรมที่นักวิชาการตั้งชื่อขึ้นโดยเฉพาะคือ "merycism" เป็นการขย้อนอาหารที่อาจเคี้ยวไม่ดีขึ้นมาเคี้ยวแล้วกลืนลงไปใหม่ เป็นกระบวนการที่ไม่จำเป็นในการย่อยอาหารเหมือนกับของพวกสัตว์เคี้ยวเอื้อง และไม่เกิดอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ วัน[30]

เชิงอรรถและอ้างอิง

  1. "rumination", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (แพทยศาสตร์) การสำรอก
  2. "Rumination Syndrome — Diagnosis and Treatment Options at Mayo Clinic". Mayo Clinic.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 3.19 3.20 Papadopoulos, Vassilios; Mimidis, Konstantinos (2007), "The rumination syndrome in adults: A review of the pathophysiology, diagnosis and treatment", Journal of Postgraduate Medicine, 53 (3): 203–206, doi:10.4103/0022-3859.33868, PMID 17699999
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 Chial, Heather J; Camilleri, Michael; Williams, Donald E; Litzinger, Kristi; Perrault, Jean (2003), "Rumination syndrome in children and adolescents: diagnosis, treatment, and prognosis", Pediatrics, 111 (1): 158–162, doi:10.1542/peds.111.1.158, PMID 12509570
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Camilleri, Michael; Seime, Richard J, Rumination Syndrome, symptoms, Rochester, Minnesota: Mayo Clinic, สืบค้นเมื่อ 2009-06-26
  6. Amarnath RP, Abell TL, Malagelada JR (October 1986), "The rumination syndrome in adults. A characteristic manometric pattern.", Annals of Internal Medicine, 105 (4): 513–518, doi:10.7326/0003-4819-105-4-513, PMID 3752757
  7. Adrian Lussi (2006). Dental erosion from diagnosis to therapy ; 22 tables. Basel: Karger. p. 120. ISBN 9783805580977.
  8. Carey WB, Crocker AC, Coleman WL, Feldman HM, Elias ER (2009). Developmental-behavioral pediatrics (4th ed.). Philadelphia, PA: Saunders/Elsevier. p. 634. ISBN 9781416033707.
  9. 9.0 9.1 Sidhu, Shawn S; Rick, James R (2009), "Erosive eosinophilic esophagitis in rumination syndrome", Jefferson Journal of Psychiatry, 22 (1), ISSN 1935-0783
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Ellis, Cynthia R; Schnoes, Connie J (2009), "Eating Disorder, Rumination", Medscape Pediatrics, สืบค้นเมื่อ 2009-09-07
  11. 11.0 11.1 11.2 LaRocca, Felix E; Della-Fera, Mary-Anne (October 1986), "Rumination: Its significance in adults with bulimia nervosa", Psychosomatics, 27 (3): 209–212, doi:10.1016/s0033-3182(86)72713-8, PMID 3457391
  12. O'Brien, Michael D; Bruce, Barbara K; Camilleri, Michael (March 1995), "The rumination syndrome: Clinical features rather than manometric diagnosis", Gastroenterology, 108 (4): 1024–1029, doi:10.1016/0016-5085(95)90199-X, PMID 7698568
  13. 13.0 13.1 13.2 Tack, Jan; Talley, Nicholas J; Camilleri, Michael; Holtmann, Gerald; Hu, Pinjin; Malagelada, Juan-R; Stanghellini, Vincenzo (2006), "Functional gastroduodenal disorders" (PDF), Gastroenterology, 130 (5): 1466–1479, doi:10.1053/j.gastro.2005.11.059, PMID 16678560, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-11-25, สืบค้นเมื่อ 2018-09-14
  14. 14.0 14.1 ICD-10 entries for rumination syndrome - F98.2, สืบค้นเมื่อ 2009-08-10
  15. 15.0 15.1 ICD-10 entries for rumination syndrome - P92.1, สืบค้นเมื่อ 2009-08-10
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 Chitkara, Denesh K; van Tilburg, Miranda; Whitehead, William E; Talley, Nicholas (2006), "Teaching diaphragmatic breathing for rumination syndrome", The American Journal of Gastroenterology, 101 (11): 2449–2452, doi:10.1111/j.1572-0241.2006.00801.x, PMID 17090274
  17. 17.0 17.1 Wagaman, JR; Williams, DE; Camilleri, M (1998), "Behavioral intervention for the treatment of rumination", Pediatric Gastroenterology and Nutrition, 27 (5): 596–598, doi:10.1097/00005176-199811000-00019, PMID 9822330
  18. Johnson, WG; Corrigan, SA; Crusco, AH; Jarell, MP (1987), "Behavioral assessment and treatment of postprandial regurgitation", Gastroenterology, 9 (6): 679–684, doi:10.1097/00004836-198712000-00013, PMID 3443732
  19. 19.0 19.1 19.2 Rasquin-Weber, A; Hyman, PE; Cucchiara, S; Fleisher, DR; Hyams, JS; Milla, PJ; Staiano, A (1999), "Childhood functional gastrointestinal disorders", Gut, 45 (Supplement 2) (Suppl 2): 1160–1168, doi:10.1136/gut.45.2008.ii60, PMC 1766693, PMID 10457047
  20. 20.0 20.1 Sullivan, PB (1997), "Gastrointestinal problems in the neurologically impaired child", Baillière's Clinical Gastroenterology, 11 (3): 529–546, doi:10.1016/S0950-3528(97)90030-0, PMID 9448914
  21. Rogers, B; Stratton, P; Victor, J; Cennedy, B; Andres, M (1992), "Chronic regurgitation among persons with mental retardation: A need for combined medical and interdisciplinary strategies", American Journal of Mental Retardation, 96 (5): 522–527, PMID 1562309
  22. 22.0 22.1 22.2 Olden, Kevin W (2001), "Rumination", Current Treatment Options in Gastroenterology, 4 (4): 351–358, doi:10.1007/s11938-001-0061-z, PMID 11469994, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 15, 2012
  23. 23.0 23.1 Fox, Mark; Young, Alasdair; Anggiansah, Roy; Anggiansah, Angela; Sanderson, Jeremy (2006), "A 22 year old man with persistent regurgitation and vomiting: case outcome", British Medical Journal, 333 (7559): 133, discussion 134-7, doi:10.1136/bmj.333.7559.133, PMC 1502216, PMID 16840471, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-01, สืบค้นเมื่อ 2018-09-14
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 Brockbank, EM (1907), "Merycism or Rumination in Man", British Medical Journal, 1 (2408): 421–427, doi:10.1136/bmj.1.2408.421, PMC 2356806, PMID 20763087
  25. Kanner, L (February 1936), "Historical notes on rumination in man", Medical Life, 43 (2): 27–60, OCLC 11295688
  26. Camilleri, Michael; Seime, Richard J, Rumination Syndrome, an overview, Rochester, Minnesota: Mayo Clinic, สืบค้นเมื่อ 2009-06-26
  27. Parry-Jones, B (1994), "Merycism or rumination disorder. A historical investigation and current assessment", British Journal of Psychiatry, 165 (3): 303–314, doi:10.1192/bjp.165.3.303, PMID 7994499
  28. "พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 ข้อ 273", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), p. 59
  29. Hill, SP (May 2009), "Do gorillas regurgitate potentially-injurious stomach acid during 'regurgitation and reingestion?'", Animal Welfare, 18 (2): 123–127, ISSN 0962-7286, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-07-02, สืบค้นเมื่อ 2018-09-14
  30. Vendl, C.; และคณะ (2017). "Merycism in western grey (Macropus fuliginosus) and red kangaroos (Macropus rufus)". Mammalian Biology. 86: 21–26. doi:10.1016/j.mambio.2017.03.005.

แหล่งข้อมูลอื่น