ไทยบันเทิง

🚧 โปรดทราบ เนื่องจากในตอนนี้ฐานข้อมูลของเรายังไม่สมบูรณ์ 😲😲 เนื่องจากระบบวิกิเป็นระบบที่ใหญ่และต้องมีฐานข้อมูลที่ครอบคลุม หากว่าท่านใดมีข้อมูลต้องการที่จะนำมาเผยแพร่ในฐานะมรดกทางภูมิปัญญาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ ท่านสามารถล็อกอินผ่านบัญชี Facebook ได้โดยกดไปที่ Sign In with Facebook และร่วมพูดคุยกับเราได้ที่นี่ 🙋😉

READ MORE

ไทยบันเทิง
ไทยบันเทิง
Advertisement
✨🌟  ชู้ (2515)
2515ชู้

ใบปิดวาดโดย ทองดี ภานุมาศ

  • ประเภท : Drama / Thriller
  • ผู้กำกับ : เปี๊ยก โปสเตอร์
  • บทประพันธ์ : จำลักษณ์ (สำเนาว์ หิริโอตัปปะ)
  • บทภาพยนตร์ : วิษณุศิษย์
  • ผู้กำกับบท : นันทวัต
  • ผู้ถ่ายภาพ : โสภณ เจนพานิช, โชน บุนนาค, พูลสวัสดิ์ ธีมากร
  • ผู้กำกับภาพ / ลำดับภาพ : สมบูรณ์สุข
  • ผู้กำกับศิลป์ : พิชัย เดชะวนิช
  • เพลงประกอบ : ประสิทธิ์ พยอมยงค์, ประเสริฐ จุลเกศ
  • บันทึกเสียง : สหัส ตู้จินดา
  • ที่ปรึกษา : เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร
  • ดำเนินงานสร้าง : สุปราณี โพธิ์ชัยแสน
  • บริษัทผู้สร้าง : เปี๊ยก โปสเตอร์ฟิล์ม
  • จัดจำหน่าย : อัศวินภาพยนตร์
  • วันที่เข้าฉาย : 28 ธันวาคม 2515 ฉายที่โรงภาพยนตร์สยาม-เฉลิมไทย
  • ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สี 35 มม. พากย์เสียงในฟิล์ม

เรื่องย่อ[]

ผลงานครั้งที่ 3 ของ เปี๊ยกโปสเตอร์

เหตุเรืออับปางทำให้หญิงเคราะห์ร้ายอย่าง เรียม (วันดี ศรีตรัง) ถูกพัดมาติดหาดที่เกาะแห่งหนึ่ง ที่ซึ่ง นายเชิง (มานพ อัศวเทพ) ชาวประมงใช้เป็นที่อาศัยอยู่แต่เพียงคนเดียว จึงได้ช่วยเหลือเรียมไว้ให้มีชีวิตรอด จนร่างกายเรียมดีขึ้น เชิงก็ถูกตัณหาเข้าครอบงำจับเธอเป็นเมียกระทั่งมีลูกด้วยกัน

วันหนึ่งเชิงลงไปดำน้ำหาไข่มุกและถูกปะการังพิษเข้าตาจนตาแทบมองไม่เห็น เรียมต้องเดินทางออกจากเกาะไปตามหมอในตัวเมืองมาช่วยรักษา แต่ปรากฏว่าหมอที่เธอพบคือ นายเทพ (กรุง ศรีวิไล) คนรักเก่าของเธอ เทพมาช่วยรักษาเชิง และเกิดสงสัยในเหตุที่เชิงหลบมาอยู่เกาะร้างลำพังว่าน่าจะมีไข่มุกมูลค่ามหาศาลซ่อนอยู่ จึงวางแผนให้ยารักษาที่ยิ่งทำให้ตาบอด เทพหว่านเสน่ห์ปั่นหัวเรียมเพื่อให้เธอมีใจกับเขามากกว่าคนพิการ และให้ช่วยสืบถามหาที่ซ่อนของไข่มุก แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือทั้งสองลักลอบเป็นชู้กันถึงขั้นต้องการกำจัดเชิงเสียให้พ้นในเร็ววัน โดยมิได้คาดการณ์ไว้เลยว่าเชิงจะรู้แกว ไม่ใช้ยาของเทพ และแกล้งทำเป็นตาบอด ทั้งที่ความจริงเขาหายจากอาการมานานแล้ว

เรื่องราวชั่วๆ ของทั้งสองจึงมิอาจรอดพ้นไปจากสายตา กระทั่งเรี่ยวแรงของเชิงกลับฟื้นคืน เขาจึงวางแผนหลอกให้เทพและเรียมช่วยพาไปหาไข่มุกที่ซ่อนไว้ เพื่อที่จะพาทั้งคู่ไปยังเกาะเล็กๆ ที่น้ำท่วมถึงแห่งหนึ่ง เมื่อสบจังหวะเชิงชักปืนออกมาหมายฆ่าชายชู้และนังเมียแพศยาให้ตายเสียทั้งคู่ เรียมจึงยอมรับการกระทำนอกใจผัว แต่เปิดปากบอกความจริงมากไปกว่านั้นว่า เธอกับเทพนั้นเคยเป็นผัวเมียกันมาก่อนที่เรือจะอับปางและร่างเธอลอยไปติดเกาะ ชู้ในความหมายของเธอนั้นจึงไม่ใช่เทพแต่เป็นเชิงนั่นเอง เมื่อเชิงรู้ดังนั้นจึงคิดหนัก แต่เมื่อคิดตกก็ประกาศว่า ขอให้เรียมเป็นคนเลือกแล้วกันว่าจะอยู่���ับใคร แต่ด้วยความชั่วช้า เทพได้โอกาสหยิบปืนขึ้นมาจะฆ่าเชิง แต่เชิงรู้ตัวจึงเกิดการต่อสู้กับเทพอย่างดุเดือด แล้วเกิดปืนลั่นไปถูกเรียม และเทพถูกเชิงตีจนสลบไป เชิงนำเรียมขึ้นเรือออกไปจากเกาะ ทิ้งให้เทพซึ่งฟื้นขึ้นมารับรู้ว่ากำลังถูกทิ้งให้รอความตายอยู่บนเกาะน้ำท่วมถึงนั้นโดยลำพัง

นักแสดง[]

นักแสดง รับบทเป็น
มานพ อัศวเทพ เชิง
กรุง ศรีวิไล เทพ
วันดี ศรีตรัง เรียม
ด.ญ.ไขนภา เจียรบุตร
โชน บุนนาค
นันทวัต

Image Gallery & วีดีโอ[]

เกร็ด[]

 ผลงานการสร้างและกำกับการแสดงเรื่องที่ 3 ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องที่มีตัวละครนำอยู่เพียง 3 ตัวละคร ที่ไม่ใช่เป็นแค่ตัวแทนความดีชั่วแบบพระเอกนางเอกและตัวร้าย ทั้งยังพยายามตั้งคำถามถึงศีลธรรมของมนุษย์ ซึ่งแตกต่างไปจากภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่น นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งของ เปี๊ยก โปสเตอร์
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากบทประพันธ์ของ จำลักษณ์ (สำเนาว์ หิริโอตัปปะ) โดยก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2500 เคยมีการสร้างเป็นภาพยนตร์สี 16 ม.ม. มาแล้ว ในชื่อ ทรชนคนดี (2500)
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการสร้างและกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ (สมบูรณ์สุข นิยมศิริ) ซึ่งก็ยังเป็นชื่อภาพยนตร์คำโดดเหมือน 2 เรื่องแรกของเขา (เรื่อง โทน (2513) และ ดวง (2514)) และตัวเขาเองรับตำแหน่งผู้กำกับภาพ
  • หลังจากที่ เปี๊ยก โปสเตอร์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ของเขา เขาก็กำลังอยู่ในช่วง "หมดพุง" จึงได้ประกาศหาพล็อตเรื่องดีๆ เพื่อให้เขาจะนำไปพัฒนาต่อเป็นบทภาพยนตร์ต่อไป สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเลือกพล็อตความยาว 3 บรรทัด ที่มีชื่อถูกใจเขาเป็นอย่างยิ่งว่า ชู้ ซึ่งเมื่อถึงเวลาจะจ่ายค่าเรื่องให้กับผู้เขียน เปี๊ยกจึงได้พบว่าเจ้าของพล็อตแปลกดังกล่าวคือ สำเนา หิริโอตัปปะ นักเขียนหนังสือผู้มีชื่อเสียงและเคยเขียนบทและกำกับภาพยนตร์มาแล้ว
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของ วันดี ศรีตรัง โดยเธอได้ขอเปี๊ยก โปสเตอร์ เพื่อมาแสดงภาพยนตร์ แต่ถูกปฏิเสธไปในช่วงแรกเนื่องจากเปี๊ยกต้องการนักแสดงสาวชาวบ้าน เพราะครั้งนั้นเธอแต่งตัวอย่าง เพชรา เชาวราษฎร์ แต่ภาย��ลังเธอก็กลับมาหาเปี๊ยกอีกครั้งโดยไม่แต่งหน้า ครั้งนี้เธอจึงได้แสดงภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้นักแสดงหลักเพียง 3-4 คน โดยไม่มีบทตัวตลก ตัวโกงหรือดาวยั่ว ซึ่งแตกต่างไปจากภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่นในยุคเดียวกัน
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาและถูกวิจารณ์กันมากในยุคนั้น มีประเด็นเรื่องที่ท้าทายค่านิยมในยุคนั้น ประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องค่านิยมทางสังคม
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้รวมช่างถ่ายหนังคนสำคัญในยุคก่อนหน้ามาถึง 3 คน คือ โสภณ เจนพานิช, โชน บุนนาค และ พูนสวัสดิ์ ธีมากร และยกกองถ่ายไปถ่ายยังสถานที่จริงเป็นแรมเดือน
  • นักแสดงทุกคนในภาพยนตร์เรื่องนี้แทบไม่มีการแต่งหน้า แต่งตัวตามสภาพความเป็นจริงเหมือนชาวบ้านธรรมดา
  • ในปี พ.ศ. 2548 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คัดเป็นหนึ่งใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์ไทย 1 ในจำนวน 25 เรื่องที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 5 โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2558
  • ในปี พ.ศ. 2547 ถูกนำกลับมาสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์โดย องอาจ สิงห์ลำพอง ซึ่งเนื้อเรื่องจะแตกต่างกับภาพยนตร์ฉบับนี้มาก แต่ยังคงใช้ชื่อตัวละครเดิมอยู่
ภาพยนตร์ เชิง เทพ เดือน / เรียม
ทรชนคนดี (2500) ดนัย ดุลยพันธ์ ทม วิศวชาติ ทัศนาภรณ์ สิริยากรณ์
ชู้ (2515) มานพ อัศวเทพ กรุง ศรีวิไล วันดี ศรีตรัง
ชู้ (2547) สรพงษ์ ชาตรี วัชระ ตังคะประเสริฐ เฮเลน นิมา

รางวัล และอนุสรณ์[]

  • รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ประจำปี พ.ศ. 2516-17
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
    • นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (กรุง ศรีวิไล)
  • มหกรรมหนังเอเชีย-แปซิฟิค ประเทศสิงคโปร์ (พ.ศ. 2516)
    • รางวัลพิเศษ ภาพยนตร์ที่มี���นื้อหาโดดเด่นแปลกแหวกแนว
  • โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
    • 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ประเภทภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง (พ.ศ. 2548)
    • มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2558)
  • 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2561) จัดโดย คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
Advertisement